จากวันแรกและปีแรกที่เข้ามายัง เอติฮัด สเตเดี้ยม แม้แต่จะเป็นยอดกุนซืออย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็ยังหนีเสียงวิจารณ์ไปไม่พ้น เมื่อเขาทำ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จบซีซั่นลงแบบมือเปล่า ไม่มีแชมป์ใดติดมือ
แต่จนถึงตอนนี้ มันก็เป็นปีที่ 7 เข้าไปแล้วกับงานนี้ ที่ผลิดอกออกผลเป็นโทรฟี่แชมป์ 11 รายการ — ดับเบิ้ล? ทริปเปิ้ล? จัดให้ได้หมด
7 ปี กับการเดินทางผ่าน 400 นัดพอดิบพอดี ลองย้อนดูกันสักหน่อยว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ผ่านอะไรมาบ้าง…และใกล้เคียงขนาดไหนกับอีก “1 โทรฟี่” ที่ตามหามานาน
จาก ‘ห้องทดลอง’ ปีแรก สู่ความยิ่งใหญ่ในที่สุด
เพราะแม้จะยิ่งใหญ่มาจากไหน ก็ไม่พ้นว่าต้องใช้ “เวลา” เพื่อปรับตัวปรับใจ ปรับจูนหลายสิ่งให้เข้ามือ
ปีแรกของ โจเซป กวาร์ดิโอล่า บนเก้าอี้ แมนฯ ซิตี้ ในฤดูกาล 2016/17 คืออะไรที่ต้องเรียกว่า “ปีทดลอง” ของแท้ ผลลัพธ์ไม่เกี่ยว ใส่เดี่ยวได้หมด -เอ๊ย- ผลลัพธ์ไม่เกี่ยว ค่อยเลี้ยวไปดูปีรุ่งขึ้น
ในการรับไม้ต่อจาก มานูเอล เปเยกรินี่ ซัมเมอร์ของปี 2016 เป๊ป ที่มีขุนพลเอกอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่, เควิน เดอ บรอยน์, ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, ดาบิด ซิลบา และ แฟร์นันดินโญ่ นั้น แมนฯ ซิตี้ ยังเสียแต้มเป็นว่าเล่น ร่องรอยตำหนิยังมี ระบบการเล่นอะไรก็ยังไม่ลงตัว ทำดีที่สุดแค่จบอันดับ 3 พรีเมียร์ลีก พร้อมกับตกรอบบอลถ้วยทุกรายการแบบไปไม่ได้ไกลนัก (มีแค่ เอฟเอ คัพ ที่ถึงตัดเชือก)
อันดับ 3 และความมือเปล่า ตีตราได้ว่านั่นคือความ “ล้มเหลว” และไม่ใช่สิ่งที่บอร์ด แมนฯ ซิตี้ จะคาดหวังไว้จากยอดกุนซือสแปนิชผู้มาพร้อมดีกรีแชมป์สารพัดจาก บาร์เซโลน่า และ บาเยิร์น มิวนิค
2016/17 นั่น ยังนับเป็นปีแรกในชีวิตกุนซือของ เป๊ป ที่จบลงอย่างมือเปล่าไร้โทรฟี่ด้วย
เพียงแต่เมื่อ “จูนติด” ค้นเจอความลงตัวและเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็ควรต้องบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ในมือ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า นั้น “หยุดไม่อยู่” เต็มเหนี่ยวไปเลยพี่ เต็มที่ไปเลยเธอ…
- 2016/17 อันดับ 3 พรีเมียร์ลีก
2017/18 แชมป์พรีเมียร์ลีก + แชมป์ลีกคัพ
2018/19 แชมป์พรีเมียร์ลีก + แชมป์เอฟเอคัพ + แชมป์ลีกคัพ + แชมป์คอมมิวนิตี้ ชิลด์
2019/20 รองแชมป์พรีเมียร์ลีก + แชมป์ลีกคัพ + แชมป์คอมมิวนิตี้ ชิลด์
2020/21 แชมป์พรีเมียร์ลีก + แชมป์ลีกคัพ + รองแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
2021/22 แชมป์พรีเมียร์ลีก
ส่วนกับ 2022/23 ที่กำลังมาถึงโค้งสุดท้าย ก็อย่างที่เห็นกัน แมนฯ ซิตี้ หลุดวงโคจรไปแค่ คาราบาว คัพ ถ้วยเดียว นอกนั้นยังอยู่ครบ — ยังอยู่ในเส้นทางของการทำ “ทริปเปิ้ลแชมป์” ที่มีสิทธิ์ลุ้นจริงๆ จังๆ ด้วย
400 นัดผ่านไป
จะเรียกว่า “ผิดธรรมชาติ” ก็อาจได้ เพราะจากที่ เป๊ป เคยนั่งเก้าอี้ทั้ง บาร์ซ่า และ บาเยิร์น แบบที่ใช้เวลาไม่เนิ่นนานนัก จ๊อบแรก 4 ปี จ๊อบสอง 3 ปี กลายเป็นว่าเมื่อมายัง แมนฯ ซิตี้ แล้ว จนถึงตอนนี้ก็ปาไปปีที่ 7 และยังไม่มีวี่แววของการแยกทางแต่อย่างใด
และเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก วันพุธที่ผ่านมา ซึ่ง แมนฯ ซิตี้ ออกไปเสมอกับ บาเยิร์น มิวนิค 1-1 ก็นับเป็นเกมที่ 400 ถ้วนๆ พอดีของ เป๊ป ในการทำทีมเรือใบสีฟ้า
น่าทึ่งไปอีกตรงที่ว่า เปอร์เซ็นต์ชนะของเขา สูงถึงเกือบ 73%
แม้จะเทียบไม่ได้และขายขำมากกว่า แต่ก็ต้องบอกว่า แฟร้งค์ แลมพาร์ด เข้ามาทำทีม เชลซี รอบสอง จนถึงตอนนี้ มีเปอร์เซ็นต์ชนะที่… 0%
และนี่คือตัวเลขอย่างละเอียดของ เป๊ป ในงานที่ เอติฮัด สเตเดี้ยม
รายการ |
จำนวนเกม |
ชนะ-เสมอ-แพ้ |
เปอร์เซ็นต์ชนะ |
---|---|---|---|
พรีเมียร์ลีก |
258 |
191-33-34 |
74% |
เอฟเอ คัพ |
34 |
28-1-5 |
82.4% |
ลีก คัพ |
30 |
26-0-4 |
86.7% |
แชมเปี้ยนส์ ลีก |
74 |
48-13-13 |
64.8% |
คอมมิวนิตี้ ชิลด์ |
4 |
2-0-2 |
50% |
รวม |
400 |
295-47-58 |
72.75% |
ทำลายสถิติใดไปบ้าง?
นอกจากเปอร์เซ็นต์ชนะที่สูงลิบลิ่วเกือบ 73% อย่างที่ว่าแล้ว เป๊ป ยังฝากสถิติดีเด่นเอาไว้สารพัดอย่าง แบบที่ถ้าเมื่อถึงวันหนึ่งจะมีรูปปั้นของเขาตั้งอยู่หน้า เอติฮัด สเตเดี้ยม ก็จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
- – เป็นกุนซือที่พาทีมชนะถึง 150 นัดใน พรีเมียร์ลีก เร็วที่สุด
– ชนะ 150 นัดจากระยะแค่ 204 เกม
– ยิงครบ 500 ประตูใน 207 นัด
– ค่าเฉลี่ยจาก 500 ลูกนั่น คือ 2.4 ประตูต่อเกม
– ทำทีมยิงได้ 200 ประตูเร็วที่สุด (81 นัด)
– ทำทีมยิงได้ 300 ประตูเร็วที่สุด (120 นัด)
– ทำทีมยิงได้ 400 ประตูเร็วที่สุด (162 นัด)
– ชนะ 36 นัดใน 1 ปีปฏิทิน (2021) ทำลายสถิติของ บ๊อบ เพสลี่ย์ (ลิเวอร์พูล) 1982
– พาทีมชนะได้จำนวนเกมสูงสุด ในบรรดาผู้จัดการทีม แมนฯ ซิตี้
– เป็นทีมแรกของ พรีเมียร์ลีก ที่ทำได้ทะลุ 100 แต้ม (2017/18)
– เป็นทีมแรกของ พรีเมียร์ลีก ที่ยิงประตูถึง 106 ลูก (2017/18)
– ครองแชมป์ลีกด้วยช่องห่างแต้มสูงสุด 19 แต้ม (2017/18)
– ทำแต้มเฉลี่ยสูงสุดของพรีเมียร์ลีก 2.35 แต้มต่อเกม
– เปอร์เซ็นต์ชนะสูงสุดของพรีเมียร์ลีก 74%
– ยิงประตูเฉลี่ยสูงสุดในพรีเมียร์ลีก 2.45 ลูกต่อเกม
– เสียประตูน้อยสุดในพรีเมียร์ลีก 0.80 ลูกต่อเกม
7 ปี 11 โทรฟี่แชมป์
เปรี้ยงสุดคือซีซั่น 2018/19 ที่แม้จะทำแต้มหรือพังประตูได้ไม่เยอะเท่าปีประวัติศาสตร์ 2017/18 แต่ทุกรายการ ทุกถ้วยที่ลงเตะในประเทศ ล้วนแต่ปิดด้วยภาพของ แว็งซ็องต์ ก็องปานี นำขบวนแข้งเรือชูถ้วยแชมป์ฉลองกลางสนาม
คอมมิวนิตี้ ชิลด์ – สยบ เชลซี 2-0 ในเกมกึ่งทางการก่อนเปิดซีซั่น
ลีก คัพ – ดวลกับ เชลซี อีกครั้งแบบมาราธอน 120 นาทีไม่มีใครยิงประตูกันได้ จบ 0 -0 ทำให้ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ และ จอร์จินโญ่ กับ ดาวิด ลุยซ์ ซัดพลาด ส่ง แมนฯ ซิตี้ กำชัย 4-3
พรีเมียร์ลีก – เข้าเบรคชนะรวดตั้งแต่แมตช์ที่ 25 ไปจนถึง 38 รวมระยะ 14 นัด จนทั้งที่ ลิเวอร์พูล มาดีมากๆ แล้ว ก็ยังต้องยอมให้ แมนฯ ซิตี้ งาบแชมป์ไปด้วยการเฉือน 1 แต้ม 98:97
เอฟเอ คัพ – ง่ายกว่าที่คิดเมื่อได้ วัตฟอร์ด มาเป็นคู่ชิง…จบยิงยับ 6-0
แมนฯ ซิตี้ กลายเป็นทีมแรกและทีมเดียวที่เหมา 4 แชมป์ของอังกฤษได้ใน 1 ซีซั่น
และไม่ต้องเทียบตรรกะซับซ้อนก็มองเห็น ว่าระยะการทำทีม แมนฯ ซิตี้ 7 ปีของ เป๊ป ลงเอยด้วยโทรฟี่แชมป์เป็นจำนวนมากกว่าจำนวนปีที่นั่งเก้าอี้เสียอีก — ขนาดว่าเริ่มด้วยซีซั่นแรกแบบมือเปล่าแล้วนะ
- พรีเมียร์ลีก 4 สมัย : 2017/18, 2018/19. 2020/21, 2021/22
เอฟเอ คัพ 1 สมัย : 2018/19
ลีก คัพ 4 สมัย : 2017/18, 2018/19, 2019/20, 2020/21
คอมมิวนิตี้ ชิลด์ 2 สมัย : 2018, 2019
1 แชมป์ที่ตามหา…จะมาไหม?
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเปอร์เซ็นต์กำชัยที่สูงลิบ หรือจำนวนโทรฟี่แชมป์ที่เข้ามือมามากกว่าจำนวนปีการทำงาน ก็เป็นสิ่งที่ใครต่างก็มองเห็น — เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ยังคงทำ “ไม่สำเร็จ” ในการพา แมนฯ ซิตี้ พุ่งชนเป้าหมายที่ใฝ่ฝันถึงเช้าเย็นอย่าง แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก
นี่เองอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ เป๊ป ยังไม่ทิ้งเก้าอี้ตัวนี้ไปไหน
และนี่คือผลงานของ แมนฯ ซิตี้ ยุคเป๊ป ในถ้วย UCL
- 2016/17 รอบ 16 ทีม : แพ้ โมนาโก อเวย์โกล 6-6
2017/18 รอบ 8 ทีม : แพ้ ลิเวอร์พูล สกอร์รวม 1-5
2018/19 รอบ 8 ทีม : แพ้ สเปอร์ส อเวย์โกล 4-4
2019/20 รอบ 8 ทีม : แพ้ โอลิมปิก ลียง 1-3 (เตะนัดเดียว)
2020/21 รองแชมป์ : แพ้ เชลซี 0-1
2021/22 ตัดเชือก : แพ้ เรอัล มาดริด สกอร์รวม 5-6
ใกล้เคียงสุดคือ 2020/21 ที่ทะลุเข้าชิงชนะเลิศเป็นหนแรกในประวัติศาสตร์สโมสรได้แล้ว แต่ก็ไปพ่ายให้ความเจนจัดและลูกเขี้ยวลากดินของ เชลซี ยุค โธมัส ทูเคิ่ล
มาซีซั่นนี้ ก็เหมือนฟ้าประทานให้ แมนฯ ซิตี้ ได้โยนหัวก้อยเสี่ยงทาย
…ว่าจะ “ล้างแค้น” เรอัล มาดริด ได้ หรือไม่ก็โดน “ย้ำแค้น” ซ้ำเก่า มีแค่สองตัวเลือกนี้ ไม่มีอย่างอื่น
เพราะก็แค่ซีซั่นก่อนนี่เองที่ แมนฯ ซิตี้ ถูกดับความหวังเจ้ายุโรปเอาไว้ด้วยน้ำมือของ เรอัล มาดริด ที่ก็เป็นรอบตัดเชือกพอดีเสียด้วย
เลกแรกที่เอติฮัด แมนฯ ซิตี้ อุตส่าห์เบียดชนะ มาดริด ได้แล้ว 4-3 เควิน เดอ บรอยน์, กาเบรียล เชซุส, ฟิล โฟเด้น และ แบร์นาร์โด้ ซิลวา ดาหน้ากันมาซัดคนละเม็ด
จากนั้นเลกสองที่เบร์นาเบว ทั้งที่ทุกอย่างดูเข้ามือ แมนฯ ซิตี้ แล้วด้วยการออกนำ 1-0 ท้ายเกม น.73 จาก ริยาด มาห์เรซ และตรึงสกอร์เอาไว้ได้จนเข้าช่วงเฮือกท้าย แต่…
1-1 โรดรีโก้ โกเอส น.90
2-1 โรดรีโก้ โกเอส น.90+1
3-1 คาริม เบนเซม่า จุดโทษ น.95 (ต่อเวลา)
เรอัล มาดริด พลิกปราบ แมนฯ ซิตี้ 3-1 จนชนะสกอร์รวม 6-5 และเข้าไปคว้าแชมป์สมัย 14 ในท้ายที่สุด
สำหรับซีซั่นนี้ อย่างที่ว่า เหมือนฟ้าส่ง เรอัล มาดริด มาให้เจอกันในรอบตัดเชือกอีกครั้ง
สิ่งที่เปลี่ยนไป นอกจากเลกแรกจะซัดกันที่มาดริด (อังคาร 9 พ.ค.) และเลกสองกลับมาตัดสินที่แมนเชสเตอร์ (พุธ 17 พ.ค.) แล้ว ก็แน่นอนว่าคือการที่ แมนฯ ซิตี้ มีสุดยอด “อาวุธหนัก” ให้พึ่งพาและพร้อมสังหารทุกคู่แข่งอย่าง เออร์ลิ่ง เบราท์ ฮาแลนด์
ก็บ้าบอขนาดไหนที่ซีซั่นนี้ ฮาแลนด์ กระหน่ำไปแล้ว 48 ประตูในทุกถ้วย (41 นัด) แบ่งเป็นใน ชปล. 12 ลูก ยึดหัวหาดนำดาวซัลโวแบบไร้คู่แข่ง (วินิซิอุส 6, โรดรีโก้ 5, เบนเซม่า 4)
สำคัญอีกอย่างคือ “เกมเหย้า” ใน ชปล. ซีซั่นนี้ แมนฯ ซิตี้ ดีจัดๆ ถึงขั้นชนะ 100% เต็ม
- รอบแรก ชนะ ดอร์ทมุนด์ 2-1 (ฮาแลนด์ 1 ตุง)
รอบแรก ชนะ โคเปนเฮเก้น 5-0 (ฮาแลนด์ 2 เม็ด)
รอบแรก ชนะ เซบีย่า 3-1
รอบ 16 ทีม ชนะ แอร์เบ ไลป์ซิก 7-0 (ฮาแลนด์ 5 ประตู)
รอบ 8 ทีม ชนะ บาเยิร์น มิวนิค 3-0 (ฮาแลนด์ 1 เม็ด)
ส่วนเกมเยือน แม้จะชนะแค่เกมเดียว (4-0 เซบีย่า) จากทั้งหมด 5 นัด แต่อีก 4 ที่เหลือก็จบด้วยผลเสมอ (0-0 โคเปนเฮเก้น, 0-0 ดอร์ทมุนด์, 1-1 ไลป์ซิก, 1-1 บาเยิร์น) ทั้งสิ้น
เรียกว่าซีซั่นนี้ แมนฯ ซิตี้ ยังไม่หลุดแพ้เกมยุโรปแม้แต่นัดเดียว (ขณะที่ มาดริด ยังมีออกไปแพ้ แอร์เบ ไลป์ซิก 2-3)
ฉะนั้น นาทีนี้ที่ยังเอาเรื่องของ “สภาพทีม” มาพิจารณาไม่ได้ ก็ต้องบอกว่า แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้เป็นรอง เรอัล มาดริด แต่อย่างใด โอกาสผ่านเข้าชิงชนะเลิศควรตีกลมๆ ไปว่า 50-50
แน่นอน นี่คือความท้าทายและโอกาสครั้งใหญ่ของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในการทำฝันให้สำเร็จ
หนึ่งด่านรอบตัดเชือก อีกหนึ่งด่านนัดชิง
1 แชมป์ยุโรปที่ตามหา จะมาได้เสียทีไหม ก็ต้องเริ่มที่การชำระแค้น คว่ำ เรอัล มาดริด ลงให้ได้เสียก่อน นั่นเอง