ชาลเก้ 04 ประกาศปลด Gazprom ออกจากสปอนเซอร์คาดอกเสื้อ หลัง รัสเซีย เปิดฉากโจมตี ยูเครน เมื่อรุ่งเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ปิดฉากการร่วมงานกับบริษัทด้านพลังงานของรัสเซีย นาน 15 ปี ลงอย่างเป็นทางการ
แต่นอกจากจะเป็นภาพจำบนอกเสื้อของ ชาลเก้ 04 แล้ว Gazprom ยังไปโผล่อยู่บนเสื้อของอีกหลายสโมสรใน รัสเซีย กับ เซอร์เบีย และยังปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณาข้างสนาม ของการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกอีกด้วย
การลงโฆษณาในวงการกีฬาไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เมื่อพวกเขาเป็นบริษัทด้านพลังงาน และมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ เรื่องราวที่ตามมาจึงมีลับลมคมในมากกว่าแค่เพราะผู้บริหารชื่นชอบในฟุตบอล หรือต้องการผลักดันแบรนด์สู่สายตาผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ติดตามเรื่องราวได้ที่นี่กับ Main Stand
เจ้าพ่อบ่อน้ำมัน
ในปี 2020 รัสเซีย เป็นชาติที่ผลิตน้ำมันปิโตรเลียมได้มากสุดอันดับสามของโลก รองจากแค่ สหรัฐอเมริกา กับ ซาอุดีอาระเบีย เท่านั้น และข้อมูลจากปี 2017 พวกเขาคือประเทศที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว หรือ Proved Reserves มากสุดในโลก มากถึง 1,688 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือคิดเป็น 24.39% ของทั่วทั้งโลก
จากตัวเลขดังกล่าว มาจากแท่นขุดเจาะของ Gazprom ที่กระจายตัวอยู่รอบมหาสมุทรอาร์กติก มากถึง 71.7% ของปริมาณรวมทั้งประเทศ และนับเป็น 16.7% ของปริมาณสำรองปิโตรเลียมทั่วทั้งโลกเลยทีเดียว
Proved Reserves คือค่าของปิโตรเลียมคงเหลือในฐานขุดเจาะ ที่มีแผนการผลิตอย่างละเอียด และผ่านการรับรองจากภาครัฐเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งตัวเลขข้างต้นยังไม่รวมถึงปริมาณปิโตรเลียม หรือน้ำมันดิบกับก๊าซธรรมชาติ ที่มีระดับความไม่แน่นอนว่าจะผลิตได้จริง อันถูกแยกประเภทเป็น Proable กับ Possible Reserves ออกมาอีกทีหนึ่ง
อย่างที่เราทราบกันว่า น้ำมัน เป็นทรัพยากรที่มีวันหายไปจากโลกใบนี้ เพราะฟอสซิลสิ่งมีชีวิตในอดีตนั้นไม่ได้เป็นจำนวนอนันต์ ทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรป ที่ไม่สามารถเดินแท่นขุดเจาะของตนเองได้แล้ว ต่างต้องพึ่งพา รัสเซีย ให้เป็นพี่ใหญ่ในด้านการขุดเจาะน้ำมันเหล่านี้แทน
40% ของก๊าซธรรมชาติที่ทางยุโรปนำเข้า มีที่มาจากดินแดนหมีขาวแห่งนี้ แต่เพราะแก๊สเหล่านี้ไม่สามารถลอยข้ามอากาศ แล้วไปลงจอดยังประเทศปลายทางได้ด้วยตนเอง พวกมันต้องอาศัยท่อส่งแก๊ส และเมื่อกางแผนที่ดูแล้ว ประเทศที่ท่อเหล่านี้ต้องวิ่งผ่านเป็นหลักนั้นคือ ยูเครน ไม้เบื่อไม้เมากับ รัสเซีย มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
กาลครั้งหนึ่ง ยูเครน เคยเป็นทางผ่านของก๊าซธรรมชาติมากกว่า 80% ของจำนวนที่ส่งออกไปยังยุโรป และทั้งสองฝั่งต่างเผชิญปัญหาในการส่งแก๊สมาตั้งแต่ปี 2006 จนทำให้ รัสเซีย ต้องมองหาทางออกด้านอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการโดน ยูเครน กับ เบลารุส ขูดรีดค่าใช้จ่ายในการขนส่งก๊าซของตนเอง
เห็นเธอที่เยอรมัน
ในปี 1999 แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ (Gerhard Schröder) นายกรัฐมนตรี เยอรมนี ในขณะนั้น ประกาศว่าพวกเขาจะลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและนิวเคลียร์ลง ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ก๊าซธรรมชาติของ รัสเซีย จะรุดหาลูกค้ารายใหญ่เจ้าใหม่ได้สำเร็จ
เท้าความเรื่องของ Gazprom กันก่อน พวกเขาเป็นบริษัทที่ก่อตั้งในปี 1989 เพื่อทำทุกอย่างในด้านก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ผลิต ขุดเจาะ ขนส่ง ไปจนถึงขั้นขายด้วยตนเอง และกลายเป็นบริษัทเอกชนเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 เป็นต้นมา
จนกระทั่ง วลาดิเมียร์ ปูติน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รัสเซีย เมื่อปี 2000 เขาได้เริ่มกวาดล้างเหล่าผู้มั่งคั่งในประเทศตนเอง และเพิ่มการมีส่วมร่วมของรัฐบาลไปยังบริษัทสำคัญเจ้าต่าง ๆ ของประเทศ
แน่นอนว่า Gazprom ก็ไม่รอดสายตาไปได้ ทั้งผู้ก่อตั้งกับอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง วิคตอร์ เชอร์โนเมียร์ดิน (Viktor Chernomyrdin) กับ เรม เวียคีเรฟ (Rem Viakhirev) ผู้บริหารของบริษัท ถูกแทนที่ด้วย ดิมิทรีย์ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) กับ อเลซี่ย์ มิลเลอร์ (Alexei Miller) บุคลากรที่ ปูติน ได้ร่วมงานมาตั้งแต่ยุค 1990s แล้ว
ในปี 2005 รัฐบาล รัสเซีย กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ด้วยจำนวนหุ้น 50.23% ส่งผลให้ Gazprom ตกอยู่ในการดูแลของรัฐไปโดยปริยาย หรือจะเทียบว่าในด้านพลังงาน Gazprom เท่ากับ รัสเซีย ก็คงไม่ผิดเสียเท่าไหร่
และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ชเรอเดอร์ กับ ปูติน ได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นเป็นพิเศษ จนสื่อและนักวิเคราะห์ของ เยอรมัน เริ่มแสดงความเป็นกังวลว่าทาง รัสเซีย จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในประเทศตนเองหรือไม่
8 กันยายน 2005 เพียงแค่ไม่กี่อาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งนายกฯ ท่านผู้นำของสองประเทศได้เซ็นสัญญาเพื่อเริ่มโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ที่จะต่อตรงออกจากแผ่นดิน รัสเซีย ลอดใต้ทะเลบอลติก และขึ้นฝั่งอีกครั้งที่ เยอรมนี
แม้ ชเรอเดอร์ จะแพ้เลือกตั้งครั้งดังกล่าว เจ้าตัวก็ได้งานใหม่ในอีกไม่กี่เดือนให้หลัง นั่นคือเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงของโปรเจคท่อน้ำมัน Nord Stream ที่เจ้าตัวเซ็นอนุมัติระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่นั่นเอง
นักข่าวเริ่มสัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากลของอดีตนายกรัฐมนตรี และเริ่มมีการสอบหาข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น จนไปพบว่า ชเรอเดอร์ เคยอนุมัติเงินกู้จำนวน 900 ล้านยูโรจากรัฐบาลตนเอง เพื่อให้ Gazprom นำไปใช้เป็นเงินทุนในการสร้างท่อส่งแก๊ส โดยรัฐบาล เยอรมัน จะป็นผู้รับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าวถ้าบริษัทสัญชาติ รัสเซีย รายนี้ ไม่สามารถจ่ายคืนได้ทันเวลา
ยังไม่รวมถึงการที่อดีตผู้นำของประเทศ ถูกดึงตัวไปดำรงตำแหน่งให้บริษัทจากต่างแดน ที่เปรียบเสมือนเป็นแขนขาของรัฐบาลต่างชาติ และเจ้าตัวเคยมีความสัมพันธ์อันดีแบบมากเป็นพิเศษเสียอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ ชเรอเดอร์ จะโดนสื่อวิจารณ์และตั้งคำถามถึงเรื่องอื้อฉาวนี้อย่างหนักหน่วง ในระดับว่าเจ้าตัวเอี่ยวกับคอร์รัปชั่น หรือถูกชักใยโดย รัสเซีย เลยทีเดียว
แถมล่าสุด เขากำลังจะเข้ารับตำแหน่งเป็นบอร์บริหารของ Gazprom ในช่วงกลางปี 2022 อีกด้วย ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้ย่อมมีกลิ่นตุ ๆ อยู่แล้ว
แต่ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคมของปี 2006 ระหว่างที่ทุกสิ่งกำลังคุกรุ่นอยู่ ก็ได้เกิดเรื่องราวต่อไปนี้ขึ้นมา…
การเข้ามาสู่โลกฟุตบอล
Gazprom เปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักของ ชาลเก้ 04 อย่างเป็นทางการ ระหว่างที่ทีมกำลังเผชิญกับภาวะการเงินอย่างหนัก กับหนี้สินอย่างน้อย 110 ล้านยูโร
พวกเขาพร้อมทุ่มเงิน 125 ล้านยูโรให้กับทีม ในสัญญาที่ครอบคลุมระยะเวลา 5 ปีครึ่ง จนส่งให้ Gazprom เป็นดีลสปอนเซอร์ที่มีมูลค่ามากสุดใน เยอรมนี แซงหน้าทั้ง Deutsche Telekom ของ บาเยิร์น มิวนิค อีกด้วย
“ชาลเก้ มีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนพลังงานของ เยอรมนี เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้สนับสนุนมากมาย นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราถึงอยากเข้ามาสนับสนุนเขา” Sergey Fursenko ผู้บริหารของ Gazprom เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดีลดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
เมื่อกางแผนที่ประเทศ เยอรมนี ดู พบว่า ชาลเก้ ตั้งอยู่ในเมือง เกลเซนเคอเชน ของภูมิภาค รูห์ (Ruhr) อันเป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทพลังงานจำนวนมาก แถมยังอยู่ติดกับเมือง เรห์เดน (Rehden) ชุมทางของท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป พร้อมกับมีแหล่งกักเก็บเชื้อเพลิงสำรองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก ตั้งอยู่ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น การเลือกเป็นสปอนเซอร์ให้กับ ชาลเก้ 04 คงไม่ได้มาจากการสุ่มเลือกทีมเล่น ๆ อย่างแน่นอน และย้อนเวลากลับไปในปี 2005 Gazprom ก็ไปเซ็นสัญญาเป็นผู้สนับสนุนของ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเมือง วีบอร์ก (Vyborg) หรือจุดที่ท่อส่งก๊าซ Nord Stream ออกจากแผ่นดิน รัสเซีย เพื่อเดินทางไปสู่ เยอรมนี แบบพอดิบพอดี
Gazprom พยายามเข้ามาซื้อใจแฟนบอลของ ชาลเก้ ให้ได้ พวกเขาเริ่มจากการแจกธงฟรีให้แฟนบอลในสนาม 10,000 ผืน แต่การเริ่มต้นก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เมื่อแฟนบอลที่กังวลกับอนาคตของทีม นำป้าย “เงินซื้อประเพณีไม่ได้” มาโชว์ใส่ในสนามแทน
แต่นั่นไม่ทำให้แหล่งทุนจาก รัสเซีย ลดละความพยายาม พวกเขาลงทุนกับการเสริมทัพ สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม มูลนิธิการกุศลในท้องถิ่น ทำโปรโมชั่นให้แฟนบอลเข้ามาชมเกม และจัดแมตช์การแข่งขันฟุตบอลเพื่อนักเตะสมัครเล่น เรียกว่าทำความดีเข้าแลก เพื่อซื้อใจแฟนบอลท้องถิ่นให้ได้เลย และเมื่อหมดสัญญาแล้ว ก็ยังอัดฉีดเงินมูลค่า 130 ล้านยูโร เพื่อขยายสัญญาต่อไปอีกครั้งละ 5 ปีมาอย่างต่อเนื่อง
ฟอร์มของ ชาลเก้ 04 ก็ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นมาตามลำดับ และเริ่มได้ผู้เล่นมากฝีมืออย่าง อิวาน ราคิติช, เจฟเฟอร์สัน ฟาร์ฟาน, คลาส-แยน ฮุนเตลาร์ และ ราอูล กอนซาเลซ มาเสริมทัพ จนสามารถคว้าแชมป์ เดเอฟเบ โพคาล กับ ซูเปอร์คัพ ปี 2011 ได้สำเร็จ พร้อมกับเป็นทีมเจ้าประจำของการแข่งขันฟุตบอลยุโรปมาโดยตลอด
ด้านของ Gazprom พวกขาไม่ได้รุดเข้ามาสนับสนุนแค่ยอดทีมจาก เยอรมนี เท่านั้น เพราะในปี 2010 บริษัทได้เปิดตัวเป็นสปอนเซอร์ทีม เรด สตาร์ เบลเกรด สโมสรใน เซอร์เบีย ซึ่งประจวบเหมาะกับการต่อขยายโครงการท่อส่งก๊าซสายที่ 2 โดยลอดท่อลงทะเลดำ ต่อตรงเข้า บัลแกเรีย และส่งต่อไปยัง เซอร์เบีย โดยไม่ต้องผ่านเส้นทางของประเทศ ยูเครน แม้แต่เมตรเดียวเลย
แม้ว่าโครงการนี้จะถูกหยุดไปในปี 2014 จากมาตรการคว่ำบาตร รัสเซีย หลังเกิดการบุกยึดดินแดน ไครเมีย แต่ก็ชัดเจนว่า Gazprom พร้อมเข้าไปตีซี้ประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างชื่อเสียงต่อหน้าแฟนบอลทั้งในและต่างประเทศ จากภาพจำที่ตราตรึงบนหน้าอกเสื้อ และป้ายโฆษณาข้างสนามแบบนี้
นอกจากเป็นสปอนเซอร์ของทีมฟุตบอล Gazprom ยังได้เข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ตามด้วยรายการแข่งขันของฟีฟ่าในปี 2015-2018 ซึ่งรวมถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2018 ในแผ่นดิน รัสเซีย ด้วยเช่นกัน (สนาม เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก สเตเดี้ยม หรือ เครสตอฟสกี้ สเตเดี้ยม ที่ใช้จัดฟุตบอลโลกนั้น มีชื่อเรียกตามสปอนเซอร์ว่า Gazprom อารีน่า)
และเมื่อทีมที่มีสัมพันธ์มายาวนานอย่าง ชาลเก้ 04 ตัดสินใจฉีกสัญญาทิ้งเช่นนี้ แถมรัฐบาล เยอรมนี ยังชะลอการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันแห่งใหม่จาก รัสเซีย ออกไปอีก ต้องรอดูว่าความเคลื่อนไหวถัดไปของบริษัทพลังงานรายนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง กับสถานการณ์ใน ยูเครน ที่ยังไม่คลี่คลายลงไป
หากเล่นถูกวิธี การเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมกีฬา ก็สามารถช่วยล้างภาพลักษณ์หรือชื่อเสีย(ง)ของแบรนด์ต่าง ๆ ให้จางหายลงไปได้ เช่นกันกับสโมสรผู้ได้รับเม็ดเงินมาพัฒนา จนนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จได้ตามที่หวัง จนทำให้เมื่อดูการแข่งขันฟุตบอลในตอนนี้ คุณจะไม่ได้เห็นเพียงแค่การแข่งขันของ 22 คนในสนาม แต่ยังรวมถึงบริษัทผู้สนับสนุนทั้งหลาย ที่ขับเคี่ยวกันตั้งแต่ก่อนเขี่ยเริ่มเล่น ไปจนถึงหลังไฟดวงสุดท้ายในสนามได้ถูกปิดลง