ทุนนิยมกับฟุตบอลกลายเป็นสองเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้แล้วในปัจจุบัน เมื่อฟุตบอลในยุคนี้เป็นมากกว่ากีฬาแต่มันคือวงจรธุรกิจที่ทำเงินได้มากมายมหาศาล โดยเฉพาะกับกลุ่มทุนที่ทยอยตบเท้าพาเหรดกันเข้ามาหนุนหลังทีมดังกันอย่างแพร่หลายจนสามารถใช้เม็ดเงินกว้านซื้อความสำเร็จเข้าสู่สโมสรกันได้เป็นกอบเป็นกำตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
กระนั้นเพื่อเป็นการควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินรวมถึงการลดช่องว่างระหว่างทีมทุนต่ำกับทีมกระเป๋าหนา กฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องการการผลาญเงินจนเกินตัวและรักษาสมดุลช่องว่างระหว่างแต่ละสโมสรเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
กฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ (FFP) เริ่มต้นเมื่อใด ?
แนวคิดนี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือ ยูฟ่า (UEFA) ตั้งแต่ปี 2009 ก่อนจะนำมาบังคับใช้ในฤดูกาล 2011/12 เป็นต้นมา
โดยหลักการเบื้องต้นก็เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละสโมสรจะไม่ใช้จ่ายไปมากกว่าที่พวกเขาหามาได้ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินที่หลาย ๆ สโมสรในอดีตโดนเล่นงานจนล้มหายตายจากกันไป ตามรายงานเมื่อปี 2009 ยูฟ่า ชี้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของสโมสรในยุโรปกำลังประสบปัญหาทางการเงินและราว 20% กำลังเสี่ยงต่อการภาวะล้มละลาย ซึ่งแนวคิดนี้จะหยุดยั้งไม่ให้แต่ละทีมใช้เงินจนเกินตัวและจำเป็นต้องบริหารงบประมาณภายใต้กรอบที่กำหนด
FFP ของ ยูฟ่า
กฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ ของ ยูฟ่า มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงเรื่อย ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยครั้งล่าสุดมีการแก้ไขระเบียบนี้ไปเมื่อกลางปี 2022 ซึ่งตามกฏใหม่ทาง ยูฟ่า อนุญาตให้สโมสรสามารถขาดทุนได้ไม่เกิน 60 ล้านยูโรภายในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระบุเอาไว้ที่ 30 ล้านยูโร รวมถึงระบุให้ค่าใช้จ่ายภายในต่าง ๆ ทั้ง ค่าเหนื่อย ค่าโอนย้าย ค่าธรรมเนียมเอเยนต์ ต้องไม่เกิน 70% ของรายได้รวมสโมสรภายในปี 2025/26 และสโมสรยังต้องจ่ายหนีที่ค้างชำระให้ทันภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้อีกด้วย
Official Adidas Champions League Match Ball / Visionhaus/GettyImages
FFP ของ พรีเมียร์ลีก
ทาง พรีเมียร์ลีกอังกฤษ มีกฏการเงินของตัวเองที่ต่างออกไป โดยพวกเขามีข้อกำหนดเป็นตัวเลขมากมายหลายข้อ รวมถึงข้อบังคับกรอบเวลาที่แต่ละสโมสรต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ค่าเหนื่อย รวถึงภาษีให้ตรงเวลา แถมทุกสโมสรในอังกฤษเองยังถูกบังคับให้ต้องมีการเปิดเผยตัวเลขบัญชีและหลักฐานทางการเงินต่าง ๆ อีกด้วย
แต่กระนั้นดูเหมือนว่า ท็อดด์ โบลีห์ เจ้าของคนใหม่ของ เชลซี จะกำลังท้าทายกฎเกณฑ์นี้อยู่จากการใช้จ่ายเงินเป็นว่าเล่นชนิดสร้างสถิติสโมสรตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาเท็คโอเวอร์ทีมเลยก็ว่าได้
Burnley v West Bromwich Albion – Premier League / Visionhaus/GettyImages
ทีมใดเคยถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ บ้าง ?
อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบัน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กำลังถูกโจมตีในประเด็นนี้อย่างหนัก จากการถูกกล่าวหาว่า เรือใบสีฟ้า ละเมิดกฎ FFP มากกว่า 100 ครั้งจากการตรวจสอบข้อมูลตลอด 4 ปีของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของ ซิตี้ โดยในปี 2014 ที่ผ่านมาพวกเขารวมถึง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ถูกตั้งข้อหาว่าไม่ปฏิบัติตามกฏของ FFP ของ ยูฟ่า ที่ระบุว่าทั้งคู่ใช้จ่ายเงินมากกว่ารายรับของสโมสรจนถูกปรับเงินกว่า 60 ล้านยูโรในเวลาต่อมา
ไม่เพียงเท่านั้นในปี 2022 แปดสโมสรรวมถึง ปารีสฯ อินเตอร์ มิลาน เอซี มิลาน ยูเวนตุส และ โรมา เองก็ถูกปรับเงินจากการใช้ทะลุรายรับสโมสรเช่นเดียวกัน