sportpooltoday

คนละศาสตร์ : เมื่ออดีตนักเตะขึ้นเป็นผู้บริหาร แท้จริงแล้วบริหารจริงไหม ?


คนละศาสตร์ : เมื่ออดีตนักเตะขึ้นเป็นผู้บริหาร แท้จริงแล้วบริหารจริงไหม ?

มีอดีตนักเตะจำนวนไม่น้อยที่หลังจากเลิกเล่นฟุตบอลไปแล้วก็หันหน้ามาเอาดีทางด้านการเป็นผู้บริหารสโมสรฟุตบอล

แน่นอนแฟนบอลชอบพวกเขาแน่ เพราะเป็นคนที่คุ้นเคยกันดี บางคนเคยเป็นตำนานนักเตะ เคยพาทีมเป็นแชมป์มาก่อน … แต่เมื่อถึงวันที่เปลี่ยนบทบาทจากการเล่นในสนามมาสู่การนั่งบนเก้าอี้ผู้บริหาร แท้จริงแล้วเนื้องานของพวกเขาเปลี่ยนไปขนาดไหน 

แล้วไอ้ที่บอกว่าเป็นผู้บริหาร แท้จริงแล้วได้บริหารเองหรือไม่ ? …. ติดตามได้ที่ Main Stand

2 หน้าที่ที่แตกต่าง

นักเตะกับผู้บริหารสโมสรนั้นแตกต่างกันสุดขั้วแค่ไหนคงไม่ต้องพูด หากให้เปรียบเทียบง่าย ๆ นักบอลคือสายบู๊ ลงไปใช้กำลัง ทักษะ และการทำงานเป็นทีมในสนามเพื่อให้ได้ผลการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมกลับมาสู่สโมสร 

ด้านหน้าที่ผู้บริหาร ไม่ว่าจะในตำแหน่งประธานสโมสร ผู้อำนวยการกีฬา หรือประธานฝ่ายเทคนิค นั้นมีลักษณะงานที่คล้าย ๆ  กัน เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสายบุ๋นที่ต้องใช้วิสัยทัศน์ วัดกันด้วยทักษะการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับองค์กร 

นักเตะที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ชัดเจนที่สุดเมื่อผันตัวมานั่งตำแหน่งเก้าอี้ผู้บริหารคือ คาร์ล ไฮน์ซ รุมเมนิกเก้ ที่เป็นทั้งตำนานนักเตะและผู้บริหารที่พาทีม บาเยิร์น มิวนิค ประสบความสำเร็จ สำหรับ รุมเมนิกเก้ สิ่งที่ทำให้เขาทำทั้ง 2 บทบาทได้ดีนั้นคือคำว่า “แพชชั่น” มันเป็นสิ่งที่เขาขยายความหมายถึงการพร้อมทำงานหนักอย่างเต็มใจ อยู่กับสิ่งนั้นได้ทั้งวันทั้งคืนในแบบที่คนอื่นทำไม่ได้

 

“ผมมาเล่นให้ บาเยิร์น มิวนิค ตอนที่ผมอายุ 18 ปี ไม่ต้องมีใครบอกผมหรอกแต่ผมมาฝึกซ้อมเป็นคนแรกเสมอ ผมพร้อมทุ่มเทเพื่อสโมสร ในตอนที่เรามีผู้ชมแค่ 10,000 คน จากนั้นเหล่าแชมป์โลกก็ปรากฏตัว แกร์ด มุลเลอร์, ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ และอื่น ๆ อีกมากก็ตามมา”

“ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะดังหรือเป็นสตาร์มาจากไหน ผมอยู่ในจุดนี้ได้เพราะเชื่อมั่นในผลลัพธ์ นั่นคือชัยชนะเท่านั้นที่สำคัญกับสโมสรแห่งนี้ ชัยชนะคือทั้งหมดที่เราต้องการ เราต้องทำให้สโมสรเป็นเหมือนกับโรงเรียน บาเยิร์น มิวนิค … คนที่มาอยู่กับสโมสรแห่งนี้เหมือนเป็นนักเรียน เมื่อมาอยู่ที่นี่แล้วพวกเขาจะต้องทำมันให้ได้” รุมเมนิกเก้ กล่าวถึงบทบาทการเป็นนักเตะของเขา

แต่เมื่อวันที่ รุมเมนิกเก้ เลิกเล่นฟุตบอลและได้รับตำแหน่งผู้บริหารองค์กร หน้าที่ของเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สโมสรบาเยิร์นประกาศถึงบทบาทซีอีโอของ รุมเมนิกเก้ ว่า “หน้าที่ของเขาในฐานะประธานคือมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายนอก (ติดต่อเจรจากับคนนอกสโมสร) ทำให้สโมสรรับผิดชอบด้านสื่อใหม่ ๆ, ดำเนินกิจการร่วมกับคณะกรรมการสโมสร และเป็นตัวแทนของบริษัทเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ระดับนานาชาติ” 

“พอเปลี่ยนมาเป็นผู้บริหาร ผมอาจจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดไปบ้างเรื่องของรายได้ครึ่งหนึ่งเรื่องของผลลัพธ์ในสนามครึ่งหนึ่ง มันจำเป็นอย่างมากที่เมื่อเปลี่ยนบทบาทแล้วคุณจะต้องให้ความสนใจเรื่องการเงินของสโมสรเป็นสำคัญ เพราะมันคืองานหลักของผม แต่มันยังไม่จบแค่นั้น คุณจะต้องบริหารคนไปพร้อม ๆ กับบริหารเงิน ทำให้สโมสรยังคงรักษาธรรมเนียมและปรัชญาเอาไว้ต่อไป”  

 

จากหน้าที่ของ รุมเมนิกเก้ ทำให้เราเห็นตัวอย่างของความยากของการบริหารอย่างชัดเจน และเห็นชัดว่ามันเป็นศาสตร์ที่แตกต่างกับการเป็นนักเตะอย่างมาก นักเตะลงสนามไปเพื่อคว้าชัยและพวกเขาจะกลายเป็นที่จดจำของแฟนบอล ขณะที่ผู้บริหาร จะต้องทำหน้าที่หลังฉาก เป็นคนเบื้องหลังที่ต้องทำงานหนักแต่ได้หน้าน้อย และการจะทำให้ทีมประสบความสำเร็จในแง่ของตัวเลขและผลงานก็เป็นเรื่องยากมาก … ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ นอกจากจะรู้เรื่องฟุตบอลและมีความมุ่งมั่นจะทำให้ทีมก้าวหน้าแล้ว พวกเขายังต้องมีความรู้ในศาสตร์การจัดการและการบริหารระดับสูงอีกด้วย

ผู้บริหาร … เป็นไม่ง่าย 

การศึกษาเป็นสิ่งที่มักจะไม่ได้มาคู่กับนักฟุตบอลยุคก่อน เมื่อนักเตะได้สัญญาอาชีพพวกเขาจะก็จะต้องมุ่งไปบนเส้นทางสายนักเตะและเดินออกจากระบบการศึกษาไปโดยปริยาย 

และอย่างที่บอก เมื่อนักบริหารองค์กรเปรียบเสมือนกุนซือที่เป็นสายบุ๋น พวกเขาสามารถทำให้ทีมชนะในสนามผ่านทางวิสัยทัศน์และการตัดสินใจนอกสนาม แล้วถ้าพวกเขาไม่ได้เรียนรู้ศาสตร์ของการบริหาร พวกเขาจะลงมือภาคปฏิบัติให้ออกมาดี ได้อย่างไร ? 

 

อดีตนักเตะที่ฝันตัวมาทำงานสายนี้ต่างก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมหลังจากแขวนสตั๊ดกันทั้งนั้น อย่าง รุมเมนิกเก้ ที่กล่าวไปข้างต้นหลังจากแขวนสตั๊ด เขาก็ไปเรียนระดับปริญาตรีด้านบริหารต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เขาจะรับงานประธานสโมสร บาเยิร์น มิวนิค เช่นเดียวกับคนที่รับงานต่อจากเขาไม่ว่าจะเป็น ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ และ อูลี่ เฮอร์เนส ต่างก็ต้องไปเรียนศาสตร์เฉพาะทางด้านการบริหารเพิ่มเติมทั้งสิ้น 

การศึกษาและรู้งานบริหารทำให้พวกเขามองภาพรวมได้กว้างขึ้น ตัดสินใจแต่ละครั้งโดยทำให้สโมสรได้ประโยชน์มากที่สุด กว่าจะหว่านเงินลงไปในส่วนต่าง ๆ พวกเขาต้องคิดแล้วคิดอีกว่าเมื่อลงเงินไปแล้วจะต้องได้เงินที่มากกว่ากลับมา … แต่ก็ยังต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง 

ยกตัวอย่างการบริหารของคนที่รู้วัฒนธรรมองค์กรเพราะเป็นนักเตะเก่าของทีม รู้จักฟุตบอลดีเพราะมีประสบการณ์จากการเป็นนักเตะระดับโลก และด้วยความรู้เฉพาะทางที่แตกฉานของกลุ่มผู้บริหาร บาเยิร์น มิวนิค ที่ตัดสินใจย้ายสนามเหย้าจาก มิวนิค โอลิมปิก สเตเดียม ไปเล่นที่ อลิอันซ์ อารีนา ในปี 2005 ซึ่งทำให้ทีมมีโอกาสในการหารายได้มากขึ้นจากจำนวนความจุและความทันสมัยกว่าสนามเดิม … ซึ่งทุกวันนี้เราก็จะเห็นได้จากหน้าข่าวอยู่เสมอว่า บาเยิร์น มิวนิค เป็นสโมสรฟุตบอลที่มีผลประกอบการที่ไม่เคยขาดทุนในทุก ๆ ปี แต่ในขณะเดียวกันยังคงรักษาความยิ่งใหญ่ในด้านถ้วยรางวัลไว้ได้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกเหมือนเดิม

การที่เรายกตัวอย่างกลุ่มผู้บริหารที่เคยเป็นอดีตนักเตะของ บาเยิร์น มิวนิค ก็เพราะว่าพวกเขาสามารถทำให้ผู้อ่านนึกภาพออกว่าเป็นผู้ที่มีองค์ประกอบพร้อมสำหรับบริหารทีมฟุตบอลและสามารถนำองค์กรเดินไปข้างหน้าได้อย่างถูกทิศทาง ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก เปลี่ยนวิธีการสร้างองค์กรไปเรื่อยจนไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการสักที เหมือนกับที่เหล่ายักษ์หลับในยุโรปหลายทีมเคยประสบปัญหา อาทิ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่แม้จะมีคนที่เก่งเรื่องธุรกิจและบริหารทีมกีฬา แต่พวกเขาก็ไม่ได้แตกฉานในเรื่องฟุตบอล จนในวันนี้ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ยังเป็นยักษ์หลับที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลยตลอด 7-8 ปีหลังสุด … แม้จะมีรายได้แต่ไร้ความสำเร็จ ก็ถือว่าไม่สามารถใช้คำว่าเป็น “การบริหารทีมฟุตบอล” ที่ดีได้เช่นกัน

ผู้บริหารแค่ในนาม 

แม้เราจะร่ายยาวเรื่องผู้บริหารทีมฟุตบอลที่มีองค์ความรู้รอบด้าน แต่บางครั้งการหาคนที่มานั่งตำแหน่งบริหารก็ต้องการแค่ใครสักคนที่แฟน ๆ พร้อมสนับสนุน โดยมีทีมบริหารตัวจริงทำงานอยู่เบื้องหลัง … การมีนักเตะดังที่แฟน ๆ รักและชื่นชอบหันมานั่งตำแหน่งผู้บริหารในนามแบบหลายคน เช่น ริวัลโด้ ตำนานทีมชาติบราซิล ที่เคยรับตำแหน่งประธานสโมสร Mogi Mirim หลังจากที่เขาลงเล่นให้ทีมมา 2 ปี 

ตอนแรกแฟน ๆ ก็ชอบใจที่เขามาเป็นผู้นำสโมสร แต่ความเป็นจริง ริวัลโด้ มีหุ้นส่วนทั้งหมด 3 คนที่เป็นนักธุรกิจที่มาจากกลุ่มทุนของประเทศอุซเบกิสถาน โดยให้เขาออกหน้าแทนเพราะเป็นคนดังและเป็นคนที่แฟนบอลรัก สุดท้ายหลังจากที่ทีมบริหารชุด “กลุ่มเพื่อนริวัลโด้” บริหารสโมสรได้แค่ 2 ปี เรื่องฉาวโฉ่มากมายก็เกิดขึ้น เพราะมีการอ้างว่า ริวัลโด้ รับเงินใต้โต๊ะเพราะถูกจ้างให้มานั่งตำแหน่งประธาน และในยุคที่เขาเป็นผู้บริหารสโมสรก็มีข่าวเสีย ๆ หาย ๆ มากมาย เช่น การขายทรัพย์สินของสโมสร รวมถึงการย้ายศูนย์อคาเดมีของทีมให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัว … หลังจากโดนแฉมาก ๆ เข้า ริวัลโด้ ก็ประกาศลาออก และกลายเป็นนักเตะที่แฟนบอล Mogi Mirim ไม่ได้รักเหมือนก่อน 

อีกกรณีหนึ่งอย่าง ซามูเอล เอโต้ ตำนานนักเตะทีมชาติ แคเมอรูน ที่ได้นั่งตำแหน่งประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแคเมอรูน ก็เป็นอีกคนที่ถูกมองว่าได้ตำแหน่งเพราะชื่อเสียงสมัยยังเป็นนักเตะ เพราะประวัติการบริหารองค์กรก่อนหน้านี้ของ เอโต้ ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

 

เว็บไซต์ DW เคยเผยว่าเขาเคยมีบริษัทโทรคมนาคมและบริหารงานด้วยตัวเองก่อนจะพังไม่เป็นท่า หลังจากนั้นเขาก็ลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์และสุดท้ายก็ล้มเหลวไม่ต่างกัน 

โมกิ เอ็ดวิน คินเซก้า (Moki Edwin Kindzeka) นักข่าวชาวแคเมอรูนของเว็บไซต์ Voice Of America ระบุถึงการรับตำแหน่งของเอโต้ว่า “ทุกคนรู้จักเขาในฐานะฮีโร่ เดินไปไหนมาไหนใคร ๆ ก็รู้จักและรักเขาทั้งนั้น ต่อให้ เอโต้ ไม่ได้มีความรู้และความสามารถด้านการบริหารจัดการเลยก็ตาม”  

แม้ คินเซก้า อาจจะพูดเหมือนกับการดิสเครดิต เอโต้ แต่เขาก็ขยายความเพิ่มเติมว่า สำหรับบางองค์กรที่ไม่ได้มีโครงสร้างแข็งแกร่งและมีเรื่องอื้อฉาวมากมายเช่นวงการฟุตบอลแคเมอรูน บางครั้งการได้ “คนที่ทุกคนเคารพ” มารับหน้าที่ตำแหน่งหัวหอกก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี 

เขารู้จักคนมากมาย มีคอนเน็กชั่น และเป็นคนที่นักเตะและคนในวงการฟุตบอลแคเมอรูนพร้อมจะรับฟัง แม้จะไม่รู้เรื่องบริหาร แต่เขาก็สามารถให้คนที่ทำเป็นที่มีความรู้เฉพาะทางด้านนี้มาเป็นผู้ช่วยหรือให้คำปรึกษาได้ 

การเข้ามาของ เอโต้ ทำให้วงการฟุตบอลแคเมอรูนตื่นตัวไม่น้อย พวกเขาได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ที่กำลังแข่งขันกันอยู่ในเวลานี้ เช่นเดียวกับความเป็นรุ่นใหญ่ของเขาที่กำลังทำให้ โจเอล มาติป กองหลังของสโมสร ลิเวอร์พูล ที่ประกาศเลิกเล่นทีมชาติเพราะการบริหารที่ไม่ได้เรื่องของทีมผู้บริหารชุดเก่า ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเล่นให้กับทีมชาติ แคเมอรูน อีกครั้งในยุคของ เอโต้ แม้เขาจะไม่ได้มาเล่นในแอฟริกา  คัพ ออฟ เนชั่นส์ ก็ตาม  

ดังนั้นจากทุกตัวอย่างที่กล่าวมาและจากคำถามของบทความนี้ที่ถามว่า เมื่ออดีตนักเตะขึ้นมาเป็นผู้บริหาร แท้จริงแล้วบริหารจริงไหม ? คำตอบนั้นมีมากมายเหลือเกิน บางคนมาเพื่อบริหารอย่างจริงจัง บางคนมาเพราะไม่ทันคนโดนหลอกเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ และบางคนก็จำเป็นต้องเข้ามาเพื่อจุดประกายสิ่งใหม่ ๆ จากอดีตที่ย่ำแย่ … พวกเขาจะทำหน้าที่แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละองค์กร ณ เวลานั้น 

องค์กรที่แข็งแกร่งต้องการคนที่รู้จริงเพืิ่อมาต่อยอดให้แกร่งขึ้นไปอีก, องค์กรที่เน่าเฟะก็ต้องการใครก็ได้ที่เข้ามาล้างไพ่ สุดแท้แต่ว่าพวกเขาต้องการผู้บริหารแบบไหน และนี่คือคำตอบทั้งหมดของเรื่องนี้