sportpooltoday

เลอา กัมปุส: เชิ้ตดำสาวที่กล้าท้าทายผู้มีอำนาจ ในยุคที่ผู้หญิงเตะบอลเป็นอาชญากรรม


เลอา กัมปุส: เชิ้ตดำสาวที่กล้าท้าทายผู้มีอำนาจ ในยุคที่ผู้หญิงเตะบอลเป็นอาชญากรรม

“ตอนแรก ชูเอา ฮาเวลานจ์ บอกฉันว่าสรีระผู้หญิงไม่เหมาะกับการเป็นผู้ตัดสินในเกมของผู้ชาย” เลอา กัมปุส กล่าว

“ต่อมาเขาพูดเหมือนกับว่าการมีประจำเดือนทำให้ชีวิตฉันยากขึ้น และปิดท้ายด้วยการยืนยันว่าผู้หญิงไม่สามารถเป็นผู้ตัดสินได้ ตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่ง”

บราซิล ขึ้นชื่อในฐานะดินแดนแห่งฟุตบอล แต่ก่อนหน้านี้มันเคยถูกจำกัดไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น เพราะในยุคหนึ่งการเล่นฟุตบอลสำหรับผู้หญิงถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

แต่ เลอา กัมปุส ไม่ยอมให้มันเป็นอย่างนั้น เธอกล้าท้าทายระบบในยุคที่บราซิลปกครองด้วยเผด็จการทหาร เพื่อทวงสิทธิ์ของผู้หญิงในเกมลูกหนัง ไม่ว่าจะโดนตำรวจจับกี่ครั้งก็ตาม

 

ติดตามเรื่องราวของผู้ตัดสินหญิงที่ต้องต่อสู้กับอคติและระบอบปิตาธิปไตยในวงการฟุตบอลไปพร้อมกับ Main Stand

รักในสิ่งต้องห้าม 

แรกเริ่มเดิมที เลอา กัมปุส ก็ไม่ต่างจากเด็กสาวบราซิลทั่วไป เธอเกิดในปี 1945 ที่เมืองอาบาเอเต เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกของรัฐมินาส เกเรส ของบราซิล ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เบโล ฮอริซอนเต เมืองหลวงของรัฐตอนอายุ 3 ขวบ 

ทว่าความสนใจในเกมลูกหนังของ เลอา ก็เริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย หลังบราซิลได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 1950 และทำให้เธอมักจะนำถุงเท้ามาม้วนเป็นก้อนกลม ๆ เตะเล่นอยู่เสมอ ไปจนถึงลงไปเตะฟุตบอลกับเด็กผู้ชาย แต่ดูเหมือนว่ามันจะทำให้หลายคนไม่ปลื้ม  


Photo : www.espn.com.br | Léa Campos Divulgação

 

“ฉันพยายามเล่นฟุตบอลกับเด็กผู้ชายที่โรงเรียนอยู่เป็นประจำ แต่ครูก็ห้ามฉันแล้วบอกว่ามันไม่เหมาะสม” เลอา กล่าวกับ BBC Sports

“ส่วนพ่อแม่ฉัน พวกเขาบอกว่าสิ่งนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้หญิง”  

ด้วยเหตุนี้ทำให้พ่อแม่ของเธอพยายามผลักดันเธอไปในด้านที่ดูเป็นผู้หญิงด้วยการส่งลงประกวดนางงาม และเธอก็ดันทำได้ดีเสียด้วย เมื่อสามารถคว้ามงกุฎมาครองได้ในหลายเวที 

ตลกร้ายที่ในปี 1966 เวทีสาวงามกลับทำให้เธอได้มาข้องเกี่ยวกับฟุตบอลอีกครั้ง เมื่อตำแหน่งชนะเลิศทำให้เลอาได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของครูเซโร สโมสรในลีกบราซิล และต้องเดินทางเหนือจรดใต้ไปทั่วประเทศพร้อมกันกับทีม 

การคลุกคลีกับสโมสรฟุตบอลยิ่งทำให้เธอหลงใหลในเกมลูกหนังยิ่งขึ้นไปอีก และมันก็กลายเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้เธอรู้สึกว่าบางทีอาจจะมีหนทางที่ทำให้เธอมีพื้นที่ในวงการนี้

 


Photo : artsandculture.google.com | Personal Archive Lea Campos

“หากฉันพยายามเล่นฟุตบอล มันคงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วการที่ผู้หญิงทำแบบนี้ในตอนนั้น มันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” เลอา อธิบาย 

“แต่การเป็นผู้ตัดสินคือหนทางที่จะเข้ามาได้ มันไม่มีกฎหมายห้ามในเรื่องนี้ กฎหมายห้ามผู้หญิงเล่นฟุตบอลแต่ไม่ได้พูดถึงการห้ามเป็นผู้ตัดสิน” 

ในปี 1967 เลอาจึงเริ่มต้นเส้นทางใหม่ด้วยการเข้าอบรมการเป็นผู้ตัดสิน หลังผ่านไป 8 เดือนเธอก็สอบผ่าน แต่สมาพันธ์กีฬาบราซิล (CBD) กลับไม่ออกใบอนุญาตให้เธอ โดยให้เหตุผลว่าเพราะเธอเป็นผู้หญิง 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยาวนานของเลอา

ทวงคืนความยุติธรรม 

ในอดีตบราซิลถือเป็นหนึ่งในประเทศที่กีดกันสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะกฎหมายห้ามผู้หญิงเล่นฟุตบอล โดยอยู่ในกฤษฎีกาที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1941 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้มีอำนาจอ้างว่ากฎหมายที่ห้ามมีนักฟุตบอลหญิงในบราซิล หมายรวมไปถึงเรื่องผู้ตัดสินหญิงด้วย 


Photo : www.em.com.br

“ฉันพยายามหาคำแนะนำทางกฎหมาย และมันก็ไม่มีข้อความใดที่แตกต่างไป แต่ผู้มีอำนาจไม่อยากฟัง” เลอา กล่าวกับ BBC Sports 

แน่นอนว่าเธอไม่ยอมแพ้ จึงได้เข้าอุทธรณ์หลายต่อหลายครั้งกับ CBD ที่ตอนนั้นมี ชูเอา ฮาเวลานจ์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่าในเวลาต่อมาเป็นประธาน แต่คำตอบก็เหมือนเดิมทุกครั้ง นั่นคือคำว่า “ไม่”

 

“ตอนแรก ชูเอา ฮาเวลานจ์ บอกฉันว่าสรีระผู้หญิงไม่เหมาะกับการเป็นผู้ตัดสินในเกมของผู้ชาย” เลอา ย้อนความหลัง 

“ต่อมาเขาพูดเหมือนว่าการมีประจำเดือนทำให้ชีวิตฉันยากขึ้น และปิดท้ายด้วยการยืนยันว่าผู้หญิงไม่สามารถเป็นผู้ตัดสินได้ ตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่ง” 

เลอาพยายามทวงสิทธิ์ด้วยการจัดการแข่งขันนัดกระชับมิตรที่ทำให้เธอสามารถลงตัดสินได้ หรือจัดแข่งฟุตบอลในหมู่ผู้หญิง แต่มันไม่ง่ายเลย เนื่องจากยุคนั้นบราซิลปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ที่นำโดยนายพลเอมิลิโอ เมดิซี

อย่างที่ทราบกันดีว่าระบอบเผด็จการมักจะมาพร้อมกับการปราบปรามผู้เห็นต่างหรือนำความรุนแรงมาใช้จัดระเบียบสังคม และเมื่อพวกเขามองว่า ฟุตบอลหญิง รวมถึง ผู้ตัดสินหญิง เป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงทำให้เลอาถูกตำรวจจับไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง 

 

“ฉันไม่ได้อยากเล่นแล้ว แค่อยากเป็นผู้ตัดสิน แต่พวกเขาก็ขัดขวางไม่ได้ ทำให้สุดท้ายเราไปเล่นกันในที่นาใกล้บ้าน แต่สิ่งที่ควรสนุกเหล่านี้กลับจบลงที่สถานีตำรวจ” เลอา บอกกกับ ESPN Brazil 

“ฉันไม่เคยปล่อยให้เด็กผู้หญิงคนไหนติดคุกเพราะฉัน พอตำรวจมาฉันก็บอกทุกคนให้วิ่งหนีโดยเหลือฉันไว้คนเดียว เพราะลูกบอลเป็นของฉัน ไอเดียนี้ก็เป็นของฉัน” 

แม้ต้องเผชิญกับการกดขี่ แต่เลอาก็ไม่ย่อท้อและมุ่งมั่นทวงสิทธิ์ของผู้หญิงในเกมลูกหนังต่อไป และในปี 1971 เธอก็ได้รับกำลังใจชั้นดี หลังถูกเชิญไปตัดสินในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกอย่างไม่เป็นทางการที่เม็กซิโก 

แต่การที่จะไปตัดสินเกมนั้นได้จำเป็นต้องมีใบประกาศนียบัตรรับรองการเป็นผู้ตัดสินที่เธอถูกปฏิเสธจาก ฮาเวลานจ์ มาตลอด แต่เธอก็ไม่อยากปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป จึงเหลือทางเลือกสุดท้ายคือการให้คนที่ตำแหน่งใหญ่กว่าประธาน CBD ช่วยเหลือ 

คน ๆ นั้นก็คือ นายพลเอมิลิโอ เมดิซี ประธานาธิบดีจอมโหด

ยืมมือเผด็จการ 

แม้ว่าเวทีนางงามอาจจะไม่ได้เป็นความชอบส่วนตัวของเธอแต่มันก็ช่วยเธอไว้อีกครั้ง เมื่อหนึ่งในเวทีที่เธอชนะการประกวดคือเวที “อาร์มี ควีน” ของกองทัพในรัฐมินาส เกเรส ที่ทำให้เธอได้รู้จักกับคนในกองทัพอยู่บ้าง 

เลอาจึงใช้คอนเน็กชั่นนี้ขอร้องให้ผู้บัญชาการในท้องถิ่นพาเธอไปพบกับประธานาธิบดีเมดิซี ที่กำลังจะมาเยือน เบโล ฮอริซอนเต เมืองหลวงของรัฐพอดี ก่อนจะได้รับอนุญาตให้พบกับท่านผู้นำได้ 3 นาที แต่สำหรับเธอ 30 วินาทีก็เพียงพอแล้ว 

“มันเป็นวันศุกร์ ฉันไปโรงแรมที่เขาแถลงข่าว เขาอ่านชื่อฉันบนกระดาษแล้วบอกฉันว่า ‘คุณขอเวลาไว้แค่ 30 วินาที แค่กระพริบตาก็หมดแล้ว’ ฉันบอกเขาว่า ‘แค่นั้นก็พอแล้ว’” เลอา ย้อนความทรงจำกับ ESPN Brazil 

“ฉันบอกเขาว่าอยากจะให้เขาส่งจดหมายให้ ชูเอา ฮาเวลานจ์ เพราะว่าฉันได้รับเชิญให้ไปตัดสินฟุตบอลหญิงที่เม็กซิโก และเนื่องจากที่นี่ยังไม่มีฟุตบอลหญิง ฉันจึงต้องได้รับอนุญาตจากคำเชิญนี้ และจะไปในฐานะตัวแทนของคนบราซิลนั่นคือสิ่งที่ฉันต้องการ” 

หลังจากได้ฟังประธานาธิบดีเมดิซี ไม่ได้ตอบออกมาทันที แต่ได้เชิญเลอาไปคุยต่อที่ทำเนียบประธานาธิบดี ที่เมืองบราซิเลีย ที่อยู่ห่างออกไปจากเมืองที่เธออยู่กว่า 700 กิโลเมตร มุมหนึ่งเธอรู้สึกว่ามีหวัง แต่อีกมุมหนึ่งเธอก็รู้สึกกลัว 

“เมดิซีมองมาที่ฉันแล้วพูดว่าอยากให้ฉันไปพบเขาที่ทำเนียบประธานาธิบดีที่บราซิลเลีย ในอีก 2-3 วันข้างหน้า” เลอา กล่าวกับ BBC Sports

“แทบไม่ต้องพูดเลยว่าฉันกลัวมาก เรากำลังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการ และฉันก็กำลังท้าทายระบอบนั้น ความคิดที่ว่าจะถูกจับ หรือ ‘ถูกทำให้หายไป’ แล่นเข้ามาอยู่ในหัวฉัน” 

แต่ เลอา ก็ทำใจดีสู้เสือ เพราะคงจะไม่มีครั้งไหนที่มีโอกาสมากขนาดนี้ เมื่อตัดสินใจได้เธอก็เดินทางไปพบท่านประธานาธิบดี เพื่อรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันที่เมืองหลวงของประเทศ

มื้อเที่ยงวันนั้นมาพร้อมกับข่าวดี หลังประธานาธิบดีเมดิซี ยืนยันว่าจะช่วยเธอ ด้วยการเขียนจดหมายน้อยส่งให้ ฮาเวลานจ์ รับรองเธอในฐานะผู้ตัดสิน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทำให้เลอาต้องประหลาดใจ 

“เขาพาฉันไปที่ห้องของลูกชายของเขา เด็กคนนั้นเป็นแฟนคลับของฉัน เขาเก็บรูปและบทความเกี่ยวกับฉันไว้มากกว่าที่ฉันมีเสียอีก มันน่าทึ่งมาก ฉันไม่เคยคาดคิดมาก่อน ฉันเลยบอกไปว่า ‘ไม่เคยเลย ไม่เคยคิดเลย’” เลอา บอกกับ ESPN Brazil  

“เขาให้นิตยสารฟุตบอลฝรั่งเศส นิตยสารที่มีการเลือกผู้เล่นยอดเยี่ยมของโลก และบอกว่าเขาแน่ใจว่าลูกชายของเขามีมากกว่านี้ เพราะว่าทุกอย่างเดียวกับตัวฉันเขาซื้อสำรองไว้เสมอ”

หลังจากการพบปะเสร็จสิ้น เมดิซี ก็สั่งให้กองทัพอากาศไปส่งเธอเพื่อพบกับ ฮาเวลานจ์ และเมื่อประธาน CBD ในตอนนั้นได้อ่านจดหมายน้อยของท่านประธานาธิบดี เขาก็จัดการแถลงข่าวในทันที โดยถึงขั้นเลื่อนการแถลงข่าวแขวนสตั๊ดของเปเล่ออกไป 

“เขาถึงกับบอกกับสื่อว่าเป็นเกียรติที่ได้ประกาศว่าบราซิลจะเป็นชาติแรกของโลกที่มีผู้ตัดสินเป็นผู้หญิง มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะอำนาจของเมดิซี” เลอา กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับไฟเขียว แต่อคติก็ไม่ได้หายไป

เผชิญการดูถูก 

ไม่กี่วันหลังจากได้รับใบอนุญาต เลอา ก็บินไปเม็กซิโกทันที แต่ไม่ทันได้ลงตัดสินเธอก็ดันมาป่วยเนื่องมาจากความสูงจากระดับน้ำทะเลของเม็กซิโก ซิตี้ ที่มากกว่า 2,240 เมตร จนทำให้เธอไม่ฟิตพอที่จะลงทำหน้าที่ 

แม้ว่าเมื่อกลับถึงบราซิล เลอา จะได้งานเป็นผู้ตัดสินสมใจ แต่เธอก็ต้องเผชิญกับอคติของระบอบปิตาธิปไตย และทำให้เกมทั้ง 98 เกมที่เลอาได้ทำหน้าที่ ล้วนอยู่ในลีกล่างของบราซิล 


Photo : futbolylibros.com

นอกจากนี้เธอยังถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นตัวประหลาดที่มาตัดสินเกมของผู้ชาย หรือถึงขั้นถูกข่มขู่ไปจนถึงเหยียดเพศ โดยเฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์ที่มักหยิบเธอไปเป็นวัตถุดิบในการ์ตูนล้อเลียน 

ยกตัวอย่างเช่น งานชิ้นหนึ่งเป็นภาพของผู้ตัดสินหญิงที่มีนัยยะสื่อไปถึง เลอา ที่สวมกระโปรงลงตัดสิน แล้วพยายามบอกให้นักฟุตบอลชายที่นอนอยู่บนพื้นลุกขึ้น แต่นักฟุตบอลเหล่านั้นบอกว่าเขาได้รับบาดเจ็บ ลุกไม่ไหว แต่ความเป็นจริงแสร้งเจ็บลงไปนอน เพื่อจะได้มองกางเกงในของผู้ตัดสินหญิง 

หรือในเกมของทีมสำรองระหว่าง ครูเซโร และ แอตเลติโก มิเนโร เมื่อปี 1972 ที่ เลอา ถูกชักปืนขู่ก่อนเกม แต่โชคยังดีที่ไม่มีเหตุการณ์เลือดตกยางออกเกิดขึ้นหลังจบการแข่งขัน

“ก่อนเกม ผู้อำนวยการของแอตเลติโกเข้ามาหาฉันแล้วเลิกเสื้อขึ้น ฉันเห็นว่าเขามีปืน” เลอา ย้อนความหลังกับ BBC Sports 

“เกมนั้น ครูเซโร เอาชนะไปได้ 4-0 และหลังเกมฉันก็เจอกับชายคนเดิมที่อุโมงค์ ฉันถามเขาว่ายังอยากยิงฉันมั้ย แต่เขามากอดฉันแล้วบอกว่ามันเป็นเกมที่ดี” 

แต่ถึงอย่างนั้น เลอา ก็รู้สึกว่าโอเคกับสิ่งที่ต้องเผชิญ เพราะเอาเข้าจริงโดยรวมแล้ว เลอา คิดว่าเธอไม่ได้รับการปฏิบัติต่างจากผู้ตัดสินชายมากนัก และเธอก็มีความสุขดีกับการได้ทำหน้าที่นี้ 


Photo : www.ocuriosodofutebol.com.br

“โอเค บางครั้งผู้เล่นก็ค่อนข้างโกรธ มีครั้งหนึ่งที่เขาไม่ยอมออกจากสนามหลังจากฉันให้ใบแดง และอีกหลายครั้งที่ผู้เล่นมาสบถต่อหน้าฉัน แต่ส่วนใหญ่ฉันรู้สึกว่าฉันได้รับความเคารพ” เลอา กล่าว 

ในช่วงทศวรรษที่ 1970s เธอยังได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ในละตินอเมริกา รวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน และ เนเธอร์แลนด์ และมันทำให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักทั้งในอเมริกาใต้และในยุโรป 

น่าเศร้าที่เหตุการณ์หนึ่งได้พรากอาชีพที่เธอรักไป

ไม่ได้สูญเปล่า 

มันเป็นวันหนึ่งในปี 1974 ขณะที่ เลอา กำลังโดยสารรถประจำทางไปเมืองเซาเปาโล รถที่เธอนั่งก็ชนเข้ากับรถบรรทุกอย่างจัง และมันทำให้เธอได้รับบาดเจ็บอย่างหนักที่ขาซ้ายจนต้องตัดขาทิ้ง แถมเรื่องที่ขำไม่ออกก็คือ รถที่เธอโดยสารเป็นธุรกิจของครอบครัวฮาเวลานจ์ 

เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดถึง 100 ครั้ง และใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นถึง 2 ปี รวมทั้งต้องจำใจยุติชีวิตการเป็นผู้ตัดสินด้วยวัยเพียง 29 ปี ทั้งที่เธอพยายามต่อสู้มานานหลายปี 


Photo : artsandculture.google.com | Personal Archive Lea Campos

อย่างไรก็ดีแม้กายจะไม่ไหวแต่ใจเธอก็ยังสู้ เพราะหลังจากนั้น เลอา ก็ได้มีบทบาทส่งเสริมการเล่นฟุตบอลของผู้หญิง หนึ่งในนั้นคือการแข่งขัน เลอา กัมปุส คัพ

ขณะเดียวกันเธอก็ยังต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง และต้องเดินทางไปมาระหว่าง นิวยอร์ก กับ บราซิล จนทำให้เธอได้พบกับ หลุยส์ เอดูอาโด เมดินา นักข่าวชาวโคลอมเบียที่กลายมาเป็นสามีในอนาคต และย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นการถาวรในช่วงทศวรรษที่ 1990s 

ที่สหรัฐฯ เลอา เปลี่ยนชีวิตมาเป็นคนทำขนมและประสบความสำเร็จอย่างมาก หลังเอาไปขายในชุมชนชาวบราซิล ทั้งในนิวยอร์ก และ นิวเจอร์ซีย์

ทว่าในช่วงหลัง เลอา มีสุขภาพแย่ลง ก่อนจะโดนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติม ที่ทำให้เธอและสามีต้องตกงาน จนกลายเป็นคนไร้บ้านและต้องไปซุกหัวนอนตามบ้านมิตรสหายเป็นการชั่วคราว  

แต่น้ำใจก็ยังหาได้จากเพื่อนมนุษย์ เมื่อเรื่องราวของเธอไปถึงหูของเหล่าผู้ตัดสินในบราซิล ทำให้พวกเขาช่วยกันระดมทุนรับบริจาคเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเธอ จนทำให้เธอและสามีมีเงินมากพอที่จะเช่าห้องเล็ก ๆ ในนิวเจอร์ซีย์ได้


Photo : midianinja.org

นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าความพยายามของเธอนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน แถมยังส่งอิทธิพลมาจนถึงยุคหลัง ที่ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีที่ยืนในพื้นที่ของฟุตบอล ทั้งฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก มาจนถึงการมีผู้ตัดสินหญิงลงตัดสินเกมในการแข่งขันของผู้ชาย 

และแม้ว่าการต่อสู้อันแสนยาวนานของ เลอา จะจบลงอย่างน่าเศร้า แต่นี่คือภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า ความทุ่มเธอของเธอไม่ได้สูญเปล่า เพราะยังมีคนอีกไม่น้อยที่มองเห็นค่าของมัน   


Photo : www.uol.com.br | Livia Wu

“สิ่งที่พวกเขาทำช่างสวยงาม และฉันก็รู้สึกซาบซึ้งจริง ๆ มันทำให้ฉันคิดว่าการต่อสู้ทั้งหมดของฉันมันไม่ได้ไร้ประโยชน์ และมันก็ได้ทิ้งมรดกเอาไว้” เลอา ทิ้งท้าย