sportpooltoday

ไขข้อข้องใจ : ทำไมเสื้อทีมเจลีกของญี่ปุ่นถึงแพงกว่าสโมสรระดับโลก?


ไขข้อข้องใจ : ทำไมเสื้อทีมเจลีกของญี่ปุ่นถึงแพงกว่าสโมสรระดับโลก?

ในยุคที่นักเตะไทยเดินทางไปโลดแล่นบนแผ่นดินญี่ปุ่นกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่แฟนคลับชาวไทยให้ความสนใจตามมาก็คือของที่ระลึกประจำสโมสร รวมถึงสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้อย่าง “เสื้อแข่งขัน” ของทีมที่ผู้เล่นขวัญใจย้ายไปค้าแข้ง

แต่หลายคนต้องผงะเมื่อได้เห็นราคา เพราะเสื้อแข่งของสโมสรในเจลีกแต่ละตัวนั้นเข้าขั้นแพงหูฉี่ บางทีมหากจัดเต็มฟูลออปชั่นสนนราคาก็จะเกินครึ่งหมื่น แพงกว่าเสื้อแข่งของสโมสรในลีกชั้นนำของโลกด้วยซ้ำ

หลายคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดราคาเสื้อแข่งของทีมในเจลีกถึงมีราคาสูงขนาดนี้? แต่ทุกอย่างมีเหตุผลและที่มาที่ไป มาร่วมหาคำตอบได้ที่ Main Stand

แพงขนาดไหน?

เสื้อแข่งของสโมสรในเจลีก ถูกกล่าวขานกันว่ามีราคาสูงมากเลยทีเดียว ซึ่งที่ผ่านมาแฟนบอลชาวไทยอาจจะไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่นัก จนกระทั่งเริ่มมีนักเตะซูเปอร์สตาร์จากไทยเดินทางไปค้าแข้ง ไม่ว่าจะเป็น ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน, ธีรศิลป์ แดงดา และอีกหลายคน

1แต่เมื่อเห็นราคาเสื้อของแต่ละทีมแล้วต้องตกใจเพราะเสื้อของแต่ละคนนั้นมีราคาที่สูงถึง 4,000-5,000 บาท ยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราค่าแรงของเมืองไทยด้วยแล้ว นับว่าเกือบ 1 ใน 3 ของฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรีเลยทีเดียว

ในขณะที่สโมสรในไทยลีกส่วนใหญ่มีราคาเสื้ออยู่ที่ประมาณ 500-900 บาท หรือที่แพงสุดอย่าง ชลบุรี เอฟซี ที่ใช้แบรนด์ระดับโลกอย่าง NIKE ก็อยู่ที่ 1,200 บาทเท่านั้น

ที่สำคัญไม่ได้แพงแค่เฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับไทย แต่ยังถือว่าแพงเมื่อเทียบกับลีกระดับท็อปของโลกด้วย เช่น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เสื้อสำหรับแฟนบอลหรือ Replica Jersey จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาท ขณะที่เสื้อเวอร์ชั่นเพลย์เยอร์เกรดเดียวกับที่นักเตะใส่ลงแข่งขัน หรือ Authentic Jersey จะอยู่ที่ราว 4,000-5,000 บาท 

แต่สำหรับทีมในเจลีกส่วนใหญ่แต่ละทีมจะจัดจำหน่ายในรูปแบบเดียวคือ Replica Jersey ซึ่งเมื่อเทียบเท่ากับลีกยุโรปก็ยังมีราคาที่สูงกว่าอยู่ดี โดยมีบางแบรนด์อย่าง NIKE และ UMBRO ที่มีจำหน่าย Authentic Jersey ด้วย ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก อยู่ที่ตัวละประมาณ 20,000 เยน หรือราว 5,800 บาท

2
3หากยังไม่เห็นภาพ เสื้อฤดูกาลล่าสุดของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เพิ่งย้ายไปร่วมทัพคาวาซากิ ฟรอนตาเล ภายใต้แบรนด์ PUMA หากเป็นเสื้อที่สกรีนชื่อพร้อมเบอร์ผู้เล่นแล้วจะมีราคา 20,900 เยน หรือประมาณ 6,045 บาท ขณะที่เสื้อ Authentic Jersey ของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ซีซั่นปัจจุบันที่สกรีนชื่อพร้อมเบอร์เช่นกัน ขายบนเว็บไซต์อยู่ที่ราคา 164.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,279 บาท พูดง่ายๆคือ เสื้อเกรดแฟนบอลของทีมในเจลีกแพงกว่าเสื้อเกรดผู้เล่นของทีมสโมสรในยุโรปเสียอีก 

ดูราคาเสื้อแต่ละลีกได้ที่ www.facebook.com/MainStandTH/posts/1092673751292319

เรียกได้ว่าแพงของจริง แต่ทำไมถึงแพง และทำไมยังขายได้? ติดตามกันต่อได้เลย

คุณภาพต้องมาก่อน

เดิมทีกีฬาฟุตบอลไม่ใช่กีฬายอดฮิตในประเทศญี่ปุ่น ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงอินและให้ความสำคัญกับเบสบอลมากกว่า จึงจะเห็นได้ว่าสินค้าเกี่ยวกับทีมเบสบอลนั้นมีราคาที่สูงยิ่งกว่า กระทั่งทุกอย่างเริ่มก่อตัวขึ้นหลังจากการเกิดของฟุตบอลลีกอาชีพ หรือ “เจลีก” เมื่อปี 1993 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับทีมชาติญี่ปุ่นและเพิ่มความนิยมให้มีแฟนบอลมากขึ้น

ช่วงแรกทุกสโมสรยังใช้แบรนด์ท้องถิ่นที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยเจ้าตลาดในขณะนั้นคือ Mizuno ซึ่งนอกจากจะผลิตชุดแข่งขันแล้วยังมีรองเท้าสตั๊ดและอุปกรณ์ฟุตบอลอื่นๆด้วย

4และอย่างที่ทุกท่านคุ้นเคยกันดีถึงความเป็นญี่ปุ่นที่ทำอะไรแล้วต้องทำให้สุด เมื่อพวกเขามุ่งมั่นเอาดีด้านฟุตบอล ชุดแข่งขันที่ผลิตออกมาจึงได้รับการใส่ใจในทุกรายละเอียด คัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด พิถีพิถันทั้งเนื้อผ้าและการตัดเย็บ เพื่อให้นักเตะได้สวมชุดแข่งที่ดีที่สุดลงวาดลวดลายในสนาม 

เพื่อให้ได้เสื้อแข่งขันที่มีคุณภาพดีย่อมหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งวัตถุดิบรวมถึงแรงงานที่ใช้ในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่ในเวลานั้นหลายแบรนด์ยังแปะโลโก้เป็น “Made In Japan” แตกต่างจากสโมสรในยุโรป ที่มีฐานผลิตจากจีนและอาเซียนที่มีอัตราค่าแรงต่ำกว่า 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่แฟนบอลญี่ปุ่นที่คลั่งไคล้ในทีมรักของตนก็พร้อมจะควักเงินสนับสนุน เมื่อลีกได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีสตาร์ต่างชาติข้ามทวีปมาโชว์ฝีเท้าก็ยิ่งทำให้ฟุตบอลได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เสื้อแข่งขันขายดีขึ้นไปด้วย จนทำให้ช่วงปี 1997 เป็นต้นมา เริ่มมีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น NIKE, ADIDAS, PUMA, UMBRO, NEW BALANCE ฯลฯ

5เมื่อเริ่มมีผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันของแต่ละแบรนด์ก็สูงตาม จะเห็นได้ว่าเสื้อที่ผลิตออกมาล้วนแล้วแต่มีคุณภาพที่ดีขึ้นทั้งการตัดเย็บ เนื้อผ้า รูปทรง ตะเข็บ ตลอดจนลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่แม้จะใช้แบรนด์ใหญ่แต่ก็มีการออกแบบเฉพาะของตัวเอง ไม่ได้ใช้ลายผ้าที่เป็นแพตเทิร์นพื้นฐานเหมือนกับสโมสรในยุโรป

ทว่าความนิยมของเจลีกนั้นมีเฉพาะแค่ในประเทศเท่านั้น ไม่ได้แพร่หลายไปประเทศอื่นๆในโลก จึงเป็นปัจจัยต่อมาที่ทำให้เสื้อแข่งขันของพวกเขายิ่งแพงขึ้นไปอีก

Demand & Supply

ความนิยมของเจลีกมีเพิ่มมากขึ้นก็จริงแต่ไม่ได้ถึงขั้นบูมออกไปนอกประเทศ ทำให้กำลังซื้อส่วนใหญ่จะมาจากคนในชุมชนท้องถิ่นที่สโมสรนั้นๆตั้งอยู่เท่านั้น แม้แต่แฟนบอลเองถ้าไม่ใช่สโมสรที่เชียร์ก็ไม่ค่อยที่จะเสียเงินซื้อเสื้อทีมอื่นมาสะสม

ที่สำคัญเสื้อแข่งของพวกเขาไม่ได้ถูกส่งออกไปที่ห้างสรรพสินค้าหรือมีตัวแทนจัดจำหน่ายตามประเทศต่างๆเหมือนสโมสรในยุโรป ยิ่งในยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลายด้วยแล้ว การจะสั่งซื้อเสื้อทีมในเจลีกข้ามประเทศสักตัวนับเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง 

6เมื่อกำลังซื้อมีเพียงแค่คนในท้องถิ่น หลายสโมสรจึงต้องทำพรีออเดอร์ให้แฟนบอลสั่งจองล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ทราบจำนวนแล้วตั้งสายพานการผลิตให้เหมาะสม เพราะผู้ผลิตต้องการให้มีเสื้อเหลือค้างในสต็อกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อผลกำไรสูงสุดและป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุน

การเปิดพรีออเดอร์นั้นหลายทีมมักจะเปิดเพียงแค่ฤดูกาลละ 2 รอบเท่านั้น โดยรอบแรกช่วงก่อนเปิดซีซั่นใหม่ให้แฟนบอลที่เป็นสมาชิกได้จับจองก่อน ส่วนกองเชียร์ขาจรทั่วไปต้องรอในรอบหลัง ซึ่งบางครั้งก็เลยมาถึงเกือบครึ่งฤดูกาลแล้วก็มี 

ดังนั้น สโมสรในเจลีกที่เลือกใช้เสื้อแข่งคุณภาพสูงจึงต้องตั้งราคาเสื้อในราคาที่สูงตาม โดยไม่สามารถที่จะทำราคาให้ต่ำลงมาเพื่อหวังกำไรจากยอดขายจำนวนมากได้ 

หนึ่งในแฟนบอลที่จะเล่าประสบการณ์เรื่องนี้ได้ดีคนหนึ่งก็คือ ณัฐปคัลภ์ กลีบบัว หรือ “อะตอม” แฟนบอลชาวไทยที่หลงใหลในเสื้อสโมสรเจลีกอย่างหัวปักหัวปำ

จากจุดเริ่มต้นที่ได้เห็นทีมชาติญี่ปุ่นลงแข่งขันในศึกฟุตบอลโลกปี 1998 ด้วยยูนิฟอร์มลวดลายไฟอันโดดเด่น ทำให้เขาเริ่มเจาะลึกให้ความสนใจไปที่สโมสรในแดนอาทิตย์อุทัยมากยิ่งขึ้น ก่อนจะเริ่มสะสมเสื้อทีมในเจลีกเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2011 โดยซื้อเสื้อฤดูกาลใหม่ของ 14 ทีมที่ตัวเองชื่นชอบทุกซีซั่น ทั้งแบบเหย้า เยือน Player และ Replica รวมแล้วปัจจุบันมีเสื้อทีมในเจลีกกว่า 500 ตัวในครอบครอง

7“สมัยก่อนการจะซื้อเสื้อสโมสรในเจลีกเป็นเรื่องยากมาก มันไม่ได้อัปเดตเร็วเหมือนทุกวันนี้ ต้องอาศัยดูผ่านนิตยสารรายเดือนหรือรายสัปดาห์ที่เข้ามาในเมืองไทย เวลาจะสั่งซื้อเสื้อก็ต้องพอรู้ภาษาญี่ปุ่นบ้างเพราะเว็บไซต์ทีมในเจลีกส่วนใหญ่จะเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด”

“สิ่งที่ทำให้เสื้อทีมในเจลีกมีราคาที่แพงยิ่งถ้าเทียบกับทีมในยุโรป สำหรับผมมองว่าเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นทำอะไรจะทำสุด คัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดทุกๆรายละเอียด เพียงแต่เสื้อทีมในเจลีกจะมีจำนวนการผลิตที่จำกัด ผลิตออกมาหรือเปิดให้จองแล้วหมดคือหมดเลยไม่ทำซ้ำ รวมถึงค่าเงินเยนที่จะส่งผลกระทบหากสั่งซื้อหรือจัดส่งมาที่ประเทศไทยด้วย” อะตอม เผย

คุณค่าทางจิตใจ

ปัจจัยต่อมาที่ส่งผลให้เสื้อทีมเจลีกมีราคาที่สูงเพิ่มมากขึ้นมาก็คือ การตบเท้าเข้ามาค้าแข้งของซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ดิเอโก ฟอร์ลัน, ฮริสโต สตอยคอฟ, อันเดรส อิเนียสต้า, ลูคัส โพดอลสกี้, เฟร์นานโด ตอร์เรส ฯลฯ

นักเตะเหล่านี้ได้เพิ่มมูลค่าทางการตลาดและช่วยอัปมูลค่าของที่ระลึกให้สูงยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสื้อ Authentic Jersey ของ อิเนียสต้า ฤดูกาล 2020 ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสรวิสเซล โกเบ วางจำหน่ายอยู่ที่ 35,000 เยน หรือประมาณ 10,000 บาท ขณะที่เสื้อของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ราคา 164.99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,279 บาท 

8เสื้อของสตาร์เหล่านี้ล้วนส่งผลด้านคุณค่าทางจิตใจและเพิ่มแรงจูงใจให้แฟนบอลตัดสินใจที่จะเลือกซื้อมาเก็บสะสม ถึงแม้ว่าจะเป็นเสื้อมือ 2 แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด 

ขณะที่เสื้อทั่วไปแม้จะมีราคาที่สูงและหาซื้อยากไม่ต่างกัน แต่พอสิ้นสุดฤดูกาลแล้วเข้าสู่ตลาดมือ 2 ราคาจะดรอปลงเกือบ 50% เพราะเสื้อแข่งเหล่านี้ไม่ได้รับความนิยมด้านการสะสมในตลาดมากเท่าไหร่นักโดยเฉพาะในฝั่งยุโรป 

นอกเสียจากว่าจะเป็นชุดที่มีความพิเศษจริงๆ เช่น เป็นเสื้อที่ทีมใส่คว้าแชมป์ หรือเป็นเสื้อที่ปักเบอร์ไอคอนคนสำคัญ ซึ่งยังมีตัวแปรที่ส่งผลถึงราคาทั้งสภาพความสมบูรณ์ของเสื้อ และไซซ์เสื้อที่ยิ่งมีขนาดใหญ่ หรือ XL จะยิ่งได้ราคาที่ดีกว่า

เสื้อมือ 2 ส่วนใหญ่ที่พอจะได้รับความนิยมจะถูกนำไปประมูลในเว็บไซต์ ขณะที่เสื้อค้างสต็อกบางส่วนที่ไม่ติดหมายเลขจะนำไปจำหน่ายในงานมีตติ้งแฟนคลับประจำปีในราคาที่ถูกลงเล็กน้อย ส่วนเสื้อที่ไม่ได้รับความนิยมหรือเป็นเสื้อของนักเตะที่แยกทางกับสโมสรได้ไม่ดีจะถูกนำไปเลหลังกองรวมกันตามร้านขายเครื่องกีฬา

ดังนั้น คุณค่าของเสื้อทุกตัวจึงอยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคลมากกว่าเรื่องราคา

9
10“ผมมองว่าเสื้อเจลีกมันมีความ Unique หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ มันมีความเป็นญี่ปุ่นชัดเจน ทั้งลวดลายการออกแบบ ลวดลายสปอนเซอร์ ที่พอเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นเสื้อของประเทศญี่ปุ่นถึงจะไม่ใช่คนที่ติดตามฟุตบอลก็ตาม ยิ่งถ้าเทียบกับสโมสรในยุโรปบางทีมที่เสื้อมีความคล้ายกัน ทำให้เราอาจไม่รู้เลยว่ามันเป็นเสื้อของทีมลีกประเทศไหน” อะตอม ทิ้งท้าย