“มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความบันเทิง … หากไร้ซึ่งสิ่งนี้ มีเพียงสงครามเท่านั้นที่รออยู่ปลายทาง”
ประโยคดังกล่าวถูกพูดออกมาโดย ฟรองค์ เลอเบิฟ ปราการหลังทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกปี 1998 และ 1 ในตำนานนักเตะของทีมเชลซี ที่ปัจจุบันเขากำลังรับบทบาทในวงการบันเทิงด้วยการเป็นนักแสดงระดับฮอลลีวูด
นี่คือเรื่องราวของเขาและการค้นพบสิ่งที่เขาชอบอย่างแท้จริง และการได้เดินตามเส้นทางนั้นจนประสบความสำเร็จ จากนักเตะระดับโลกสู่การเป็นนักแสดงภาพยนตร์ระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ … ติดตามเรื่องของเขาได้ที่นี่กับ Main Stand
คนรักการแสดง … ที่บังเอิญเป็นนักฟุตบอล
เรื่องเหลือเชื่อเกิดขึ้นได้เสมอในชีวิตมนุษย์ เราอาจคาดเดาอนาคตอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งสิ่งที่ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและทำจนชำนาญจนคิดว่าน่าจะไปได้ดีบนเส้นทางนี้ แต่สุดท้ายกระแสของชีวิตก็พัดเราไปทางอื่น ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้นักนอกเสียจากต้องยอมรับและใช้ชีวิตให้เต็มที่ต่อไป
เรื่องราวของ ฟรองค์ เลอเบิฟ เองก็คล้าย ๆ กัน แม้จะเป็นนักเตะดีกรีแชมป์โลก แต่ความฝันแรกของเขาคือการเป็นดาราที่ได้เล่นละครหรือภาพยนตร์ชื่อดังสักเรื่อง
Photo : actu.fr
“อยากจะเล่นละครหรือภาพยนตร์สักครั้ง นั่นคือภาพที่ผมเห็นในตัวเองช่วงแรก ๆ ตอนผมอายุสัก 4 ขวบ ผมรู้เลยว่าผมอยากจะเป็นนักแสดงจริง ๆ” เลอเบิฟ กล่าว
อย่างไรก็ตามการจะเป็นนักแสดงนั้นไม่ง่าย หากนักฟุตบอลมีโอกาสสำเร็จ 1 ใน 100 การเป็นดาราดังคงมีโอกาสสำเร็จเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น พ่อของเขาที่เป็นนักเตะอาชีพรู้เรื่องนี้ดีจึงพยายามหาช่องทางอื่น ๆ เผื่อเอาไว้ และส่งเขาเข้าไปในอคาเดมีฟุตบอลท้องถิ่นแถบเมืองมาร์กเซย
แม้จะชอบการแสดงตั้งแต่จำความได้ แต่เมื่อได้เล่นฟุตบอล เลอเบิฟ กลับทำได้ดีและมีลู่ทางพัฒนาที่เร็วกว่า ตอนเขาอายุ 16 เขาได้รับสัญญาจากอคาเดมีระดับประเทศที่มีชื่อว่า เฟรนช์ ริเวร่า (French Riveira) แต่หลังจากเข้าเรียนที่นั่นได้ 2 ปีอคาเดมีก็ประสบปัญหาขาดทุนจึงปิดตัวลงไป นักเตะเยาวชนที่นั้นจึงต้องออกมาหาสโมสรกันเอง ผ่านการคัดตัวกับทีมต่าง ๆ ตั้งแต่ลีกสูงสุดจนถึงลีกรอง ๆ ลงมา
เลอเบิฟ เลือกไปคัดตัวกับ โอลิมปิก มาร์กเซย ทีมอันดับ 1 ของประเทศในเวลานั้น และเริ่มต้องจริงจังกับการหาสโมสรอื่น ๆ ด้วย เพราะเขาอายุ 18 ปีแล้ว นี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอาชีพที่หากหลุดจากวงโคจรนี้เมื่อไรอาชีพนักฟุตบอลที่คิดว่าสดใสก็อาจจะจบลงได้ง่าย ๆ
Photo : actu.fr
เขาคัดตัวกับ มาร์กเซย ไม่ผ่านแต่ก็เศร้าได้ไม่นาน เมื่อเขาเลือกไปอยู่กับทีมระดับดิวิชั่น 3 อย่าง Hyères FC ที่ในขณะนั้นเล่นอยู่ในลีกระดับล่าง แต่เขาก็พยายามโฆษณาตัวเองอยู่เสมอ มันคือของถนัดที่เขาเป็นมาตลอด นั่นคือ “การแสดง” เพื่อให้ผู้คนรู้จักตัวตนของเขา
เลอเบิฟ งัดเอาไม้ตายก้นหีบของเขาออกมาใช้ เขาพุ่งเข้าไปหานิตยสาร ฟรองซ์ฟุตบอล เพื่อลงโฆษณาในคอลัมน์สำหรับนักเตะที่กำลังหาสโมสรอยู่ คำโฆษณาถึงตัวเขามีข้อความว่า
“นักเตะอายุ 18 ปี สูง 183 เซนติเมตร หนัก 72 กิโลกรัม พร้อมใช้งานได้ทันที ตอนนี้เล่นอยู่ในดิวิชั่น 3 ต้องการหาทีมระดับดิวิชั่น 2 (ลีกเดอซ์) และ ดิวิชั่น 1 (ลีกเอิง)”
เลอเบิฟ ต้องทำงานพาร์ตไทม์ในร้านขายเสื้อผ้ากีฬาไปพร้อม ๆ กับการเล่นในระดับกึ่งอาชีพ เขาอายุ 18 ปีแล้วแต่ยังไม่เห็นภาพชัด ๆ เลยว่าฟุตบอลจะพาเขาไปได้ไกลแค่ไหน เขาจึงต้องพยายามหนักกว่าเดิมอีกขั้นเพื่อทำให้ทีมระดับสูงกว่าเห็นความสามารถของเขาให้ได้
ย้อนกลับไปตอนนั้นในปี 1988 วิทยาการด้านการตัดต่อหรือทำคลิปวิดีโอมันไม่ได้ทำกันง่าย ๆ หรือมีโปรแกรมสำเร็จรูปเหมือนทุกวันนี้ แต่ เลอเบิฟ ก็ถือว่ามาก่อนกาลเลยก็ว่าได้ เขาเริ่มถ่ายวิดีโอการเล่นของตัวเองด้วยกล้องแฮนดีแคม จากนั้นก็เช่าห้องตัดต่อวิดีโอ แล้วลงมือตัดต่อวิดีโอที่แสดงทักษะต่าง ๆ ของเขา ก่อนจะส่งไปตามสโมสรต่าง ๆ และเขาก็ได้เล่นในลีกระดับดิวิชั่น 2 จริง ๆ กับทีม สตารส์บูร์ก ในปี 1990
เมื่อไม่มีใครมาเห็นก็ต้องพยายามพรีเซนต์ตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ เลอเบิฟ ลงทุนได้อย่างคุ้มค่า เขาเล่นให้ สตารส์บูร์ก ว่า 200 นัด พาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด คว้ารองแชมป์บอลถ้วยในประเทศฤดูกาล 1994-95 ก่อนจะตบท้ายด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ อินเตอร์ โตโต้ คัพ
นี่คือความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ แต่การตั้งใจพรีเซนต์ตัวเองของเขาไปไกลกว่านั้นอีก เมื่อ เชลซี ยื่นซื้อตัวเขาในปี 1996 และหลังจากนั้นโลกก็ได้รู้จัก ฟรองค์ เลอเบิฟ อย่างแท้จริง
ตัวร้ายในคราบนักบอล
ย้อนกลับไปในปี 1996 ขณะที่ทีมอื่น ๆ เน้นใช้งานนักเตะอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรเป็นหลัก เชลซี ถือเป็นทีมแรก ๆ ในพรีเมียร์ลีกที่สร้างคาแร็กเตอร์ทีมด้วยการใช้นักเตะต่างชาติใน 11 ตัวจริงแทบยกชุด นักเตะต่างชาติของพวกเขาสร้างสีสันต่าง ๆ ให้กับลีกได้มากมายทั้ง จานฟรังโก้ โซล่า, โรแบร์โต ดิ มัตเตโอ, จานลูก้า วิอัลลี่, รุด กุลลิต ตามมาด้วยนักเตะอีกหลายคนในภายหลังทั้ง กุสตาโว่ โปเยต์, ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ และแน่นอนรวมถึงตัวของ เลอเบิฟ ด้วย
การมาที่อังกฤษทำให้ เลอเบิฟ เก่งขึ้นไปอีกขั้น เขาจับคู่ในแดนหลังร่วมกับ มาร์กแซล เดอไซญี่ ปราการหลังเพื่อนร่วมชาติ และสร้างความสำเร็จให้กับเชลซีไม่ว่าจะในถ้วย ลีก คัพ, เอฟเอ คัพ รวมถึง คัพ วินเนอร์ส คัพ ในอีกไม่กี่ปีหลังจากเขาย้ายมาร่วมทีม
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เลอเบิฟ เล่าว่าการเปลี่ยนถิ่นเปลี่ยนสโมสรก็เหมือนกับการเป็นนักแสดงที่ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวละครนั่นแหละ เขาอาจจะเคยยิ่งใหญ่ที่สตารส์บูร์ก แต่เมื่อมาถึงเชลซีเขาก็ต้องปรับตัว เขาต้องเลือกที่จะแสดงออกในสิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนร่วมทีมใหม่ให้ได้
“การมาที่อังกฤษคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมตาสว่างเลย ตลอดอาชีพผมไม่เคยลงซ้อมหรือลงเล่นเกมที่มีสภาพเลวร้ายแบบนี้มาก่อน วินนี่ โจนส์ (กองกลางจอมโหดของ วิมเบิลดัน) ไล่เตะผมจนข้อเท้าบวม ขณะที่การฝึกซ้อมเราก็ซ้อมกันไปท่ามกลางกลิ่นจากโรงงาน เป็นเรื่องปกติมากในเวลา 10:45 น. ที่โค้ชจะต้องสั่งหยุดซ้อม 3 นาที เพราะมีเครื่องบินกำลังบินผ่านสนามซ้อมของเรา”
“พวกนักเตะต่างชาติไม่ค่อยจะได้รับเครดิตหรือโอ๋จากสื่อมากนัก สื่อของอังกฤษจะชื่นชมแต่กับนักเตะของพวกเขาเอง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผมต้องเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่นี้ให้ได้”
เลอเบิฟ เคยถูก อลัน แฮนเซ่น นักวิจารณ์ของ BBC และอดีตนักเตะของลิเวอร์พูล วิจารณ์ในช่วงที่เขาย้ายมาใหม่ ๆ ว่า เขาเป็นกองหลังที่ปวกเปียก และการที่ทีมเชลซีใช้แนวรับต่างชาติในการเจอกับเกมหนัก ๆ ในพรีเมียร์ลีก จะทำให้ เชลซี กลายเป็นทีมที่ล้มเหลว
เมื่อไม่ได้รับบทพระเอก เลอเบิฟ จึงเล่นบทตัวร้ายตามที่สื่ออยากจะให้เขาเป็น เขาตอบกลับ แฮนเซ่น ไปว่า สิ่งที่ทำให้ทีมใดทีมหนึ่งล้มเหลวไม่ใช่นักเตะต่างชาติหรอก แต่เป็นนักเตะคนใดก็ตามที่เล่นได้ห่วยแตกต่างหาก สัญชาติไม่เกี่ยวเลย … ซึ่งหากจะแปลให้ตรงกับการฟาดฟันด้วยคำพูดระหว่าง เลอเบิฟ กับ แฮนเซ่น ก็น่าจะออกแนวการกระทบกระเทียบใส่นักเตะอังกฤษที่มาตรฐานไม่ดีเป็นหลัก
เลอเบิฟ เป็นเช่นนั้นมาตลอด การวางตัวเป็นคนปากร้ายบวกกับท่าทีเย่อหยิ่งทำให้เขาไม่ได้รับคำชมมากเท่ากับ มาร์กแซล เดอไซญี่ ซึ่งตัวเขาก็ไม่ได้หนักอกหนักใจอะไรนักกับเรื่องนี้ เพราะว่าสิ่งสำคัญของการเป็นนักฟุตบอลมันไม่ได้เกี่ยวกับการออกสื่อหรือคาแร็กเตอร์นอกสนาม สิ่งสำคัญที่แท้จริงคือต่อให้จะถูกวิจารณ์หนักขนาดไหน แต่ถ้าคุณทำผลงานได้ดีในสนามและมีความสำเร็จเป็นรูปธรรม … แค่นี้ไม่ต้องเถียงด้วยก็เป็นผู้ชนะแล้ว
และบังเอิญว่า เลอเบิฟ ดันเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกปี 1998 ด้วย การประดับบารมีด้วยแชมป์โลกแบบสด ๆ ร้อน ๆ ส่งให้คาแร็กเตอร์ตัวร้ายของเขาชัดขึ้นแบบสุด ๆ และเขาก็ดูจะชอบใจกับบทบาทที่ได้รับ
หลังจากคว้าแชมป์โลก เลอเบิฟ ไปออกรายการโทรทัศน์อังกฤษที่ชื่อว่า ‘They Think It’s All Over’ ของช่อง BBC ซึ่งในรายการนั้นถือเป็นเหมือนรายการเรียกแขกให้กับ เลอเบิฟ โดยแท้จริง เพราะไม่ว่าเขาจะตอบคำถามไหน ๆ เขาก็มักจะวนมาที่ประโยคปิดท้ายว่า “I won ‘ze World Cup” (ก็ผมเป็นแชมป์โลกอ่ะครับ – ตรง ‘ze เราไม่ได้พิมพ์ผิด แต่สื่ออังกฤษเล่นคำล้อเลียนสำเนียงฝรั่งเศสของเลอเบิฟ)
คอลัมนิสต์ของ The Guardian ชื่อว่า ฌอน อิงเกิล สรุปมุมมองของแฟนบอลอังกฤษที่มีต่อ เลอเบิฟ เอาไว้ว่า “แฟนบอลส่วนใหญ่ไม่ได้มองด้านที่แข็งแกร่งของเลอเบิฟหรอก สิ่งที่พวกเขารู้คือนี่คือนักเตะที่เย่อหยิ่งและยียวนที่สุดคนหนึ่งเลย”
เลอเบิฟ ย้ายออกจาก เชลซี ในปี 2001 หลังจาก เคลาดิโอ รานิเอรี่ เข้ามาคุมทีม ก่อนที่จะย้ายกลับไปเล่นให้ มาร์กเซย ทีมที่เคยปฏิเสธเขาในช่วงวัยรุ่น และย้ายไปเล่นในลีกกาตาร์ก่อนแขวนสตั๊ดที่นั่น เขาจบอาชีพนักฟุตบอลด้วยการคว้าแชมป์ต่าง ๆ มากถึง 11 รายการ นั่นไม่เลวเลยและน่าจะทำให้เขาหากินกับเส้นทางฟุตบอลได้ไม่ว่าจะด้วยการเป็นโค้ชหรืออะไรก็ตามแนว ๆ นี้
แต่ เลอเบิฟ มองว่า 1 บทบาทของเขาได้จบไปแล้ว ช่วงเวลาต่อจากนี้คือบทบาทที่เขาฝันจะเป็นมาตลอด เขาเคยใช้การแสดงเป็นส่วนหนึ่งในการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพมาหลายปี หลังจากเขาแขวนสตั๊ดก็ได้เวลาท่ี่เขาจะลอกคราบนักฟุตบอลออก แล้วใช้การแสดงของเขาให้เป็นอาชีพใหม่แบบ 100% เต็ม
เริ่มตอนนี้ ดีกว่ามัวแต่คิด
ไม่มีใครแก่เกินเรียนรู้ เลอเบิฟ ที่ฝันจะเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ แต่ไม่ได้สานต่อความสามารถในด้านนี้เลยเพราะมัวแต่เอาเวลาไปเล่นฟุตบอลอยู่เกือบ 30 ปี ทันทีที่เขาแขวนสตั๊ดเขาไม่ได้กลับไปที่ฝรั่งเศสหรือหากินในอังกฤษตามที่ใครคาดเดา เลอเบิฟ เก็บกระเป๋าและบินไปยังลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยเขาได้ลงเรียนวิชาการแสดงที่สถาบันสอนการแสดง ลี สตราสเบิร์ก เป็นเวลาถึง 2 ปีเต็ม
“หลังจากเลิกเล่นฟุตบอล ผมคิดได้ทันทีว่าผมต้องไปฮอลลีวูด ผมเก็บข้าวของขึ้นเครื่องบินไปแอลเอ เอาจริงเอาจังกับการแสดง เรียนการแสดงวันละ 4 ชั่วโมงตลอดเวลา 2 ปี เพื่อให้เข้าถึงแก่นของศาสตร์แขนงนี้ให้ได้” เลอเบิฟ กล่าว
“นี่คือการกลับสู่ความหลงใหลครั้งแรกในชีวิต อาชีพนักฟุตบอลจบไปแล้ว การรีไทร์ถือเป็นเรื่องที่ปรับตัวยาก แต่สำหรับผม ผมคิดแค่ว่านี่ไม่ใช่จุดจบหรอก แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพอื่นต่างหาก”
ตลอดช่วงเวลา 2 ปี เลอเบิฟ ไม่ได้มีงานแสดงที่ได้เงินเลยสักชิ้น เขาอยู่ได้ด้วยรายได้จากสมัยยังเป็นนักเตะล้วน ๆ นี่คือความเสี่ยงที่เขายอมแบก และการลงทุนก็เริ่มผลิดอกออกผลเมื่อเข้าปีที่ 3 หลังจากพยายามสร้างชื่อเสียงในฐานะนักแสดงโลว์โปรไฟล์มานาน เลอเบิฟ ก็ได้งานแรกคือการเป็นคอมเมนเตเตอร์ในรายการโทรทัศน์ ซึ่งตอนนั้นเขาได้ค่าจ้างแค่ 100 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ตัวเงินที่น้อยนิดกลับมีคุณค่าทางใจอย่างมหาศาล ก้าวแรกนั้นสำคัญเสมอ เลอเบิฟ เก็บเช็ค 100 ดอลลาร์ เอาไว้โดยไม่ยอมเอาไปขึ้นเงินจนถึงทุกวันนี้ เพราะเขาเชื่อว่านี่เป็นของที่ระลึกที่จะคอยเตือนใจถึงก้าวสำคัญของเขา
อาชีพนักแสดงของเขาเริ่มต้นอย่างเต็มตัวที่ฝรั่งเศส เรื่องมันก็คล้าย ๆ กับตอนที่เขาเริ่มเป็นนักเตะอาชีพนั่นแหละ เริ่มเล่นกับสโมสรเล็ก ๆ ประกาศตัวตน แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเด่นเพื่อให้กลายเป็นที่สนใจของทีมใหญ่
Photo : purepeople
เลอเบิฟ ได้งานแสดงที่ฝรั่งเศสในภาพยนตร์เรื่อง L’intrus ในปี 2010 ก่อนที่จะเริ่มมีงานแสดงเยอะขึ้นในส่วนของทีวีซีรีส์ ทั้งจากเรื่อง 4 jeunes, 1 voiture, Nos chers voisins และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งบทบาทของเขาก็มักจะเป็นตัวร้ายเหมือนกับตอนที่เขาเป็นนักฟุตบอลนั่นแหละ
“หัวโล้นเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งในตอนนี้ มันง่ายดีที่ไม่ต้องยุ่งยากกับการดูแลเส้นผม คุณประหยัดเวลาและเงินค่าแชมพูไปได้เยอะเลย” เขาหัวเราะ
“นักแสดงหัวโล้นก็เหมือนถูกวางให้เป็นคนร้าย ผู้ก่อการร้าย หรือคนโรคจิตบ้าดีเดือด ผมเองก็แสดงแบบนั้น และในบทของผมก็ต้องตายอยู่บ่อย ๆ หวังว่าสักวันผมจะได้เล่นบทที่ไม่ต้องโดนฆ่าบ้างนะ ผมอดฝันถึงบทโรแมนติก ๆ แบบเดียวกับ จอร์จ คลูนี่ย์ หรือ แบรด พิตต์ ไม่ได้จริง ๆ หรือมันอาจจะไม่เหมาะกับผมก็ไม่รู้” เลอเบิฟ กล่าวกับ FourFourTwo
ปี 2014 เลอเบิฟ ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง “The Theory of Everything” ที่เป็นหนังกึ่งชีวประวัติของ สตีเฟน ฮอว์คิง ซึ่งในเรื่องนั้นเขาก็ได้เล่นบทที่ไม่ต้องโดนยิงตายจริง ๆ เสียที โดยบทบาทที่เขาได้รับคือการแสดงเป็นคุณหมอชาวสวิตเซอร์แลนด์นั่นเอง
Photo : scoopnest
“เขาเป็นโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เขาจะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการใช้เครื่องมือแพทย์ และผมไม่แน่ใจว่าเขาจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่” นี่คือบทพูดของเขาในตอนที่เขาวินิจฉัยร่างกายของ สตีเฟน ฮอว์คิง
นี่อาจจะไม่ใช่บทเด่นอะไรแต่ก็เป็นก้าวสำคัญ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เกียรติยศสูงสุดของวงการแผ่นฟิล์มถึง 5 รางวัล รวมถึงรางวัลสำคัญอย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ซึ่ง เอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบท สตีเฟน ฮอว์คิง คว้ารางวัลนี้ไปครอง)
เราจะเรียกว่านี่คือความสำเร็จของเขาได้หรือไม่ เลอเบิฟ ตอบกลับอย่างไม่ลังเลเลยว่า เขาคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จในฐานะนักแสดงไม่แพ้การเป็นนักฟุตบอลแล้วคว้าแชมป์โลกเลย
“ผมพอใจและรู้สึกโชคดีมากกับเส้นทางที่ผมเลือกเดินมา ตอนที่ผมบอกว่าจะเป็นนักแสดง มีคนถามผมว่าจะยอมแลกเหรียญแชมป์โลกกับการเข้าชิงรางวัลออสการ์หรือไม่ ผมขอตอบพร้อมกับยักไหล่ตอนนี้เลยแล้วกัน ผมจะแลกทำไมล่ะในเมื่อผมมีทั้งสองอย่างเรียบร้อยแล้ว” เลอเบิฟ กล่าว
นี่อาจไม่ใช่ความสำเร็จที่ใหญ่โต และ เลอเบิฟ เองก็ไม่ได้เป็นนักแสดงดังแบบที่ใครบนโลกนี้จะรู้จัก … แต่แค่นี้เขาก็แฮปปี้กับทุกสิ่งที่ตัวเองเลือกและเส้นทางที่เขาทุ่มเทมาตลอดแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะนักฟุตบอลหรือนักแสดง สุดท้ายมันก็ทำให้เขาได้เห็นคุณค่าของความพยายามจากการทำทุกสิ่งให้เต็มที่โดยที่ไม่ต้องมาเสียดายภายหลัง