sportpooltoday

Butterfly Effect : จัดฟุตบอลโลกทุกสองปี กระทบวงการฟุตบอลหญิงอย่างไร ?


Butterfly Effect : จัดฟุตบอลโลกทุกสองปี กระทบวงการฟุตบอลหญิงอย่างไร ?

“ฟุตบอลโลกกำลังจะจัดขึ้นทุกสองปี” นี่คือประโยคที่แฟนฟุตบอลได้ยินกันบ่อยขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ จิอานนี่ อินฟานติโน่ ประธานของ FIFA ยังคงยืนยันที่จะให้โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจริงให้ได้
 
หากฟุตบอลโลกขยับมาจัดขึ้นทุกสองปีจริง ย่อมมีการถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสียเป็นธรรมดา แต่หนึ่งในวงการที่หลายคนวิตกกังวลว่าจะได้รับผลกระทบร้ายแรงและส่งผลเสียอย่างไม่น่าเชื่อคือ วงการฟุตบอลหญิง ที่กำลังก้าวสู่จุดพีคเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

Main Stand ขอนำเสนอผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลหญิง หากแผนการปฏิรูปฟุตบอลโลกเกิดขึ้นจริง ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการทำลายความสนใจและรากฐานของเกมลูกหนังหญิงเลยทีเดียว

คนดูเยอะแล้วทำไมไม่จัดให้บ่อยขึ้น ?

นับตั้งแต่ฟุตบอลโลกหญิงจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1991 ที่ประเทศจีน ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปีเช่นเดียวกับฟุตบอลโลกชาย และยังคงดำเนินการแข่งขันโดยเว้นระยะห่าง 4 ปีแบบนี้เรื่อยมา จนกระทั่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นของวงการฟุตบอลหญิงในระยะหลังทำให้ FIFA รู้สึกว่าการจัดฟุตบอลโลกหญิงทุก 4 ปี อาจไม่ใช่คำตอบที่ใช่อีกต่อไป

ย้อนกลับไปยังฟุตบอลโลกหญิง 2019 ที่จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส นี่คือทัวร์นาเมนต์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในสายตาของ FIFA และอาจจะเป็นทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีผู้ชมมากกว่า 1 พันล้านคนที่ติดตามการแข่งขันรายการนี้ โดยเกมนัดชิงชนะเลิศระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ เนเธอร์แลนด์ มีผู้ชมทั้งหมด 82 ล้านคน มากกว่านัดชิงชนะเลิศของฟุตบอลโลกหญิง 2015 ถึง 56 เปอร์เซ็นต์

สำหรับสหรัฐอเมริกาที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 2019 หลังคว้าชัยชนะเหนือเนเธอร์แลนด์ด้วยสกอร์ 2-0 พวกเขาได้รับเงินรางวัลจากการคว้าแชมป์โลกเป็นเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเงินรางวัลที่เคยมอบให้สหรัฐอเมริกา หลังพวกเธอคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 2015 และคว้าเงิน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐกลับบ้าน

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของฟุตบอลโลกหญิง ทั้งในแง่ความสนใจจากผู้ชมและเงินรางวัลที่ตอบสนองการแข่งขันของนักกีฬา ส่งผลให้ FIFA เกิดไอเดียบรรเจิดว่า ในเมื่อฟุตบอลโลกหญิงได้รับความนิยมมากขนาดนี้แล้ว “ทำไมเราไม่จัดมันให้บ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปีล่ะ” ความสำเร็จของฟุตบอลโลกหญิง 2019 จึงกลายเป็นไอเดียตั้งตนที่ทำให้ FIFA หวังผลักดันให้ฟุตบอลโลกหญิงจัดการแข่งขันทุกสองปี และเริ่มผลักดันโปรเจ็กต์นี้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

“เราจำเป็นต้องมองให้ออกว่าเราสามารถสร้างอีเวนต์ใหญ่แบบไหนได้บ้าง เพราะฉะนั้นเรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้อยู่ นั่นเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด” จิอานนี่ อินฟานติโน่ ประธาน FIFA กล่าวถึงแนวคิดการจัดฟุตบอลโลกหญิงทุกสองปี

สำหรับ FIFA การจัดฟุตบอลโลกหญิงดูจะเป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยมและนำมาสู่การสร้างรายได้มหาศาลแก่วงการฟุตบอล แต่สำหรับแฟนลูกหนังทั่วโลก นี่เป็นหนึ่งในความคิดงี่เง่าที่สุดที่ออกมาจาก FIFA เพราะแฟนบอลทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า เหตุผลที่ทำให้ฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่พิเศษและมีความสำคัญที่สุดในโลกกีฬา เนื่องจากมันจัดการแข่งขันขึ้นทุก 4 ปี ไม่ต่างจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

ด้วยเหตุนี้นิตยสาร Forbes จึงเคยเขียนบทความเชิงล้อเลียนด้วยการแนะนำไอเดียแก่ FIFA ว่า หากคิดจะปรับเปลี่ยนให้ฟุตบอลโลกหญิงแข่งทุกสองปี ทำไมไม่มองให้ไกลกว่านั้น แล้วเปลี่ยนมาจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงทุกปี, ทุกเดือน หรือทุกวันไปเลย ซึ่งการล้อเลียนในลักษณะนี้ ถือเป็นการโจมตี FIFA ว่าแนวคิดในการเปลี่ยนมาจัดฟุตบอลโลกหญิงให้บ่อยขึ้นนั้นช่างตลกขบขัน  

แต่ถึงจะถูกเสียดสีอย่างไร FIFA ก็ยังคงผลักดันให้การจัดฟุตบอลโลกทุกสองปีเกิดขึ้นให้ได้ โดยในเดือนธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา จิอานนี่ อินฟานติโน่ ยังคงยืนยันถึงแผนการผลักดันให้เกิดการจัดฟุตบอลโลกทุกสองปี โดยจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับวงการฟุตบอลได้ถึง 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อบวกกับเสียงตอบรับของผู้อาวุโสในวงการลูกหนัง ทั้ง อาร์แซน เวนเกอร์ และ เซปป์ แบล็ตเตอร์ จึงดูเหมือนว่าโอกาสที่ฟุตบอลโลกจะเปลี่ยนมาจัดขึ้นทุกสองปีมีเพิ่มขึ้น และอาจเกิดขึ้นจริงได้ในไม่ช้านี้

ทำลายความน่าสนใจ กระแสถูกบดบังโดยฟุตบอลชาย

ถึงตรงนี้คงต้องอธิบายให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่า แผนการปรับเปลี่ยนฟุตบอลโลกให้มาแข่งขันกันทุกสองปีของ จิอานนี่ อินฟานติโน่ หมายถึงฟุตบอลโลกทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งถ้ามองกันตามหน้ากระดาษ หากฟุตบอลโลกเกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ตามความต้องการของ FIFA จริง ดูเหมือนว่าฟุตบอลชายและฟุตบอลหญิงน่าจะได้รับผลกระทบในระดับเดียวกัน

แต่ถ้ามองกันตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกฟุตบอลในปัจจุบัน ทุกคนทราบดีว่า FIFA ไม่เคยให้ความสนใจกับวงการฟุตบอลหญิงในระดับเดียวกับฟุตบอลชายเลย ไม่ว่าจะในแง่ของการลงทุนเพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงหรือค่าตอบแทนที่นักฟุตบอลหญิงได้รับซึ่งแตกต่างจากฟุตบอลชายหลายเท่าตัว การปรับเปลี่ยนฟุตบอลโลกให้มีการแข่งขันทุกสองปีของ FIFA แท้จริงแล้วจึงไปโฟกัสที่ผลประโยชน์ที่จะได้จากวงการฟุตบอลชายเป็นหลัก โดยแทบจะไม่ได้คิดถึงฟุตบอลหญิงเลย

หากการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งชายและหญิงถูกปรับเปลี่ยนให้มาแข่งขันกันทุกสองปี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสปอตไลท์ที่วงการฟุตบอลหญิงเคยได้รับย่อมน้อยลงไปอีก เพราะแค่นับเอาตารางการแข่งขันฟุตบอลโลกชายรอบคัดเลือกและรอบสุดท้ายมารวมกัน ในทางปฏิบัติเท่ากับว่าเกิดการแข่งขันฟุตบอลโลกชายทุกปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคงไม่มีใครจะหันมาให้ความสนใจกับฟุตบอลหญิงในระดับเดียวกับในปัจจุบันเป็นแน่

ซึ่งถ้ามองในมุมนี้เท่ากับว่า จำนวนผู้ชมฟุตบอลโลกหญิงที่อ้างอิงจากรอบชิงชนะเลิศครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 ที่มีตัวเลขเติบโตถึง 56 เปอร์เซ็นต์ อาจลดลงเนื่องจากความน่าสนใจที่หายไป ยิ่งเมื่อบวกกับแผนการของอินฟานติโน่ที่จะปรับฟุตบอลยูโรให้แข่งขัน 2 ปีครั้งตามไปด้วย นั่นอาจทำให้ความนิยมของฟุตบอลยูโรหญิงที่เพิ่งทำลายสถิติผู้ชมในสนามและทางโทรทัศน์ลดลงมาด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงแค่ทวีปยุโรปที่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับฟุตบอลหญิงในภูมิภาคอื่นก็จะต้องรับผลจากความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นนี้ด้วย ถึงแม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวของกับแผนปฏิรูปครั้งใหญ่ของ FIFA โดยตรง เพราะท้ายที่สุดแล้วแฟนฟุตบอลทั่วโลกก็จะโฟกัสไปยังการแข่งขันระดับสูงของฟุตบอลชายที่แน่นเอี้ยดตลอดทั้งปีอยู่แล้ว หากฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโรถูกปรับเปลี่ยนให้มาแข่งขันทุกสองปีจริง

สื่อจากต่างประเทศคาดการณ์ว่า FIFA น่าจะใช้ประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากการจัดฟุตบอลโลกบ่อยขึ้นมาเป็นเครื่องหว่านล้อมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลหญิงเห็นด้วยกับแผนการปฏิรูป โดยอ้างว่าฟุตบอลหญิงทั่วโลกจะได้งบประมาณพัฒนาวงการที่มากขึ้น หากยอมปรับให้ฟุตบอลโลกหญิงแข่งขันทุกสองปี

 

แน่นอนว่าประเด็นนี้ถูกสื่อต่างประเทศกล่าวหาว่าเป็นอีกหนึ่งคำลวงของ FIFA เนื่องจากในปัจจุบัน FIFA มีเงินสำรองไว้ในคลังสูงถึง 2.74 พันล้านบาท หรือราว 9 หมื่นล้านบาท หากพวกเขาจริงใจจะพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงจริงก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ฟุตบอลโลกจัดขึ้นทุกสองปีก็สามารถเพิ่มงบประมาณในส่วนนั้นได้ 

เมื่อบวกกับประวัติที่พวกเขาไม่สามารถบรรลุแผนการ Women’s Football Strategy ที่หวังเพิ่มให้ผู้หญิงเล่นฟุตบอลมากขึ้น ยิ่งทำให้ทุกคนเชื่อว่า FIFA ต้องการเพิ่มมูลค่าให้วงการฟุตบอลชายโดยไม่สนใจเลยว่าฟุตบอลหญิงจะได้รับผลกระทบอย่างไร

มองข้ามความสำคัญรากฐานการพัฒนาฟุตบอลหญิง

ESPN เคยเสนอทางเลือกว่า รายการเดียวที่ FIFA ควรเพิ่มให้กับวงการฟุตบอลหญิงคือ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก เนื่องจากวงการฟุตบอลหญิงยังไม่แข็งแกร่งและยังต้องพึ่งพาการพัฒนาผ่านการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศ การเพิ่มทัวร์นาเมนต์ที่ทรงคุณค่าอย่างฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก จึงอาจจะสามารถช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระดับสโมสร ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงในระดับรากฐานต่อไป

 

การแข่งขันในระดับสโมสรไม่เพียงจะสำคัญต่อรากฐานของวงการฟุตบอลหญิง แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยดึงดูดแฟนฟุตบอลระดับท้องถิ่นให้หันมาสนใจเกมลูกหนังในรูปแบบนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหลายฝ่ายเชื่อว่านักฟุตบอลหญิงที่ลงเล่นในปัจจุบันจะกลายเป็นแบบอย่างใกล้ตัวให้แฟนบอลได้เดินตามและนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักฟุตบอลหญิงทั่วโลก มากกว่าการปั้นภาพซูเปอร์สตาร์ในระดับชาติแต่ละเลยการพัฒนาในระดับรากฐาน

หากการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงถูกจัดขึ้นปีละสองครั้งจริง ไม่ต้องสงสัยเลยว่างบประมาณที่แต่ละชาติจะได้รับเพื่อพัฒนาฟุตบอลหญิง (ซึ่งไม่มากมาตั้งแต่ต้น) จะถูกโยนลงไปใส่ฟุตบอลทีมชาติจนหมด ยิ่งไปกว่านั้นความสนใจของฟุตบอลหญิงก็จะไปอยู่ที่การแข่งขันฟุตบอลโลกที่จัดต่อเนื่องราวกับบอลลีก นี่จึงเป็นดาบสองคมที่จะกลับมาทำลายฟุตบอลหญิงในระดับสโมสร ซึ่งถือเป็นรากฐานของวงการฟุตบอลหญิงทั่วโลก

เมื่อหันมามองสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ฟุตบอลโลกหญิงเพิ่งประกาศเพิ่มทีมเข้าร่วมแข่งขันจาก 24 ทีมสู่ 32 ทีม ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งการเพิ่มทีมครั้งนี้ก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากพออยู่แล้ว เนื่องจากฟุตบอลโลกหญิง 2019 สหรัฐอเมริกาเพิ่งถล่มทีมชาติไทยจนกลายเป็นสถิติใหม่ถึง 13-0 แสดงให้เห็นว่าบางทีมในฟุตบอลโลกหญิงยังห่างชั้นกันเกินไป 

แต่แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแต่ละชาติให้แข็งแกร่งทัดเทียมกัน FIFA กลับเลือกที่จะเพิ่มทีมเข้าไปในฟุตบอลโลกหญิงอีก ฟุตบอลโลกหญิงจึงน่าจะยังไม่ต้องการการยกระดับทัวร์นาเมนต์ไม่ว่าจะรูปแบบใดในเร็ววันนี้ เพราะวงการฟุตบอลหญิงยังไม่สามารถเติบโตได้รวดเร็วพอที่จะพร้อมรองรับการแข่งขันของ 32 ทีมทุกสองปีได้อย่างแน่นอน

สิ่งที่วงการฟุตบอลหญิงต้องการจริง ๆ ในเวลานี้คือการเพิ่มจำนวนเงินทุนที่จะลงมาช่วยเหลือนักฟุตบอลหญิง พร้อมกับพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงในระดับรากฐานให้มั่นคงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลือนักเตะที่ถูกสโมสรปล่อยตัว, ผลักดันค่าเหนื่อยนักเตะให้มีจำนวนใกล้เคียงกับฟุตบอลชายมากขึ้น หรือการเพิ่มงบประมาณสนับสนุนสโมสรรวมถึงทีมชาติให้มีเงินมากพอที่จะเลี้ยงดูนักฟุตบอลหญิงตามสมควร

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข่าวมากมายเกี่ยวกับนักฟุตบอลหญิงระดับทีมชาติที่ต้องเจอกับปัญหากับเรื่องการเงิน ไม่ว่าจะเป็น นักเตะไนจีเรียที่ถูกเบี้ยวโบนัสในปี 2019, แข้งทีมชาติบราซิลหลายรายที่ต้องถอนตัวเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาคม, นักฟุตบอลหญิงทีมชาตออสเตรเลียสไตรก์เมื่อปี 2015 เนื่องจากต้องการค่าเหนื่อยที่เพิ่มขึ้น, ผู้เล่นของตรินิแดดและโตเบโกขอเงินบริจาคผ่านทางโซเชียลมีเดียเมื่อปี 2018 เพื่อจะได้มีเงินไปเล่นฟุตบอลโลกหญิงรอบคัดเลือก รวมถึงกรณีนักเตะจาเมกาที่เดินทางมาแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2019 ด้วยเงินส่วนตัวของลูกสาว บ็อบ มาร์เลย์

หาก FIFA ยังเลือกที่จะเพิ่มการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงเป็นสองปีต่อครั้งตามแผนการเดิมที่วางเอาไว้ร่วมกับฟุตบอลชาย นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของระเบิดเวลาของวงการฟุตบอลหญิง เพราะในขณะนี้ที่ฟุตบอลโลกหญิงแข่งขันกัน 4 ปีต่อครั้ง บางประเทศยังไม่มีเงินสนับสนุนนักเตะของตัวเองอย่างเพียงพอได้เลย สถานการณ์จึงอาจแย่ลงมากหากความเปลี่ยนแปลงที่พูดถึงตลอดทั้งบทความนี้เกิดขึ้นจริง

แม้ FIFA จะสามารถกล่าวได้ว่าพวกเขาทำแบบสำรวจความต้องการของแฟนบอลกว่า 30,000 คนจากทั่วโลก และได้ผลลัพธ์ว่ามีคนจำนวนเกินครึ่งที่อยากเห็นฟุตบอลโลกหญิงบ่อยกว่าหนึ่งครั้ง แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันของวงการฟุตบอลหญิง มันเป็นเรื่องดีกว่าที่ความฝันของแฟนบอลเหล่านั้นจะต้องถูกยืดเวลาออกไป

นี่เป็นช่วงเวลาที่ FIFA ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างเม็ดเงินมหาศาลที่มีโอกาสได้จากเหล่าสปอนเซอร์และค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์กับการพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงจากรากฐาน ด้วยการเพิ่มงบประมาณลงไปให้มากขึ้นแล้วต่อยอดความนิยมจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากพวกเขาเลือกที่จะขยับการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นทุกสองปีตามแผนงานที่วางไว้