บาเยิร์น มิวนิค คือหนึ่งในสุดยอดทีมฟุตบอลของโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่เป็นเจ้าพ่อฟุตบอลเยอรมันที่กวาดแชมป์ลีกสูงสุด 9 สมัยติดต่อกันเท่านั้น แต่รวมถึงเป็นสโมสรฟุตบอลระดับโลกในเรื่องนอกสนาม เป็นทีมที่มีมูลค่ามหาศาล และมีแฟนบอลมากมายทั่วทุกมุมโลก
ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่เล่นงานวงการฟุตบอลอย่างทั่วถึง บาเยิร์น มิวนิค ยังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีลุ้นทั้งแชมป์บุนเดสลีกา และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อยู่ทุกปี
เรื่องในสนามแข็งแกร่ง แต่นอกสนามโดดเด่นกว่า บาเยิร์น มิวนิค ประกาศว่าสโมสรยังคงได้กำไรในฤดูกาล 2020-21 ที่เพิ่งจบไป แม้ว่าจะเป็นเงินเพียงน้อยนิดแค่ 1,800,000 ยูโร หรือประมาณ 68 ล้านบาท แต่ท่ามกลางโลกฟุตบอลซึ่งแต่ละทีมต้องเผชิญวิกฤตทางการเงิน บาเยิร์นก็ยังสามารถทำกำไรให้กับสโมสรได้เป็นปีที่ 28 ติดต่อกัน
ขณะที่หลายสโมสรฟุตบอลทั่วโลกประกาศการขาดทุนเป็นว่าเล่น อะไรคือเคล็ดลับที่ช่วยให้ บาเยิร์น ยังคงรักษาความแข็งแกร่งทั้งในและนอกสนามเอาไว้ได้? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ไม่เจ็บไม่เรียนรู้
บาเยิร์น มิวนิค ก็เหมือนสโมสรฟุตบอลทั่วโลกที่โดนการระบาดของ COVID-19 เล่นงานเข้าอย่างจังโดยไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือมาก่อน
หลังจากการแข่งขันถูกเลื่อนออกไปและสุดท้ายต้องกลับมาเตะแบบไม่มีผู้ชม ทำให้ในฤดูกาล 2019-20 ทัพเสือใต้ปิดงบรายได้ด้วยการสูญเสียเงิน 50 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,900 ล้านบาทไทย
สำหรับทีมที่ผู้ถือหุ้นสโมสรส่วนใหญ่เป็นแฟนบอล เงินจำนวนข้างต้นมหาศาลมาก และในฤดูกาลนั้น บาเยิร์น มิวนิค ได้กำไรเข้าสู่สโมสรเพียง 9,800,000 ยูโร หรือประมาณ 373 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เงินก้อนที่ทีมดังจากเยอรมันจะเอาไปต่อยอดได้มากนัก
เพราะด้วยกฎของฟุตบอลเยอรมัน อย่างกฎ 50+1 หรือกฎที่แฟนบอลจะถือหุ้นในสโมสรอย่างน้อย 51 เปอร์เซนต์ ทำให้บาเยิร์นไม่มีมหาเศรษฐีหนุนหลังและต้องพึ่งพลังจากแฟนบอลเป็นหลัก
แม้ว่า บาเยิร์น มิวนิค จะมีบริษัทระดับโลก อย่าง Adidas, Audi และ Allianz ถือหุ้นอยู่ แต่ทั้ง 3 บริษัทก็ถือหุ้นในฐานะรายย่อยเพียงรายละ 8.33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 75 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือแฟนบอลของทีมจะรวมกันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดังนั้นแล้วในทางปฏิบัติ บาเยิร์นไม่ได้มีงบประมาณมหาศาลที่พร้อมจะทุ่มลงมาสนับสนุนทีมโดยตรงเหมือนหลายทีมที่มีเจ้าของเป็นเศรษฐีพันล้าน
เมื่อการระบาดของ COVID-19 ตัดท่อน้ำเลี้ยงสำคัญออกไป จึงเป็นการบีบบังคับให้ บาเยิร์น มิวนิค ต้องปรับตัวให้เร็วกว่าสโมสรชั้นนำอื่นๆ เพื่อให้ทีมไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ต้องรักษาความแข็งแกร่งเอาไว้ด้วย
บาเยิร์น มิวนิค แถลงการณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขาพยายามโฟกัสไปที่แง่บวกของวิกฤตที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าสโมสรสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าทีมอื่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อทีมในอนาคต
“นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่เราเผชิญ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะมาหยุดยั้งทีมเราในการไปสู่ความสำเร็จที่งดงาม” คาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิกเก้ ผู้บริหารของบาเยิร์น มิวนิค ในช่วงฤดูกาล 2019-20 ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้ทัพเสือใต้สูญเสียความยิ่งใหญ่ เพียงเพราะมีโรคระบาดเกิดขึ้น
บาเยิร์น มิวนิค ทำได้อย่างที่พูดจริงๆ ด้วยการกวาดทริปเปิลแชมป์ จากการคว้าถ้วยบุนเดสลีกา, เดเอฟเบ โพคาล และยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาลนั้น
แต่วิกฤต COVID-19 ยังไม่ได้จบในระยะสั้น แถมการระบาดยังหนักขึ้นต่อเนื่องมากกว่าเดิม นั่นหมายความว่า บาเยิร์น มิวนิค ต้องหาทางรักษาสภาพของทีม ทั้งเรื่องในและนอกสนามต่อไปให้ได้ เพื่อให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ยังคงเป็นทีมชั้นนำของวงการลูกหนัง
ทำดีมาตั้งแต่ก่อนมี COVID-19
สิ่งสำคัญที่ทำให้ บาเยิร์น มีวิธีที่คิดต่างไปจากสโมสรชั้นนำอื่นนอกประเทศเยอรมัน คือการมีผู้ถือหุ้นหลักเป็นแฟนบอลของสโมสร และมีไม่มีนายทุนคอยสนับสนุนอัดฉีดเงินอยู่เบื้องหลัง
การบริหารทีมของ บาเยิร์น จึงไม่ได้ใช้เงินฟุ่มเฟือย ทั้งการซื้อนักเตะหรือเพิ่มค่าเหนื่อยให้กับผู้เล่นอยู่แล้ว ดูได้จากฤดูกาล 2019-20 ที่ได้ทริปเปิลแชมป์ พวกเขาได้กำลังหลักฝีเท้าดีมาช่วยสร้างความสำเร็จถึง 2 คนจากการยืมตัว นั่นคือ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ (ยืมจากบาร์เซโลน่า) และ อิวาน เปริซิช (ยืมจาก อินเตอร์ มิลาน)
หรือนโยบายการซื้อนักเตะจากทีมร่วมลีกบุนเดสลีกา เยอรมัน เป็นหลัก ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ช่วยประหยัดเงินในการเสริมทัพของ บาเยิร์น มิวนิค ได้เป็นอย่างดี เพราะสโมสรในเยอรมันส่วนใหญ่ขายนักเตะในราคาไม่แพงหากเทียบกับลีกชั้นนำลีกอื่น
อีกทั้งผู้เล่นหลายคนโดยเฉพาะแข้งเยอรมันล้วนมีความฝันอยากย้ายมาเล่นให้ทัพเสือใต้อยู่แล้ว ทำให้ทีมมีโอกาสจะได้ตัวนักเตะฝีเท้าดีมาร่วมทีมจากการเซ็นสัญญาฟรีหลังผู้เล่นหมดสัญญากับต้นสังกัดเก่าโดยไม่ต้องเสียเงินสักยูโร
บาเยิร์น มิวนิค จึงคุ้นชินกับการหาวิธีเสริมทัพโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่งผลให้ทีมมีความพร้อมในการวางแผนการบริหารทีมในสภาวะที่รายได้หดหาย ท่ามกลางช่วงการระบาดของ COVID-19
ส่วนเรื่องในสนามพวกเขาก็มีทีมที่ดีอยู่แล้ว เพราะถึงจะใช้เงินน้อยแต่นักเตะของ บาเยิร์น มีแต่แข้งคุณภาพดีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นฝีเท้าระดับโลกแต่ได้ตัวมาแบบฟรีๆอย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ และ เลออน โกเร็ตซ์กา
รวมถึงนักเตะกำลังหลักที่ถูกซื้อมาในราคาไม่แพงอย่าง แซร์จ นาบรี ด้วยเงิน 8 ล้านยูโร, โยชัว คิมมิช ด้วยเงิน 7 ล้านยูโร และ อัลฟอนโซ่ เดวีส์ ด้วยค่าตัว 11.7 ล้านยูโร เป็นต้น
ทัพเสือใต้จึงมีความพร้อมทั้งขุมกำลังที่ยอดเยี่ยมในสนามและประสบการณ์ของผู้บริหารในการสร้างทีมด้วยงบประมาณที่จำกัดนอกสนาม สิ่งนี้ส่งผลให้บาเยิร์นสามารถเดินหน้าได้ต่อโดยไม่ต้องเกรงกลัว ท่ามกลางถนนสายฟุตบอลที่เต็มไปด้วยปัญหาจาก COVID-19
“ผมเชื่อว่าการบริหารด้านการเงินที่ดีของเราในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการสร้างรายได้และทำกำไร ส่งผลดีต่อเราในเวลานี้” โอลิเวอร์ คาห์น CEO คนปัจจุบันของ บาเยิร์น มิวนิค กล่าว
สิ่งสำคัญที่โลกลูกหนังต้องไม่ลืมก็คือ ก่อนที่จะเข้าสู่ปี 2020 ซึ่งมีการระบาดของ COVID-19 บาเยิร์น มิวนิค ไม่มีหนี้แม้แต่ยูโรเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันทำให้สโมสรแห่งนี้แบกภาระทางการเงินน้อยกว่าหลายสโมสรอีกมากมายเมื่อวิกฤตครั้งสำคัญมาถึง
ลงทุนผ่านนักเตะ (อย่างคุ้มค่า) รับกำไรผ่านถ้วยแชมป์
ด้วยโจทย์ที่ตั้งไว้ว่า บาเยิร์น มิวนิค จะต้องเป็นสุดยอดทีมของเยอรมันต่อไปแม้จะเจอปัญหาด้านการเงิน ทีมยังคงต้องมีการเสริมทัพเพื่อไล่ล่าความสำเร็จต่อไป
บาเยิร์น จึงจ่ายเงินซื้อนักเตะฝีเท้าดีมาเสริมทีม ไม่ว่าจะเป็น เลรอย ซาเน่ ด้วยราคา 50 ล้านยูโร จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ดาโยต์ อูปาเมกาโน่ ด้วยราคา 42.5 ล้านยูโร จากแอร์เบ ไลป์ซิก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยแทบไม่ได้ขายนักเตะเอาเงินกลับมาใช้เลย มีเพียงแค่ ติอาโก้ อัลคันทาร่า กองกลางชาวสเปนที่ถูกขายออกไปให้ลิเวอร์พูลในราคา 30 ล้านยูโรเพื่อหมุนเงินมาใช้ในสโมสรเท่านั้น
คิดง่ายๆ จาก 3 ดีลข้างต้น เท่ากับว่า บาเยิร์น มิวนิค ขาดดุลในการซื้อขายประมาณ 60 ล้านยูโร ซึ่งไม่ใช่เงินที่เยอะมากหากเทียบกับทีมระดับเศรษฐี อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ เปแอสเช แต่สำหรับทีมที่เน้นสร้างรายได้จากแฟนบอลและสปอนเซอร์แบบบาเยิร์น นี่คือเงินจำนวนมากโดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19
แน่นอนว่า บาเยิร์น ตัดสินใจยอมทุบกระปุกซื้อนักเตะมาเสริมทัพก็เพราะเป้าหมายที่ชัดเจนของสโมสรว่าต้องเป็นแชมป์เท่านั้น แต่ลองคิดอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าบาเยิร์นเลือกรัดเข็มขัด ยอมชวดแชมป์สักปีหรือสองปี มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรขนาดนั้น เพื่อเป็นการรักษาเงินก้อนโตที่เป็นเครื่องประกันว่าทีมจะอยู่ได้แบบสบายๆ ในช่วงวิกฤตแบบนี้
แต่บอร์ดบริหารบาเยิร์นไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะพวกเขาเชื่อสุดใจว่าถ้วยแชมป์ที่สโมสรคว้ามาได้คือเครื่องมือในการใช้หารายได้ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการดึงดูดสปอนเซอร์ให้เข้ามาสนับสนุนทีม หรือแม้กระทั่งการสร้างแฟนบอลกลุ่มใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหารายได้ผ่านการขายสินค้าที่เกี่ยวกับสโมสร
โอลิเวอร์ คาห์น CEO ของบาเยิร์น มิวนิค เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ความสำเร็จที่ บาเยิร์น มิวนิค คว้ามาในช่วงการระบาดของ COVID-19 มีผลสำคัญต่อการสร้างรายได้ของสโมสร ซึ่งไม่ใช่ความสำเร็จเพียงแค่ปีเดียว แต่การเป็นแชมป์บุนเดสลีกาติดต่อกันถึง 9 สมัย ทำให้ภาพลักษณ์ของทีมเสือใต้มีความแข็งแกร่ง เป็นของจริงในวงการลูกหนัง และดึงดูดแฟนบอลไปจนถึงสปอนเซอร์ให้เข้ามาสนับสนุนทีม
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า บาเยิร์น มิวนิค ผูกขาดความสำเร็จมานานในวงการฟุตบอลเยอรมัน มีขุมกำลังที่ดีกว่าทีมอื่นอย่างชัดเจน การคว้าแชมป์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งของทีมจึงไม่ใช่เรื่องยาก แตกต่างจากหลายทีมในอังกฤษและฝั่งสเปนที่มีการแข่งขันที่สูงกว่าในเยอรมัน
ดังนั้น การซื้อตัวผู้เล่นของ บาเยิร์น จึงเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง เป็นการหวังผลตอบแทนกลับมาผ่านการคว้าแชมป์ ซึ่งในปี 2020 บาเยิร์นมีรายได้จากสปอนเซอร์รวมกันประมาณ 360 ล้านยูโร หรือประมาณ 13,700 ล้านบาทไทย ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของสโมสร
เหตุผลที่ บาเยิร์น เลือกใช้ผลงานดึงดูดสเปอนเซอร์คือเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมีการศึกษาและพบว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มที่สปอนเซอร์จะหันมาสนับสนุนทีมฟุตบอลใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรปลดน้อยลง โดยเฉพาะในแง่เงินทุนสนับสนุน
บาร์เซโลน่า ทีมดังจากสเปนที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินอยู่ในปัจจุบัน เผชิญกับปัญหานี้อย่างรวดเร็ว เพราะทันทีที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ บาร์ซ่าก็เสียรายได้จากสปอนเซอร์ทันที 34 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,300 ล้านบาทไทย
เท่านั้นยังไม่พอ หลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ระยะเวลาเฉลี่ยที่สปอนเซอร์ทำสัญญาสนับสนุนทีมฟุตบอลเหลือไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น แทบจะเรียกได้ว่าหลังจากนี้ การสนับสนุนของสปอนเซอร์กับทีมเปลี่ยนเป็นสัญญาแบบปีต่อปีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแม้แต่น้อยกับการบริหารการเงินของสโมสรฟุตบอลในระยะยาว โดยเฉพาะในสภาวะที่ทุกทีมก็สูญเสียรายได้แบบนี้
การคว้าแชมป์อย่างต่อเนื่องของ บาเยิร์น จึงเป็นหนทางที่ดีในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับทีมที่จะนำไปสู่ความมั่นใจของสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุน ซึ่งผลลัพธ์คือทีมเสือใต้ได้ดีลสปอนเซอร์ที่ดี ทั้งในแง่จำนวนเงินและระยะเวลาสัญญา เพราะบริษัทกลุ่มทุนต่างๆ ถ้าจะเสียเงินระดับหลายสิบล้านยูโรก็คงอยากจะจ่ายเงินสนับสนุนให้กับทีมที่มีหน้ามีตาได้รับความสนใจจากแฟนบอลกันทั้งนั้น
การประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2020 ทำให้ บาเยิร์น มิวนิค มีรายได้จากสปอนเซอร์สูงกว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดยมีเพียง เรอัล มาดริด ทีมเดียวเท่านั้นที่มีรายได้จากสปอนเซอร์เทียบเท่ากับบาเยิร์น
สุดท้ายแล้ว หากจะหาเหตุผลว่าเหตุใดบาเยิร์นจึงบริหารทีมได้เป็นอย่างดีในช่วงวิกฤตโรคระบาด? ก็ชัดเจนว่าแนวทางของสโมสรแห่งนี้ดีมาตั้งแต่ก่อนจะมี COVID-19 แล้ว
การสร้างความมั่นคงทั้งในและนอกสนามมาตลอดของ บาเยิร์น มิวนิค จึงออกดอกออกผลในช่วงเวลาที่ทีมต้องการ ทำให้ บาเยิร์น มิวนิค ยังคงเป็นสุดยอดสโมสรที่ไล่ล่าคว้าความสำเร็จและรักษาสถานะของสโมสรให้มั่นคงได้ต่อไป