sportpooltoday

ระดับโลกทุกวัน : เบื้องหลังมาตรฐานขั้นเทพตั้งแต่อายุ 16-41 ปีของ เปาโล มัลดินี่


ระดับโลกทุกวัน : เบื้องหลังมาตรฐานขั้นเทพตั้งแต่อายุ 16-41 ปีของ เปาโล มัลดินี่

“มัลดินี่ ลงเล่นเต็ม 90 นาทีโดยที่ผมไม่เห็นเขาจะเข้าปะทะกับใครเลย นี่แหละศิลปะระดับบิ๊กบอสที่บอกได้ว่าเขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยมขนาดไหน”

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตำนานกุนซือของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กล่าวถึงวิธีการเล่นของ เปาโล มัลดินี่ กองหลังชาวอิตาเลียนของ เอซี มิลาน ผู้ที่ถูกยกย่องว่า “ดีที่สุดในประวัติศาสตร์”

ความเก่งของ มัลดินี่ ถูกยืนยันด้วยความสำเร็จมากมายตลอดอาชีพ แต่คำถามคือเขาลงเล่นด้วยฟอร์มแบบเดิมมาตั้งแต่อายุ 16 ปี จนถึงอายุ 41 ปี ในวันแขวนสตั๊ดได้อย่างไร ?

ติดตามที่ Main Stand

มิลาน ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ 

การจะทำอะไรให้ออกมาได้ดีนั้นย่อมเกิดจากการทุ่มสุดตัว และการจะทุ่มสุดตัวได้นั้นมันต้องเกิดจากจิตใต้สำนึกของคน ๆ นั้นว่าเขายินดีที่จะยอมเหนื่อยยากลำบากและทำในสิ่งที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ โดยได้แต่หวังว่าวันข้างหน้าจะมีอนาคตที่สดใส 

อย่าว่าแต่อาชีพนักฟุตบอลเลย พนักงานออฟฟิศทำงานสัปดาห์ละ 5 วันตลอดทั้งปีย่อมมีช่วงเวลาที่เกิดความเซ็ง ความขี้เกียจครอบงำ จนพาลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ใส่กันไม่สุดแบบทำกันตามหน้าที่ให้มันจบ ๆ 

ย้อนกลับมาที่อาชีพนักฟุตบอลก็คงไม่ต่างกัน นักฟุตบอลหลายคนพยายามสุดตัว ทุ่มเททุกอย่าง แต่ปลายทางนั้นสูญเปล่า แต่สำหรับ เปาโล มัลดินี่ นั้นตรงกันข้ามตั้งแต่การเริ่มตั้งเป้าที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพแล้ว

 

สำหรับ มัลดินี่ การเล่นฟุตบอลโดยถูกเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “กับสโมสรเอซี มิลาน” เปรียบเสมือนกับภารกิจที่ห้ามขี้เกียจ ห้ามเบื่อ … เรื่องเงินและรายได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การแบกรับภารกิจของตระกูลนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เขาจะทำเป็นเล่น

เปาโล มัลดินี่ เป็นลูกชายของ เซซาเร่ มัลดินี่ ตำนานนักเตะของ เอซี มิลาน พ่อของเขาเป็นกัปตันทีม พาทีมคว้าแชมป์มากมายและมีคาแร็กเตอร์ของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ การเป็นลูกชายของตำนานไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในโลกของฟุตบอล ลูกของเปเล่, ดิเอโก มาราโดนา และใครอีกหลายคนที่เป็นนักเตะระดับโลก ยอมเลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไปเพราะการถูกเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่พ่อของพวกเขาเคยทำไว้ อีกทั้งเมื่อมีพ่อเป็นตำนานลูกหนังนั่นก็หมายความว่าพวกเขาเกิดมาแบบไม่ลำบากนัก มีเงินมีทองในระดับหนึ่ง ซึ่งการมีของเหล่านี้อาจทำให้ความทะเยอทะยานหายไป 

มัลดินี่ บอกว่าเขามองเรื่องในนี้มุมที่แตกต่าง เขาถูกปลูกฝังให้เป็นนักเตะของ เอซี มิลาน ตั้งแต่จำความได้ ไม่ใช่แค่เป็นนักเตะธรรมดา แต่ต้องเป็นผู้ยิ่งใหญ่เหมือนพ่อให้ได้ สำหรับเขา มิลาน ไม่ใช่แค่สโมสรฟุตบอลแต่เหมือนกับเป็นบ้านของเขาเลยทีเดียว

“ผมรักสโมสรแห่งนี้ มันเป็นสโมสรที่ทำให้ผมพร้อมที่จะมอบหัวใจและร่างกายให้แบบไม่ลังเล และผมก็เล่นจนถึงวันที่ผมแทบจะเดินไม่ไหว (หัวเราะ) “

 

“ผมเริ่มเล่นที่นี่ตอนอายุ 10 ขวบ และแขวนสตั๊ดตอนอายุ 41 ปี เซซาเร่ พ่อของผมเป็นกัปตันทีมที่นี่ ลูก ๆ ของผมก็อยู่ที่อคาเดมีของสโมสร สำหรับผมมิลานไม่ใช่แค่ทีมแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”

“สโมสรแห่งนี้มีประเพณีที่ยอดเยี่ยมที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นจนถึงช่วงเวลาของผม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเราจึงต้องการเกียรติประวัติมาประดับไว้ที่ เอซี มิลาน” มัลดินี่ กล่าว 

ตามที่เขากล่าวมาทั้งหมด มัลดินี่ ลงเล่นให้กับ มิลาน ตั้งแต่รุ่นอายุ 10 ปี และไต่เต้าจนขึ้นมาเล่นกับทีมชุดใหญ่ครั้งแรกด้วยอายุแค่ 16 ปีเท่านั้น เขาใช้เวลาแค่ 6 ปี รวดเร็วเกินกว่าที่นักเตะคนอื่น ๆ จะทำได้ แต่นั่นแหละคือสิ่งที่ มัลดินี่ ทำได้ เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะเขาทุ่มสุดตัวและมีเป้าหมายที่ชัดเจนเสมอ

มัลดินี่ ลงเล่นชุดใหญ่ให้ มิลาน ครั้งแรกในฤดูกาล 1984-85 ฤดูกาลนั้นเขาได้ลงเล่นเพียงเกมเดียวเท่านั้น มันเป็นเรื่องปกติที่เด็ก ๆ จะค่อย ๆ ได้รับโอกาสสอดแทรกกับทีมชุดใหญ่ทีละนิด ๆ ทว่ากับ มัลดินี่ มันเป็นการเติบโตแบบผิดปกติ หลังจากลงเล่นได้เกมเดียวในปีแรก ฤดูกาล 1985-86 เขากลายเป็นตัวหลักของทีม และลงเล่นตลอดทั้งซีซั่นรวม 40 นัด ในยุคของกุนซือ นิลส์ ลีดโฮล์ม 

 

ช่วงเวลานั้น มิลาน ยังไม่ได้เริ่มยุคยิ่งใหญ่อะไรนัก จนกระทั่งเมื่อ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร ช่วงเวลาที่ มัลดินี่ เติบโตจริง ๆ จึงได้เริ่มขึ้น มิลาน ปลดลีดโฮล์มออกแล้วให้ ฟาบิโอ คาเปลโล่ มาคุมทีมจนจบฤดูกาลดังกล่าว 

เขาประคองทีมได้แค่อันดับ 5 ก่อนที่ของจริงจะเริ่มขึ้นในฤดูกาล 1987-88 สำหรับการจ้างกุนซือที่ว่ากันว่าดีที่สุดในอิตาลี ณ เวลานั้นนั่นคือ อาร์ริโก้ ซาคคี่ 

ซาคคี่ และเงินทุนของ แบร์ลุสโคนี่ นำมาสู่การย้ายเข้ามาของนักเตะต่างชาติที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้นนั่นคือ รุด กุลลิต กองกลางสายห้องเครื่อง และ มาร์โก ฟาน บาสเท่น กองหน้าตัวจบสกอร์ชาวดัตช์ จากนั้นก็ตามมาด้วย แฟรงค์ ไรจ์การ์ด จนกลายเป็นทีมชุดเริ่มต้นยุคสมัยใหม่ของ มิลาน อย่างเต็มรูปแบบ 

กลุ่มแข้งดัตช์ถูกเรียกเป็นพระเอกในชื่อ “3 ทหารเสือ” ทว่าสิ่งที่เติบโตขึ้นจนกลายเป็นจุดแข็งที่เด่นไม่แพ้กันคือการสร้างแผงแบ็กโฟร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล และ 1 ในนั้นมีชื่อของ มัลดินี่ รวมอยู่ด้วย

ลูกพี่ดี … งานนี้ได้เปรียบ 

หลังจาก ซาคคี่ เข้ามา กองหลังของ มิลาน ก็แน่นระดับเทพ แบ็กโฟร์ยุคนั้นประกอบด้วยตัวเก๋าอย่าง ฟรังโก บาเรซี่, เมาโร ทัสซอตติ ตามด้วยแข่งรุ่นใหม่อย่าง อเลสซานโดร คอสตาคูร์ต้า และ เปาโล มัลดินี่ ระบบการยืน ณ ตอนนั้น คู่เซ็นเตอร์เป็น บาเรซี่ กับ คอสตาคูร์ต้า แบ็กขวาเป็น ทัสซอตติ และแบ็กซ้ายเป็น มัลดินี่ 

มัลดินี่ เป็นน้องเล็กสุดในรายชื่อทั้งหมดและมันเป็นเรื่องดีที่เขาได้ซึมซับประสบการณ์จากกองหลังรุ่นพี่เช่นนี้ เขาบอกว่านักเตะอย่าง บาเรซี่ ช่วยสอนเขาได้มากเรื่องการเป็นกองหลังที่ไม่ได้มีรูปร่างสูงใหญ่ที่มีลูกแข็งแกร่งเป็นอาวุธหลัก สิ่งที่ บาเรซี่ สอน มัลดินี่ ได้มากที่สุดคือวิธีการซ้อมที่ไม่มีการทำเป็นเล่น เมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้าปะทะหนัก ๆ ก็ไม่ต้องรอรี แล้วรีบตัดสินใจทำโดยทันที  

แม้ บาเรซี่ จะไม่ได้เป็นคนช่างบอกช่างสอน แต่การเรียนรู้ด้วยการเห็นด้วยตาตัวเองทำให้ มัลดินี่ สร้างนิยามวิธีการเล่นของเขาขึ้นมาใหม่เหมือนกับที่ บาเรซี่ เป็น นั่นคือการเล่นเกมรับด้วยความแน่นอนให้ได้มากที่สุด และเมื่อบอลอยู่กับเท้าจงทำให้ตัวเองดูสง่างามเหมือนกับนักเตะตำแหน่งมิดฟิลด์ 

“บาเรซี่ โคตรจะสุดยอด เขาเป็นคนตัวเล็กและผอมมาก เขาหนักแค่ 70 กิโลกรัม แต่วิธีการเล่นของเขานั้นแข็งแรงสวนทางกันสุด ๆ เขากระโดดได้สูงอย่างเหลือเชื่อ วิธีการเล่นของ บาเรซี่ เป็นแบบอย่างสำหรับทุกคนได้เลย เขาเป็นผู้นำในแผงเกมรับของเรา เขาอาจจะไม่ใช่คนช่างพูดมากนัก แต่ถ้าคุณดูวิธีการของเขาทั้งตอนเล่นจริงและตอนซ้อม ผมบอกได้เลยว่าคำจำกัดความสำหรับเขาคือ ‘วิเศษสุด'”

 

“ลองให้เขาเข้าแทคเกิลคุณดูสักทีสิ รับรองว่าหนักได้ใจแน่นอน บาเรซี่ นี่แหละเป็นแบบอย่างอันดับ 1 ของผมเลย เขาเล่นเกมรับเหมือนกับพระราชาและเมื่อบอลอยู่กับเท้าก็เยือกเย็นและเล่นได้อย่างเนียนตา ไม่มีกองหลังแบบเขาให้เห็นบ่อยนักหรอก เขาเป็นคนที่เล่นได้แข็งแกร่งและยังเล่นกับลูกฟุตบอลได้ดีด้วย” 

สิ่งที่ มัลดินี่ เล่าเกี่ยวกับ บาเรซี่ นั้นหากใครเกิดทันได้ดู มัลดินี่ เล่น คุณจะรู้สึกว่ามันแทบจะตรงกับสไตล์การเล่นของเขาเลย มัลดินี่ คือกองหลังที่เชื่อใจได้ในเรื่องของเกมรับ ไม่ว่าจะดวลกับใครคนไหน เร็วแค่ไหน แข็งแรงขนาดไหนก็ใช่ว่าจะผ่านเขาไปได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยรุ่นที่เขาเล่นแบ็กซ้าย หรือช่วงบั้นปลายที่เขาขยับเข้ามาเป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 

สิ่งที่เราได้เห็นบ่อย ๆ ที่ มัลดินี่ แสดงออกมาคือสิ่งที่เรียกว่า “ทางบอล” เขาเป็นคนที่เป็นอัจฉริยะด้านนี้ เขาคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าได้เก่ง เขาอาศัยจังหวะการก้มหน้าเมื่อกองกลางฝั่งตรงข้ามเปิดบอล มัลดินี่ ก็จะวิ่งไปรอที่จุดตกของบอลแล้ว นั่นทำให้ มัลดินี่ เป็นกองที่ไม่ได้มีความเร็วมากนักแต่ก็สามารถจัดการกับนักเตะจี๊ด ๆ ได้สบาย มันคือประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มาจากรุ่นพี่อย่าง บาเรซี่ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการต้องรับมือ ฟาน บาสเท่น กองหน้าระดับบัลลงดอร์ในการซ้อมแทบทุกวัน 

“วิธีการเล่นของผมไม่เหมือนกองหลังในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในตำแหน่งแบ็กซ้าย ในยุคนี้แบ็กซ้ายถูกตัดสินจากเกมรุกและวิธีการเล่นเกมบุกและการวางบอล เกมรับกลายเป็นเรื่องรองลงไป แต่ตอนที่ผมเล่นแบ็กซ้ายผมเชื่อเสมอว่าการเล่นเกมรับนั้นยากกว่า” มัลดินี่ กล่าวถึงวิธีการเล่นของเขา 

เกมรับนั้นยากกว่าในที่นี้ มัลดินี่ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนเดียวที่เก่งกาจ แต่การได้เล่นกับเพื่อนร่วมตำแหน่งเกมรับที่รู้ใจ รวมกับการซ้อมแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกในยุคของ ซาคคี่ ทำให้ได้คำตอบว่าทำไมถึงไม่มีใครผ่าน มัลดินี่ ได้ง่าย ๆ 

“ในยุคที่ ซาคคี่ เข้ามาเขาแสดงคาแร็กเตอร์ที่แข็งกร้าวออกมา การซ้อมของทีมในเวลานั้นเหมือนกับจะทำให้ผมเป็นบ้าเลย” มัลดินี่ กล่าว

“ซาคคี่ มีวิธีสอนให้คุณทำงานหนักและตั้งใจทำงานที่เขาได้มอบหมายเสมอ ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ เขาจะบังคับให้คุณทำในสิ่งเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะกับนักเตะกลุ่มเกมรับอย่างผม แต่คุณรู้อะไรไหม ก็เพราะการซ้อมซ้ำ ๆ แบบนี้แหละที่ทำให้ มิลาน ในยุคนั้นประสบความสำเร็จขนาดนี้”

“พูดง่าย ๆ ก็คือทุกวันนี้หากคุณเรียก บาเรซี่, คอสตาคูร์ต้า และ ทัสซอตติ มาเตะบอลอยู่ทีมเดียวกับผม เราก็ยังสามารถเล่นได้เหมือนเดิมแบบเดียวกับที่เคยทำไว้ในช่วงยุค 90s สิ่งที่เขาสอนมันติดอยู่ในสมองจนร่างกายขยับไปเองเลยด้วยซ้ำ”   มัลดินี่ กล่าวถึงที่มาของความไร้เทียมทานในการเล่นเกมรับของเขาในสีเสื้อมิลาน 

การได้เริ่มต้นเรียนรู้กับโค้ชระดับโลกและรุ่นพี่ที่เก่งระดับแถวหน้าตั้งแต่อายุ 18 ปี เป็นเหตุผลที่ดีพอที่จะทำให้ มัลดินี่ ทำได้หลายสิ่งในแบบที่นักเตะคนอื่น ๆ ไม่สามารถทำตามได้ ทว่าความมหัศจรรย์ของ มัลดินี่ ยังไม่หยุดแค่ยุคที่ มิลาน ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในปลายยุค 80s ต่อต้นยุค 90s ทว่าในช่วงที่เขาอายุมากขึ้นกลับกลายเป็นว่า “ทางบอล” ของเขาก็ยังไม่จางหายไปไหน เขายังคงถูกเพื่อนร่วมอาชีพทั้งเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งพูดถึงอย่างตรงกันว่า “เขาเป็นปีศาจ”

รักษามาตรฐาน 25 ปี 

สำหรับนักฟุตบอลส่วนใหญ่ อายุ 33 ปีขึ้นไปก็ถือว่าเป็นช่วงโรยราแล้ว บางคนอาจจะเล่นได้ถึงอายุ 35 ปี บางคนอาจจะเล่นได้ถึง 38 ปี แต่เป็นการค่อย ๆ ขยับมาตรฐานลีกลงไป พวกเขาอาจจะเล่นกับทีมที่เล็กลงในลีกที่เข้มข้นน้อยลง แต่ มัลดินี่ คือคนที่เล่นกับ เอซี มิลาน สโมสรเดียวจนวันที่เขาแขวนสตั๊ดด้วยวัย 41 ปี และเขามีเคล็ดลับสำหรับเรื่องนี้ 

มัลดินี่ เล่าว่าการจะยืนระยะให้ได้นาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตำแหน่งกองหลังที่ต้องดวลกับกองหน้าที่มีความเร็วและความแข็งแกร่ง สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือ “แพชชั่น” คำ ๆ นี้อาจจะมีหลายคนใช้กันบ่อย ๆ แต่ มัลดินี่ ขยายความว่าแพชชั่นของเขาคือการกระหายความสำเร็จ ความอยากเป็นนักเตะที่ดีขึ้น รวมถึงการ “ดีใจ” ที่ได้ดวลกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งกว่าที่เคยเจอในทุก ๆ วัน 

“ผมโชคดีมากที่ชีวิตนักฟุตบอลได้เจอคนเก่ง ๆ เยอะ ทั้งเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่ง จะมีใครบ้างที่ได้ดวลกับ ดิเอโก มาราโดนา ในวันที่ดีที่สุด และยังได้เจอกับ โรนัลโด้ (บราซิล) ในช่วงที่เขาพีค ๆ ที่ อินเตอร์ มิลาน นักเตะแบบนี้แหละคือเหตุผล พวกเขาเป็นคู่แข่งที่เก่งที่สุดที่ผมเคยดวลด้วยเลย”

“ถ้าคุณไม่รักในสิ่งที่คุณทำมันก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ สำหรับตัวผม แพชชั่น คือสิ่งที่คอยผลักดันให้ผมไปข้างหน้าเสมอ ผมมีความหลงใหลในการแข่งขันฟุตบอล ผมรักทุกวินาทีที่ได้เล่นให้กับมิลาน” 

สิ่งเหล่านี้รวมถึงการรับมือกับเรื่องของความกดดัน ตลอดชีวิตของ มัลดินี่ ที่ต้องลงเล่นในเกมตัดสินแชมป์มาไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ถ้าไม่ใช่คนที่มีสภาพจิตใจแข็งแกร่งก็ไม่มีทางที่จะสวมปลอกแขนกัปตันทีมแล้วไปสร้างความฮึกเหิมให้กับเพื่อนร่วมทีมได้ เขาเล่าว่านักเตะหลายคนมักจะติดกับดักเมื่อความสำเร็จใกล้จะเข้ามาถึง เช่นเมื่อเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายหรือรอบชิงชนะเลิศในฟุตบอลถ้วย ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงที่ควรอยู่กับตัวเองให้มาก ทบทวนสิ่งที่ต้องทำ ศึกษาคู่แข่ง และสงบนิ่งอยู่กับเกมให้ได้ตลอด 90 นาที เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น 

“เกมรอบลึกอย่างรอบรองชนะเลิศมักจะมีเรื่องอะไรมารบกวนจิตใจเสมอ คุณมักจะคิดว่าอีกนิดเดียวก็ถึงรอบชิงแล้ว แต่ความจริงมันไม่นิดเลย คุณห้ามผ่อนคลายเด็ดขาด หากคุณเผลอให้เกิดความเหลาะแหละขึ้น สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือคุณจะถูกลงโทษ” มัลดินี่ กล่าว 

ส่วนเรื่องการดูแลร่างกายนั้น มัลดินี่ อาจจะไม่ได้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยถึงเรื่องนี้มากนักว่าเขาดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงตลอดอาชีพได้อย่างไร แต่สิ่งที่ช่วยแสดงให้เห็นถึง “ความใส่ใจตัวเอง” ของเขาได้นั้น คือแม้กระทั่ง ณ ตอนนี้ มัลดินี่ อายุ 53 ปีแล้ว แต่หุ่นของเขายังดูดีเหมือนกับสมัยเป็นวัยรุ่น ดังนั้นก็น่าจะพอบอกได้คร่าว ๆ แล้วถึงวินัยที่เขายังคงยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน 

ท้ายที่สุดและสุดท้ายสิ่งที่ทำให้ มัลดินี่ ลงเล่นและรักษามาตรฐานระยะยาวได้จริง ๆ ที่หลายคนพูดตรงกันคือ “วิธีการเล่น” ของเขาที่ใช้ร่างกายไม่เปลือง หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ มัลดินี่ ไม่ใช่คนที่มีภาพการเข้าปะทะโหด ๆ แบบใส่ทั้งตัวแบบที่กองหลังสายแข็งแรงอย่างเช่น ยาป สตัม หรือ เนมานยา วิดิช เป็น … อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น “กึ๋น” คือเคล็ดลับที่ทำให้เขามีสภาพร่างกายที่สามารถลงเล่นในเกมระดับสูงได้สบาย ๆ มาอย่างยาวนาน

“หากผมต้องเข้าแท็คเกิลแบบพุ่งสกัดทั้งตัวนั่นหมายความว่าผมได้ทำพลาดไปแล้ว” ประโยคสุดเฉียบนี้กล่าวโดย มัลดินี่ เอง และมันก็ตรงกับที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตำนานกุนซือของ แมนฯ ยูไนเต็ด พูดถึงเขาไว้เมื่อในอดีต 

“เชื่อไหมล่ะ มัลดินี่ ลงเล่นเต็ม 90 นาทีโดยที่ผมไม่เห็นเขาจะเข้าปะทะกับใครเลย นี่แหละศิลปะระดับบิ๊กบอสที่บอกได้ว่าเขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยมขนาดไหน” เฟอร์กี้ ว่าไว้ในเกมที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เจอกับ มิลาน ในฤดูกาล 2006-07 ก่อนที่ มิลาน จะเขี่ย ยูไนเต็ด ตกรอบไปด้วยสกอร์รวม 3-2 โดยในเกมนั้น มัลดินี่ ต้องประกบนักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ เวย์น รูนี่ย์ ในวัยหนุ่ม 


เมื่อใช้สมองและวิธีการเล่นที่ชาญฉลาดมากกว่าจะใส่ทั้งตัวเต็มแรงแบบไม่กลัวเจ็บ การรักษาสภาพร่างกายก็ง่ายขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งเมื่อประกอบกับสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งและความประพฤตินอกสนามที่ไม่เคยทำอะไรเสีย ๆ หาย ๆ ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าทำไม เปาโล มัลดินี่ จึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในกองหลังที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล

“เปาโล มัลดินี่ คือที่สุดของที่สุดในแนวรับ เป็นกองหลังแบบที่ไม่มีนักเตะคนใดมาเทียบได้ ร่างกาย จิตใจ สมอง เขามีทุกอย่าง … ทุกลีลาที่เขาทำในสนามยังคงดูงดงามไม่เปลี่ยนแปลง แม้วันนี้เขาจะอายุ 40 ปีแล้ว แต่ความยอดเยี่ยมยังไม่ต่างกับวันแรกที่เขาเดินผ่านประตูสู่ทีมชุดใหญ่ของมิลานเลย”

ขออนุญาตปิดท้ายบทความด้วยการกล่าวถึง มัลดินี่ ของ อันเดรีย ปีร์โล อดีตจอมทัพทีมชาติอิตาลี ชุดแชมป์โลกปี 2006 ที่สรุปทุกอย่างที่กล่าวมาไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มอีกแล้ว