sportpooltoday

เรื่องนี้มีที่มา : ทำไมแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ จึงแข่งทับโปรแกรมลีกยุโรปแบบไม่แคร์โลก ?


เรื่องนี้มีที่มา : ทำไมแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ จึงแข่งทับโปรแกรมลีกยุโรปแบบไม่แคร์โลก ?

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ อาจเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีความยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นรายการที่สร้างความปวดหัวให้กับวงการฟุตบอลมากที่สุดรายการหนึ่ง เพราะการแข่งขันที่ต้องจัดขึ้นในช่วงต้นปี ซึ่งไม่ตรงกับตารางการแข่งขันของฟุตบอลลีกยุโรป หรือ รายการนานาชาติชื่อดังทั้ง ฟุตบอลโลก และ ฟุตบอลยูโร

กำหนดการเช่นนี้ส่งผลให้นักเตะฝีเท้าดีชาวแอฟริกันต้องโบกมือลาต้นสังกัด ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ชวนให้แฟนบอลสโมสรดังจากยุโรปปวดหัวกันทั่วโลก จนนำมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไม แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ไม่เตะให้เหมือนคนอื่นเสียที”

Main Stand ขอพามาหาคำตอบกันว่า ทำไม แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ถึงแข่งขันทับกับฟุตบอลลีกของยุโรป ซึ่งจะพาคุณย้อนไปถึงต้นกำเนิดอันเก่าแก่, ความสำคัญของฟุตบอลรายการนี้ และอนาคตที่จะตัดสินว่าพวกเขาจะยังเตะช่วงต้นปีต่อไปหรือไม่ ?

แข่งขันเดือนมกราคมตั้งแต่ปี 1957

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ อาจเป็นรายการที่แฟนบอลยุโรปชิงชัง เนื่องจากเป็นรายการการแข่งขันที่ขโมยนักเตะตัวเก่งไปจากสโมสรของพวกเขาหมดสิ้น แต่ความจริงแล้ว แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ถือเป็นรายการที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและมีความสำคัญมากต่อโลกฟุตบอลรายหนึ่ง 

ทัวร์นาเมนต์นี้เริ่มต้นเมื่อปี 1957 ถือเป็นการแข่งขันฟุตบอลประจำทวีปที่เก่าแก่ที่สุดอันดับสองของโลก เป็นรองเพียง โคปา อเมริกา และมีความเก่าแก่กว่าฟุตบอลยูโร

การเริ่มต้นของ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ดำเนินไปพร้อมกับกระแสการประกาศตัวเป็นเอกราชของประเทศในแอฟริกาจากเจ้าอาณานิคมยุโรป เหตุผลหลักที่ฟุตบอลรายการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1957 จึงหนีไม่พ้นเรื่องเป็นการปลุกกระแสชาตินิยมของประเทศหน้าใหม่ในแอฟริกาที่เพิ่งก่อตั้ง เพราะชัยชนะในเกมกีฬาสามารถสร้างความภูมิใจในความเป็นชาติให้กับประชาชนในประเทศได้

 

ด้วยเหตุนี้ทีมที่ครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอล แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ในช่วงยุค 50s-60s จึงเป็นชาติที่มีผู้นำยิ่งใหญ่ และประสบความสำเร็จจากการประกาศตนเป็นเอกราชหรือต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมในทวีปแอฟริกา โดยทีมแรกที่คว้าแชมป์ทัวร์นาเมนต์นี้ได้ คือ อียิปต์ และเป็นแชมป์สองสมัยซ้อนในปี 1957 และ 1959 

โดยในเวลานั้น อียิปต์ อยู่ภายใต้การปกครองของ กามาล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประธานาธิบดีผู้อุทิศชีวิตไปกับการต่อต้านจักรวรรดิยุโรป และเป็นแบบอย่างผู้นำที่พาประเทศอาหรับก้าวสู่ความทันสมัย

ในขณะเดียวกันประเทศที่ครองความยิ่งใหญ่ในฟุตบอล แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ช่วงทศวรรษ 1960s อย่าง กานา ผ่านการคว้าแชมป์ในปี 1963 และ 1965 พวกเขาเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเช่นเดียวกับอียิปต์ แต่หลังจากนั้นก็ได้ประกาศอิสรภาพในปี 1957 

พวกเขานำความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นชาวแอฟริกันใส่ลงไปในธงชาติ ผ่านสัญลักษณ์ดาวสีดำ บนพื้นสีแดง เหลือง เขียว ทั้งสามสีที่ปรากฏบนธงชาติกานายังเป็นการแสดงความเคารพต่อ มาร์คัส การ์วีย์ (Marcus Garvey) นักเคลื่อนไหวชาวจาเมกา ผู้ริเริ่มแนวคิดชาตินิยมผิวดำ

 

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จึงไม่ใช่แค่การแข่งขันเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ในวงการลูกหนังเหมือนกับฟุตบอลยูโรในช่วงแรก แต่เป็นการสะท้อนถึงเกมการเมืองในทวีปแอฟริกา และเป็นการแสดงความแข็งแกร่งของประเทศผ่านเวทีฟุตบอล 

ทัวร์นาเมนต์นี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระดับประเทศ ตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1957 ที่มีการแบนประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากนโยบายการแบ่งแยกสีผิวของพวกเขา ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาติผิวดำทั้งหมดในแอฟริกา

ความสำคัญที่มากกว่าเกมกีฬาส่งผลให้ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ กลายเป็นฟุตบอลที่มีความสำคัญในระดับวัฒนธรรมและสร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้แก่ชาวแอฟริกัน หนึ่งในนั้นคือช่วงเวลาการจัดการแข่งขันที่เป็นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นตารางการแข่งขันของ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ที่มาตั้งแต่จัดทัวร์นาเมนต์ครั้งแรกในปี 1957 และยังคงจัดการแข่งขันในช่วงเวลานี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้นักฟุตบอลชาวแอฟริกันบางคนจึงไม่พอใจนัก เมื่อฟุตบอลรายการนี้ถูกตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่เลื่อนให้มันปกติเหมือนชาวบ้านเสียที ?” เพราะสำหรับชาวแอฟริกัน ฟุตบอลแอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ คือทัวร์นาเมนต์ที่เก่าแก่และเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ซึ่งการแข่งขันในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพวกเขามานานแล้ว

 

“คำถามแบบนี้คือการแสดงความดูหมิ่นต่อทวีปแอฟริกา พวกคุณคิดว่าคำถามในลักษณะเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นกับนักเตะยุโรป ก่อนการแข่งขันฟุตบอลยูโรจะเริ่มต้นหรือเปล่า ?” เซบาสเตียน อัลแลร์ กองหน้าไอวอรีโคสต์ แสดงความเห็นต่อคำถามที่ไม่เหมาะสมต่อนักเตะแอฟริกัน ก่อนการแข่งขันแอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จะเริ่มต้น

เตะแบบไม่แคร์สายตาชาวโลก

เหตุผลที่ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ เลือกแข่งขันในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และไม่ยอมเลื่อนการแข่งขันให้ตรงกับฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโร ไม่ได้มีแค่เรื่องประวัติศาสตร์อันยาวนานและวัฒนธรรมที่ผูกพันกับชาวแอฟริกันทั้งทวีปเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ของฟุตบอลแอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ซึ่งครั้งหนึ่งนั้นทัวร์นาเมนต์นี้สำคัญต่อชาวแอฟริกันมากกว่าฟุตบอลโลกเสียด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปยังการแข่งขันฟุตบอลโลก 1958 ทวีปแอฟริกาได้รับโควตาให้เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพียง 0.5 ทีม กล่าวคือต้องแย่งชิงโควตาจากตัวแทนของทวีปเอเชีย เพื่อค้นหาเพียงทีมเดียวที่จะได้เป็นหนึ่งใน 16 ทีมที่จะเข้าแข่งขันในเวทีฟุตบอลโลก 1958 ซึ่งท้ายที่สุดโควตานี้ตกเป็นของเวลส์ (เนื่องจากไม่มีทีมอยากไปเตะกับอิสราเอล) ส่งผลให้ฟุตบอลโลก 1958 ไม่มีทีมจากแอฟริกาและเอเชียเข้าแข่งขันเลย

 

เมื่อไม่มีพื้นที่ให้ลงแข่งขันก็ไม่ต้องแคร์ บรรดาประเทศในทวีปแอฟริกาทั้งหมดประกาศบอยคอตไม่ขอมีส่วนร่วมกับการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 และหลังจากนั้นพวกเขาก็ตัดสินใจแก้ไขรูปแบบ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ อย่างเป็นทางการ จากเดิมที่เตะกันทุก 1, 2 หรือ 3 ปี ให้เปลี่ยนมาแข่งขันกันเป็นประจำทุก 2 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา

แม้ฟีฟ่าจะยอมปรับโควตาและเปิดโอกาสให้ชาติแอฟริกาการันตีพื้นที่ในฟุตบอลโลกอย่างน้อย 1 ทีม ในการแข่งขันเมื่อปี 1970 แต่ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ก็กลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีความสำคัญเปรียบเสมือนฟุตบอลโลกของชาวแอฟริกันไปเสียแล้ว 

เพราะขณะที่พวกเขาต้องลุ้นแทบตายกว่าจะได้เห็นสักชาติลงแข่งขันในฟุตบอลโลกซึ่งจัดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 4 ปี ชาวแอฟริกันสามารถสนุกไปกับการแข่งขันที่เปิดกว้างต่อทุกทีมในทวีป แถมยังได้ลงชิงชัยทุกสองปีอีกด้วย

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จึงมีความสำคัญต่อชาวแอฟริกัน คล้ายกับที่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ สำคัญกับชาวอาเซียน เพราะผู้คนในภูมิภาคนั้น ๆ มองว่าฟุตบอลโลกอยู่ห่างไกลกับพวกเขาเกินไป 

พวกเขาสามารถสร้างฟุตบอลรายการใหม่ที่เปิดโอกาสให้เขามาแย่งชิงความสำเร็จแบบปัจจุบันทันด่วน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ และ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ จัดแข่งขันทุกสองปี เพราะสิ่งที่ชาวแอฟริกันและชาวอาเซียนต้องการคือความสำเร็จแบบจับต้องได้ ไม่ใช่รางวัลอันทรงเกียรติที่ต้องฝ่าฟันการเดินทางอันยากลำบากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้

 

นี่คือความสำคัญของ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ที่อยู่ตรงนั้นเพื่อชาวแอฟริกันมาตลอดมา จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ อิสซา ฮายาตู (Issa Hayatou) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลทวีปแอฟริกา ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มายาวนาน 29 ปี นับตั้งแต่ปี 1988 ถึงปี 2017 ไม่เคยมีความคิดจะปรับเปลี่ยนตารางการแข่งขันของ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ให้สอดคล้องกับฟุตบอลยุโรป เนื่องจากฟุตบอลรายการนี้มีความสำคัญต่อชาวแอฟริกันมาก นับตั้งแต่ที่ชาวยุโรปไม่เห็นคุณค่าในตัวพวกเขา

และสำคัญที่สุดแม้แต่ในวันที่เรื่องของเงินตรากับผลกำไรยังไม่มีอิทธิพลต่อโลกฟุตบอลมากนัก แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ คือรายการที่มีความสำคัญและมีความหมายต่อชาวแอฟริกันมากที่สุด เพราะฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่ แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จะต้องปรับเปลี่ยนตารางการแข่งขัน เพียงเพราะว่าทุกวันนี้สโมสรจากทวีปยุโรปซื้อตัวนักเตะจากแอฟริกาไปใช้งานในลีกของพวกเขา

ปัญหาเรื่องสภาพอากาศกำหนดอนาคต

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ปรับเปลี่ยนการแข่งขันของพวกเขาให้สอดคล้องกับตารางสากลเพียงครั้งเดียว นับตั้งแต่ ให้ อิสซา ฮายาตู อยู่ในตำแหน่ง นั่นคือการเลื่อนมาจัดการแข่งขันในปีที่ลงท้ายด้วยเลขคี่ นับตั้งแต่ปี 2013 เพื่อไม่ให้ชนกับฟุตบอลโลก ซึ่งในเวลานั้นฟุตบอลโลกกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ลูกหนังอันดับหนึ่งของชาวแอฟริกันเหมือนกับผู้คนทั่วโลกไปเรียบร้อยแล้ว

ดูเหมือนว่า แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรอีก จนกระทั่งปี 2017 ที่ อิสซา ฮายาตู พ่ายแพ้การเลือกตั้งตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลทวีปแอฟริกาให้แก่ อาหมัด อาหมัด (Ahmad Ahmad) ผู้บริหารหัวสมัยใหม่ที่มีความคิดสอดคล้องกับแนวทางสากลของฟีฟ่า มากกว่าจะยืนกรานกับแนวทางเดิมของตัวเองแบบฮายาตู

สามเดือนหลังรับตำแหน่ง อาหมัด อาหมัด ประกาศว่า แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จะลงแข่งขันในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เหมือนกับฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโร โดยเริ่มต้นจาก แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2019 ที่จะจัดขึ้นในประเทศอียิปต์ ซึ่งการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จด้วยดี และดูเหมือนว่า แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ที่แข่งขันในช่วงกลางปีจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ของรายการนี้ไปแล้ว

แต่เพียงหกเดือนหลังจากการแข่งขันดังกล่าวเสร็จสิ้น สหพันธ์ฟุตบอลทวีปแอฟริกาประกาศว่า แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2021 จะกลับมาจัดการแข่งขันในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อีกครั้ง เนื่องจาก “ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ” เพราะถ้าหากจัดการแข่งขันตามกำหนดเดิมในช่วงกลางปี 2021 ทัวร์นาเมนต์นี้จะคาบเกี่ยวกับฤดูฝนในประเทศแคเมอรูน (ก่อนจะเลื่อนการแข่งขันอีกครั้งสู่ปี 2022 เนื่องจากวิกฤตโควิด-19)

หากคุณจินตนาการภาพไม่ออกว่าฤดูฝนในประเทศแคเมอรูนเป็นอย่างไร เราขอนำข้อมูลปริมาณนํ้าฝนที่ตกในประเทศแคเมอรูนกับประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายนมาเปรียบเทียบกัน เราจะพบว่าแคเมอรูนมีปริมาณฝนที่ตกลงมามากกว่าประเทศไทยเสียอีก โดยแคเมอรูนมีปริมาณนํ้าฝนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 161 มิลลิเมตร ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 133 มิลลิเมตรในเดือนมิถุนายน

สำหรับใครที่เคยผ่านประสบการณ์ชมไทยลีกกลางสายฝนคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไม แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2021 จึงถูกเลื่อนกลับไปสู่ช่วงต้นปีอีกครั้ง เพราะความจริงแล้วสภาพอากาศของแคเมอรูนมีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทย และช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการจัดแข่งฟุตบอลมากที่สุดคงหนีไม่พ้นฤดูหนาว คือช่วงปลายปี-ต้นปี

จนถึงตอนนี้การแข่งขัน แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในปี 2023 ยังคงถูกกำหนดเอาไว้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมเช่นเคย แม้ฤดูฝนในประเทศที่เป็นเจ้าภาพอย่างไอวอรีโคสต์ จะโหดร้ายยิ่งกว่าแคเมอรูนเกือบสองเท่า เพราะปริมาณนํ้าฝนในเดือนมิถุนายนของไอวอรีโคสต์อยู่ที่ 266 มิลลิเมตร ซึ่งมากกว่าช่วงมรสุมของประเทศไทยในเดือนกันยายนเสียอีก

แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2023 จึงกลายเป็นบททดสอบสำคัญที่ชี้ชะตาอนาคตของฟุตบอลรายการนี้ เพราะถ้าหากเทียบกับตารางสากลโดยเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ การจัดทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับทวีปต่อหลังฟุตบอลโลกทันทีในช่วงต้นปี 2023 จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลและจะสร้างความลำบากให้กับนักฟุตบอลอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นเหตุผลให้ เอเชียนคัพ 2023 ย้ายไปจัดการแข่งขันในช่วงกลางปีเหมือนกัน

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับปัญหาเรื่องสภาพอากาศ การเตะบอลท่ามกลางฝนที่ตกหนักกว่าช่วงมรสุมในประเทศไทยถือเป็นฝันร้ายของนักฟุตบอลทุกคนเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นทางออกที่สมาพันธ์ฟุตบอลทวีปแอฟริกาต้องตัดสินใจว่าพวกเขาจะเลือกทางไหน เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจในแนวทางใด การจัด แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2023 ก็มีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

ไม่ว่า แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ 2023 จะถูกจัดขึ้นในช่วงต้นปีตามแนวทางเก่าหรือดำเนินตามแนวทางใหม่ด้วยการจัดแข่งขันในช่วงปลายปี มันย่อมเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของวงการฟุตบอลแอฟริกา และเมื่อถึงวันนั้นผู้คนทั่วโลกจะได้รับรู้ว่า แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ จะยังคงเป็นปัญหาของสโมสรฟุตบอลในยุโรปเหมือนกับที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ?