คริสเตียน อีริคเซ่น และ เซร์คิโอ อเกวโร่ คือสองนักเตะชื่อดังก้องโลกที่เราอาจจะไม่เห็นพวกเขาหวนคืนสู่สนามฟุตบอลอีกครั้งหลังตรวจพบปัญหาเรื่องหัวใจ แม้พวกเขาจะเป็นนักเตะระดับสูงของวงการ และได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ส่งสัญญาณความเจ็บป่วยใด
เมื่อมองไปยังกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการหัวใจผิดปกติของนักฟุตบอลและกลายเป็นข่าวที่พบเห็นได้บ่อยในปี 2021 จนสร้างความวิตกกังวลให้กับบุคคลในวงการลูกหนัง เพราะดูเหมือนจะไม่มีใครรู้เลยว่านักเตะที่วิ่งอยู่ตรงหน้าจะหมดสติลงเมื่อใด
Main Stand จะพาไปหาคำตอบว่า เหตุใดนักฟุตบอลยุคใหม่ถึงมีปัญหาหัวใจกันเยอะขึ้น ? ซึ่งแสดงผลลัพธ์ที่น่าตกใจว่า ปัญหาหัวใจไม่ได้เพิ่มขึ้นในหมู่นักฟุตบอล เพียงแต่เกิดขึ้นพร้อมกันโดยบังเอิญในปี 2021 เท่านั้น
ย้อนรอยเหตุหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ปัญหาเรื่องที่นักฟุตบอลต้องพบเจอกับอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันระหว่างลงแข่งขัน ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับวงการฟุตบอล เพราะถ้าเราย้อนกลับไปยังปี 2003 ก็เคยเกิดเหตุการณ์ช็อกผู้คนทั่วโลกมาแล้ว เมื่อ มาร์ก วิเวียน โฟเอ้ อดีตกองกลางของ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 28 ปี ขณะลงเล่นให้กับทีมชาติแคเมอรูน ในรายการฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2003
มาร์ก วิเวียน โฟเอ้ ถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ จนนำมาสู่อาการหัวใจล้มเหลวขณะเล่นฟุตบอล ซึ่งเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับ โฟเอ้ ทำให้แฟนบอลทั่วโลกต่างตระหนักรู้ถึงโอกาสการป่วยด้วยโรคหัวใจของนักฟุตบอล ซึ่งสวนทางกับภาพจำของผู้คนทั่วไปที่มักเชื่อว่านักกีฬาย่อมมีร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักฟุตบอลที่ต้องลงแข่งขันเป็นเวลานาน 90 นาที
นับจากนั้นเป็นต้นมาข่าวคราวของนักฟุตบอลที่พบเจอกับความผิดปกติของหัวใจและส่งผลกระทบต่ออาชีพนักกีฬาของตนจึงปรากฏขึ้นมาให้เห็นอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นกับ ฟาบริซ มูอัมบา อดีตกองกลางของ โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะลงแข่งขันกับ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ เมื่อปี 2012, ชีค ติโอเต้ อดีตกองกลางของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่เสียชีวิตขณะฝึกซ้อมกับ ปักกิ่ง เอนเทอร์ไพรส์ สโมสรในลีกรองของประเทศจีน ในปี 2017
อับเดลฮัค นูรี แข้งดาวรุ่งของ อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม ที่ประสบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะลงเล่นเกมอุ่นเครื่องในปี 2017 จนได้รับความเสียหายทางสมองจนไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้อีก รวมถึงกรณีของ อิเกร์ กาซิยาส ผู้รักษาประตูชื่อดังชาวสเปน ซึ่งประสบอาการหัวใจล้มเหลวขณะฝึกซ้อมกับทีม เอฟซี ปอร์โต้ เมื่อปี 2019
อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกลายเป็นฝันร้ายของแฟนฟุตบอลทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อ คริสเตียน อีริคเซ่น กองกลางชื่อดังสัญชาติเดนมาร์ก ล้มลงหมดสติขณะลงแข่งขันกับทีมชาติฟินแลนด์ในศึกยูโร 2020 จนต้องทำซีพีอาร์เพื่อช่วยเหลือชีวิตของมิดฟิลด์รายนี้อย่างเร่งด่วนกลางสนามฟุตบอล และถึงแม้ทีมแพทย์จะช่วยชีวิต อีริคเซ่น เอาไว้ได้สำเร็จ แต่เจ้าตัวได้เปิดเผยภายหลังว่าตัวเขาได้ตายจากโลกนี้ไปเป็นเวลา 5 นาทีแล้ว ก่อนที่หัวใจจะกลับมาเต้นตามปกติอีกครั้ง
ผู้คนทั่วโลกต่างโล่งใจที่คำภาวนาให้ อีริคเซ่น ปลอดภัยนั้นสัมฤทธิ์ผล แต่ใครจะรู้ว่าการโจมตีจากปัญหาทางหัวใจใส่นักฟุตบอลเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เพราะหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกองกลางชาวเดนมาร์ก เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในปี 2021 กลายเป็นปีที่เต็มไปด้วยข่าวนักฟุตบอลประสบปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่องจนน่าใจหาย
เริ่มต้นจาก ชาร์ลี ไวค์ กองหน้าวัย 28 ปี ของ วีแกน แอธเลติก ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขณะลงฝึกซ้อมกับทีม, จอห์น เฟล็ค นักเตะวัย 30 ปี ที่หมดสติขณะลงเล่นให้กับ เรดดิ้ง, อดาม่า ตราโอเร่ แข้งตัวหลักของ เชอริฟฟ์ ติราสโปล ที่เกิดอาการแน่นหน้าอกและต้องลงไปปฐมพยาบาลกลางสนาม, ดีแลน ริช ปีกดาวรุ่งวัย 17 ปี ที่เสียชีวิตขณะลงเล่นเกมเอฟเอ ยูธ คัพ ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว
ยังมีทั้ง มาริน คาซิช กองหลังวัย 23 ปี ชาวโครเอเชียที่เสียชีวิตขณะฝึกซ้อมกับต้นสังกัด, โซฟียาน โลคาร์ แข้งชาวแอลจีเรียวัย 30 ปี ที่เสียชีวิตขณะลงแข่งขันในวันคริสต์มาส และ มูคาเล็ด อัล ราคาดี นักเตะชาวโอมานที่เสียชีวิตขณะวอร์มอัปก่อนแข่งขัน เนื่องด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
นอกจากนี้ยังมีนักเตะอีกหลายรายที่ไม่ถึงกับหมดสติหรือเสียชีวิตกลางสนาม แต่ต้องพบเจอกับความผิดปกติจากหัวใจจนส่งผลกับการเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็น วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ กองหลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ถูกเปลี่ยนตัวออกกะทันหันหลังมีปัญหาเรื่องการหายใจ และต้องฝึกซ้อมโดยมีเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจ
ปิโอเตอร์ ซีลินสกี้ กองกลางของ นาโปลี ก็ถูกเปลี่ยนตัวออกเนื่องจากมีปัญหาการหายใจเช่นเดียวกัน และ เซร์คิโอ อเกวโร่ กองหน้าชื่อดังชาวอาร์เจนตินาที่รู้สึกแน่นหน้าอกขณะลงเล่นให้กับ บาร์เซโลน่า เมื่อเดือนตุลาคม ก่อนจะถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนต้องแขวนสตั๊ดด้วยวัย 33 ปี
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความผิดปกติทางหัวใจที่เกิดขึ้นกับนักฟุตบอลในปี 2021 เพราะยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นในลักษณะใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการหมดสติหลังหัวใจหยุดเต้นหรืออาการหายใจไม่ออกขณะลงแข่งขัน
เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับทุกฝ่าย เพราะจากเดิมที่อาการหัวใจล้มเหลวมักพบเห็นในนักฟุตบอลหนึ่งคนต่อระยะเวลาหลายปีกลับเกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ และยังคงเกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลกเสียด้วย
โควิดไม่ใช่สาเหตุ แต่เป็นแค่เรื่องบังเอิญ
สาเหตุแรกที่ผู้คนสันนิษฐานว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขึ้นกับนักฟุตบอลบ่อยครั้งขึ้นคือ “วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” เพราะเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิคุ้มการที่ฉีดเข้าไปสู่ร่างกายเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 คือตัวแปรที่เพิ่งเข้ามาสู่ชีวิตนักฟุตบอลในช่วงรอบปีหลัง ซึ่งสอดคล้องกับอัตราหัวใจล้มเหลวที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักฟุตบอลในปี 2021 พอดิบพอดี
ศาสตราจารย์ ซันเจย์ ชาร์มา (Sanjay Sharma) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจซึ่งทำงานกับหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีก และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ รวมถึงทำงานกับมหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จในกรุงลอนดอน เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสดังกล่าว ไม่มีผลทำให้ความผิดปกติของหัวใจเพิ่มขึ้นในหมู่นักฟุตบอลแต่อย่างใด
“ทุกคนกระโจนเข้าหาข้อสรุปที่ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะไวรัสโควิดหรืออะไรที่แย่กว่านั้น นั่นคือการกล่าวโทษว่าวัคซีนสร้างผลข้างเคียงให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ซึ่งส่งผลสู่การแพร่กระจายของอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันแบบที่เราเห็นกันในหมู่นักฟุตบอลยุคปัจจุบัน” ศาสตราจารย์ ซันเจย์ ชาร์มา กล่าว
“ผมกล้าบอกคุณตอนนี้เลยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอีริคเซ่นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับไวรัสโควิดหรือวัคซีน เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับอเกวโร่ หรือแม้แต่กับไวค์และเฟล็ค”
คำยืนยันของ ซันเจย์ ชาร์มา สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ของต้นสังกัดนักเตะที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทำนองนี้ โดย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แถลงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ลินเดอเลิฟ ไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในแคมป์ปีศาจแดง และ วีแกน แอธเลติก ต้นสังกัดของ ชาร์ลี ไวค์ ก็ยืนยันว่านักเตะรายนี้ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเกิดเหตุหัวใจล้มเหลวในสนามซ้อม
การเพิ่มขึ้นของอัตราหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในหมู่นักฟุตบอลเนื่องจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด สาเหตุที่สองที่ผู้คนส่วนใหญ่พูดถึงจึงกลายเป็น “การเพิ่มความเร็วของการเล่นฟุตบอล” เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า แทคติกของเกมฟุตบอลในปัจจุบันพัฒนาไปจากหลายสิบปีก่อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตบอลเพรสซิ่ง ที่เป็นการเน้นการเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ ซึ่งบางทีอาจมากเกินไปกว่าที่ขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์จะรับไหว
ศาสตราจารย์ ซันเจย์ ชาร์มา ยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเกมฟุตบอลมีส่วนเสริมให้ปัญหาด้านหัวใจในหมู่นักฟุตบอลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบแทคติกฟุตบอลในปี 2003 ที่โลกได้เห็นเคสของ มาร์ก วิเวียน โฟเอ้ กับแทคติกในปี 2021 ที่ เซร์คิโอ อเกวโร่ ลงเล่นให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ บาร์เซโลน่า
อย่างไรก็ตาม ซันเจย์ ชาร์มา กล่าวว่า อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในปี 2021 อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่แท้จริงแล้วภาวะหัวใจล้มเหลวอยู่คู่กับคนหนุ่มสาวในปัจจุบันและนักฟุตบอลมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว โดยองค์กรการกุศล Cardiac Risk in the Young (CRY) ได้แสดงข้อมูลว่า เป็นเรื่องปกติที่อาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะคร่าชีวิตของผู้คนอายุน้อยกว่า 35 ปี ไปมากกว่า 600 คนต่อปี
“ในฐานะคนหนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักฟุตบอลเหล่านี้และโรคที่ส่งผลต่อพวกเขา ผมกล้าบอกคุณเลยว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเกมฟุตบอล มันเป็นแค่โชคร้ายในปีนี้ มันแค่เป็นปีที่เรามีเหตุการณ์แบบนี้ให้เห็นมากกว่าปกติ”
“อีริคเซ่นคือนักเตะคนหนึ่งที่มีชื่อเสียง และอยู่ดี ๆ เขาก็หัวใจหยุดเต้น ซึ่งเขาเป็นนักเตะชื่อดังที่สุดที่ประสบเหตุการณ์แบบนี้ แน่นอนว่ามันทำให้ผู้คนทั่วโลกมองเห็นอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในกีฬาชนิดนี้”
“หลังจากนั้นเราก็มีอีกกรณี เมื่ออเกวโร่เกือบจะเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นกลางเกมถ่ายทอดสด ซึ่งสำหรับผมเขาถือเป็นนักเตะระดับท็อปเท็นของโลก และเมื่อพวกเขาเป็นผู้เล่นชื่อดัง ผู้คนก็จะเริ่มคิดว่าปัญหานี้แย่ลงทุกวัน แต่ความจริงคือ คุณแค่ไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวพวกนี้”
“การตายของคนหนุ่มสาวสักคนมันไม่ได้อยู่ในสปอตไลท์ จนกระทั่งมันเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลสักคน และนั่นคือเวลาที่สังคมเริ่มตระหนักถึงปัญหา โทรศัพท์ของผมดังไม่หยุดเมื่อเกิดเหตุกับอีริคเซ่น ซึ่งมันเป็นสิ่งเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับผมหลังมูอัมบาล้มลงในปี 2012 ที่ผู้คนจะตื่นตระหนกหลังเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้น”
ปัญหาที่ป้องกันและตรวจสอบได้
คำพูดของ ศาสตราจารย์ ซันเจย์ ชาร์มา สอดคล้องกับคำพูดของ ศาสตราจารย์ กุยโด้ ปิเอเลส (Guido Pieles) ซึ่งทำงานในคลินิคโรคหัวใจในสถาบันกีฬา ออกกำลังกาย และสุขภาพ ในประเทศอังกฤษ ที่ยืนยันว่าอาการหัวใจล้มเหลวที่ปรากฏกับนักฟุตบอลในปี 2021 เป็น “ความบังเอิญ” ที่เหตุมาเกิดขึ้นใกล้กันในปีเดียวกัน มากกว่าจะบ่งชี้ว่าจำนวนนักฟุตบอลที่มีปัญหาด้านหัวใจจะเพิ่มขึ้นจริง ๆ
“ขณะนี้ผมคงบอกได้แค่ว่ามันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น ผมไม่คิดว่าเราสามารถบอกได้ว่าอาการแบบนี้เพิ่มขึ้นอย่างปุบปับ และผมไม่คิดว่ามันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกีฬาฟุตบอล เพราะฟุตบอลไม่ใช่นักกีฬาที่มีระดับความเข้มข้นในการฝึกซ้อมสูง กลุ่มนักวิ่งทน, นักปั่นจักรยาน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ และนักกีฬากรรเชียง ต่างฝึกซ้อมกันหนักกว่านี้หลายชั่วโมงต่อวัน” ศาสตราจารย์ กุยโด้ ปิเอเลส ยืนยันว่าอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันไม่ได้เพิ่มขึ้นกับนักฟุตบอลในช่วงปีที่ผ่านมา
“ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะฝึกซ้อมหนักขึ้นในช่วงหนึ่งหรือสองปีนี้ แต่ถ้าเทียบกับสิบปีที่แล้วนั่นเป็นเรื่องจริง แน่นอนว่าเกมฟุตบอลทุกวันนี้รวดเร็วขึ้น แต่นักฟุตบอลก็ฟิตขึ้นด้วยเช่นกัน ถ้าคุณเล่นในพรีเมียร์ลีกคุณต้องฝึกซ้อมในระดับนี้ตั้งแต่อายุเจ็ดหรือแปดขวบ”
แทนจะไปโฟกัสกับ “จำนวนที่เพิ่มขึ้น” กุยโด้ ปิเอเลส แสดงความเห็นว่า คำถามที่สังคงต้องขบคิดคือจะทำอย่างไรถึงสามารถ “ลดจำนวน” ผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในหมู่นักฟุตบอลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่อาการในลักษณะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับนักฟุตบอลวัย 17 ปี เหมือนกรณีการเสียชีวิตของ ดีแลน ริช
“หลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้เล่นในวัย 15-16 ปี ควรเข้ารับการตรวจสอบหัวใจ เพราะภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถพบได้สูงสุดในหมู่นักฟุตบอลวัย 16-18 ปี แต่ผมเชื่อว่าเราควรทำมันให้บ่อยขึ้น นักฟุตบอลในอายุหลักยี่สิบก็ควรตรวจหัวใจอย่างจริงจัง เพราะโรคแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตนักฟุตบอล มันควรจะมีการตรวจหัวใจเป็นระยะ ๆ”
สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้เริ่มต้นโปรแกรมตรวจหัวใจนักฟุตบอลมาตั้งแต่ปี 1997 โดยสั่งให้นักเตะวัย 16-22 ปี เข้ารับการตรวจสอบทุกสองปี หลังจากนั้นหน้าที่ตรงนี้จะตกเป็นของสโมสรซึ่งจะตรวจหัวใจนักเตะของตัวเองทุกฤดูกาล ซึ่งถ้าเทียบกับความต้องการของศาสตราจารย์ กุยโด้ ปิเอเลส เขาคิดว่าการตรวจหัวใจของนักฟุตบอลทุกปีก็ยังถือว่าน้อยเกินไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดขึ้นจากสภาวะของหัวใจ หากมีการตรวจสอบหัวใจบ่อยขึ้น ย่อมทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุร้ายแรงได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการตรวจสอบทุกครั้งจะมีโอกาสที่ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจของนักเตะบางรายหลุดรอดสายตาไป ยกตัวอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร่ ที่ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกมานานถึง 10 ปี แต่ไม่เคยพบเจอปัญหาหัวใจเต้นผิดจังหวะเลย
“หากผู้เล่นตรวจแล้วไม่เจอปัญหาหัวใจเมื่ออายุ 16 ปี เราไม่สามารถการันตีได้ว่าทุกอย่างจะเป็นปกติ แต่เมื่อพวกเขาอายุ 29 ปี มันอาจเกิดขึ้นก็ได้ บางโรคมันจะปรากฏตัวขึ้นมาเมื่อคุณอายุยี่สิบกว่าหรือสามสิบปี นี่คือเหตุผลที่ผมแนะนำให้เรามีการตรวจสอบที่บ่อยขึ้น” ศาสตราจารย์ กุยโด้ ปิเอเลส กล่าว
“การตรวจสอบเหล่านี้ไม่ได้มีราคาแพงเลย แต่การปฏิบัติจริงมันเป็นไปได้ยากในทีมที่อยู่ในลีกระดับต่ำลงไป มันจึงเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งทางสโมสรและทีมโค้ช เพื่อสร้างแผนงานที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และทำให้การตรวจสอบหัวใจเข้าถึงนักเตะทุกคน”
ความผิดปกติทางหัวใจที่เกิดขึ้นกับนักฟุตบอลในปัจจุบันจึงไม่ใช่ปัญหาที่น่าตื่นตระหนก แต่เป็นปัญหาที่เราควรหันมาหาทางป้องกันอย่างจริงจัง เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครรู้ว่าอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลคนใด ที่ไหน และเมื่อไหร่
สิ่งที่เราทำได้คือการพยายามลดโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด ด้วยการตรวจสอบสภาวะหัวใจของนักฟุตบอลให้บ่อยครั้งมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครอยากเห็นเรื่องราวอันน่าเศร้าและน่าตระหนกแบบที่เกิดขึ้นกับ คริสเตียน อีริคเซ่น, เซร์คิโอ อเกวโร่ และนักเตะรายอื่น ๆ ทั่วโลกอีกแล้ว