sportpooltoday

มิโอแดรก เบโลเดดิซี : แข้งที่หลอกทางการว่าไปรับแม่ ก่อนหนีไปสร้างประวัติศาสตร์


มิโอแดรก เบโลเดดิซี : แข้งที่หลอกทางการว่าไปรับแม่ ก่อนหนีไปสร้างประวัติศาสตร์

ทันทีที่ เฮลมุต ดุคคาแดม พุ่งเซฟลูกจุดโทษของ มาร์กอส ผู้ชมเกือบทั้งสนาม รามอน ซานเชซ ปิซฆวน กว่า 70,000 คน ก็ต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์ตรงหน้า เพราะนั่นหมายความว่า สเตอัว บูคาเรสต์ กลายเป็นแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพทีมใหม่ หลังหักปากกาเซียนคว้าชัยเหนือ บาร์เซโลน่า ได้สำเร็จ

มิโอแดรก เบโลเดดิซี คือหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้น เขาคือหัวใจสำคัญในแนวรับของสเตอัวที่ช่วยให้ต้นสังกัดได้เป็นสโมสรจากยุโรปตะวันออกทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน) 

อย่างไรก็ดีแทนที่การคว้าแชมป์ในครั้งนั้นจะจบลงด้วยความชื่นมื่น แต่กลับเป็นจุดหักเหที่ทำให้ เบโลเดดิซี ตัดสินใจหนีออกจากโรมาเนีย ที่ตอนนั้นปกครองในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์

 

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand  

ยอดแนวรับแห่งโรมาเนีย 

มิโอแดรก เบโลเดดิซี ถือเป็นหนึ่งในยอดนักเตะของโรมาเนียในยุค 1980s-1990s เขาเซ็นสัญญาอาชีพครั้งแรกกับ สเตอัว บูคาเรสต์ ยักษ์ใหญ่แห่งแดนผีดิบ ตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี 

เขาคือผลผลิตจากนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศอยู่ตอนนั้น หลังอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลไปยังกีฬาที่ นิโคไล เชาเชสคู ผู้นำจอมเผด็จการชื่นชอบ และฟุตบอลก็คือหนึ่งในนั้น 


Photo : frf

 

อันที่จริง เบโลเดดิซี โด่งดังมาตั้งแต่สมัยเยาวชน เมื่อได้รับทุนฟุตบอลตั้งแต่อายุ 14 ปี ก่อนที่จะถูกดึงตัวไปเล่นให้กับ สเตอัว ซึ่งเป็นทีมที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพบกโรมาเนีย โดย ยอน อเลกซานเดรสคู ประธานสโมสร เป็นผู้เลือกเองกับมือในปี 1982 

“พรรคคอมมิวนิสต์ลงทุนมากกับกีฬา และทำให้มีสโมสรเกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่แค่ฟุตบอลแต่รวมไปถึงแฮนด์บอลหรือยิมนาสติก คุณสามารถเลือกสโมสรที่จะไปและเซ็นสัญญาเพื่อเล่นฟุตบอลอาชีพได้ เพราะมีสโมสรมากมายให้เลือก” เบโลเดดิซี กล่าวกับ Euronews 

“ทุกคนล้วนแต่อยากเล่นให้สเตอัว หรือ ดินาโม บูคาเรสต์ เพราะมันหมายถึงการที่พวกเขาจะไม่ต้องไปฝึกทหาร”

และเพียงแค่ 2 ปีกับสเตอัว เบโลเดดิซีก็ขึ้นมาเป็นขาประจำในทีมชุดใหญ่ จุดเด่นของเขาคือความนิ่งและความเยือกเย็น บวกกับความสูง 185 เซนติเมตร ที่ทำให้สวีปเปอร์รายนี้จัดการแนวรุกคู่แข่งจนอยู่หมัด 

ก่อนที่ในปีดังกล่าวเขาก็มีส่วนสำคัญช่วยให้สเตอัวคว้าแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ในซีซั่น 1984-85 พ่วงด้วยแชมป์ฟุตบอลถ้วยที่ร้างลาไปตั้งแต่ปี 1979

 

การเป็นแชมป์ลีกโรมาเนียครั้งนี้ยังกลายเป็นใบเบิกทางให้ สเตอัว ได้สิทธิ์เข้าไปเล่นในยูโรเปี้ยนคัพ (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) ฤดูกาล 1985-86 ซึ่งเป็นซีซั่นแรกที่สโมสรจากอังกฤษถูกแบน อันเนื่องมาจากโศกนาฏกรรมเฮย์เซล 

สเตอัว ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่นัดแรก และต่อกรกับคู่แข่งร่วมทวีปได้อย่างไม่เกรงกลัว จนสามารถทะลุเข้าถึงนัดชิงชนะเลิศได้สำเร็จ ก่อนที่พวกเขาจะหักปากกาเซียนพลิกเอาชนะ บาร์เซโลน่า ไปได้อย่างสุดช็อก ในการดวลจุดโทษด้วยสกอร์ 2-0 


Photo : frf

ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ สเตอัว กลายเป็นทีมแรกของโรมาเนียที่คว้าแชมป์ยุโรป แต่ยังทำให้พวกเขากลายเป็นทีมจากยุโรปตะวันออกทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าถ้วยใบนี้มาได้ 

ดูเหมือนว่าชีวิตของ เบโลเดดิซี กำลังไปได้สวย เขากลายเป็นกองหลังที่น่าจับตาในระดับทวีป และช่วยพาทีมคว้าแชมป์ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ ในปี 1986 แถมหนึ่งปีก่อนหน้านั้นเขาก็เพิ่งลงประเดิมสนามให้กับทีมชาติโรมาเนีย

 

อย่างไรก็ดี แชมป์ครั้งนี้กลับทำให้ชีวิตเขาต้องเปลี่ยนไป … ในทางตรงกันข้าม

ตั้งคำถามกับระบอบ 

ในวันที่นักเตะ สเตอัว กลับมาถึงสนามบินหลังคว้าแชมป์ยุโรป พวกเขาก็ต้องตกใจกับภาพที่เห็น เมื่อที่แห่งนั้นคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่มารอรับวีรบุรุษกลุ่มใหม่ของชาติ รวมทั้งยังได้เข้าพบประธานาธิบดี เชาเชสคู เป็นการส่วนตัว


Photo : uefa.com

“เมื่อเราถึงสนามบินในกรุงบูคาเรสต์ เราเห็นกลุ่มคนจำนวนมากที่ทำให้เราทุกคนตกใจ แม้กระทั่งตอนปฏิวัติก็ไม่ได้มีคนมากขนาดนี้ตามท้องถนน พวกเขาเดินมาจากบูคาเรสต์เพื่อมารับนักเตะที่สนามบิน มันเป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจมาก ๆ “ เบโลเดดิซี ย้อนความหลังกับ The Guardian

 

อย่างไรก็ดี แม้ผลลัพธ์จะทำให้ทุกคนมีความสุข แต่การไปเล่นฟุตบอลยุโรปในครั้งนั้นก็ทำให้เขาตั้งคำถามหลังจากได้เห็นบ้านเมืองของชาติอื่น เขายอมรับว่าเขาแทบไม่รู้จักทีมคู่แข่ง เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปิดหูปิดตาประชาชนแทบทุกอย่าง  

“เราแทบไม่รู้ระดับของเราเลยในยุคคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างถูกปิดกั้นทั้งหมด เราไม่รู้จักมิลานหรือลิเวอร์พูล เราไม่เคยดูทีมเหล่านี้ลงเล่นทางทีวีเลย” เบโลเดดิซี กล่าว 

ภายใต้การปกครองของ นิโคไล เชาเชสคู โรมาเนียไม่ต่างจากรัฐเผด็จการ รัฐบาลมีตำรวจลับที่ชื่อว่าหน่วย Securitate ที่เอาไว้สอดส่องและกำจัดผู้เห็นต่าง รวมถึงผู้คนที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ทำให้ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง ไม่เว้นแม้แต่นักฟุตบอล 

“ครั้งหนึ่งผมไปที่ธนาคารเพื่อถอนเงิน แต่ทีมก็พาผมมาที่สโมสรและตั้งคำถามอย่าง ทุกอย่างโอเคไหม ทำไมถึงถอนเงินมากกว่าปกติ หรือผมมีปัญหาอะไรไหมอะไรทำนองนั้น ผมโกรธมากจึงออกมาจากธนาคารทันที” เบโลเดดิซี ย้อนความหลังกับ Euronews 

ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ ยังมีนโยบายไม่อนุญาตให้ผู้เล่นออกไปค้าแข้งในต่างแดน และ เบโลเดดิซี ก็มาตาสว่างตอนที่เขาออกไปเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรป เมื่อทุกคนจะได้รับแจกพาสปอร์ตตอนขึ้นเครื่องและถูกริบคืนเมื่อกลับถึงประเทศ

 


Photo : thesefootballtimes

“เมื่อผู้เล่นต้องไปเล่นเกมระดับนานาชาติ พวกเขาจะได้รับหนังสือเดินทางที่สนามบิน และเมื่อพวกเรากลับมา พวกเขาก็จะริบคืนไป” แนวรับชาวโรมาเนียอธิบายกับ The Guardian 

“ผมไม่ชอบระบอบการปกครองแบบนี้ ผมไม่ชอบวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อผู้เล่นหลังคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ นักเตะอายุมากไม่ได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีเหมือนเมื่อก่อน และที่สำคัญพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเล่นในต่างประเทศ”  

และมันก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ เบโลเดดิซี คิดหนีออกจากประเทศ

หลอกทางการว่าไปรับแม่ 

อันที่จริง เบโลเดดิซี มีประเทศต้นทางอยู่ในใจ เขาคิดไว้แล้วว่าจะหนีไป ยูโกสลาเวีย เนื่องจากบ้านเกิดของเขาคือ โซโคล ชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวโรมาเนียเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนของยูโกสลาเวีย โดยมีแม่น้ำดานูบกั้นกลาง

ใช่แล้ว เขาคือชนกลุ่มน้อยชาวเซิร์บที่ใช้ชีวิตอยู่ตามแนวพรมแดนและเติบโตมากับวัฒนธรรมยูโกสลาเวีย ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาแรกที่เขาพูดได้ก็คือภาษาเซิร์บ ก่อนที่เพิ่งจะมาเรียนภาษาโรมาเนียตอนอยู่ชั้นประถม 

“หมู่บ้านของผมอยู่ใกล้ชายแดน เราดูทีวีของยูโกสลาเวียเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าสัญญาณจากช่องของโรมาเนียค่อนข้างแย่ เราชอบดูกีฬาของชาวยูโกสลาฟ” เบโลเดดิซี กล่าวกับ Euronews 

ทว่าการไปต่างประเทศนั้นไม่ง่าย เพราะหนังสือเดินทางถูกสโมสรเก็บเอาไว้ แถม สเตอัว ในตอนนั้นยังมี วาเลนติน เชาเชสคู ลูกชายของ นิโคไล ผู้นำจอมเผด็จการนั่งตำแหน่งบริหาร ที่ทำให้ เบโลเดดิซี ต้องคิดวางแผนให้ดี 

ในช่วงเวลานั้นแม่ของเขาได้บัตรแดนพิเศษ ซึ่งเป็นใบผ่านแดนที่มอบให้คนที่อยู่ตามชายแดนให้สามารถเดินทางเข้าไปในยูโกสลาเวียได้ในระยะทางที่กำหนด ทำให้เขาออกอุบายกับสโมสรว่า จะขอลาเพื่อไปรับแม่ที่ไปเยี่ยมญาติทางฝั่งยูโกสลาเวีย 

“ผมขอร้องกับ วาเลนติน เชาเชสคู และ ยอน อเลกซานเดรสคู ประธานสโมสรสเตอัว เขาเป็นผู้ประสานงานเรื่องหนังสือเดินทางให้” เบโลเดดิซี กล่าวกับ The Guardian  

“พวกเขาถามผมว่าทำไมผมต้องการมัน ผมบอกว่าแม่ของผมได้รับอนุญาตให้ข้ามแดนไปยูโกสลาเวียเพื่อเยี่ยมครอบครัว และผมอยากขอลาสักสัปดาห์หนึ่งเพื่อไปรับเธอกลับมา” 

หลังจากได้หนังสือเดินทางมาแล้ว ในตอนเช้าตรู่เขาขับรถข้ามแดนไปแล้วจอดรอน้องสาวที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ โดยเพื่อนของเธอจะเป็นคนพาข้ามมา พวกเขาหาจุดที่ตื้นที่สุดก่อนจะรอเวลาที่เหมาะสมเดินข้ามฝั่งมา โดยใช้สายหมอกยามเช้าพรางตัวจากเจ้าหน้าที่ 

“ผมขับรถข้ามพรมแดนไป เพื่อไปรอน้องสาวอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ มันเป็นเช้าที่เต็มไปด้วยหมอก และเป็นช่วงหนึ่งของปีที่แม่น้ำมีน้ำน้อย ดังนั้นจึงมีทหารคอยลาดตระเวนอยู่ไม่น้อย” เบโลเดดิซี กล่าวต่อ   

“แต่เรารู้เวลาลาดตระเวนของพวกเขา และด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนของน้องสาวก็ทำให้เธอข้ามมาได้”  

แต่นั่นเป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลยูโกสลาเวียด้วย ไม่งั้นพวกเขาจะเป็นเพียงผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 

โชดดีที่ในตอนนั้น ยูโกสลาเวีย อยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดไม่ว่าจะโซเวียตหรือสหรัฐอเมริกา และมีนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัย รวมไปถึงส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ (เป็นประเทศเดียวของยุโรปตะวันออกในตอนนั้นที่นักเตะไปเล่นในต่างประเทศได้) ทำให้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่กับดินแดนที่ใฝ่ฝันมาตลอด

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้สร้างตำนานบทใหม่ขึ้นมา

จากตัวปัญหาสู่แข้งประวัติศาสตร์ 

ที่ ยูโกสลาเวีย เขาแปรสภาพจากยอดกองหลังโรมาเนียเป็นคนที่แทบไม่มีใครรู้จัก แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับญาติในบ้านหลังใหม่ เขาก็ตัดสินใจหวนคืนสู่วงการฟุตบอล ด้วยการไปเสนอตัวลงเล่นให้กับ เรดสตาร์ เบลเกรด สโมสรที่เขาตามเชียร์มาตั้งแต่เด็ก 


Photo : romaniansoccer

“ผมรู้ว่าพวกเขาเล่นอย่างไรผมเลยไม่กังวล ผมรู้จักทีมนี้ ผมดูพวกเขามาตั้งแต่เด็ก และพวกเขาก็มักมีปัญหาในตำแหน่งลิเบโร” แนวรับชาวโรมาเนียเชื้อสายเซิร์บบอกกับ The Guardian 

เบโลเดดิซี เข้าไปดูเกมของเรดสตาร์ ก่อนจะลงไปที่ออฟฟิศของสโมสรและเข้าพบกับ ดราแกน จายิช ผู้อำนวยการสโมสร เพื่อบอกความตั้งใจ แต่ตอนแรก จายิช ไม่เข้าใจว่าเขามีจุดประสงค์อะไร จนต้องอธิบายกันอยู่ยกใหญ่ แต่ในที่สุดเขาก็ได้เข้ามาสู่ทีม 

“ผมไปที่สนามและไปคุยกับ ดราแกน จายิช บอกสถานการณ์ของผมกับเขา ผมขอให้เขาพาผมเข้าทีมและให้ผมลงเล่น ผมบอกว่าผมเป็นใคร เขาบอกว่าเคยได้ยินเรื่องของผม ผมจึงได้เข้าทีม” เบโลเดดิซี ย้อนความหลังกับ Euronews 

อย่างไรก็ดี เบโลเดดิซี ยังมีชนักติดหลัง เพราะอันที่จริงเขายังมีสถานะเป็นทหาร และการหนีออกนอกประเทศก็หมายความว่าเขากำลังทำผิดกฎหมายในข้อหาหนีทหาร ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี แถมการออกมาโดยไม่ได้บอกต้นสังกัดจะทำให้การย้ายทีมมีปัญหา 

“เขา (จายิช) บอกผมว่านั่นอาจจะทำให้ผมมีปัญหา เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะโดนลงโทษแบบไหน เพราะว่าผมเปลี่ยนสโมสรโดยไม่ได้รับอนุญาต” เบโลเดดิซี กล่าวต่อ


Photo : romaniansoccer

ทำให้แม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงทะเบียนในฐานะนักเตะอาชีพกับ เรดสตาร์ แต่สุดท้ายเขาก็โดนสหภาพฟุตบอลยุโรปสั่งลงโทษแบนเขาจากการแข่งขันเป็นเวลา 10 เดือน แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ เบโลเดดิซี เมื่อเทียบกับการต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการ 

“ผมรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้นผมจึงไปซ้อมกับพวกเขา ผมได้เล่นเกมกระชับมิตรที่เซอร์เบียกับทีมสำรอง ผมใช้เวลาช่วงนั้นในการเตรียมตัว” เขาอธิบาย

1989-90 คือซีซั่นแรกที่เขาได้ลงเล่นในฐานะนักเตะของเรดสตาร์อย่างเป็นทางการ และถึงแม้จะร้างสนามไปเกือบปีแต่ฝีเท้าของเขาก็ไม่ได้ดรอปลงไป เมื่อเขากลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดยูโกสลาเวียได้ทันที ซึ่งเป็นหนึ่งในแชมป์สามสมัยติดของสโมสรในเวลาต่อมา 

นอกจากนี้ในซีซั่น 1990-91 เขายังสร้างปาฏิหาริย์ด้วยการพา เรดสตาร์ คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพได้อย่างเหลือเชื่อ โดยปราบยอดทีมอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ในรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะดวลจุดโทษคว้าชัยเหนือ โอลิมปิก มาร์กเซย ในรอบชิงชนะเลิศ 

การคว้าแชมป์ของ เรดสตาร์ นอกจากจะทำให้พวกเขากลายเป็นทีมจากยุโรปตะวันออกทีมที่ 2 ที่คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพแล้ว มันยังทำให้ เบโลเดดิซี กลายเป็นนักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์รายการนี้กับ 2 สโมสร (โดยได้เล่นในนัดชิงชนะเลิศ)


Photo : uefa.com

“ในสนามหลังจากชูถ้วยแชมป์ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเป็นคนแรกที่คว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพกับสองสโมสร” เขากล่าวกับ These Football Times

แต่นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้ชูถ้วยบิ๊กเอียร์

กงล้อแห่งโชคชะตา

หลังพายอดทีมยูโกสลาเวียคว้าแชมป์ยุโรปได้ไม่นาน บ้านหลังที่ 2 ของเขาก็เกิดความวุ่นวาย เมื่อ สโลวีเนีย ประกาศแยกตัวเป็นเอกราช ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมือง ตามมาด้วยการพยายามแยกตัวของ โครเอเชีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึง มาซิโดเนีย (มาซิโดเนียเหนือ ในปัจจุบัน)

สงครามและความรุนแรงที่ สโลโบดาน มิโลเชวิช ผู้นำของยูโกสลาเวียในตอนนั้นใช้ปราบปรามผู้ต่อต้าน ทำให้เขาถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ และมันยังส่งผลไปถึงเรดสตาร์ เมื่อทำให้สโมสรจากยูโกสลาเวียถูกแบนในการแข่งขันนานาชาติ ทำให้สุดท้าย เบโลเดดิซี ต้องย้ายไปเล่นในสเปนกับบาเลนเซีย, เรอัล บายาโดลิด และ บียาร์เรอัล 

เขามีโอกาสกลับไปรับใช้ทีมชาติโรมาเนียอีกครั้ง หลัง นิโคไล เชาเชสคู เสียชีวิต และได้ลงเล่นครบทุกนัดในฟุตบอลโลก 1994 ที่ทัพผีดิบทะลุเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย (น่าเศร้าที่เขาคือคนที่พลาดจุดโทษในช่วงซัดเดนเดธกับสวีเดน) 

เบโลเดดิซี กลับมาเล่นให้สเตอัวอีกครั้งอีกราว 3 ปี ก่อนจะแขวนสตั๊ดในปี 2001 ด้วยวัย 37 ปี ขณะที่โทษหนีทหารของเขาถูกยกเลิกไป นับตั้งแต่เชาเชสคูเสียชีวิต ทำให้เขาสามารถกลับมาทำงานกับสมาคมฟุตบอลโรมาเนียได้อย่างสบายใจ ในส่วนของการพัฒนาเยาวชน ที่เป็นอาชีพของเขามาจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนสถิติการพาทีมจากยุโรปตะวันออกถึง 2 สโมสรคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพของเขาคงยากจะถูกทำลาย เพราะด้วยช่องว่างที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปตะวันตกและตะวันออกที่ถูกถ่างออกไปมากในปัจจุบัน แค่แชมป์สมัยเดียวก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว 

และเป็นสถิติที่แม้แต่ตัว เบโลเดดิซี เอง ยังไม่เชื่อว่าเขาจะทำได้ 

“ผมช่วยให้พวกเขา (สเตอัวและเรดสตาร์) คว้าถ้วยใหญ่ ในตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันคงเป็นโชคชะตา ง่าย ๆ แบบนั้นแหละ” แข้งประวัติศาสตร์บอกกับ Euronews

“กับเรดสตาร์ ผมคว้าแชมป์อินเตอร์คอนติเนนทัล ในขณะที่เราแพ้ตอนที่ผมอยู่สเตอัว ขณะที่ผมพาสเตอัวคว้าแชมป์ซูเปอร์คัพ แต่กับเรด สตาร์ผมทำไม่ได้” 

“บางครั้งผมยังคิดอยู่ว่า นั่นมันใช่ผมจริง ๆ เหรอ ?”