sportpooltoday

ขบถเพื่อเสรีภาพ : โลกฟุตบอลก่อนมีกฎบอสแมนเป็นอย่างไร ?


ขบถเพื่อเสรีภาพ : โลกฟุตบอลก่อนมีกฎบอสแมนเป็นอย่างไร ?

เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก กฎบอสแมน เป็นอย่างดี นี่คือกฎที่เข้าใจง่าย ๆ นั่นคือเมื่อนักเตะใกล้จะหมดสัญญากับต้นสังกัดอย่างน้อย 6 เดือน พวกเขาสามารถเจรจาและตกลงข้อเสนอกับทีมใหม่ได้ทันทีโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งกฎบอสแมนนี้เองทำให้เกิดดีลประวัติศาสตร์มากมายทั้งดีลของ โซล แคมป์เบลล์, ปอล ป็อกบา, โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ และนักเตะอีกหลายคนทั้งดังบ้างไม่ดังบ้าง 

กฎบอสแมนเกิดขึ้นจากการสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของนักเตะโนเนมที่ชื่อ ฌอง มาร์ค บอสแมน หลังจากถูกกระทำแบบไม่เป็นธรรมจากต้นสังกัดเดิมของเขา และเมื่อนำเรื่องนี้ขึ้นศาล เขาชนะ และกลายเป็นที่มาของ กฎบอสแมน นั่นเอง 

อย่างไรก็ตามโลกฟุตบอลก่อนจะมีกฎนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง พวกนักเตะกับสโมสรหักเหลี่ยมกันแบบไหน ? 

ติดตามทั้งหมดได้ที่ Main Stand

สัญญาของนักฟุตบอลเป็นอย่างไร ? 

ฟุตบอลเริ่มเป็นอาชีพจริง ๆ ก็เมื่อตอนช่วงเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ณ เวลานั้นที่อังกฤษ นักฟุตบอลก็เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ เหมือนกับกรรมกรในโรงงาน ใช้แรงไปเพื่อให้ได้เงินมา โดยค่าตอบแทนอาจจะสูงกว่าค่าครองชีพปกติเล็กน้อย

ทว่าปัญหาคือบริบทของนักฟุตบอลนั้นไม่ได้เหมาะกับสัญญาจ้างแบบพนักงานโรงงาน (ยกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ) เพราะฟุตบอลคือศาสตร์ที่ต้องใช้ความเฉพาะทางแบบชัดเจนมาก ๆ และหากมีนักเตะคนไหนที่เก่งจริง ๆ พวกเขาก็เหมือนกับพนักงานระดับหัวกะทิของบริษัทที่ทีมของคู่แข่งหมายตาหวังกระชากตัวมาร่วมทีมให้ได้ ถ้าเป็นพนักงานบริษัทนั้นอาจจะง่ายหน่อย คุณก็แค่ลาออกแล้วย้ายบริษัท แต่ถ้าคุณเป็นนักฟุตบอลมันเป็นแบบนั้นยากเพราะมีสัญญาผูกมัด จะสั้นจะยาวก็ว่ากันไป แต่สัญญาก็คือสัญญา ต่อให้คุณอยากจะย้ายทีมแค่ไหน ทีมใหม่ให้เงินมากขนาดไหน คุณก็ทำไม่ได้ถ้าต้นสังกัดเดิมไม่อนุญาต พวกเขาจะต้องอยู่กับสัญญาที่ตัวเองเซ็นไว้ตอนอายุ 18 ปีไปไม่รู้จบ เล่นดีเท่าไหร่ก็ไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น นั่นแหละคือโลกของนักฟุตบอลอาชีพในยุคแรก ชีวิตของพวกเขาแทบจะเป็นของสโมสรเลยด้วยซ้ำ 

“ในต้นทศวรรษที่ 1900s ผู้เล่นต้องขอย้ายหากต้องการไปเล่นให้สโมสรอื่น หากต้นสังกัดปฏิเสธจะปล่อยเขาไป ผู้เล่นก็ไม่มีทางไล่เบี้ยได้เลยไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ ก็ตาม เพราะโดยพื้นฐานแล้วสโมสรเป็นเจ้าของผู้เล่นของพวกเขา” บทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัย Marbella International University Centre พูดถึงเรื่องของนักเตะในอดีต

 

นี่คือภาพรวมของสัญญานักเตะสมัยก่อน และการที่ “ไม่สามารถไล่เบี้ยได้” จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต่อต้าน นักฟุตบอลจึงก้มหน้ายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่การต่อสู้ทางกฎหมายเป็นเรื่องของคนมีการศึกษาและมีเงินที่มากพอ ดังนั้นนักเตะอาชีพจึงอยู่ในสภาพนี้มาราว ๆ 50 ปีเลยทีเดียว กว่าที่มีใครสักคนที่พยายามจะปลดแอกสัญญานั้น

การต่อสู้ยกแรก 

จอร์จ อีสต์แฮม คือนักเตะทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 แต่ก่อนถึงตรงนั้น ในปี 1959 ช่วงเวลาที่เล่นให้กับ นิวคาสเซิล เมื่อสัญญาของเขากำลังจะหมดลง เขายืนกรานว่าจะไม่เซ็นสัญญาฉบับใหม่และต้องการย้ายทีม

อีสต์แฮม ให้เหตุผลว่าสโมสรไม่มีสวัสดิการที่ดีสำหรับนักเตะ ไม่ว่าจะบ้านพักที่ไม่สะดวกสบาย ค่าจ้างที่ไม่น่าพอใจ และ สโมสรก็พยายามขัดขวางเขาในการไปเล่นให้กับทีมชาติอังกฤษชุดยู-23 

 

ฝั่ง นิวคาสเซิล ก็ไม่ยอมปล่อยให้ อีสต์แฮม ทำเช่นนั้น พวกเขาดำเนินการตามกฎเดิมที่ชื่อว่า Retain and transfer ซึ่งสโมสรมีสิทธิ์เหนือตัวนักเตะมาก การขอย้ายทีมก็เพียงพอที่จะไม่ต้องจ่ายค่าเหนื่อยแล้ว และแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องไปถึงชั้นศาล

“สัญญาของเราผูกมัดเรากับสโมสรไปตลอดชีวิต มันเหมือนสัญญาทาสที่นักเตะไม่มีสิทธิใด ๆ เลย ผู้ชายที่อยู่บนเก้าอี้ (หมายถึงผู้บริหาร) คือผู้ที่ได้ผลประโยชน์และมีอิสระมากกว่าพวกเราเสมอ พวกเขาสามารถต่อสู้คดีเพื่อธุรกิจของพวกเขาได้อย่างเสรี แต่นักฟุตบอลทำไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก” อีสต์แฮม กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น 

การพิจารณาคดีโดยผู้พิพากษา วิลเบอร์ฟอร์ซ ตัดสินให้ อีสต์แฮม เป็นฝ่ายชนะ แม้ว่าเขาจะไม่ได้เงินที่อ้างว่า นิวคาสเซิล ค้างค่าจ้างของเขาไว้ แต่การเอาชนะบนชั้นศาลคือการท้าทายของนักเตะที่มีต่อเหล่าผู้บริหารที่หากินกับพวกเขามาหลายสิบปี นักเตะยุคหลัง ๆ จึงได้รับสัญญาที่เป็นธรรมขึ้น 

กรณีของ อีสต์แฮม ถือเป็นตัวอย่างในการสร้างปากเสียงของนักเตะอีกหลายคนและหลากหลายกรณี ปลายทางคือพวกเขาต้องการความเป็นธรรมของสัญญาและสิ่งที่ตัวเองพึงจะได้ จากยุค 1960s-1990s การเรียกร้องไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอย ๆ อีกต่อไป มีการเอาเรื่องขึ้นศาลและสู้กันด้วยกฎหมายแรงงาน ซึ่งแต่ละเคสแต่ละคดีก็จะได้รับคำตัดสินที่แตกต่างกันออกไป นักเตะชนะบ้าง สโมสรชนะบ้าง

 

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปจริง ๆ คือนักเตะเริ่มถือไพ่เหนือกว่าสโมสรทีละนิด พวกเขามีเอเยนต์ มีการทำสัญญาที่ครอบคลุมยิ่งกว่าเดิม เช่นในอดีตอาจจะมีสัญญากันยาวถึง 10 ปี ก็ถูกลดระยะสัญญาให้สั้นลงเพื่อลดความเสี่ยงในการตกเป็นทาสของสโมสร มีออปชั่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในสัญญาแต่ละฉบับ เช่น หากมีทีมยื่นซื้อตัวมาตามราคาที่ตกลงกันไว้ สโมสรไม่มีสิทธิ์รั้งตัวพวกเขา อะไรแบบนี้เป็นต้น 

ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมาพีคเอาที่ช่วงเวลาของ ฌอง มาร์ค บอสแมน ที่สู้ยิบตากับต้นสังกัดของเขาที่ชื่อว่า ลีแอช ซึ่งเนื้อหาหลัก ๆ คือการที่สโมสรดองเขาไว้โดยไม่ให้ลงสนาม ไม่ต่อสัญญาใหม่ และไม่ขายให้ทีมที่มีเสนอเข้ามา 

บอสแมน และทนายที่ชื่อ ลุค มิสซัน และ ฌอง หลุยส์ ดูปองต์ สู้คดีโดยอ้างอิงถึงสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome) ในปี 1957 ที่ว่าด้วยการรับประกันเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของแรงงานในทวีปยุโรปที่เป็นสมาชิกของ EU

 

ทีมของบอสแมนเป็นฝ่ายชนะโดยใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี สิ่งต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไปแบบที่เรียกว่าพลิกประวัติศาสตร์เพราะในเวลานั้นเป็นยุคที่นักเตะต้องมีเอเยนต์ และสัญญาแต่ละฉบับนั้นมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น 

เหนือสิ่งอื่นใดคือนักเตะเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าเต็ม ๆ พวกเขามีสิทธิและเสรีภาพในการตัดสินใจเต็ม 100% เมื่อสัญญาเหลือ 6 เดือน พวกเขาก็จะสามารถเรียกร้องสัญญาฉบับใหม่จากต้นสังกัดได้ พร้อม ๆ ไปกับการคุยกับสโมสรอื่น ๆ ที่ติดต่อพวกเขามาด้วยเช่นกัน  

กฎพลิกประวัติศาสตร์ 

นักเตะหลายคนมีทางเลือกมากขึ้นหลังจากที่กฎบอสแมนถูกยืนยันว่า “สามารถทำได้” นักเตะดังหลายคนก็ได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ เพราะพวกเขาสามารถเรียกเงินค่าจ้างได้มากขึ้นจากหลายทาง ทั้งจากต้นสังกัดเก่าและสโมสรที่สนใจในตัวของพวกเขา

 

นักเตะหลังยุคกฎบอสแมนไม่มีใครตัดสินใจทำสัญญาระยะยาว ๆ อีกแล้ว อย่างมากที่สุดก็คือ 5 ปีไม่เกินไปกว่านี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ 

สโมสรที่ได้รับผลกระทบคือทีมอย่าง อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม ที่สร้างนักเตะดาวรุ่งในช่วงยุคปี 1995 เช่น แพทริก ไคลเวิร์ต, มิเชล ไรซีเกอร์, เอ็ดการ์ ดาวิดส์ และอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งนักเตะเหล่านี้มาดังเอาในช่วงที่กฎบอสแมนถูกนำออกมาใช้พอดีเป๊ะ โดยทาง อาหยักซ์ ที่ไม่ทันตั้งตัว ได้พยายามต่อสัญญากับนักเตะเหล่านี้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ต้องเสียนักเตะดาวรุ่งของตัวเองไปโดยไม่มีข้อแม้ เพราะนักเตะเลือกที่จะไม่ต่อสัญญายาวที่สโมสรมอบให้และย้ายไปอยู่ทีมใหญ่ในยุโรปนั่นเอง 

นอกจากเรื่องการย้ายตัวและสัญญาที่ต้องถูกปรับใหม่แล้ว กฎบอสแมน ที่อ้างอิงจากสนธิสัญญาโรมที่ว่าด้วยการรับประกันเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของแรงงานในทวีปยุโรปที่เป็นสมาชิกของ EU ก็ทำให้การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปอย่าง ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เปลี่ยนไปอีกด้วย 

เพราะก่อนมีกฎบอสแมน สโมสรในยุโรปต้องอยู่ภายใต้กฎ “3+2” (ส่งนักเตะต่างชาติลงสนามได้แค่ 3 คน และสามารถส่งนักเตะต่างชาติที่เล่นในประเทศของสโมสรต้นสังกัดเกิน 5 ปีได้เพิ่มอีก 2 คน) ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้นักเตะต่างชาติได้เกิน 3 คนเป็นตัวจริงในเกมยุโรป 

ในส่วนนี้ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยบ่นเรื่องนี้ไว้ เพราะในปี 1994 ยูฟ่าเคยตัดสินว่า ผู้เล่นชาวเวลส์และชาวสกอตนับเป็นชาวต่างชาติในอังกฤษ ดังนั้นนักเตะอย่าง รอย คีน, มาร์ค ฮิวจ์ส และ ไรอัน กิ๊กส์ ถือว่าเป็นนักเตะต่างชาติทั้งหมด ทำให้ เฟอร์กี้ ต้องถอด ปีเตอร์ ชไมเคิล ออกและใช้ผู้รักษาประตูสำรองอย่าง แกรี่ วอลช์ ในเกมที่ แพ้ บาร์เซโลน่า 0-4 ที่คัมป์ นู 

กฎบอสแมนทำให้ไม่มีข้อจำกัดนักเตะต่างชาติอีกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือทีมที่เหมาใช้นักเตะที่ดีที่สุดในประเทศอย่าง สเตอัว บูคาเรสต์ และ เรดสตาร์ เบลเกรด ไม่สามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้อีกเลยหลังจากนั้น 

ทั้งหมดคือเรื่องราวทั้ง ก่อน ระหว่าง และหลังการมีกฎบอสแมน ไม่แปลกเลยที่ว่าทำไมกฎบอสแมนนี้จึงเรียกว่ากฎพลิกประวัติศาสตร์ฟุตบอลอย่างแท้จริง