sportpooltoday

“ยานอนหลับ” : ทางออกยอดฮิตของนักฟุตบอลและภาวะเสพติดที่แสนอันตรายระยะยาว


"ยานอนหลับ" : ทางออกยอดฮิตของนักฟุตบอลและภาวะเสพติดที่แสนอันตรายระยะยาว

อาการนอนไม่หลับ อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ กระวนกระวาย หรือนึกถึงสิ่งต่างๆ เสียจนไม่อาจข่มตาลงนอนได้ ไม่ว่าจะเด็กวัยเรียน ผู้ใหญ่วัยทำงาน ทุกคนต่างเคยมีวันดังกล่าวมาได้ทั้งหมด

ไม่เว้นแม้แต่นักฟุตบอลอาชีพที่บางครั้งความตื่นเต้น เสียงวิจารณ์ หรือปัญหาต่างๆในชีวิตก็พร้อมเข้ามามีผลกระทบต่อช่วงเวลากลางดึกของพวกเขา ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อฟอร์มในสนามแล้วยังมีโอกาสเป็นภัยต่อสุขภาพระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน

มาเจาะลึกปัญหานอนไม่หลับและหาทางออกด้วยการรับประทานยา ภัยเงียบที่กลายเป็นจุดกังวลจากทั้งแพทย์และผู้จัดการทีมของพวกเขาได้ที่นี่กับ Main Stand

การนอนนั้นสำคัญไฉน?

แม้เวลาลงแข่งจริงของนักเตะพรีเมียร์ลีกหรือรายการในทวีปยุโรป จะไม่อยู่ในช่วงกลางดึกหรือเกือบเช้า เหมือนกับที่แฟนบอลชาวไทยต้องอดหลับอดนอนมารอดูกัน แต่การพักผ่อนให้เพียงพอของนักเตะอาชีพก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แถมยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในสนามได้พอสมควรเลย

1งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่าการนอนหลับมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยแนะนำของผู้ใหญ่ทั่วไปราว 2 ชั่วโมงนั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้นักฟุตบอลวิ่งได้เร็วขึ้น เช่นกันกับผลวิจัยที่ศึกษาการนอนของนักกีฬาบาสเกตบอลและอเมริกันฟุตบอล ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์สอดคล้องไปในทางเดียวกัน

การศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากการนอนหลับไม่เพียงพอ คือน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ได้แสดงให้เห็นความสามารถที่จะคิด จดจำ เรียนรู้ และประมวลผลที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายหันมาทำลายเนื้อเยื่อดีในร่างกายได้เลยทีเดียว

หนทางแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ได้ยากเย็นนัก แค่นอนหลับให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมง เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วไม่ใช่หรือ?

พอมาเป็นนักกีฬาอาชีพ โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีก เวทีที่มีมูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสูงมากเป็นอันดับต้นๆของโลกด้วยแล้ว ย่อมไม่แปลกเลยหากแรงกดดันหรือข้อผิดพลาดเล็กน้อยระหว่างแมตช์ จะยังคงฝังใจพวกเขาอยู่หลังจบการแข่งขันไปอีกสักพักหนึ่ง

“คุณนำความกดดันติดตัวกลับมาบ้านด้วยอยู่แล้ว แม้ตอนเข้านอนผมก็ยังคงคิดถึงมันอยู่ ความพ่ายแพ้ไม่เคยเป็นเรื่องที่ง่ายเลย” คือการให้สัมภาษณ์ของ คริส ฮิวจ์ตัน อดีตกุนซือนอริช ซิตี้ ระหว่างที่ทีมกำลังประสบปัญหาฟอร์มตกอย่างรุนแรง

2เช่นกันกับ ฮิวจ์ตัน นักเตะและผู้จัดการทีมจำนวนมากต่างเคยผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากแบบนี้กันมาแล้ว โดยเฉพาะยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ข่าวสารจากสื่อหรือเสียงก่นด่าจากแฟนบอลสามารถเดินทางไปถึงจิตใจของผู้เล่นเหล่านี้ได้ง่ายๆจากแค่ปลายนิ้วมือ

นั่นจึงเป็นที่มาของทางออกยอดนิยมอย่าง ยานอนหลับ ผู้ช่วยสุดฮิตที่ช่วยให้ดาวเตะระดับโลกกลุ่มนี้ ข่มตาลงให้ผ่านพ้นเวลายามราตรีไปได้

เสพติดยานอนหลับ

The Athletic UK พบว่านักเตะในระดับลีกอาชีพของอังกฤษต่างใช้ยา ลอราซีแพม (Lorazepam), เทมาซีแพม (Temazepam) และ ไดอะซีแพม (Diazepam) อันเป็นตัวยาที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ ผ่านการออกกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลางหรือต่อสารเคมีในสมอง

ทั้งสามตัวยาที่ระบุไว้ในข้างต้นต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นบางส่วนได้ละเลยคำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งอาจเสี่ยงให้พวกเขาเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อยามแก่ตัวลงหรืออาจร้ายแรงกว่านั้นเลยก็ได้

3“มันเป็นเหมือนโรคที่แพร่กระจายในวงการฟุตบอล” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งแสดงความกังวลกับสถานการณ์ดังกล่าว “หากใช้มากเกินไป ยานอนหลับนั้นอันตรายพอๆกับยาที่ถูกแบนทั้งหลาย และหลายคนกำลังทำแบบนั้นโดยไม่มีใครริเริ่มที่จะป้องกันหรือดูแลอย่างจริงจัง”

หนึ่งในผู้เล่นลีกอาชีพอังกฤษรายหนึ่งผู้เคยมีประวัติการใช้งาน ลอราซีแพม ก่อนจะหักห้ามใจให้เลิกยาได้ในภายหลัง เปิดเผยว่า “การใช้ยานี้ทำให้คุณตื่นมาแล้วรู้สึกดีในตอนแรก แต่มันเป็นแค่การผัดวันประกันพรุ่งของปัญหาออกไป คุณจะค่อยๆรู้สึกเละเทะตามมา และมันไม่ได้แก้ปัญหาความทุกข์ร้อนในใจของผมเลย”

มีรายงานว่านักเตะชื่อดังระดับพรีเมียร์ลีกอังกฤษบางคนต้องการให้แพทย์จ่ายยา ไดอะซีแพม อันเป็นยาที่ออกฤทธิ์กับสารเคมีในสมองให้ผ่อนคลายและสงบจิตใจลงมาได้ ซึ่งยาตัวนี้เคยถูกใช้กับทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ต้องการก้าวข้ามความทรงจำอันเลวร้ายจากสนามรบไปให้ได้

อย่างไรก็ตาม หากใช้ยาดังกล่าวมากเกินไป ก็มีโอกาสทำให้พวกเขาเกิดอาการแฮ้งขึ้นมาได้ จากการผลักปัญหา ความวิตกกังวล และเรื่องราวร้ายๆ ให้ไปเป็นภาระของวันรุ่งขึ้น จนเกิดความต้องการยาตัวเดิมเข้าไปเพิ่ม และก่อนที่จะรู้ตัว เขาคนนั้นก็อาจติดยาจนไม่อาจใช้ชีวิตโดยไม่มีมันได้อีกแล้ว

ปัญหาที่ยากเกินแก้?

จากจำนวนแมตช์แข่งขันในยามเย็นหรือเกมช่วงหัวค่ำของฟุตบอลยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้น 30% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว การลงเตะแมตช์ทีมชาติ ซึ่งบางครั้งต้องเดินทางข้ามทวีปเพื่อไปลงแข่งขันแล้วกลับมา ทั้งหมดนี้ต่างมีผลต่อจังหวะการนอนของนักฟุตบอลอาชีพ ผู้ต้องเผชิญกับศึกหนักนานเกือบตลอดทั้งปี

4แถมด้วยการใช้คาเฟอีนมากระตุ้นนักเตะช่วงก่อนหรือระหว่างแข่ง ที่มาจากความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ความเข้มข้นของเกม เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากโค้ช เพื่อนร่วมทีม แฟนบอล และนานาแหล่งที่มา ต่างมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักเตะหลายคนเลือกหันไปหายานอนหลับ เพื่อสามารถกดปุ่มปิดสวิตช์แล้วหลับใหลลงไป

“การนอนนั้นไม่ยากหรอก แต่การหลับให้ได้คุณภาพนั้นก็ไม่ง่ายเลย” ผู้จัดการทีมรายหนึ่งเปิดเผยกับสื่อดังของอังกฤษ “ผมอาจนอนได้แค่ 3-4 ชั่วโมง ก่อนจะลุกขึ้นมาคิดถึงงานวันถัดไป เป็นแบบนี้ติดต่อกัน 2-3 วัน ซึ่งมันเป็นจุดเริ่มต้นที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและหน้าที่การงานของผม”

“ผมจึงตัดสินใจหาทางแก้” นั่นก็คือการรับยา โซพิโคลน (Zopiclone) ยานอนหลับที่มีผลข้างเคียงและติดได้ยากกว่าทั้งสามตัวข้างต้นอยู่เล็กน้อย แต่มันก็เคยทำให้ผู้จัดการทีมรายนี้ติดมันมาแล้ว พร้อมกับพบว่าประสิทธิภาพในการคิดและตัดสินใจของตนเริ่มแย่ลง อีกทั้งยังมีอาการอยากยาเมื่อเริ่มพยายามจะเลิกขึ้นมา

แม้ในปัจจุบันเจ้าตัวจะไม่ได้รับประทานยาชนิดดังกล่าวแล้ว แต่มีการระบุว่านักเตะในทีมของเขาอย่างน้อย 2 คนกำลังพึ่งพา โซพิโคลน อยู่ตลอดเวลา แม้ประสิทธิภาพในสนามของผู้เล่นเหล่านี้จะลดลงจนเห็นได้ และตัวผู้จัดการทีมก็พยายามเตือนและแนะนำแล้ว แต่เจ้าตัวระบุว่า “คำแนะนำของผมคงเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาพวกเขาไปแล้ว”

อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือภาวะเลียนแบบของนักเตะภายในทีม “พวกเขาเหมือนกับแกะ ถ้าใครสักคนเริ่มตัดถุงเท้า คนอื่นๆจะทำตาม ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่าที่ทำมันถูกไหมหรือจะเกิดผลอะไรขึ้นมาในระยะยาว”

โดยเฉพาะกับผู้เล่นเยาวชนหรือนักเตะรายใหม่ของสโมสร ที่เมื่อเข้ามาซึมซับวัฒนธรรมในห้องแต่งตัวแล้ว ก็ไม่แปลกที่จะเกิดการนำไปปฏิบัติตามๆกัน และนั่นอาจเป็นปัญหาระยะยาวที่แก้ไม่ตก อย่างเช่นเรื่องของยานอนหลับนี้ก็ด้วย

5แม้จะมีความพยายามรับมือกับอาการนอนไม่หลับ เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยจ้าง นิค ลิตเตอเฮลส์ โค้ชที่มาดูแลด้านการนอนหลับโดยเฉพาะและเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันนักเตะ คลาส ออฟ 92 ขึ้นมาโลดแล่นในระดับสูงสุดได้ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปและสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายกว่าเมื่อก่อน การจะนอนหลับให้เพียงพอได้นั้น อาจไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่เคยเป็นอีกแล้ว

“ยานอนหลับเป็นทางออกง่ายๆ แต่ไม่ใช่ทางแก้ระยะยาว” ผู้จัดการทีมที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดสโมสรกล่าว “กว่าผมจะรู้ตัวก็ตอนที่ผมเริ่มแก่และเริ่มตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพระยะยาวแล้ว ผมกังวลกับผู้เล่นมากกว่า พวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อสิ้นสุดอาชีพค้าแข้ง? เพราะเมื่อคุณเสพติดมันแล้ว ก็เหมือนเป็นตัวนำพาให้คุณไปเสพติดอย่างอื่นต่อด้วยเช่นกัน”