ติมอร์-เลสเต ชื่อนี้คงคุ้นหูชาวไทยเป็นอย่างดีในฐานะน้องเล็กของภูมิภาคอาเซียน และเนื่องจากเป็นประเทศตั้งใหม่ ทุกอย่างจึงดูตามหลังเพื่อนบ้านไปเสียหมด รวมถึง กีฬาฟุตบอล ด้วยเช่นกัน
แต่ช่วงระยะเวลา 2012-2015 อยู่ดีๆ ติมอร์-เลสเต ก็ถูกพูดถึงขึ้นมา เนื่องจากผลงานที่ร้อนแรงในเกมลูกหนัง จนอันดับโลกของพวกเขาพุ่งพรวด 60 อันดับ ด้วยขุนพลนักเตะโอนสัญชาติที่สร้างความสนใจไปทั่วโลกว่า ติมอร์-เลสเต มีนักเตะเลือดบราซิลเยอะขนาดนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?
Main Stand จะพาคุณไปดูวิธีการโอนสัญชาตินักเตะบราซิล สู่ ติมอร์-เลสเต แบบง่ายเพียงดีดนิ้ว ซึ่งแน่นอนว่าฝ่าฝืนกฎกติกาที่ตั้งไว้แทบทั้งหมด จนถูก FIFA ไล่เช็คบิลย้อนหลัง จนทำเอาพวกเขาอดเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ 2023 เป็นที่เรียบร้อย
พัฒนาฟุตบอลทีมชาติด้วยแข้งบราซิล
หากจะหาสักเหตุผลที่ทำให้ ติมอร์-เลสเต เลือกใช้นักฟุตบอลส่วนใหญ่เป็นนักเตะโอนสัญชาติ นั่นเป็นเพราะพวกเขามีประวัติศาสตร์ในโลกลูกหนังสั้นกว่าแทบทุกชาติในทวีปเอเชีย เพราะกว่า ติมอร์-เลสเต จะกลายเป็นประเทศที่ได้รับเอกราช และการรับรองจากนานาชาติ เวลาก็ได้ล่วงเลยเข้าสู่ปี 2002 เรียบร้อยแล้ว
เมื่อสมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเต เข้าเป็นสมาชิกของ AFC เมื่อปี 2003 พวกเขาได้ลงแข่งขันฟุตบอลระดับชาติเกมแรกกับศรีลังกา ซึ่งผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้ 2-3 การแข่งขันนัดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ติมอร์-เลสเต อยู่จุดไหนของวงการฟุตบอลเอเชีย และถ้าพวกเขาอยากสานฝันที่ทุกชาติเฝ้ารออย่าง “ฟุตบอลโลก” ติมอร์-เลสเต ต้องเร่งความเร็วเพื่อตามทีมอื่นให้ทัน
ติมอร์-เลสเต ลงแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก เป็นครั้งแรกในปี 2007 (เพื่อไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2010) และพวกเขาต้องใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะคว้าชัยชนะนัดแรกในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก เมื่อปี 2015 (เพื่อไปแข่งขันฟุตบอลโลก 2018) หลัง ติมอร์-เลสเต เอาชนะ มองโกเลีย ได้สำเร็จด้วยสกอร์ 4-1 ก่อนจะชนะในการแข่งขันนัดที่สอง 1-0 สามารถผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือก รอบสอง ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
สำหรับชาติที่เพิ่งเริ่มต้นเอาจริงเอาจังในกีฬาฟุตบอลได้ราวสิบกว่าปี การคว้าชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ในเวทีฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ย่อมแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ชัดเจนของวงการฟุตบอลติมอร์-เลสเต ซึ่งควรจะสร้างความภาคภูมิใจแก่คนในประเทศและได้รับเสียงชื่นชมจากเพื่อนร่วมภูมิภาค แต่วิธีที่ ติมอร์-เลสเต เลือกใช้เพื่อพัฒนาฟุตบอลทีมชาติของพวกเขา กลับเป็นวิธีที่น่าผิดหวังและแทบจะเรียกได้ว่า “โกง”
ย้อนกลับไปยังปี 2012 ติมอร์-เลสเต ประกาศว่าจะยกระดับฟุตบอลทีมชาติของพวกเขาอย่างจริงจัง หลังถูกเนปาลถล่มไป-กลับในศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก เมื่อปี 2011 ด้วยสกอร์รวม 1-7 โดยเริ่มจากการแต่งตั้ง อันโตนิโอ คาร์ลอส วิเอร่า (Antonio Carlos Vieira) เฮดโค้ชชาวบราซิลเข้ามารับตำแหน่งกุนซือ หลังจากนั้น ภารกิจสร้างทีมใหม่ของติมอร์-เลสเต จึงได้เริ่มต้นขึ้น
คาร์ลอส วิเอร่า ได้ส่งแมวมองออกไปทั่วประเทศ และสามารถดึงตัวนักเตะฝีเท้าดีหน้าใหม่เข้ามาติดทีมชาติได้มากมาย เพียงแต่ว่า นักฟุตบอลและประเทศที่กำลังพูดถึงไม่ใช่ภายใน ติมอร์-เลสเต แต่เป็น บราซิล ดินแดนมหาอำนาจลูกหนังที่ส่งนักเตะออกไปค้าแข้งทั่วโลก
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเตะบราซิลจะโอนสัญชาติ เพราะแม้แต่ทีมระดับโลกอย่าง สเปน ยังเคยเลือกใช้บริการ ดิเอโก้ คอสต้า กองหน้าเลือดแซมบ้าที่ค้าแข้งกับแอตเลติโก มาดริด มานานหลายปีจนได้รับสัญชาติสเปน แต่เรื่องราวของนักเตะบราซิลสัญชาติติมอร์-เลสเต ซับซ้อนกว่านั้น เพราะนอกจากพวกเขาจะไม่มีเชื้อสายติมอร์แล้ว แข้งโอนสัญชาติเหล่านี้ยังไม่เคยเล่นฟุตบอลในลีกติมอร์-เลสเต อีกด้วย
“นักเตะชาวบราซิล พวกเขาแค่เดินทางเข้ามาและใช้เวลาเพียงวันเดียวในประเทศของเรา หลังจากนั้น พวกเขาจะได้พาสปอร์ตติมอร์ เพื่อลงเล่นให้กับทีมชาติของเรา” โจเซ่ หลุยส์ เด โอลิเวียร่า นักกิจกรรมท้องถิ่นชาวติมอร์กล่าว
วิธีการที่สมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเต เลือกใช้เพื่อพัฒนาฟุตบอลทีมชาติจึงไม่ซับซ้อนไปกว่าการเลือกซื้อนักเตะจากประเทศบราซิลเข้ามาสู่ทีม โดยใช้ คาร์ลอส วิเอร่า ผู้ดำรงตำแหน่งเฮดโค้ชของทีม ทำงานเป็นนายหน้าคอยค้นหานักเตะที่สนใจอยากเข้ามาร่วมทีมติมอร์-เลสเต และรับเงินก้อนโต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นนักเตะที่มีประสบการณ์ค้าแข้งในทวีปเอเชีย
นักเตะชาวบราซิลตัวเด่นๆที่โอนสัญชาติเป็นติมอร์-เลสเต ได้แก่ แพทริก ฟาเบียโน (Patrick Fabiano) กองหน้าชาวบราซิลดีกรีดาวซัลโวลีกคูเวต 2 สมัย, โรดริโก้ ซิลวา (Rodrigo Silva) กองกลางที่มีประสบการณ์โชกโชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, มูริโล เดอ อัลเมดา (Murilo de Almeida) กองหน้าที่ลงเล่นในลีกอินโดนีเซีย เมื่อปี 2011 ก่อนเล่นให้ติมอร์-เลสเต ตั้งแต่ชุด U-23 และ ไจโร เนโต้ กองหน้าที่ติดทีมชาติติมอร์-เลสเต ตั้งแต่อายุ 21 ปี หลังเคยผ่านประสบการณ์ในลีกซีเรีย
“เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวผมคือ ผมได้รับคำเชื้อเชิญจากติมอร์-เลสเต พวกเขาบอกว่าเราจะให้พาสปอร์ตคุณ หลังจากนั้นคุณก็เล่นให้พวกเรา เพราะเราชื่นชอบสไตล์การเล่นฟุตบอลของคุณมาก เราต้องการกองหน้าสักคนที่เก่งเหมือนกับคุณ” แพทริก ฟาเบียโน เล่าประสบการณ์ตอนที่ทำให้เขาลงเล่นในสีเสื้อทีมชาติติมอร์-เลสเต
มีนักเตะมากกว่า 12 คนที่โอนสัญชาติจาก บราซิล มาเป็น ติมอร์-เลสเต ในช่วงปี 2012-2015 นี่จึงทำให้ทีมฟุตบอลติมอร์-เลสเต ได้รับฉายาในเชิงล้อเลียนว่า “แซมบ้าน้อย” (Little Samba) เนื่องจากนักเตะที่ลงสนามให้กับพวกเขา ส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวบราซิล และมีผู้เล่นท้องถิ่นเพียงหยิบมือ
เพลินไปหน่อยเลยโดนจับได้
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องยอมรับคือ การดึงนักเตะโอนสัญชาติชาวบราซิลเข้ามาสู่ทีมชาติติมอร์-เลสเต สามารถพัฒนาผลงานของพวกเขาได้จริง เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ติมอร์-เลสเต สามารถเก็บชัยชนะนัดแรกในการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติ ด้วยชัยชนะ 5-1 เหนือ กัมพูชา เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2012 ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน
ผลงานของทีมชาติติมอร์-เลสเต ดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา จากเดิมที่เคยแพ้แทบทุกนัด พวกเขาสามารถคว้าชัยชนะเหนือ บรูไน และ มองโกเลีย รวมถึงยันเสมอ เมียนมา, มาเลเซีย, ปาเลสไตน์ ได้สำเร็จ ในช่วงยุคทองของนักเตะโอนสัญชาติระหว่างปี 2012-2015 ซึ่งตรงนี้เองทำให้อันดับโลกของพวกเขาพุ่งขึ้นมา 60 อันดับ ในเดือนมิถุนายน ปี 2015 (อันดับ 205 สู่ 146)
แต่การกอบโกยความสำเร็จของ ติมอร์-เลสเต ผ่านนักเตะโอนสัญชาติ ไม่แตกต่างจากนกที่บินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป เพราะหลังจากที่พวกเขาส่งนักเตะชาวบราซิล 7 คนลงสนามเกมที่เสมอกับปาเลสไตน์ 1-1 ทางสมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์จึงร้องเรียนไปยัง FIFA ถึงการละเมิดกฎของติมอร์-เลสเต เนื่องจากนักเตะชาวบราซิลเหล่านี้ไม่ควรมีสิทธิ์ลงสนามในฐานะชาวเอเชีย
ไม่ใช่แค่บุคคลภายนอกที่กดดัน แต่ชาวติมอร์เองก็ไม่พอใจที่เห็นนักเตะชาวบราซิลลงสู้ศึกในสีเสื้อ ติมอร์-เลสเต ด้วยเช่นกัน โดยมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ให้ยุติเรื่องน่าอับอายเหล่านี้ ท้ายที่สุด สมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเต จึงตัดสินใจถอนชื่อนักเตะโอนสัญชาติทั้งหมดออกจากทีม และเลือกใช้นักเตะชาวติมอร์แท้ๆลงสนามเท่านั้น
“พวกเขายอมที่จะแพ้ในการแข่งขันด้วยนักเตะของเรา ดีกว่าจะเอาชนะเกมเหล่านี้ด้วยนักเตะโอนสัญชาติ เพราะมันรู้สึกแย่เสียยิ่งกว่า เมื่อเราพบกับความพ่ายแพ้ทั้งที่ส่งนักเตะโอนสัญชาติเหล่านี้ลงสนาม” อเล็กซ์ ทิลแมน หนึ่งในแฟนบอลชาวติมอร์-เลสเต เปิดใจ
ผลปรากฏว่า ติมอร์-เลสเต กลายเป็นทีมเดิมที่ทุกคนเคยรู้จัก พวกเขาแพ้ให้แก่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0-8 ตามด้วยการแพ้ให้กับซาอุดีอาระเบีย 0-10 ปิดท้ายด้วยการแพ้ให้กับปาเลสไตน์ 0-7 ซึ่งแมตช์สุดท้ายนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า นักเตะโอนสัญชาติชาวบราซิล ส่งอิทธิพลต่อฟุตบอลทีมชาติติมอร์-เลสเต มากเพียงใด
ท้ายที่สุด เจสซี่ ปินโต้ (Jesse Pinto) มิดฟิลด์ชาวออสเตรเลียที่ลงเล่นให้กับติมอร์-เลสเต ชุด U-23 มาตั้งแต่ปี 2011 ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นกัปตันทีมชุดใหญ่ในปีถัดมา ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีการคอร์รัปชันมากมายเกิดขึ้นเบื้องหลังวงการฟุตบอลติมอร์-เลสเต โดยสมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเต จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเอเยนต์ของบรรดานักเตะโอนสัญชาติ เมื่อปล่อยตัวพวกเขาให้แก่สโมสรฟุตบอลต่างๆ สมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเตจะได้ส่วนแบ่งเป็นค่านายหน้าด้วย
“ผู้เล่นมากมายเดินทางเข้ามา พวกเขาอาจจะเล่นให้กับสโมสรเล็กๆ พวกเขาอาจจะเล่นฟุตบอลโดยไม่ได้ค่าตัว พวกเขาอาจจะลงเล่นในสนามที่เละเป็นโคลน ผมไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นนักเตะที่แย่นะ แต่พวกเขาไม่ได้เล่นให้กับสโมสรใหญ่ในบราซิล นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาเดินทางมายังติมอร์” ปินโต้ เล่าเรื่องราวที่เขาพบเห็นด้วยตัวเองในติมอร์-เลสเต
“ผมไม่โทษพวกเขาที่เดินทางมายังติมอร์ เพราะผมรู้ดีว่าบางคนจำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขา แต่สำหรับพวกเขาบางคน มันก็เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกัน เพราะพวกเขาก็ไม่รู้เลยว่าตัวเองจะเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวได้เมื่อไหร่”
เมื่อหลักฐานมัดตัวขนาดนี้ สมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเต จึงไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากรอรับโทษทัณฑ์ที่กำลังจะเข้ามาแต่โดยดี เดือนธันวาคมปี 2016 พวกเขาถูก FIFA ตั้งข้อหาปลอมแปลงเอกสาร, ส่งนักเตะลงสนามโดยไม่ถูกต้องตามกฎกติกา และทำลายชื่อเสียงของเกมการแข่งขัน ก่อนจะถูกตัดสินว่ามีความผิดทุกข้อกล่าวหาในเดือนมกราคม ปี 2017
เหตุผลที่นักเตะชาวบราซิลไม่สามารถลงเล่นในนามทีมชาติติมอร์-เลสเต แม้จะได้รับพาสปอร์ตของประเทศดังกล่าวแล้วก็ตาม เนื่องจากสมาคมฟุตบอลติมอร์-เลสเต ส่งเอกสารปลอมที่ยืนยันว่านักเตะเหล่านี้มีบิดาหรือมารดาเป็นชาวติมอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายการแปลงสัญชาติของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก นั่นจึงส่งผลให้นักเตะบราซิลทุกคนที่ลงเล่นให้ติมอร์-เลสเต แท้จริงแล้วไม่มีสัญชาติติมอร์
บทลงโทษที่ ติมอร์-เลสเต ได้รับจาก FIFA คือการสั่งปรับแพ้การแข่งขันฟุตบอลย้อนหลัง 29 เกม นั่นหมายความว่าจนถึงวันที่มีการตัดสินความผิด ติมอร์-เลสเต ไม่เคยคว้าชัยชนะในฟุตบอลระดับชาติเลยแม้แต่นัดเดียว (ก่อนจะชนะจริงๆในเดือนธันวาคม 2017) นอกจากนี้ ติมอร์-เลสเต ยังถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ 2023 เนื่องจากส่งผู้เล่นลงเตะโดยไม่ถูกต้องตามกติกา ลงแข่งขันในรอบคัดเลือก เอเชียนคัพ 2019
ยุคทองของฟุตบอลติมอร์-เลสเต ในช่วงปี 2012-2015 จึงจบลงเพียงเท่านี้ ถ้าว่ากันตามตรงมันไม่ควรจะเริ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างที่พวกเขาทำไปถือเป็นการละเมิดกฎกติกาที่ทุกประเทศตกลงร่วมกันสำหรับเกมฟุตบอล การฉวยโอกาสดึงนักเตะบราซิลมาลงเล่นเพื่อกอบโกยความสำเร็จเข้าสู่กระเป๋าของติมอร์-เลสเต จึงไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้
ปัจจุบัน ติมอร์-เลสเต จึงกลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นอีกครั้ง และต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการสร้างทีมชาติของพวกเขา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะอย่างน้อยนักเตะเลือดติมอร์จริงๆก็จะได้มีโอกาสลงเล่นในฟุตบอลนานาชาติ และสิ่งนี้จะช่วยยกระดับฝีเท้าของพวกเขาให้พัฒนาขึ้นไปอีก
น่าสนใจเหลือเกินว่า ติมอร์-เลสเต จะทำผลงานได้ดีแค่ไหนในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2020 ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 5 ธันวาคม 2021 เพราะขณะนี้ไม่มีนักเตะชาวบราซิลคนไหนให้พวกเขาพึ่งพาอีกแล้ว นี่คือเวทีที่บรรดาแข้งติมอร์จะได้พิสูจน์ตัวเองต่อสายตาคนอีกมากมาย และถึงพวกเขาจะแพ้รวดทุกนัด.. อย่างน้อยชาวติมอร์จะได้ภาคภูมิใจที่ลูกหลานชาวติมอร์แท้ๆจะได้อวดฝีเท้าในสีเสื้อติมอร์-เลสเต อย่างเต็มภาคภูมิ