sportpooltoday

เจมส์ แม็คเคลน : นักเตะผู้ยอมตายดีกว่าจะใส่เสื้อแข่งรำลึกทหารผ่านศึก


เจมส์ แม็คเคลน : นักเตะผู้ยอมตายดีกว่าจะใส่เสื้อแข่งรำลึกทหารผ่านศึก

สำหรับชาวอังกฤษ วันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี คือ “วันทหารผ่านศึก” วันที่ผู้คนทั่วสหราชอาณาจักรจะติดดอกป๊อบปี้สีแดง เพื่อรำลึกถึงความเสียสละของทหารผู้กล้า โดยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 1919 และปรากฎถึงปัจจุบัน

ดอกป๊อบปี้เพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึก ปรากฎในวงการฟุตบอลเช่นเดียวกัน โดยนักฟุตบอลจะติดสัญลักษณ์ดอกป๊อบปี้สีแดงไว้กลางหน้าอกของชุดแข่งขัน แต่ถึงอย่างนั้น กลับมีนักเตะบางคนที่เลือกยืนยันหนักแน่น ว่าจะไม่มีวันใส่เสื้อรำลึกทหารผ่านศึกลงแข่งขันเด็ดขาด 

Main Stand นำเสนอเรื่องราวของ เจมส์ แม็คเคลน นักเตะทีมชาติไอร์แลนด์ที่ค้าแข้งในอังกฤษนานกว่า 10 ปี แต่ไม่เคยสวมชุดที่ประดับดอกป๊อบปี้ลงสนามเลยสักครั้ง

รากฐานจากความขัดแย้งระดับชาติพันธุ์

หากจะหาเหตุผลว่า ทำไม เจมส์ แม็คเคลน ถึงจงเกลียดจงชัง และปฏิเสธจะสวมชุดแข่งขันที่มีสัญลักษณ์ดอกป๊อบปี้ติดตัวมากขนาดนี้ เราคงต้องย้อนไปดูพื้นเพของนักเตะรายนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นประวัติศาสตร์อันขมขื่นระหว่างสหราชอาณาจักร กับประเทศไอร์แลนด์

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1960s – 1990s ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ กำลังตึงเครียดเป็นอย่างมาก เนื่องจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เดอะทรับเบิลส์ (The Troubles)

สองขั้วความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ ฝ่ายหนึ่งคือ ชาวอัลสเตอร์ ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์, มีแนวคิดนิยมสหภาพ และภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ จึงสนับสนุนให้ไอร์แลนด์เหนือเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไป

 

ส่วนอีกฝ่ายคือ ชาวไอริช ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก, มีแนวคิดนิยมสาธารณรัฐ และมีแนวคิดชาตินิยมไอร์แลนด์ จึงสนับสนุนให้ไอร์แลนด์เหนือแยกออกจากสหราชอาณาจักร และผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์

เนื่องจาก ชาวอัลสเตอร์ ถือเป็นคนส่วนมากในสังคม พวกเขาจึงควบคุมอำนาจทางการเมือง และเศรษฐกิจ แต่เพียงฝ่ายเดียว นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่เกิดขึ้นกับชาวไอริช ส่งผลให้ในในช่วงปลายทศวรรษ 1960s สมาคมสิทธิพลเมืองไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland Civil Rights Association) ได้ทำการเดินขบวน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และตำรวจ หยุดเลือกปฏิบัติกับชาวไอริช

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม แปรเปลี่ยนเป็นความตึงเครียด และพัฒนาตัวเป็นการจราจลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ประท้วงถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามอย่างรุนแรง โดยอ้างว่า เจตนาที่แท้จริงของกลุ่มผู้ประท้วง คือ แยกไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักร

หลังเกิดเหตุจราจลครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคม ปี 1969 สหราชอาณาจักรจึงได้ส่งทหารเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งตอนแรก ฝ่ายไอริชคาทอลิก เชื่อมั่นในความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่จากเกาะบริเตน จึงยินดีจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1972 ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักกันในนาม วันอาทิตย์ทมิฬ หรือ Bloody Sunday

 


เหตุการณ์วันอาทิตย์ทมิฬ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม ปี 1972 ในเขตเมืองเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือ หลังกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมือง ถูกกราดยิงอย่างไร้สาเหตุโดยกองพลทหารร่มของสหราชอาณาจักร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 14 คน และมากกว่า 15 คน ได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวคาทอลิก

วันอาทิตย์ทมิฬ ถือเป็นเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์เหนือ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวไอริชคาทอลิกกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรย่ำแย่ลงอย่างมาก ส่งผลให้อุดมการณ์แบ่งแยกประเทศ และแนวคิดนิยมสาธารณรัฐกระจายตัวเป็นวงกว้าง จากเดิมที่เคยเป็นแนวคิดส่งต่อภายในครอบครัวเท่านั้น

ด้วยจิตวิญาณของชาวไอริช

ถึงแม้ เดอะทรับเบิลส์ จะสิ้นสุดลงในปี 1998 หลังคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย ได้แก่ สหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ สามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพ “ความตกลงกู้ดฟรายเดย์” (Good Friday Agreement) ส่งผลให้ความขัดแย้ง และความรุนแรงทั้งหมดยุติไป แต่บาดแผลจากจำนวนผู้เสียชีวิต 3,532 ราย ยังไม่จางหายไปจากใจใครหลายคน

 

เด็กชายคนหนึ่งที่เกิดขึ้นมา และมองเห็นความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ คือ เจมส์ แม็คเคลน เขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวไอริชคาทอลิก จึงไม่ต้องสงสัยว่า อนาคตนักฟุตบอลรายนี้จะฝักใฝ่ฝ่ายใด และยิ่งไปกว่านั้น แม็คเคลนยังกำเนิด และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดอร์รี สถานที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์วันอาทิตย์ทมิฬ

แม็คเคลนไม่เคยปิดบังหัวใจของเขาที่ฝักใฝ่สาธารณรัฐไอร์แลนด์ มากกว่าสหราชอาณาจักร และบ้านเกิดที่แท้จริงของเขาอย่างไอร์แลนด์เหนือ โดยในปี 2012 เขาตัดสินใจเลือกติดทีมชาติไอร์แลนด์ แทนที่จะเป็นไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งแม็คเคลนได้ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่า

“เมื่อคุณลองมองไปรอบตัวในฐานะคาทอลิกคนหนึ่ง และมองเห็นแต่ธงยูเนี่ยนแจ็ค แถมต้องฟังเพลงที่พวกแฟนบอลร้องกันอีก คุณจะไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านของคุณเลย แม้แต่ในทีมฟุตบอลเองก็ตาม ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกอยู่เสมอ เพราะไม่มีชาวคาทอลิกอยู่ในทีมมากนัก ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่เท่าไหร่”

 

ขนาดสวมเสื้อทีมชาติไอร์แลนด์เหนือยังลำบากใจ จะให้ แม็คเคลน สวมชุดแข่งขันที่ประดับดอกป๊อปปี้ เพื่อเชิดชูความเสียสละของทหารสหราชอาณาจักรคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเจ้าตัวยึดมั่นในอุดมการณ์นี้อย่างเหนียวแน่น

 

เพราะนับตั้งแต่ย้ายมาเล่นในอังกฤษกับซันเดอร์แลนด์ เมื่อปี 2011 ตามด้วย วีแกน แอธเลติก, เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน, สโต๊ก ซิตี้ และกลับสู่วีแกนอีกครั้งในปัจจุบัน เขาไม่เคยสวมชุดแข่งขันที่ประดับดอกป๊อบปี้ลงสนามเลย

ประเด็นนี้เคยเป็นเรื่องใหญ่อย่างมากในเดือนพฤศจิกายน ปี 2012 หลังแม็คเคลนปฏิเศษจะสวมชุดแข่งขันที่ประดับดอกป๊อบปี้ลงสนาม ในเกมที่ซันเดอร์แลนด์ แพ้ เอฟเวอร์ตัน 1-2 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลอังกฤษ

จุดยืนที่หนักแน่นในเรื่องนี้ของแม็คเคลน ส่งผลให้เขาถูกโห่อย่างหนักโดยแฟนบอลฝ่ายตรงข้าม แต่ที่แย่ที่สุดคือแฟนบอลทีมตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น แม็คเคลนยังถูกโจมตีอย่างหนักโดยกลุ่มผู้นิยมกษัตริย์ของอังกฤษ และถูกดูหมิ่นด้วยอคติทางชาติพันธุ์ ก่อนลามมาสู่การถูกขู่ฆ่าโดยผู้ไม่พอใจการกระทำของปีกชาวไอร์แลนด์

 

“ผมต้องการให้เขาตาย แม้ตอนนี้ผมจะไม่คิดทำตามคำขู่ที่เคยส่งให้แม็คเคลนแล้ว แต่ผมไม่สามารถรับผิดชอบกับสิ่งที่คนอื่นอาจจะทำกับเขาได้ เพราะเขาแม่งโคตรจะไม่สำนักบุญคุณ” โคดี้ ลาเชย์ ช่างทำประตูจากเมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นอดีตทหารในกองทัพอังกฤษ ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ หลังถูกจับได้ว่าส่งคำขู่ฆ่าแม็คเคลนด้วยอาวุธปืน

แม้ต้นสังกัดของแม็คเคลนในขณะนั้น อย่าง ซันเดอร์แลนด์ จะออกมาปกป้องการกระทำของเขา โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของนักเตะที่จะสวมชุดแข่งขันที่ประดับดอกป๊อบปี้หรือไม่ก็ได้ รวมถึงมีนักเตะอีกหลายคนที่สนับสนุนการกระทำของเขาในครั้งนี้

 

แต่ด้วยแรงกดดันที่มากเกินไป แม็คเคลนจึงต้องอธิบายอย่างเป็นทางการในปี 2014 ถึงเหตุผลแท้จริงในการกระทำครั้งนี้ โดยเขาได้กล่าวว่า หากดอกป๊อบปี้รำลึกถึงความเสียสละของผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เจ้าตัวจะไม่มีปัญหาเลย แต่ในเมื่อดอกป๊อบปี้รำลึกถึงการกระทำทั้งหมดของทหารสหราชอาณาจักร รวมถึงการสังหารชาวไอริชในวันอาทิตย์ทมิฬ เขาจึงไม่อาจแสดงจุดยืนที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวได้

“ดอกป๊อบปี้รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่นหลังจากปี 1954 และนั่นคือปัญหาสำหรับผม เพราะในฐานะคนที่มาจากไอร์แลนด์เหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเมืองเดอร์รี สถานที่เกิดเหตุวันอาทิตย์ทมิฬในปี 1972 ดอกป๊อบปี้กลับมีความหมายที่แตกต่างออกไป”

“เมื่อคุณมาจากเมืองเดอร์รี คุณจะรู้ดีว่า ทุกคนยังใช้ชีวิตภายใต้ร่มเงาของหนึ่งในความมืดหม่นที่สุดของประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ สำหรับผม การสวมชุดแข่งขันที่ติดดอกป๊อบปี้ จึงเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตในช่วงเดอะทรับเบิลส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันอาทิตย์ทมิฬ”

ไม่ติดดอกป๊อบปี้ผิดหรือไม่ ? 

หากกล่าวกันตามธรรมเนียมปฏิบัติในวงการฟุตบอลอังกฤษ การสวมชุดแข่งขันที่ประดับดอกป๊อบปี้ลงสนาม ไม่ได้มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับให้นักฟุตบอลทุกคนปฏิบัติตามแต่อย่างใด นักฟุตบอล เช่น แม็คเคลน จึงมีสิทธิที่จะแสดงจุดยืนของตนได้ เมื่อบวกกับธรรมเนียมนี้ที่เพิ่งเริ่มต้นในวงการฟุตบอล เมื่อปี 2010 เราคงกล่าวได้ว่า การปฏิเสธจะสวมชุดแข่งขันที่ติดดอกป๊อบปี้ ไม่ใช่การกระทำที่ดูหมิ่นทหารผู้เสียชีวิตขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน ในภาคส่วนอื่นของสังคมอังกฤษ มีผู้คนมากมายที่เลือกจะไม่ประดับดอกป๊อบปี้ในวันทหารผ่านศึก เพื่อแสดงจุดยืนของตนที่แตกต่างออกไป โดยบางคนมองว่า ดอกป๊อบปี้ถูกใช้โดยผิดความหมายในปัจจุบัน เนื่องจากจิตวิญญาณที่เปลี่ยนไปของกองทัพอังกฤษ หลังเป็นส่วนหนึ่งในการบุกตะวันออกกลาง หรือ การประดับดอกป๊อบปี้เพื่อให้ดูรักชาติ แทนจะรำลึกถึงทหารผู้เสียชีวิตจริง ๆ

ผู้ปฏิเสธจะติดดอกป็อบปี้บางกลุ่มยังเชื่อว่า แท้จริงแล้ว ดอกป๊อบปี้เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ และไม่ควรเกี่ยวข้องกับสิ่งใดที่ยึดโยงกับสงครามทั้งสิ้น โดยคนกลุ่มนี้จะใช้ดอกป๊อบปี้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ และคนที่ปฏิเสธจะติดดอกป๊อบปี้กลุ่มสุดท้าย มีจุดยืนง่าย ๆ เพียงแค่ว่า “ต้องการต่อต้านคนที่บังคับให้คนอื่นติดดอกป๊อบปี้”

 

การปฏิเสธจะสวมชุดแข่งขันติดดอกป๊อบปี้ของแม็คเคลน เนื่องจากจุดยืนที่อยู่ตรงข้ามกองทัพอังกฤษ จึงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หรือ ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมด้วยซ้ำ เพราะมีชาวอังกฤษจำนวนมากที่เลือกจะแสดงจุดยืนของตน ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป

ถึงอย่างนั้น เราคงต้องยอมรับว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองในวงการกีฬาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเสมอ ยกตัวอย่าง เหตุการณ์เมื่อปี 2010 ที่แฟนบอลกลาสโกว์ เซลติก แสดงจุดยืนต่อต้านการติดดอกป๊อบปี้ลงในชุดแข่งขัน โดยมีข้อความว่า “ไม่มีดอกป๊อบปี้เปื้อนเลือดบนเสื้อของเรา” และ “การกระทำของพวกแกทำให้ปีศาจทั้งปวงในนรกต้องอับอาย”

ทั้งนี้ กลาสโกว์ เซลติก ถือเป็นสโมสรที่มีฐานแฟนบอลเป็นชาวคาทอลิกในสกอตแลนด์ และการต่อต้านนี้มีจุดยืนเพื่อแสดงถึงการกระทำของกองทัพอังกฤษในเหตุการณ์วันอาทิตย์ทมิฬ และอาจรวมถึงรวมถึงการบุกตะวันออกกลางของสหราชอาณาจักรด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไร สโมสรออกมาขอโทษต่อการแสดงออกของแฟนบอลในครั้งนี้ และยืนยันว่า มีแฟนเซลติกเพียง “ส่วนน้อย” ที่ไม่เคารพดอกป๊อบปี้

 

การประดับดอกป๊อบปี้เพื่อรำลึกถึงทหารผู้เสียสละในสงคราม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเหรียญสองด้าน เพราะด้านหนึ่งยอมเป็นการรำลึกถึงรั้วของชาติที่ออกไปต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศชาติ แต่อีกด้านที่ผู้คนเลือกจะไม่มองเห็น คือผู้เสียชีวิตมากมายจากน้ำมือของทหารที่อ้างว่าทำไปทั้งหมดเพื่อประเทศชาติ และผาสุกของประชาชน

เจมส์ แม็คเคลน และจุดยืนเรื่องการสวมชุดแข่งขันที่ประดับดอกป๊อบปี้ของเขา จึงเป็นการสะท้อนให้สังคมอังกฤษเห็นถึงความรู้สึกของคนกลุ่มน้อยในสังคม ที่พวกเขามองข้ามกันมานาน ส่วนคำตอบเรื่องการกระทำของแม็คเคลนว่าเหมาะสมหรือไม่ ผู้อ่านทุกท่านคงต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง …