“ผมบอกทุกคนในวงการฟุตบอลเสมอว่าบอลข้ามเส้นไปเป็นเมตร” เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ กล่าว
30 กรกฎาคม 1966 สิงโตคำราม ทีมชาติอังกฤษ สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกครั้งแรกและครั้งเดียวในบ้านตัวเอง หลังเอาชนะ เยอรมันตะวันตก ในช่วงต่อเวลาพิเศษไปอย่างสุดมัน 4-2 จากการซัดแฮตทริกของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์
อย่างไรก็ดีประตูที่สองที่อดีตกองหน้า เวสต์แฮม ทำได้นั้น เต็มไปด้วยข้อกังขา เมื่อจังหวะที่เขายิงไปเช็ดคาน บอลกระดอนลงบนพื้นอย่างรวดเร็ว จนแทบมองไม่ทันว่ามันข้ามเส้นไปหรือยัง แต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินก็ให้ลูกนี้เป็นประตู
นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 70 ปีแล้วที่ผู้คนยังถกเถียงกัน และนี่คือการพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้
แชมป์โลกสมัยแรกและสมัยเดียว
อังกฤษ มักจะถูกยกย่องในฐานะต้นตำรับของฟุตบอลสมัยใหม่ เนื่องจากพวกเขาคือชาติแรกของโลกที่ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นในปี 1863 แถมยังเป็นชาติแรกที่มีลีกฟุตบอลอาชีพถือกำเนิดขึ้นในปี 1888
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงความสำเร็จ เรียกได้ว่าอาจห่างไกลกับคำนี้อยู่พอสมควร เมื่อในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 พวกเขาไม่เคยแม้แต่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันระดับโลกอย่าง ฟุตบอลโลก ขณะที่เหรียญทอง 3 ครั้งในโอลิมปิกปี 1900, 1908 และ 1912 ก็เป็นในนามของทีมสหราชอาณาจักร ซึ่งมี สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์ และ ไอร์แลนด์เหนือ เป็นส่วนหนึ่งด้วย (ก่อนที่ไอร์แลนด์ กับ ไอร์แลนด์เหนือ จะแยกตัวออกไปในปี 1924)
จนกระทั่งในปี 1966 อังกฤษก็มามีความหวัง เมื่อพวกเขาได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก ทำให้พลพรรคสิงโตคำรามหมายมั่นปั้นมือกับทัวร์นาเมนต์นี้เป็นพิเศษ และหวังจะได้ชูถ้วย จูลส์ ริเมต์ ต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง
และดูเหมือนการได้เล่นในบ้านจะทำให้อังกฤษทำผลงานได้ดีเป็นพิเศษ พวกเขาคว้าแชมป์กลุ่มในรอบแรก โดยไม่เสียแม้แต่ประตูเดียว ก่อนจะปราบทั้ง อาร์เจนตินา และ โปรตุเกส จนผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ทว่าคู่ต่อกรในนัดชิงฯ ของพวกเขาก็ไม่ธรรมดา นั่นก็คือเยอรมันตะวันตก เจ้าของแชมป์โลกปี 1954 และอันดับ 4 ฟุตบอลโลกที่สวีเดนในอีก 4 ปีต่อมา แถมเกมรุกของพวกเขาก็ดุดัน เมื่อซัดไปถึง 13 ประตูจาก 5 นัดก่อนนัดชิงชนะเลิศ
อย่างไรก็ดีอังกฤษไม่ได้เกรงกลัวอยู่แล้ว แม้พวกเขาจะถูกนำไปก่อนจากลูกยิงของ เฮอร์มุต เฮลเลอร์ ตั้งแต่นาทีที่ 12 แต่ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ก็มาตีเสมอได้อย่างทันควันในนาทีที่ 18 จนกระทั่งนาทีที่ 78 มาร์ติน ปีเตอร์ส ปีกซ้ายของทีมก็มายิงให้เจ้าภาพเป็นฝ่ายขึ้นนำในนาทีที่ 78
แต่ทัพอินทรีเหล็กก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขามาตามตีเสมอก่อนหมดเวลาเพียงแค่นาทีเดียวจาก โวล์ฟกัง เวเบอร์ แนวรับของทีมที่ซ้ำลูกขลุกขลิกหน้าปากประตูเข้าไป และทำให้ต้องต่อเวลาพิเศษออกไปอีก 30 นาที
ช่วงต่อเวลาพิเศษ กลายเป็นอังกฤษที่ทำได้ดีกว่า เมื่อมาได้เพิ่มอีกสองประตูในนาทีที่ 101 และ 120 เอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 4-2 และทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
มันน่าจะเป็นการปิดฉากที่สมบูรณ์แบบกับการได้ชูถ้วยแชมป์โลกต่อหน้าเพื่อนร่วมชาติ หากแต่ 1 ใน 2 ประตูของเฮิร์สต์นั้นเต็มไปด้วยความกังขา
เข้าไปหรือยัง ?
ประตูดังกล่าวเกิดขึ้นในนาทีที่ 101 จากจังหวะที่ เฮิร์สต์ ได้บอลจาก อลัน บอล ก่อนที่เขาจะเกี่ยวกลับมาแล้วยิงยัดไปที่เสาแรก บอลเช็ดคานแล้วกระดอนลงพื้นในสภาพก้ำกึ่ง แต่เป็นผู้เล่นอังกฤษที่แสดงความดีใจและบอกว่าลูกนี้เป็นประตู
แน่นอนว่าผู้เล่นอังกฤษและแฟนบอลอังกฤษ มองว่าลูกนี้ต้องเป็นประตูอย่างแน่นอน รวมไปถึงเฮิร์สต์ผู้ยิงประตูนั้น ที่แม้ว่าเขายอมรับว่าไม่ได้เห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน แต่เขาก็ “เชื่อ” ว่าบอลได้ข้ามเส้นไปแล้ว
“ผมบอกทุกคนในวงการฟุตบอลเสมอว่าบอลข้ามเส้นไปเป็นเมตร” เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ กล่าวกับ FIFA.com
“ผมยิงบอลแบบหมุนตัวยิงแล้วก็ล้มลง ดังนั้นผมจึงมีมุมมองที่แย่มาก และลูกบอลก็เด้งอยู่ข้างหลัง (ฮานส์) ทิลคอฟสกี (ผู้รักษาประตูเยอรมัน) ดังนั้นผมจึงไม่เห็นมัน แต่ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าบอลข้ามเส้นไปแล้ว และความเชื่อนั้นก็ค่อนข้างชัดสำหรับผม”
“ผมไปฉลองกับ โรเจอร์ ฮันต์ เขาวิ่งไปฉลองทันทีที่เขาเห็นด้วยตาตัวเองว่าบอลเข้าไป เขาตะโกนว่า มันเป็นประตู และผมก็คิดแบบนั้น”
เช่นกันกับ คีธ วัลดรอน ที่เป็น 1 ใน 8 ของลูกเสือที่นั่งอยู่หลังประตู หลังเขาไปรับจ๊อบเป็นคนช่วยเอาม้วนฟิล์มที่ถ่ายเสร็จแล้วของช่างภาพไปส่งที่ห้องนักข่าวในสนาม เขาบอกว่าดูเหมือนว่าบอลจะเข้าไปแล้ว
“ผมอยู่ในมุมที่ดีที่สุดสำหรับประตูของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ จากมุมที่ผมเห็น มันดูเข้าไปแล้ว แต่ก็ไม่แน่ใจหรอก เพราะหลังจากนั้นเราก็ต่างกระโดดฉลองด้วยความดีใจ” วัลดรอน ที่ตอนนี้อายุ 71 ปีกล่าวกับ The Mirror
“ผมมั่นใจว่ามันเป็นประตู และโชคดีที่ผู้กำกับเส้นชาวรัสเซียช่วยเรา”
อย่างไรก็ดีมันตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักเตะเยอรมันบอก อูเว่ เซเลอร์ กัปตันเยอรมันตะวันตกในเกมนั้นยืนยันว่าเขาเห็นอย่างชัดเจนว่าบอลไม่ได้ข้ามเส้นเข้าไปแม้แต่น้อย
“ผมยืนอยู่ที่หน้ากรอบประตูและเห็นอย่างชัดเจนว่าบอลยังไม่ได้ข้ามเส้น” เซเลอร์ กล่าวกับ i24 News
“เราทุกคนต่างโกลาหล ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นต่อไป ไม่มีใคร (ในทีมเยอรมันตะวันตก) เข้าใจว่าทำไมถึงได้ประตู”
ขณะที่ โวล์ฟกัง เวเบอร์ กองหลังของทีมอินทรีเหล็กในเกมนั้น ซึ่งน่าจะเป็นคนที่อยู่ใกล้เหตุการณ์มากที่สุด เมื่อเป็นคนเคลียร์บอลที่กระดอนออกมาข้ามคานออกหลังไป ก็บอกว่าลูกนั้นมันไม่ควรเป็นประตูอย่างแน่นอน และโกรธมากที่เหล่านักเตะอังกฤษแสดงความดีใจ
“ผมบอกเขาว่า ‘หยุดเดี๋ยวนี้ นายกำลังทำอะไร’ ผมเห็นชัดเจนว่าบอลยังไม่ได้เข้าไป” เวเบอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาพยายามบอกให้ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เอาแขนลงกับ Der Tagesspiegel
“ชัดเจนว่าพวกอังกฤษถูกสอนว่าให้ยกแขนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อโน้มน้าวผู้ตัดสิน”
แน่นอนว่าด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างคิดและมองคนละมุม จึงทำให้ประตูนี้ถูกถกเถียงกันมาตลอด แล้วความจริงเป็นเช่นไร ?
วิทยาศาสตร์ไขคำตอบ
“ผมยังคงมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์จนถึงวันนี้ว่ามันไม่เป็นประตู” ฮานส์ ทิลคอฟสกี ผู้รักษาประตูเยอรมันตะวันตกบอกกับ FIFA.com
“ผมมองผ่านไหล่ซ้าย และเห็นได้ชัดเจนว่าบอลไม่ได้อยู่หลังเส้น มันกระดอนอยู่บนเส้น”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประตูของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเสมอ และทำให้ยอดดาวยิงทีมชาติอังกฤษต้องเจอกับสองคำถามอย่าง “มันเป็นประตูหรือไม่ ?” และ “มันข้ามเส้นไปหรือยัง?” มาตลอดชีวิต
ประตูดังกล่าวยังทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดว่าผู้กำกับเส้นสัญชาติโซเวียตต้องการจะล้างแค้นเยอรมัน หลังทีมชาติโซเวียตตกรอบรองชนะเลิศด้วยน้ำมือของทัพอินทรีเหล็ก ทว่าทฤษฎีนี้ต้องตกไป เพราะที่จริง บาห์รามอฟ เป็นชาวอาเซอร์ไบจาน ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต
ทำให้ผู้คนต่างพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้มาตลอดเพื่อยุติข้อขัดแย้งนี้ และในปี 1996 ก็ดูเหมือนจะมีความหวัง เมื่อ เอียน รีด และ แอนดรู ซิสเลอร์แมน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด อาสาที่จะมาไขคำตอบนี้
พวกเขาใช้วิธีนำวิดีโอฟุตเทจจากสองมุมในเฟรมเดียวกันมาเทียบกัน โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Projective Geometry เพื่อจำลองภาพของกรอบ 6 หลาในมุมสูง จากนั้นพวกเขาใช้วิธีพล็อตจุด เพื่อแสดงการเคลื่อนที่ของบอล รวมไปถึงจุดที่บอลตกลงบนพื้น
“หลังจากแปลงฟุตเทจเป็นดิจิตอล เราได้ใช้เทคนิค Projective Geometry กับสองภาพนี้ เพื่อสร้างภาพในกรอบ 6 หลาจากมุมสูง ซึ่งเราได้พล็อตจุดที่บอลตกถึงพื้นในแนวดิ่ง” ดร.รีด แห่งภาควิศวกรรมศาสตร์ อธิบาย
“เราใช้เสาประตูเพื่อคาดคะเนจุดที่หายไปในเส้นตั้ง โดยเส้นตั้งจะลากผ่านบอล ทำให้เห็นจุดที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากมุมสูง”
“ภาพจากสองมุมจะทำให้เกิดเส้นสองเส้นลากตัดผ่านกัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น”
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในฟุตเทจ มีบางมุมที่บอลถูกบดบังโดยเสาหรือผู้รักษาประตู พวกเขาจึงได้เผื่อความผิดพลาด เช่นการเกิด Motion Blur (กล้องขยับ แล้วภาพไม่ชัด) หรือมุมมองที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
“มีสามเฟรมสำคัญที่ไม่สามารถคำนวณตำแหน่งได้ เพราะลูกบอลถูกผู้รักษาประตูบังถึง 3/4 แต่ในอีกด้านหนึ่ง สามารถเห็นตำแหน่งของบอลชัดเจน ทำให้รู้ตำแหน่งของบอลก่อนที่มันจะหายไปแล้วโผล่กลับมาอีกครั้ง” ดร.รีด ธิบายต่อ
“แม้ว่าบอลจะถูกบัง แต่มันก็อยู่ในขอบเขตเล็ก ๆ ที่จำกัด ที่ทำให้สามารถทดสอบได้”
และจากการทดลองซ้ำ ๆ หลายต่อหลายครั้งของพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่า ลูกขึ้นนำของอังกฤษในช่วงต่อเวลาพิเศษในวันนั้น ยังไม่ได้ข้ามเส้นเข้าไปเต็มใบ
“ผลของการวิคราะห์นี้สรุปได้ว่าบอลตกลงบนเส้น และเมื่อพิจารณาถึงความเออเรอร์ที่เลวร้ายที่สุด บอลก็ยังห่างจากการเป็นประตูถึง 3 นิ้ว” ดร.รีด สรุปงานวิจัย
แม้ว่าในปี 2016 Sky Sports สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของอังกฤษ จะพยายามพิสูจน์เรื่องนี้อีกครั้ง ด้วยการใช้เทคโนโลยี Virtual Reality ของ EA Sports จำลองเหตุการณ์ขึ้นมา แต่วิดีโอที่พวกเขาแสดงก็ถูกโต้แย้งว่ามีมุมมองที่ดูหลอกตา
เนื่องจากในเหตุการณ์จริงที่พวกเขาอ้างอิงมา เป็นจังหวะที่บอลกระดอนพื้นแล้วลอยอยู่บนอากาศ แต่ในแบบจำลองของ EA Sports บอลกลับอยู่บนพื้น จึงทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อพิสูจน์นี้ลดน้อยลงไป
ฟุตบอลกับเทคโนโลยี
อันที่จริงหลังจากประตูของ เฮิร์สต์ ก็ยังมีประตูที่เต็มไปด้วยความกังขา หรือจังหวะที่ควรได้ประตูแต่กลับไม่ได้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประตูของ หลุยส์ การ์เซีย ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบรองชนะเลิศ ที่ ลิเวอร์พูล พบกับ เชลซี เมื่อปี 2005 หรือลูกยิงของ เปโดร เมนเดส แข้ง ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ในเกมพรีเมียร์ลีก นัดที่พบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2005
แต่ถึงอย่างนั้นฟีฟ่าก็ยังยืนกรานว่าจะไม่ยอมให้เอาเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสินฟุตบอล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หนึ่งในฟุตบอลโลก 2010 ที่เป็นการพบกันระหว่างคู่กรณีเก่าอย่าง อังกฤษ และ เยอรมัน
เกมนั้นเยอรมันเป็นฝ่ายออกนำไปก่อน 2-0 ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกจาก มิโรสลาฟ โคลเซ่ และ ลูคัส โพดอลสกี แต่อังกฤษก็มายิงตีตื้นได้จาก แมตธิว อัพสัน ในนาทีที่ 37
จากนั้นอังกฤษมีโอกาสตีเสมอ จากลูกยิงของ แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่ยิงเช็ดคานผ่านมือ มานูเอล นอยเออร์ ตกลงข้ามเส้นประตูอย่างชัดเจน แต่โชคร้ายที่ผู้ตัดสินในเกมนั้นไม่เห็นและให้เล่นต่อไป จนสุดท้ายอังกฤษกลายเป็นฝ่ายพ่ายไปอย่างยับเยิน 4-1
เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นครึกโครม และเรียกร้องให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสิน เพื่อลดความผิดพลาดเสียที แต่ฟีฟ่าก็ยังดื้อดึง และใช้ผู้ตัดสินที่ 5 อยู่หลังประตูแทน
แต่สุดท้ายเหตุการณ์ซ้ำรอยในยูโร 2012 ระหว่าง อังกฤษ และ ยูเครน ที่ลูกยิงของ มาร์โก เดวิช ข้ามเส้นไปแล้ว แต่ผู้ตัดสินมองไม่ทัน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ฟีฟ่า ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “โกลไลน์” อย่างจริงจัง และใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้
จริงอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาตัดสิน จะทำให้ฟุตบอลขาดความต่อเนื่อง หรือขาดเสน่ห์อย่างที่แฟนบอลคลาสสิกมอง แถมข้อผิดพลาดก็ยังมีให้เห็นอยู่ (ยกตัวอย่างเช่น VAR ในพรีเมียร์ลีก) แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ฟุตบอลพัฒนาต่อไปได้ในทางที่ดีขึ้น
เพราะฟุตบอลเป็นแบบนี้มาตลอด มันถูกปรับ เปลี่ยนแปลง และแก้ไข มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และความไม่สมบูรณ์แบบนี้ก็ทำให้มันเป็นฟุตบอลอย่างในปัจจุบัน
“ฟุตบอลทุกวันนี้กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่แน่นอนเพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนั้น” เซเลอร์ กล่าวกับ i24News
“แน่นอนว่ามันมีความผิดพลาดอยู่เสมอ แต่นั่นก็คือส่วนหนึ่งของฟุตบอล”