เพียงวันอาทิตย์ 6 ส.ค. นี้แล้ว ที่เกมอันเป็นเสมือน “ออร์เดิร์ฟ” เสิร์ฟมาก่อนจานหลัก อย่าง คอมมิวนิตี ชิลด์ 2023 จะได้ฤกษ์ลงสนาม ระหว่างเก่งใหญ่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เจ้าของแชมป์พรีเมียร์ลีกซีซันก่อน (ถูกต้อง, สามารถใช้คำว่า “ซีซันที่แล้ว” ได้แล้วในตอนนี้) กับเก่งเล็ก อาร์เซนอล ที่ได้สิทธิ์มาเล่นถ้วยนี้ในฐานะรองแชมป์ลีก เมื่อ เอฟเอ คัพ ก็เป็นทัพเรือเจ้าเก่านั่นเองที่คว้าไป
นอกเหนือจากเรื่องสภาพความพร้อม ลองไปสำรวจตรวจตราดูจุดอื่นๆที่น่าสนใจของ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ฝั่งกันหน่อย เป็นการอุ่นเครื่องก่อนเกมสำคัญนัดนี้จะมาถึง
คอมมิวนิตี ชิลด์ เป็นอีกหนึ่งรายการสุดจะเก่าแก่เข้มขลังของฟุตบอลอังกฤษ เริ่มต้นสาดแข้งกันมาตั้งแต่ปี 1908 หรือ 115 ปีมาแล้ว
เกมวันอาทิตย์นี้ จะเป็นเวอร์ชันที่ 101 ของคอมมิวนิตี ชิลด์ ซึ่งที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นเจ้าแห่งรายการนี้ ได้แชมป์ไปครอง 21 ครั้งจากการมาเตะ 30 หน แล้วจึงตามมาด้วย ลิเวอร์พูล กับ อาร์เซนอล ที่ได้ไป 16 สมัยเท่ากัน
ด้าน แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แม้จะยกระดับตัวเองไปเป็นมหาอำนาจผู้ไร้เทียมทานของพรีเมียร์ลีกในหลายปีหลัง แต่ก็เคยได้แชมป์คอมมิวนิตี ชิลด์ แค่ 6 ครั้งเท่านั้น จากการมาเซิ้งแข้ง 14 หนด้วยกัน
สำหรับ แมนฯ ซิตี้ กับ อาร์เซนอล เคยเจอกันมาในคอมมิวนิตี ชิลด์ 2 ครั้ง เริ่มที่ยุคโบราณในชื่อแชริตี ชิลด์ ปี 1934 และย้อนไปไม่นานนี้ คอมมิวฯ ปี 2014
น่าสนใจว่า อาร์เซนอล ถล่มชนะขาดลอยทั้ง 2 หน ด้วยสกอร์ 4-0 กับ 3-0 ตามลำดับ โดยที่ มิเกล อาร์เตตา เป็นกัปตันทีมปืนใหญ่ในแชมป์ครั้งหลังสุดนี้ด้วย
กำแพงสีฟ้าที่ อาร์เซนอล ก้าวข้ามไม่พ้น
ไม่ต้องพูดย้ำถึงการช่วงชิงแชมป์ซีซันก่อนให้ช้ำใจแฟนๆปืนใหญ่ก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ อาร์เซนอล เลี่ยงไม่พ้น ก็คือตลอดหลายปีหลัง พวกเขาโดน แมนฯ ซิตี้ “ตบทิ่ม” ตลอดในแทบทุกการพบกัน ทุกครั้ง ทุกสถานที่
2017/18 : แมนฯ ซิตี้ 3-1 (พรีเมียร์ลีก), แมนฯ ซิตี้ 3-0 (ลีกคัพ), แมนฯ ซิตี้ 3-0 (พรีเมียร์ลีก)
2018/19 : แมนฯ ซิตี้ 2-0 (พรีเมียร์ลีก), แมนฯ ซิตี้ 3-1 (พรีเมียร์ลีก)
2019/20 : แมนฯ ซิตี้ 3-0 (พรีเมียร์ลีก), แมนฯ ซิตี้ 3-0 (พรีเมียร์ลีก), อาร์เซนอล 2-0 (เอฟเอ คัพ)
2020/21 : แมนฯ ซิตี้ 1-0 (พรีเมียร์ลีก), แมนฯ ซิตี้ 4-1 (ลีกคัพ), แมนฯ ซิตี้ 1-0 (พรีเมียร์ลีก)
2021/22 : แมนฯ ซิตี้ 5-0 (พรีเมียร์ลีก), แมนฯ ซิตี้ 2-1 (พรีเมียร์ลีก)
2022/23 : แมนฯ ซิตี้ 1-0 (เอฟเอ คัพ), แมนฯ ซิตี้ 3-1 (พรีเมียร์ลีก), แมนฯ ซิตี้ 4-1 (พรีเมียร์ลีก)
16 แมตช์หลังสุดที่พบกันในทุกรายการ ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะลงเอยด้วยผลเสมอ ประเด็นก็คือ อาร์เซนอล ชนะได้เพียง 1 ครั้งถ้วน ส่วน แมนฯ ซิตี้ ฟาดเรียบ 15 จาก 16 ครั้ง
หนเดียวจาก 16 เกมหลังสุด คือ เอฟเอ คัพ 2019/20 รอบตัดเชือก ปิแอร์-เอเมริก โอบาเมย็อง เหมาสองสยบเรือ 2-0 ผ่านเข้าชิงและคว้าแชมป์ได้ในท้ายที่สุด (ชนะ เชลซี 2-1)
ส่วนในพรีเมียร์ลีก ครั้งสุดท้ายที่ อาร์เซนอล จมเรือลงได้ ต้องย้อนไปไกลถึง 2015/16 ที่ทีมยุค อาร์แซน เวนเกอร์ เปิดเอมิเรตส์ สเตเดียม เบียดกำชัย 2-1 ธีโอ วัลค็อตต์ กับ โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ซัดคนละเม็ด
สำหรับ “ลูกศิษย์” อย่าง มิเกล อาร์เตตา นับตั้งแต่เข้านั่งเก้าอี้คุมปืนแทน อูไน เอเมรี แล้ว ก็เคยได้นำทีมลงชน “อาจารย์” เป๊ป กวาร์ดิโอลา ทั้งหมด 9 ครั้ง
ชัยชนะครั้งเดียวก็คือ เอฟเอ คัพ 2019/20 อย่างที่ว่า นอกนั้น เป๊ป มาวินถึง 8 ครั้ง หนล่าสุดซีซันก่อน 6 แต้มเต็มๆที่เรือได้จากปืน ก็คือปัจจัยสำคัญยิ่งของการตัดสินแชมป์ เพราะฉะนั้น ก็ชัดเจนมากว่า แมนฯ ซิตี้ คือ “ของแสลง” ที่ อาร์เซนอล ต้องขมคอทุกครั้งยามที่เผชิญหน้า
เช่นกัน คอมมิวนิตี ชิลด์ วันอาทิตย์นี้ อาร์เซนอล ก็จะลงสนามไปพร้อมกับความเป็น “มวยรอง” เหมือนเคย ถ้าจะมีอะไรที่พอเหนือกว่าบ้าง ก็อาจเป็นเรื่องของความฟิต ที่พวกเขาผ่านเกมพรีซีซันมาแล้ว 5 นัด ส่วน แมนฯ ซิตี้ เตะไปแค่ 3 เกมเท่านั้น แข้งเรือบางรายยังไม่ได้ลงเคาะสนิมเลยด้วยซ้ำ
อาถรรพ์แห่ง คอมมิวนิตี ชิลด์ ยังมีอยู่ไหม?
ปิดท้ายที่เรื่องของ “อาถรรพ์” ซึ่งเคยเป็นที่โจษจันสำหรับรายการแชริตี ชิลด์ / คอมมิวนิตี ชิลด์ ว่าทีมใดก็ตามที่ครองแชมป์นี้ จะไปไม่ถึงแชมป์พรีเมียร์ลีกสำหรับซีซันใหม่
แม้เอาเข้าจริง สัดส่วนของความ “บังเอิญ” (เมื่อแชมป์ลีกก็มีได้แค่ทีมเดียวในแต่ละปี) จะมากกว่าเรื่องของสิ่งลี้ลับ
แต่ก็เป็นเรื่องจริงอยู่เหมือนกันที่ เจ้าของแชมป์โล่การกุศล ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการจนขึ้นบัลลังก์แชมป์ได้เป็นผลสำเร็จในซีซันเดียวกันนั้น
พบว่า 22-23 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 6 ครั้งเท่านั้นที่ “แชมป์คอมมิวฯกับแชมป์พรีเมียร์ลีก เป็นทีมเดียวกัน” เกิดขึ้นกับ เชลซี 2005/06, แมนฯ ยูไนเต็ด 2007/08, แมนฯ ยูไนเต็ด 2008/09, เชลซี 2009/10, แมนฯ ยูไนเต็ด 2010/11 และ แมนฯ ซิตี้ 2018/19
นั่นเท่ากับว่า ในระยะ 10 ปีหลังสุด ก็มีเพียง “หนึ่งรายถ้วน” เท่านั้น นั่นคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 2018/19 ที่ทำได้ ว่าหลังจากชนะ เชลซี 2-0 ในเกมชิงโล่นี้แล้ว เป๊ป กวาร์ดิโอลา ก็นำเรือใบสีฟ้าเฉือน ลิเวอร์พูล เข้าป้ายครองแชมป์พรีเมียร์ลีกแบบที่เอาชนะกันแค่แต้มเดียวเท่านั้น 98:97
น่าสนใจดีว่า 3 ครั้งหลัง ทีมแชมป์คอมมิวนิตี ชิลด์ ล้วนแต่มีซีซันที่ค่อนไปทางล้มเหลวเมื่อพรีเมียร์ลีกมาถึง ไม่ว่าจะ อาร์เซนอล ที่จบอันดับ 8, เลสเตอร์ ซิตี้ ที่จบอันดับ 8 เช่นกัน หรือ ลิเวอร์พูล เจ้าของแชมป์คอมมิวฯ รายล่าสุด ซึ่งจบแค่อันดับ 5 ซีซันที่ผ่านมา
ฉะนั้น แม้อาจพูดไม่ได้เต็มเสียงว่าเป็น “อาถรรพ์” แห่งฟุตบอลอังกฤษ แต่สถิติก็ฟ้องอยู่ในตัวเองเหมือนกันว่า แชมป์คอมมิวฯมัก “จบไม่ค่อยสวย” จริงเสียด้วยกับชะตาชีวิตในพรีเมียร์ลีกปีเดียวกันนั้น
ก็คงเป็นเรื่องของทั้ง เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ มิเกล อาร์เตตา เองแล้วที่จะประเมินว่า ควรใส่สุดแค่ไหนเพื่อแชมป์แรกของซีซัน หรือจะจัดให้เกมนี้เป็นแค่อีกเกมอุ่นเครื่อง เอาไว้ทดสอบนักเตะไว้ลองเชิง ไว้เคาะสนิม และเตรียมพร้อมขั้นสุดท้ายเท่านั้น
จับตาดูไปพร้อมกัน วันอาทิตย์นี้ สี่ทุ่มตรง โทรฟีแรกสุดของซีซันจะเป็นของใคร? ระหว่าง แมนฯ ซิตี้ กับ อาร์เซนอล