sportpooltoday

ไม่ต้องรู้ว่าผมเป็นใคร : นักฟิสิกส์และนักวิจัย เบื้องหลังทีมข้อมูลลิเวอร์พูล


ไม่ต้องรู้ว่าผมเป็นใคร : นักฟิสิกส์และนักวิจัย เบื้องหลังทีมข้อมูลลิเวอร์พูล

เราทราบกันดีว่าทีมงานด้านข้อมูลของ ลิเวอร์พูล คือกลุ่มคนที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของสโมสรในการนำพาความสำเร็จกลับมาสู่ถิ่นแอนฟิลด์ได้อีกครั้ง ด้วยการนำข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ ตัดสินใจ พร้อมกับใช้งานทั้งในและนอกสนามแข่งขัน

แต่นอกจากชื่อของ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ประธานฝ่ายเทคนิค กับ เอียน เกรแฮม หัวหน้าฝ่ายข้อมูลของสโมสรแล้ว เราก็แทบไม่เคยได้ยินหรือเห็นหน้าค่าตาเจ้าหน้าที่คนอื่นเลย ทั้งที่โปรไฟล์ของแต่ละคนนั้นต่างก็ไม่ธรรมดากันทั้งสิ้น

หลังจากที่ปล่อยให้ผลงานพูดแทนมานานหลายฤดูกาล วันนี้ Main Stand จะพาไปแนะนำทีมข้อมูลเบื้องหลังของทัพหงส์แดง ผู้ปิดทองหลังพระให้กับสโมสรอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องไปกำชับลูกน้องให้ไม่ต้องบอกว่าเขาเป็นใคร…

ดร. นักวิจัยอนุภาคฟิสิกส์

เริ่มกันที่ทีมงานคนแรก นั่นคือ ดร. วิลเลี่ยม สเปียร์แมน (William Spearman) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสัญชาติอเมริกัน ที่ดูแลการซื้อขายผู้เล่นให้กับทีมมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018


Photo : linkedin.com/in/william-spearman

แค่ชื่อก็คงทำให้ว้าวกันได้แล้ว เพราะนี่อาจเป็นครั้งแรก ๆ ที่คุณได้รู้จักชายคนนี้กันเลย ยิ่งไปกว่านั้น ครั้งเดียวที่เจ้าตัวเคยโผล่ในสื่อโซเชียลอย่างเป็นทางการของสโมสร ก็ต้องย้อนกลับไปถึงงานฉลองคริสต์มาส ปี 2018 ที่ สเปียร์แมน ถูกจับภาพว่ากำลังเต้นอยู่หลัง เยอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมนั่นเอง

แต่นอกจากชื่อที่ไม่คุ้นหูแล้ว ดีกรีของเขาก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะ ดร. สเปียร์แมน จบการศึกษาปริญญาเอกฟิสิกส์ ด้านอนุภาคพลังงานสูง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ควบคู่ไปกับการเคยเป็นเด็กฝึกงานด้านฟิสิกส์อนุภาค ผู้ได้ทำงานธีสิสเรื่องการวัดขนาดและความกว้างของสนามพลังฮิกส์ที่ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ เซิร์น (CERN) มาแล้ว

ถึงโปรไฟล์ของชายผู้นี้จะดูเหมือนเป็นเนิร์ดฟิสิกส์จ๋า จนแทบไม่เห็นแววว่าเจ้าตัวมาเกี่ยวข้องกับด้านฟุตบอลได้ตรงไหน แต่เขาก็ได้ตัดสินใจมาทำงานในด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้กับ Hudl บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านกีฬาชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นี่เอง ดร. สเปียร์แมน ได้ทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์ของการผ่านบอล โดยอาศัยข้อมูลและหลักวิทยาศาสตร์ที่เจ้าตัวได้ศึกษามา ควบคู่ไปกับผลงานต่าง ๆ มากมาย ที่ไปเตะตา เอียน เกรแฮม แห่งสโมสรลิเวอร์พูลเข้าจนได้


Photo : twitter.com/the_spearman

จากวันนั้น ดร. สเปียร์แมน ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในทีมงานของสโมสรมาแล้ว 3 ปีเต็ม ๆ โดยทำงานขึ้นตรงกับ เกรแฮม และทำงานใกล้ชิดกับเหล่าแมวมองของทีมที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศเดียวกันกับเขา เพื่อการประสานงานที่ไร้รอยต่อระหว่างฝ่ายข้อมูลและฟากแมวมองนั่นเอง

แต่นี่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์แห่งรั้วแอนฟิลด์เพียงหนึ่งเดียวของทีม เพราะนอกจากนักฟิสิกส์อนุภาคแล้ว ลิเวอร์พูล ยังมีนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในฝ่ายข้อมูลอีกด้วย

จากดาวสู่ดิน

คนถัดไปในทีมงานสายข้อมูลของหงส์แดง คือ ดร. ทิม แวสเกตต์ (Tim Waskett) ผู้ทำงานด้านข้อมูลเชิงตัวเลข อยู่ในทีมของ เกรแฮม เหมือนกับ ดร. สเปียร์แมน

หากข้อมูลของทีมงานคนแรกจะทำให้ผู้เขียนปวดหัวกับการควานหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเจ้าตัวแล้ว ดร. แวสเกตต์ คือขั้นกว่าขึ้นไปอีก เพราะขนาดในหน้าโปรไฟล์ Linkedin ของเขานั้น ยังระบุบริษัทนายจ้างแห่งปัจจุบันไว้ว่า “ไม่อาจระบุได้อย่างเสรี” หรือแปลไทยเป็นไทยก็คือ “นายไม่ให้บอก” นั่นเอง


Photo : mirror.co.uk

ประวัติของ ดร. แวสเก็ตต์ เองก็ไม่ใช่ธรรมดาเช่นกัน โดยเขาจบการศึกษาปริญญาเอกในด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ พร้อมกับความเชี่ยวชาญในย่านรังสีเอ็กซ์ และได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ทดสอบอุปกรณ์ SPIRE หรือกล้องถ่ายภาพบนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเฮอร์เชล ขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA มาแล้ว

เจ้าตัวเคยมีประสบการณ์ด้านการเขียนโปรแกรมและนิยามตัวเองว่าเป็น “นักพัฒนาเกมอินดี้” ในหน้าไบโอของ ทวิตเตอร์ ก่อนที่ในปัจจุบัน ดร. แวสเกตต์ จะดำรงตำแหน่งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงตัวเลขมาเป็นเวลานานกว่า 9 ปีแล้ว แต่ก็ยังคงเขียนคำอธิบายงานของตนไว้ว่า “งานลับมาก ๆ ที่ผมจะบอกให้คุณได้ฟังในสักวันหนึ่ง” (ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีวันนั้นไหม)

นอกจาก ดร. แวสเกตต์ ทีมงานข้อมูลของลิเวอร์พูลยังประกอบไปด้วย ดาฟีด สตีลล์ (Dafydd Steele) อดีตแชมป์หมากรุกเยาวชน ผู้มาดูแลงานด้านสถิติและตัวเลขให้กับทีมมาตั้งแต่ปี 2013, มาร์ค ฮาวเลตต์ (Mark Howlett) ผู้ดูแลระบบ Database ของสโมสร และยังมี มาร์ส สตีเวนสัน (Mars Stevenson) นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่รับผิดชอบการปรับ Front-end เพื่อให้ทีมวิเคราะห์นำไปใช้งานได้


Photo : LindaPizutti/Instagram

ทีมข้อมูลเหล่านี้ จะกระจายตัวไปทำงานตามจุดต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายไว้ ตั้งแต่เป็นเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลในสนามจากบนอัฒจันทร์ หรือคอยประมวลผลข้อมูลดิบที่เก็บมาได้จากหน้าจอเพื่อส่งต่อให้กับ เกร็ก เมเธียสัน (Greg Mathieson) กับ เจมส์ เฟรนช์ (James French) ที่คอยศึกษาการเล่นของคู่แข่ง และ แฮริสัน คิงส์ตัน (Harrison Kingston) กับ มาร์ค เลย์แลนด์ (Mark Leyland) สองนักวิเคราะห์การเล่นของลิเวอร์พูล ได้คอยตามติดทุกวินาทีสำคัญอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยไม่จำเป็นต้องออกจากห้องแต่งตัวของนักเตะไปแม้แต่วินาทีเดียว

แต่ในเมื่อมีทีมข้อมูลกับหน่วยวิเคราะห์ที่แสนจะโหดสัสรัสเซียระดับนี้ แต่ทำไม ลิเวอร์พูล ถึงไม่เคยโปรโมตผลงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายหลังบ้านเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างกันเลยล่ะ ?

อย่าบอกใครนะ

ในโลกยุคที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างในปัจจุบันนี้ ใครก็ตามที่มีข้อมูลหรือมีเทคนิคที่ก้าวล้ำกว่า ก็แทบจะมีชัยมากไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้น งานของทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลของสโมสรต่าง ๆ จึงมักถูกเก็บไว้เป็นความลับขั้นสุดยอด เช่นเดียวกับชื่อของทีมงานเหล่านี้ ที่ไม่เคยถูกนำมาพูดถึงผ่านช่องทางอย่างเป็นทางการของสโมสรเลย


Photo : www.liverpool.com

แน่นอนว่าทีมฟุตบอลชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก ต่างมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องข้อมูลประจำทีมอยู่แล้ว แต่เหตุที่ทำให้ทีมงานด้านข้อมูลของ ลิเวอร์พูล กลายเป็นที่ยอมรับและพูดถึงในวงกว้าง ก็คงไม่พ้นการที่เจ้าของสโมสรและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทีมได้เปิดใจรับฟัง พร้อมนำข้อมูลจากนักวิเคราะห์เหล่านี้ไปใช้งานอย่างจริงจัง

ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์ ถูกยกย่องประดุจเทพเจ้า เมื่อคราวที่เจ้าตัวสามารถเซ็นสัญญาผู้เล่นอย่าง ซาดิโอ มาเน่, โมฮาเหม็ด ซาลาห์, โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค, อลีสซง เบ็คเกอร์, ฟาบินโญ่, ฮาร์วี่ย์ เอลเลียตต์, และ ดิโอโก้ โชต้า มาร่วมทีมได้สำเร็จ พร้อมกับสามารถปล่อยนักเตะที่หมดสภาพกับทีมชุดปัจจุบันออกไป ด้วยราคาที่ดีได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ต้องขอบคุณการทำงานของทีมข้อมูลหลังบ้านเหล่านี้ ที่ช่วยชี้เป้าการเสริมทัพให้ประสบความสำเร็จได้เกือบทุกครั้ง

มีแหล่งข่าวรายหนึ่งได้เปิดเผยกับสื่อ The Athletic เกี่ยวกับความสำเร็จของ ลิเวอร์พูล จากการใช้ข้อมูลมาประกอบไว้ว่า “ที่พวกเขากำลังออกนำทีมอื่นได้ ก็มาจากความสามารถในการใช้งานผู้คนฝั่งฟุตบอลและฝั่งของโปรแกรมเมอร์ได้อย่างเหมาะสม”

ซึ่งก็คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลย เพราะเมื่อคุณสามารถดึงนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงมาวิเคราะห์ข้อมูลให้กับสโมสร พร้อมกับรับฟังและนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้จริง ผลงานที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 30 ปี หรือแชมป์ยุโรปสมัยที่ 6 ของทีม ก็เป็นที่ประจักษ์กันแล้ว


Photo : mirror.co.uk

นอกจาก 11 คนที่ลงเล่นอยู่ในสนาม ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายในวงกลมรอบนอกที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้จักพวกเขา (และไม่ต้องกำชับทีมงานไม่ให้บอกชื่อด้วย เพราะแทบไม่มีใครรู้จักจริง ๆ) แต่ให้รู้ไว้เพียงว่า ทุกหน้าที่ในสโมสรนั้นต่างมีความสำคัญและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนทีมไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

เช่นเดียวกับทีมข้อมูลเหล่านี้ ที่แม้จะมีภาพปรากฏให้เห็นเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความสำคัญของการมีอยู่ ในเบื้องหลังมุมไกล ๆ จากสายตาสาธารณะได้ไม่น้อย