โมฮาเหม็ด ซาล่าห์ ถูกยกมาพูดถึงเป็นอย่างมากจากบรรดาเหล่าแฟนบอล ลิเวอร์พูล หลังจากโชว์ฟอร์มยิงประตูสุดสวย พร้อมกับจ่ายถวายพานให้ ซาดิโอ มาเน่ หลุดไปใส่สกอร์ในเกมที่พวกเขาเสมอกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไปอย่างสุดมันส์ 2-2
แต่สิ่งที่แฟนบอลหงส์แดงยังเป็นกังวล ก็คงไม่พ้นระยะเวลาสัญญาที่เหลืออยู่ของดาวยิงชาวอียิปต์รายนี้ ซึ่งกำลังจะหมดลงในปลายเดือนมิถุนายน ปี 2023 โดยยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าเจ้าตัวกำลังจะได้จรดปากกาบนสัญญาฉบับใหม่ในเร็ววัน
ทำไมการต่อสัญญาฉบับใหม่ ที่ดูเหมือนแค่เป็นการเพิ่มเงินเดือนให้นักเตะไปลงแข่งให้กับทีม ถึงได้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อวุ่นวายแบบนี้ได้ เป็นเพราะสโมสรไม่ชัดเจนหรือผู้เล่นไม่ชัดเอง ? มาลองวิเคราะห์หาคำตอบไปพร้อมกันกับ Main Stand
มูลค่าของเวลา
ตามกฎบอสแมน เมื่อนักฟุตบอลเหลือสัญญากับต้นสังกัดอีกแค่ 6 เดือน พวกเขาสามารถไปเจรจาสัญญาฉบับถัดไปกับสโมสรใด ๆ ก็ได้ตามที่ตนเองต้องการ จนนำไปสู่การย้ายทีมแบบไร้ค่าตัวที่เรามักคุ้นตากันในช่วงตลาดซัมเมอร์ของแต่ละฤดูกาล
แน่นอนว่านี่คือสิ่งที่ทุกสโมสรต้องการหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะเสี่ยงเสียผู้เล่นไปโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมาแล้ว ยังมีโอกาสยื่นหอกให้ศัตรูร่วมลีกใช้กลับมาทิ่มแทงกันแบบฟรี ๆ ได้อีกด้วย จึงนำไปสู่การต่อสัญญาฉบับใหม่ที่มักเกิดขึ้นเมื่อนักเตะของตนเหลือสัญญาระหว่าง 18 – 24 เดือน
แล้วทำไมต้องต่อในช่วงที่เหลือสัญญาเพียง 1 ปีครึ่ง – 2 ปีกันด้วยล่ะ ถ้ารอให้เหลือหนึ่งปี นักเตะก็ยังไม่สามารถย้ายทีมหนีได้ไม่ใช่หรือ?
ประธานฝ่ายเทคนิคของสโมสรหนึ่งในพรีเมียร์ลีก ได้เปิดเผยกับสื่อ The Athletic ว่า “เมื่อผู้เล่นเหลือสัญญาแค่ปีเดียว เขาและเอเยนต์จะมีความต้องการสูงกว่าสิ่งที่คุณสามารถจ่ายไหว โดยเฉพาะรายที่มีแววโชว์ฟอร์มได้อีก 4-5 ปี คุณจะโดนเอเยนต์พูดในแนวว่า ‘ถ้าคุณซื้อนักเตะใหม่มาแทนผู้เล่นในการดูแลของเขา ต้องใช้เงิน 15 ล้านปอนด์ จะดีกว่าไหมถ้าเอาแค่ 10 ล้านปอนด์มาให้กับนักเตะและตัวเขาเอง “
นั่นคือการยกอำนาจการต่อรองที่คุณมี ให้กับตัวผู้เล่นและเอเยนต์ได้มีโอกาสคุมเกมเหนือกว่าโดยทันที ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ก็เปรียบเสมือนทางแยกที่สโมสรจะต้องตัดสินใจ ว่าจะยอมจ่ายค่าเหนื่อยสูงลิ่วหรือตัดใจปล่อยตัวออกจากทีมด้วยราคาที่ถูกลงในตลาดฤดูหนาว หรือกัดฟันใช้งานผู้เล่นรายนั้นไปจนหมดสัญญา แล้วค่อยปล่อยให้เจ้าตัวได้เลือกเส้นทางต่อไปด้วยตนเอง
ไม่มีตัวเลือกไหนที่ง่ายเลย แม้อาจจะจริงที่ผู้เล่นคีย์แมนของทีมสมควรจะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับตนเอง แต่การขึ้นค่าเหนื่อยให้สูงลิ่วตามแรงกดดันของนักเตะและเอเยนต์นั้น อาจส่งผลต่อโครงสร้างเพดานค่าเหนื่อยในทีม ที่ผู้เล่นรายอื่นก็จะเริ่มเรียกร้องค่าเหนื่อยที่สูงขึ้นตามกันไป หรือกลายเป็นแรงกดดันที่กดทับจนนักเตะคนดังกล่าวโชว์ฟอร์มไม่ออกหรือไม่สมกับความคาดหวังของแฟนบอลขึ้นมาได้ จนทำให้สถานการณ์ที่ควรจะดีขึ้นมากลับแย่ลงไปกว่าเดิม
หากเลือกปล่อยตัวในช่วงตลาดเดือนมกราคม หรือเป็นการรีบปล่อยตัวก่อนที่กฎบอสแมนจะเริ่มใช้ได้นั้น มูลค่าของผู้เล่นรายดังกล่าวก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา เพราะทีมที่ซื้อก็ทราบดีว่าถ้ารออีกแค่ 6 เดือนก็สามารถได้ตัวนักเตะมาฟรี ๆ ได้ แถมยังนำค่าตัวส่วนนี้ไปเพิ่มเป็นแรงจูงใจให้กับนักเตะได้อีกด้วย
แต่ในบางครา การเร่ขายเพื่อค่าตัวไม่กี่ล้านปอนด์ในตลาดเดือนมกราคม ก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ได้เช่นกัน…
ประธานเทคนิคผู้สงวนชื่อรายนี้ได้ให้ความเห็นว่า “ถ้าเรามีผู้เล่นที่มากความสามารถแล้วยังพอช่วยทีมได้ … ทำไมผมต้องพยายามขายเขาออกไปในเดือนมกราคมด้วยล่ะ ? ทำไมต้องพยายามถอนทุนคืนมาให้ได้ไม่กี่ล้าน หากนักเตะคนนั้นสามารถยิงประตูให้เราได้อีกสัก 1-2 ประตู แล้วส่งให้ทีมจบอันดับที่สูงขึ้นมาสัก 2-3 ตำแหน่ง ก็อาจทำเงินให้กับสโมสรได้มากกว่าการเสียเขาไปไม่กี่ตังค์ก็ได้”
แม้การตัดสินใจของสโมสรเพียงฝั่งเดียวจะดูยากและท้าทายมากพอแล้ว ก็ต้องอย่าลืมด้วยว่าท้ายที่สุดแล้วลายเซ็นของนักเตะคือสิ่งที่ทำให้ดีลดังกล่าวลุล่วงไปได้ ซึ่งมีปัจจัยอะไรมาเกี่ยวข้องบ้าง ที่ทำให้ผู้เล่นเหล่านี้ไม่ยอมตัดสินใจต่อสัญญาใหม่กันเสียที?
เงินอาจไม่ใช่ทุกสิ่ง
ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า นักฟุตบอลแต่ละคนต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจและความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ต่างไปจากเรา ๆ ที่ตามเชียร์อยู่เลย พวกเขายังต้องอยู่กิน เลี้ยงดูครอบครัว ควบคู่ไปกับการเล่นฟุตบอลแบบที่เราได้เห็น
บางครั้งหากเรื่องของตัวเลขค่าเหนื่อยไม่ตรงกับใจ นักเตะก็ย่อมมีสิทธิ์ในการเรียกร้องเพิ่มเติม ทั้งจากระยะของสัญญาและความสำคัญที่ตนเองมีต่อทีม ที่เป็นแรงกดดันให้ได้ตัวเลขเงินเดือนเพิ่มขึ้นมาได้ ไม่ว่าจากต้นสังกัดปัจจุบันหรือทีมใหม่ที่ตามจีบอยู่
อาจฟังดูว่าพวกเขาเห็นแก่เงิน แต่คงต้องอย่างลืมว่านักเตะเหล่านี้มีระยะเวลารุ่งโรจน์อยู่ในอาชีพของตนได้สั้นมาก บางรายอาจมีเวลากอบโกยรายได้เข้ามาได้เพียง 10-20 ปีเท่านั้น ก่อนที่จะต้องผันตัวไปทำงานด้านอื่นหรือเกษียณตนเองไปพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยเงินจากน้ำพักน้ำแรงของตน ซึ่งก็มาจากการได้ค่าเหนื่อยทุกสัปดาห์ ในช่วงที่นักบอลเหล่านี้ยังคงสามารถค้าแข้งได้อยู่นี่แหละ
แต่บางครั้ง เงินก็ไม่อาจซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ ใช่… ถ้ามันไม่มากพอ
รถคันใหม่ บ้านหลังใหม่ งานใหม่ให้คนที่ตนเองรัก ประกันสุขภาพทั้งคนและสัตว์ โบนัสจากการมีชื่อติดทีมลงสนามไปแข่ง การเก็บคลีนชีท ทำประตู แอสซิสต์ และเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างถูกแนบไว้ในสัญญานักเตะในยุคปัจจุบัน เพื่อจูงใจและเป็นการมอบสวัสดิการที่ดีให้กับผู้เล่นของตน ที่พร้อมสร้างมูลค่าได้มากกว่าเงินที่สูญไป
หรืออย่าง สเตฟาน ชวาร์ซ ผู้อินดี้อยากไปอวกาศมาก ๆ แต่ต้องโดนสกัดดาวรุ่งไว้โดยสัญญาของทีม ซันเดอร์แลนด์ ว่าถ้าเจ้าตัวทะยานขึ้นไปสูงกว่าเส้นการ์มันไลน์ (Karman Line – เส้นสมมติสูง 100 กิโลเมตร ที่แบ่งเขตโลกกับอวกาศ) สัญญานักเตะอาชีพของเจ้าตัวถือเป็นอันจบกัน ซึ่งทำให้เจ้าตัวอดไปเที่ยวอวกาศตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม บางครั้งนักเตะก็ต้องการอะไรที่มากเกินกว่าที่เงินจะซื้อได้จริงๆ…
อาการโฮมซิก คิดถึงบ้าน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อนร่วมทีม ผู้คน ภาษา ลีกใหม่ไม่ได้ หรือต้องการความเติบโตในหน้าที่การงานด้วยการย้ายไปสโมสรที่ใหญ่กว่ามีโอกาสลงเล่นมากกว่า และอาจเป็นทีมในฝัน หรือได้รับชื่อเสียงและเงินก้อนโตขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน ต่างเป็นปัจจัยที่พร้อมเกิดขึ้นมาได้ โดยที่ทางสโมสรไม่อาจทำอะไรได้เลย
คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ตัดสินใจปฏิเสธสัญญามูลค่ารวมกว่า 115 ล้านปอนด์ต่อปี (ยังไม่หักภาษี) จาก ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่าเจ้าตัวประสงค์จะย้ายไปร่วมทัพราชันชุดขาว เรอัล มาดริด หลังจากที่ดาวเตะรายนี้กำลังเข้าสู่ปีสุดท้ายของสัญญาตนเองแล้ว
เปแอสเช มีเวลาอีกแค่ราว 3 เดือนเท่านั้น เพื่อกล่อมให้ เอ็มบัปเป้ ยอมจรดปากกาต่อสัญญาให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ท่านเจ้าของสโมสรจะต้องพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาโน้มน้าวให้วัยรุ่นฝรั่งเศสรายนี้ เบนหัวใจของตนกลับมาสู่สนาม ปาร์ค เดอ แพร็งส์ ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้แล้วยังมีความเสี่ยงว่าหากต่อสัญญาออกไปอีก พร้อมกับค่าเหนื่อยที่ก้าวกระโดดขึ้นมาจากเดิม จะเกิดความคาดหวังจากแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนอาจนำไปสู่แรงกดดันที่มีผลกระทบโดยตรงต่อผลงานในสนามของเขาได้
ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง เหลือสัญญากับ อาร์เซน่อล เพียงแค่ 12 เดือนเท่านั้น ก่อนที่ต้นสังกัดจะยอมกัดฟันมอบค่าเหนื่อยมากกว่า 250,000 ปอนด์/สัปดาห์ให้ เพื่อรั้งสตาร์เบอร์หนึ่งให้อยู่กับทีมต่อไป โดยต้องยอมปล่อยตัวผู้เล่นอย่าง ชโคดราน มุสตาฟี่, โซคราติส ปาปาสตาโธปูลอส, และ เมซุต โอซิล ออกจากทีมไปแบบไร้ค่าตัว เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของทีมลงมา
อย่างไรก็ตาม ฟอร์มของศูนย์หน้าสัญชาติกาบอง ก็ยังคงห่างไกลจากจุดที่ตนเองเคยทำท็อปฟอร์มเอาไว้ โดยในฤดูกาล 2020-21 ที่โอบาเมยองได้สัญญาฉบับใหม่ เจ้าตัวทำประตูไปได้เพียง 10 ลูกเท่านั้น เทียบกับ 22 ลูกที่เกิดขึ้นในฤดูกาลก่อนหน้า ก็ชัดเจนเลยว่าผลงานของเขานั้นดรอปลงไปพอสมควร
ดาบิด เด เคอา ก็เคยเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากหลังจากได้รับค่าเหนื่อย 375,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ด้วยการพาฟอร์มออกทะเลอย่างรุนแรง จนเคยเสียตำแหน่งมือหนึ่งให้กับ ดีน เฮนเดอร์สัน มาแล้ว ก่อนที่จะเริ่มกลับมาทำผลงานเข้าตาอีกครั้ง ในฤดูกาล 2021-22 นี้ ประจวบเหมาะกับการที่คู่แข่งแย่งมือหนึ่งบาดเจ็บและติด COVID-19 ในช่วงก่อนเปิดซีซั่นพอดี
กรณีศึกษาดังกล่าวอาจไม่ทำให้เราด่วนสรุปได้ว่า การต่อสัญญามูลค่าสูงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟอร์มดำดิ่งออกทะเล แต่ก็คงชวนให้สตาร์ดังกับบอร์ดบริหารของทีมต่าง ๆ ฉุกคิดอีกสักครั้ง ก่อนที่จะมีการเจรจาสัญญาฉบับใหม่กันขึ้น
ไม่มีใครทราบได้หรอกว่า โมฮาเหม็ด ซาล่าห์ จะเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับ ลิเวอร์พูล ตอนไหน หรือเจ้าตัวจะมองข้ามช็อตไปสู่จุดหมายอื่น ๆ ในชีวิตการค้าแข้งของตนหรือไม่ เพราะแต่ละฝ่ายย่อมมีเหตุผลในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะด้านธุรกิจ ภาครวมของสโมสร หรืออนาคตการค้าแข้งของตัวนักเตะเอง
สุดท้ายนี้สิ่งที่แฟนบอลอย่างเราสามารถทำได้คือการรอคอย และให้เวลากับปัจจัยทุกอย่างเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับสิ่งที่พวกเรามีคำถามอยู่