sportpooltoday

จ้างแพงไม่ใช่ทุกสิ่ง : ทำไมนักเตะจากชาติยุโรปมักไม่ค้าแข้งลีกเล็ก ๆ ในแดนไกล ?


จ้างแพงไม่ใช่ทุกสิ่ง : ทำไมนักเตะจากชาติยุโรปมักไม่ค้าแข้งลีกเล็ก ๆ ในแดนไกล ?

สิ่งที่เราเห็นได้ประจำในลีกฟุตบอลเอเชีย หรือแม้กระทั่งลีกเล็ก ๆ ในยุโรปคือ ดารานำของทีมเหล่านี้มักจะเป็นนักเตะที่มาจากทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะนักเตะจากบราซิลนั้นมักจะเป็นพระเอกเสมอหากพวกเขาไปค้าแข้งในด่างแดน

คำถามที่เราสงสัยหลังจากนั้นคือทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นนักเตะจากชาติในยุโรปที่ลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งอย่าง อังกฤษ, อิตาลี, สเปน, เยอรมัน และ ฝรั่งเศส มาค้าแข้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ไทยลีกบ้านเราบ้าง ? 

ทั้ง ๆ ที่พวกเขาจะได้ค่าจ้างแพงระยับ แต่ทำไมเงินจึงดึงดูดใจนักเตะสัญชาติเหล่านี้ไม่ได้ ? ติดตามได้ที่นี่

การส่งออกนักเตะไปต่างแดน 

ก่อนจะเริ่มเรื่องทั้งหมดเราต้องมาหาข้อเท็จจริงกันก่อนว่า จริงหรือไม่ที่เหล่านักเตะจากชาติในยุโรปที่มีลีกฟุตบอลระดับคุณภาพมักจะไม่เลือกย้ายไปเล่นในลีกฟุตบอลประเทศเล็ก ๆ ในดินแดนห่างไกล โดยเฉพาะทวีปเอเชียที่มีความพร้อมเรื่องเงินสำหรับการจ้างนักเตะฝีเท้าดีจากชาติในยุโรป 

จากข้อมูลของ CIES Football Observatory ชาติที่ส่งออกนักเตะไปเล่นในต่างแดนมากที่สุดคือ บราซิล ประเทศนี้มีนักเตะในแทบทุกลีกของโลก ไม่ว่าจะประเทศเล็กขนาดไหน ลีกฟุตบอลที่คุณไม่เคยได้ยินชื่อเท่าไหร่เชื่อเถอะว่าในลีกนั้น ๆ ต้องมีนักเตะบราซิลค้าแข้งอยู่แน่ ๆ ไม่ต่ำกว่า 5 คน 

และสำหรับชาติในยุโรปที่มีนักเตะที่ค้าแข้งในลีกเล็ก ๆ หรือลีกต่างทวีปมากที่สุดคือประเทศ เซอร์เบีย และ โครเอเชีย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเห็นภาพชัดหากมองจากจุดที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างไทยลีก ซึ่งเราก็จะเห็นผู้เล่นอย่าง ดราแกน บอสโควิช, มาร์โก เชโปวิช, โกรัน เคาซิซ, เรนาโต เคลิช, อัดนัน โอราโฮวัช, อริส ซาริโฟวิช, อ็อกเยน มูดรินสกี, แอดเมียร์ บายโรวิช ที่ค้าแข้งอยู่ ณ ปัจจุบัน ขณะที่ในอดีตก็มีอีกมากที่เข้ามาและสร้างผลงานในลีกของประเทศไทย

 

ขณะที่นักเตะจากชาติในยุโรปตะวันตกหรือประเทศที่มีลีกฟุตบอลแข็งแกร่งมีน้อยเพียงหยิบมือ ได้แก่ ชาร์ลี คลัฟ ของ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี เท่านั้นที่ยังเล่นในไทยลีกฤดูกาล 2022/23 นี้ 

จากการยกตัวอย่างจากลีกไทยในฐานะลีกเล็ก ๆ ของประเทศที่ไม่ได้แข็งแกร่งด้านฟุตบอลมากนัก ทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมจึงมีนักเตะจากชาติในยุโรปตะวันออกทั้งสิ้น ? ทำไมจึงไม่มีหรือมีน้อยสำหรับนักเตะจากยุโรปตะวันตกหรือประเทศที่มีลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่งมาเล่นที่เอเชียหรืออเมริกาใต้บ้าง ?

เมื่อคุณอยู่ในที่ที่ดีที่สุดแล้ว ? 

สิ่งที่เราเข้าใจได้ง่ายที่สุดแบบไม่ต้องพึ่งงานวิจัยคือเหตุผลที่นักฟุตบอลในชาติยุโรปที่มีลีกฟุตบอลในระดับประเทศแข็งแกร่งมักจะไม่ย้ายมาเล่นในลีกเล็ก ๆ ในแดนไกลหรือต่างทวีป นั่นเป็นเพราะพวกเขาอยู่ ณ จุดมุ่งหมายปลายทางของโลกฟุตบอลอยู่แล้ว ดังนั้นหากพวกเขายังต้องการสร้างความเป็นเลิศด้านฟุตบอลให้กับตัวเอง ไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาต้องย้ายทีมในลักษณะที่เป็นการลดเกรดของตัวเอง

 

แม้กระทั่งลีกจีนยุคหนึ่งที่เคยทุ่มเงินทั้งค่าตัวและค่าเหนื่อยไม่ยั้งสำหรับนักเตะต่างชาติ พวกเขาก็ยังประสบความสำเร็จในการล่าลายเซ็นนักเตะจากทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ นักเตะยุโรปอย่าง ยานนิค การาสโก้, กราเซียโน่ เปลเล่ และ อักเซล วิตเซล ก็ใช้เวลาในลีกจีนแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ สุดท้ายพวกเขาก็กลับยุโรปไปเล่นในลีกที่แข็งแกร่งกว่าอยู่ดี 

“นักฟุตบอลทุกคนล้วนใฝ่ฝันที่จะได้เล่นในลีกชั้นนำ ชูถ้วยแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ปะทะกับยอดแข้งอย่าง เมสซี่ หรือ โรนัลโด้ … การย้ายไปค้าแข้งนอกทวีปยุโรปถือเป็นอันตรายต่ออาชีพของนักเตะ โดยเฉพาะผู้เล่นที่ยังไม่อยู่ในวัย ‘พร้อมรีไทร์’ คุณจะได้เห็นนักเตะอย่าง นิโกล่าส์ อเนลก้า หรือแม้กระทั่ง ดิดิเยร์ ดร็อกบา ที่มาเล่นในลีกจีนในระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงท้ายอาชีพ แต่ที่สุดแล้วพวกเขาก็ไม่ได้รีไทร์ในลีกจีน พวกเขาต่างกลับมาในอังกฤษกันทั้งนั้น (ดร็อกบา กลับ เชลซี, อเนลก้า มาเล่นให้ ยูเวนตุส, เวสต์บรอมวิช)” สตีฟ ไพรซ์ จาก These Football Times พูดถึงเรื่องลีกในแดนไกลสำหรับแข้งที่เคยเล่นในยุโรป 

นักเตะหลายที่มีฝีเท้าดีหลายคนก็เป็นแบบนั้น แม้พวกเขาจะย้ายออกไปเล่นในตะวันออกหรือแดนไกลโดยเฉพาะกลุ่มนักเตะที่ยังเหลือความท้าทายและยังแคร์เรื่องตำแหน่งในทีมชาติ หรือแม้กระทั่งยังต้องการความสำเร็จในอาชีพพวกเขาจะต้องชั่งใจหน่อย เพราะพวกเขาอยู่อีกฟากของโลก และน้อยคนนักที่จะติดตามลีกจีน, ตะวันออกกลาง, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทยลีกบ้านเรา 

ยกตัวอย่างเช่น โอลิวิเยร์ ชิรูด์ ที่เคยถูกทีมจากจีนติดต่อเข้ามาในช่วงที่เขาตกเป็นตัวสำรองที่ อาร์เซนอล และใครหลายคนก็คิดว่าขาลงของเขากำลังจะมาถึง แต่ ชิรูด์ ก็ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลว่า

 

“ถ้าคุณถามผมว่าอยากย้ายไหม บอกเลยว่าไม่ ผมยังอยากเล่นในพรีเมียร์ลีก ผมมีความสุขที่นี่ สโมสรและผมเองยังอยากคว้าแชมป์ด้วยกันอีก พรีเมียร์ลีกคือเป้าหมายหลักของผม หลังได้แชมป์นี้แล้วผมอาจย้ายไปจีนสักวัน ผมยังอายุน้อยและยังมีความทะเยอทะยานอยู่” ซึ่งแม้เจ้าตัวจะย้ายออกจากพรีเมียร์ลีกไปเล่นให้ เอซี มิลาน และคว้าแชมป์เซเรีย อา มาได้แล้วก็ยังไม่ย้ายไปลีกจีนแต่อย่างใด 

ขณะที่ อาร์เยน ร็อบเบน อดีตปีกของ บาเยิร์น มิวนิค ก็เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า “ผมไม่เข้าใจคนที่อายุ 27-28 แล้วไปเล่นที่จีน พวกเขายังอยู่ในจุดสูงสุดอยู่เลย แต่ในทางกลับกันผมเข้าใจผู้เล่นที่อายุเกิน 30 แล้วรับข้อเสนอแบบนี้นะ” ซึ่งประโยคดังกล่าวของทั้ง ชิรูด์ และ ร็อบเบน นั้นได้บ่งบอกได้ดีถึงความสำคัญในการค้าแข้งในลีกชั้นนำมากกว่าแม้จะได้รับข้อเสนอก้อนใหญ่ขนาดไหนก็ตาม

การอยู่ไกลหูไกลตาเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้พวกเขาโดนมองข้าม หรือไม่ก็อาจจะถูกตั้งคำถามว่าพวกเขาเหล่านี้ยังเก่งเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะการแข่งกับคู่แข่งที่มีทักษะเชิงบอลอ่อนชั้นกว่าทุก ๆ สัปดาห์อาจจะทำให้มาตรฐานโดยรวมของพวกเขาตกลงไปก็ได้

ระบบโควตา และ เอเยนต์ 

นอกจากเรื่องของคุณภาพลีกแล้วยังมีเรื่องของโควตานักเตะต่างชาติที่มีจำกัด ลีกในเอเชียไม่มีลีกไหนที่อนุญาตให้นักเตะต่างชาติลงสนามได้อย่างอิสระเสรีเหมือนในยุโรป บางลีกให้ส่งนักเตะต่างชาติลงได้ 5 คน ส่วนบางลีกก็ได้แค่ 3 คนเท่านั้น … ดังนั้นด้วยโควตาที่มีจำกัดจึงทำให้หลายทีมในลีกต้องเลือกนักเตะที่ง่ายต่อการปรับตัวในต่างแดนและเหมาะสมค่าเหนื่อยระดับมหาศาลมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าผู้เล่นจากบราซิลและอเมริกาใต้ชาติอื่น ๆ รวมถึงผู้เล่นแอฟริกันนั้นขึ้นชื่อในเรื่องนี้มากกว่าอยู่แล้ว

คุณไม่มีทางปฏิเสธได้แน่นอนว่าด้วยลีกฟุตบอลที่ยังด้อยเรื่องระบบการเล่น คุณภาพผู้เล่น และแทคติก มันบังคับให้ผู้เล่นโควตาต่างชาติในลีกที่มีคุณภาพไม่สูงนักจำเป็นจะต้องเป็นนักเตะประเภทเทคนิคสูง มีความแข็งแกร่ง ชงเองกินเองได้ ว่าง่าย ๆ ก็คือเมื่อฝากบอลให้กับผู้เล่นเหล่านี้และพวกเขาอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มก็แทบจะตัดสินผลการแข่งขันกันได้เลยด้วยซ้ำ 

นักเตะจากยุโรปที่เติบโตขึ้นมากับอคาเดมีฟุตบอลที่มีวัฒนธรรมและแนวคิดด้านฟุตบอลที่แข็งแกร่ง เชี่ยวชาญเรื่องการเล่นตามแทคติกและเล่นเป็นทีม ซึ่งวิธีการเล่นเช่นนี้จำเป็นจะต้องอาศัยคุณภาพผู้เล่นโดยรวมทั้งทีมเพื่อชูให้นักเตะแต่ละคนโดดเด่นขึ้น แน่นอนว่าฟุตบอลในเอเชียหรือแม้กระทั่งในลีกของอเมริกาใต้ไม่ใช่แบบนั้น นี่คือลีกที่ทีมไหนมีนักเตะที่ความสามารถเฉพาะตัวสูงก็มีสิทธิ์ประสบความสำเร็จมากกว่า นั่นคือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ 

และที่ลืมไปไม่ได้เลยคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการติดต่อนำนักเตะต่างชาติเข้ามาเล่นในลีกต่าง ๆ นั่นคือ “เอเยนต์” ในลีกเล็ก ๆ นั้นการจะให้แมวมองของทีมเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสืบฟอร์มนักเตะด้วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากด้วยข้อจำกัดมากมายหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นเอเยนต์จึงมีผลมาก ๆ ในการเสนอตัวนักเตะต่างชาติให้กับสโมสรต่าง ๆ

 

ซึ่ง “คอนเน็กชั่น” เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเอเยนต์ของนักฟุตบอล บางคนฝังตัวอยู่กับบางทีมและขายนักเตะให้ทีมนั้นทุก ๆ ปี ยกตัวอย่างเช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ยุคหนึ่งมีเอเยนต์แนะนำนักเตะจากสเปน พวกเขาก็ใช้โควตานักเตะต่างชาติเป็นชาวสเปนเกือบยกทีม กับนักเตะอย่าง ดาบิด โรเชลา, อันเดรส ตูเญซ, ฆาเบียร์ ปาตินโญ และ คาร์เมโล กอนซาเลซ 

พูดอีกทางแบบชัด ๆ ก็คือคอนเนกชั่นคือการลากคนรู้จักให้มาเล่นในลีกเดียวกัน หากให้ยกตัวอย่างลีกเล็ก ๆ อย่างไทยลีกอีกสักครั้งเราก็จะเห็นการให้สัมภาษณ์ของนักเตะอยู่บ่อย ๆ ว่าได้รับการชักชวนจากนักเตะชาติเดียวกันที่เล่นในอยู่ในไทยลีก เช่น เคลตัน ซิลวา ตำนานไทยลีกที่ย้ายมาค้าแข้งในไทยจากการชักชวนของ ฟาบิโอ บาร์โบซ่า นักเตะบราซิลที่เป็นรุ่นพี่เป็นต้น 

ยิ่งมีนักเตะชาติใดชาติหนึ่งอยู่ในลีกนั้น ๆ เยอะก็มีโอกาสที่จะพวกเขาเหล่านั้นจะพานักเตะชาติเดียวกันเข้ามาค้าแข้งด้วย … นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมไทยลีกจึงมีนักเตะบราซิลหน้าใหม่เข้ามาทุก ๆ ปี ขณะที่นักเตะจากชาติยุโรปที่มีลีกคุณภาพแข็งแกร่ง นาน ๆ ทีจะมีโผล่มาสักคน

วัฒนธรรมและคุณภาพชีวิต 

The Economist เขียนบทความถึงชาวยุโรปว่าเป็นคนอยู่ติดที่ ไม่ค่อยออกจากบ้านตัวเองมากนัก โดยพวกเขาอ้างว่า “มีเพียง 1.6% ของชาวยุโรปเท่านั้นที่อาศัยในต่างทวีปอย่างถาวรชนิดลงหลักปักฐาน พวกเขาอาจจะพูดภาษาท้องถิ่นได้ พวกเขาอาจจะอ่านเอกสารทางราชการออก แต่เชื่อเถอะว่าที่สุดแล้วในทุก ๆ คืนวันอังคารและวันพุธประชากรชายชาวยุโรปในต่างทวีปล้วนแต่เปิดทีวีดูฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ลงแข่งขันกันทั้งนั้น” 

พวกเขามีความภูมิใจในชาติกำเนิด เราจะเห็นได้จากนักเตะที่มาเล่นในไทยลีกที่มาจากยุโรปส่วนใหญ่พวกเขาจะมาเล่นได้ไม่นานนัก พวกเขาไม่ได้ซึมซับวัฒนธรรมและปรับตัวเข้ากับท้องถิ่นได้มากนัก แตกต่างกับนักเตะอเมริกาใต้หรือแอฟริกันที่ปรับตัวเข้ากับความแตกต่างได้ดีกว่า คุณคงเคยได้เห็น ดานโญ เซียก้า พูดภาษาไทยคล่องปร๋อ, อันเดรส ตูเญซ เซิ้งแบบอีสานในงานปีใหม่ที่ทีมบุรีรัมย์จัดขึ้นที่สนามของพวกเขา แม้กระทั่งนักเตะบราซิลหลายคน ๆ ก็พูดไทยได้ ไม่ว่าจะเป็น เดนิส มูริลโล่ และ วิคเตอร์ คาร์โดโซ ที่เคยออกมายอมรับว่าเขาพร้อมที่จะโอนสัญชาติเพื่อลงเล่นให้ทีมชาติไทย 

ขณะที่นักเตะยุโรปไม่ต้องพูดถึงการมาเล่นในลีกเอเชียหรือเมริกาใต้เลยด้วยซ้ำ แม้กระทั่งพวกเขาย้ายลีกไปเล่นในยุโรปด้วยกันบางครั้งพวกเขาก็ยังมีปัญหาเรื่องการปรับตัว ยกตัวอย่างเช่น แอชลี่ย์ โคล หนึ่งในแบ็กซ้ายทีดีที่สุดในอังกฤษที่ครั้งหนึ่งเคยล้มเหลวกับ โรม่า ในอิตาลี เหตุผลหลัก ๆ คือเขาพูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้และไม่มีความสัมพันธ์กับทีมเท่าไรนัก ขณะที่ เจอร์เมน เพนแนนท์ ที่เคยเล่นในสเปนกับ เรอัล ซาราโกซา ก็ยังบอกว่าเขาชอบที่จะเล่นในสิงคโปร์มากกว่า เพราะสิงคโปร์นั้นใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “รายได้” คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการดึงนักเตะต่างชาติไปเล่นในแต่ละลีก ทว่านั่นก็ไม่เสมอไปเพราะการย้ายออกมาเล่นในแดนไกล แม้จะได้เงินมากกว่าเล่นในลีกบ้านเกิดกับสโมสรเล็ก ๆ ในดิวิชั่นต่ำแต่อย่างน้อยสิ่งที่ประเทศในยุโรปมีคือเรื่องของสวัสดิการที่รองรับสำหรับประชากรของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่นนักเตะจากสแกนดิเนเวียอย่าง เดนมาร์ก, สวีเดน และ นอร์เวย์ นั้นแม้จะไม่ได้เป็นนักเตะที่เก่งกาจมากมายแต่เราก็แทบไม่ได้เห็นพวกเขาในลีกเล็ก ๆ ในต่างทวีปเลย 

เอเลียส ดอเลาะห์ กองหลังของการท่าเรือ เอฟซี ที่เป็นลูกครึ่งและเติบโตที่สวีเดน เผยเรื่องราวของเขากับ Main Stand สมัยที่อยู่สวีเดนว่าในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีกว่าทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสได้เล่นกีฬาที่หลากหลายภายใต้อุปกรณ์ที่ครบเครื่องทันสมัยแม้จะอยู่ในเมืองเล็ก ๆ อย่างเมืองดอลบี้ ก็ตาม 

นักฟุตบอลก็เหมือนกับคนทำงานอาชีพอื่น ๆ ทั่วไป หากต้องย้ายไปต่างที่ต่างถิ่นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่มีครอบครัวแล้ว เพราะพวกเขาจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับครอบครัวด้วย ถ้าไม่ได้ข้อเสนอก้อนโตจริง ๆ มันก็ไม่คุ้มที่จะเอาทุกคนไปเสี่ยงในต่างแดน 

“ชีวิตของเราได้รับการสนับสนุนมากมายนะครับ นอกจากเรื่องกีฬาเราได้เรียนฟรี เราได้รับการดูแลด้านสุขภาพฟรี ได้รับการสนับสนุนในการใช้ชีวิตมากมาย” เอเลียส พูดถึงสวัสดิการในประเทศสวีเดน 

ขณะที่นักเตะสวีเดนที่เล่นในประเทศไทยอีกคนอย่าง วิกเตอร์ ลอฟเกรน ก็ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากการเข้ามาเมืองไทยเพื่อเป็นนักฟุตบอล เขามาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง และได้เริ่มเล่นฟุตบอลอีกครั้งจากการมาทดสอบฝีเท้ากับทีมศุลกากร ก่อนจะได้สัญญาอาชีพและเล่นฟุตบอลไปพร้อม ๆ กับเป็นพนักงานออฟฟิศ

ซึ่งนั่นแสดงว่าหากจะต้องเลือกฟุตบอลเพียงอย่างเดียว ลีกเล็ก ๆ ยกตัวอย่างเช่น ไทยลีกคงไม่ได้เป็นที่ดึงดูดใจและเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับเหล่าแข้งยุโรปก็คงไม่ผิดนัก นอกเสียจากจะได้ค่าตอบแทนที่สูงมากจนปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ