มีคำกล่าวในหมู่แฟนบอลอาร์เซน่อลว่า “เป็นกูนเนอร์ครั้งหนึ่ง เป็นกูนเนอร์ตลอดไป” แน่นอนว่าสำหรับแฟนบอลทีมอื่นนี่อาจไม่ใช่คำขวัญที่จะใช่คำขวัญที่น่าสนใจนัก แต่สำหรับแฟนปืนใหญ่ นี่คือประโยคที่พวกเขายืดอกยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ
หนึ่งคนที่แสดงให้เห็นว่าการทุ่มเทเพื่อทีมฟุตบอลที่ตัวเองรักเป็นอย่างไร คือ มาเรีย เปตรี ผู้หญิงที่เติบโตในกรุงลอนดอน และตกหลุมรักอาร์เซน่อลตั้งแต่อายุ 12 ปี ก่อนจะใช้ชีวิตอีก 70 ปีที่เหลือกับสโมสรแห่งนี้ โดยไม่มีครอบครัวหรือลูกหลาน
เมื่อ มาเรีย เปตรี จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เสียงเพลงที่เธอเคยขับขานจนเป็นที่จดจำยังคงอยู่ Main Stand ขอนำเสนอเรื่องราวของเธอ และมรดกที่เหลือไว้ให้กูนเนอร์สรุ่นหลังจดจำตลอดไป
ผู้หญิงที่ชื่อ มาเรีย เปตรี
หากไม่นับความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลและสโมสรอาร์เซน่อล มาเรีย เปตรี ไม่ได้มีชีวิตที่แตกต่างไปจากผู้คนทั่วไปในกรุงลอนดอนมากนัก แม้เธอจะเป็นลูกสาวของผู้อพยพชาวกรีก-ไซปรัส แต่เธอก็มีความฝันที่จะประกอบอาชีพอย่างที่ตนตั้งใจ นั่นคือ อาชีพครูสอนหนังสือ
เปตรีไม่รีรอที่จะเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชิชิสเตอร์จนสำเร็จการศึกษาในสาขาภาษาฝรั่งเศสและสเปน ก่อนจะเดินทางกลับสู่ย่านอิสลิงตัน กรุงลอนดอน เพื่อสอนหนังสือตราบจนถึงวันเกษียณ เปตรียังพูดได้ถึงหกภาษา และมีกิจกรรมยามว่าเป็นการจัดดูแลหลังบ้านทั้งต้นกระวานและโรสแมร์รี่ ทั้งยังมีสวนองุ่นขนาดเล็กที่เธอชอบเก็บลูกของมันมาทำเยลลี่
เปตรีมีชีวิตที่สงบเรียบง่ายในแบบของตัวเอง สิ่งเดียวที่อาจทำให้เธอแตกต่างจากคุณยายวัย 82 ปีรายอื่น คือเปตรีไม่ได้แต่งงานมีลูกหลานเต็มบ้านเหมือนอย่างครอบครัวอื่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เธอจะไม่รู้จักมอบความรักให้กับสิ่งใดในชีวิต เพราะเมื่อย้อนกลับไปยังตอนที่เธออายุ 12 ปี เปตรีได้มีโอกาสพบกับรักแท้ของเธอแล้ว
วันหนึ่งขณะกำลังทำความสะอาดร้านอาหารของครอบครัว เปตรีได้ยินชื่อของสโมสรฟุตบอลอาร์เซน่อลทางวิทยุ เธอสนใจทีมฟุตบอลแห่งนี้มากจนอยากจะไปสัมผัสความรู้สึกของเดอะ กันเนอร์ส ด้วยตัวเอง และถึงแม้พ่อแม่ของเปตรีจะย้ำว่าฟุตบอลไม่ใช่กีฬาของผู้หญิง เปตรียังแอบเดินทางไกลไปถึงเมืองพอร์ทสมัธเพื่อดูอาร์เซน่อลลงสนามด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรกในปี 1950
นับจากวันนั้น เปตรีกลายเป็นแฟนตัวยงของอาร์เซน่อล และแทบจะไม่พลาดการแข่งขันแม้แต่เกมเดียวนับตั้งแต่ปลายยุค 60s เป็นต้นมา ซึ่งคำว่าไม่พลาดแม้แต่เกมเดียวที่กำลังพูดถึงไม่ได้หมายความแค่ทีมชุดใหญ่ แต่ยังรวมถึงทีมสำรองและทีมหญิงของอาร์เซน่อล กูนเนอร์รายอื่นจึงมักพบเห็นเปตรีในแทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็น ไฮบิวรี่, เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม, เมโดว์ พาร์ค หรือแม้แต่สนามเหย้าของบาเต้ โบริซอฟ
“ปกติแล้วฉันจะเดินทางไปทุกที่ที่ฉันอยากไปด้วยขนส่งสาธารณะ ทั้งในประเทศ, ทั่วยุโรป หรือแม้แต่ประเทศจีน ฉันใช้บริการรถทัวร์ รถไฟ แท็กซี่ เครื่องบิน หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะพาฉันไปดูอาร์เซน่อลในสนาม” เปตรี เล่าถึงการเดินทางเพื่อตามเชียร์อาร์เซน่อลของเธอตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา
“แต่เนื่องจากสถานการณ์ของโควิดและตอนนี้ฉันก็ไม่สามารถเดินด้วยตัวเองได้นาน ฉันจึงจะเรียกแท็กซี่คันเดิมที่มีคนขับขาประจำ เขาเป็นแฟนบอลทีมโคลเชสเตอร์นะ เราจึงคุยกันแต่เรื่องฟุตบอล ทั้งทีมของเขาและทีมของฉัน นั่นคือ อาร์เซน่อลทีมชาย, อาร์เซน่อลทีมหญิง และอาร์เซน่อล ยู-23”
เมื่อปรากฎตัวทุกหนทุกแห่ง เปตรีจึงเป็นที่จดจำในหมู่เดอะ กูนเนอร์ส ไม่ว่าจะเป็นการถูกพูดถึงในแง่ของผู้หญิงคนแรก ๆ ที่เข้าไปดูบอลในสนามอย่างจริงจัง, แพชชั่นในการส่งเสียงและร้องเพลงเชียร์ที่ดังไม่แพ้ใคร, ความคิดแง่บวกซึ่งพร้อมจะให้กำลังใจทีมเสมอ และด้วยเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้หญิงร่างเล็กคนนี้จึงไม่เพียงเป็นที่รักของแฟนบอลอาร์เซน่อล แต่ยังเป็นที่รักของแฟนฟุตบอลอังกฤษทั้งปวง
คนสำคัญของ เดอะ กันเนอร์ส ทีมหญิง
“ช่วงเช้าของฉันก่อนออกไปดูบอลก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากคนทั่วไป ฉันคิดว่างั้นนะ ก็แค่ลุกขึ้นมาจากเตียง กินข้าวเช้าเบา ๆ แบบขนมปัง, ซีเรียล หรือชาสักแก้ว หลังจากนั้นก็แต่งตัวเพื่อไปดูบอล ฉันชอบใส่ชุดแบบเดิม ๆ นะ เสื้อสีแดงสักตัว และก็สร้อยคอแบบที่เห็นกันเป็นประจำนั่นแหละ”
“หลังจากนั้นฉันจะตรวจสอบดูว่าตัวเองมีของที่ต้องการครบหรือยัง สิ่งสำคัญคือกล้องถ่ายรูปและฟิล์ม มันเป็นกล้องที่ใช้ง่าย ๆ แต่มันก็เป็นกล้องที่ฉันรักและใช้มันถ่านรูปการแข่งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขามักจะไม่ให้ฉันเอากล้องเข้าไปในสนาม ฉันก็แค่ซ่อนมันไว้กับตัวเองตอนคนเยอะ ๆ หลังจากเข้าไปในสนามได้ก็ถ่ายรูปให้สะใจเลย”
แม้จะเป็นคนดังของแฟนบอลอาร์เซน่อล เปตรียังคงทำตัวเหมือนแฟนฟุตบอลทั่วไป เธอรักที่จะตื่นแต่เช้าเพื่อฟังวิทยุรายงานข่าวเกี่ยวกับเกมการแข่งขันตลอดช่วงสาย และถึงจะได้รับการต้อนรับจากสโมสรเป็นอย่างดี เปตรีไม่ต้องการที่นั่งพิเศษเหนือคนอื่น แม้จะอายุถึงหลัก 80 ปี เธอแค่ต้องการทางเข้าสนามง่าย ๆ และอาหารกับเครื่องดื่มไว้เตรียมพร้อมสำหรับเธอเท่านั้น
“ฉันชอบเบคอนที่สุกจนกรอบมากเลยล่ะ เพราะฉะนั้นทุกครั้งฉันไปยังบอร์แฮม วู้ด ฉันจะสั่งพวกเขาว่า หั่นให้หนา ทาเนย และทำให้สุกจนเกรียม ซึ่งพวกเขาก็จะทำตามนั้น มันอร่อยมากนะ”
บอร์แฮม วู้ด ที่เปตรีพูดถึงคือสนามเมโดว์ พาร์ค รังเหย้าของฟุตบอลหญิงอาร์เซน่อล ทีมกีฬาที่เธอกลายเป็นส่วนสำคัญตั้งแต่ต้น เพราะย้อนกลับไปยังปี 1987 ที่ทีมหญิงอาร์เซน่อลเพิ่งก่อตั้ง เปตรีกลายเป็นเพียงแฟนบอลไม่กี่คนที่เดินทางมาให้กำลังใจพวกเธอตั้งแต่ต้น เปตรีจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของทีมหญิงอาร์เซน่อล จนหลายคนยกให้เธอเป็นผู้เล่นคนที่ 12 ของทีมนับแต่นั้น
“ย้อนกลับไปยังวันแรกที่ฉันเริ่มต้นไปเชียร์ทีมหญิงของเรา มันแทบจะไม่มีคนดูเลยนะ แต่ฉันเลือกจะร้องเพลงเหมือนที่เคยทำตอนดูทีมชาย พยายามสานสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอล และพยายามให้คนอื่นร้องเพลงเชียร์ตาม “
“ฉันจำได้ว่ามีวันหนึ่งที่ฉันร้องเพลงว่า ‘คิมมี่ คิมมี่ คิมมี่ เย้ เย้ เย้’ นั่นเป็นเพลงสำหรับคิม ลิตเทิล กัปตันทีมของเรา ซึ่งวันนั้นมีวัยรุ่นที่อยู่ห่างออกไปร้องเพลงตามฉันด้วย”
เปตรีแต่งเพลงเชียร์มากมายให้กับขุนพลฟุตบอลหญิงอาร์เซน่อล ไม่ว่าจะเป็น เพลงของเคธี่ แม็คเคบ ที่ดัดแปลงจากเพลงเชียร์ของเมซุต โอซิล, เพลงเชียร์ของเบธ มีด ที่แสดงความภูมิใจของกองหน้าชาวอังกฤษ หรือเพลงเชียร์ของวิเวียน มิเดมม่า กองหน้าชาวเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ เปตรียังแต่งเพลงเชียร์ประจำสนามเมโดว์ พาร์ค และยังเคยแต่งเพลงเพื่อชื่นชมทีมหญิงชุดปี 2007 ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้า 4 แชมป์ ทั้งแชมป์ลีก. เอฟเอคัพ, ลีกคัพ และแชมป์ยุโรป
สำหรับเปตรีแล้ว ทีมหญิงอาร์เซน่อลมีความสำคัญต่อเธอมาก เพราะย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน เปตรีมักถูกแบ่งแยกจากแฟนบอลชายหลายคนในสนาม เธอเคยถูกด่าทอจากแฟนบอลฝ่ายเดียวกันด้วยคำพูดมากมาย ทั้ง สั่งให้หุบปาก, ไล่กลับไปทำครัว หรือ ถามหาสามีของเธอ
แน่นอนว่า เปตรีไม่เคยหวาดกลัวไปกับคำขู่เหล่านั้น เธอยิ่งร้องเพลงให้ดังขึ้น และตะโกนตอบโต้พวกผู้ชายปากหาเรื่อง จนสร้างเสียงหัวเราะไปทั่วอัฒจันทร์
เมื่อทีมหญิงอาร์เซน่อลคว้า 4 แชมป์ได้ในปี 2007 ไม่เพียงแฟนบอลอย่างเปตรีจะได้ภาคภูมิใจ แต่บรรดานักเตะในทีมหญิงยังได้การยอมรับไม่ต่างจากทีมชาย มีคาเฟ่แห่งหนึ่งในย่านอิสลิงตันที่สัญญาว่าจะเลี้ยงกาแฟให้นักฟุตบอลหญิงอาร์เซน่อลแบบฟรี ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งปี เพื่อตอบแทนนักเตะเหล่านี้ที่สร้างความยิ่งใหญ่แก่สโมสร
ทีมหญิงอาร์เซน่อลคงไม่ได้รับความสนใจมากขนาดนี้หากไม่มีเปตรีเป็นกระบอกเสียงของทีม เธอยังคงเดินทางไปเยี่ยมนักเตะขณะฝึกซ้อมอยู่บ่อยครั้งแม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย แถมยังยืนยันว่าการไปดูฟุตบอลหญิงในช่วงสุดสัปดาห์สนุกกว่าทีมชายเสียอีก
มาเรีย เปตรี จึงได้รับเข็มกลัดจากสโมสรในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงอาร์เซน่อล และยังได้รับเข็มกลัดสมาชิสมาคมฟุตบอลหญิงอังกฤษอีกด้วย
อาร์เซน่อลคือครอบครัวของฉัน
เมื่อกลับมาจากสนามฟุตบอล เปตรีมักจะเปิดวิทยุหรือเปิดทีวีเพื่อติดตามฟุตบอลคู่อื่นตลอดทั้งวันที่เหลือ แม้แต่ก่อนจะเข้านอน เธอยังต้องเปิดวิทยุเพื่อรับฟังข่าวกีฬาจนถึงวินาทีสุดท้าย เปตรียอมรับด้วยตัวเองว่าฟุตบอลกลายเป็นทุกลมหายใจของเธอไปเรียบร้อยแล้ว
เธอใช้ชีวิตด้วยกิจวัตรแบบนี้เป็นเวลานาน 70 ปี สำหรับบางคนมันคือความบ้าคลั่ง สำหรับบางคนมันคือความลุ่มหลง แต่สำหรับเปตรี นี่คือความรัก เพราะถึงแม้เธอจะไม่ได้มีลูกหลานมากมายเหมือนผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ เปตรีไม่เคยต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เธอมีฟุตบอลคอยเป็นเหมือนยามเหงา และอาร์เซน่อลคือครอบครัวที่อยู่เคียงข้างเมื่อยามทุกข์ใจ
“เมื่อไหร่ก็ตามที่ฉันเดินทางไปถึงสนาม ฉันได้พบกับผู้คนมากมายที่ฉันได้ทำความรู้จักจากหลายเกมตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันเป็นความรู้สึกเหมือนฉันได้เดินทางกลับบ้านในทุกครั้ง”
“บางครั้งเมื่อมีเด็กเดินผ่านที่นั่งของฉัน พวกเขาจะจ้องมาทางที่ฉันนั่งอยู่ เพราะพวกเขาย่อมเคยฟังเรื่องราวจากพ่อแม่ของพวกเขาและรู้ดีว่าฉันคือใคร บางคนก็รู้จักฉันเพราะเพลงของฉัน แม้แต่ผู้เล่นในทีมอื่นบางคนก็รู้จักฉัน เพราะฉันตามเชียร์ทีมนี้มานานหลายสิบปี”
เมื่อถามว่าความทรงจำที่ดีที่สุดของเปตรีคืออะไร ? เธอไม่อยากเลือกช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะมันอาจจะไม่ยุติธรรมกับทีมที่เธอไม่ได้เลือก แต่ท้ายที่สุด เธอได้เลือกนัดชิงชนะเลิศครั้งหนึ่งของทีมหญิงที่อาร์เซน่อลคว้าชัยชนะ หลังจบเกมนักเตะชุดนั้นได้เข้ามาล้อมรอบเธอ และมอบถ้วยแชมป์ให้เธอถือราวกับเธอเป็นส่วนหนึ่งของนักเตะในทีม
มาเรีย เปตรี คือส่วนหนึ่งของอาร์เซน่อล นี่คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ และในวันนี้ที่เธอจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับด้วยวัย 82 ปี ครอบครัวเดอะ กูนเนอร์ส คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นี่คือความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสโมสรอย่างแท้จริง แต่ถึงแม้ร่างกายของเธอจะดับสูญ แต่จิตวิญญาณของเธอจะอยู่กับสโมสรและเป็นส่วนหนึ่งของเดอะ กูนเนอร์ส ตลอดไป
“ฉันตกหลุมรักอาร์เซน่อล นี่คือทั้งหมดที่ฉันบอกคุณได้ เพราะฉันไม่มีครอบครัวของตัวเอง แต่ถ้าคุณมองว่าครอบครัวเป็นมากกว่าเลือดเนื้อเชื้อไข อาร์เซน่อลคือครอบครัวของฉัน คุณคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ใครเล่นได้ ก็ลงเล่น ใครเล่นไม่ได้ ก็สอนเอา หรืออะไรทำนองนั้น นั่นแหละคือเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวฉัน”
“ฉันไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้ เพราะฉะนั้นฉันจึงกลายเป็นแฟนบอลที่ดีที่สุด ฉันเชื่อมโยงกับผู้คนมากมายในอาร์เซน่อล พวกเขาเป็นคนที่น่ารัก และสตาฟฟ์ในทีมก็ใจดีมาก พวกเขาดีกับฉันเสมอมา ฉันคิดว่าถ้าตัวฉันมีความสุขและพวกเขามีความสุขเพราะได้เห็นฉันมีความสุข นั่นก็หมายความว่าทุกคนมีความสุข”
“ความรักที่ฉันมอบให้พวกเขาโอบกอดฉันไว้และมันบอกฉันไม่ให้ไปไหน ฉันจึงพูดกับคนอื่นเสมอว่า ฉันคงหงุดหงิดมากเมื่อฉันตาย และเมื่อเขาถามว่า ‘ทำไมล่ะมาเรีย’ ฉันจะตอบว่า ‘ก็นะ นั่นเพราะว่าฉันจะไม่ได้ดูอาร์เซน่อลต่อไปอีกแล้วนะสิ'”