sportpooltoday

ทำได้ไง? : “มาราคาน่า” ชามอ่างยักษ์ที่กาลครั้งหนึ่งเคยยัดแฟนบอลเข้าไปราว 2 แสนคน


ทำได้ไง? : "มาราคาน่า" ชามอ่างยักษ์ที่กาลครั้งหนึ่งเคยยัดแฟนบอลเข้าไปราว 2 แสนคน

ในปัจจุบัน การจะสร้างสนามฟุตบอลให้ใหญ่ระดับจุคนได้มากกว่า 1 แสนคนนั้นมีไม่มากนัก แต่หากย้อนกลับไปเมื่ออดีตกาล สนาม มาราคาน่า ในประเทศบราซิลนั้นสามารถจุคนดูได้ราว 2 แสนคน ในเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1950

นี่คือเรื่องราวของสนามที่ถูกเรียกว่า “หัวใจของบราซิล” และถูกตั้งใจไว้ให้เป็นฉากจบที่สวยงาม น่าจดจำที่สุดของฟุตบอลโลก 1950 … อย่างไรก็ตาม ราว 2 แสนคนที่ว่าต้องพบกับตอนจบที่พวกเขาไม่คาดคิด และต้องจำฝังใจจนมาถึงทุกวันนี้

ติดตามเรื่องราวของสนามาราคาน่าตั้งวันที่ลงเสาเข็มจนถึงวันที่มีคนสองแสนยัดเข้าไปเชียร์ทีมชาติบราซิล ร่วมกันได้ที่นี่กับ Main Stand

แดนฟุตบอลต้องมีสนามฟุตบอล 

บราซิล เป็นประเทศที่มีความชอบและคลั่งไคล้ในฟุตบอลไม่แพ้ชาติใดในโลก ดังนั้นหลังจากที่พวกเขาได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 1950 จึงมีแนวคิดที่จะสร้าง “ฟุตบอล สเตเดียม” เพื่อประกาศศักดิ์ดาความยิ่งใหญ่ ในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลกสมัยแรกของพวกเขา 

1บราซิลได้รับการแต่งตั้งก่อนการแข่งขันจะเริ่ม 3 ปี (1947) หลังจากนั้นไม่นานนัก โครงการสร้างสนามฟุตบอลขึ้นมาใหม่ที่นำเสนอโดยรัฐบาลบราซิล ถายใต้การนำของ ยูริโก้ กาสปาร์ ดูตร้า (Eurico Gaspar Dutra) ก็เริ่มขึ้น ก่อนที่จะมีการเพิ่มคอนเซปต์ของสนามที่กำลังวางแผนสร้างครั้งนี้ว่า “ต้องเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก” และตัวเลขความจุของผู้ชมที่ประมาณไว้คือ 180,000 คน 

นอกจากจะทำให้ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว พวกเขายังตั้งใจจะทำให้เสร็จพร้อมใช้ภายในเวลาแค่ 2 ปีเท่านั้น ความต้องการทั้งแบบสูงสุดทั้งความยิ่งใหญ่และความเร็ว ทำให้พวกเขาจะต้องใช้งบประมาณชาติมหาศาลสำหรับการสร้างสนามฟุตบอลในฝันของชาวบราซิล

แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่เห็นด้วย มีการพยายามเดินเรื่องขัดขวางและตีแผ่เรื่องการคอรัปชั่นในส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงกลุ่มคนใส่สูท โดยผู้ที่นำทัพในการต่อต้านครั้งนี้คือ คาร์ลอส ลาเซอร์ดา (Carlos Lacerda) นักข่าวและนักการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาล รวมถึงเป็นศัตรูทางการเมืองของ แอนเจโล่ เมนเดส เดอ โมราเอส (Angelo Mendes de Morais) นายกเทศมนตรีเมืองริโอเดอจาเนโรในขณะนั้น ซึ่งให้เหตุผลว่า การเลือกทำเลที่ตั้งสนามเหมือนถูกล็อกสเปกเอาไว้

แน่นอนว่าแม้เขาจะปลุกระดมได้ระดับหนึ่ง แต่งานใหญ่แบบนี้ถูกพิจารณามาเป็นอย่างดีแล้ว บวกกับได้รับแรงสนับสนุนจาก มาริโอ ฟิลโญ่ (Mário Filho) นักข่าวกีฬาคนดังของประเทศ (ซึ่งต่อมา ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของสนามแห่งนี้ด้วย) รัฐบาลบราซิลจึงเดินหน้ากับโครงการนี้ต่อไป พวกเขาจ้างสถาปนิกมือดีที่สุดในประเทศถึง 7 คนมาออกแบบ และเริ่มวางเสาเข็มต้นแรกในวันที่ 2 สิงหาคมปี 1948 จากนั้นคนงานมากกว่า 10,000 คนต่อ 1 กะก็ทำงานผลัดกะกันตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ได้สนามที่ใหญ่ที่สุดในโลกสมดังที่ตั้งใจ 

ผู้รับเหมาทั้งหมด 6 ราย ปูนซีเมนต์ทั้งหมด 5 แสนถุง คานเหล็กมากกว่า 10,000 ตัน ใช้ต้นไม้จากพื้นที่ป่ามากกว่า 650,000 ตารางเมตร และคอนกรีตอีก 80,000 ตารางเมตร … การสร้างสนามที่เรียกว่า “หัวใจของบราซิล” ได้เริ่มขึ้นแล้ว 

เวลา 2 ปีผ่านไป สนามก็เสร็จสมบูรณ์ แอนเจโล่ เมนเดส เดอ โมราเอส นายกเทศมนตรีเมืองริโอ ถึงกับกล่าวว่า “วันนี้ชาวบราซิลสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าพวกเรามีสนามกีฬาที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก ตอนนี้ได้เวลาที่โลกต้องประหลาดใจกับความกล้าหาญและความยิ่งใหญ่ด้านกีฬาของเราแล้ว”

2นอกจากเรื่องของความยิ่งใหญ่ สนามแห่งนี้จะถือเป็นการสงบศึกภายในเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นของแฟนบอลแต่ละสโมสร ที่มีเรื่องการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติกันในช่วงเวลานั้น อาทิ เซาเปาโล และ ฟลูมิเนนเซ่ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของความร่ำรวยและกลุ่มคนชั้นแนวหน้าของประเทศ ส่วนตัวแทนของฝั่งชนชั้นแรงงานได้แก่ ฟลาเมงโก้ เป็นต้น และไม่ว่าคุณจะเชียร์ทีมใดหรือมาจากชนชั้นไหนสีผิวอะไร ทุกคนจะต้องมารวมกันที่สนามมาราคาน่า เพื่อร่วมกันเชียร์ “ทีมชาติบราซิล” … สนามแห่งนี้คือตัวแทนของความเป็นหนึ่งเดียวของบราซิลในทางหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก 

สนามฟุตบอลที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก อัฒจันทร์เป็นลักษณะรูปวงกลมซ้อนกันขึ้นไป ชื่อ มาราคาน่า สเตเดียม มาจากชื่อของ แม่น้ำมาราคาน่า ที่ไหลผ่านไปยังส่วนต่าง ๆ ของประเทศบราซิล

ใหญ่ที่สุด จุคนเยอะที่สุด 

การเปิดสนามอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 1950 ก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มโดยเป็นการเจอกันระหว่างทีมรวมดาราของรัฐ เซาเปาโล กับ รวมดาราของรัฐ ริโอเดอจาเนโร โดยในเกมนั้นมีการกล่าวอ้างโดยเจ้าหน้าที่จัดการแข่งขันของฝั่งบราซิลว่า สามารถจุคนดูได้ทั้งหมด 200,000 คน ในขณะที่ตัวแทนจาก กินเนสส์ บุ๊ก นั้นระบุว่าอยู่ที่ 155,000 คน หรือเต็มที่สุด ๆ ที่ 180,000 คนไม่เกินไปกว่านี้ 

3เหตุผลที่ไม่สามารถระบุตัวเลขอย่างเป็นทางการได้ในตอนแรกเนื่องมาจากมีการเปิดขายตั๋วแบบไม่อั้นและขายในราคาที่ถูกมาก แม้ไม่ได้ระบุราคาแต่สำนักข่าวอย่าง BBC ก็บอกคร่าว ๆ ว่ามันถูกมากพอที่ชนชั้นกลางค่อนล่างในกรุงริโอจะหาซื้อได้ นั่นหมายความว่าหากใครพอมีรายได้สักหน่อยก็สามารถเข้าไปชมเกมในมาราคาน่าได้อย่างไม่เบียดเบียนค่าครองชีพ 

แต่การจะบอกว่าขายตั๋วได้ทั้งหมดกว่า 2 แสนใบคงเป็นไปได้ยาก นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ตัวเลขของทางกินเนสส์ บุ๊ก กับทางบราซิลรายงานมาไม่เหมือนกัน โดยมีการเปิดเผยในภายหลังว่าสาเหตุที่คนดูเข้าไปสนามมากกว่าความจุได้ เนื่องจากสนาม มาราคาน่า เป็นสนามที่ไม่มีที่เก้าอี้นั่งแต่จะเป็นอัฒจันทร์คอนกรีตยาว ๆ ดังนั้นการเบียดเสียดกันบนอัฒจันทร์ก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ช่วยเพิ่มจำนวนคนได้มากอีก 20,000 – 50,0000 คน 

และยิ่งไปกว่านั้น ในวันแข่งจริงยังมีบางส่วนของสนามที่มีช่องโหว่สามารถทำให้มีการถ่ายภาพได้ว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สามารถเข้าสนามมาราคาน่า ไปชมเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้โดยที่ไม่มีตั๋ว 

มาราคาน่า เป็นสังเวียนที่บราซิลลงแข่งขันในฟุตบอลโลก 1950 ในเกมนัดเปิดสนามที่ บราซิล ชนะ เม็กซิโก 4-0 โดยเกมนั้นมีการยืนยันจำนวนผู้เข้าชมอย่างเป็นทางการที่ 81,649 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 142,429 คนในเกมรอบสุดท้ายของนัดแบ่งกลุ่มที่ บราซิล ชนะ ยูโกสลาเวีย 2-0 และมาแตะหลัก 152,772 ในเกมรอบตัดสินแชมป์ที่ บราซิล ชนะ สเปน 6-1 (ฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าว แชมป์ของทั้ง 4 กลุ่มจะต้องมาเตะแบบพบกันหมดเพื่อหาแชมป์โลก)

4ณ เวลานั้นทางการบราซิลพอใจมากกับตัวเลขผู้เข้าชมที่คิดเป็น 10% ของประชากรในนครริโอเดอจาเนโร แต่แล้วประวัติศาสตร์ก็ต้องจารึกเมื่อเกมนัดสุดท้ายมาถึง มาราคาน่า ทำลายสถิติเดิมของของตัวเองขาดลอย เมื่อ บราซิล มาเจอกับ อุรุกวัย เพื่อนร่วมทวีป ซึ่งกลายเป็นเกมตัดสินแชมป์โลกด้วย และมีแฟนอลเข้าชมเกมถึง 173,850 คนที่เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ … ซึ่งแน่นอนว่าจริง ๆ แล้วมันมากกว่านั้นอีก 20,000 – 30,000 คน บางที่ก็รายงานว่ามีคนมากกว่า 2 แสนคนอยู่ในสนามวันนั้น และนั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Maracanazo”

Maracanazo ในตำนาน

ผู้คนที่อยู่ในสนาม มาราคาน่า เมื่อนัดชิงฟุตบอลโลก 1950 ต่างเล่าถึงบรรยากาศว่า ในวันนั้นเหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ทั้งเสียงเชียร์ จำนวนคน และสภาพสนามที่ใหญ่โอ่อ่า หนึ่งในคนที่ออกมาถ่ายทอดผ่าน BBC คือ อัลซิเส กีญ่า นักเตะทีมชาติอุรุกวัยชุดนั้น ที่ออกบอกว่า “บรรยากาศพิเศษกว่าทุกสนามบนโลกนี้ กองเชียร์บราซิลกระโดดโลดเต้นด้วยความปลื้มปิติพร้อมกับความตื่นเต้น พวกเขามากันเกินความจุเพราะคิดว่าพวกเขาจะจบการแข่งขันครั้งนี้ด้วยการเป็นแชมป์โลก” 

5ไม่แปลกที่ชาวบราซิลจะมั่นใจ พวกเขาฟอร์มดีมาตลอดทัวร์นาเมนต์ ยิงคู่แข่งถล่มทลาย ชนะ สเปน 6-1 ชนะ สวีเดน 7-1 เป็นต้น จนมีการทำเพลงเชียร์ที่มีชื่อว่า Brasil Os Vencedores (Brazil the Winners) ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ใช้คำว่าแชมป์โลกอย่างอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งในอีกทางมันคือการกระตุ้นให้แฟน ๆ อยากมีส่วนร่วมในเกมนัดประวัติศาสตร์เกมนี้

บราซิลเตรียมงานฉลองแชมป์และวางแผนจัดปาร์ตี้ขนาดใหญ่ตั้งแต่ที่เกมยังไม่ได้แข่งขัน นายกเทศมนตรีเมืองริโอ ให้โอวาทนักเตะก่อนแข่งขันว่า “คุณจะใช้เวลาอีก 2-3 ชั่วโมงต่อจากนี้เพื่อทำให้พวกเราได้ยกย่องว่าเราคือแชมป์ และมันจะเกิดขึ้นต่อหน้าผู้คนนับล้านที่นี่ ไม่มีคู่แข่งคนไหนที่จะต้านทานคุณได้อีกแล้ว คุณสามารถชนะได้ทุกทีม พวกคือจะเป็นทีมที่ผมจะแสดงความยินดีในฐานะผู้ชนะในตอนจบของวันนี้” 

อย่างไรก็ตาม อุรุกวัย ณ ตอนนั้นคือแชมป์โลก 1 สมัย (เมื่อปี 1930 ที่บ้านของพวกเขาเอง) การประกาศศักดาของสื่อบราซิลบนหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ อับดูลิโอ บาเรล่า กัปตันทีมชาติอุรุกวัยชุดนั้น ใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมเพื่อนร่วมทีมของเขา ด้วยการซื้อหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับมาวางลงบนพื้นห้องน้ำให้เพื่อน ๆ ร่วมทีมของเขาเห็น เขาเริ่มถ่มน้ำลายและปัสสาวะรดหนังสือพิมพ์พวกนั้นเพื่อปลุกใจให้ทีมสามารถสร้างเหตุการณ์หักหน้าชาวบราซิลทั้งประเทศได้ 

เมื่อเกมเริ่มขึ้น บราซิล ยิงนำไปก่อนในนาทีที่ 47 โดย ฟรีช่า ประตูดังกล่าวสร้างปรากฏการณ์สนามแตกอย่างแท้จริง แฟนบอลบราซิลฝันไปไกลและคิดแผนฉลองแชมป์กันแล้ว ทว่าในช่วง 25 นาทีสุดท้ายของเกม อุรุกวัย ก็มายิง 2 ประตูพลิกกลับมานำและเป็นผู้ชนะ โดยคนยิงประตูชัยได้แก่ อัลซิเส กีญ่า ประตูของเขาทำให้สนามที่มีคนมากกว่า 2 แสนคนเงียบเป็นเป่าสากอย่างแท้จริง

6“บรรยากาศเหมือนคุณกำลังไปงานศพญาติสนิท เหมือนพ่อเหมือนแม่เสียชีวิตเลย เราพูดไม่ออก มันเป็นช่วงเวลาที่เราควรส่งเสียงเชียร์ทีม แต่มันช็อกจนทุกคนเงียบกริบ” แฟนบอลรายหนึ่งกล่าวกับ BBC 

“พวกเราไม่กระดุกกระดิกไปไหนนานกว่า 15 นาทีทันทีที่กรรมการเป่าจบเกม ผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ แต่ที่แน่ ๆ ผมรู้ชัดว่าสิ่งเลวร้ายที่สุดในโลกได้เกิดขึ้นกับผมแล้ว” 

หลังความพ่ายแพ้ บาร์และร้านอาหารหลายแห่งในริโอเดอจาเนโร ปิดให้บริการตลอดทั้งวัน เนื่องจากไม่มีใครในเมืองอยากจะอยู่ในบรรยากาศงานรื่นเริงและไม่อยากออกไปไหน หนังสือพิมพ์เปลี่ยนพาดหัวข่าวอย่างรวดเร็วเพื่อรายงานสิ่งที่เกิดขึ้น สื่ออย่าง O Mundo Sportivo ต้องพาดหัวใหม่ว่า “Drama, Tragedy and Farce” (ดราม่า, โศกนาฏกรรม และเรื่องขำขื่น)

การแข่งขันนัดนี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “Maracanazo” ซึ่งแปลว่า “การระเบิดที่ยิ่งใหญ่ของมาราคาน่า” และหลอกหลอนชาวบราซิลมาหลายทศวรรษ (ก่อนที่เกม เยอรมนี ยำ บราซิล 7-1 ในรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 2014 จะมาเทียบเคียง) ตำนานฟุตบอลบราซิล เปเล่ ที่ฟังวิทยุอยู่ที่บ้านจำได้เสมอว่านี่เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นพ่อร้องไห้

7และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก กับตอนจบที่ดราม่าแถมดูใจร้ายกับเจ้าภาพอย่างบราซิลเหลือเกิน