sportpooltoday

ถอดรหัสเงินล้าน : เหตุใดลีกลูกหนังโปรตุเกสจึงสร้างรายได้มหาศาลจากการขายนักเตะ


ถอดรหัสเงินล้าน : เหตุใดลีกลูกหนังโปรตุเกสจึงสร้างรายได้มหาศาลจากการขายนักเตะ

ลีกฟุตบอลใดในยุโรปที่ขายนักเตะได้กำไรมากที่สุด ? ไม่ใช่อังกฤษ, เยอรมัน, อิตาลี, สเปน, ฝรั่งเศส แต่เป็นลีกโปรตุเกส ที่ฟาดกำไรไม่ยั้งจากการขายแข้งทองออกนอกลีก 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมามี 4 ทีมจากโปรตุเกสที่ขายนักเตะทำกำไรได้ติด 10 อันดับแรกของโลก นั่นคือ เบนฟิก้า, เอฟซี ปอร์โต้, สปอร์ติ้ง ลิสบอน และ บราก้า โดยเฉพาะเบนฟิก้าและปอร์โต้ที่ทำกำไรได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ตามลำดับ 

เหตุใดลีกโปรตุเกสจึงสามารถขายนักเตะได้ราคาแพงและได้กำไรก้อนโตมา ? ติดตามได้กับ Main Stand

คุมบราซิล คุมทรัพยากรลูกหนัง

สิ่งที่ทำให้ลีกโปรตุเกสสร้างกำไรจากการขายนักฟุตบอลได้มหาศาล ไม่ใช่เพราะประเทศแห่งนี้เต็มไปด้วยยอดนักเตะระดับโลกทั่วทุกถนนหรือตรอกซอกซอย แต่ในทางตรงกันข้ามโปรตุเกสคือลีกอันดับหนึ่งที่ดูดผู้เล่นจากประเทศที่ผลิตนักฟุตบอลคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกอย่าง “บราซิล”

ความสำเร็จของวงการลูกหนังโปรตุเกสในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่มีรากฐานความสำเร็จสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 1500 หรือ 522 ปีก่อนเวลาในปัจจุบัน

เพราะในปี 1500 คือปีที่โปรตุเกสยึดแผ่นดินบราซิลเป็นประเทศอาณานิคม หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและบราซิลก็ผูกสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นเรื่อยมา 

ประเทศใหญ่ทางอเมริกาใต้แห่งนี้คือดินแดนตัวกลางในการค้าขายของโปรตุเกส สิ่งใดที่ชาติจากยุโรปต้องการ พวกเขาสามารถหาได้ที่บราซิลแบบที่เรียกได้ว่าไม่ขาดตกบกพร่อง

 

การค้าขายระหว่างโปรตุเกสและบราซิลดำเนินไปด้วยดีมาตลอด แม้ว่าในปี 1822 บราซิลจะประกาศตัวเป็นเอกราชออกจากโปรตุเกส แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติก็ยังคงเป็นเชิงบวกเช่นเดิม มีการค้าขาย พึ่งพาอาศัย และแลกเปลี่ยนทรัพยากรต่าง ๆ ระหว่างกันตามปกติ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บราซิลก็ได้ค้นพบทรัพยากรรูปแบบใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ นั่นคือ “นักฟุตบอล” ทุกอย่างไม่ต่างจากในอดีต ความสัมพันธ์อันแนบแน่นในหลายด้านทำให้สโมสรฟุตบอลในโปรตุเกสนิยมซื้อแข้งจากแดนบราซิลมาใช้ในการพัฒนาวงการลูกหนังของประเทศ

นอกจากจะซื้อง่ายขายคล่อง โปรตุเกสยังได้เปรียบประเทศอื่น ๆ หลายด้านในการช่วยให้นักเตะบราซิลปรับตัวได้ง่ายกับชีวิตที่ไกลบ้านเกิด … สิ่งแรกคือเรื่องของภาษา เพราะบราซิลใช้ภาษาประจำชาติเป็นภาษาโปรตุเกส อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นเมืองขึ้นภายใต้การปกครองของโปรตุเกสมายาวนานกว่า 300 ปี

ข้อต่อมาคือเรื่องของวัฒนธรรม เนื่องจากโปรตุเกสมีอำนาจเหนือแผ่นดินบราซิลมาหลายร้อยปี ชาวโปรตุกีสจึงวางรากฐานวัฒนธรรมมากมายไว้ที่นั่น ทั้งเรื่องของศาสนา, สิ่งก่อสร้าง, เพลง และอีกหลายสิ่งหลายอย่าง จนเรียกได้ว่าชาวบราซิลแทบไม่ต้องปรับตัวมากนักกับการย้ายมาใช้ชีวิตที่โปรตุเกส

 

อีกทั้งในปัจจุบันเชื้อสายของคนโปรตุเกสและบราซิลแทบจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการแต่งงานระหว่างคนทั้งสองชาติเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ มีประชากรที่ถือทั้งสองสัญชาติทั้งโปรตุเกสและบราซิลอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นในแง่หนึ่งโปรตุเกสกับบราซิลจึงถือเป็นเมืองพี่เมืองน้องของจริงผ่านความสัมพันธ์ทางสายเลือด 

นอกจากนี้หากย้อนไปในปี 2012 ชาวโปรตุเกสได้ลงผลโหวตว่าชาวบราซิลคือคนต่างชาติที่พวกเขารักมากที่สุด เห็นได้ชัดว่าโปรตุเกสเปิดรับบราซิลเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ช่วยให้คนบราซิลปรับตัวได้ง่ายมากกับชีวิตที่โปรตุเกส

รวมถึงทางบราซิลและโปรตุเกสได้กระชับความสัมพันธ์ทางการฑูตในรูปแบบพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นมิตรชั้นหนึ่งของกันและกัน ที่ไม่เพียงแต่จะกำหนดทิศทางทางการเมืองและเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังมีข้อตกลงที่จะช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะทางโปรตุเกสที่มีหน้าที่ต้องเข้าไปคอยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับบราซิลอยู่เสมอ รวมถึงคอยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ให้กับคนบราซิลอีกด้วย

ในแง่หนึ่งการดึงตัวนักฟุตบอลฝีเท้าดีออกจากบราซิลมายังโปรตุเกส นอกจากจะเป็นการฉีดเงินเข้าไปแล้วยังเป็นการช่วยให้คนบราซิลได้พบกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งชาติให้ชื่นมื่นสืบเนื่องต่อไป

เปิดรับนักเตะต่างชาติ

นักเตะบราซิลถือเป็นส่วนสำคัญของลีกฟุตบอลโปรตุเกส จากฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมา ลีกสูงสุดของโปรตุเกสมีแข้งชาวบราซิลคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของลีก ไม่ห่างกันนักกับแข้งชาวโปรตุเกสที่คิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์ 

แต่หากมองในภาพรวมลีกโปรตุเกสเปิดกว้างกับนักเตะต่างชาติเป็นอย่างมาก ปัจจุบันลีกสูงสุดโปรตุเกสมีค่าเฉลี่ยนักฟุตบอลต่างชาติเยอะกว่า บุนเดสลีกา เยอรมัน, เซเรีย อา อิตาลี, ลา ลีกา สเปน, ลีกเอิง ฝรั่งเศส และอีกหลายลีก โดยในปัจจุบัน ลีกา โปรตุกีส คือลีกฟุตบอลในยุโรปที่มีนักเตะต่างชาติค้าแข้งเป็นอันดับที่ 2 เป็นรองแค่พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เท่านั้น

ข้อแตกต่างของพรีเมียร์ลีก กับ ลีกา โปรตุกีส คือ ขณะที่ลีกอังกฤษเต็มไปด้วยนักเตะชื่อดังจากทั่วโลกที่ต้องใช้เงินมหาศาลซื้อตัวนักเตะเหล่านั้นมาร่วมทีม และทำให้ในปัจจุบัน พรีเมียร์ลีก อังกฤษ เป็นลีกที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดในโลก

 

ทางฝั่งของโปรตุเกสกลับเต็มไปด้วยนักเตะโนเนมที่รอวันสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองเพื่อย้ายไปอยู่กับทีมดังระดับโลก นี่จึงทำให้สโมสรฟุตบอลโปรตุเกสซื้อนักเตะราคาถูกเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก และสามารถขายออกไปได้ในราคาแพงกว่าเดิมหลายเท่า ยามแข้งรายนั้นมีชื่อเสียงโด่งดัง

การเทียบพรีเมียร์ลีกคงทำให้เห็นข้อแตกต่างในการทำธุรกิจฟุตบอลที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่สำหรับประเทศอื่นที่ต้องการจะปั้นนักฟุตบอลเพื่อขายเอากำไรเหมือนกับโปรตุเกส เช่น เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, ออสเตรีย, เบลเยียม เหตุใดจึงไม่ประสบความสำเร็จแบบเดียวกับโปรตุเกส ?

คำตอบคือกฎของการลงทะเบียนนักเตะในฟุตบอลลีกของแต่ละประเทศ จุดนี้โปรตุเกสวางแผนมาอย่างดี พวกเขาวางกฎที่เอื้อให้นักฟุตบอลโนเนมจากต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฟุตบอลลีกได้โดยง่ายไว้ 

ขณะที่ฝรั่งเศสกำหนดให้ลงชื่อนักเตะนอกสหภาพยุโรปได้ไม่เกิน 4 คน, ออสเตรียไม่เกิน 7 คน, ตุรกีไม่เกิน 14 คน โปรตุเกสกลับไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ ทำให้พวกเขามีทรัพยากรนักฟุตบอลเข้าสู่ประเทศมากกว่า และยังสามารถหาแข้งฝีเท้าดีจากทั่วโลกต่างจากหลายชาติที่ต้องอยู่ในกรอบของการใช้นักเตะภายในสหภาพยุโรปเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น

 

นอกจากนี้บางลีกยังมีการจำกัดโอกาสในการลงทะเบียนนักเตะด้วยจำนวนที่จำกัด เช่น เบลเยียมถึงจะไม่มีการจำกัดโควตานักเตะนอกอียู แต่ก็สามารถส่งชื่อนักเตะได้เพียง 25 คน หรือตุรกีที่ส่งได้เพียง 24 คน ขณะที่โปรตุเกสกลับส่งชื่อได้ถึง 61 คน ซึ่งมันเปิดโอกาสให้ทีมในโปรตุเกสได้เซ็นนักเตะแบบทิ้งขว้างได้สบาย ๆ คนไหนเล่นดีก็เก็บไว้ใช้ คนไหนผลงานไม่เข้าตาก็ปล่อยยืม หรือจะขายทิ้งทีหลังก็ยังได้

จะมีแต่ลีกดัตช์ของเนเธอร์แลนด์เท่านั้นที่เรื่องของกฎการลงทะเบียนนักเตะสามารถวัดกับโปรตุเกสได้ เพราะไม่มีการกำหนดผู้เล่นโควตานอกสหภาพยุโรป และไม่มีการจำกัดนักเตะที่ใช้ในแต่ละฤดูกาล โดยจะลงชื่อเท่าไหร่ก็ได้ เรียกได้ว่าลิเบอรัลสุด ๆ ตามสไตล์ของชาวดัตช์จริง ๆ

ทั้งที่เปิดเสรีขนาดนี้ ในความเป็นจริงแล้วลีกสูงสุดของเนเธอร์แลนด์มีนักเตะต่างชาติอยู่ที่ 41.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ห่างจากลีกโปรตุเกสมากพอสมควร นอกจากนี้นักเตะต่างชาติในโปรตุเกสส่วนใหญ่มาจากดินแดนนอกทวีปยุโรป ทั้ง บราซิล, อาร์เจนตินา, ญี่ปุ่น, โคลอมเบีย, กานา, แองโกลา, อุรุกวัย, ไอวอรี่ โคสต์ จนเรียกได้ว่าซื้อไปทั่ว 

ขณะที่ลีกดัตช์กลับมีนักเตะต่างชาติเป็นเพื่อนร่วมสหภาพยุโรปแทบทั้งสิ้น โดยเน้นหนักไปที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ทั้ง สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก รวมถึงชาติบ้านใกล้อย่าง เยอรมัน, ฝรั่งเศส และ เบลเยียม โดยมีแค่โมร็อกโกเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่เป็นประเทศนอกสหภาพยุโรปที่มีนักเตะต่างชาติเล่นอยู่ในเนเธอร์แลนด์มากกว่า 10 คน

ไม่ใช่ว่าลีกดัตช์ไม่ต้อนรับชาวต่างชาติ แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่เลือกที่จะย้ายมาเล่นที่เนเธอร์แลนด์ต่างหาก เนื่องจากส่วนใหญ่นักเตะต่างย้ายไปเล่นที่โปรตุเกสมากกว่า เนื่องจากวัฒนธรรมของชาวโปรตุเกสเปิดรับชาวต่างชาติมากกว่า โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีนักเตะจากทั่วโลกไปรวมตัวกันอยู่ที่นั่น ก็เป็นเรื่องปกติที่นักเตะรุ่นหลังจะยิ่งเดินรอยตามแข้งรุ่นพี่ไปเล่นในลีกที่พวกเขาสร้างชื่อเสียงเอาไว้ เหมือนกับที่แข้งไทยอยากไปเล่นที่ญี่ปุ่นเพราะความสำเร็จของ ชนาธิป สรงกระสินธิ์ และ ธีราทร บุญมาทัน

สุดท้ายแล้วลีกโปรตุเกสกุมทรัพยากรนักฟุตบอลจำนวนมากไว้ในมือทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นลีกนี้จึงมีโอกาสที่จะได้เจอนักเตะฝีเท้าดี ๆ มากกว่าลีกอื่น ซึ่งย่อมตามมาด้วยการขายนักเตะราคาแพงได้หลายคนจนเรียกได้ว่าไม่มีหมดสต๊อก กำไรจึงไหลเข้ามาสู่ลีกโปรตุเกสไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

ราคาแรงตามของคุณภาพ

ลีกฟุตบอลโปรตุเกสมีทรัพยากรนักเตะจำนวนมาก แถมเป็นผู้เล่นที่มีคุณภาพในการสร้างกำไรก้อนโต ดังนั้นโจทย์ถัดมาที่ต้องทำให้ได้คือต้องพัฒนาแข้งในลีกให้มีประสิทธิภาพมากพอ ในระดับที่สโมสรยักษ์ใหญ่เงินหนาจะมาจ่ายเงินทุ่มซื้อนักเตะไป

สโมสรในโปรตุเกสหลายสโมสรเข้าใจโจทย์นี้เป็นอย่างดี ทำให้ทีมดังอย่าง เบนฟิก้า, เอฟซี ปอร์โต้, สปอร์ติ้ง ลิสบอน ลงทุนอย่างมากกับการสร้างสนามฝึกซ้อมและศูนย์ฝึกให้กับเยาวชน ประกอบกับมีโค้ชระดับคุณภาพที่มาตรฐานขั้นต่ำมีดีกรี ยูฟ่า เอ ไลเซนส์ รวมถึงมีทิศทางการสร้าง DNA นักฟุตบอลที่ชัดเจนที่ทำให้มีการพัฒนาทั้งความสามารถเฉพาะตัวและความแข็งแกร่งทางร่างกาย เพื่อให้เล่นได้ในลีกระดับสูงทุกลีก 

ยกตัวอย่างเช่น เบนฟิก้า ลงทุนสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนราคาแพงถึง 15 ล้านยูโร หรือประมาณ 553 ล้านบาท และด้วยเงินเพียง 15 ล้านยูโร เบนฟิก้าก็สามารถสร้างแข้งชั้นนำได้ ทั้ง แบร์นาโด ซิลวา, รูเบน ดิอาซ, เจา เฟลิกซ์, เอแดร์ซอน, เรนาโต ซานเชส, ฟาบิโอ ซิลวา ซึ่งรวมแล้วสร้างรายได้ให้กับสโมสรหลายร้อยล้านยูโร 

การลงทุนกับระบบพัฒนานักเตะช่วยให้แข้งที่เติบโตในโปรตุเกสก้าวขึ้นไปเป็นนักเตะฝีเท้าระดับโลกได้จริง ไม่ใช่แค่ผู้เล่นจากระบบเยาวชนของเบนฟิก้า อย่าง แบร์นาโด ซิลวา, รูเบน ดิอาซ และ เอแดร์ซอน ที่กลายเป็นแข้งระดับโลก แต่รวมถึงนักเตะรายอื่น ๆ อย่าง เอแดร์ มิลิเตา, บรูโน่ แฟร์นันด์ส, หลุยส์ ดิอาซ, ฮาเมส โรดริเกซ, อักเซล วิตเซิล, อังเคล ดิ มาเรีย เป็นต้น รวมถึงแข้งหนุ่มราคาแพงอย่าง เจา เฟลิกซ์ และ ดาร์วิน นูเนซ ซึ่งตอนที่นักเตะเหล่านี้ย้ายออกจากลีกโปรตุเกสมีอายุไม่เกิน 25 ปีทั้งสิ้น ดังนั้นลีกโปรตุเกสในปัจจุบันคงไม่ต่างอะไรกับโรงเรียนสร้างนักเตะระดับคุณภาพที่พร้อมใช้งานในฟุตบอลระดับสูงได้ทันที

ด้วยการลงทุนน้อย เน้นพัฒนานักเตะโนเนม แต่ปั้นให้เป็นผู้เล่นระดับโลกได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลีกโปรตุเกสจะทำกำไรได้มหาศาล ทุกวันนี้เรียกได้ว่าการปั้นนักเตะเพื่อขายกลายเป็นธุรกิจสำคัญของประเทศโปรตุเกสในปัจจุบันไปเป็นที่เรียบร้อย 

“สำหรับเรา การลงทุนพัฒนานักเตะคือวิสัยทัศน์ของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสโมสรในระยะยาว มันอาจจะใช้เวลาสัก 10 หรือ 15 ปี ในการสร้างความยั่งยืนให้กับสโมสร”

“เราทำงานหนักทุกวันเพื่อที่จะพัฒนาผู้เล่น และหวังว่าสักวันจะตอบแทนในสิ่งที่เราลงทุนไปผ่านการสร้างมูลค่าให้นักเตะ”

“เราสัญญากับนักเตะและเป็นสัญญาที่จะช่วยสานฟันให้กับพวกเขา แต่พวกเขาก็ต้องรู้ว่าต้องสร้างมูลค่าให้กับตัวเองให้ได้ ถ้าวันหนึ่งพวกเขายึดตำแหน่งตัวจริงที่นี่ได้ สักวันพวกเขาจะได้ย้ายไปต่างประเทศ” โรดริโก้ มากัลเฮส ผู้อำนวยการร่วมด้านการพัฒนาเยาวชนของเบนฟิก้า กล่าว 

สิ่งหนึ่งที่สโมสรในโปรตุเกสทำได้ดีมาตลอดคือการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับนักเตะแบบไม่มีบิดพริ้ว เมื่อได้ราคาที่เหมาะสม ทุกทีมก็พร้อมจะขายนักเตะออกไปทันที นั่นจึงทำให้นักเตะทุกคนเชื่อใจว่า การย้ายมาเล่นที่โปรตุเกสและทำผลงานได้โดดเด่นจะช่วยให้พวกเขาจะได้ย้ายไปเล่นในลีกที่ใหญ่กว่าอย่าง พรีเมียร์ลีก หรือ ลา ลีกา 

ซึ่งผลดีที่กลับมาคือนักเตะทุกคนตั้งใจในการพัฒนาฝีเท้าเพื่อจะทำผลงานให้โดดเด่นเพื่อหาโอกาสไปเล่นกับทีมที่ใหญ่ขึ้น และผลดีก็กลับมาที่สโมสรที่ได้ขายนักเตะได้ในราคาแพง เพราะผู้เล่นล้วนมีคุณภาพเป็นวงจรของดีที่ช่วยสร้างเงินมหาศาลให้กับทีมในโปรตุเกส

โดยจาก 10 ปีที่ผ่านมาเบนฟิก้าเป็นสโมสรที่ทำกำไรจากการขายนักฟุตบอลมากที่สุดในโลก ด้วยเงิน 594.5 ล้านยูโร หรือราว 21,941 ล้านบาท ขณะที่อันดับสองคือ เอฟซี ปอร์โต้ ที่ทำกำไรจากการขายนักเตะไปได้ 403.5 ล้านยูโร หรือ 14,892 ล้านบาท

ขณะที่สปอร์ติ้ง ลิสบอน ทำกำไรไปได้ 221.8 ล้านยูโร หรือราว 8,186 ล้านบาท และ บราก้า ก็ทำกำไรไปได้ 192 ล้านยูโร หรือ 7,086 ล้านบาท

เงินตรงนี้มีความสำคัญมากกับทีมฟุตบอลในโปรตุเกส เพราะสโมสรไม่ได้มีรายได้จำนวนมากจากสปอนเซอร์หรือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ดังนั้นการปั้นนักเตะขายเพื่อสร้างกำไร ทำให้ทีมรายนี้ได้เงินไปใช้จ่ายในสโมสร และสร้างความยั่งยืนให้กับทีม ไม่ต้องเสี่ยงเจอกับปัญหาล้มละลาย

ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ประกอบกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ลีกฟุตบอลอื่นจะเดินรอยตามแนวทางของลีกโปรตุเกสในการสร้างรายได้งาม ๆ ผ่านการขายนักเตะแบบนี้ แต่อย่างน้อยลีกโปรตุเกสก็หาวิถีทางเอาตัวรอดในยุคที่เกมลูกหนังกลายเป็นการต่อสู้ของเกมธุรกิจเขี้ยวลากดินแบบในทุกวันนี้