ในฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ไม่มีแฟนบอลประเทศไหนอีกแล้วที่จะบ่นอุบเท่ากับแฟนบอลทีมชาติอังกฤษ เพราะกฎเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งของชาติที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมีอยู่ว่า “ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ”
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับฟุตบอลอังกฤษ เพราะนี่คือประเทศที่มีฟุตบอลที่ไหนต้องมีเบียร์ที่นั่นเป็นของคู่กัน
Main Stand จะพาคุณไปทำความเข้าใจว่าทำไมการดื่มเบียร์จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ของชาวอังกฤษ ? เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นตรงไหน ? ติดตามได้ที่นี
เบียร์ + ฟุตบอล = ผลผลิตจากสวรรค์
เบียร์ คือเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน หากไล่ตามประวัติศาสตร์มีการค้นพบหลักฐานการผลิตเบียร์ของมนุษย์ตั้งแต่ 9,500 ปีก่อนคริสตกาล และเบียร์คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรก ๆ ของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอารยธรรมสุเมเรียน อารยธรรมแรกของมนุษยชาติในอาณาจักรเมโสโปเตเมีย (ประเทศอิรักในปัจจุบัน)
เดิมทีการผลิตเบียร์เกิดขึ้นจากการแปรรูปอาหารที่เป็นการนำธัญพืชมาหมัก ใส่ฮอปส์ และยีสต์ จนได้น้ำสีทองเหลืองอร่าม ในยุคอาณาจักรบาบิโลเนีย มีการค้นพบว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มเพื่อให้เกิดความเคลิบเคลิ้มและเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของพิธีบูชาเทพเจ้า ก่อนที่อาการเมาและรสชาติของผู้ใหญ่จะขจรขจายไปไกล จนกลายเป็นเครื่องดื่มคู่มนุษยชาติที่ดื่มกินกันได้ทุกเวลาในยุคนี้
ปัจจุบันแม้เยอรมนีจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเบียร์มากที่สุดในฐานะผู้ผลิต แต่สำหรับประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มเบียร์ในช่วงที่มีฟุตบอลแข่งต้องยกให้อังกฤษเป็นที่หนึ่ง เรื่องนี้มีเหตุผลที่มา เพราะเบียร์คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ “กำไรงาม” และความกำไรงามนี้เองที่ทำให้พวกเขาสามารถนำโลโก้สินค้าและผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเข้ามาผสมผสานกับโลกของฟุตบอลได้อย่างแนบเนียน
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในตอนที่ฟุตบอลอังกฤษเริ่มสร้างลีกฟุตบอลของพวกเขาเลยทีเดียว คนอังกฤษนั้นบ้าฟุตบอลมาตั้งแต่ไหนแต่ไร นับตั้งแต่พวกเขาเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานก็เต็มประเทศในทุกหัวเมืองทั้งในธุรกิจถ่านหิน โรงงานตีเหล็ก ทอฝ้าย และธุรกิจใหญ่อื่น ๆ ได้คัดเอาชายหนุ่มจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาขายแรงงาน
และสำหรับเหล่าแรงงานที่ทำงานหนักมาตลอดทั้งสัปดาห์ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้ใช้วันหยุดพักผ่อนอย่างเต็มที่ หนึ่งในนั้นคือการเล่นและการดูฟุตบอล และเริ่มมีการแข่งขันกันในระบบลีก ซึ่ง ณ เวลานั้นก็เป็นช่วงที่วัฒนธรรมการดูฟุตบอลเริ่มผสมและเกี่ยวข้องการดื่มเบียร์กับเพื่อน ๆ ตามผับต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในยุคนั้น เพื่อรองรับชนชั้นแรงงานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยในช่วงปี 1900 ธุรกิจโรงกลั่นเบียร์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำกำไรงดงามที่สุด และคนที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าวได้นั้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลในสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งนั้น
เมื่อมีรายได้เข้ามามากในหมู่โรงกลั่นเบียร์ ประกอบกับลีกฟุตบอลก็เริ่มโตขึ้น จากที่เคยเป็นแค่กิจกรรมดื่มเบียร์เชียร์บอลก็กลายเป็นการร่วมมือกันทางธุรกิจที่กลุ่มผู้ผลิตเบียร์เข้ามามีส่วนอย่างเต็ม ๆ ในฐานะสปอนเซอร์ และการเดินทางร่วมกันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างเบียร์กับฟุตบอลก็ได้เริ่มขึ้น
2 Become 1
เมื่อฟุตบอล 1 คู่ต้องเตะกันร่วม 2 ชั่วโมงกว่าจะจบ เบียร์จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่เพิ่มอรรถรสให้กับการรับชมของชาวอังกฤษอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถึงวันแข่งของทีมรักพวกเขาจะรวมตัวกันตั้งแต่เช้า เรียกได้ว่าเป็นการเผาหัวก่อนเกมเริ่ม และเมื่อตอนที่ฟุตบอลแข่งพวกเขาก็มีเบียร์เป็นเครื่องดื่มคู่ใจ แม้กระทั่งจบแมตช์แล้ว บาร์ คือพื้นที่การวิเคราะห์วิจารณ์เกมที่พวกเขาจะต้องไปต่อกัน ทั้งหมดเป็นการจบทริปสุดสัปดาห์และชาร์จแบตในช่วงวันหยุดเพื่อเตรียมพร้อมกลับมาทำงานอีกครั้ง
เรื่องนี้เองที่ทำให้บริษัทและโรงกลั่นเบียร์ในประเทศอังกฤษเห็นโอกาส พวกเขาเป็นกลุ่มทุนที่มีกำไรงามและลูกค้าหลักก็เป็นชนชั้นแรงงาน เรียกได้ว่าคนดูบอลเกือบ 100% ล้วนดื่มเบียร์กันทั้งนั้น ดังนั้นการเข้ามาสนับสนุนทีมฟุตบอลทีมหนึ่งเพื่อให้เกิดคำว่า “Brand Loyalty” (ความภักดีในตราสินค้า) จึงเริ่มขึ้น
เหล่าโรงเบียร์ต่าง ๆ ได้เข้ามาสนับสนุนวงการฟุตบอลอย่างจริงจังในช่วงต้นทศวรรษ 1900s สโมสรต่าง ๆ ณ เวลานั้นอย่าง แอสตัน วิลล่า, ลิเวอร์พูล และ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ล้วนเป็นสโมสรที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากโรงเบียร์ในท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ทั้งสิ้น โดยค่าสนับสนุนจะจ่ายกันปีต่อปี โดย 1 ปีจะอยู่ที่ราว ๆ 10,000 ปอนด์
ตัวอย่างที่จะทำให้คุณเห็นภาพง่าย ๆ คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่อย่าง ลิเวอร์พูล ที่เริ่มก่อตั้งสโมสรโดยชายที่ชื่อว่า จอห์น โฮลดิง นักธุรกิจเจ้าของโรงกลั่นเบียร์ในท้องถิ่น นอกจากนี้โฮลดิงยังเป็นเจ้าของที่ดินที่ใช้สร้างสนามแอนฟิลด์เพื่อเป็นสังเวียนเหย้าของทีมอีกด้วย
นอกจากลิเวอร์พูลแล้ว สโมสรที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบันอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เคยได้รับการช่วยเหลือจากโรงเบียร์เมืองแมนเชสเตอร์เช่นกัน โดยสมัยที่สโมสรยังชื่อ นิวตัน ฮีธ ที่ก่อตั้งโดยชนชั้นแรงงานจากการรถไฟ ตอนนั้นทีมประสบปัญหาทางการเงินจนต้องตกไปเล่นในดิวิชั่น 2 และนักเตะในทีมเริ่มทยอยย้ายออกจนสโมสรเกือบเจ๊ง นิวตัน ฮีธ ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก จอห์น เฮนรี เดวีส์ เจ้าของโรงเบียร์ผู้มั่งคั่งแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อทีมเป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเวลาต่อมา … หากจะกล่าวว่าหลายสโมสรมีเงินไว้จับจ่ายและจ้างนักเตะก็เพราะแรงสนับสนุนหลักจากเหล่าโรงเบียร์ท้องถิ่นก็คงไม่ผิดนัก
Photo : The Republik of Mancunia
ไม่ใช่แค่สองทีมนี้เท่านั้น โรงเบียร์แต่ละท้องถิ่นก็สนับสนุนทีมฟุตบอลของพวกเขากันอย่างเป็นล่ำเป็นสันหลังจากนั้น เพราะมันคือช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ ๆ จากการขายเบียร์ในวันแข่งและเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และยิ่งกับฟุตบอลลีกที่โตขึ้นในทุก ๆ วัน การลงทุนกับทีมฟุตบอลจึงถือว่าเป็นการลงทุนที่การันตีได้ว่าจะได้รับผลตอบแทนในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน
จากนั้นเป็นต้นมาเราจึงได้เห็นภาพของแฟนบอลอังกฤษคู่กับแก้วเบียร์ของพวกเขาเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับสโมสรหรือทีมชาติ เพราะเบียร์อยู่ใกล้แค่เอื้อมมือ และการดื่มเบียร์ของแฟน ๆ ยังเหมือนเป็นการช่วยผู้สนับสนุนสโมสรในอีกทางหนึ่ง ดังนั้นมันจึงเข้ากับวลี “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” คุณสนับสนุนทีมของผม ผมก็จะดื่มเบียร์ของคุณ … และบังเอิญด้วยความที่เบียร์กับฟุตบอลเข้าคู่กันอย่างมาก แม้ในช่วงหลังฟุตบอลจะกลายมาเป็นเอ็นเตอร์เทนและธุรกิจที่ทำเงินได้มหาศาลที่ดึงดูดสปอนเซอร์ที่มีเงินมากกว่าโรงเบียร์ได้มากมาย แต่ครั้นจะให้เลิกดื่มเบียร์ก็คงเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะ 2 สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตแฟนบอลไปเสียแล้ว
กินโหดโคตรดุ
เมื่อธุรกิจโรงเบียร์เติบโตและหลากหลาย มันก็ง่ายที่ประชาชนชาวอังกฤษหรือในสหราชอาณาจักรจะเข้าถึงมัน พวกเขาอยู่กับเบียร์มานานและเป็นหนึ่งในกิจวัตรโดยเฉพาะช่วงดูบอล สำนักข่าวอย่าง BBC ได้เก็บสถิติการดื่มเบียร์ของชาวบริติชและพบว่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่วัฒนธรรมนี้เติบโตมากเป็นพิเศษ โดยมีช่วงขาลงเพียงครั้งเดียวในช่วงปี 1980 ที่เศรษฐกิจตกต่ำและทำให้มีคนว่างงานในประเทศมากขึ้น
“ในช่วงหลังสงครามโลก หรือหลังปี 1930 คุณสามารถพบผับบาร์ได้เต็ม 2 ข้างถนน เมื่อเข้าไปจะพบกับเคาน์เตอร์บาร์ที่ทำจากไม้มะฮอกกานี พร้อมกับผู้คนที่เมายับถึงขีดสุด พวกเขาถ่มน้ำลาย สูบบุหรี่ เล่นเกม เดิมพัน ร้องเพลง ซื้อขายสินค้าทั้งถูกและผิดกฎหมาย ทุกอย่างเริ่มขึ้นที่นี่ ที่ที่รวมพลเหล่าชายฉกรรจ์ที่ออกมาปล่อยกายปล่อยใจไปกับการดื่มและรสชาติของเบียร์” ส่วนหนึ่งของหนังสือ ‘The Pub and the People เล่าไว้
เมื่อยุคของโทรทัศน์มาถึง การดื่มเบียร์ก็กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมขึ้นไปอีก ในเวลานั้นเบียร์หลายเจ้าทำโฆษณาออกมาให้โดดเด่นที่แสดงอัตลักษณ์ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนอังกฤษ เบียร์แบรนด์ต่าง ๆ ปรากฏตัวบนหน้าสื่อมากขึ้นเช่น เบียร์ Carlsberg กับ ลิเวอร์พูล, เบียร์ Scottish & Newcastle บนเสื้อแข่ง นิวคาสเซิล รวมถึงเสื้อของ เอฟเวอร์ตัน ที่มี เบียร์ช้าง จากประเทศไทยให้การสนับสนุน
Chrissie Giles นักเขียนของ BBC พูดถึงการเติบโตของเบียร์ในอังกฤษว่า “คนอังกฤษโตมากับเบียร์ ในยุคที่มีโทรทัศน์มันยิ่งชัดเจนขึ้น พวกเราได้เห็นโฆษณาเบียร์ในทีวี ขณะที่รอบตัวเรารายล้อมด้วยเบียร์ราคาถูกหาซื้อง่ายมากมาย ต่อให้ทุกวันนี้จะมีความเข้มงวดด้านโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่เราก็ยังสามารถเห็นโลโก้เบียร์ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในสนามฟุตบอลและในชีวิตประจำวันของพวกเรา”
“การไปที่บาร์ในคืนวันศุกร์เป็นเรื่องปกติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราดื่มเพราะเรามีความสุข เราดื่มเพราะเราเศร้า เราเปิดตู้แช่และพบเบียร์มากมาย แม้เราจะเข้าใจดีว่าการดื่มเบียร์อาจจะทำให้เงินในกระเป๋าเราหายไปบ้าง และอาจจะต้องอ้วกแตกอ้วกแตนบนรถแท็กซี่ เมาค้างไปทำงานเป็นบางครั้งก็ตาม”
ไม่ว่าจะทัวร์นาเมนต์ไหน รายการใด ชาวอังกฤษไม่เคยขาดเบียร์ของพวกเขา โดยมีสถิติเกิดขึ้นในฟุตบอลโลกปี 2006 ที่ประเทศเยอรมนี แฟนบอลอังกฤษเดินทางไปที่เมืองนูเรมเบิร์ก (หรือชื่อเยอรมัน เนิร์นแบร์ก) ที่เป็นสังเวียนแข่งของทีมในเกมพบ ตรินิแดดและโตเบโก ในวันนั้นชาวอังกฤษจำนวน 70,000 คนดื่มเบียร์ในเมืองนูเรมเบิร์กไปทั้งหมด 1.2 ล้านไพน์ (แก้วขนาดใหญ่มีขนาดเล็กกว่าเหยือกเพียงเล็กน้อย) เฉลี่ยต่อคนพวกเขาดื่มเบียร์ถึงคนละ 17 ไพน์เลยทีเดียว
และยังมีอีกสถิติที่บ่งบอกว่าคนอังกฤษขาดบอลกับเบียร์ไม่ได้จริง ๆ คือในยูโร 2020 ที่ผ่านมา ที่อังกฤษไปถึงรอบชิงชนะเลิศนั้น ชาวอังกฤษดื่มเบียร์กันถล่มทลายถึงขั้นที่บางร้านเบียร์ไม่พอขาย และที่ยิ่งกว่านั้น มีการเก็บสถิติจาก The Athletic ระบุว่า ในยูโรครั้งดังกล่าว แฟนบอลอังกฤษสร้างวัฒนธรรมเบียร์กับฟุตบอลออกมาใหม่อีกหนึ่งอย่างนั่นคือการ “โยนแก้วเบียร์เวลาที่ทีมยิงได้” โดยในเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายระหว่าง อังกฤษ กับ สวีเดน ที่อังกฤษยิงประตูได้ถึง 4 ลูก (ชนะ 4-0) มีการโยนแก้วเบียร์ขึ้นฟ้าเป็นจำนวนถึง 1 แสนแก้ว ในบริเวณพื้นที่การถ่ายทอดสดจอยักษ์
“ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไปเพราะอะไร แต่มันเป็นความตื่นเต้นและช่วงเวลาที่อะดรีนาลีนสูบฉีดถึงขีดสุด ผมอยากจะโยนอะไรบางอย่างไปแบบสุดแรงเพื่อฉลองประตูของทีม … แปลกไหมล่ะ ? ผู้คนกว่า 30,000 คนโยนแก้วเบียร์พลาสติกกันบินว่อนเต็มไปหมดพร้อม ๆ กัน เราก็ตอบไม่ได้ว่าทำไปทำไม เราโยนมันทิ้ง และก็ต้องไปต่อแถวเพื่อซื้อแก้วใหม่” ชายคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ The Athletic
เราจะเห็นได้ว่า ฟุตบอล และ เบียร์ มีสถานะเหมือนกันสำหรับชาวอังกฤษนั่นคือ “ของมันต้องมี” เมื่อมีฟุตบอลก็ต้องมีเบียร์ เมื่อมีเบียร์ก็ต้องมีเรื่องฟุตบอล ต่อให้ไม่ได้ดูถ่ายทอดสดหรือดูเกมในสนามก็ยังต้องตั้งวงถกเถียงพูดคุยกันเรื่องฟุตบอล เพราะทั้งสองสิ่งนี้ซึมเข้าไปอยู่ในสายเลือดของพวกเขามาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว … และการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ กาตาร์ ก็เป็นที่น่าสนใจว่ากฎหมายต่าง ๆ ที่เข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องของการกิน ดื่ม นั้นจะสามารถหยุดธรรมชาติของชาวอังกฤษได้หรือไม่