“ตัวเลขที่สร้างความเสียหายให้เราได้มากที่สุดคือตัวเลขขาดดุลของสโมสร เรายังติดลบอยู่ 500 ล้านยูโร” เอดูอาร์ด โรเมว รองประธานสโมสรบาร์เซโลน่า กล่าว
ถือว่ายังอยู่ในช่วงพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกอย่างแท้จริงสำหรับ บาร์เซโลน่า เพราะแม้ว่าจะจบในตำแหน่งรองแชมป์ พร้อมคว้าตั๋ว UCL ในซีซั่น 2021-22 แต่พวกเขาก็ยังมีหนี้ก้อนใหญ่ต้องสะสาง
ซัมเมอร์นี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของสโมสร โดยเฉพาะการหาเงินจำนวนมหาศาลมาอุดรอยรั่วให้ทันก่อนเส้นตายรายงานบัญชีงบดุลประจำปีที่กำลังคืบคลานเข้ามา
บาร์เซโลน่า ต้องทำอย่างไร และมีโอกาสแค่ไหนที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
เจ้าบุญทุ่มสู่เจ้าบุญทิ้ง
หากเอ่ยถึงสโมสรจากสเปน บาร์เซโลนา น่าจะเป็นชื่อลำดับแรก ๆ ที่ชาวไทยนึกถึง เพราะพวกเขาคือหนึ่งในทีมที่ผลัดกันขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ในลีกแดนกระทิงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
และหนึ่งในนโยบายที่โด่งดังซึ่งผลักดันไปพร้อมกับการปั้นนักเตะเยาวชนจากศูนย์ฝึก “ลา มาเซีย” คือการใช้เงินจำนวนมหาศาลกว้านซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์ โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1990s จนทำให้พวกเขาได้รับฉายาจากสื่อไทยว่า “เจ้าบุญทุ่ม”
แม้ว่านโยบายนี้จะเริ่มจางหายไปในช่วงทศวรรษที่ 2000s เมื่อบาร์ซาสามารถปลุกปั้นเยาวชนมาเป็นแกนหลักของทีมได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การ์เลส ปูโยล, ชาบี เอร์นานเดซ, อันเดรส อิเนียสต้า หรือ เปโดร โรดริเกวซ ทว่ามันก็ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งหลังการเข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ในปี 2014
นักธุรกิจรายนี้พยายามทำให้บาร์เซโลน่ากลายเป็น “ทีมรวมดาว” เหมือนกับคู่แข่งอย่าง เรอัล มาดริด เพื่อดึงดูดสปอนเซอร์ และทำให้ยุคของเขามีนักเตะระดับเวิลด์คลาสย้ายมาสวมเสื้อเลือดหมูน้ำเงินกันอย่างคับคั่ง
ไล่ตั้งแต่ เนย์มาร์, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่, หลุยส์ ซัวเรซ, อิวาน ราคิติช, อุสมาน เด็มเบเล่, อองตวน กรีซมันน์ หรือล่าสุด แฟรงกี้ เดอ ยอง ที่แต่ละรายล้วนมีค่าตัวในระดับ 50-100+ ล้านยูโร รวมถึงค่าเหนื่อยในระดับที่แพงหูฉี่ด้วยกันทั้งนั้น
ในตอนแรกมันเหมือนจะไปได้สวย เมื่อมันทำให้บาร์ซ่าสามารถคว้าแชมป์ลา ลีกา ได้ถึง 4 สมัย โคปา เดล เรย์ 4 สมัย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และแชมป์สโมสรโลก อย่างละ 1 สมัยในยุคของ บาร์โตเมว ทว่าฝันร้ายก็มาเยือนพวกเขาในปี 2020
มันเป็นปีที่ทั่วโลกต้องระส่ำระส่าย จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจฟุตบอลอย่างหนัก รวมถึงบาร์เซโลน่า เมื่อพวกเขาต้องขาดรายได้จากค่าตั๋วเข้าชม หลังต้องเล่นในสนามที่ไร้แฟนบอลนานถึง 18 เดือน
อย่างไรก็ดีมันเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะเมื่อรวมกับการใช้เงินอย่างมือเติบก่อนหน้านี้ กว่าจะรู้ตัว บาร์ซ่า ก็มีหนี้มากถึง 1,173 ล้านยูโร และทำให้พวกเขาต้องเสีย ลิโอเนล เมสซี่ นักเตะระดับไอคอนของสโมสรไปอย่างสุดช็อก เมื่อปี 2021
“บาร์โตเมวเป็นนักธุรกิจที่เก่ง แต่แนวคิดของเขามันใช้ไม่ได้กับการบริหารทีมฟุตบอล แผนการซื้อนักเตะของเขาก็ห่วย การบริหารเรื่องค่าเหนื่อยก็ห่วย ผลเสียก็มาอยู่กับผลงานในสนาม” ไมเคิล ฮิคส์ นักข่าวของ Sky Sports อธิบาย
“เขาคิดถึงแต่การซื้อนักเตะราคาแพงแต่ไม่คิดจะหาโค้ชระดับโลกมาคุมทีม คนอย่าง เอร์เนสโต บัลเบร์เด้ ไม่ดีพอสำหรับบาร์เซโลน่า ผลลัพธ์ที่ตามมาคือหลังจากนี้บาร์ซ่าต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก ๆ ในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง”
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับบาร์เซโลน่าคือสิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นกับบาเลนเซีย (ใช้เงินเกินกำลัง, ตั้งโค้ชไม่เหมาะกับทีม, ผู้บริหารดำเนินนโยบายที่ผิด) ซึ่งถึงแม้จะมีแชมป์ติดมือแต่หลังจากนั้นคือหายนะ”
ทว่าแค่นั้นก็ยังไม่พอ
ขายสิทธิ์ประทังชีวิต
ฤดูกาล 2021-22 ที่ผ่านมาถือเป็นซีซั่นที่บาร์เซโลน่าต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพราะไม่ใช่แค่ต้องหาเงินมาใช้หนี้เท่านั้น แต่ยังต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปแก้ปัญหาเรื่องบัญชีค่าจ้างที่สะสมมาราวดินพอกหางหมู
เนื่องจากกฎ Financial Fair Play ของลา ลีกา ซึ่งเป็นกฎเฉพาะสำหรับลีกสูงสุดของสเปน ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2013 และไม่เหมือนกับของยูฟ่า ระบุไว้ว่าแต่ละทีมจะต้องใช้เงินไม่เกินจาก “เพดานค่าจ้าง” ที่ลา ลีกา กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษที่มีตั้งแต่ห้ามลงทะเบียนหรือต่อสัญญานักเตะ ไปจนถึงปรับตกชั้น
สำหรับตัวเลขของแต่ละสโมสรจะถูกคำนวณโดยทีมวิเคราะห์ของลา ลีกา ที่จะประเมินทุกอย่าง ทั้งรายรับ รายจ่าย มูลค่าของนักฟุตบอล ฯลฯ จนออกมาเป็นจำนวนเงินที่สโมสรจะใช้จ่ายเกี่ยวกับนักฟุตบอลได้ หรือ Squad Cost Limit ซึ่งจะประกาศให้ทุกสโมสรได้รู้ในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี
ขณะที่บาร์เซโลน่า ในฤดูกาล 2020-21 พวกเขามีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากถึง 617 ล้านยูโร ทำให้พวกเขาต้องระดมเทขาย หรือปล่อยยืมผู้เล่นออกจากทีมเป็นขบวน รวมไปถึงกรณีของ เมสซี่ และ อองตวน กรีซมันน์ ที่ลาทีมไปแบบไม่เชื่อสายตา
แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบัน บาร์เซโลน่า ก็ยังมีตัวเลขที่ติดลบอยู่อย่างน้อย 150 ล้านยูโร ในบัญชีสโมสรปีล่าสุดที่ต้องรายงานก่อนเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายน จนทำให้ เอดูอาร์ด โรเมว รองประธานสโมสร กล่าวแบบติดตลกว่าต้องเอาเงินมาให้เขา 500 ล้านยูโรจึงจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้
“มันยังคงวิกฤต แต่ข้อได้เปรียบหากเทียบกับปีที่แล้วคือเรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนและเราเจอปัญหาแล้ว เรารู้ว่าละครเรื่องนี้คืออะไร” เอดูอาร์ด โรเมว กล่าวกับ sport.es
“ตัวเลขที่สร้างความเสียหายให้เราได้มากที่สุด ตัวเลขขาดดุลของสโมสร เรายังติดลบอยู่ 500 ล้านยูโร เราจะขาดทุนอีก 150 ล้านยูโร หากเราไม่ทำอะไรเลย”
“ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้ ถ้ามีคนหอบเงินมาให้เรา 500 ล้านยูโร มันจะช่วยบาร์ซ่าได้แน่นอน”
ทำให้ในตอนนี้ บาร์เซโลน่า ยังคงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาเงินเข้าสโมสร และล่าสุดบอร์ดบริหาร ที่นำโดย โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสร ได้เสนอ 2 แผนสำคัญในการกู้ชีวิตบาร์ซา คือขายหุ้น 49.9 เปอร์เซ็นต์ของ Barca Licensing and Merchandising (BLM) บริษัทลูกของบาร์ซ่าที่มีหน้าที่ดูแลการขายสินค้าและของที่ระลึกของทีม และยกรายได้ในอนาคตที่มาจากการแข่งขันลา ลีกา 25 เปอร์เซ็นต์ให้ผู้ที่สนใจแลกกับเงินก้อน
“เราได้ผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายและถูกย้ายมาอยู่ห้องไอซียูแล้ว” โจน ลาปอร์ตา กล่าวกับผู้ถือหุ้นสโมสรในเชิงอุปมา
“วิธีการเหล่านี้จะพาเราออกจากห้องผู้ป่วยหนักสู่วอร์ดพยาบาล ซึ่งทำให้เราสามารถรับการรักษาและออกจากโรงพยาบาลในเร็ว ๆ นี้”
ทั้งนี้แผนดังกล่าวได้รับการตอบรับจาก “โซซิโอ” หรือสมาชิกของสโมสรเป็นอย่างดี และเพิ่งผ่านการลงคะแนนยินยอมไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ที่คาดกันว่าพวกเขาจะหาเงินจากส่วนนี้ได้มากถึง 600-700 ล้านยูโร
อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
ดิ้นรนเฮือกสุดท้าย
แม้ว่าแนวทางทั้ง 2 วิธีดูจะเป็นไอเดียที่ไปได้สวยสำหรับสถานการณ์ของบาร์เซโลน่าในตอนนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพวกเขาจำเป็นต้องหาผู้ซื้อให้ทันก่อนเส้นตายรายงานบัญชีงบประมาณประจำปี ในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้
เอดูอาร์ด โรเมว กล่าวว่าตอนนี้พวกเขากำลังคุยกับผู้ที่สนใจที่จะมาซื้อหุ้นของ BLM อยู่ราว 8-9 ราย และเพิ่งปฏิเสธข้อเสนอมูลค่า 275 ล้านยูโร เนื่องจากมองว่าถูกเกินไป แต่หลายฝ่ายก็สงสัยว่าพวกเขาจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่านี้อีกหรือไม่
ขณะที่ส่วนแบ่งจากรายได้ทางโทรทัศน์ บาร์ซ่า กำลังรอฟังข้อเสนอจากหลายฝ่าย และตั้งเป้าจะได้รับเงินจากส่วนนี้มากถึง 540 ล้านยูโร ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
นั่นทำให้ราว 2 อาทิตย์ที่เหลือ หากไม่สามารถหาเงินก้อนใหญ่ได้ทัน ทางสุดท้ายที่พวกเขาต้องทำคือการขายนักเตะออกไป
อย่างไรก็ดีปัญหาคือผู้เล่นที่ไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีมของ ชาบี เอร์นานเดซ กุนซือของทีม นอกจากจะมีค่าจ้างที่ค่อนข้างสูงแล้ว ยังไม่ค่อยมีราคาที่สูงมากนักในตลาด เช่น ซามูเอล อุมติตี้, มาร์ติน เบรธเวท และ มิราเล็ม ปานิช เป็นต้น
นอกจากนี้ปัจจัยที่ซับซ้อนคือ ภายใต้กฎการเงินของลา ลีกา สโมสรที่ทำผิดกฎเพดานค่าจ้างเมื่อฤดูกาลก่อนจะต้องนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการขายนักเตะมาใช้หนี้ก่อน และจะเหลือเงินใช้จริงเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น
“ถ้าบาร์ซ่าขายนักเตะได้ 100 ล้านยูโร พวกเขาสามารถใช้เงินกับนักเตะใหม่ได้เพียง 33 ล้านยูโร” ฮาเวียร์ เตบาส ประธานลา ลีกา กล่าว
ขณะที่อีกวิธีคือการปรับลดตัวเลขในบัญชีค่าจ้าง ด้วยการให้ผู้เล่นในทีมลดค่าเหนื่อยลง ที่บางครั้งอาจจะมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์หรืออย่างน้อยก็เลื่อนการขึ้นเงินเดือนของพวกเขาออกไปในอนาคต
สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อฤดูกาลก่อนที่ เคราร์ด ปิเก้ ยอมลดเงือนเดือนตัวเองเพื่อให้ เมมฟิส เดปาย และ เอริค การ์เซีย สามารถลงทะเบียนได้ หรือที่ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ และ จอร์ดี้ อัลบา ทำแบบเดียวกัน เพื่อให้ เซร์คิโอ กุน อเกวโร ได้เป็นนักเตะใหม่ของบาร์ซ่า (แม้คนหลังสุดต้องแขวนสตั๊ดหลังจากนั้นไม่นานด้วยปัญหาหัวใจก็ตาม)
หรือการที่ให้นักเตะใหม่เซ็นสัญญาด้วยค่าเหนื่อยที่ไม่มากนักแต่จะได้รับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่บาร์ซ่าใช้กับนักเตะที่เพิ่งเซ็นสัญญาในเดือนมกราคมอย่าง ปิแอร์-เอเมริค โอบาเมยอง และ เฟร์ราน ตอร์เรส ก็จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
ทำให้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ลาปอร์ตา ได้ออกมาส่งสัญญาณในเรื่องนี้ในเชิงว่านักเตะที่อยากจะย้ายมาเล่นให้บาร์เซโลน่าจะต้องรับได้กับค่าเหนื่อยที่อาจจะไม่มากเท่าที่คิดไว้
“นักเตะส่วนใหญ่ที่ต้องการย้ายมาบาร์ซ่าพวกเขาเขาชอบสโมสร ปรัชญาของเรา วิธีการทำงานของเรา แนวทางการทำงานของเรา การตีความของฟุตบอล ซึ่งนี่เป็นเรื่องดี เราเห็นสิ่งนี้ในหลาย ๆ กรณีและในชีวิตประจำวัน”
“พวกเขาต้องปรับตัวกับเพดานค่าเหนื่อยของบาร์ซ่าให้ได้ รวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของข้อตกลงที่จะรักษาความยั่งยืนและความสมดุลของสโมสร”
เช่นกันสำหรับนักเตะที่จะต่อสัญญากับสโมสรที่ก็ต้องเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะกรณีของ กาบี มิดฟิลด์ดาวรุ่ง ที่ยังคาราคาซัง และ ลาปอร์ตา ยื่นคำขาดไปแล้ว
“ด้วยระดับของเงินเดือนมันมากกว่าการยอมรับได้ แต่เราจะไม่ไปไกลกว่าระดับนี้ เพราะว่าเราไม่อยากให้บาร์ซ่าดำเนินต่อไปในแนวทางของประธานคนก่อนที่ทำให้บาร์ซ่าพังทลาย” ลาปอร์ตา กล่าว
มันคือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของพวกเขา ด้วยความหวังว่าจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และทำให้สโมสรเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถึงอย่างนั้นบางอย่างก็ดูขัดแย้งกับแนวทางข้างต้น
อนาคตที่ไม่แน่นอน
ทุกคนในโลกฟุตบอลต่างรู้ดีว่าตอนนี้ บาร์เซโลน่า อยู่ในสถานะถังแตก แต่พวกเขากลับเพิ่งเซ็นสัญญาคว้าตัว อันเดรส คริสเตียนเซ่น กองหลังเชลซี และ ฟรองค์ เกสซีเย่ กองกลางเอซี มิลาน มาร่วมทัพในช่วงซัมเมอร์นี้
ขณะเดียวกันพวกเขายังตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับ ราฟินญ่า ปีกทีมชาติบราซิล ของลีดส์ ยูไนเต็ด และ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ดาวยิงของบาเยิร์น มิวนิค ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาเอาเงินมาจากไหน
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าหวยน่าจะมาออกกับ แฟรงกี้ เดอ ยอง กองกลางที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังให้ความสนใจ ที่แม้ว่าเจ้าตัวจะยืนยันว่ามีความสุขดีกับบาร์ซา แต่บอร์ดก็มองว่าเขาน่าจะทำเงินได้ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านยูโร หากย้ายออกไป
ส่วนค่าเหนื่อยมหาศาล The Athletic รายงานว่าบาร์เซโลน่าจะไปเอามาจากการกดดันให้ ปิเก้, บุสเก็ตส์ และ อัลบา “3 กัปตันทีม” ที่โรเมวบอกว่าค่าเหนื่อยของพวกเขา “มากกว่าความเป็นจริง” แม้ว่าชาบีจะมองว่าพวกเขาคือนักเตะที่มีบทบาทสำคัญในทีมก็ตาม
ก็ต้องรอลุ้นว่าฤดูกาลใหม่ของ บาร์เซโลน่า ที่กำลังจะมาถึงจะเป็นอย่างไร จะมีนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์มาร่วมทีมหรือไม่ เพราะล่าสุดพวกเขาก็เพิ่งประกาศถอนตัวจากการล่า ราฟินญ่า ไปเป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่ในรายของ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี แม้เจ้าตัวจะเอ่ยปากว่าจะยอมลดค่าเหนื่อยเพื่อย้ายมาเล่นกับบาร์เซโลน่าตามความฝันในวัยเด็ก แต่ต้องดูว่าเขาจะรับได้ไหมกับค่าจ้างที่บาร์ซ่าเสนอให้ แถมเจ้าตัวยังเหลือสัญญาอีก 1 ปี ทำให้ต้องมีค่าตัวในการย้ายทีมอีกก้อน
จนถึงตอนนี้มันจึงยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน แถมแผนกู้ชีพทั้ง 2 แผนก็เป็นแผนระยะกลางมากกว่าแผนระยะสั้น ทำให้แม้จะได้รับการสนับสนุนอย่างถล่มทลาย แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่แน่นอนสำหรับพวกเขาในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แฟนบาร์ซ่ายังต้องภาวนาต่อไป ซึ่งสำคัญที่สุดคือการหาเงินก้อนใหญ่ให้ได้ก่อนเส้นตายวันที่ 30 มิถุนายน ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้พวกเขาต้องเสียนักเตะคนสำคัญเหมือนกับที่เคยเสีย เมสซี่ ไปอีกก็เป็นได้