sportpooltoday

“Neuroscience” : ศาสตร์แห่งประสาทกับการยกระดับสมองเพื่อชัยชนะในแมตช์ฟุตบอล


"Neuroscience" : ศาสตร์แห่งประสาทกับการยกระดับสมองเพื่อชัยชนะในแมตช์ฟุตบอล

คุณคิดว่าจังหวะยิงลูกโทษเป็นแค่เรื่องของโชคชะตา ที่ใครดวงดีกว่าชนะไป หรือมีหลักจิตวิทยากับเรื่องของกลไกในสมองมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย?

เมื่อครั้ง ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์คาราบาวคัพ ปี 2022 จากการดวลจุดโทษชนะ เชลซี แบบที่นักเตะทั้ง 11 คนในสนามต่างต้องรับหน้าที่ในการยิงลูกโทษตัดสิน ก็ได้มีการกล่าวถึงบทบาทของ “นักประสาทวิทยาศาสตร์” ว่าเข้ามามีส่วนสำคัญกับความสำเร็จของสโมสรในการเถลิงแชมป์ทั้งสองในฤดูกาลนี้จากการดวลจุดโทษชนะคู่แข่งได้ทั้งสิ้น

งานของนักประสาทวิทยาศาสตร์คืออะไร? พวกเขาศึกษาสิ่งใดจากสมองของนักฟุตบอล? และมันมีอิทธิพลต่อผลงานในสนามได้จริงไหม? ร่วมไขคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ขยายขอบเขตความได้เปรียบ

ในโลกที่นักฟุตบอลมืออาชีพต่างพัฒนาทักษะบนสนามและรีดศักยภาพทางร่างกายออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกันเกือบทุกคนแล้ว ยังมีช่องโหว่อะไรให้นักเตะเหล่านี้สามารถยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกได้ไหม?

คำตอบลำดับต้นๆคงไม่พ้นเรื่องของ วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่หลายสโมสรได้นำมาเป็นส่วนเสริมให้กับผู้เล่นของตน ตั้งแต่หลักโภชนาการ ตารางฝึกซ้อมที่ปรับให้เข้ากับสไตล์การเล่นของนักเตะแต่ละคน ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายนักเตะเหล่านี้ให้มีความพร้อมกลับมาลงเล่นในนัดถัดไปได้มากที่สุด

1แต่นอกจากประเด็นที่เกริ่นไว้ในข้างต้นแล้ว การทำความเข้าใจกับ “สมอง” ก็เริ่มถูกนำมาใช้กับวงการฟุตบอลแล้วด้วยเช่นกัน โดยกรณีที่เห็นได้ชัดสุดนั้นคือเคสของสโมสรลิเวอร์พูล ที่นำ neuro11 บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ หรือ Neuroscience มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพนักเตะ ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล 2021-22

การทำงานกับ neuro11 นั้นแตกต่างจากโค้ชฝึกสอนรายอื่น เพราะพวกเขาไม่ได้เข้ามาเพื่อสอนให้นักเตะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่เป็นการมาศึกษาผู้เล่นแต่ละคนเพื่อปลดล็อกให้พวกเขาเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดให้ได้ในเวลาที่จำเป็นมากที่สุด

นักฟุตบอลมีโอกาสยิงจุดโทษเข้ามากถึง 85% ในช่วงเวลาปกติ แต่อัตราความสำเร็จจะลดลงมาเหลือเพียง 76% ในจังหวะที่ต้องดวลลูกโทษตัดสินหลังสิ้นเสียงนกหวีดใน 90/120 นาทีของการแข่งขัน แถมคนที่ยิงก่อนกับยิงเพื่อให้ทีมชนะจะมีโอกาสทำประตูได้มากกว่าฝ่ายที่ได้ยิงทีหลังกับต้องยิงเพื่อไม่ให้ทีมแพ้

เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎีการหลีกเลี่ยงการสูญเสียของ แดเนียล คาห์มันน์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่สรุปโดยคร่าวๆได้ว่า ความเจ็บปวดจากการสูญเสียจะมีผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมของเรา มากกว่าความรู้สึกสุขที่ได้รับในปริมาณเท่าๆกัน ซึ่งในกรณีของฟุตบอล การก้าวออกไปยิงเพื่อไม่ให้ทีมแพ้ เป็นแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาหนักกว่าการออกไปยิงเพื่อเป็นแชมป์

เมื่อทราบว่าแรงกดดันมีผลกระทบต่อการยิงประตูของนักฟุตบอลได้แล้ว นักประสาทวิทยาศาสตร์จึงได้เข้ามามีบทบาทกับนักฟุตบอลของลิเวอร์พูล ที่นำทีม neuro11 เข้ามาทำงานกับนักเตะในทีมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเตรียมตัวก่อนลงเล่นนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยทั้งสามรายการ ที่มีภาพเจ้าหน้าที่ประจำการกับเครื่องและผู้เล่นของทีมสวมหมวกบางอย่างอยู่บนหัว

พวกเขาทำอะไรกัน? และกำลังมองหาอะไรกันอยู่?

พาจิตใจไปอยู่ในจุดที่ควรเป็น

ดร. นิคลาส ฮอสเลอร์ นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอนน์ และผู้ก่อตั้ง neuro11 อธิบายกระบวนการทำงานของพวกเขากับลิเวอร์พูลไว้ว่า “ทุกสโมสรสามารถฝึกลูกตั้งเตะจนเชี่ยวชาญได้ แต่เราจะเข้ามาเสริมความพร้อมด้านจิตใจของนักฟุตบอล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการยิงลูกมากยิ่งขึ้น”

“มนุษย์เราทุกคนมีช่วงสถานะของสมองอยู่ บางครั้งเราอาจผ่อนคลายกว่าปกติ บางคราคุณอาจกระสับกระส่ายกว่าเดิม ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า ถ้าหากผ่อนคลายหรือกระสับกระส่ายเกินไป เขาคนนั้นจะพบอุปสรรคในการทำผลงานได้ราบรื่นแบบที่ควรเป็น หรือไม่สามารถเข้าไป ‘In The Zone’ ได้”

2อย่างที่ทราบกันว่า เมื่อเรามั่นใจ เมื่อกำลังจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ประสิทธิภาพของนักฟุตบอลในการเตะลูกตั้งเตะ ไม่ว่าจะเป็นจุดโทษ ฟรีคิก หรือเตะมุม จะดีขึ้นกว่าในช่วงที่ไม่มั่นใจ โดย ดร. ฮอสเลอร์ ระบุว่า “เมื่อคุณกำลังโชว์ฟอร์มได้ดี (ฟอร์มการเล่น) ทุกอย่างมันจะออกมาตามสัญชาตญาณ” ซึ่งนั่นคือจุดที่สำคัญกับการฝึกซ้อมของทีม และนี่คือบทบาทของ neuro11 กับสโมสรจากเกาะอังกฤษแห่งนี้

วโรดม ปัญจมาวัฒนา สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ลิเวอร์พูล ผู้เคยศึกษาเกี่ยวกับด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในระดับปริญญาโท ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการฝึกซ้อมยิงจุดโทษของทีมไว้ว่า “ทีมงานจะมีการให้นักเตะแต่ละคนทดลองยิงไปตามมุมต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ว่ามุมไหนคือมุมที่ยิงได้ดีและเป็นธรรมชาติมากที่สุด แล้วจึงบอกให้นักเตะฝึกยิงไปที่มุมนั้นจนชำนาญจนสามารถจดจำน้ำหนักการวางเท้าได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดความลังเลใจออกไปได้และทำให้ทุกอย่างเหมือนกับออกมาจากสัญชาตญาณ ถ้าเกิดต้องทำหน้าที่เพชฌฆาตสังหารจริงๆ”

โดยในระหว่างการฝึกซ้อม นักฟุตบอลจะต้องใส่อุปกรณ์วัดค่า EEG หรือ Electroencephalography ที่ใช้เพื่อตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองที่ต่อตรงเข้ามายังอุปกรณ์ประมวลผลของทีม neuro11 ที่ประจำการอยู่ข้างสนามซ้อม เพื่อปรับการฝึกซ้อม จังหวะ และเทคนิคการยิงให้กับนักเตะแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม

3แม้ทาง neuro11 ไม่ได้เปิดเผยว่าพวกเขาเก็บข้อมูลส่วนใดมาใช้งานอย่างไรบ้าง แต่ วโรดม ผู้เคยมีประสบการณ์กับการศึกษาคลื่นสมองวิเคราะห์ว่า ลิเวอร์พูลได้ให้ทีมนักประสาทวิทยาศาสตร์บันทึกค่าสภาวะภายในสมองของนักเตะช่วงก่อนและระหว่างฝึกซ้อม เพื่อดูว่าคลื่นสมองของแต่ละคนเป็นอย่างไร และมีความมั่นใจในการยิงมากน้อยเพียงใดเมื่อเวลาที่จำเป็น อย่างเช่น ช่วงของการดวลลูกโทษตัดสินมาถึง

“ลองดูการยิงบอลของเหล่าผู้เล่นลิเวอร์พูลดูสิครับ ทุกคนแทบไม่สนใจเลยว่าคู่แข่งจะยั่วยุแบบไหน ขอเพียงแค่ทำให้ได้แบบที่ซ้อมมาก็พอ ดูแล้วธรรมชาติ ไม่มีลังเล”

ลิเวอร์พูล มีโอกาสได้ดวลจุดโทษตัดสินรวมแล้ว 18 ลูกจากการเข้าชิงสองรายการ โดยพวกเขาพลาดไปแค่จังหวะเดียวเท่านั้น คือลูกยิงของ ซาดิโอ มาเน่ ในเกม เอฟเอ คัพ ที่โดนผู้รักษาประตูเพื่อนร่วมชาติอย่าง เอดูอาร์ เมนดี้ เซฟไว้ได้ ซึ่งภายหลัง เยอร์เกน คล็อปป์ กุนซือของทีมก็ออกมายอมรับว่าเจ้าตัวมีส่วนทำให้ศูนย์หน้าเบอร์ 10 รายนี้ยิงพลาด หลังเข้าไปพูดแนะนำกับเจ้าตัวเกี่ยวกับการเลือกมุมยิง

4ซึ่งแปลว่าถ้าไม่นับจังหวะนี้ นักเตะหงส์แดงไม่มีใครยิงพลาดเลย ไม่ว่าจะเป็นจังหวะที่ เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค โดน เกป้า อาร์ริซาบาลาก้า ยืนเฉียงไปฝั่งหนึ่งของประตูแบบเห็นได้ชัด หวังล่อให้อีกฝ่ายยิงเข้ามุมที่เปิดกว้างกว่า แต่ก็ยังยิงเข้าไปในทิศนั้นแบบเต็มแรง หรือ ควีวิน เคลเลเฮอร์ ผู้รักษาประตูที่ต้องสลับขึ้นมาเป็นฝ่ายใส่สกอร์ให้กับทีม แบบที่ยังสามารถจดจำมุมที่ตัวเองถนัดกับน้ำหนักการยิงเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ แม้จะมีอาการล้าหลังลงเตะมานานกว่า 120 นาที และมีจังหวะการทำลายสมาธิจากผู้รักษาประตูของเชลซีมารบกวนก็ตาม

วโรดม ได้อธิบายเพิ่มเติมในแฟนเพจ ต้นทางฟุตบอล ว่า “เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ แต่การเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนโดยเฉพาะกับนักฟุตบอลเป็นเรื่องใหม่มากๆ และเชื่อว่าทุกคนคงตื่นเต้นที่ได้เห็นว่า สมองตัวเองมีปฏิกิริยาอย่างไรในขณะที่ตัวเองวาดลวดลายอยู่ในสนาม พอได้รับการแนะนำที่ถูกต้องแบบมีภาพประกอบให้ได้ชม ผมว่าทุกคนน่าจะยอมรับเพื่อนำไปปรับปรุงตัวเองได้ไม่ยากเลย เพราะความจริงนักเตะเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำอาจจะทำให้เกิดความเครียดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้ เช่น การวางเท้า การวิ่งเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปก่อนเข้าไปยิง ตรงนี้ก็มีส่วนเช่นกัน”

แต่ ลิเวอร์พูล ไม่ได้เป็นเพียงสโมสรเดียวที่ให้ความสำคัญกับประสาทและสมองของนักเตะ เพราะมีอีกหนึ่งทีมที่ยกระดับการนำประสาทวิทยาศาสตร์มาใช้ไปอีกขั้น โดยพวกเขาสามารถใช้พลังจิต เอ้ย! สมองเพื่อเล่นเกมฟุตบอลได้เลย

ฝึกยิงจากในเกม

เวลาที่คุณเล่นท่าสกิลมูฟในเกมฟุตบอลชื่อดัง มันคงยากที่จะนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง โดยเฉพาะเมื่อการควบคุมในเกมนั้นผ่านตัวสั่งการอย่างจอยสติ๊ก คีย์บอร์ด หรือหน้าจอสัมผัส

แต่กับนักเตะหญิงของ เอสซี มิรันเดล่า สโมสรในลีกสูงสุดของประเทศโปรตุเกส พวกเขาได้มีโอกาสเล่นเกมเหล่านี้เหมือนกัน ต่างไปแค่การเล่นของพวกเขาคือต้องควบคุมนักบอลในเกมด้วยสมองของตัวเอง ผ่านอุปกรณ์ ECG เหมือนกับที่ผู้เล่นลิเวอร์พูลใช้งานบนสนามซ้อม

5สิ่งที่แตกต่างคือ ซาร่า คอร์ไดโร่ (Sara Cordeiro) ดาวเตะของทีม ไม่จำเป็นต้องออกไปลงฝึกซ้อมอยู่บนพื้นหญ้าแม้แต่วินาทีเดียว แต่เจ้าตัวสามารถนำอุปกรณ์วัดคลื่นสมองมาสวมใส่และบังคับทิศทางกับน้ำหนักที่ตัวผู้เล่นในเกมจะยิงออกไปได้เลย

“มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ฉันลองเล่นสิ่งนี้ในเช้าวันแข่ง และฉันสามารถยิงฟรีคิกในแมตช์จริงๆได้เหมือนกับที่ทำไว้ในเกมเลย อาทิตย์ถัดมาฉันก็ได้เล่นเกมนี้ในคืนวันศุกร์ ก่อนจะทำประตูจากลูกฟรีคิกในแมตช์วันเสาร์ได้เหมือนในเกมอีกเช่นกัน” เจ้าตัวเปิดเผยผ่าน Forbes ถึงประสบการณ์การฝึกซ้อมของตนเอง

ระบบที่สโมสรจากลีกโปรตุเกสนำมาใช้มีชื่อว่า i-BrainTech ที่พัฒนาโดย คอนสแตนติน ซอนกิน (Konstantin Sonkin) นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอล ผู้พัฒนาระบบที่ทำให้นักเตะสามารถควบคุมตัวผู้เล่นในวิดีโอเกมผ่านคลื่นสมองโดยไม่ต้องใช้จอยสติ๊กหรือคีย์บอร์ดเข้ามาบังคับการเคลื่อนที่เลย

6นักฟุตบอลที่ใช้งานระบบดังกล่าวจะต้องใช้จินตนาการและความคิดตัวเองเพื่อบังคับให้ตัวละครในเกมเคลื่อนที่หรือเตะบอลไปยังมุมที่ตนต้องการ “ฉันต้องมีสมาธิตลอดเวลา ต้องโฟกัสอยู่กับความแรงและมุมที่ต้องการยิงไป เพราะถ้าฉันเกิดวอกแวกจะไม่สามารถยิงประตูเข้าได้เลย” คอร์ไดโร่ กล่าวหลังใช้งานอุปกรณ์ของ i-BrainTech

“ในการแข่งขันจริงมันก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉันต้องมั่นใจว่าจะเตะให้ได้น้ำหนักพอดีไปในทิศทางที่เล็งไว้ แล้วจึงทำให้ฉันยิงประตูเข้าไปได้”

มาร์การิด้า ซา (Margarida Sá) เพื่อนร่วมทีมของเธอเคยมีความเคลือบแคลงใจในงานดังกล่าว “นักวิจัยเอาเจลอะไรไม่รู้มาทาบนผมฉัน มันแปลกมาก ฉันไม่ชอบเลยในตอนแรก”

“แต่ฉันคิดว่านี่จะเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่และน่าสนใจมากๆ ฉันทำประตูได้ไม่มากในสัปดาห์แรก แต่ตลอดช่วงเวลา 6 อาทิตย์ของโปรเจ็กต์นี้ ฉันได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาทั้งในเกมและโลกแห่งความจริงในเรื่องความตื่นตัวบนสนามและการตัดสินใจที่แม่นยำขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นการศึกษาในขั้นต้นที่ได้รับการสนับสนุนโดย FIFA เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของความเหนื่อยล้าที่อาจมีต่อการตัดสินใจและสภาพจิตใจของนักฟุตบอลได้ และยังต้องมีการวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอีกพอสมควร ก่อนที่นักประสาทวิทยาศาสตร์จะสรุปได้ว่า การฝึกซ้อมแบบนี้มีส่วนช่วยให้นักฟุตบอลทำประตูได้แม่นยำขึ้นจริงหรือไม่?

แต่ในตอนนี้มีรายงานว่า i-BrainTech ได้เริ่มเจรจาพูดคุยกับสโมสรอย่าง บาร์เซโลน่า กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง เกี่ยวกับการนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของนักเตะในทีมแล้ว


แน่นอนว่าในโลกแห่งเป็นความจริง วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเข้ามาเป็นน้ำยาสารพัดนึกเพื่อแก้ปัญหาและเสริมประสิทธิภาพได้ทุกทาง เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆที่เข้ามามีส่วนในสมการอีก แถมยังมีเรื่องราวอีกมากเกี่ยวกับสมองที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจในตอนนี้

แต่การมีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจเพื่อให้ผู้จัดการทีมงัดศักยภาพผู้เล่นออกมาได้มากที่สุดนั้น ย่อมเป็นแต้มต่อให้สโมสรได้ไม่น้อย ในยุคที่ความได้เปรียบแม้เพียงนิดเดียวก็สามารถพลิกสถานการณ์ในสนามได้อย่างมหาศาลแล้ว