“ฟุตบอลอุรุกวัยคือปาฏิหาริย์” นาโช ไกด์ชาวอุรุกวัยกล่าวกับ Independent
อาจจะไม่ใช่คำที่กล่าวเกินเลย หากจะบอกว่า อุรุกวัย คือหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จในด้านฟุตบอลของโลก เมื่อพวกเขาคือเจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก 2 สมัย, เหรียญทองโอลิมปิก 2 ครั้ง และแชมป์โคปา อเมริกา อีก 15 สมัย
ขณะเดียวกัน พวกเขายังสามารถผลิตนักเตะชั้นยอดมาประดับวงการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น หลุยส์ ซัวเรซ, เอดินสัน คาวานี่ หรือล่าสุด ดาร์วิน นูนเยซ ที่เพิ่งย้ายไปร่วมทีมลิเวอร์พูลด้วยค่าตัวมากถึง 75 ล้านยูโร
แทบไม่น่าเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากดินแดนที่มีพื้นที่เทียบเท่ากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และมีประชากรเพียงแค่ 3.5 ล้านคน หรือน้อยกว่าในกรุงเทพฯ เสียด้วยซ้ำ
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ต้นตอจากประวัติศาสตร์
176,215 ตารางกิโลเมตร คือขนาดของ อุรุกวัย ชาติเล็กๆในอเมริกาใต้ ที่แทรกตัวอยู่ระหว่างดินแดนอันกว้างใหญ่ของ บราซิล และ อาร์เจนตินา และฝั่งตะวันออกหันหน้าสู่มหาสมุทรแอตแลนติก
ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่ใช้สอยที่จำกัดแล้ว ดินแดนที่มีขนาดใกล้เคียงกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยแห่งนี้ยังมีประชากรเพียงแค่ 3.5 ล้านคน น้อยเป็นอันดับ 3 ของทวีป
อย่างไรก็ดี พวกเขากลับมีความโดดเด่นในเรื่องฟุตบอลระดับท็อปของอเมริกาใต้ หรือบางทีอาจจะระดับโลก นั่นเป็นเพราะอะไร?
คำตอบของคำถามนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปตั้งแต่จุดตั้งต้น เมื่อ อุรุกวัย คือชาติแรกๆของอเมริกาใต้ที่โอบรับเกมลูกหนังที่ถูกนำเข้ามาจากชาวตะวันตก จนสามารถก่อตั้งสมาคมฟุตบอลได้ในปี 1900 (ชาติที่ 3 ของละตินอเมริกาต่อจาก อาร์เจนตินา และ ชิลี) และมีทีมชาติอย่างเป็นทางการในปี 1902
แม้ว่าเกมนัดแรกของพวกเขาจะเริ่มต้นอย่างเจ็บปวดด้วยการพ่ายอาร์เจนตินาไปอย่างขาดลอย 0-6 แต่หลังจากนั้น ฟุตบอลของอุรุกวัยก็เดินหน้าไปอย่างมั่นคง พวกเขาตระเวนแข่งกับชาติต่างๆเพื่อขัดเกลาฝีมือ และลงเล่นไปกว่า 30 นัดภายในปี 1916
ก่อนที่ความพยายามดังกล่าวจะตอบแทนพวกเขา เมื่อมันทำให้ อุรุกวัย คว้าแชมป์โคปา อเมริกา ได้สำเร็จในปี 1916 อีกทั้งยังไปประกาศศักดาในฟุตบอลโอลิมปิก ด้วยการคว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้ 2 สมัยติดในการแข่งขันที่ ปารีส และ อัมสเตอร์ดัม ในปี 1924 และ 1928 ตามลำดับ
ความสำเร็จในโอลิมปิกของ อุรุกวัย ยังทำให้พวกเขาได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อปี 1930 ก่อนประเดิมแชมป์โลกสมัยแรกด้วยการเอาชนะ อาร์เจนตินา ในนัดชิงชนะเลิศ 4-2 และอีกครั้งในปี 1950 ที่ประเทศบราซิล
“ฟุตบอลอุรุกวัยคือปาฏิหาริย์” นาโช ไกด์ชาวอุรุกวัยกล่าวกับ Independent
“เรามีประชากรแค่ 3.5 ล้านคน แต่คว้าแชมป์โคปา อเมริกา 15 สมัย มากกว่าทุกประเทศ, เหรียญทองโอลิมปิก 2 ครั้ง และแชมป์ฟุตบอลโลกอีก 2 ครั้ง สิ่งนี้ไม่มีใครเหมือน แค่บราซิลประเทศเดียวก็มีนักฟุตบอลที่ลงทะเบียนอยู่ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรของเรา”
แน่นอนว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ความบังเอิญ ..
จิตวิญญาณนักสู้
หนึ่งในคาแร็กเตอร์หนึ่งที่มักถูกพูดถึงเกี่ยวกับนักเตะอุรุกวัยคือ ความเป็นนักสู้
พวกเขาไม่สนว่าอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้าโหดหินแค่ไหนหรือต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งเพียงใด และการพลิกแซงชนะอาร์เจนตินาในปี 1930 รวมถึงบุกไปคว้าแชมป์โลกถึงบราซิล ต่อหน้าแฟนบอลเจ้าถิ่นนับแสนในปี 1950 ก็คือข้อพิสูจน์ชั้นดี
“ในยามลำบาก ผู้เล่นอุรุกวัยเป็นพวกชอบขบถและหุบปากผู้คน” ฮวน ปาโปล อากีร์เร ดีเจรายการวิทยุเกี่ยวกับฟุตบอลของอุรุกวัย กล่าวกับ Independent
ทำให้แม้ว่า อุรุกวัย จะไม่ได้เป็นชาติที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง บราซิล หรือ อาร์เจนตินา แต่มันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองด้อยไปกว่าชาติไหน ในทางกลับกัน มันยังเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาต้องพยายามมากกว่าเดิม
“เราเกิดมาบนดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศขนาดใหญ่ มันเหมือนกับคุณอยู่ในครอบครัวที่มีพี่ชายหลายคน คุณต้องพยายามอย่างหนักเพื่อชดเชยในเรื่องนั้น ไม่มีใครยอมให้คุณได้หายใจหรอก” ดิเอโก ฟอร์ลัน อดีตกองหน้าทีมชาติอุรุกวัย อธิบายกับ Washington Post
สิ่งนี้คือ La Garra หรือ “จิตวิญญาณนักสู้” ที่นักเตะอุรุกวัยภาคภูมิใจ และดูเหมือนมันจะอยู่ในดีเอ็นเอของพวกเขา เมื่อชาวอุรุกวัยต้องเผชิญกับการต่อสู้มาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่าอาณานิคมจากสเปน หรือการต่อสู้เพื่อเอกราชในช่วงต้นทศวรรษที่ 19
“เราได้สร้างตำนานระดับชาติเกี่ยวกับชัยชนะ และเราต้องชนะทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกความยากลำบากที่เป็นไปได้” มาร์ติน อากีร์เร หัวหน้าบรรณาธิการของ El País ที่มอนเตวิเดโอ กล่าวกับ Guardian
“เราหัวเราะตอนที่คนอังกฤษพูดเรื่องเกมการแข่งขันที่สวยงาม ฮูลิโอ ริบาส โค้ชที่มีชื่อเสียงของอุรุกวัยบอกว่าฟุตบอลไม่ควรเป็นความสวยงาม หากอยากได้ความสวยงามให้ไปเต้นบัลเลต์”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แข้งอุรุกวัยมักจะทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ที่แม้ว่าบางอย่างอาจจะขัดกับศีลธรรมที่คุ้นเคย ตัวอย่างเช่น กรณีที่ หลุยส์ ซัวเรซ ใช้มือปัดบอลจากประตูในฟุตบอลโลก 2010 รอบ 8 ทีมสุดท้ายกับ กานา หรือใช้ฟันกัด จอร์โจ คิเอลลินี กองหลังอิตาลี ในฟุตบอลโลก 2014 เป็นต้น
นอกจากนี้ ความเป็นนักสู้ยังหล่อหลอมให้พวกเขาจริงจังในทุกวินาทีที่ลงสนาม พร้อมพุ่งเข้าใส่อย่างไม่เกรงกลัว จนได้รับฉายาว่า “จอมโหด” และเกิดขึ้นกับฟุตบอลของพวกเขาในทุกระดับ ตั้งแต่ทีมชาติ เกมลีก เกมของเยาวชน ไปจนถึงฟุตบอลสมัครเล่น
“ลองไปดูฟุตบอลสมัครเล่นในมอนเตวิเดโอก็ได้ คุณจะได้เห็นการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา เกมระหว่างผู้คนในออฟฟิศเดียวกัน เพื่อนร่วมชั้น หรือเพื่อนแถวบ้าน ที่เข้มข้นในระดับที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ” อากีร์เร กล่าวต่อ
“เมื่อเกมจบลง ชายกลุ่มนั้นจะออกไปด้วยกัน ดื่มเบียร์และหัวเราะ และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามจะอยู่ที่เดิมตรงนั้น”
“จิตวิญญาณการแข่งขันที่สูงมากคือคำอธิบายว่าประเทศที่มีประชากร 3 ล้านคนสามารถพัฒนานักเตะชั้นยอดเป็นจำนวนมากเหมือนที่อุรุกวัยทำได้อย่างไร”
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ..
รากฐานเยาวชนที่มั่นคง
อุรุกวัย อาจจะขึ้นชื่อในฐานะมหาอำนาจทางฟุตบอลในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 แต่ดูเหมือนว่าหลังจากนั้น พวกเขาต้องเผชิญกับ “ยุคมืด” อย่างแท้จริง
เพราะหลังจากทำได้เพียงแค่อันดับ 4 ในปี 1954 และ 1956 พวกเขาก็ไม่เคยไปไกลกว่ารอบก่อนรองชนะเลิศอีกเลย แถมในช่วงปี 1978-2006 ยังผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้แค่ 3 ครั้ง
อย่างไรก็ดี การมาถึงของ ออสการ์ วอชิงตัน ตาบาเรซ ที่เข้ามาคุมทีมเป็นคำรบ 2 ในปี 2006 (ครั้งแรกปี 1990) ก็ทำให้วงการฟุตบอลอุรุกวัยกลับมามีความหวังอีกครั้ง เมื่ออดีตครูคนนี้ได้ตัดสินใจยกเครื่องการพัฒนานักเตะทั้งระบบ และเอา “El Proceso” หรือที่แปลว่า “กระบวนการ” มาใช้
El Proceso คือการที่ทีมชาติอุรุกวัยทุกชุดตั้งแต่เยาวชนไปจนถึงชุดใหญ่จะต้องลงเล่นภายใต้ปรัชญาและแทคติกที่เหมือนกัน ที่ทำให้ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่รุ่น อุรุกวัย ก็จะมีนักเตะที่สามารถเล่นเข้ากับระบบของทีมอยู่เสมอ
สิ่งนี้ยังทำให้นักเตะอุรุกวัยเข้าใจระบบในภาพกว้างซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง นักเตะที่มีฝีเท้าดีจำเป็นจะ “ต้อง” ย้ายไปค้าแข้งในต่างประเทศทั้งลีกในยุโรปหรือลีกเพื่อนบ้านอย่าง บราซิล และ อาร์เจนตินา เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้สูงขึ้น
มันคือความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่จะต้องผลักดันตัวเองออกไปให้ได้ ทำให้เรามักจะเห็นนักเตะอุรุกวัยฝีเท้าเยี่ยมพาเหรดกันมาโชว์ฝีเท้าในยุโรปมากมาย ไล่ตั้งแต่ยุค อัลบาโร เรโคบา, ดิเอโก้ ฟอร์ลัน, หลุยส์ ซัวเรซ รวมถึง เอดินสัน คาวานี่
“ทุกปีจะมีกลุ่มนักเตะที่ไหลออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก คุณอาจจะมีรายได้มากขึ้นจากการเล่นในต่างประเทศที่ไม่ใช่แค่ในลีกอาร์เจนตินาและบราซิล แต่เป็นเปรูและเอกวาดอร์ ลีกเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยผู้เล่นอายุน้อย” เกอร์มัน บรูนาติ ผู้อำนวยการกีฬาของ มอนเตวิเดโอ ซิตี้ สโมสรในเครือซิตี้กรุ๊ป กล่าวกับ New York Times
“ผู้เล่นจะไปจากที่นี่เพื่อพัฒนาเทคนิคหรือความรู้ด้านแทคติก ขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะได้รับประสบการณ์ในการแข่งขันด้วย นั่นคือสิ่งที่ทุกคนอยากได้”
ในทางกลับกัน การเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กของอุรุกวัยยังเป็นข้อดีที่ทำให้ ตาบาเรซ สามารถไปเยี่ยมเยียนอคาเดมีของแต่ละทีมได้อย่างทั่วถึง รวมถึงได้ข้อมูลในเชิงลึกของนักเตะที่ดูมีแวว จนทำให้ไม่มีใครคลาดสายตาไปได้
“เขาทำงาน คิดวิเคราะห์ และจับตาดูอยู่เสมอ” ฟอร์ลัน อธิบายกับ Washinton Post
ระบบนี้ทำให้ ตาบาเรซ สามารถเฟ้นหานักเตะที่สามารถเล่นในระบบของเขาได้ง่าย ขณะเดียวกัน เหล่านักเตะก็สามารถพัฒนาฝีเท้าไปในทิศทางเดียวกัน และทำให้ อุรุกวัย มีนักเตะฝีเท้าดีไว้ใช้งานอย่างไม่ขาดสาย
“แน่นอนว่ามันอาจจะดูเป็นเรื่องบังเอิญเล็กน้อยที่มีกองหน้าระดับท็อปอย่าง ซัวเรซ, คาวานี่ และ ฟอร์ลัน อยู่ในทีมเดียวกัน แต่เรามีแบบนี้ในทุกๆ 10 ปี เรามีแข้งพรสวรรค์อยู่เสมอ” ติโต เซียร์รา เอเยนต์และแมวมองที่ทำงานกับหลายทีมในอุรุกวัย กล่าวกับ New York Times
ขณะเดียวกัน มันยังทำให้ทีมชาติอุรุกวัยกลับมายืนหยัดในเวทีโลกได้อีกครั้ง เมื่อสามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกครั้งนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา แถมยังเคยไปไกลถึงอันดับ 4 ที่แอฟริกาใต้ เมื่อปี 2010
“ตาบาเรซ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสังคมของเรา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญมากกว่าการเอาชนะ หรือมากกว่าการได้แชมป์โลกเสียอีก” ดิเอโก ลูกาโน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอุรุกวัย กล่าวในสารคดี Becoming Champions
“เขาเคยเป็นครูมาก่อน เขาจะสอนและชี้แนะให้เราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องเสมอ”
เล็กใหญ่ไม่เกี่ยว ใส่เดี่ยวได้หมด
แม้ว่าปัจจุบัน ตาบาเรซ จะวางมือจากการเป็นหัวเรือใหญ่ของอุรุกวัย หลังอยู่ในตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานถึง 15 ปี และกลายเป็นเจ้าของสถิติโค้ชที่คุมทีมชาติทีมเดียวนานที่สุดในโลก แต่ฟุตบอลอุรุกวัยก็ยังคงเดินหน้าต่อไป
ล่าสุด ขุนพลจอมโหด เพิ่งจะผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งถือเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน หลังจบในอันดับ 3 ของรอบคัดเลือก และเป็นรองเพียงแค่ บราซิล และ อาร์เจนตินา เท่านั้น
ขณะที่ในส่วนของผู้เล่น พวกเขายังคงสามารถสร้างนักเตะฝีเท้าเยี่ยมรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น เฟเดริโก บัลเบร์เด ที่เพิ่งคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก กับ เรอัล มาดริด หรือ ดาร์วิน นูนเยซ ที่เพิ่งย้ายไปร่วมทีมลิเวอร์พูลด้วยค่าตัวมหาศาลถึง 75 ล้านยูโร
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ขนาดอาจจะไม่ใช่ตัวชี้วัดได้เสมอไป เพราะฟุตบอลไม่ใช่คณิตศาสตร์ที่มีสูตรตายตัว และบางสิ่งอาจจะทำได้ดีหากใช้วิธีที่เหมาะสม เหมือนกับที่ อุรุกวัย ทำให้คนทั้งโลกได้เห็นเสมอมา
“เราเข้าใจถึงการมาจากประเทศเล็กๆ แต่สำหรับฟุตบอล ทุกอย่างมันเท่าเทียมกัน” ดิเอโก ฟอร์ลัน กล่าวกับ Washington Post
“เราไม่เคยอยู่ใต้ใคร โอเค ประเทศใหญ่ๆอาจจะมีเงินมากกว่าเรา แต่มันไม่เหมือนลีกกีฬาบางประเภทที่ยิ่งมีเงินมากก็จะเป็นผู้ชนะ ในฟุตบอลโลก ประเทศใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ชนะเสมอไป”
“นั่นคือประวัติศาสตร์ของเรา เมื่อเราลงไปเล่น เรารู้ว่ามันคือ 11 ต่อ 11 เราไม่สนหรอกว่าคู่ต่อสู้จะมีแฟนบอลมากกว่าเรา เราชินแล้ว เราเป็นประเทศเล็กๆ เราไม่ใส่ใจหรอก เราลงแข่งกับทุกทีมได้”