คุณคิดว่าตารางแข่งฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่มีมากกว่า 380 นัดในหนึ่งฤดูกาล ถูกจัดเรียงขึ้นมาได้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์รถไฟชนกัน หรือทีมใดมีความได้เปรียบเสียเปรียบมากกว่าสโมสรอื่น ๆ
การสุ่ม อาจฟังดูเป็นคำตอบที่มีความเป็นไปได้ เหมือนกับเหล่าฟุตบอลถ้วยที่แค่ให้คนไปหยิบชื่อทีมขึ้นจากโถ แต่ในความจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะว่าเบื้องหลังการแข่งขันทั้งหมดนี้มีชายคนหนึ่งใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่า 8 เดือน เพื่อรังสรรค์ตารางทั้งหมดให้เกิดขึ้นจริง
ชื่อของเขาคือ เกล็น ทอมป์สัน พนักงานของบริษัทด้านไอทีชื่อดังอย่าง Atos ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน 100 คนที่มีอิทธิพลต่อวงการฟุตบอลโดยนิตยสาร Four Four Two ด้วยประสบการณ์การจัดตารางแข่งขันมามากกว่า 60,000 นัดตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
Main Stand ขอพาทุกท่านไปดูเบื้องหลังกระบวนการทำงานของ ทอมป์สัน กับภารกิจจัดตารางฟุตบอลลีกอังกฤษที่อาจจะฟังดูง่ายแต่ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ อย่างที่คิด
เริ่มงานตั้งแต่ปีใหม่
แม้การแข่งขันฟุตบอลของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นระดับพรีเมียร์ลีกไปจนถึงลีกทูจะสิ้นสุดฤดูกาลลงในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น ๆ แต่การทำงานของ ทอมป์สัน นั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของปีก่อนหน้าเสียอีก
Photo : atos.net
นั่นเพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA จะมาหารือร่วมกับพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลลีก เพื่อกำหนดตารางแข่งขันในฤดูกาลถัดไปว่า เกมลีกจะลงแข่งวันไหน บอลถ้วยเอฟเอคัพ และคาราบาวคัพ จะเล่นในสัปดาห์ไหนบ้าง แถมยังต้องหลีกทางให้ฟุตบอลทีมชาติช่วงไหนและจะนำนัดตกค้างไปเตะตอนไหนแทน
หลังจากทราบกำหนดการมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว หน้าที่ของ ทอมป์สัน จะเริ่มต้นจริงจังตั้งแต่หลังปีใหม่เลย เพราะเจ้าตัวจะต้องกำหนดตารางแข่งแบบคร่าว ๆ ออกมา โดยวิธีการ “Sequencing” ที่แบ่งฤดูกาลทั้งหมดออกเป็น 5 เซ็ตต่อครึ่งซีซั่น แล้วค่อยสลับเซ็ตดังกล่าวในครึ่งหลังของฤดูกาล
กล่าวคือสมมติว่า ทีม A เปิดบ้านเจอกับทีม B ในช่วงครึ่งซีซั่นแรก พอถึงเวลาที่เซ็ตนี้ต้องกลับมาลงเตะอีกครั้งในครึ่งฤดูกาลหลัง ก็จะเป็นทีม B รับการมาเยือนของทีม A แทน
แต่กระบวนการทั้งหมดก็ไม่ได้จบลงง่าย ๆ แบบนั้น เพราะ ทอมป์สัน ระบุว่าเขามีกฎเหล็กที่ใช้ในการจัดตารางการแข่งขันอยู่ว่า “ในทุกการแข่งขัน 5 นัดต้องประกอบด้วยการลงเล่นอย่างละ 3:2 ในอัตราส่วนของการเป็นเจ้าบ้านกับทีมเยือน โดยที่ห้ามมีทีมไหนเตะเป็นทีมเหย้าหรือเยือนติดต่อกันเกิน 2 นัดขึ้นไป”
“และถ้าเป็นไปได้ในช่วงที่มีเตะบอลถ้วยเอฟเอคัพ ตารางลงเล่นก่อนและหลังเกมนัดนั้นจะต้องเป็นแมตช์เหย้าและเยือน” นั่นคือจะไม่มีทีมไหนได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากตารางบอลถ้วย และหลีกเลี่ยงการเป็นเจ้าบ้านหรือทีมเยือน 3 นัดติดต่อกันนั่นเอง
เจ้าตัวเปิดเผยกับเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพรีเมียร์ลีกต่อว่า “ไม่มีทีมใดออกสตาร์ทซีซั่นหรือลงเล่นโค้งสุดท้ายของฤดูกาลด้วยการเป็นทีมเหย้าหรือทีมเยือน 2 นัดติดต่อกัน เพราะนั่นจะทำให้ทีมที่ต้องลงเล่น 2 เกมสุดท้ายของลีกในฐานะทีมเยือนเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก โดยเฉพาะหากพวกเขากำลังต้องการคะแนนอยู่ในช่วงนั้น”
เช่นเดียวกับช่วงเทศกาลวันแกะกล่องของขวัญ (Boxing Day) กับวันขึ้นปีใหม่ ที่แต่ละทีมต้องมีโอกาสได้เป็นเจ้าบ้านอย่างน้อยหนึ่งนัดในโปรแกรมดังกล่าว เพื่อให้แฟนบอลสามารถเข้ามาเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษกับสโมสรของพวกเขาได้ และ ทอมป์สัน ยังระบุเพิ่มเติมว่าเขาพยายามรักษาความต่อเนื่องของการลงเล่นแบบ เหย้า-เยือน ให้ได้ในทุกสัปดาห์เมื่อมีโอกาส
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของความอลหม่านในการจัดตารางการแข่งขัน เพราะนี่คือพื้นฐานของช่วงเวลาอันแสนวุ่นวายของ ทอมป์สัน กับสโมสรต่าง ๆ ที่เจ้าตัวต้องเผชิญมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
จัดทุกอย่างให้ลงล็อก
ในช่วงเดือนมีนาคมพรีเมียร์ลีกจะส่งคำถามให้กับทั้ง 20 สโมสรที่ลงแข่งอยู่ ณ ตอนนั้น ว่ามีทีมไหนที่อยากจับคู่เป็นพิเศษไหม, ถ้าได้ลงเตะเป็นทีมเหย้า หรือไม่อยากลงแข่งกับทีมใดในเกมนัด Boxing Day, และมีนัดไหนที่ไม่อยากลงเตะเป็นเจ้าบ้านหรือไม่ ซึ่งคำถามสุดท้ายทางพรีเมียร์ลีกจะสอบถามไปยังหน่วยงานตำรวจท้องถิ่นของทีมต่าง ๆ ด้วย
ลิเวอร์พูล ไม่สามารถเป็นเจ้าบ้านในสัปดาห์เดียวกันกับ เอฟเวอร์ตัน ได้ เช่นกันกับคู่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือแม้แต่คู่หูต่างลีกอย่าง นิวคาสเซิล กับ ซันเดอร์แลนด์ ที่ไม่เคยลงเล่นเป็นทีมเหย้าในสัปดาห์เดียวกันเลย แม้ทั้งสองทีมจะอยู่กันคนละลีกมาตั้งแต่ปี 2016 แล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของแฟนบอลและการบริหารทรัพยากรเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินของแต่ละสนาม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาได้
ช่วงที่อังกฤษเคยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปี 2012 ทางตำรวจได้ขอความร่วมมือจาก ทอมป์สัน ว่าอย่างเพิ่งให้เกิดคู่แบบ “Big Match” ก่อนวันที่ 8 กันยายน เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงการแข่งขันกีฬาดังกล่าวไปเสียก่อน และรวมถึงกรณีที่มีการจัดคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์กีฬาชนิดอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียงด้วย
แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตารางการแข่งขัน เพราะแต่ละสโมสรสามารถยื่นคำร้องขอออกไปเป็นทีมเยือนก่อน เพื่อให้สามารถพัฒนาหรือปรับปรุงสนามเหย้าของตัวเองได้ เช่น ลิเวอร์พูล ที่ขอออกไปเป็นฝ่ายเยือนในสามนัดแรกของฤดูกาล 2016/17 เพื่อให้สามารถปรับปรุงอัฒจันทร์หลักได้ทันเวลา แล้วค่อยกลับมาสลับด้วยการเป็นทีมเหย้าเสริมแทนไปในระหว่างฤดูกาล
ถึง ทอมป์สัน จะทราบถึงรายละเอียดทั้งหมดมาตั้งแต่ต้นปี แต่เจ้าตัวยังไม่สามารถจัดตารางทั้งหมดได้ก่อนที่ฤดูกาลแข่งขันจะจบลง “ผมไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่าจะทราบว่าแต่ละลีกประกอบด้วยทีมอะไรบ้าง ซึ่งต้องรอหลังจากการแข่งเพลย์ออฟสิ้นสุดลง ที่ผมจะได้นำแต่ละคู่มาวางลงในตารางแข่งขัน เพื่อให้เห็นภาพได้ว่าทีมต่าง ๆ จะลงเล่นกันวันไหน”
แน่นอนว่าเจ้าตัวไม่ได้ทำงานนี้แต่เพียงลำพัง เพราะเขามีซอฟต์แวร์คู่ใจที่รับผิดชอบในการสุ่มเรียงลำดับแต่ละทีมอีกที “คอมพิวเตอร์จัดตารางของผมทราบดีว่าแต่ละนัดมีใครเจอกับใครบ้าง ทีมไหนเล่นเป็นทีมเหย้าหรือทีมเยือน แล้วมันจะสุ่มอีกทีว่าแต่ละทีมจะเจอกันวันไหน ใครจะเล่นเป็นเจ้าบ้านก่อน”
“คอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะมันสามารถเสนอทางเลือกลงเตะนัดอื่นให้เราได้มากถึง 40 รูปแบบโดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการแข่งขันทั้งลีก”
Photo : www.bbc.co.uk
แม้จะระบุว่ามีการสุ่มแต่ ทอมป์สัน ก็ไม่สามารถปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามลิขิตของซอฟต์แวร์ได้ “เราต้องประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีสโมสรจากท้องที่เดียวกันเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะหรือถนนสายเดียวกันในวันเดียวกันหรือไม่ เพราะเราไม่อยากให้เกิดสถานการณ์คอขวดระหว่างการเดินทาง”
นั่นรวมถึงช่วงแข่ง Boxing Day กับตอนปีใหม่ ที่พรีเมียร์ลีกต้องการลดระยะในเดินทางของแฟนบอลทีมเยือนลงด้วย ปัจจัยเหล่านี้ก็ต้องถูกนำมาพิจารณาก่อนด้วยเช่นกัน ซึ่งด้วยรายละเอียดปลีกย่อยที่มากมายขนาดนี้ ทำให้ ทอมป์สัน ต้องทำงานมากถึง 70 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในช่วงก่อนการเผยแพร่กำหนดการแข่งขันเลยทีเดียว
แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ทราบดีว่าเขาไม่มีทางทำได้ดีตามความประสงค์ของทุกคนในลีกได้…
ถูกใจทุกคนไม่ได้หรอก
กุนซือชื่อดังหลายคนต่างเคยออกมาโจมตีการจัดตารางแข่งขันของพรีเมียร์ลีก เช่น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่พบว่าลูกทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเขาต้องออกไปเยือนคู่แข่งในหัวตารางติดต่อกันหลังเตะบอลถ้วยยุโรปจบ จนแสดงความไม่พอใจออกมาว่า “แม่งเอ้ย! บอกผมทีสิว่านี่ไม่ได้ถูกล็อกมา! ตารางแข่งขันไม่เป็นใจกับเราเสียเลย และพรีเมียร์ลีกเป็นฝ่ายที่ทำให้ทีมเราพิการลง”
แม้แต่ เยอร์เกน คล็อปป์ ของ ลิเวอร์พูล ก็เคยพูดว่าตารางแข่งพรีเมียร์ลีกนั้น “เป็นอะไรที่โง่มาก” เมื่อลูกทีมของเขาต้องลงสนามในเวลาเที่ยงครึ่งวันเสาร์หลังลงเตะบอลยุโรปเสร็จในคืนวันพุธ และแทบไม่มีเวลาให้ฝึกซ้อมหรือฟื้นฟูสภาพร่างกายเลย โดยรอบนี้ก็มีปัจจัยมาจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของ BT Sports ที่ทำให้การแข่งขันต้องดำเนินต่อไปในช่วงเวลานั้น ๆ
หากปัญหาในฤดูกาลก่อนหน้าว่าหนักหนาแล้ว ฤดูกาล 2022/23 น่าจะเป็นฉบับปรับปรุงพิเศษใส่ไข่เลย เนื่องจากมีฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์มาคั่นกลางในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จนทำให้พรีเมียร์ลีกต้องแหวกตารางแข่งขันหลบตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน และกลับมาฟาดแข้งอีกครั้งในวันแกะกล่องของขวัญ หรือ 26 ธันวาคม
การจัดตารางของลีกรองก็จะเป็นปัญหาให้ ทอมป์สัน อีกเช่นกัน เพราะลีกแชมเปี้ยนชิพจะมีการหลีกทางให้ฟุตบอลโลกจนถึงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งอาจมีการเลื่อนเป็นกรณีพิเศษให้กับบางสโมสรที่มีนักเตะไปรับใช้ชาติจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว และแม้ว่าลีกวันกับลีกทูจะยังลงเตะต่อไปตามเดิมแต่ ทอมป์สัน อาจต้องพิจารณาเลื่อนเวลาแข่งให้กับบางทีมเพื่อหลีกเลี่ยงการไปชนกับตารางแข่งของทีมชาติอังกฤษ ที่อาจทำให้แฟนบอลสิงโตคำรามไปตามเชียร์ทีมชาติของตนแทน และจะมีผลกระทบต่อรายรับกับความสนใจของสโมสรในระดับรากหญ้าได้
อย่างไรก็ตามหากนับตามแผนดั้งเดิมที่ถูกรังสรรค์และปรับแก้กันมาแบบนับไม่ถ้วนแล้ว ตารางแข่งขันเหล่านี้จะถูกส่งให้ พรีเมียร์ลีก ฟุตบอลลีก และบริษัท Atos ตรวจสอบเป็นเวลา 2 วันเต็ม เพื่อเช็คว่าได้ทำตามคำขอของสโมสรต่าง ๆ และหน่วยงานอย่างตำรวจ ขนส่งสาธารณะ และตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนจะมาตรวจสอบอีกทีว่าไม่มีจุดไหนที่อาจเป็นปัญหาต่อการเดินทาง การรักษาความปลอดภัย หรือสวัสดิภาพของนักเตะและแฟนบอล
เมื่อไม่มีอะไรผิดพลาดแล้วตารางดังกล่าวจะถูกส่งให้สื่อมวลชนกับสโมสรต่าง ๆ ในคืนก่อนวันเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ทันต่อการเผยแพร่ในตอนเช้าวันถัดมา ซึ่งของปีนี้ตารางแข่งของพรีเมียร์ลีกจะถูกเปิดเผยในวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 16:00 น. ตามเวลาประเทศไทย หรือ 9 โมงเช้าของสหราชอาณาจักรนั่นเอง
ด้าน ทอมป์สัน ก็ได้ระบุถึงการจัดตารางแข่งขันว่า “นี่เป็นงานที่แทบดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลย ผมทำให้ทุกคนถูกใจหมดไม่ได้หรอก นี่คือการประนีประนอมกับทุกสโมสร เพราะคุณไม่สามารถทำอะไรเอาใจทีม ๆ เดียวได้”
“มีแมตช์แข่งขันมากถึง 2,036 นัดในหนึ่งฤดูกาล ตั้งแต่พรีเมียร์ลีกไปถึงลีกทู ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือเราต้องทำให้มั่นใจว่าเกมการแข่งขันเหล่านี้สามารถลงเล่นในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ได้”