“ผมเชื่อชายคนนั้น เขาสัญญาว่าเขาทำให้ผมกลายเป็นนักเตะอาชีพได้ ผมสูญเสียทุกอย่าง และผมก็ไม่สามารถออกไปจากที่นี่ได้” แอนดรูว์ เจอร์รัลด์ นักเตะชาวไนจีเรีย กล่าว
เอเยนต์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีบทบาทอย่างมากในโลกฟุตบอลปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นผู้ช่วยต่อรองผลประโยชน์ของนักเตะแล้ว หลายคนยังมีส่วนสำคัญในการพานักเตะจากนอกยุโรปเข้าไปเล่นในลีกชั้นนำ
แอฟริกา ก็เป็นหนึ่งในนั้น ดินแดนแห่งนี้มีเด็กหนุ่มที่เต็มไปด้วยความฝันว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ ซาดิโอ มาเน่ คนต่อไปอยู่มากมาย จนทำให้แต่ละปีมีแข้งอายุน้อยจากทวีปนี้เดินทางมายุโรปกว่า 6,000 คน
อย่างไรก็ดีบางครั้งมันกลายเป็นฝันร้าย เมื่อบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “เอเยนต์” ใช้ความฝันนี้หลอกลวงพวกเขา จนไม่ต่างจากการ “ค้ามนุษย์” ของโลกสมัยใหม่
ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand
ดินแดนแห่งฝัน (ร้าย)
แม้จะเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองมาจากทวีปแอนตาร์กติกาและออสเตรเลีย) แต่ ยุโรป ก็เป็นเหมือนดินแดนแห่งความหวังของชาตินอกทวีปและทำให้มีผู้คนมากมายโดยเฉพาะจากแอฟริกาเดินทางแสวงมาหาชีวิตที่ดีกว่า
เช่นกันสำหรับฟุตบอล เมื่อในแต่ละปีจะมีนักฟุตบอลอายุน้อยจากแอฟริกาเดินทางมายุโรปมากถึง 6,000 คน ด้วยความฝันว่าตัวเองจะก้าวขึ้นมาเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ ซามูเอล เอโต้ คนต่อไป ทว่าบางคนต้องพบกับฝันร้ายจากคนที่เรียกตัวเองว่า “เอเยนต์”
“เราจ่ายเงินให้เอเยนต์ไป 2.5 ล้านฟรังก์ (ราว 170,000 บาท) เขาทำวีซ่าให้ผม 6 เดือน แต่ไม่ได้เดินทางไปกับผม” เซดู คาบอเร บอกกับ Vice
เขาคือนักเตะจากบูร์กินาฟาโซที่ถูกเอเยนต์บอกว่ามีศักยภาพดีพอที่จะไปเล่นในลีกฝรั่งเศส แต่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เขาและครอบครัวต้องจ่ายเงินก้อนหนึ่งแล้วเอเยนต์จึงจะพาเขาไปทดสอบฝีเท้า
“ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี เมื่อผมถึงมาร์กเซย์ เด็กหนุ่มผิวขาวมารับผมแล้วพาไปอยู่บ้านหลังใหญ่กับเด็กผิวดำที่อยากเป็นนักฟุตบอลเหมือนผมอีกหลายคน บางคนมาจากแอฟริกากลาง บางคนมาจากแอฟริกาตะวันตกและตะวันออก พวกเขาทั้งหมดต่างบอกว่าพวกเขาจ่ายเงินไปเป็นจำนวนมาก” คาบอเร กล่าวต่อ
คาบอเรต้องมีชีวิตอย่างยากลำบากที่ฝรั่งเศส เขาและคนอื่นได้รับอนุญาตให้กินอาหารได้แค่วันละมื้อ และต้องอยู่กันอย่างแออัดในบ้านหลังเล็ก ๆ จนกระทั่งผ่านไปเป็นเดือนการทดสอบฝีเท้าที่เคยได้รับคำสัญญาไว้ก็ยังไม่มาถึง
ทำให้คาบอเรตัดสินใจโทรหาเอเยนต์เพื่อขอจดหมายแนะนำ แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะได้รับมันมา แต่เมื่อส่งไปให้สโมสรก็ถูกบอกว่ามันคือของปลอม และมันทำให้เขารู้ตัวว่าถูกหลอกเสียแล้ว
“สโมสรขอตัวเลขอ้างอิงบนจดหมาย และพอผมให้ไปพวกเขาก็บอกว่ามันไม่ได้มาจากพวกเขา สองอาทิตย์ก่อนที่วีซ่าของผมจะหมด ผมจึงตัดสินใจกลับประเทศ” คาบอเร ย้อนความหลัง
“มันเป็นประสบการณ์ที่บีบคั้นหัวใจที่ต้องต้องทิ้งความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอล ตอนนี้ผมอายุ 25 และไม่มีงานทำ สิ่งที่ผมคิดได้ในท้ายที่สุดคือผมและครอบครัวซื่อเกินไป”
แน่นอนว่า คาบอเร ไม่ใช่คนเดียวที่เคยเผชิญกับประสบการณ์เช่นนี้
ความหวังสุดท้ายในชีวิต
เอเยนต์ปลอม กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ของวงการฟุตบอล พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีใบอนุญาตที่ถูกต้องแต่อาศัยการแต่งตัวที่น่าเชื่อถือและคำหวานหลอกล่อนักเตะที่เต็มไปด้วยความฝัน ด้วยคำสัญญาว่าจะพาพวกเขาไปเล่นในยุโรป
มิจฉาชีพกลุ่มนี้มักจะเล็งไปที่นักเตะที่มีอายุระหว่าง 14-21 ปี พวกเขาจะอธิบายและสร้างความเชื่อใจให้กับนักเตะและครอบครัว โดยบอกว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่สดใสในยุโรปโดยอ้างความสำเร็จของนักเตะแอฟริกาในอดีต
อย่างไรก็ดีเขาและครอบครัวต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างว่าเป็นค่าทำวีซ่าหรือค่าอำนวยความสะดวก มองจากภายนอกมันอาจจะดูแปลก แต่สำหรับพ่อแม่ที่ทำงานหนักเพื่อลูก สิ่งนี้ดูจะเป็นเหมือนความหวังเดียวในชีวิตที่จะทำให้พวกเขาผ่านพ้นความยากลำบาก
“ผมได้รับโทรศัพท์เพื่อขอคุยเรื่อง บูบา ลูกชายของผม” ชีคฮู เอเดียเย พ่อของบูบา ที่เอเยนต์บอกว่าจะพาลูกชายของเขาไปโปรตุเกส กล่าวกับ Vice
“ผู้ชายอีกฝั่งหนึ่งบอกว่าเขาได้ดูลูกชายผมเล่นและเขาจะมีอนาคตที่สดใส ผมรับข้อตกลงและเขาก็มาที่บ้านของผมโดยมีชายอีกคนหนึ่งมาด้วย พวกเขาทั้งสองอยู่ในวัย 30 กลาง ๆ พวกเขาดูสุภาพมาก พวกเขาเป็นคนเซเนกัลแต่อ้างว่าอาศัยอยู่ในยุโรป”
เอนเดียเยบอกว่าชายทั้งสองโชว์หลักฐานที่มีตั้งแต่เอกสาร ไอดีการ์ด รูปถ่าย หรือคลิปวิดีโอของนักเตะแอฟริกาที่ตอนนี้เล่นอยู่ในยุโรป ให้เขาและภรรยาดูและบอกว่าลูกของเขาจะได้เดินตามรอยนี้
“หลังจากเจอกันอีกสองครั้งผมก็จ่ายเงินไป 2.8 ล้านฟรังก์เซฟา (ราว 194,000 บาท) ซึ่งผมได้มาจากการขายที่ดินผืนเดียวที่มีอยู่ของผม” เอนเดียเย กล่าวต่อ
“พวกเขาไปที่สถานทูตกับลูกชายผมแล้วกลับมาพร้อมกับวีซ่าและหนังสือเดินทาง ผมตกใจและประทับใจเพราะว่ามันเร็วมาก การได้วีซ่าอียูในเซเนกัลไม่ใช่เรื่องง่าย”
“หลังจากนั้นพวกเขาก็เดินทางไปโปรตุเกส ลูกชายผมโทรมาหาผมหลังผ่านไปหนึ่งเดือนและบอกว่าเขายังไม่ได้ทดสอบฝีเท้ากับสโมสรไหนเลย และต้องอาศัยอยู่กับชายแก่ในบ้านหลังเล็ก ๆ”
“เขาบอกว่าเอเยนต์ให้กระดาษเขามาแล้วหายไป 3 วันหลังมาถึง นั่นคือในปี 2019 เรายังไม่ได้ยินข่าวคราวอะไรเลยจากลูกชาย เราไม่รู้เลยว่าเขายังมีชีวิตหรือไม่ เราจึงได้แต่ภาวนา”
และน่าเศร้าที่บางกรณีอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้
กลับตัวก็ไม่ได้ … เดินต่อไปไม่ถึง
จากการรายงานของ Sunday People ระบุว่าในแต่ละปีมีนักเตะเยาวชนกว่า 15,000 คนที่ถูกล่อลวงจากกลุ่มค้ามนุษย์ มาทิ้งไว้ในยุโรป หรือบางทีอาจจะมีจำนวนมากกว่านั้น
“องค์กรที่เชื่อถือได้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเยาวชนจากแอฟริกาที่มาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ากับฟุตบอล พบว่ามีเยาวชนกว่า 15,000 คนถูกหลอกและกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ทั่วโลกในแต่ละปี” เฟรด ลอร์ด แห่งศูนย์กีฬาและความมั่นคงนานาชาติ (ICSS) อธิบาย
พวกเขาเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินและใบอนุญาตทำงานจึงถูกบีบให้ไปทำอาชีพผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนส่งยา ขอทาน หรือค้าประเวณี หรือบางคนอาจจะได้งานที่สุจริตแต่ก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อตั๋วกลับบ้านเกิด
แอนดรูว์ เจอรัลด์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาคือชาวไนจีเรียที่ถูกเอเยนต์ปลอมบอกว่าจะพาไปเล่นในพรีเมียร์ลีก โดยเริ่มจากการพาไปทดสอบฝีเท้าในลีกโรมาเนียแล้วค่อยหาทางย้ายทีมต่อไป
เอเยนต์เรียกร้องเงินจากเขาและครอบครัว 700 ปอนด์ (ราว 30,000 บาท) สำหรับค่าดำเนินการ แล้วพานักเตะที่ตอนนั้นอายุ 18 ปีไปยังเซเนกัล โดยอ้างว่าให้อยู่ที่นี่ก่อนเพื่อรอวีซ่า แต่พอผ่านไปได้หนึ่งอาทิตย์มันก็ไม่มาถึง และทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในดาการ์ (เมืองหลวงเซเนกัล) ถึง 14 ปี ถึงจะหาทางกลับมาได้
“ผมเชื่อชายคนนั้น เขาสัญญาว่าเขาจะทำให้ผมกลายเป็นนักเตะอาชีพได้ ผมสูญเสียทุกอย่าง ผมไม่สามารถออกไปจากที่นี่ได้ และผมก็ไม่อยากยอมแพ้กับความฝันในการเล่นฟุตบอล” เจอรัลด์ ที่ตอนนี้อายุ 33 ปีกล่าวกับ The Mirror
“เอเยนต์เหล่านี้มอบความฝันที่จะกลายเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ เจย์ เจย์ โอโคชา คนต่อไปให้กับคุณ”
อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่ยุโรปเท่านั้น เพราะอันที่จริงตัวเลขของการร้องเรียนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์โดยใช้ฟุตบอลในพื้นที่อื่น อย่างอเมริกาเหนือ และ ตะวันออกกลาง ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี
ผู้เล่นบางคนต้องลงเอยกับการใช้แรงงานใน กาตาร์ บาห์เรน หรือยูเออี หรือประเทศอื่นในแอฟริกาอย่าง ตูนีเซีย โมร็อกโก และอียิปต์ และต้องทิ้งความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลไปอย่างน่าเสียดาย
“ผมเคยเล่นในสโมสรดิวิชั่น 2 ของแคเมอรูน ตอนที่เอเยนต์เข้าหาและชวนผมไปสำนักงานของเขาผมได้พบกับนักฟุตบอลดาวรุ่งคนอื่นที่นี่” ชาร์ลส์ เอ็นกาห์ ที่ติดอยู่ที่ตูนีเซียตั้งแต่ปี 2013 กล่าวกับ Vice
“บริษัทที่เป็นตัวแทนดูน่าเชื่อถือมาก พวกเขามีใบอนุญาตใส่กรอบและแขวนไว้บนผนัง พวกเขาบอกเราว่าเราจะได้ไปทดสอบฝีเท้ากับ Esperance Tunis (สโมสรที่ใหญ่ที่สุดของตูนีเซีย)”
“เราเดินทางไปและได้พักอยู่ในโรงแรมที่ค่อนข้างดีอยู่ 1 สัปดาห์ ก่อนจะพาเราไปที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ที่นั่นผมได้พบกับชาวไนจีเรียและชาวกานา”
“ทั้งหมดอ้างว่าพวกเขาจ่ายเงินไป 4,000 ไนรา (ราว 34,000 บาท) และ 7,500 เซดิส (46,000 บาท) เพื่อมาที่นี่ เรารอการทดสอบฝีเท้าอยู่ราว 1 เดือนไปอย่างสูญเปล่า สุดท้ายก็รู้ว่าเราถูกหลอก”
“บางคนในหมู่พวกเราได้งานในร้านอาหาร บางคนเป็นพนักงานทำความสะอาด ขณะที่บางคนยังตกงาน เราเช่าห้องอยู่กันเป็นกลุ่ม คุณสามารถเจอห้องเล็ก ๆ ที่มีเด็ก 7-8 คนอัดรวมอยู่ในนั้น”
“ปัญหาใหญ่ที่สุดของพวกเราคือเอกสารและวิธีกลับบ้าน ที่ตูนีเซียหากคุณอยู่เกินวีซ่าคุณจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน รายเดือน หรือรายปี ก่อนที่พวกเขาจะยอมให้คุณออกจากประเทศ”
อย่างไรก็ดีแม้หลายฝ่ายจะรับรู้ถึงปัญหานี้แต่ก็ยังแก้ไขมันไม่ได้
มะเร็งร้ายโลกลูกหนัง
“พวกเขา (เอเยนต์ปลอม) ไม่มีศีลธรรม พวกเขาพูดถึงความฝัน แต่บ่อยครั้งที่ความฝันเปลี่ยนเป็นฝันร้าย” คริส อีตัน อดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของฟีฟ่า และอดีตเจ้าหน้าที่อินเตอร์โพลกล่าวกับ The Mirror
นักสังเกตุการณ์และผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษว่าสมาคมฟุตบอลแอฟริกาไม่ได้ศึกษาและป้องกันปัญหานี้มากเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ให้คำแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองว่าต้องทำการบ้านก่อนที่จะปล่อยลูกให้ไปอยู่กับเอเยนต์ แต่อันที่จริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
บาสซิโร ซาคโก เอเยนต์ฟีฟ่าที่ลงทะเบียนกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Playmaker Sport Agency ที่คอยเสาะหานักเตะในแอฟริกาไปเล่นในยุโรป แนะนำว่า สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา ควรจะจัดทำรายชื่อเอเยนต์ที่ได้รับการรับรองในหน้าเว็บไซต์เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่าย
“พ่อแม่ส่วนใหญ่ของเด็กเหล่านี้เป็นคนไม่รู้หนังสือและไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น” ซาคโก กล่าวกับ Vice
“ถ้ามีชื่อของเอเยนต์ในเครืออยู่บนเว็บไซต์ของสหพันธ์ฯ มันจะช่วยให้ครอบครัวของพวกเขาสามารถตรวจสอบและดูว่าคนที่มาหาลูกชายเป็นของจริงหรือไม่”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือห้ามเอาเงินให้เอเยนต์ เพราะหากลูก ๆ ของพวกเขาเก่งจริง เอเยนต์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง แล้วค่อยไปเอาคืนจากส่วนแบ่งในการเซ็นสัญญาในอนาคต
“ถ้าคุณเก่ง เอเยนต์จะเห็นคุณเหมือนเป็นบ่อน้ำมัน เป็นเครื่องขุดเจาะน้ำมัน หรือขุมทอง” ปีเตอร์ ออตตาช เอเยนต์ฟุตบอลกล่าวกับ BBC
“เอเยนต์จะพยายามอย่างหนักในการลงทุนเพื่อที่จะรู้จักคุณเป็นอย่างดี เพราะในท้ายที่สุดเขาจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น”
ขณะที่สมาคมฟุตบอลบางชาติในแอฟริกาอ้างว่าพวกเขาพยายามอย่างเต็มที่แล้วในการหยุดยั้งการค้ามนุษย์โดยใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือ แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของนักเตะไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องง่าย
เพราะอันที่จริงตามกฎของฟีฟ่าก็มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามมีการซื้อขายนักเตะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อป้องกันเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะใช้ไม่ได้จริงในทวีปแห่งนี้
“ถึงอย่างนั้นแข้งดาวรุ่งเหล่านี้ก็ยังออกเดินทางในฐานะความหวังของครอบครัว” ออกุสติน เซนกอร์ นายกสมาคมฟุตบอลเซเนกัล กล่าวกับ Vice
“ไม่มีใครชอบปรากฏการณ์นี้ เราทุกคนต่างคัดค้าน แต่พวกเขาได้วีซ่ามายังไง พวกเขาได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองถูกต้องตามกฎหมาย”
“บางคนเปลี่ยนอายุตัวเองเพื่อไม่ให้ดูเด็กเกินไป พ่อแม่ไม่เคยมาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ สิ่งเดียวที่พวกเขาเห็นคืออนาคตของลูกชายที่ประสบความสำเร็จกับทีมใหญ่ในยุโรป เราพยายามจัดแคมเปญเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการ ‘หยุดให้เงินเอเยนต์’ แต่เงินก็ยังเปลี่ยนมืออยู่ สิ่งนี้น่าเสียดาย”
ด้าน มาลิค โทเฮ จากสมาคมฟุตบอลโกตดิวัวร์ บอกว่าคุณภาพของลีกฟุตบอลในแอฟริกาอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเตะสมองไหลและพยายามผลักดันตัวเองไปเล่นนอกทวีป ในทางกลับกันมันก็ทำให้ลีกในท้องถิ่นของพวกเขาไม่พัฒนา
“ไม่มีนักเตะดาวรุ่งคนไหนอยากเล่นหรือยังอยู่ในลีกท้องถิ่น พวกเขาทั้งหมดต่างอยากไปสร้างชื่อในยุโรปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมอย่างง่ายดาย” โทเฮ กล่าวกับ Vice
โทเฮเชื่อว่าต้องมีการรณรงค์เชิงรุกจากสมาคมฟุตบอลในแอฟริกา ที่จะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาเอเยนต์ปลอมและการค้ามนุษย์มากกว่านี้ เพื่อกำจัดมะเร็งร้ายที่กำลังเกาะกินวงการฟุตบอลอยู่ข้างหลัง
อย่างไรก็ดีตราบใดที่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนแอฟริกายังแร้นแค้น และลีกยุโรปเต็มไปด้วยเงินเดือนมหาศาลล่อใจ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหานี้ได้ในเร็ววัน
“สโมสรในพรีเมียร์ลีกพยายามอย่างมากในการขัดขวางไม่ให้ครอบครัวของเด็กใช้เอเยนต์ที่ไม่รู้จัก และจำนวนการค้ามนุษย์ในสหราชอาณาจักรก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” เฟรด ลอร์ด กล่าวกับ The Mirror
“แต่มันไม่ได้หายไป มีเด็กเป็นร้อยที่ยังถูกหลอกจากเอเยนต์ปลอมในแต่ละปี”
“หลายคนถูกพวกค้ามนุษย์หลอกว่าจะพาไปอีกประเทศเพื่อเตรียมไปสหราชอาณาจักรอย่างเนปาล แล้วก็ทิ้งให้พวกเขาอยู่อย่างแร้นแค้น”