หากเราพูดถึงกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน เราไม่สามารถมองถึงมิติของเกมการแข่งขันเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะมีมุมมองอื่นๆ ที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยเฉพาะประเด็นด้านธุรกิจที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เม็ดเงิน, ผลประโยชน์ต่างๆ คือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้วงการลูกหนังได้เดินหน้า ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม
เราได้เห็นการลงทุนมากมายกับสโมสรฟุตบอลในทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มทุนข้ามชาติทั้งฝั่งโลกตะวันตกและตะวันออกต่างช่วงชิงสิทธิ์การเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลชั้นนำ เพื่อสร้างโอกาสที่ดีในการต่อยอดความมั่นคงทางธุรกิจ
ในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองพรีเมียร์ลีกเป็นเป้าหมายของการลงทุน ด้วยต้นทุนในฐานะลีกฟุตบอลที่โด่งดังที่สุดในโลก แต่มีลีกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เหล่ากลุ่มทุนสามารถที่จะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงและมีโอกาสประสบความสำเร็จไม่แพ้ลีกอังกฤษ แถมลงทุนน้อยกว่าด้วย
เรากำลังพูดถึงลีกฟุตบอลสูงสุดของอิตาลีอย่าง กัลโช่ เซเรีย อา ที่มีต้นทุนมากมายที่รอให้กลุ่มนักลงทุนเข้ามาเป็นเจ้าของและต่อยอดจากสิ่งที่มี เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นทีมฟุตบอลชื่อดังคับฟ้าอีกครั้ง พร้อมกับสามารถที่จะกอบโกยผลประโยชน์ไปพร้อมกับการสร้างอนาคตใหม่ที่น่าตื่นเต้นให้เกมลูกหนัง
เหตุใด เซเรีย อา จึงมีคุณสมบัติที่พร้อมเหมาะกับการเป็นลีกแห่งอนาคตของวงการฟุตบอล? ติดตามได้ในบทความนี้กับ Main Stand
รากฐานที่เพียบพร้อม
เซเรีย อา ไม่ใช่ลีกที่แปลกใหม่สำหรับคนรักฟุตบอล ในทางตรงกันข้าม มีคนมากมายที่ผูกพันกับฟุตบอลลีกอิตาลี โดยเฉพาะหากคุณเป็นวัยรุ่นยุค 80s และ 90s ตัวจริงเสียงจริง
แม้ว่าในปัจจุบัน มูลค่าของ เซเรีย อา จะเป็นเพียงแค่ลีกฟุตบอลอันดับ 4 ของโลกที่ตามหลังพรีเมียร์ลีก อังกฤษ อยู่ประมาณ 4 เท่าตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าทีมฟุตบอลจากอิตาลีจะไม่เป็นที่รู้จักของแฟนบอลทั่วโลก
ยูเวนตุส, เอซี มิลาน, อินเตอร์ มิลาน, โรม่า, ลาซิโอ, ฟิออเรนติน่า และอีกหลายทีม ต่างเป็นชื่อทีมฟุตบอลซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี สืบเนื่องมาจากความยิ่งใหญ่ของลีกในอดีตที่เคยเป็นลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลกที่มีซูเปอร์สตาร์ไปเล่นอย่างคับคั่ง ก่อนยุคสมัยจะเปลี่ยนไปสู่ฟุตบอลอังกฤษ
ถึงความนิยมจะไม่มากเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เซเรีย อา ไม่ได้เป็นที่นิยม ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ชม เซเรีย อา อยู่ในกลุ่มอายุ 18 ปีถึง 49 ปี หรือ เมนเดโม่ ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดสำคัญของการทำธุรกิจทางโทรทัศน์
สรุปง่ายๆคือ เซเรีย อา ยังคงเป็นลีกฟุตบอลที่ได้ใจคนวัยหนุ่มซึ่งเป็นฐานหลักของกลุ่มผู้ชมกีฬาลูกหนัง จึงทำให้มีรากฐานที่ดีที่จะเติบโตต่อไปได้ ขอแค่มีไฟบางอย่างมาจุดประกายให้ความนิยมของฟุตบอลอิตาลีขยายกลับสู่วงกว้างอีกครั้ง
นอกจากฝั่งอเมริกาแล้ว เซเรีย อา ยังได้รับการยอมรับว่ามีฐานแฟนคลับที่พอตัวในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีฐานแฟนไม่น้อยทั่วโลก ปัญหาสำคัญที่ทำให้วงการฟุตบอลอิตาลีถูกมองข้ามคือผลงานการแข่งขัน โดยเฉพาะในระดับยุโรป เป็นระยะเวลานานหลายปีที่เราไม่ได้เห็นทีมจากอิตาลีคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ตรงกันข้ามทีมจากอังกฤษ, สเปน และ เยอรมัน ผลัดกันมาคว้าแชมป์ถ้วยนี้ได้เรื่อยๆ
รากฐานของกัลโช่อาจจะพร้อมแล้ว แต่ลีกยังต้องการการต่อยอดในเรื่องของผลงานเพื่อให้เติบโตขึ้นไปอีก ซึ่งนั่นหมายถึงลีกต้องการพลังของเงินมากกว่านี้เพื่อดึงดูดนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ลีกมาได้
หากว่า เซเรีย อา ไม่ใช่ลีกที่น่าลงทุน คงไม่มีประโยชน์ที่ต้องพูดเรื่องนี้ แต่ด้วยโครงสร้างและปัจจัยรอบด้าน ทำให้ เซเรีย อา เป็นลีกที่เหล่ามหาเศรษฐีควรจะลงทุนมากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป
โครงสร้างที่เอื้ออำนวย
การเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลในทวีปยุโรปเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย เพราะเราได้เห็นการเปลี่ยนมือเจ้าของทีมฟุตบอลในประเทศอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้าเรามองภาพกว้างทั่วยุโรปจริงๆมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ยิ่งหากมองถึงการลงทุนที่จะต้องได้ผลตอบแทนที่ดีกลับมาด้วย
พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในอดีตคือตลาดที่ดีมากในการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล เราได้เห็นมหาเศรษฐีมากมายเข้ามาเป็นเจ้าของทีมและเข้าไปสร้างผลประโยชน์ ซึ่งมีทั้งในแง่ของการพัฒนาศักยภาพของทีมฟุตบอลไปจนถึงสร้างกำไรและกอบโกยรายได้จากสโมสร แล้วแต่ว่าจะได้เจ้าของที่มุ่งเน้นในเรื่องไหนมากกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อสโมสรแถวหน้าของอังกฤษในปัจจุบันต้องลงทุนมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การเทคโอเวอร์ เชลซี ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นาน ที่ต้องใช้เงินสูงถึง 4,250 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท หรือต่อให้เป็นทีมระดับรองลงมาอย่าง นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ก็ต้องลงทุนถึง 300 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 12,900 ล้านบาท
การลงทุนกับพรีเมียร์ลีกในเวลานี้จึงเป็นเรื่องยาก และการจะปั้นทีมให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกวันนี้ พรีเมียร์ลีกคือธุรกิจเต็มตัวที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล ต่อให้ไม่ต้องมีเจ้าของทีมเป็นมหาเศรษฐีพันล้านก็ยังต้องมีเงินมากพอที่จะซื้อนักเตะดีๆค่าตัวแพงมาร่วมทีมได้ แต่ในขณะเดียวกัน การใช้เงินมหาศาลก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จในลีกอังกฤษ ดูได้จากการทุ่มเงินเยอะแต่ไม่มีถ้วยของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น หากต้องการจะลงทุน สร้างชื่อ สร้างธุรกิจกับฟุตบอล พรีเมียร์ลีกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ตอบโจทย์ หากต้องการจะลงทุนน้อยแต่หวังเติบโตมาก อาจต้องมองที่ลีกที่รองลงมา และไม่มีลีกไหนที่จะเหมาะสมไปกว่าลีกฟุตบอลอิตาลี
แม้ว่า เซเรีย อา จะมีความนิยมตามหลัง ลา ลีกา สเปน และ บุนเดสลีกา เยอรมัน แต่การเทคโอเวอร์สโมสรจากทั้งสองประเทศดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่สเปน หลายทีมใช้ระบบถือหุ้นโดยแฟนบอล รวมถึงสองยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทั้ง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า ซึ่งแฟนบอลก็พอใจที่จะใช้ระบบนี้ต่อไป
ส่วนเยอรมัน ก็มีกฎ 50+1 ที่บังคับให้แฟนบอลต้องถึงหุ้นอย่างน้อย 51 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้แฟนบอลถือหุ้นใหญ่ของสโมสร และหากจะเลี่ยงกฎนี้ก็ต้องไปเทคโอเวอร์ทีมระดับดิวิชั่น 5 เป็นอย่างน้อย ซึ่งไม่ตอบโจทย์การสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จในเร็ววันแน่นอน
เมื่อ 3 ลีกอันดับแรกไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ง่าย จึงต้องมองที่ลีกอันดับ 4 นั่นคือ เซเรีย อา ซึ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์ของลีกนี้จะพบว่า วงการฟุตบอลอิตาลีเปิดรับการลงทุนเป็นอย่างดีไม่แพ้วงการฟุตบอลอังกฤษ
เพราะสโมสรกีฬาอิตาลีถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มนายทุนหรือเศรษฐีที่มีพลังเงินมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ยูเวนตุส ของครอบครัวอัญเญลลี่ ที่สร้างความยิ่งใหญ่ให้ทัพม้าลายมาจนถึงปัจจุบัน, เอซี มิลาน ในยุคของ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ที่กวาดนักเตะระดับโลกมาเล่นให้กับทีมและคว้าแชมป์มาครองนับไม่ถ้วน, อินเตอร์ มิลาน ในยุคของ มัสซิโม่ โมรัตติ ที่สร้างความยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้คู่ปรับร่วมเมือง
ต้องพูดว่าความรุ่งเรืองของวงการฟุตบอลอิตาลีมาพร้อมกับการลงทุนมหาศาลของเจ้าของทีมเสมอ จนเคยทำให้เซเรีย อา กลายเป็นลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลก แต่เมื่อธุรกิจฟุตบอลเติบโตสูงขึ้นจนมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินเอื้อม สุดท้ายเหล่าเศรษฐีชาวอิตาลีก็สู้ไม่ไหวต้องยอมแพ้ ทำให้ยุคทองของฟุตบอลอิตาลีจบลง
อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างที่เอื้อกับการลงทุนโดยกลุ่มเศรษฐี ฟุตบอลอิตาลีจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมากกับการเทคโอเวอร์โดยไม่ต้องใช้เงินแพง แต่จะได้ครอบครองทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียง และได้ลงทุนในลีกที่การแข่งขันไม่สูงเหมือนพรีเมียร์ลีก
เปิดก่อนได้เปรียบ
ในความเป็นจริงแล้ว ลีกอิตาลีพยายามเปิดกว้างเพื่อต้อนรับกลุ่มทุนข้ามชาติให้เข้ามาทุ่มเงินซื้อนักเตะฝีเท้าดีที่จะช่วยยกระดับมูลค่าของลีกมานานแล้ว เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ กัลโช่เจอแต่นักลงทุนที่ไม่จริงใจเข้ามาเทคโอเวอร์ จนทำให้สถานการณ์ของหลายทีมแย่ลงกว่าเดิม เช่น อินเตอร์ มิลาน และ เอซี มิลาน
กว่าจะมาเข้าเป้าจริงๆก็ในยุคของ กลุ่มทุนซูหนิง จากประเทศจีน ด้วยการจ่ายเงิน 270 ล้านยูโร หรือประมาณ 9,950 ล้านบาท เพื่อเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักของสโมสรอินเตอร์ มิลาน ก่อนจะอัดฉีดเงินก้อนโตเข้าไป จนทำให้ อินเตอร์ มิลาน คว้าแชมป์เซเรีย อา ในฤดูกาล 2020-21 ที่ผ่านมา รวมถึงเข้ารอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่า ยูโรปา ลีก ในฤดูกาล 2019-20 อีกด้วย
ถึงจะน่าเสียดายที่ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนทำให้กลุ่มทุนซูหนิงไม่สามารถอัดเงินให้ อินเตอร์ มิลาน จนเสียโอกาสสานต่อความยิ่งใหญ่ที่กำลังเริ่มต้นเดินหน้าของทีม แต่จะเห็นได้ชัดว่า กลุ่มทุนข้ามชาติสามารถเทคโอเวอร์ทีมระดับแถวหน้าของยุโรปอย่าง อินเตอร์ มิลาน ได้ในราคาที่ถูกกว่าทีมระดับกลางของอังกฤษอย่าง นิวคาสเซิล และยังสามารถสร้างผลงานและความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่าการเดินหน้าของ อินเตอร์ มิลาน ในยุคของซูหนิงจะถูกฆ่าตัดตอนก่อนกำหนด แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นถึงช่องทางการลงทุนที่สดใส ขึ้นอยู่ว่าใครจะมือไวฉวยผลประโยชน์ตรงนี้ได้ก่อน
การเทคโอเวอร์ที่ตามมาเกิดขึ้นโดย แดน ฟรีดกิน มหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯ ที่เลือกซื้อสโมสรโรม่าในปี 2020 ที่ผ่านมา และในฤดูกาล 2021-22 ก็ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าทันทีด้วยการเห็นทีมหมาป่ากรุงโรมคว้าแชมป์ ยูฟ่า คอนเฟอเรนซ์ ลีก เป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์
ก่อนที่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา กลุ่มทุน RedBird Capital Partners ที่มีประสบการณ์ทำทีมและลีกกีฬามายาวนาน จะทำการเทคโอเวอร์ เอซี มิลาน ทีมแชมป์ลีก เซเรีย อา ทีมล่าสุดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า กลุ่มทุนจากนิวยอร์ก ซิตี้ จะมีแผนการอะไรบ้างที่จะยกระดับทีมปีศาจแดงดำไปอีกขั้น
การมีกลุ่มนักลงทุนทั้งจากสองมหาอำนาจขั้วตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจจากขั้วตะวันออกอย่าง จีน เป็นเจ้าของสโมสรในอิตาลี แสดงให้เห็นชัดเจนว่านักธุรกิจระดับโลกมองเห็นศักยภาพของการเติบโตในธุรกิจลูกหนังที่แดนอิตาลี และพวกเขาก็พร้อมที่จะลงทุนเพื่อพัฒนาลีกแห่งนี้ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นไปจนถึงการเติบโตทางการตลาดที่ยังเดินทางไปได้อีกไกล
แม้ว่าภาพของ เซเรีย อา ในฐานะลีกมหาอำนาจของวงการลูกหนังจะยังห่างไกล เพราะตอนนี้ก็ยังเป็นเพียงลีกอันดับ 4 ทางด้านมูลค่าของยุโรป แต่เราก็เห็นได้ชัดเจนว่า หน่ออ่อนของความรุ่งโรจน์ของฟุตบอลอิตาลีได้ถูกปลูกขึ้นแล้ว และหนทางของการเติบโตยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
น่าสนใจมากว่า กัลโช่ เซเรีย อา จะเติบโตไปได้ไกลแค่ไหนหลังจากนี้ ยังมีสโมสรอย่าง ลาซิโอ หรือ นาโปลี ที่รอคอยการเทคโอเวอร์เพื่อพาทีมกลับสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง หากถึงวันที่ลีกอิตาลีมีกลุ่มทุนมาลงทุนกับสโมสรมากหน้าหลายตา วันนั้นเราคงได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของวงการฟุตบอลอิตาลีที่จะถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง