sportpooltoday

ผ่าแทคติก “อันเชล็อตติ” ที่ปรับเปลี่ยนตามโลก แม้ผ่าน 20 ปี แต่ยังประสบความสำเร็จ


ผ่าแทคติก "อันเชล็อตติ" ที่ปรับเปลี่ยนตามโลก แม้ผ่าน 20 ปี แต่ยังประสบความสำเร็จ

หากจะหาใครสักคนที่เป็นส่วนสำคัญในการพาเรอัล มาดริด ครองตำแหน่งเจ้ายุโรปสมัยที่ 14 เขาย่อมเป็น “คาร์โล อันเชล็อตติ” บรมกุนซือชาวอิตาลี ที่ก้าวมาครองถ้วยยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นหนที่ 4 ในฐานะผู้จัดการทีม

ความน่าสนใจของอันเชล็อตติคือ เขาไม่ใช่กุนซือรุ่นใหม่ที่ประยุกต์แผนการเล่นจนสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ นายใหญ่วัย 62 ปี อยู่ในแวดวงการคุมทีมมายาวนานกว่า 20 ปี แต่กาลเวลาไม่เคยมีผลกับฝีมือของเขา เหมือนกับที่เราได้เห็นกันเมื่อคืนที่ผ่านมา

Main Stand จะพาไปทำความเข้าใจแทคติกของอันเชล็อตติ เพื่อศึกษาว่าเหตุใดความสามารถของกุนซือรายนี้จึงไม่เลือนหายตามกาลเวลา และสามารถพาทัพราชันชุดขาวก้าวเป็นราชาแห่งยุโรปทีมล่าสุด

ปรับแผนการเล่นตามศักยภาพของทีม

สิ่งหนึ่งที่ผู้คนรู้กันดีเกี่ยวกับ คาร์โล อันเชล็อตติ คือเขาไม่ใช่โค้ชที่มีความยืดหยุ่นทางแทคติกมากนัก ยอดกุนซือชาวอิตาลีรายนี้ชื่นชอบที่จะเห็นนักเตะเล่นอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนการที่วางไว้ในหัว มากกว่าจะปล่อยให้ลูกทีมลงไปสร้างสรรค์เกมรุกอย่างอิสระ 

1นี่คือเรื่องที่เด่นชัดตั้งแต่สมัยเขายังคุมปาร์ม่า หลังจากอันเชล็อตติบังคับให้ จานฟรังโก้ โซล่า และ ฮริสโต สตอยช์คอฟ เล่นในตำแหน่งที่เขาต้องการแม้นักเตะจะไม่ถนัด ซึ่งนำมาสู่การโบกมือลาปาร์ม่าของทั้งสองในภายหลัง

แต่จุดเด่นหนึ่งที่ผู้คนมักมองข้ามเกี่ยวกับแทคติกของอันเชล็อตติคือความสามารถในการสร้างแผนการเล่นให้เข้ากับทรัพยากรในทีมได้มากที่สุด 

อันเชล็อตติ โด่งดังขึ้นมาจากแผน 4-4-2 ตอนคุม ปาร์ม่า แต่หลังจากเข้ามาทำงานกับ ยูเวนตุส อันเชล็อตติปรับแผนการเล่นของตนเป็น 3-4-1-2 และเมื่อย้ายไปคุม เอซี มิลาน เขาเปลี่ยนไปใช้แผน 4-3-1-2, 4-1-2-1-2 หรือ 4-4-2 ไดมอนด์ แล้วแต่สถานการณ์จะอำนวย

2ความไม่ยืดหยุ่นในแทคติกของอันเชล็อตติมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ตัวเขาได้ทำการบ้านและศึกษานักเตะในทีมมาเป็นอย่างดี การออกแบบแผนการเล่นที่ตามมาหลังจากนั้นถือเป็นแทคติกที่อันเชล็อตติมั่นใจแล้วว่า “มีประสิทธิภาพมากที่สุด” กับศักยภาพของทีมในเวลานั้น การปล่อยให้นักเตะมีอิสระในการเล่นมากเกินไปจึงอาจเป็นการทำลายแผนการเล่นที่เขาออกแบบมาแล้ว

ความสำเร็จของอันเชล็อตติกับ เรอัล มาดริด ในฤดูกาล 2021-22 ไม่ใช่ข้อยกเว้น กุนซือชาวอิตาลีพลาดการคว้าตัวนักเตะชื่อดังหลายคนที่สโมสรต้องการในช่วงซัมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็น คีลิยัน เอ็มบัปเป้, เออร์ลิง ฮาลันด์ หรือ ปอล ป็อกบา ท่ามกลางปัญหาการยิงประตูที่ฝืดเคือง ซึ่งเป็นโจทย์ที่กุนซือคนใหม่ต้องแก้ไขโดยด่วน

อันเชล็อตติไม่ปล่อยให้ทรัพยากรในทีมที่จำกัดเข้ามาเป็นปัญหาในการทำทีม เขาเลือกใช้แผน 4-3-3 อันเป็นแทคติกยอดฮิตที่นิยมใช้กันทั่วไปในบรรดาทีมใหญ่ของโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน แต่ถ้ามองลงไปให้ละเอียดกว่านั้นอันเชล็อตติเข้าใจปัญหาในเกมรุกของทีมเป็นอย่างดี และแผน 4-3-3 ก็ตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้

3กุนซือชาวอิตาลีเข้าใจดีว่าการครองบอลเป็นเวลานานแล้วกดดันให้คู่ต่อสู้เกือบทั้งทีมตั้งรับลึกในกรอบเขตโทษ ไม่สร้างประโยชน์อะไรแก่เรอัล มาดริด อันเชล็อตติต้องการเกมบุกอันตรายที่สามารถทำประตูแม้จากการจับบอลเพียงครั้งเดียว เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของนักเตะในทีมแล้วว่าสามารถเปลี่ยนจังหวะอันน้อยนิดให้กลายเป็นประตูได้

แผน 4-3-3 ของอันเชล็อตติจึงถูกสร้างมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยทั้งทีมมีหน้าที่เล่นเกมรับและกดดันคู่แข่งให้เกิดความผิดพลาดจนนำมาสู่จังหวะสวนกลับ ซึ่งเขาจะใช้นักเตะหลัก ๆ เพียงสองคนเท่านั้นในการทำประตู นั่นคือ วินิซิอุส จูเนียร์ ที่เปี่ยมด้วยความเร็ว และ คาริม เบนเซม่า ที่สามารถจบสกอร์ได้ทุกรูปแบบ 

เมื่อบวกกับการสนับสนุนของกองหน้าตัวที่สาม ไม่ว่าจะเป็น โรดริโก้ หรือ มาร์โก อเซนซิโอ เพียงเท่านี้อันเชล็อตติก็สามารถแก้ไขปัญหาเกมรุกของเรอัล มาดริด ได้ทันที เขาเปลี่ยนเบนเซม่าที่ผู้คนเคยล้อว่าเป็นกองหน้าตัวรับให้กลายเป็นยอดเพชฌฆาตที่ยิงไป 27 ประตู แอสซิสต์ 12 ลูกในลีก ส่วน วินิซิอุส จูเนียร์ ยิง 17 ประตู แอสซิสต์ 13 ลูก เมื่อรวมทั้งฤดูกาล เรอัล มาดริด กดประตูในลา ลีกา ฤดูกาล 2021-22 ไป 80 ประตู โดยไม่ต้องซื้อกองหน้าใหม่แม้แต่คนเดียว

4นี่คือเครื่องยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า คาร์โล อันเชล็อตติ ประสบความสำเร็จมหาศาลกับเรอัล มาดริด ตั้งแต่ปีแรกได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะเขาเข้าใจศักยภาพของนักเตะที่มีอยู่ในทีม และสามารถสร้างสรรค์แผนการเล่นที่เหมาะสมกับขุมกำลังในมือได้มากที่สุด เหมือนกับที่เราได้เห็นจากความสำเร็จของเบนเซม่า-วินิซิอุส ในปัจจุบัน

อย่าทิ้งจุดแข็งของตัวเอง

แทคติกปัจจุบันของคาร์โล อันเชล็อตติ กับ เรอัล มาดริด มีพื้นฐานมาจากการแก้ไขปัญหาเกมรุกของทีมเป็นสำคัญ แต่ใช่ว่ากุนซือชาวอิตาลีจะนั่งปรับปรุงแผนการเล่นโดยพิจารณาแต่สถานการณ์ปัจจุบันจนลืมจุดแข็งของตัวเอง นั่นคือความแน่นอนในการเล่นฟุตบอลเกมรับ และการควบคุมเกมด้วยการครองบอลแบบง่าย ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ

หากใครยังจำกันได้ความสำเร็จของ เอซี มิลาน ในยุคอันเชล็อตติมีพื้นฐานมาจากเกมรับที่ไว้ใจได้ โดยเฉพาะแผงกองหลัง 4 คนที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่งในการเข้าปะทะ ซึ่งผู้เล่นเกมรับของปีศาจแดงดำในเวลานั้นไม่ต้องมากังวลเรื่องการสร้างสรรค์เกมจากแผงหลังเหมือนทุกวันนี้ เนื่องจากอันเชล็อตติได้เลือกใช้นักเตะอย่าง อันเดรีย ปีร์โล มาเป็นตัวสร้างสรรค์เกมในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับที่ยืนอยู่หน้าแนวรับเพียงนิดเดียว ส่งผลให้เหล่ากองหลังสามารถโฟกัสไปกับการป้องกันได้อย่างเต็มที่

5เมื่ออันเชล็อตติกลับมาทำงานกับ เรอัล มาดริด เป็นคำรบสอง เขาเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปภายใต้ปรัชญาเดิม กุนซือชาวอิตาลีออกคำสั่งให้กองกลางที่มีความสามารถในการจ่ายบอลและสร้างสรรค์เกมรุกอย่างเต็มที่ ทั้ง ลูก้า โมดริช และ โทนี่ โครส เล่นเกมรับอย่างเต็มที่เมื่อทีมต้องการ

กองกลางทุกคนของเรอัล มาดริด จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของแผนป้องกันเกมสวนกลับในการคุมพื้นที่ด้วยรูปแบบกรอบสี่เหลี่ยม ร่วมกับแนวรับที่ยืนอยู่ด้านหลัง และมีหลายครั้งที่เพลย์เมกเกอร์พรสวรรค์สูงทั้งสองต้องยืนตั้งรับลึกอย่างมีระเบียบวินัยเป็นแผง 3 คนหน้ากรอบเขตโทษ จนกลายสภาพเป็นแผงหลังที่สองของเรอัล มาดริด ในทันที

6

7เห็นได้ชัดว่า อันเชล็อตติ เข้าใจแผนการเล่นของตนเป็นอย่างดี เพราะในเมื่อหัวใจสำคัญในเกมรุกคือเกมสวนกลับหรือเกมรุกฉับไวที่เริ่มต้นจากนักเตะเพียงสองคน กองกลางจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการเล่นตามสถานการณ์ และต้องช่วยสนับสนุนเพื่อนร่วมทีมในการเล่นเกมรับ เพื่อก็บพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์เกมรุกเอาไว้ในจังหวะที่ต้องวางบอลยาวขึ้นหน้าเท่านั้น

นี่คือสูตรสำเร็จของฟุตบอลเกมรับที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอันเชล็อตติเข้าใจมันเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ เรอัล มาดริด จึงเป็นทีมใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องเพรสซิ่งอย่างดุดันเหมือนกับทีมใหญ่อื่นในโลกลูกหนัง เพราะอันเชล็อตติมีแผนการอื่นที่เขาถนัดมากกว่า และสำคัญคือ เขามั่นใจว่ามันจะได้ผล

แต่เมื่อใดก็ตามที่เรอัล มาดริด ต้องครองบอลเพื่อควบคุมเกม นักเตะราชันชุดขาวภายใต้คำบัญชาของอันเชล็อตติก็สามารถทำมันออกมาได้ดีเช่นเดียวกัน เพราะกุนซือชาวอิตาลีเข้าใจดีถึงความสำคัญในการครอบครองบอลที่จะช่วยในเรื่องบาลานซ์ในการเล่นเกมรุก-รับในแต่ละเกม ซึ่งจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ

8เรอัล มาดริด ในฤดูกาล 2021-22 จึงยังคงเป็นทีมที่มีค่าเฉลี่ยการครองบอลมากเป็นอันดับสองของลา ลีกา และยังเป็นทีมที่จ่ายบอลแม่นยำมากที่สุดในลีก ทั้งที่อาวุธหลักของพวกเขายังคงเป็นเกมสวนกลับ นี่แสดงให้เห็นว่าอันเชล็อตติยังคงไม่ทิ้งจุดเด่นการสร้างแผงกองกลางให้ครอบครองบอลอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องเล่นบอลหลายจังหวะต่อการจบสกอร์แต่ละครั้งแต่อย่างใด

ไม่ลืมพัฒนาศักยภาพรายบุคคล

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ คาร์โล อันเชล็อตติ ยังคงเป็นโค้ชที่ไม่ตกยุคและประสบความสำเร็จแม้อยู่ในวงการมานานกว่า 20 ปีแล้วคือความสามารถในการพัฒนาและดึงศักยภาพของนักเตะรายบุคคล ซึ่งนี่เป็นส่วนสำคัญที่กุนซือยุคใหม่หลายคนมองข้าม เนื่องจากไปให้ความสำคัญในรายละเอียดของแผนการเล่นภาพรวมมากเกินไป

อันเชล็อตติไม่เคยมองข้ามการพัฒนาฝีเท้าของนักเตะเป็นรายบุคคล เพราะอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่าเขาสร้างแผนการเล่นโดยอ้างอิงจากศักยภาพของนักเตะเป็นสำคัญ ดังนั้นแล้วหากนักเตะในทีมเก่งขึ้นแผนการเล่นของอันเชล็อตติก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

9ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ วินิซิอุส จูเนียร์ ปีกซ้ายที่มีความเร็วยอดเยี่ยมแต่มีจุดอ่อนในเรื่องการทำประตูและยังไม่ชำนาญการเล่นบอลในกรอบเขตโทษ อันเชล็อตติเข้าใจความจริงที่ดาวรุ่งรายนี้ยังขาดประสบการณ์ และยังคงต้องการเวลากับพื้นที่จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างสรรค์เกมรุกในแดนหน้า

อันเชล็อตติจึงไม่ลังเลที่จะมอบหมายให้วินิซิอุสลงมาเล่นบอลในตำแหน่งที่ต่ำลงกว่าเดิม เพื่อให้เขาได้มีเวลาและพื้นที่อย่างที่ตนเองถนัดและต้องการ เมื่อแข้งชาวบราซิลได้เล่นฟุตบอลอย่างใจเขาจึงมีความมั่นใจจนกล้าเล่นกล้าลุยในกรอบเขตโทษ บวกกับแบบแผนของอันเชล็อตติที่เปิดโอกาสให้เขาได้เล่นในจังหวะ 1-1 บ่อยครั้ง วินิซิอุสจึงตั้งใจพัฒนาทักษะการยิงประตูของตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่จบสกอร์ได้เฉียบขาดที่สุด

นักเตะอีกหนึ่งคนที่ได้รับการสนับสนุนจากอันเชล็อตติจนอดพูดถึงไม่ได้คือ คาริม เบนเซม่า ซึ่งถึงแม้จะเป็นนักเตะระดับท็อปของโลกและเป็นกำลังสำคัญของเรอัล มาดริด มานานแล้ว แต่ดาวยิงชาวฝรั่งเศสก็พัฒนาฝีเท้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุคของกุนซือชาวอิตาลี เมื่อเขาได้รับไฟเขียวให้เป็นนักเตะเพียงคนเดียวของทีมที่มีอิสระในการสร้างสรรค์เกม

10เบนเซม่าในร่างกึ่งเพลย์เมกเกอร์จึงมีสถิติที่ดีขึ้นมาในเรื่องของการจ่ายบอล เขาจึงสามารถทำ 12 แอสซิสต์ทั้งที่หน้าที่หลักของเขายังคงเป็นการจบสกอร์ ส่วนสถิติของเขาในส่วนของการจ่ายบอล ทั้ง การจ่ายบอลทั่วไป, คีย์พาส, การจ่ายบอลในกรอบเขตโทษ เบนเซม่าต่างมีสถิติที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของลีกทั้งหมด

การพัฒนาผลงานส่วนตัวของนักเตะจึงถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่มีส่วนทำให้แทคติกของอันเชล็อตติสมบูรณ์แบบ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันสะท้อนให้เห็นถึงการวางแผนมาเป็นอย่างดีในทุกองค์ประกอบของกุนซือชาวอิตาลี นั่นคือการสร้างแทคติกจากขุมกำลังที่มีโดยไม่ลืมที่จะยกระดับคุณภาพของนักเตะ และไม่เคยทิ้งจุดแข็งของตนแม้จะดัดแปลงแทคติกไปมากแค่ไหน

การสร้างสถิติเป็นผู้จัดการทีมคนแรกที่คว้าแชมป์ 5 ลีกใหญ่ในยุโรป และคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก มากที่สุดในประวัติศาสตร์ในวัย 62 จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันแสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมของเขาที่ยังคงรักษาความเก่งกาจและปรับรูปแบบการทำทีมของตนได้ตามกาลเวลา จนเขากลายเป็นผู้จัดการทีมดาวค้างฟ้าอยู่ในปัจจุบัน

11