ก่อน สตีฟ คูเปอร์ จะเข้ามารับงานคุมทีม น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในเดือนกันยายน 2021 สโมสรแห่งนี้แทบจะลืมนึกถึงเรื่องการเลื่อนชั้นไปแล้ว เพราะการตกไปอยู่โซนท้ายตารางในช่วง 10 เกมแรกของซีซั่น
แต่อย่างที่เรารู้กัน ตอนนี้ ฟอเรสต์ กลายเป็นทีมที่เพิ่งคว้าตั๋วใบสุดท้ายสำหรับการเลื่อนชั้นสู่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก หลังจากน็อกเอาต์ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ในเกมแชมเปี้ยนชิพ เพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ ได้สำเร็จ
ชื่อของ คูเปอร์ อาจจะถือว่าโนเนมไม่คุ้นหู แต่เรื่องราวของเขาไม่ธรรมดา.. อดีตนักเตะสหราชอาณาจักรที่ไม่เคยลงเล่นลีกอาชีพในอังกฤษเลยแม้แต่เกมเดียว, โค้ชผู้จบหลักสูตรโปรไลเซนส์ที่ยูฟ่ารับรองตั้งแต่อายุ 27 ปี, โค้ชลิเวอร์พูลชุดอคาเดมีที่ทำงานร่วมกับ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ รวมไปถึง ราฮีม สเตอร์ลิ่ง และโค้ชที่พาทีมชาติอังกฤษชุดยู-17 คว้าแชมป์โลก ก่อนจะมาลงเอยที่ทีมเจ้าป่าทีมนี้
นี่คือเรื่องราวการเดินทางของ สตีฟ คูเปอร์ ติดตามได้ที่ Main Stand
หาสิ่งที่ถนัด
สตีฟ คูเปอร์ แทบไม่มีประวัติในช่วงเวลาที่เขาเป็นนักฟุตบอลเลย หนุ่มชาวเวลส์รายนี้เป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวที่มีพ่อเป็นกรรมการฟุตบอลลีกของประเทศ
คูเปอร์ เริ่มต้นเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพกับ เร็กซ์แฮม สโมสรจากบ้านเกิดที่ลงทะเบียนแข่งขันในลีกอังกฤษ แต่ก็ไม่เคยได้ลงเล่นเลยแม้แต่เกมเดียว ความล้มเหลวนั้นทำให้เขาต้องกลับมาลงเล่นในลีกเวลส์บ้านเกิดที่มาตรฐานต่ำกว่ากับทีมอย่าง เดอะ นิว เซนต์ส, ริห์ล, บังกอร์ ซิตี้ ซึ่งช่วงที่อยู่กับ บังกอร์ ซิตี้ ระหว่างปี 2000-2002 นั่นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในอาชีพนักเตะของเขา เพราะได้ลงสนามต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปในช่วงที่อยู่กับทีมเร็กซ์แฮมอีกครั้ง คูเปอร์ เคยเคาะประตูห้องของ ไบรอัน ฟลินน์ ผู้จัดการทีมที่เซ็นสัญญาเขามาร่วมทัพ พร้อมระบายความอึดอัดใจที่ไม่ได้รับโอกาสลงสนามและถามว่า “โค้ชครับ ทุกอย่างไม่ค่อยเป็นไปด้วยดีเลย แต่ผมอยากอยู่กับฟุตบอลต่อไป”
ฟลินน์ย้อนความในตอนนั้นว่า “ตอนนั้นเขาอายุราว 20 ปีได้มั้ง เขามาถามเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา และผมก็ตอบเขาไปแบบตรงไปตรงมาเช่นกันว่า ‘ไอ้หนู เส้นทางต่อไปคือการเป็นโค้ช แต่เอ็งต้องมีไลเซนส์ก่อนนะ’ เอาเข้าจริงอายุ 20 ปีถือว่าน้อยมาก แต่นี่แหละเวลาที่เหมาะสมเลย”
คูเปอร์ นำคำชี้แนะของเจ้านายมาลงมือทำอย่างจริงจัง เริ่มเข้าเรียนโค้ชตามหลักสูตรลำดับขั้นต่างๆ จนกระทั่งตอนเขาอายุ 27 ปีก็จบหลักสูตรโปรไลเซนส์ขั้นสูงสุดของใบอนุญาตการเป็นโค้ชฟุตบอลได้สำเร็จ
เมื่อไม่ได้ลงเล่นแต่มีไลเซนส์อยู่ในมือ คูเปอร์จึงตัดสินใจขอโอกาสจากสโมสรเร็กซ์แฮมให้เขาได้เข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนทีมเยาวชนตั้งแต่ปี 1998 และแม้จะไม่ได้เป็นนักเตะของทีมตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา เร็กซ์แฮมก็ยังจ้างเขาต่อ ก่อนกลับมาทำทีมเต็มตัวหลังแขวนสตั๊ดในปี 2003 และเติบใหญ่จนกลายเป็นผู้อำนวยการทีมเยาวชน หรือถ้าใครเล่นเกม FM (Football Manager) ก็น่าจะเข้าใจกันในชื่อตำแหน่ง Head of Youth Development หน้าที่หลักๆ คือการคัดดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้าสู่อคาเดมีของสโมสร กระทั่งได้รับการจับตามองจาก ลิเวอร์พูล สโมสรดังของอังกฤษในปี 2008
แม้ตำแหน่งจะไม่ใหญ่เท่าเดิม แต่โอกาสกับทีมใหญ่ก็ทำให้เขารับข้อเสนอแบบไม่ลังเล ตำแหน่งงานแรกที่คูเปอร์ทำคือโค้ชทีมชุดยู-12 ก่อนที่จะได้ขยับตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงการเป็นเฮดโค้ชชุดยู-18 ที่เคยทำงานร่วมกับนักเตะอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ และ เคอร์ติส โจนส์
ช่วงเวลาที่ชื่อของ คูเปอร์ กำลังดังขึ้นมาในฐานะโค้ชดาวรุ่ง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ FA พยายามจะสร้างรากฐานเยาวชนใหม่พอดิบพอดี นั่นทำให้สมาคมเห็นแววและจ้างคูเปอร์เข้ามาทำทีมชาติชุดเยาวชนเมื่อปี 2014 โดยคุมทีมรุ่นอายุ 16 กับ 17 ปีที่ประกอบด้วยนักเตะดังระดับพรีเมียร์ลีก ณ ปัจจุบันอย่าง เจดอน ซานโช่, ฟิล โฟเดน, เอมิล สมิธ โรว์, คัลลัม ฮัดสัน โอดอย และอีกหลายๆคน ซึ่งเขาก็พาทีมชุดนั้นไปจนสุดทางด้วยการคว้าแชมป์โลกยู-17 ได้สำเร็จเมื่อปี 2017
คูเปอร์ คิดว่า ณ ตอนนั้นเขาพร้อมจะเป็นโค้ชทีมชุดใหญ่ของทีมไหนสักทีมแล้ว..
เชื่อมั่นในฐานข้อมูล
เรื่องราวของ คูเปอร์ ได้รับการกล่าวถึงเยอะมากในหมู่คนในของ FA ไม่ใช่แค่เรื่องของความสำเร็จแต่มันคือเรื่องของวิธีการทำงาน โดยหลักใหญ่ใจความของการทำงานในแบบของคูเปอร์คือ ต้องรู้เขารู้เรา เขาจะเข้าหานักเตะทุกคนและเปิดรับฟังความคิดเห็นและทุกคำแนะนำรวมถึงการขอคำปรึกษา เขาคิดว่ามันจำเป็นมากสำหรับการทำงานกับนักเตะอายุน้อย เพราะนักเตะเหล่านี้ต้องได้รับคำอธิบายอย่างละเอียดทั้งสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เรื่องแบบนี้คูเปอร์เป็นมานานแล้ว
“เขาเป็นผู้จัดการทีมที่ทุ่มเทที่สุดที่ผมเคยเจอมา ในแง่ของความกระหาย ความกระตือรือร้น พลังงาน ความกระฉับกระเฉงของเขา” เป๊ป เซกูรา หนึ่งในทีมงานเทคนิคของทีมเยาวชนของลิเวอร์พูลที่เคยทำงานกับคูเปอร์ เล่า
“ผมจำได้ในเกมนัดชิงเอฟเอ ยูธ คัพ กับ เชลซี (ฤดูกาล 2012-13) ผมโทรหาเขาและถามว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้าง สิ่งที่เขาตอบกลับคือ ‘เย็นนี้คุณมาหาผมที่ออฟฟิศด่วนเลย ผมมีอะไรจะให้คุณดู’ พอผมไปถึงเราสองคนนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ เขาเริ่มชี้ข้อมูลของเขาให้ผมดูและชี้ให้เห็นว่าเขาต้องการอะไรสำหรับเกมๆนี้ อะไรคือจุดอ่อนของคู่แข่ง ผมคิดว่าการเป็นคนแบบนี้แหละที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เขาอยากจะรู้ทุกสถานการณ์และทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับทีมของเขา”
จากสิ่งที่กล่าวมายังสะท้อนถึงการทำงานระดับ “ทีมชุดใหญ่” ครั้งแรกของเขากับ สวอนซี สโมสรที่มีปัญหาเรื่องการเงินและขายนักเตะดังของทีมอย่าง แดน เจมส์ ไปให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, โจ โรดอน ให้ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ และ โอลิเวอร์ แมคเบอร์นี่ ให้กับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เพื่อปลดหนี้ โดยในปี 2019 ที่คูเปอร์มารับงาน เขาแทบไม่มีเงินซื้อนักเตะเลย มีแต่การขายออกไปเพื่อพยุงการเงินของสโมสรและไปเน้นที่การยืมตัว โดยเฉพาะดาวรุ่งจากทีมใหญ่ที่คูเปอร์เคยดูแลในทีมชาติ อย่าง มาร์ค เกฮี กับ คอเนอร์ กัลลาเกอร์ จาก เชลซี และ ริอาน บรูว์สเตอร์ จาก ลิเวอร์พูล
แต่สิ่งที่คูเปอร์ทำคือการปรับวิธีการเล่นให้เหมาะกับนักเตะที่มี นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ในตอนแรกแฟนสวอนซีไม่ชอบวิธีการของเขาเลย เพราะคูเปอร์นั้นไม่ได้เน้นเกมบุกมากนักเหมือนกับสวอนซียุค เบรนแดน ร็อดเจอร์ส และ ไมเคิล เลาดรูป ที่แฟนบอลยังคงติดภาพจำอยู่
อย่างไรก็ตาม การประคองตัวและเล่นแบบระมัดระวังคือไพ่เด็ดที่ทำให้สวอนซีคว้าตั๋วเพลย์ออฟในฤดูกาล 2019-20 เพราะแม้เกมรุกจะยิงได้ไม่เยอะ แต่เกมรับก็เข้ามาทดแทนด้วยการเป็นทีมที่เสียประตูน้อยที่สุดเป็นอันดับ 7 ของลีก จนเข้าป้ายอันดับ 6 ของตาราง แม้จะต้องแพ้ เบรนท์ฟอร์ด ในรอบเพลย์ออฟ แต่ปีนั้นสวอนซีก็มาไกลเกินคาด
ขณะที่ต่อมาในฤดูกาล 2020-21 เขาก็ใช้เงินเสริมทัพแค่ 1 ล้านปอนด์ และเน้นไปที่การยืมตัวนักเตะดาวรุ่งจากทีมใหญ่มาใช้งานเป็นหลักอีกเช่นเคย เกมรับยังคงเป็นหัวใจหลักของทีมชุดนี้ เพราะพวกเขาเสียประตูน้อยที่สุดอันดับ 3 ของลีก ก่อนที่คูเปอร์จะพาทีมจบอันดับ 4 ลงเล่นเกมเพลย์ออฟถึงนัดชิงชนะเลิศ และแพ้ เบรนท์ฟอร์ด โจทก์เก่าไปอีกครั้ง
แฟนบอลของสวอนซีและบอร์ดบริหารรู้สึกไม่พอใจกับการเพลย์ออฟ 2 ปีซ้อนแต่ก็พลาดทุกครั้ง เริ่มมีการกดดันให้ปลดคูเปอร์ออกจากตำแหน่งทั้งๆที่ 2 ปีที่ผ่านมาทีมเสียตัวหลักไปถึง 4 คน และใช้เงินเสริมนักเตะกลับมาเพียง 1 ล้านปอนด์เท่านั้น.. บางทีพวกเขาก็อาจจะต้องการอะไรที่มากเกินไป
“แฟนบอลของสวอนซีติดอยู่กับเรื่องแนวทางการเล่นแบบ สวอนซี เวย์ ผมคิดว่าคูเปอร์ทำได้ดีมากๆแล้วที่นั่น การได้เพลย์ออฟ 2 ครั้งคือความก้าวหน้าของทีมทีมนี้ที่หลายคนหลงลืมไป ผมเองก็ยังไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้ว่าทำไมเขาถึงไม่ได้รับความรักจากแฟนๆของสวอนซีในแบบที่สมควร งบประมาณเท่านั้น นักเตะคุณภาพเท่าที่เขามี ถ้าคุณคำนวณจากสิ่งดังกล่าวและมาดูที่ผลลัพธ์ ผมเชื่อเลยว่าคูเปอร์ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดแน่นอน” นาธาน เบลค อดีตกองหน้าทีมชาติเวลส์ กล่าวกับ BBC
คูเปอร์ ตัดสินใจเข้าพบกับบอร์ดบริหารหลังการแพ้เพลย์ในออฟนัดชิงปี 2021 ผลสรุปคือสโมสรและเขามีมุมมองที่ไม่ตรงกัน แม้จะเหลือสัญญากับทีมอีก 1 ปี แต่คูเปอร์ยอมรับข้อตกลงในการยกเลิกสัญญาที่เหลืออยู่โดยไม่รับเงินชดเชย และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน การเดินทางใหม่ของเขาที่น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ก็เริ่มขึ้น
ปลุกเจ้าป่า
สถานการณ์ที่ ฟอเรสต์ ก่อนที่คูเปอร์จะมาคุมทีมนั้นเรียกได้ว่าหนักหนาสาหัส สโมสรแห่งนี้มีปัญหาหมักหมมมาอย่างยาวนาน พวกเขาเคยเป็นแชมป์ยุโรป 2 สมัยแต่ต้องมาตกชั้นในลีกรองกว่า 20 ปี เปลี่ยนเฮดโค้ชมาแล้วถึง 19 คน ความผิดพลาดส่วนใหญ่เกิดจากการพยายามเลื่อนชั้นด้วยการทุ่มเงินค่าตัวและค่าเหนื่อยให้กับนักเตะที่เข้ามาแล้วเล่นไม่ได้อย่างที่หวังปีแล้วปีเล่า จนทีมต้องเปลี่ยนเจ้าของไป 3 รอบนับตั้งแต่ปี 1999 เนื่องจากปัญหาการเงิน และไม่สามารถเลื่อนชั้นได้สักที
ก่อนที่คูเปอร์จะมาก็เช่นกัน พวกเขาจ้างโค้ชดีกรีพรีเมียร์ลีกอย่าง คริส ฮิวจ์ตัน ที่เคยคุม นิวคาสเซิล และ ไบรท์ตัน ด้วยค่าเหนื่อยระดับท็อปของ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ แต่ปัญหาก็คือยิ่งเล่นกลับยิ่งแย่ ผ่านไป 10 เกมแรกของซีซั่น ฮิวจ์ตันทำทีมตกมาอยู่อันดับ 20 ของตารางคะแนน แน่นอนว่าเมื่อคูเปอร์เข้ามา เขาไม่เคยพูดว่าจะพาทีมเลื่อนชั้น แต่จากนี้ไปจะเป็นการโฟกัสแบบเกมต่อเกมเท่านั้น
“ผมยังไม่ยอมแพ้อะไรทั้งนั้น เร็วเกินไปที่จะตัดสินพวกเรา เรามีเกมอีกมากให้เล่น และมันจะเริ่มในเกมต่อไป” คูเปอร์ กล่าวก่อนเริ่มงาน
ส่วนการซ้อม ทุกคนก็จะต้องยอมรับสิ่งที่เขาสอน และถ้าใครไม่เข้าใจ เขาจะอธิบายอย่างละเอียดว่าทำไมเขาจึงต้องการแบบนั้น แม้ว่าคูเปอร์จะทำงานร่วมกับนักเตะเด็กๆได้ดี แต่เมื่อมารับงานใหญ่ เขาก็ซื้อใจนักเตะตัวเก๋าของทีมได้เช่นกัน
วิธีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นคือปัจจัยสำคัญ ไม่ใช่แค่พูดว่า “ต้องชนะ” แต่เป็นการลงมือทำ ลองมือหาข้อมูลหาวิธีเอาชนะ และซักซ้อมจนเกิดความชำนาญ นี่คือวิธีการทำงานของคูเปอร์ ในมุมมองของ สตีฟ คุก ปราการหลังตัวเก๋าของทีม
“สตีฟเป็นโค้ชที่สุดยอดมาก แข็งกร้าวแต่ก็มีความเป็นธรรมชาติ เขาเก่งมากเรื่องการทำงานร่วมกับเด็กๆ ในทุกๆการซ้อม เขาจะจริงจังมาก คุณไม่อยากมีปัญหากับเขาแน่ แค่คุณจ่ายบอลผิด รับรองว่าเขาจะวิ่งจี้เข้ามาหาคุณแบบส่วนตัวเลย นี่คือโค้ชที่ฉลาดและพูดในสิ่งที่คุณอยากจะฟัง เขาใช้เวลาสอนแบบละเอียดตรงไปตรงมา เน้นย้ำเรื่องแทคติกและกลยุทธ์ ถ้าเชื่อเขา ทีมก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในเกมได้จริงๆ” สตีฟ คุก ปราการหลังตัวเก๋าของทีมเล่า
เมื่อเขาเข้ามา ฟอเรสต์ ก็เปลี่ยนไปเป็นคนละทีม 4 เดือนหลังจากรับงาน คูเปอร์พาทีมแพ้เพียงแค่เกมเดียวเท่านั้นในการเจอกับ ฟูแล่ม ที่เหลือก็เป็นการเก็บแต้มแบบที่ควรจะได้ ชนะเมื่อเจอทีมที่อ่อนกว่า และได้ผลเสมอในเกมยากๆ จาก 18 เกม ฟอเรสต์แพ้แค่ 1 นัด โดยพื้นฐานของทีมยังคงเป็นเกมรับเหมือนเดิม
“งานของเราได้ทำสำเร็จไปทีละขั้น ผมพยายามให้ลูกทีมอยู่กับปัจจุบันและมองกันแบบเกมต่อเกม แต่พอเราเริ่มชนะ ผมค่อนข้างระแวงกับอิทธิพลของสื่อ พวกเขาเริ่มจะยกยอและนั่นอาจจะทำให้นักเตะอายุน้อยเริ่มสูญเสียโฟกัสไปบ้าง แต่ช่างเถอะ สิ่งที่ผมพูดกับนักเตะของผมเสมอคือคำว่า ‘เกมต่อไป’ ในทุกๆสัปดาห์”
“ผมพยายามไม่ให้พวกเขามองไปที่ตารางคะแนนและจริงจังกับตรงนั้นมากนัก เพราะแม้สถิติจะดี เก็บแต้มได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีอีกหลายทีมที่ทำได้ดีไม่แพ้กัน และนั่นอาจจะทำให้มันดูเหมือนกับว่าเราไม่ไปไหนเลย” คูเปอร์ กล่าวถึงการรักษาสมาธิของลูกทีมของเขา
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตารางก็เริ่มขยับชัดขึ้น จากทีมอันดับ 20 ฟอเรสต์ขึ้นมายืนในท็อป 10 จากนั้นก็เข้าสู่ท็อป 6 ที่มีตั๋วเพลย์ออฟเป็นเดิมพัน ตอนนี้มันคือความมั่นใจที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับการขยับของตัวเลข
“หลังคริสต์มาส น่าจะช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคม เรารักษาฟอร์มของเราไว้ จากนั้นก็ติด 10 อันดับแรก และไปถึง 6 อันดับแรก เรารู้ว่าเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่สำคัญมากๆ เพราะมันคือโค้งสุดท้ายแล้ว แต่พวกเราก็อยู่กับความจริงและไม่สูญเสียสิ่งที่ได้ซักซ้อมกันมา 8 เกมในเดือนเมษายนเราชนะ 7 และแพ้ให้ ลูตัน เกมเดียวเท่านั้น”
“มันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องทำงานหนักและยุ่งมาก แต่เมื่อความมั่นใจเกิดขึ้นทุกคนจึงสนุกกับงานที่ต้องทำ กลายเป็นว่าทีนี้เราก็แทบไม่ได้คิดถึงเพลย์ออฟแล้ว เราคิดถึงการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติเลยด้วยซ้ำ จิตใต้สำนึกในขณะนั้นพยายามจะไปให้ถึงการเลื่อนชั้นโดยอัตโนมัติ” คูเปอร์ กล่าว
ที่สุดแล้ว ฟอเรสต์ ได้แค่อันดับที่ 4 และต้องเล่นเพลย์ออฟเท่านั้น แต่อย่างที่เราทราบกัน การเพลย์ออฟของพวกเขาผ่านไปได้ด้วยดี พวกเขาเอาชนะ เชฟฯ ยูไนเต็ด ในรอบรองด้วยการดวลจุดโทษ ก่อนจะปิดฉากในนัดชิงด้วยการเอาชนะ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ที่เวมบลีย์
การที่เคยแพ้ในเพลย์ออฟถึง 2 ปีติดต่อกันของคูเปอร์สมัยอยู่กับ สวอนซี ทำให้เขามีประสบการณ์ในนัดชิงชนะเลิศเกมนี้ งานที่เขาพยายามทำมาหลายปีได้ถูกประทับตราด้วยคำว่าความสำเร็จ การสร้างทีมด้วยนักเตะที่เข้าใจถึงเป้าหมาย การควบคุมทีมให้เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน และการบริหารทีมจากงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ยเพื่อให้เจอวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด
การเลื่อนชั้นครั้งนี้หมายความว่า ฟอเรสต์ จะได้เงินสนับสนุนมากกว่า 100 ล้านปอนด์ในอีก 1 ปีต่อจากนี้ ตัวเลขอันมหาศาลจะเป็นบททดสอบใหม่ของเขา จากนี้ไปทีมจะมีงบเสริมทัพ และทีมจะต้องยกมาตรฐานให้สูงขึ้นจากเดิมให้ได้ มีโค้ชหลายคนที่ทำได้ดีแค่ในลีกรองเท่านั้น แต่ไม่สามารถก้าวไปเป็นโค้ชที่ได้รับการยอมรับในลีกสูงสุดได้
ในวัย 42 ปี เขาเป็นกุนซือคนหนุ่มที่กำลังไปถึงจุดที่โค้ชหลายคนฝัน น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ของ สตีฟ คูเปอร์ จะดำเนินไปทิศทางไหน เล่นแบบไหน เราคงจะได้เห็นกันชัดๆในซีซั่นหน้าอย่างแน่นอน