ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการแข่งขันฟุตบอลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบโกลไลน์ หรือล่าสุดอย่าง VAR หรือวิดีโอช่วยตัดสินที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในลีกดัง
แน่นอนว่าขีดจำกัดของเทคโนโลยีไม่ได้มีแค่นี้ มันยังไปไกลถึงการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เล่น หนึ่งในนั้นคือ RoboKeeper หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูจอมเซฟจุดโทษ ที่เคยทำให้ ลิโอเนล เมสซี่, เนย์มาร์ หรือ โรนัลดินโญ่ ต้องเหนื่อยมาแล้ว
มันทำได้อย่างไร? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูที่เร็วที่สุดในโลก
การยิงจุดโทษ นอกจากความสามารถแล้ว สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือหัวใจที่เด็ดเดี่ยว เพราะไม่ว่าคนยิงหรือคนรับ การต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันจากจุด 11 เมตรไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน
แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ RoboKeeper หุ่นยนต์ผู้รักษาประตู ที่พัฒนาโดย Fraunhofer Institute of Material Flow and Logistics จากประเทศเยอรมนี ที่นอกจากมันจะไม่รู้สึกประหม่าแล้วยังสามารถเอาชนะคู่แข่งที่อยู่ตรงหน้าได้เป็นส่วนใหญ่
จุดเริ่มต้นของผู้รักษาประตูรายนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2005 เมื่อทางสถาบันฯ พยายามคิดค้นหุ่นยนต์หยุดลูกโทษ ซึ่งอ้างอิงมาจากการแข่งขันฟุตบอลจริงๆ แต่มีการปรับรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ระยะจากลูกโทษถึงโกลจาก 11 เมตรให้ลดเหลือเพียง 9 เมตร หรือขนาดของประตูที่มีขนาด 2×4 เมตร
ส่วนตัวผู้รักษาประตูจะมีลักษณะเป็นแผ่นรูปนายทวารพุ่งสุดเหยียดที่ยึดไว้ด้วยมอเตอร์ ที่ทำให้มันสามารถเคลื่อนที่เป็นครึ่งวงกลม จนดูเหมือนเป็นผู้รักษาประตูที่กำลังพุ่งตัวไปเซฟบอลตามมุมต่างๆของประตู
“เป้าหมายในการพัฒนาคือเพื่อหยุดลูกบอลในระดับที่ไว้ใจได้ แม้ว่าจะเตะด้วยความเร็วถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและเป็นลูกเรียดมุมซ้ายหรือขวาล่างของประตูก็ตาม” โธมัส อัลเบรชต์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Fraunhofer IML อธิบาย
“สิ่งนี้สอดคล้องกับระยะเหยียดตัวสูงสุดของผู้รักษาประตูที่เป็นมนุษย์ตอนที่ยืนตรงกลางประตูเพื่อรับบอลที่เตะเข้ามา โดยปกติแล้ว ความเร็วของลูกบอลตอนลอยอยู่ในอากาศอย่างสมบูรณ์จะอยู่ที่ 0.36 วินาทีหรือน้อยกว่านั้นเล็กน้อย เพราะบอลไม่สามารถเร่งความเร็วจาก 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในฉับพลัน”
“วิถีที่น่าจะเป็นไปได้ของบอลในช่วงเวลานี้และตำแหน่งที่จะบินไปถึงของผู้รักษาประตูจึงต้องคาดการณ์ล่วงหน้าและเคลื่อนที่ไปอย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงขั้นตอนการเร่งความเร็วของมอเตอร์และการเบรก ทั้งหมดจะต้องครบถ้วนเพื่อป้องกันประตู”
RoboKeeper เวอร์ชั่น 1.0 เปิดตัวครั้งแรกที่ดอร์ทมุนด์ในปี 2007 ซึ่งสร้างความฮือฮาไม่น้อย หลังสามารถปัดลูกยิงของเหล่านักเตะ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่มาท้าประลองได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะยิงแรงแค่ไหนก็ตาม
หลังจากนั้น หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูตัวนี้ก็ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ผู้พัฒนาอ้างว่านี่คือ “หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูที่เร็วที่สุดในโลก” และทำให้การส่งบอลผ่านมือของมันต้องกลายเป็นเรื่องปวดหัว
ไม่เว้นแม้แต่นักเตะระดับโลก ..
แข้งเวิลด์คลาสเหงื่อตก
แม้ RoboKeeper จะปรากฏตัวในที่สาธารณะมาตั้งแต่ปี 2007 แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก เมื่อส่วนใหญ่มันมักจะอยู่ในอีเวนต์ฟุตบอลในประเทศเยอรมนี ในฐานะส่วนหนึ่งของแฟนโซน
จนกระทั่งในปี 2013 มันก็เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น หลังจากรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นได้นำ RoboKeeper มาทำภารกิจ “นักฟุตบอล VS หุ่นยนต์” ที่เชิญชวนนักเตะอาชีพมาแข่งยิงจุดโทษกับเครื่องจักรกลสัญชาติเยอรมันตัวนี้
หนึ่งในนั้นคือ ลิโอเนล เมสซี่ ดาวเตะระดับโลกชาวอาร์เจนตินา ที่ตอนนั้นค้าแข้งอยู่กับ บาร์เซโลน่า โดยตามกติกา เขาจะมีโอกาสเตะทั้งหมด 3 ครั้ง และต้องการเพียงแค่ลูกเดียว เพราะเหล่านักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่เข้าร่วมภารกิจนี้ยังไม่มีคนไหนยิงผ่านมือมันได้เลย
“คิดว่ามันคงจะยากจริงๆ” เมสซี่ บอกกับสตาฟฟ์ของรายการก่อนยิง
และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เพราะในการยิงลูกแรก แม้ว่านักเตะเจ้าของตำแหน่งบัลลงดอร์ 7 สมัยจะยิงไปเรียดไปทางซ้ายล่างของโกล แต่มันก็ยังสามารถล้มตัวปัดออกไปได้ แถมลูกที่สองก็ยังไม่เข้าเป้าหลังถูกปัดไปชนเสา
ทำให้การยิงครั้งที่ 3 เมสซี่ต้องงัดอาวุธทั้งหมดที่มีออกมาใช้ ก่อนจะตัดสินใจยิงบอลเต็มแรงไปทางมุมขวาบนของ RoboKeeper ซึ่งมันก็ยังไปได้ทัน ทว่าด้วยความเร็ว 133 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำให้ลูกบอลปลิ้นเข้าประตูไป
หลังจากนั้น ทางรายการให้เขาลองยิงอีกครั้ง และครั้งนี้เมสซี่ก็ใช้วิธีใหม่ด้วยการหลอกหน้าเท้าว่าจะยิงไปทางขวาแต่เปลี่ยนมาเป็นมุมซ้ายล่างเต็มแรง ซึ่งทำให้ RoboKeeper ชะงักจนพุ่งเซฟไม่ทันจนบอลเสียบมุมเข้าประตูไป
เมสซี่ ไม่ใช่นักเตะระดับเวิลด์คลาสเพียงคนเดียวที่ต้องเหงื่อตกกับการเผชิญหน้ากับ RoboKeeper เมื่อ เนย์มาร์ อดีตเพื่อนร่วมทีมบาร์เซโลน่าของเขาที่ตอนนี้เล่นอยู่กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ด้วยกันก็เจอกับสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันในภารกิจของรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่น
เพราะ 2 ลูกแรกแม้จะยิงเข้ามุมแค่ไหน แต่หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูก็เซฟไว้ได้ทั้งหมด จนทำให้เนย์มาร์พูดออกมาว่า “ยากอ่ะ” จนสุดท้ายเขาต้องงัดท่าไม้ตายด้วยการยิงสุดแรงที่ความเร็ว 131 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กว่าที่ลูกจะมุดตาข่ายเข้าไปได้
“ยากครับ แต่ก็สนุกมาก สนุกมากจริงๆ แต่มันยังจะยากได้กว่านี้อีกหรือ?” เนย์มาร์ ตอบคำถามของทีมงานที่ถามว่า ถ้า RoboKeeper พัฒนาขึ้นคิดว่าจะยากกว่านี้อีกไหม?
แต่ทั้งคู่อาจจะโชคดีกว่า อองตวน กรีซมันน์ และ โรนัลดินโญ่ ที่ไม่สามารถส่งบอลผ่านมือ RoboKeeper ได้เลยแม้แต่ลูกเดียวไม่ว่าจะยิงแรงหรือเข้ามุมแค่ไหน โดยเฉพาะรายหลังที่ยิงจนท้อต่อหน้าผู้คนที่จัตุรัสแดง ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย
อะไรที่อยู่เบื้องหลังความเก่งกาจของหุ่นยนต์ผู้รักษาประตูตัวนี้? ..
ระบบประมวลภาพอัจฉริยะ
สายตาที่ว่องไว เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับยอดผู้รักษาประตูเพื่อให้สามารถรับมือลูกยิงในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ต่างจาก RoboKeeper ที่นักพัฒนาจาก Fraunhofer IML ใช้ระบบ fast imaging ทำหน้าที่แทน “ตา” ของมัน
โดยพวกเขาจะติดกล้องไว้สองตัวเหนือปากประตู เอาไว้ติดตามทุกการเคลื่อนไหวของลูกบอล ซึ่งมีสีที่แตกต่างจากสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างชัดเจน
เมื่อลูกบอลถูกเตะออกมา กล้องทั้งสองตัวจะถ่ายภาพด้วยความเร็วถึง 90 ภาพต่อวินาที แล้วส่งข้อมูลไปยังซอฟต์แวร์เพื่อประมวลผลในการคำนวณว่าบอลจะมาถึงประตูตอนไหน จากนั้นมันก็จะส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปยังตัวควบคุมมอเตอร์เพื่อบังคับให้หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องไปป้องกันประตู
“มันเป็นผู้รักษาประตูหุ่นยนต์ และการเคลื่อนที่ก็ต่างจากการเคลื่อนที่ของมนุษย์เล็กน้อย ตาของมันเป็นกล้องความเร็วสูงที่ถ่ายภาพได้ถึง 90 ภาพต่อวินาที” มาร์ก แลงทรี หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ศูนย์วิทยาศาสต์แห่งชาติไอร์แลนด์กล่าวกับ Irish Sun
“มันสามารถมองเห็นบอลและแยกความแตกต่างจากพื้นหลัง นั่นคือทำไมบอลต้องเป็นสีส้ม มันสามารถบอกได้ว่าบอลจะมาจากไหนโดยเทียบจากพื้นหลัง”
“เมื่อคุณเตะลูกโทษ มันจะถ่ายภาพด้วยความเร็ว 90 ภาพต่อวินาที ส่งรูปไปยังซอฟต์แวร์ประมวลผล และทำให้มันสามารถคำนวณวิถีของบอลได้”
“เมื่อรู้มุมแล้ว มันจะส่งข้อมูลไปยังกลไกการขับเคลื่อนผู้รักษาประตู ซึ่งทำให้ RoboKeeper เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อเซฟบอล”
นอกจากนี้ พวกเขายังใช้กระปุกเกียร์คุณภาพสูงที่ทำให้ RoboKeeper ใช้เวลาเพียงแค่ 0.36 วินาทีเพื่อไปถึงจุดที่คำนวณไว้ ทำให้แม้ว่าผู้เล่นจะยิงบอลออกมาด้วยความเร็วกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูตัวนี้ก็ยังสามารถพุ่งไปเซฟได้ทัน
“ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาแค่เสี้ยววินาที เร็วกว่าที่คุณเตะบอลหรือผู้รักษาประตูมนุษย์จะเคลื่อนที่ได้” แลงทรี อธิบายต่อ
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมแม้แต่นักเตะระดับโลกยังต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเอาชนะหุ่นยนต์ผู้รักษาประตูรายนี้ เพราะมันไม่ใช่งานง่ายและไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวัง
“เนย์มาร์และเมสซี่ต่างพยายามเอาชนะ RoboKeeper และก็ล้มเหลว (ในตอนแรก) มันมีวิดีโอเป็นหลักฐาน ดังนั้น คุณจะเห็นว่ามันยากแค่ไหนที่จะเอาชนะมันได้” แลงทรี กล่าว
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะไม่มีวิธีเอาชนะมันได้เลย ..
เป็นไปได้ยาก ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้
แม้ว่าการยิงบอลผ่านมือ RoboKeeper จะเป็นเรื่องน่าปวดหัว แต่ใช่ว่าหุ่นยนต์ผู้รักษาประตูตัวนี้จะไม่มีจุดอ่อน ซึ่งไม่ต่างจากโกลที่เป็นมนุษย์ นั่นคือมุมขวาบนหรือที่เรียกกันว่า “สามเหลี่ยม” ซึ่งเป็นมุมที่รับยากที่สุด
“การยิงบอลด้วยความเร็วไปที่มุมเป็นเรื่องยาก แม้กระทั่งกับนักเตะระดับท็อปของโลก มันเป็นไปได้อย่างที่เห็น มัน (หุ่นยนต์) ไม่สามารถไปถึงมุมนั้นได้ แต่มันก็เป็นไปได้ยากมากที่จะยิงแบบนั้น” แลงทรี กล่าวกับ Irish Sun
ทว่านี่ไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่จะเอาชนะ RoboKeeper ได้ เพราะผู้เล่นยังต้องเตะบอลด้วยความแรงเหมือนกับที่เมสซี่ยิงด้วยความเร็ว 133 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ เนย์มาร์ ที่ความเร็ว 131 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กว่าที่จะส่งลูกไปกองที่ก้นตาข่ายได้สำเร็จ
“ถ้าเราเตะบอล ว่ากันว่าความเร็วเฉลี่ยของลูกโทษจะอยู่ที่ 100 กิโลเมตร ที่จะใช้เวลาราว 0.4 วินาทีก่อนที่บอลจะกระทบตาข่าย แต่ผู้รักษาประตูหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วกว่านั้น” แลงทรี กล่าวต่อ
“ดังนั้นจึงไม่เป็นไรหากจะเพิ่มความเร็วขึ้นมาถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การประมวลผล การส่งข้อมูล และการเคลื่อนที่ของ RoboKeeper เกิดขึ้นเร็วมาก เร็วกว่าสิ่งนั้น”
“มันจะพุ่งไปเซฟลูกยิงของคุณได้เสมอ นอกเหนือจากข้อจำกัดทางกายภาพของตัวเองที่คล้ายกับผู้รักษาประตูที่เป็นมนุษย์”
นั่นจึงทำให้เห็นว่าการจะยิงบอลผ่าน RoboKeeper นั้นยากแค่ไหน เพราะนอกจากจะ “ยิงแม่น” แล้ว ยังต้อง “เท้าหนัก” อีกด้วย ซึ่งอาจจะมีผู้เล่นเพียงหยิบมือในโลกที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสองข้อนี้ และทำให้มันกลายเป็นโกลสุดเหนียวแห่งยุค
“คุณจะเห็นว่ามันไม่สามารถไปถึงมุมบนได้ แต่แกนหมุนของมันเคลื่อนที่ได้เร็วจริงๆ เร็วขนาดไหนน่ะหรือ? ก็เป็นอัตราเร่งที่มากกว่ารถฟอร์มูลาวัน มันเร็วกว่ารถ F1 ถึง 20 เท่า” นักวิทยาศาสตร์ชาวไอริช อธิบาย
“ดังนั้น ไม่ว่าจะเตะบอลด้วยความเร็วแค่ไหน มันก็สามารถเซฟได้ มุมบนทั้งสองมุมจึงเป็นจุดที่สามารถทำประตูได้เหมือนกับผู้รักษาประตูที่เป็นมนุษย์”
ไม่ใช่เจ้าเดียวในตลาด
หลังปรากฏตัวในที่สาธารณะได้ไม่นาน RoboKeeper ก็มีคู่แฝดจากบริษัทอื่นคลานตามกันมา ไม่ว่าจะเป็น Rocket Robot Goalkeeper จากรัสเซีย หรือ RefleX – The Robo Keeper และ iRoboGoalie จากอินเดีย ที่ต่างใช้หลักการและเทคโนโลยีที่คล้ายกัน
แต่ที่น่าสนใจคือ เทปเปกิคุง จากบริษัท Air Digital ของญี่ปุ่น ที่ไม่ได้เด่นด้วยความโหดของมันแต่เป็นที่คอนเซ็ปต์ มันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก วาคาบายาชิ เกนโซ ผู้รักษาประตูจอมหนึบจากเรื่องกัปตันสึบาสะ ทางผู้ผลิตได้พัฒนาตัวต้นแบบเสร็จสิ้นเมื่อปี 2015 โดยตั้งชื่อว่า “S.G.R.G.K.” หรือ “Super Great Robo Goalkeeper” ที่เลียนแบบมาจาก S.G.G.K. (Super Great Goalkeeper) ฉายาของวาคาบายาชิ
S.G.R.G.K เปิดตัวครั้งแรกในงาน Captain Tsubasa Fans Festa เมื่อปี 2015 โดยใช้รูปของวาคาบายาชิมาเป็นตัวผู้รักษาประตู รวมถึงให้อาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ได้ลองยิง ซึ่งมันก็ป้องกันไว้ได้ทั้งหมด
หลังจากนั้น Air Digital ก็ได้ต่อยอดและพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2022 โดยตั้งชื่อว่า เท็ปเปกิคุง ที่แปลว่ากำแพงเหล็กในภาษาญี่ปุ่น และได้เปิดตัวในฐานะเครื่องเล่นในศูนย์กีฬาดิจิทัล Sports 60 & Smart ที่เมืองคูกิ จังหวัดไซตามะ
ทางผู้ผลิตกล่าวว่า หุ่นยนต์ผู้รักษาประตูของพวกเขาแตกต่างจากเจ้าอื่น ด้วยขนาดที่กะทัดรัดและสามารถติดตั้งได้ง่าย และที่สำคัญมันมาพร้อมกับฟังก์ชั่นมากมาย ทั้งสามารถปรับระดับความยากง่ายเพื่อไม่ให้คนยิงท้อเสียก่อน ไปจนถึงปรับระดับอัตโนมัติโดยวิเคราะห์จากการยิงของผู้เล่น
ขณะเดียวกัน มันยังมาพร้อมกับกล้องที่เอาไว้วัดความเร็วของลูกบอลขณะยิงประตูและบันทึกวิดีโอย้อนหลัง รวมไปถึงระบบป้องกันความปลอดภัยที่ตัวเทปเปกิคุงจะไม่ขยับ หากมีคนอยู่ใกล้กับรัศมีของหุ่นยนต์
นี่จึงอาจกล่าวได้ว่า หุ่นยนต์ผู้รักษาประตู ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับกีฬา และกลายเป็นความบันเทิงที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จากรายงานของ 4attention เอเจนซีด้านสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งระบุไว้ว่า พวกเขาได้เช่า RoboKeeper ไปกว่า 36 เครื่องเพื่อจัดอีเวนต์ทั่วโลก
และถ้าหากเทคโนโลยีของมันถูกพัฒนาต่อไป บางทีวันหนึ่งมันอาจจะถูกนำมาใช้ซ้อมยิงจุดโทษและเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับสโมสรระดับอาชีพก็เป็นได้
“ถ้าคุณสามารถเอาชนะผู้รักษาประตูหุ่นยนต์ คุณก็จะสามารถเอาชนะผู้รักษาประตูที่เป็นมนุษย์ได้ ดังนั้น มันจึงเป็นของดีสำหรับกองหน้าทุกคน” มาร์ก ผู้เป็นนักฟิสิกส์ให้ความเห็นกับ Irish Sun
“ไม่มีโกลที่เป็นมนุษย์คนไหนสามารถเร่งความเร็วได้มากกว่ารถเอฟวัน 20 เท่า มันจึงเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบสำหรับการซ้อมและฝึกฝนการยิงจุดโทษ”