sportpooltoday

Mind Room : ห้องปฏิบัติการณ์ทางจิตวิทยาที่ช่วยพา “เอซี มิลาน” ยิ่งใหญ่ในยุโรป


Mind Room : ห้องปฏิบัติการณ์ทางจิตวิทยาที่ช่วยพา "เอซี มิลาน" ยิ่งใหญ่ในยุโรป

“คุณไม่สามารถฝึกนักเตะอายุ 37 ปีให้เร็วขึ้นในทางกายภาพได้ แต่คุณสามารถฝึกให้พวกเขาสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ให้เร็วขึ้นได้” บรูโน เดอมิเชลิส อดีตนักจิตวิทยาของ เอซี มิลาน อธิบาย

เอซี มิลาน เป็นหนึ่งในยอดทีมของอิตาลี โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980s – 1990s ที่พวกเขาสามารถกวาดแชมป์ทุกใบบนโลกมาครองได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เซเรีย อา, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และแชมป์สโมสรโลก 

ในตอนนั้นพวกเขาไม่ได้แข็งแกร่งในเชิงร่างกายเท่านั้นแต่จิตใจก็เข้มแข็งไม่แพ้ใคร และหนึ่งในเคล็ดลับของพวกเขาคือการมีห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า “Mind Room”

มันคือห้องแบบไหนและมีส่วนช่วยทีมอย่างไร ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

ห้องลับจากรองแชมป์โลกคาราเต้ 

จุดเริ่มต้นของ Mind Room อาจจะต้องย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ในสมัยที่ บรูโน เดอมิเชลิส ยังหนุ่ม ในตอนนั้นเขาคือนักคาราเต้ฝีมือดีของอิตาลี และเคยเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศคาราเต้ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 1971 

ทว่าในปีดังกล่าวเขาทำได้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์หลังพ่ายต่อนักคาราเต้จากญี่ปุ่น และการไม่ได้แชมป์ก็ทำให้เดอมิเชลิสเจ็บปวดอย่างมากจนพยายามหาคำตอบว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ 


Photo : facebook.com/Shotokan-Path

“มันไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิคหรือปัญหาทางกายภาพ ผมฟิตมากและฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี แต่ในที่สุดเพื่อนคนหนึ่งของผมก็พูดว่า ‘หรือมันจะเป็นปัญหาด้านจิตใจ'” เดอมิเชลิส กล่าวกับ Football Psychology Show เมื่อปี 2020 

“ผมคิดได้ว่าผมฝึกกับคนญี่ปุ่นมานาน พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้ฝึกสอนหรืออาจารย์ผมแต่เป็นฮีโร่ของผม ในเชิงจิตวิทยาคุณไม่สามารถเอาชนะฮีโร่ของตัวเองได้ มันจะเป็นการทำร้ายตัวเอง” 

การตั้งคำถามกับตัวเองทำให้ เดอมิเชลิส เริ่มสนใจเกี่ยวกับจิตวิทยา ทว่าเขาไม่ได้แค่เพียงศึกษาแต่ไปร่ำเรียนจบจบปริญญาเอกและได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท Fininvest บริษัทด้านสื่อที่มี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ที่ต่อมาคือนายกรัฐมนตรีของอิตาลีเป็นเจ้าของ 

และไม่นานหลังจากนั้นแบร์ลุสโคนีก็เข้าซื้อสโมสรเอซี มิลาน ทำให้ เดอมิเชลิส เห็นช่องทางที่จะเอาจิตวิทยามาใช้กับฟุตบอลจึงเข้าไปคุยกับเจ้าของทีมคนใหม่โดยตรง และหลังการสัมภาษณ์งาน 2 ชั่วโมงครึ่งเขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “นักจิตวิทยา” ของมิลาน และเป็นนักจิตวิทยากีฬาคนแรกของเซเรีย อา


Photo : mind-room.it

แต่ในตอนนั้นเขาไม่ได้ถูกเรียกว่านักจิตวิทยา เนื่องจากแบร์ลุสโคนีกลัวว่าสื่อในบ้านเกิดจะแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อเรื่องนี้ ทำให้ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเดอมิเชลิสคือ “ผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์” 

มันประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรก นักเตะหลายคนยอมรับว่าพวกเขารู้สึกดีขึ้นหลังได้คุยกับเดอมิเชลิส และนั่นทำให้มีผลงานที่ดีขึ้นในสนาม เดอมิเชลิสไม่รอช้าใช้โอกาสนี้ขอสร้างห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่มิลาเนลโล สนามซ้อมของมิลาน 

เขาตั้งชื่อมันว่า Mind Room

ห้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจ

ในตอนที่สร้าง Mind Room เดอมิเชลิสมี 2 จุดประสงค์หลัก ประการแรกห้องนี้จะทำให้เขาสามารถจัดเซสชั่นแบบกลุ่ม หลังจากก่อนหน้านี้ใช้วิธีพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว และเพื่อตอบคำถามตัวเองว่า การพัฒนาจิตใจ ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นในสนามอย่างไร

 

มันเป็นห้องที่มีขนาดราว 40 ตารางเมตร (ประมาณห้องเรียนของเด็กประถม) ที่มีเก้าอี้ไร้แรงโน้มถ่วง 8 ตัวให้ผู้เล่นมานั่ง โดยจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงเครื่องโพลีกราฟ (เครื่องจับเท็จ) ที่จะเอาไว้ตรวจสอบชี้วัดทั้งอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ไปจนถึงความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ 


Photo : mind-room.it

เดอมิเชลิสจะใช้สิ่งเหล่านี้หาสัญญาณที่อยู่ในจิตใจของผู้เล่น ตัวอย่างเช่นถ้าผู้เล่นรู้สึกขาดความมั่นใจจากอาการกล้ามเนื้อฉีกก็จะให้ผู้เล่นคนนั้นเข้าตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (EGM) และนำไปแปรผล ก่อนจะหาวิธีแก้ไข เช่น อาจจะเป็นการฝึกหายใจเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อตึงจนเกินไป

หรือหากผู้เล่นรู้สึกแย่กับตัวเองจากความผิดพลาดในสนามจนส่งผลเสียหายต่อทีม เช่น การทำเข้าประตูตัวเองไปจนถึงยิงลูกโทษพลาดจนทำให้ทีมแพ้ Mind Room ก็จะเป็นเหมือนที่หลบภัยให้พวกเขามาพักใจและพูดคุยกับเดอมิเชลิส 

“นักเตะคนแรก ๆ ที่มาหาคุณคือนักเตะที่เก่งมาก ๆ อยู่แล้ว จากนั้นจะเป็นนักที่เตะเก่งมาก ต่อไปก็จะเป็นนักเตะเก่ง ส่วนนักเตะทั่วไปจะพยายามหลบหน้า เพราะเราทำงานกับข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงก็พิสูจน์ได้ว่าคุณเป็นนักเตะที่ดีแค่ไหน” เดอมิคิลิส กล่าวกับ Beat the Press

ในทางกลับกัน Mind Room ไม่ได้ให้ประโยชน์กับนักเตะเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังนำผลที่ได้มาสร้าง “แบบฝึกหัดออกกำลังสมอง” (Cognitive training) รวมถึงนำข้อมูลจากคลื่นไฟฟ้าสมองมาหาวิธีทำให้จุดประสานประสาท (Synapses) ซึ่งเกี่ยวข้องกับทักษะการแก้ปัญหาแข็งแรงขึ้น 

“เราพัฒนาทักษะที่ระบุไว้อย่างชัดเจนอย่างการฟื้นตัว ความตั้งใจ ความทรหด ความเร็วในการวิเคราะห์สถานการณ์ และการตัดสินใจ” เดอมิเชลิส อธิบายกับ BBC Sport


Photo : cbc

“ความแตกต่างก็คือผู้เล่นของเราสามารถปรับใช้ทักษะเหล่านี้ภายใต้แรงกดดันได้ ในฐานะผู้เล่นคุณต้องมีความสามารถนี้ หากจะไปยิงจุดโทษในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก” 

“ผู้คนคิดว่านี่เป็นสิ่งที่นักเตะอาชีพทำได้ง่าย ๆ แต่มันไม่ใช่ มันต้องสอน”

ดังนั้นสำหรับนักเตะมิลาน Mind Room จึงไม่ได้เป็นที่เยียวยาจิตใจเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ฝึกฝนจิตใจให้แข็งแกร่งขึ้นไปพร้อมกับร่างกาย และมันก็ทำให้ปีศาจแดงดำมีความแตกต่างจากทีมอื่นในยุคนั้น  

อย่างไรก็ดีประโยชน์ของมันไม่ได้มีแค่นี้

ยืดอายุค้าแข้ง 

นอกเหนือจากการบรรเทาความเครียดและฝึกสมอง Mind Room ยังโฟกัสไปที่การเพิ่มความเร็วในการตอบสนองของผู้เล่นผ่านการทดสอบปฏิกิริยาที่ดูไม่ต่างกับการทดสอบปฏิกิริยาในการขอใบอนุญาติขับขี่รถยนต์ 

ผู้เข้าทดสอบจะมีปุ่มสองปุ่มให้กดและไฟหนึ่งคู่อยู่ตรงหน้า หากไฟด้านใดติดก็ให้กดปุ่มซ้ายหรือขวาให้ตรงกับตำแหน่งที่ไฟติดให้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องมีสติเพราะมันจะมีเครื่องหมายลูกศรกระพริบชี้ไปในฝั่งตรงข้ามที่ไฟติด 

หากมองอย่างผิวเผินเวลาที่เร็วขึ้นไม่กี่วินาทีดูจะไม่ช่วยอะไรในสนาม แต่มันก็ถูกมองว่าเป็นวิธีที่ทำให้มิลานสามารถยืดเวลาแขวนสตั๊ดของผู้เล่นออกไปได้อย่างที่ อเลสซานโดร คอสตากูร์ตา และ เปาโล มัลดินี เลิกเล่นตอนอายุ 41 ปี

“คุณไม่สามารถฝึกนักเตะอายุ 37 ปีให้เร็วขึ้นในทางกายภาพได้ แต่คุณสามารถฝึกให้พวกเขาวิเคราะห์สถานการณ์เร็วขึ้นได้” เดอมิเชลิส กล่าวกับ BBC Sports 

“หากพวกเขาสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วขึ้นพวกเขาก็จะตัดสินใจได้เร็วขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงทำให้ผู้เล่นค้าแข้งต่อไปได้” 

คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ กองกลางชาวดัตช์ คือหนึ่งในตัวอย่างที่ได้ประโยชน์จาก Mind Room ที่เขามักจะแวะไปที่ห้องนั้นเสมอจนได้รับฉายาว่า “ศาสตราจารย์” และทำให้เขาเป็นนักเตะที่ยังดูฟิตแม้จะเข้าสู่วัย 30 ปีแล้วก็ตาม 

“ผู้อำนวยการทั่วไปของมิลานแล็บพูดกับเขาว่า ‘คุณอายุ 31 แล้ว แต่ในแง่สมรรถภาพทางร่างกายคุณเพิ่งจะ 26 อายุที่แท้จริงของคุณมากกว่ามากเลยทีเดียว” เดอมิเชเลิส ย้อนความหลัง 

“เซดอร์ฟบอกว่า ‘พรินต์เอกสารนี้ให้ผมหน่อย’ เขาเข้าไปหาซีอีโอแล้วบอกว่า ‘แล็บของคุณบอกว่าตามหลักชีววิทยาผมเพิ่งอายุ 26 ต่อสัญญาผมไปอีก 4 ปีหน่อย’ และพวกเขาก็ทำตาม” 

นอกจากนี้เขายังมีระบบ “ประเมินความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ” ที่ให้นักเตะเข้ารับการตรวจร่างกายและให้คะแนนแล้วมาติดตามว่าพวกเขามีคะแนนเปลี่ยนแปลงไปจากค่ามาตรฐานแค่ไหน จนสามารถระบุถึงโอกาสที่จะเจ็บเมื่อลงสนาม 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้เล่นคะแนนลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นกลุ่มสีเหลืองคือลงได้ไม่เสี่ยงมาก หรือลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นกลุ่มสีส้มคือลงได้แต่เสี่ยงหน่อย แต่ถ้าลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นกลุ่มสีแดงที่ไม่ควรส่งลงสนาม 

เดอมิเชลิสบอกว่าด้วยวิธีนี้ทำให้มิลานสามารถลดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนได้สูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ ตลอดระยะเวลาที่เขาอยู่กับสโมสร 

“ถ้ามองแบบเซอร์กิตเทรนนิ่งที่มีหลายสเตชั่น ในมิลานแล็บก็เป็นแบบนั้น มันจะมีสเตชั่นที่โฟกัสเรื่องชีวเคมีและสเตชั่นที่โฟกัสกับโครงสร้าง” เดอมิคิลิส กล่าวกับ Beat the Press

“Mind Room ก็เป็นหนึ่งในสเตชั่นเหล่านั้น มันคือการมองผู้เล่นในฐานะบุคคล บุคคลที่มีกระดูก ชีวเคมี อารมณ์ เทคโนโลยี และโครงสร้างปลีกย่อย” 

แต่เขาก็ยอมรับว่าสิ่งที่ทำให้ Mind Room ประสบความสำเร็จก็คือการสนับสนุนจากเจ้าของทีม บอร์ดบริหาร สตาฟโค้ช ไปจนถึงนักเตะที่ทำให้มันกลายเป็นกุญแจสำคัญของมิลาน 

“นักเตะอยู่ฝ่ายเดียวกับผมเพราะเรามีสโมสรเคียงข้าง เรามีโค้ชที่เห็นด้วยเพราะว่าเขาเชื่อในปรัชญาของเรา” เดอมิเชลิส บอกกับ BBC Sports  

“ในตอนนั้นเขาบอกผู้เล่นว่า ‘คุณต้องไม่เล่นฟุตบอลด้วยเท้า แต่ต้องเล่นด้วยหัว’ มันเป็นประโยชน์มากต่อนักวิทยาศาสตร์การกีฬา”

จิตวิทยาการกีฬา 

Mind Room กลายเป็นอาวุธลับของมิลานที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายตั้งแต่ปี 1986 ด้วยตำแหน่งแชมป์เซเรีย อา 7 สมัย, โคปา อิตาเลีย 1 ครั้ง, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 5 สมัย และแชมป์สโมสรโลกอีก 3 ครั้ง 

“เดอมิเชลิสคือนักจิตวิทยาที่ผมต้องการมากกว่านักเตะคนไหน” อาร์ริโก ซาคคี่ กล่าวในหนังสือ The Immortals 

แต่มันก็มาถึงจุดสิ้นสุดในปี 2009 หลัง เดอมิเชลิส อำลาทีมไปอยู่กับ คาร์โล อันเชล็อตติ อดีตกุนซือมิลาน ที่ไปได้งานใหม่กับ เชลซี ของอังกฤษ และทำให้เขาเอาแนวคิด Mind Room ไปใช้ต่อในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ 

มันมีส่วนช่วยให้เชลซีคว้าดับเบิลแชมป์ พรีเมียร์ลีก และ เอฟเอคัพ ในฤดูกาล 2009-2010 และทำให้ ปีเตอร์ เช็ก นายทวารของทีมที่เคยประสบอุบัติเหตุปะทะกับ สตีเฟ่น ฮันท์ ของเรดดิ้ง เมื่อปี 2006 จนกะโหลกร้าวและต้องสวมหมวกลงเฝ้าเสามีความมั่นใจมากขึ้น 


Photo : mind-room.it

“Mind Room คือความแหวกแนวในแง่ของการผนวกสิ่งนี้เข้ากับสภาพแวดล้อมในการฝึกซ้อม” มาร์ซ โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่เคยทำงานกับสโมสรฟุตบอลมากมายบอกกับ BBC Sport 

“ความเป็นจริงคือมันเห็นได้ชัดเจนในสนามซ้อมของมิลาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นข้อยกเว้นมากกว่ากฎ” 

ก่อนที่ Mind Room จะหวนคืนสู่ถิ่นซาน ซิโร อีกครั้งในปี 2014 หลัง เซดอร์ฟ ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเฮดโค้ชคนใหม่ พร้อมกับดึงตัว เดอมิเชลิส กลับมาสู่ทีม แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะอดีตดาวเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ถูกไล่ออกหลังจากผ่านไปเพียงแค่ 4 เดือน 

แม้ว่าปัจจุบันชื่อของ  Mind Room จะเริ่มจางหายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ เดอมิเชลิส บุกเบิกเอาไว้นั้นส่งผลอย่างมากต่อโลกฟุตบอลและที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ จิตวิทยา กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วสำหรับเกมลูกหนังยุคนี้ ซึ่งจะเป็นเทรนด์แบบนี้ไปอีกหลายปี 

“โค้ชในทุกวันนี้ต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีและมีทักษะทางจิตวิทยาจริง ๆ คุณต้องรู้วิทยาศาสตร์การกีฬาและรับมือกับข้อมูลกับสถิติอันมหาศาล ภูมิหลัง (ที่เคยเล่นฟุตบอล) ไม่พออีกต่อไปแล้ว” เดอมิเชลิส ทิ้งท้าย