ทีมชาติบราซิล คือหนึ่งในทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ดีกรีแชมป์โลก 5 สมัย เป็นเครื่องรับประกันได้เป็นอย่างดี
ฝีเท้าพรสวรรค์จากรุ่นสู่รุ่นคืออาวุธสำคัญที่ทำให้ทัพเซเลเซาประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในทัวร์นาเมนต์ระดับโลก แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบราซิลยังมีอีกเคล็ดลับในการรวมใจและสร้างเป้าหมายของนักฟุตบอลให้เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีความขัดแย้ง ด้วยการใช้ศาสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือ
นี่คือเรื่องราวของทีมชาติบราซิล กับการใช้ศาสนาคริสต์มาเป็นจุดรวมใจของเหล่านักเตะแข้งทอง เพื่อให้มีเป้าหมายเดียวกันยามติดทีมชาติ นั่นคือการพาทัพเซเลเซาประสบความสำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น
ศาสนาคริสต์ในบราซิล
ศาสนาคริสต์ เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก จากตะวันตกถึงตะวันออกมีผู้คนมากมายที่ศรัทธาในคำสอนของหลักศาสนานี้ ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ยึดมั่นกับหลักการของพระคริสต์มากที่สุดคือ บราซิล
บราซิล ได้รับอิทธิพลของศาสนาคริสต์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ผ่านการเผยแพร่ศาสนาโดยมิชชันนารีจากประเทศโปรตุเกส หลังจากนั้นไม่นาน แผ่นดินบราซิลก็กลายเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และเพื่อให้คนท้องถิ่นไม่มีปัญหากับเจ้าอาณานิคม ศาสนาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้คน
ชาวโปรตุเกสเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปทั่วบราซิล เพื่อให้ชาวบราซิเลียนมีความเชื่อเดียวกันกับพวกเขา เปลี่ยนคนพื้นเมืองที่เคยเชื่อในผีป่าในท้องถิ่นให้มาศรัทธาในศาสนาคริสต์ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครอง
โบสถ์ของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกถูกสร้างขึ้นในเกือบทุกชุมชนของประเทศบราซิล และได้สร้างความผูกพันใกล้ชิด ระหว่างคนกับศาสนา ยิ่งเวลาผ่านไป ศาสนาคริสต์กับชาวบราซิลก็ยิ่งกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแบบแยกกันไม่ขาด มีเทศกาลมากมายในประเทศบราซิลที่ถูกจัดขึ้นเพื่อแสดงถึงศรัทธาอันแรงกล้าที่พวกเขามีต่อศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกยังทรงอิทธิพลมากในบราซิล ด้วยการเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างทางการเมืองและสังคมของประเทศ การหาเสียงเลือกตั้งจะต้องมีนโยบายด้านศาสนา และบางครั้งศาสนาก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินงานทางการเมือง ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ
ปัจจุบัน ประเทศบราซิลคือชาติที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมากที่สุดในโลก ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีผู้ที่ศรัทธาในศาสนาคริสต์นำหลักคำสอนและความเชื่อต่างๆ เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬา
ที่ประเทศบราซิลจะมีกลุ่มที่เรียกว่า “Athletes of Christ” หรือกลุ่มนักกีฬาที่มีความเชื่ออันแรงกล้าในศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนักกีฬาชาวบราซิลเป็นสมาชิก เป้าหมายของหน่วยงานนี้คือการเล่นกีฬาผ่านการขับเคลื่อนด้วยศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า พร้อมกับแสดงออกถึงความรักที่มีต่อพระเจ้าในสนามแข่งขัน
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มจะเป็นนักฟุตบอล เพราะนี่คือกีฬายอดนิยมของประเทศ และศาสนาคริสต์ก็แฝงบทบาทสำคัญอยู่ด้านหลังฉากของเกมลูกหนังในประเทศบราซิลมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี อิทธิพลของศาสนาที่อยู่เบื้องหลังเกมกีฬา กลับส่งผลดีต่อวงการฟุตบอลของประเทศ เพราะนี่คือหนึ่งในปัจจัยที่คอยหนุนหลังเหล่าแข้งทองสู่การสร้างความสำเร็จบนสังเวียนลูกหนังให้กับบราซิล
อิทธิพลของศาสนาต่อทีมชาติบราซิล
อิทธิพลของศาสนาคริสต์กับทีมชาติบราซิล เริ่มต้นครั้งแรกในช่วงฟุตบอลโลก 1970 หลังจากนักฟุตบอลหลายคนของทีมมีส่วนลับๆกับการเรียกร้องแนวทางการนับถือศาสนาในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Neo-Charismatic Movement ด้วยการมุ่งเน้นไปที่ความเชื่อต่อพระเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติโดยตรง พร้อมกับลดบทบาทของโบสถ์รวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาลง
ในช่วงยุค 70s ถือเป็นยุคที่การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในห้องแต่งตัวของนักฟุตบอลบราซิล แม้ว่า FIFA จะเคยส่งคำเตือนไม่ให้พวกเขาแสดงออกถึงความเชื่อทางศาสนาผ่านเกมฟุตบอล แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดการนั่งจับเข่าคุยพูดถึงเรื่องความศรัทธาของเหล่านักฟุตบอลทีมชาติบราซิลได้เลย
ยุค 70s อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ศาสนาคริสต์มีผลต่อฟอร์มการเล่นในสนามของทัพเซเลเซาเท่าไหร่นัก แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่แสดงให้เห็นว่าการพูดคุยถึงเรื่องราวความเชื่อต่างๆไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการฟุตบอลของบราซิล และไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรหากมีแข้งทองคนไหนดึงศรัทธาทางศาสนาเข้ามาใช้ในเกมลูกหนัง
ปี 1992 คือปีแรกที่บทบาทของกลุ่ม Athletes of Christ มีตัวตนขึ้นมาอย่างชัดเจน หลังจากผู้เล่นทีมชาติบราซิลหลายคนเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เปาโล สิลาส กองกลางของทีม และ จอร์จินโญ่ แบ็กขวาชื่อดัง ผู้เคยเดินถือคัมภีร์ไบเบิลลงสนาม สมัยที่ค้าแข้งอยู่กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ในประเทศเยอรมนี
จอร์จินโญ่ กลายเป็นผู้นำของกลุ่ม Athletes of Christ ในทีมชาติบราซิล และเขาสามารถหาสมาชิกใหม่มาเพิ่มได้ไม่ว่าจะเป็น ซินโญ่, มาซินโญ่, มุลเลอร์, เปาโล เซร์จิโอ และ ทัฟฟาเรล รวมไปถึงทีมงานสตาฟฟ์ให้มาเป็นสมาชิกของกลุ่มคนที่เล่นกีฬาเพื่อสรรเสริญคุณงามความดีของพระเจ้า
ทั้ง 6 คนคือส่วนหนึ่งของทีมชาติบราซิลชุดลุยศึกฟุตบอลโลก 1994 ซึ่งจบลงด้วยการคว้าแชมป์โลกของทัพเซเลเซา และความสำเร็จครั้งนี้ นักเตะทั้ง 6 คนต่างก็เชื่อว่าพวกเขาได้แชมป์โลกเพราะศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า
ทัฟฟาเรล ผู้รักษาประตูมือ 1 ของบราซิลในทัวร์นาเมนต์นั้น เขียนในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวว่า บราซิลได้แชมป์โลกเพราะพระเจ้าดลบันดาลให้ โรแบร์โต้ บาจโจ้ กองหน้าของทีมชาติอิตาลีคู่แข่งในเกมนัดชิงชนะเลิศ ยิงจุดโทษข้ามคาน ส่งบราซิลให้ได้แชมป์โลก ซึ่งเป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้
“ตอนที่บาจโจ้เดินถือบอลมา ผมไม่สงสัยแม้แต่นิดเดียวเลยว่าเราจะเป็นผู้ชนะ ผู้ที่เชื่อมั่นในพระเจ้าไม่มีทางพ่ายแพ้ต่อผู้ที่เชื่อมั่นในพระพุทธเจ้า” ทัฟฟาเรล กล่าว (ข้อความนี้มีความละเอียดอ่อน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบในแนวคิดนี้ หนึ่งในนั้นคือ มาริโอ ซากัลโล่ ผู้จัดการทีมชาติบราซิลชุดปี 1998 ที่มองว่า การที่นักฟุตบอลมีศรัทธาต่อศาสนาและนำเรื่องของความเชื่อมาเป็นแรงจูงใจในการเล่นฟุตบอล จะทำให้ผู้เล่นเหล่านั้นมองข้ามการทำงานหนักและการทุ่มเทอย่างเต็มร้อยในสนามเพื่อคว้าชัยชนะด้วยตนเอง เพราะไปมองว่าผลแพ้ชนะทุกอย่างพระเจ้าเป็นคนกำหนดไว้ จนลืมเรื่องของการลงมือปฏิบัติด้วยสองเท้าของมนุษย์ไป
จะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา ทุกอย่างเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปคือ การจับกลุ่มของนักฟุตบอลทีมชาติบราซิลผู้ศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งมักใช้เวลาอยู่ร่วมกันในแคมป์ทีมชาติ เพื่อหาทางที่จะเล่นฟุตบอลเชิดชูเกียรติให้กับสิ่งที่พวกเขานับถือ
สำหรับทีมชาติบราซิลชุดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2002 ก็เช่นเดียวกัน ผู้เล่นอย่าง ลูซิโอ, ริคาร์โด้ กาก้า และ เอ็ดมิลสัน มักใช้เวลาร่วมกันในแคมป์ทีมชาติสวดขอพรแด่พระผู้เป็นเจ้า
ซึ่งปราการหลังชื่อดังอย่าง ลูซิโอ ได้เปิดเผยว่า นี่ไม่ใช่การกระทำที่งมงายหรือไร้เหตุผล แต่การสวดมนต์สามารถช่วยให้เขาปล่อยวางความกดดันต่างๆ และมีสมาธิกับเกมฟุตบอลมากขึ้น
อิทธิพลที่ไม่เคยหายไป
ปัจจุบัน เราไม่ได้เห็นบทบาทการสรรเสริญพระเจ้าของนักฟุตบอลผ่านการกระทำหรือคำพูดชัดเจนเหมือนในอดีต เนื่องจากความเข้มงวดของ FIFA ที่ไม่ยอมให้นำความเชื่อทางศาสนาเข้ามามีบทบาทในเกมกีฬา
แต่ไม่ได้หมายความบทบาทของศาสนาคริสต์กับทีมชาติบราซิลจะจางหายไป เพราะในกลุ่มนักฟุตบอลรุ่นใหม่ยังมีหลายคนที่ขับเคลื่อนการลงสนามให้ทัพเซเลเซาด้วยศรัทธาที่มีต่อพระคริสต์
เมื่อปี 2015 เกิดเป็นข่าวใหญ่ หลังจากนักฟุตบอลของทีมชาติบราซิลได้ทำการเชิญบาทหลวงเข้าไปเทศนาคำสอนในแคมป์ทีมชาติโดยไม่ได้รับการอนุญาตจาก ดุงก้า โค้ชทีมชาติในเวลานั้น จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งทำให้ทีมงานรักษาความปลอดภัยของทีมชุดนั้นถูกไล่ออก
แม้จะเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ทุกคนที่ชอบให้ศาสนามามีบทบาทกับการแข่งขันฟุตบอล แต่สุดท้าย ความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นของการเล่นฟุตบอลไปพร้อมกับแสดงออกถึงความเชื่อที่ยึดมั่นในศาสนายังคงเป็นอิทธิพลสำคัญในห้องแต่งตัวของทีมชาติบราซิลมาจนถึงปัจจุบัน
จากยุคของ จอร์จินโญ่ และ ทัฟฟาเรล สู่ ลูซิโอ และ กาก้า ในยุคปัจจุบันทีมชาติบราซิลมี อลีสซง เบ็คเกอร์ และ ฟาบินโญ่ เป็นแกนหลักสำคัญที่ยังคงยึดมั่นในการเล่นฟุตบอลเพื่อแสดงความศรัทธาแก่พระเจ้า และหวังให้พระองค์ตอบแทนเป็นของขวัญด้วยการคว้าถ้วยแชมป์
ผู้เล่นรุ่นใหม่หลายคนยังให้การสนับสนุนบทบาทของศาสนาที่มีอยู่ในห้องแต่งตัว ไม่ว่าจะเป็น เนย์มาร์ หรือ ริชาร์ลิซอน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่เคร่งศาสนา แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่นักฟุตบอลในทีมชาติบราซิลจะมีแรงจูงใจในการลงสนามเพื่อทำผลงานให้ดีขึ้นในฐานะผู้เล่นของพระเจ้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของกลุ่ม Athletes of Christ ซึ่งอยู่ในทีมชาติบราซิลตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความมุ่งมั่นในสนามให้กับนักฟุตบอลหลายคน สำหรับผู้เล่นที่มีศรัทธาต่อพระเจ้า การลงไปทำผลงานในสนามให้เต็มที่คืองานของพวกเขา และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ มันก็ส่งผลดีให้ผู้เล่นเหล่านี้ทำผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
ถึงจะห่างหายจากผลงานระดับแชมป์โลกไปบ้าง แต่การคว้าแชมป์โคปา อเมริกา 2019 รวมถึงตำแหน่งรองแชมป์ในปี 2021 ก็เป็นการแสดงออกให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า อิทธิพลของศาสนาคริสต์ยังคงช่วยขับเคลื่อนทีมชาติบราซิลและส่งผลดีต่อผลงานของทีม ทำให้ไม่มีใครคิดว่า การมีศรัทธาอันแรงกล้าที่อิทธิพลลงมาในสนามฟุตบอลของทีมชาติบราซิลเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
เพราะสุดท้าย ทุกศาสนาล้วนมีคำสอนที่อยากให้ทุกคนเป็นคนดี และหากการมีศรัทธาต่อพระเจ้าจะช่วยให้นักฟุตบอลทีมชาติบราซิลตั้งใจทำผลงานให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อพระเจ้า, เพื่อตัวเอง, เพื่อประเทศ หรืออะไรก็ตาม แค่นั้นศาสนาก็ได้ทำหน้าที่ของตัวเองไปแล้วเรียบร้อย