sportpooltoday

อนาคตที่สดใส ? : รู้จักกับองค์กรอิสระของอังกฤษที่เข้ามาปกป้องความยั่งยืนของทีมฟุตบอล


อนาคตที่สดใส ? : รู้จักกับองค์กรอิสระของอังกฤษที่เข้ามาปกป้องความยั่งยืนของทีมฟุตบอล

ช่วงปีที่ผ่านมามีการตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนของสโมสรฟุตบอลมากขึ้นในทวีปยุโรป โดยเฉพาะที่ประเทศอังกฤษ หลังจากเหตุการณ์ของ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ทำให้แฟนบอลไปจนถึงรัฐบาลอังกฤษตระหนักถึงการดึงอำนาจกลับมาจากเจ้าของสโมสรฟุตบอลมากขึ้น โดยไม่ต้องการให้เหล่านักธุรกิจนำทีมฟุตบอลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไปทำอะไรตามใจชอบ

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษร่วมกับกลุ่มแฟนบอลได้ทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ดีให้กับทุกฝ่ายจนกลายเป็นการก่อตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา เพื่อคอยกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีมและผู้บริหารทีมในวงการฟุตบอลอังกฤษโดยเฉพาะ

Main Stand จะพาผู้อ่านไปดูความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงการเดินหน้าของวงการฟุตบอลในอังกฤษ เพื่อหวังเป็นต้นแบบใหม่ในการเปลี่ยนแปลงวงการลูกหนังให้กลับมาให้ความสำคัญกับอำนาจในทีมฟุตบอลที่ผลประโยชน์จะกลับมาหาแฟนบอลอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นจากซูเปอร์ลีก

ย้อนไปในช่วงเดือนเมษายน 2021 ที่ผ่านมา การประกาศตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ลีกที่รวมทีมมหาอำนาจของวงการลูกหนังยุโรปเอาไว้ ได้สร้างความสั่นสะเทือนอย่างมากกับวงการฟุตบอลยุโรป และนำไปสู่แรงต่อต้านมหาศาลจากแฟนบอลท้องถิ่น 

ประเทศที่มีการต่อต้านมากที่สุดคืออังกฤษ เพราะแฟนบอลจากแดนผู้ดีมองว่า ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จะเข้ามาทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของฟุตบอลท้องถิ่น และเปลี่ยนการต่อสู้ที่เท่าเทียมให้กลายเป็นการผูกขาดทางอำนาจของสโมสรเพียงไม่กี่ทีม 

ซึ่งไม่ใช่แค่แฟนบอลที่ไม่เห็นชอบแต่รวมถึงรัฐบาลอังกฤษด้วยเช่นกัน พวกเขามองว่า ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จะเข้ามาลดความสำคัญของการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รวมถึงระบบฟุตบอลลีกในประเทศอังกฤษ

 

ทำให้ทั้งทางแฟนบอลและรัฐบาลต่างเห็นตรงกันว่าต้องหาวิธีการที่จะเข้ามาควบคุมการทำงานของผู้บริหารทีมฟุตบอลในอังกฤษ ไม่ให้เอาทีมฟุตบอลไปทำโปรเจ็กต์ตามอำเภอใจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ได้มองว่ากระทบต่อภาพรวมหรือไม่

เทรซีย์ เคราช์ นักการเมืองของประเทศอังกฤษจึงได้เริ่มต้นโปรเจ็กต์ของตัวเองที่ทำไปเพื่อปกป้องวงการฟุตบอลอังกฤษที่มีรากฐานยาวนานนับร้อยปีให้คงอยู่สืบไป รวมถึงเป็นทางที่รับประกันได้ว่าทีมฟุตบอลในอังกฤษจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวโดยไม่ต้องเจอกับปัญหาทางด้านการเงินจนตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงล้มละลาย ซึ่งเกิดขึ้นกับหลายทีมมาแล้วจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นเรื่องต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อทำเรื่องขอก่อตั้งหน่วยงานอิสระภายใต้ชื่อ Independent Regulator for English Football หรือ IREF ที่จะมาคอยสอดส่อง และกำกับดูแลการทำงานของเจ้าของสโมสรและผู้บริหารทีมฟุตบอล รวมถึงคอยเก็บข้อมูลการใช้เงินของสโมสรฟุตบอลเพื่อไม่ให้แต่ล่ะทีมใช้เงินจนเกินตัวจนมีสิทธิ์ถูกฟ้องล้มละลาย

ซึ่งรัฐบาลอังกฤษก็เห็นด้วยกับแนวทางที่เกิดขึ้น โดยนักข่าวสายการเมืองของอังกฤษเชื่อกันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวอยู่เบื้องหลังเกี่ยวกับวงการฟุตบอลในประเทศมากขึ้น เพราะมองว่าองค์กรฟุตบอลอย่าง สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ, พรีเมียร์ลีก และ ฟุตบอลลีก หรือ EFL ที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอลลีกระดับล่าง ไม่มีความสามารถมากพอที่จะกำกับดูแลวงการลูกหนังแดนผู้ดีให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้

 

“ความยั่งยืนของฟุตบอล (อังกฤษ) กำลังอยู่ในอันตราย” นี่คือมุมมองของรัฐบาลอังกฤษต่อวงการฟุตบอลในปัจจุบัน ดังนั้นการพิจารณาการก่อตั้งหน่วยงานเพื่อเข้ามากำกับดูแลความเป็นไปของเกมลูกหนังในอังกฤษ โดยได้รับไฟเขียวโดยตรงจากรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพื่อทำให้ฝันที่อยากเห็นฟุตบอลอังกฤษ กลับมาเป็นฟุตบอลเพื่อแฟนบอลได้เกิดขึ้นอีกครั้ง

ความยั่งยืนต้องมาก่อน 

แนวคิดหลักของการตั้งหน่วยงาน IREF ในเบื้องต้นจะไม่ได้เน้นไปที่การเข้าควบคุมการทำงานของทีมฟุตบอลระดับโลกที่เรารู้จักกันดีอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล หรือ เชลซี แต่อย่างใด แต่จะเน้นไปที่การสร้างรากฐานให้กับฟุตบอลท้องถิ่น โดยเฉพาะทีมที่ไม่ได้อยู่ในระบบลีกอาชีพ 4 อันดับแรกของประเทศอังกฤษ (พรีเมียร์ลีก, แชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน, ลีกทู) 

เป้าหมายสูงสุดของ IREF คือเข้ามาเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนในการมอบไลเซนส์สิทธิ์การเล่นฟุตบอลลีกอาชีพให้กับสโมสรรากหญ้า ซึ่งจะวัดจากแผนการการทำทีมที่ยั่งยืนของแต่ละสโมสร โดยสิ่งสำคัญคือแต่ละสโมสรต้องแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเงิน การใช้จ่ายที่สมดุล รายจ่ายไม่เกินกว่ารายรับ รวมถึงมีเงินทุนสำรองที่ครอบคลุมทุกการใช้จ่ายของสโมสร

 

โดย IREF จะเน้นเข้ามาควบคุมให้ทีมระดับรากหญ้าใช้เงินบริหารในสโมสรด้วยรายรับของสโมสรเป็นหลักและพึ่งพาเงินอัดฉีดจากเจ้าของทีมให้น้อยที่สุด รวมถึงควบคุมการใช้เงินในการซื้อผู้เล่นและการจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะให้สมเหตุสมผล เพื่อวางรากฐานการบริหารทีมในระยะยาวที่สามารถแสดงแนวทางให้เห็นว่า ความยั่งยืนในการทำทีมฟุตบอลให้อยู่ได้ในระยะยาวต้องมาก่อน 

ความต้องการของแนวคิด IREF คือการแสดงให้เห็นว่าความยั่งยืนของสโมสรฟุตบอลคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ทั้งฝ่ายแฟนบอลและคนจากรัฐบาลอังกฤษต้องการให้เกิดขึ้น 

เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีเจ้าของทีมหลายคนเข้ามาทำทีมโดยมองความทะเยอทะยานที่อยากประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่สุดท้ายนำมาซึ่งการใช้เงินจนเกินตัว ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ทีมระดับพรีเมียร์ลีกหรือแชมเปี้ยนชิพ แต่เกิดขึ้นกับทีมระดับล่างด้วยเช่นกัน

IREF ต้องการเริ่มสร้างแนวทางที่สโมสรฟุตบอลบริหารทีมโดยมองความยั่งยืนของทีมฟุตบอลเป็นสำคัญ และเมื่อสโมสรมีความยั่งยืน แล้วค่อยมองไปที่การสร้างความสำเร็จให้กับทีมเป็นลำดับต่อไป

 

ขณะที่แผนระยะยาวของโปรเจ็กต์นี้คือการเปลี่ยนวงการฟุตบอลลีกอังกฤษ จากลีกที่ใช้เงินมหาศาลในการทุ่มซื้อนักเตะ ให้หันมาเน้นการใช้งานอย่างสมดุล ลดภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในฟุตบอลอังกฤษ และหันมาโฟกัสไปที่การทำทีมฟุตบอลที่ผูกพันกับแฟนบอลมากขึ้น

“ฉันคิดว่านี่คือทางออกในระยะยาวให้กับพรีเมียร์ลีก เราเสียเงินจำนวนมากไปกับธุรกิจนี้ที่ไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้น มีเงินอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากกว่า” เทรซีย์ เคราช์ กล่าว

ซึ่งในภายหลังทางพรีเมียร์ลีกตัดสินใจที่จะเข้าร่วมผลักดันในการสร้างองค์กรอิสระที่จะเข้ามาคอยตรวจสอบการบริหารทีมฟุตบอลด้วยเช่นกัน ซึ่งทางลีกยอดนิยมของโลกได้ให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่าการเกิดโปรเจ็กต์ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก ได้ทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อแฟนบอลชาวอังกฤษ และเพื่อเรียกความมั่นใจของแฟนบอลกลับมาอีกครั้ง การมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบการทำงานของเหล่าผู้บริหารทีมฟุตบอลจะช่วยให้พรีเมียร์ลีกเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้นในทิศทางที่ควรจะเป็น

อนาคตของเกมลูกหนังแดนผู้ดี ? 

หลังจากที่โปรเจ็กต์ดำเนินหน้ามาตลอดหลายเดือน ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศอย่างเป็นทางการ อนุมัติแผนจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะเข้ามาดูและจับตาการบริหารของสโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย

โดยอำนาจขององค์กรนี้คือการจับตาการบริหารในประเด็นด้านรายรับรายจ่ายต่าง ๆ ให้สมดุลไม่เสี่ยงต่อวิกฤตทางการเงิน ขณะเดียวกันหากสโมสรไหนใช้เงินจนเกินตัวหรือบริหารทีมจนไม่ผ่านกฎการเงิน หน่วยงานนี้ก็มีสิทธิ์เข้าไปแทรกแซงการบริหารของทีมนั้น ๆ ทันที

ซึ่งผู้นำขององค์กรอิสระแห่งนี้คือ เทรซีย์ เคราช์ ที่ผลักดันโปรเจ็กต์นี้มาตลอด และพร้อมแล้วที่จะทำให้ฝันของเธอเกิดขึ้นจริงตามอุดมการณ์

“องค์กรอิสระแห่งนี้มีอำนาจทุกอย่างที่จะลงโทษสโมสรที่ทำผิดกฎการเงิน รวมถึงมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปสอดส่อง สืบสวน และคานอำนาจกับทุกสโมสรที่มีการใช้เงินที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของสโมสร” 

“ตามความเห็นของรัฐบาล เรามองว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นก็อยากให้ผู้มีอำนาจในวงการฟุตบอลสามารถจัดการปัญหาได้เองทั้งหมดโดยไม่ต้องมาถึงมือเรา” รัฐบาลอังกฤษแถลงการณ์ 

อย่างไรก็ตามแม้อำนาจในการตรวจสอบสโมสรฟุตบอลจะเพิ่มขึ้น แต่ในทางปฏิบัติจริงไม่ได้มีอะไรง่ายแบบนั้น เพราะทางพรีเมียร์ลีกก็ได้ออกมาประกาศทันทีว่าจะอนุญาตให้หน่วยงานนี้ตรวจสอบการดำเนินงานของสโมสรฟุตบอลเพียงอย่างเดียว แต่จะไม่ยอมให้แทรกแซงใด ๆ ทั้งสิ้น

“ฉันเชื่อว่าการตั้งหน่วยงานนี้คืออนาคตของฟุตบอล แต่ฉันก็ยังกังวลว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจริง” เทรซีย์ เคราช์ กล่าว

ทั้งนี้อำนาจของผู้ตรวจสอบการดำเนินการของแต่ล่ะสโมสรที่รัฐบาลอังกฤษมอบให้ ถูกกำหนดไว้ว่าผู้ตรวจสอบจะเป็นแฟนบอลของแต่ละทีม นอกจากนี้หากแต่ล่ะสโมสรต้องการเปลี่ยนชื่อทีม โลโก้ทีม หรือสีประจำทีม แฟนบอลจะต้องได้มีส่วนร่วมด้วย

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษยืนยันว่าหน่วยงานนี้จะทำตัวเป็น “มือที่มองไม่เห็น” ที่จะเข้าไปมีบทบาทในวงการฟุตบอลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แม้จะมีอำนาจหลายอย่างในมือแต่ก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงฟุตบอลแบบพร่ำเพรื่อ โดยจะเข้ามามีส่วนเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญเท่านั้น เช่น สโมสรเสี่ยงล้มละลาย หรือหากมีการขุดโปรเจ็กต์ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก กลับมาอีกครั้ง

“แม้ว่าโปรเจ็กต์ ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก จะล้มเหลวมาเป็นเวลานับปีแล้ว แต่มันชัดเจนว่าเราต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อปกป้องอนาคตของการแข่งขันฟุตบอลในประเทศเอาไว้” ไนเจิล ฮัดเดิลสตัน รัฐมนตรีด้านกีฬาและสังคมพลเมือง กล่าวถึงความสำคัญที่ต้องมีหน่วยงานมาปกป้องและสร้างความยั่งยืนให้กับฟุตบอลอังกฤษ

ทั้งหมดเป็นแค่จุดเริ่มต้นของอุดมการณ์และความหวัง การที่ฟุตบอลอังกฤษมีความตั้งใจจริงในการหันมาให้ความสำคัญถึงความยั่งยืนของสโมสรฟุตบอลถือเป็นเรื่องที่ดี ประกอบกับในตอนนี้แฟนบอลที่ประเทศอังกฤษมีความกระตือรือร้นอย่างมากที่จะเข้าไปมีบทบาทในสโมสรฟุตบอล และอยากให้ทีมที่พวกเขารักเป็นสโมสรที่อย่างน้อยก็มอบความสุขให้แฟนบอลจริง ๆ

แต่สุดท้ายอำนาจเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎ เพราะเรายังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือขัดขวางไม่ให้แต่ล่ะสโมสรใช้เงินจนเกินตัวเพื่อป้องกันการล้มละลายได้จริงหรือไม่ หรือมีหลักประกันแค่ไหนกับการจะบอกว่า ฟุตบอลอังกฤษจะหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสโมสรฟุตบอลจริง ๆ

ทุกอย่างคงต้องรอให้เวลาเป็นเรื่องพิสูจน์ แต่อย่างน้อยแฟนฟุตบอลอังกฤษก็ใจชื้นได้เปลาะหนึ่งแล้วว่าเกมลูกหนังที่พวกเขารักกำลังมีอนาคตที่สดใส และไม่ต้องทนเจ็บปวดกับการบริหารที่ไม่สนใจแฟนบอลของเหล่าเจ้าของทีมเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา