“ทำไมโค้ช แมนฯ ยูฯ ถึงไม่มีใครประสบความสำเร็จเท่าเฟอร์กูสัน?” คำถามนี้ตอบได้ไม่ยาก หากวัดจากสิ่งที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำตลอดอาชีพของเขาในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด
อำนาจ บารมี การบริหาร และการยึดมั่นแน่วแน่ในความคิดของตัวเอง คือปัจจัยที่เปลี่ยนทีมยักษ์หลับกลับสู่ยุคของความสำเร็จที่แฟนๆปีศาจเเดงลืมไม่ลง
แต่คำถามคือ ทำไมจึงมีแค่เขาเพียงคนเดียวที่ทำแบบนั้นได้? เพราะหลังจากหมดยุคของ เฟอร์กี้ มีกุนซือเข้ามามากหน้าหลายตาหลากสไตล์หลายแนวทาง เหตุผลใดที่ผู้มาทีหลังเหล่านั้นกลับทำไม่ได้แม้เข้าใกล้ความเป็นยูไนเต็ดยุคเฟอร์กี้เลย?
เราจะไปกันให้ลึกยิ่งกว่านี้ ติดตามที่ Main Stand
จุดเริ่มต้นที่แตกต่างกัน
ความแตกต่างของกุนซืออย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และคนอื่นๆที่รับงานต่อจากเขาทั้ง เดวิด มอยส์, หลุยส์ ฟาน กัล, โชเซ่ มูรินโญ่, โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ และ ราล์ฟ รังนิก คือ “สถานะของสโมสร”
ปฎิเสธไม่ได้ว่าในช่วงปลายยุค 80s คือยุคขาลงทีมปีศาจเเดง ณ เวลานั้น ลิเวอร์พูล ในยุคเครื่องจักรสีเเดง คือ มหาอำนาจ และภารกิจของ เฟอร์กี้ ในวันที่เริ่มงานนั้นเกิดขึ้นในการเป็นสถานะ “มวยรอง” เต็มระบบ ทั้งเรื่องของรายรับของสโมสร โครงสร้างด้านฟุตบอล หรือแม้กระทั่งเรื่องคุณภาพของนักเตะในทีมที่แทบไม่มีใครฝากผีฝากไข้ได้
วันที่ เฟอร์กี้ เข้ามารับงานครั้งแรกคือ 6 พฤศจิกายน ปี 1986 ในตอนนั้น ยูไนเต็ด อยู่ในอันดับที่ 21 ของตารางคะแนนดิวิชั่น 1 (ยุคสมัยนั้นมีทีมลงเเข่งขันทั้งหมด 22 ทีม) เรียกได้ว่าตอนนั้นหนีตกชั้นอย่างเต็มตัว และช่วงที่ เฟอร์กี้ เข้ามารับงาน เขาก็แสดงอาการถึงสภาพนักเตะในทีมมีปัญหา บางคนคุณภาพไม่ดีพอ บางคนฝีเท้าอาจจะดีแต่ก็มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตกินดื่มแบบนักเตะยุคก่อน จึงทำไม่สามารถสร้างความโดดเด่นเรื่องความฟิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ เฟอร์กี้ ให้ความสำคัญสำหรับฟุตบอลสไตล์ของเขาเป็นอย่างมาก
การที่ทีมตกไปอยู่ในระดับต่ำขนาดนั้นทำให้ความคาดหวังจากบอร์ดบริหารและแฟนบอลที่มีต่อทีมยุค “Fergie Era” ในยุคแรกๆนั้น จึงเป็นช่วงเวลาของการ “โละ ซ่อม สร้าง”
แม้ตลอดช่วงเวลา 3-4 ปีก่อนได้เเชมป์แรก จะมีช่วงที่ แมนฯ ยูไนเต็ด มีผลงานโดยรวมที่ดีขึ้น แต่ด้วยความที่ยังไม่สัมผัสแชมป์ใดๆ ทำให้ยังมีแฟนบอลเริ่มกดดันให้ เฟอร์กี้ ลาออก แต่สถานะการเป็นมวยรองของทีม ทำให้บอร์ดบริหารยังสามารถอดทนต่อความล้มเหลวได้
การยืนหยัดเคียงข้าง เฟอร์กี้ และแนวคิดการทำทีมของเขา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเมื่อเวลาผ่านไป และคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้สำเร็จในปี 1989-90 จากนั้นสโมสรมีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง ประสบความสำเร็จในแง่ถ้วยรางวัล และเหนือสิ่งอื่นใดก็คงต้องบอกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุค เฟอร์กี้ คือการเปลี่ยนสถานะทีมให้กลายเป็นทีมระดับ “เวิลด์ไวด์” ประสบความสำเร็จในการทำตลาดทั่วโลก สร้างเม็ดเงินมากมาย รวมถึงการขยายฐานแฟนคลับที่มากขึ้นภายในยุคสมัยของเขา
สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคของ เฟอร์กี้ คือความสำเร็จที่มาแบบถูกที่ถูกเวลา เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ พรีเมียร์ลีก ได้มีการรีแบรนด์ (ช่วงต้นยุค 90s) และผลักดันเรื่องการตลาดอย่างเต็มตัว จากนโยบายของรัฐบาลยุค มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ที่เปิดรับทุนนิยมทั้งในแง่ของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและเรื่องของฟุตบอล
การเริ่มต้นยุคสมัยของพรีเมียร์ลีกไม่ใช่แค่การเปลี่ยนฟุตบอลอังกฤษกับปัจจัยแค่ในประเทศ แต่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก เพราะพรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกฟุตบอลลีกแรกที่กล้าทำการตลาด ส่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไปทั่วทุกมุมโลก พยายามเจาะตลาดวงการลูกหนังประเทศอื่น เมื่อ ยูไนเต็ด ยุค เฟอร์กี้ เป็นทีมที่เล่นฟุตบอลสนุก คาแร็คเตอร์นักเตะดี มีภาพชัดเจน มีความสำเร็จ จึงทำให้พวกเขาเป็นต่อทีมอื่นๆในเรื่องของการตลาด และส่งให้สโมสรประสบความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม จนกลายเป็นทีมเบอร์ 1 แห่งเกาะอังกฤษ พ่วงได้การคว้าแชมป์ยุโรปในปี 1999
.. และการทำงานต่อจากสิ่งที่ เฟอร์กี้ ทำไว้ คืองานระดับสุดหิน นั่นคือภาพสะท้อนในยุคต่อๆมา
สะสมบารมีสู่สิทธิ์ขาด 100%
เมื่อมาถึงปี 2014 ที่ เฟอร์กี้ วางมือ ทุกอย่างของสโมสรอยู่ในระดับมาตรฐานที่สูงมาก ชนิดที่ทีมอื่นได้แต่มองตาปริบๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่หรือพอใจแค่สิ่งที่เป็นอยู่ ที่ ยูไนเต็ด ก็เช่นกัน เมื่อคนที่มีอิทธิพลต่อสโมสรในรอบ 20 ปี วางมือไป ภาระทั้งหมดจึงตกมาอยู่ที่คนสานงานต่อ ภารกิจคือ การต่อยอดจากสิ่งที่ เฟอร์กี้ ทำ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามันต้องเป็นสิ่งที่ยากแบบเข็นครกขึ้นภูเขา แม้กระทั่ง เฟอร์กี้ เองก็ยังกล่าวในสุนทรพจน์วันที่เขาประกาศวางมือว่า..
“ผมอยากฝากถึงแฟนบอลทุกคนว่า สโมสรแห่งนี้ให้ความสำคัญและยืนหยัดเคียงข้างผม โดยเฉพาะช่วงเวลาแย่ๆ ดังนั้น นับจากวันนี้เป็นต้นไป หน้าที่ของพวกคุณคือการต้องยืนหยัด ให้กำลังใจ และอยู่เคียงข้างผู้จัดการทีมคนใหม่ของเรา”
แม้จะพูดเช่นนี้ เพื่อเป็นการเตือนสติและฝากถึงแฟนๆ รวมถึงบอร์ดบริหารของทีมเอาไว้แล้ว แต่ความจริงคือ การมารับงานต่อจากผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เฟอร์กี้ คือสิ่งที่ยากที่สุด เพราะในวันที่ เฟอร์กี้ อยู่ที่นี่ เขามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในแทบทุกขั้นตอน ทั้งการเลือกซื้อ-ขายนักเตะ, การจัดการภายในทีมแบบห้ามใครเข้ามาล้วงลูกเด็ดขาด เรียกง่ายๆว่า ทั้งนักเตะ ทีมงานสตาฟฟ์ หรือตำแหน่งที่สูงกว่าอย่างผู้อำนวยการฟุตบอล เฟอร์กี้ มีสิทธิ์ตัดสินใจเต็ม 100%
สิทธิ์เหล่านี้เกิดจากการสร้างและสะสมมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า “เชื่อเฟอร์กี้ เดี๋ยวดีเอง” ไม่มีใครกล้าคัดค้าน แต่สำหรับผู้มาใหม่ การจะเข้ามาและขออำนาจหรือสิทธิ์การทำทีมแบบที่ เฟอร์กี้ ได้นั้นแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย พวกเขาจะต้องเริ่มสะสมสิ่งที่เรียกว่า “บารมี” ด้วยตัวเอง แต่ก็อย่างที่พวกเราได้เห็นกันจนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยมีใครก้าวขึ้นมามีอภิสิทธิ์ในการต่อรองกับบอร์ดบริหารของทีมแบบที่เฟอร์กี้เป็น
เรเน่ มิวเลนสตีน ทีมสตาฟฟ์คู่ใจของ เฟอร์กี้ เล่าถึงเหตุผลที่ไม่มีกุนซือหลังยุคของ เฟอร์กี้ ทำผลงานและสร้างความเคารพได้ใกล้เคียงกับที่เจ้านายเก่าเขาเคยทำได้ก็คือ “การแสดงออก” ที่สร้างความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ การทำให้คนอื่นสามารถเคารพได้ทั้งแนวคิด คำพูด และการปฎิบัติ คือสิ่งที่ เฟอร์กี้ ใช้สร้างความเชื่อมั่นกับนักเตะในทีมและบอร์ดบริหาร การเลือกคนแต่ละคนเข้ามาเป็นส่วนประกอบขององค์กร เกิดขึ้นโดยการคัดกรองอย่างละเอียดและต้องได้คนที่มองไปที่เป้าหมายเดียวกันจริงๆ
“ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ เซอร์ อเล็กซ์ เปล่งประกายทุกวันจนคนสัมผัสได้ คุณจะเห็นสิ่งต่างๆมากมายเกี่ยวกับฟุตบอลที่เขาหยิบจับเอามาใช้ วิธีคิดในการจัดการกับเกม การเปลี่ยนแปลงแท็คติก การพูดคุยกับผู้คนรอบตัวของเขาในสนามซ้อม เขาทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ ทำให้ทุกคนคิดว่า พวกคุณคือจิ๊กซอว์ที่สามารถร่วมกันประกอบกลายเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบ และทำให้ทีมบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้”
“เมื่อคุณทุกคนมองหน้าไปทิศทางเดียวกัน ที่เหลือมันก็ค่อนข้างจะง่ายเเล้ว พวกเราช่วยกันบี้และเคี่ยวเข็ญนักเตะในทีมให้โชว์ฝีเท้าเหมือนกับพวกเขาเป็นนักเตะระดับโลก”
“มันคือเรื่องความต่อเนื่องและมีแรงจูงใจเสมอ เช่น ถ้าคุณคว้าเเชมป์ลีกแล้ว คุณก็ต้องป้องกันเเชมป์ให้ได้ ถ้าคุณป้องกันได้ คุณก็ตั้งเป้าใหม่ด้วยการคว้าเเชมป์ 3 ครั้งติดต่อกัน Winning Mentality (แนวคิดของผู้ชนะ) คือเวทมนตร์วิเศษในยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ อย่างแท้จริง” นี่คือสิ่งที่ มิวเลนสตีน กล่าวถึงเจ้านายเก่า
ย้อนกลับหลังจากยุคของ เฟอร์กี้ กันอีกสักครั้ง ไม่มีกุนซือคนไหนไต่ระดับไปถึงขั้นที่ เฟอร์กี้ ทำได้เลย เราไม่ได้หมายถึงแค่การมีถ้วยเเชมป์และความสำเร็จ แต่คือการทำให้ตัวเองกลายเป็นศูนย์กลางขององค์กร ทุกคนเชื่อใจ สามารถตั้งความหวังในการทำงาน รวมถึงการร้อยเอาบุคคลในทุกๆตำแหน่งให้มองไปยังทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เปรียบดังพื้นฐานของการสร้างยุคสมัยของ เฟอร์กี้
ไม่มีกุนซือคนไหนได้เวลาเหมือนกับที่เฟอร์กี้ได้ ไม่มีกุนซือคนไหนที่ได้สิทธิ์ขาดเหมือนกับที่เฟอร์กี้มี, ไม่มีโค้ชคนไหนที่สร้างทีมให้มีทัศนคติ “เอาคือเอา” ให้กับนักเตะทั้งทีมได้แบบที่เฟอร์กี้ทำ นั่นคือความแตกต่างที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าผ่านเกมของยูไนเต็ดแต่ละนัดนับตั้งแต่เปลี่ยนโค้ชเมื่อปี 2014 เป็นต้นมา
เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าพวกเขาทั้งหลายไร้ความสามารถ ปราศจากน้ำยาแต่อย่างเดียว เพราะสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนนอกจากเวลาก็คือ บุคลากรส่วนอื่นๆของยูไนเต็ดก็เปลี่ยนไปมากจากยุคที่ เฟอร์กี้ เป็น โดยเฉพาะกลุ่มซีอีโอนั้น ก็มีผลอย่างมากในการฆ่ากุนซือยุคหลังเฟอร์กี้ทางอ้อม เพราะฟุตบอลไม่ใช่เรื่องแค่ในสนาม การบริหาร และวิสัยทัศน์ ก็มีผลชี้ขาดอนาคตของสโมสรไม่แพ้กัน
ลืมเเก่นแท้ของความสำเร็จ
หลังจากยุคของ เฟอร์กี้ แทบไม่มีกุนซือของยูไนเต็ดคนไหนที่ได้ทีมที่ตัวเองต้องการจริงๆจังๆเลยสักครั้ง และพวกเขาแต่ละคนก็ออกมาเปิดเผยหลังจากถูกไล่ออกตรงกันเกือบหมด นั่นคือการขาดการสนับสนุนที่ดีจากบอร์ดบริหารนั่นเอง
ในวันที่ เฟอร์กี้ วางมือ ไม่ใช่แค่เขาที่ออกจากทีมเพียงคนเดียว ยังมี เดวิด กิลล์ ซีอีโอของทีมที่ลาออกพร้อมกันด้วย ทั้งคู่เปรียบเหมือนยอดจอมยุทธ์กับยอดกระบี่ที่ทำงานสอดประสาน ทำให้เรื่องฟุตบอลกับเรื่องธุรกิจยังเดินหน้าไปพร้อมกันได้ โดยไม่ทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้เบื้องหลัง
“เราอาจจะสนเรื่องธุรกิจมากขึ้น แต่ธุรกิจของเราคืออะไรล่ะถ้าไม่ใช่ฟุตบอล? ดังนั้น เรื่องในสนามจะต้องสำคัญไม่แพ้ใคร เราจะไม่ยอมให้องค์ประกอบส่วนอื่นๆมารบกวนเรื่องฟุตบอลเด็ดขาดเลย เราจะใช้ฟุตบอลที่เรามี เป็นตัวเปิดประตูสู่โลกกว้างไปอยู่ในเกมที่โลกสนใจมากขึ้น” กิลล์ เคยกล่าวกับเว็บไซต์ Management Today
ขณะที่ เฟอร์กี้ ก็ยกย่อง กิลล์ ไม่ต่างกันว่า “เดวิด กิลล์ เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ เชื่อไหม ผมกับเขามีเรื่องให้คอยโต้แย้งและเถียงกันเป็นล้านๆครั้ง แต่ผมกลับสนุกมากที่ได้เถียงกันกับเขา มันเป็นแบบนั้นทุกครั้งไป เพราะผมรู้ว่าเดวิดเป็นคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการอยู่ตรงนี้ เขาเป็นคนตรง และสองคือ เขามีความคิดเหมือนกับผม คือต้องการให้ยูไนเต็ดเป็นที่ 1 เสมอ”
“ยูไนเต็ดเป็นที่ 1 เสมอ” เมื่อ 2 คนที่คิดแบบนี้ออกจากทีมไปพร้อมๆกัน ก็ไม่แปลกที่เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบของทีมๆนี้
เอ็ด วู้ดเวิร์ด คือชื่อของซีอีโอที่เข้ามาสานงานต่อในส่วนที่ กิลล์ ทำไว้ โดยตัวของ วู้ดเวิร์ด ทำได้ดีมากในพาร์ทนอกสนาม หรือการสร้างรายได้ผ่านแบรนด์ของสโมสร ดังที่เราได้เห็นข่าวการเปิดตัวสปอนเซอร์ใหม่ๆของทีมอยู่บ่อยๆ หรือการทำการตลาดที่แปลกใหม่มีความร่วมสมัยเสมอๆ
แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคที่ วู้ดเวิร์ด เป็นซีอีโอ มีการจัดการทีมที่ยอดเยี่ยมในเรื่องธุรกิจ สโมสรแห่งนี้มีหน่วยงานของตัวเองที่แยกตัวออกมาทำงานอย่างชัดเจน ทั้งฝั่งที่ดูแลเรื่องสินค้า, ฝั่งกิจการด้านโทรทัศน์, ฝั่งแบรนด์ต่างประเทศ, ฝั่งสื่อสารกับแฟนบอล, ฝ่ายโฆษณา เรียกได้ว่ามีผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถในแต่ละแขนงที่จะมาคอยบริหารจัดการให้ทีมปีศาจแดงยังคงประสบความสำเร็จด้านธุรกิจและรับมือได้กับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
แม้แต่เว็บไซต์หลักของสโมสรก็ได้เขียนอธิบายเป้าหมายของสโมสรว่า “เป้าหมายของเราคือการเพิ่มรายได้และกำไร ด้วยการขยายการเติบโตของธุรกิจที่จะช่วยเสริมสร้างแบรนด์, ฐานแฟนคลับในระดับโลก และความพร้อมด้านการตลาด” นี่คือข้อความในเว็บไซต์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง
เมื่อเราเอาคำพูดของ เฟอร์กี้ และ กิลล์ ที่บอกว่า “ยูไนเต็ด คือที่ 1 เสมอ” มาเปรียบเทียบกับเป้าหมายปัจจุบันที่กล่าวไว้ข้างต้น เราสามารถเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่แทบไม่ต้องวิเคราะห์อะไรให้ลึกไปมากกว่านี้
หลังยุคเฟอร์กี้ ยูไนเต็ดยังคงใช้เวลาสร้างแบรนด์ทำให้พวกเขาดูแข็งเเกร่งยืนหนึ่งเป็นหลัก ในด้านธุรกิจฟุตบอลชนิดที่ว่า เมื่อนึกถึงทีมฟุตบอลสักทีม คนทั้งโลกอาจจะนึกถึงชื่อพวกเขาเป็นสโมสรแรก และพวกเขาก็ทำสำเร็จแล้วด้วย สโมสรวางรากฐานด้านการตลาดที่แข็งแกร่งเอาไว้แล้ว ต่อให้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการแข่งขัน พวกเขาก็ยังเติบโตในแง่ของเม็ดเงินได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งทุกวันนี้ห่างแชมป์มา 9 ปีแล้ว สโมสรนี้ก็ยังคงเป็นทีมที่ไม่เคยหลุดจากท็อป 5 สโมสรฟุตบอลที่สร้างรายได้มากที่สุดในแต่ละปี
พวกเขากลายเป็นทีมที่เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย นักเตะบางคนที่โค้ชอยากจะได้จริงๆกลับไม่ยอมสนับสนุนเรื่องเงิน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาได้เห็นความผิดพลาด พวกเขาก็จะเริ่มทุ่มเงินก้อนใหญ่เพื่อเอามาอุดช่วงเวลาที่ผิดพลาดไป ซึ่งส่วนมากมันช้าเกินไป เสียโอกาสที่ควรจะได้เดินไปข้างหน้ากลับถอยหลัง เสียเวลาไปเปล่าๆโดยที่เรื่องในสนามไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย
นับตั้งแต่ยุคของ มอยส์ นั้น เขาเคยบอกว่า เขาอยากได้ ติอาโก้ อัลคันทาร่า และ เชส ฟาเบรกัส แต่สุดท้ายก็ไม่ได้, ยุคของ ฟาน กัล เขาอย่างได้ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, โธมัส มุลเลอร์, เซร์คิโอ รามอส, มัตส์ ฮุมเมิลส์ และคนอื่นรวมกว่า 10 คนที่เขาร้องขอ แต่กลับไม่ได้ใครมาร่วมทีมเลยแม้แต่คนเดียว
ยุคของ มูรินโญ่ เขาอยากได้กองหลัง และ มิดฟิลด์ดีๆสักคน แต่ทีมกลับซื้อนักเตะที่เขาไม่ได้อยากจะได้อย่าง วิคเตอร์ ลินเดอเลิฟ และ เฟร็ด มาร่วมทีม บวกกับความอ่อนประสบการณ์ของผู้บริหาร พวกเขาได้ตัวนักเตะที่ราคาแพง แต่เล่นได้ไม่คุ้มค่ามากมาย ทั้ง ปอล ป็อกบา, โรเมลู ลูกากู, อังเคล ดิ มาเรีย, อารอน วาน บิสซาก้า และ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ นี่คือชื่อของนักเตะที่มีราคาแพงกว่า 50 ล้านปอนด์ ที่ยูไนเต็ดจ่ายอย่างบ้าคลั่ง นอกจากนี้ ยังมีนักเตะอีกหลายคนที่ซื้อมาด้วยราคาที่แพงมาก แต่กลับไม่ได้ใช้งาน ทั้ง ดอนนี ฟาน เดอ เบ็ค, อาหมัด ดิยาลโล่, ดิโอโก้ ดาโลต์ และ อองโทนี่ มาร์กซิยาล เป็นต้น
เห็นจะมีแต่ยุคของ โซลชาร์ เท่านั้นที่ได้ในสิ่งที่ตัวเขาต้องการ และสามารถเอาตัวเองไปอยู่ในสถานะที่เจรจาเรื่องการซื้อขายกับบอร์ดบริหารได้ แต่ด้วยประสบการณ์ และความสามารถด้านโค้ชของโซลชาร์ ก็ยังเป็นรองคนอื่นๆ ทำให้ยูไนเต็ด ในยุคของเขาก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จดั่งใจหวัง
ยิ่งซื้อนักเตะผิดพลาดเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้เวลาเคลียร์ความผิดพลาดนั้นมากขึ้น ยิ่งในยุคโมเดิร์นฟุตบอลที่รอกันไม่ได้ เวลาแต่ละปีมีค่า มีราคาต้องจ่าย ทีมต้องแบกค่าเหนื่อยของนักเตะที่แพงเกินเหตุ แถมเต็มไปด้วยนักเตะที่ขาดทัศนคติที่ดี ขาดความมุ่งมั่นทุ่มเท โค้ชแต่ละคนต้องมาเสียเวลาจัดการนักเตะที่พวกเขาไม่ได้ใช้งาน หรือหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับนักเตะที่จำเป็นต้องเข็นลง มันก็ยิ่งเหมือนการจับปูใส่กระด้ง ทีมไม่เข้าล็อคเข้าที่เสียที จนยากที่จะไล่ตามทีมที่มีแนวทางและวิธีการชัดเจน เลือกโค้ชที่เหมาะกับทีม และให้สิทธิ์โค้ชในการเลือกนักเตะเพื่อเอามาใส่ในระบบของพวกเขาด้วยตัวเอง เหมือนกับที่ แมนฯ ซิตี้ ให้ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า และ ลิเวอร์พูล ให้เวลากับ เยอร์เก้น คล็อปป์ เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมา ประกอบด้วยเหตุผลหลักๆที่ผู้จัดการทีมหลังยุคเฟอร์กี้ ล้มเหลวไม่เป็นท่าตามๆกัน ได้แก่ การไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาดของสโมสรได้ ไม่ว่าจะด้วยการขาดบารมี การขาดภาวะผู้นำ หรือการที่พวกเขาไม่สามารถซื้อความเชื่อใจจากบอร์ดบริหารให้สนับสนุนพวกเขาได้เหมือนกับที่บอร์ดบริหารชุดเก่าเคยมอบให้กับ เฟอร์กี้ ได้
เรื่องนี้อาจจะมีคนผิดหลายคน แต่ที่สุดเเล้วคนรับผิดชอบที่เห็นภาพได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดคือ “ผู้จัดการทีม” ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ มอยส์, ฟาน กัล, มูรินโญ่ และ โซลชาร์ ต่างก็จบสถานะกุนซือของทีมด้วยการโดนปลดออกจากตำแหน่งทั้งสิ้น มันแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่แฟนบอลที่ไม่สนับสนุนพวกเขา แม้แต่บอร์ดบริหารก็ไม่สามารถยืนหยัดร่วมรับแรงกัดดันที่เกิดขึ้นกับพวกเขาได้
สิ่งที่ เฟอร์กี้ ขอในวันสุดท้ายของการทำงาน ถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิงพร้อมๆกับความล้มเหลวปีแล้วปีเล่า คำว่า “ยูไนเต็ด ต้องเป็นที่ 1 เสมอ” ไม่มีอีกเเล้ว และมันคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป หากพวกเขายังไม่กลับสู่หนทางไปสู่ความสำเร็จขั้นพื้นฐานของสโมสรฟุตบอลสโมสรหนึ่ง นั่นคือ “การให้ความสำคัญเรื่องฟุตบอลเป็นอันดับแรก”
“แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่เน้นในเรื่องการตลาด การค้า รวมถึงการแสวงหาผลกำไร นั่นคือสิ่งที่ยากลำบากสำหรับโค้ชทุกคน ดังนั้น เอริค เทน ฮาก ควรไปคุมสโมสรที่เน้นฟุตบอลจะดีกว่า”
นี่คือสิ่งที่ หลุยส์ ฟาน กัล พูดถึงทีมเก่าของเขาอย่างเห็นภาพชัดๆภายในไม่กี่คำ พร้อมๆกับการแนะนำ เอริค เทน ฮาก ที่กำลังจะกลายเป็นกุนซือคนใหม่ของปีศาจเเดงในฤดูกาลหน้า