รุด กุลลิต, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, เอ็ดการ์ ดาวิดส์, คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ, แพทริก ไคลเวิร์ต, จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงก์ และอีกหลายคน คือนักเตะคนสำคัญของทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่มีเชื้อสายซูรินาม
พวกเขาลงเล่นรับใช้ทัพอัศวินสีส้ม ช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จและกลายเป็นทีมแถวหน้าของยุโรป แต่กลับกัน อีกสัญชาติของพวกเขาล่ะ ทำไมจึงไม่มีใครเล่นให้ทีมชาติซูรินามบ้าง?
เรื่องนี้มีที่มา จากอดีตจนถึงการเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบันของทีมชาติซูรินามเป็นเช่นไรบ้าง?
ติดตามได้ที่นี่..
การอพยพที่ปฏิวัติฟุตบอลดัตช์
ซูรินาม เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ พวกเขาเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในทวีปและมีประชากรราว 5 แสนคนเท่านั้น
ซูรินาม มีวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงกับชาติในแถบทะเลแคริบเบียนที่สร้างรายได้เข้าประเทศจากการทำประมงและผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว กล้วย น้ำตาล แต่สินค้าส่งออกที่โด่งดังที่สุดของพวกเขาอีกอย่างก็คือ “นักฟุตบอล”
รุด กุลลิต, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, เอ็ดการ์ ดาวิดส์, คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ, แพทริก ไคลเวิร์ต, จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงก์ รวมถึงนักเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์อีกมากมายหลายชื่อ พวกเขาเหล่านี้ต่างมีเชื้อสายซูรินามทั้งสิ้น ประเทศที่อยู่ในแถบแคริเบียนไปเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลกับฟุตบอลเนเธอร์แลนด์ได้อย่างไร?
เรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งซูรินามตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์” ถูกใช้เป็นสถานที่เพาะปลูกและจัดหาสินค้าเข้าสู่เมืองใหญ่ แน่นอนว่าในยุคนั้นยังเป็นยุคค้าทาส ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวดัตช์ที่มีอำนาจได้ซื้อตัวทาสจากทวีปแอฟริกาไปเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ทำงานเกษตร และอุตสาหกรรมต่างๆ
แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่ทาสชาวแอฟริกันเท่านั้น เพราะเมื่อถึงวันที่งานมากกว่าคน ชาวดัตช์ได้เปลี่ยนประชากรท้องถิ่นชาวซูรินามให้เป็นทาสที่งานส่วนใหญ่คือการทำงานในไร่นาและถูกปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยม มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดความเกลียดชังที่ฝังรากกันมาตั้งแต่ยุคนั้น
ซูรินามต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์นานกว่า 300 ปี กระทั่งได้รับอิสรภาพกลายเป็นประเทศเอกราชที่ปกครองด้วยตนเองในปี 1975 แม้จะยังมีขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นชาวดัตช์แฝงอยู่ก็ตาม
การถูกกดขี่มากว่า 300 ปี ส่งผลให้ต่อให้ซูรินามจะกลายเป็นประเทศอิสระ แต่ชาวซูรินามก็ไม่สามารถหาทางลืมตาอ้าปากในประเทศของตัวเองได้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวซูรินามเริ่มอพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน บางกลุ่มไปที่สหรัฐอเมริกาหรือแคนาดาที่อยู่ในทวีปเดียวกัน และบางกลุ่มก็ได้ย้ายไปยัง เนเธอร์แลนด์ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักเตะดัตช์หลายคนจึงมีเชื้อสายซูรินาม โดยเฉพาะกลุ่มนักเตะแถวหน้าที่กลายเป็นกำลังสำคัญในการพาทีมประสบความสำเร็จจนกลายเป็นทีมแถวหน้าในยุโรป
รุด กุลลิต, แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, เอ็ดการ์ ดาวิดส์, คลาเรนซ์ เซดอร์ฟ, แพทริก ไคลเวิร์ต, จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงก์ และอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง รายชื่อเหล่านี้คือนักเตะดัตช์เชื้อสายซูรินามฝีเท้าดีทั้งสิ้น
พวกเขาทั้งหมดเลือกเล่นให้ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ตามที่หลายคนรู้กัน แต่คำถามคือทำไมไม่มีใครสักคนที่เลือกเล่นให้กับทีมชาติซูรินามที่เป็นอีกสัญชาติของพวกเขาบ้างล่ะ? เรื่องนี้มีที่มา..
บอลไม่เน้น เน้นศักดิ์ศรี
มันมีสาเหตุที่ซูรินามไม่ได้เลือกใช้นักเตะ 2 สัญชาติติดทีมชาติเลยในช่วงแรกเริ่มของการก่อตั้งทีมชาติ เรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและความหยิ่งทะนงของพวกเขาเอง
การเป็นประเทศราชของเนเธอร์แลนด์ในยุคล่าอาณานิคมนั้น สำหรับชาวซูรินาม ถือเป็นประสบการณ์การถูกกดขี่ที่ขมขื่นสำหรับพวกเขา ดังนั้น รัฐบาลซูรินามจึงได้ตัดสินใจว่านักเตะที่ย้ายไปเล่นฟุตบอลที่เนเธอร์แลนด์หรือถือครองสองสัญชาติจะไม่มีสิทธิ์ในการเป็นสมาชิกทีมชาติซูรินาม
เรื่องนี้มันอาจจะเป็นการตัดกำลังตัวเองไปในตัว เพราะซูรินามเองก็ไม่ได้มีลีกฟุตบอลที่แข็งแกร่ง พวกเขามีลีกฟุตบอลในประเทศก็จริง แต่มีเพียงพีระมิดเดียว มีการแข่งขันน้อย เช่นเดียวกับอัตราค่าจ้างและการลงทุนของของทีมต่างๆในประเทศ ทำให้นักเตะสัญชาติซูรินามที่ไม่ได้เล่นและเติบโตในเนเธอร์แลนด์เป็นนักเตะที่ยังมีคุณภาพน้อยเป็นเงาตามตัว
ขณะเดียวกัน นักเตะซูรินามที่เป็นดาวรุ่งฝีเท้าดีที่มีแววจะกลายเป็นนักเตะที่ดีในอนาคต พวกเขาก็มองข้ามการเล่นในลีกฟุตบอลในประเทศไปด้วย เนื่องจากการไปเล่นในเนเธอร์แลนด์นั้นมอบโอกาสกับชีวิตให้พวกเขาได้มากกว่า เช่น รุด กุลลิต กับ เอ็ดการ์ ดาวิดส์ ซึ่งเกิดที่ซูรินาม พวกเขาก็มุ่งตรงไปยังเนเธอร์แลนด์เพื่อชีวิตใหม่ที่ดีกว่า โดยทิ้งโอกาสการเล่นให้ทีมชาติซูรินามไปแบบไม่มีอะไรต้องเสียดายนัก
การมุ่งหน้าสู่เนเธอร์แลนด์เปรียบเสมือนวิกฤตสมองไหลของฟุตบอลทีมชาติซูรินาม แต่มันก็ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะทางเลือกในการไปยังเนเธอร์แลนด์นั้นมีโอกาสเติบโตกว่ามาก เมื่อหันกลับมามองที่ซูรินาม รัฐบาลของพวกเขาก็ดูจะไม่สนใจและยึดมั่นคำเดิมเสมอไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาเลือกแต่นักเตะที่อยากจะเล่นให้ซูรินามจริงๆเท่านั้น ใครที่ย้ายไปเนเธอร์แลนด์และไม่สนใจการติดทีมชาติซูรินาม พวกเขาก็ไม่เคยง้อและเรียกร้องให้กลับมาติดทีมชาติใดๆทั้งสิ้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้ฟุตบอลทีมชาติซูรินามซบเซามาอย่างยาวนาน
จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงมาบังเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทีมชาติซูรินามเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่งจดหมายเชิญนักเตะสัญชาติซูรินามที่เล่นในเนเธอร์แลนด์และทั่วยุโรปให้กลับมาติดทีมชาติซูรินาม
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจากชายที่มีชื่อว่า จอห์น คริชห์นาดัท (John Krishnadath) ผู้ปฏิวัติทีมชาติซูรินามสู่ทีมยุคใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้นด้วยนักเตะสองสัญชาตินั่นเอง
โลกยุคใหม่เปิดกว้างเพื่อทีมชาติ
จอห์น คริชห์นาดัท ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานสมาคมฟุตบอลซูรินามในปี 2009 หลังจากรับงานเขาได้พูดคุยและเข้าประชุมกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA เพื่อปรึกษาเรื่องแผนพัฒนาวงการฟุตบอลซูรินามในยุคของเขา
FIFA เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้ คริชห์นาดัท ได้ลองเปิดใจเลือกนักเตะสองสัญชาติมาติดทีมชาติดู และมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีนักเตะหลายคนในยุโรปที่มีเชื้อสายซูรินาม และส่วนใหญ็ไม่เคยติดทีมชาติชุดใหญ่ให้กับชาติในยุโรปด้วย
คริชห์นาดัท เล่าว่า เขาได้แนวคิดนี้มาจากทีมชาติแอลจีเรียที่มีพัฒนาการด้านฟุตบอลอย่างรวดเร็ว หลังมีการเลือกนักเตะสองสัญชาติมาติดทีมชาติ จนกระทั่งแอลจีเรียกลายเป็นทีมแกร่งแถวหน้าของทวีปแอฟริกา โดยมีกำลังหลักจากนักเตะที่ลงเล่นในลีกฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่
คริชห์นาดัท แทงเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลซูรินาม เพื่อให้นำเรื่องนี้ขึ้นเป็นมติแห่งชาติ เขาขอให้มีการเปิดรับนักเตะสองสัญชาติให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศซูรินาม และขอเงินทุนพิเศษสำหรับนักเตะสองสัญชาติที่เลือกมาเล่นให้กับซูรินามเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจให้เพิ่มมากขึ้น โดยเป้าหมายคือการไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2018 นั่นเอง
การเสนอของ คริชห์นาดัท ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาของซูรินามทั้งหมด 51 เสียงและผ่านมติฉลุย จากนั้นการส่งเทียบเชิญนักเตะ 2 สัญชาติจำนวน 100 คนก็เริ่มขึ้น ซึ่งการส่งจดหมายเชิญครั้งนี้ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี โดยมีนักเตะถึง 85 คนที่ตอบรับการเชิญชวนของซูรินาม และมีนักเตะหลายคนที่มีประสบการณ์ระดับสูงเช่น ไรอัน ดองค์ ที่เคยเล่นในพรีเมียร์ลีกกับ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน, ฟลอเรียน โจเซฟซูน ที่เคยเล่นให้กับ ดาร์บี้ เคาน์ตี้, ดิเอโก บิเซสวาร์ ที่อยู่ในทีมชุดใหญ่ของ เฟเยนูร์ด เป็นต้น
ปัจจุบัน ทีมชาติซูรินามก็แข็งแกร่งขึ้นแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากในช่วงก่อนปี 2009 พวกเขายังคงอยู่ในอันดับที่ 190 ของ ฟีฟ่าแรงกิ้งอยู่เลย ทว่าปัจจุบันซูรินามทำอันดับขยับขึ้นมาอยู่ที่ 140 ของโลก และยังสู้กับชาติในโซนคอนคาเคฟแถวหน้าได้อย่างสนุก โดยในการคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 แม้พวกเขาจะตกรอบคัดเลือกรอบแรก แต่ก็จบอันดับ 2 จากการคัดเฉพาะแชมป์กลุ่มทีมเดียวที่ได้ไปต่อ โดยแพ้ให้กับ แคนาดา แชมป์กลุ่มแค่ทีมเดียวเท่านั้น
คริชห์นาดัท ที่ยังนั่งเก้าอี้ตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลของซูรินามมาจนถึงทุกวันนี้ยืนยันว่า การเลือกใช้นักเตะ 2 สัญชาติเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการพัฒนาระยะยาวเท่านั้น ต่อจากนี้ ซูรินามจะติดตามฟอร์มนักเตะ 2 สัญชาติตั้งแต่รุ่นเยาวชน มีแผนการพัฒนามาตั้งแต่ฟุตบอลเด็ก และจะเพิ่มรายได้ให้กับบุคลากรฟุตบอลในประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งหมดนี้คือแนวทางที่ ซูรินาม เลือกใช้มาตลอดหลายปีหลัง ต่อจากนี้พวกเขาจะมีนักเตะที่ดีขึ้นจากการเปิดใจให้กับนักเตะ 2 สัญชาติ ไม่แน่ว่าเราอาจจะเห็น นิว กุลลิต, นิว เซดอร์ฟ หรือ นิว ไคลเวิร์ต ลงเล่นในฐานะนักเตะทีมชาติซูรินามก็เป็นได้