“ขอบคุณมาร์เซโล สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ผม คุณมองเห็นบางสิ่งในตัวผมที่ผมไม่เห็นด้วยซ้ำ คุณทำให้ผมเติบโตในฐานะนักเตะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือในฐานะมนุษย์” คาลวิน ฟิลลิปส์ กล่าว
มาร์เซโล บิเอลซา และ ลีดส์ ยูไนเต็ด กลายเป็นเส้นขนาน เมื่อทีมแห่งแคว้นยอร์กเชียร์ ตัดสินใจแยกทางกับกุนซือชาวอาร์เจนตินา จากผลงานที่ย่ำแย่ในฤดูกาลนี้
ทว่าแม้จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่ บิเอลซา กลับไม่ได้ถูกก่นด่ามากนัก แถมแฟนบอลยังไปให้กำลังใจและกล่าวคำลากับเขาถึงสนามซ้อมของลีดส์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ขณะที่เหล่านักเตะต่างแสดงข้อความขอบคุณและอวยพรให้แก่อดีตเจ้านายของเขา
อะไรที่ทำให้ บิเอลซา เป็นที่รักและได้รับการนับถือขนาดนี้ ? เราอาจจะต้องย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้นของเขาที่ นีเวลล์ส โอลด์ บอยส์ สโมสรในอาร์เจนตินา
ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
โค้ชหนุ่มที่นักเตะกังขา
มาร์เซโล บิเอลซา คือหนึ่งในโค้ชที่ชื่นชอบในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) จนถึงขั้นหมกมุ่น และเขาก็เป็นแบบนี้ตั้งแต่สมัยยังค้าแข้งกับ นีเวลล์ส โอลด์ บอยส์ ในลีกอาร์เจนตินา
“เขาคือมนุษย์แห่งความถูกต้อง มีความเป็นสุภาพบุรุษทั้งในและนอกสนาม มีความเข้มงวดและรับผิดชอบมาก” อัลแบร์โต คาร์รัสโซ โกลระดับตำนานของนีเวลล์สที่เคยเล่นในยุคเดียวกับบิเอลซา กล่าวกับ The Athletic
Photo : www.futebolportenho.com.br
อันที่จริงการเข้าสู่วงการฟุตบอลของ บิเอลซา อาจจะเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เขาเติบโตมาจากครอบครัวของทนายที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ และเป็นหลานของ ราฟาเอล บิเอลซา ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชื่อดังของอาร์เจนตินา และเจ้าของตำราอีกหลายเล่ม
แต่ บิเอลซา ก็แหวกขนบของครอบครัวมาเลือกเล่นฟุตบอลและเข้าร่วมทีม นีเวลล์ส สโมสรในบ้านเกิด ก่อนจะได้ประเดิมสนามกับทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในตำแหน่งกองหลัง ในปี 1975 ทว่าน่าเศร้าที่เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพของเขาจบลงในอีก 5 ปีหลังจากนั้น
อย่างไรก็ดีเขายังอยู่ในวงการฟุตบอล หลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะสตาฟโค้ชเยาวชนของ นีเวลล์ส ในช่วงทศวรรษที่ 1980s ด้วยวัยเพียง 25 ปี และทำให้เด็กในทีมรู้สึกว่าบางอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป
บิเอลซา มาพร้อมกับการซ้อมที่เข้มข้น และการสั่งให้นักเตะในกลุ่มที่เขารับผิดชอบ วิ่ง วิ่ง และวิ่ง จนทำให้นักเตะเยาวชนเกิดคำถาม รวมถึง ฟาเบียน คอสเตโญ ที่รู้สึกหงุดหงิดจากทั้งอากาศที่ร้อนและความเหนื่อยล้า จึงรวบรวมความกล้าเข้าไปคุยกับเขาว่าทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร
“ปล่อยให้เด็กกลุ่มอื่นเล่นไปก่อน แต่เราจะทำแบบนี้ พอจบฤดูกาลเราจะชนะทุกทีมแล้วคว้าแชมป์” บิเอลซา ตอบเขา
Photo : www.institutofutbol.com
ในตอนนั้นเขาไม่เข้าใจในคำตอบมากนัก แถมยังรู้สึกกังขากับแนวทางของโค้ชคนนี้ เพราะในตอนนั้นภาพของโค้ชในอาร์เจนตินาจะเป็นผู้สูงวัยเก๋าประสบการณ์ แต่ บิเอลซา เพิ่งจะอยู่ในวัย 20 ปลาย ๆ เท่านั้น
“สำหรับพวกเราทุกคน เขายังหนุ่มเกินไปที่จะมาเป็นโค้ช ถึงปัจจุบันคนทุกช่วงอายุสามารถมาเป็นโค้ชได้ แต่ในตอนนั้นโค้ชเป็นภาพแทนของคนแก่” คอสเตโญ กล่าวกับ The Athletic
“บอกตามตรง ผมรู้สึกระแวงเล็กน้อย และไม่ประทับใจเลยกับความคิดว่าชายคนนี้จะมาเป็นโค้ช ผมรู้ว่ามันฟังดูบ้าแค่ไหน แต่นั่นคือความรู้สึกแรกของผม”
“แต่หลังจากนั้น ผมไม่เคยมองโค้ชในเชิงนี้อีกเลย ไม่เคยเลย”
รูปแบบการซ้อมสุดเฮี้ยบ
ไม่เพียงแต่ความกังขาในรูปแบบการซ้อม แนวคิดของเขายังแปลกและแหวกแนวกว่าโค้ชคนอื่นในยุคนั้น ยกตัวอย่างเช่น การให้นักเตะมาถึงก่อนแข่ง 20 นาที เพื่ออธิบายแผนในระดับละเอียดยิบ แถมบางครั้งเขายังมาถึงก่อนสนามเปิดเสียอีก
“เขามีรายละเอียดและแทคติกยิบย่อยมากเกินไปกว่าที่จะทำความเข้าใจได้ในเวลาแค่ 20 นาที เขาไม่เคยพูดว่า ‘นี่คือชุดของพวกเขานาย เอาไปแล้วลงไปเล่น’ มันต่างออกไปมาก” คอสเตโญ กล่าวกับ The Athletic
Photo : twtext.com
บิเอลซา ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นกิจวัตรประจำ ด้วยระบบที่เขาเซ็ตขึ้นมา ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วค่อยมาปรับความคิดให้ตรงกันในฐานะทีม มันมีความเป็นมืออาชีพ ทั้งที่ตอนนั้นทีมที่เขาดูแลเป็นแค่ทีมเยาวชน
นอกจากนี้ก่อนจะเริ่มเขี่ยลูก บิเอลซา ยังให้ผู้เล่นเยาวชนของเขามาวิ่งให้เต็มกำลัง และมันทำให้หลายคนมองว่าเป็นการเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ แต่โค้ชหนุ่มก็อธิบายว่ามันเป็นเรื่องของ “กรดแลคติก”
กรดตัวนี้จะหลั่งออกมาตอนที่ร่างกายใช้แรงอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นเหนื่อยล้าจนเป็นตะคริว ดังนั้น บิเอลซา จึงให้ร่างกายสร้างมันมาตั้งแต่ก่อนแข่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อมีเวลาคลายตัวและสามารถวิ่งได้มากขึ้นในสนาม
“จริงอยู่ที่มันถูกต้อง แต่ลองคิดดู การเป็นเด็กอายุ 16 ปีเหมือนผมในปี 1982 กรดแลคติก บลา บลา บลา คุณได้ยินมัน แต่ไม่เข้าใจ พวกเราไม่มีใครเห็นสิ่งที่เขาต้องการสื่อ จนกว่าเกมจะเริ่มขึ้น” คอสเตโญ กล่าวต่อ
“หลังจากนั้นคุณจะรู้สึกแข็งแรงขึ้น รู้สึกดี และรู้สึกเหมือนวิ่งได้มากกว่าเดิม อากาศก็ต่างไปจากเดิม เพราะกล้ามเนื้อมีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว อย่างที่เข้าใจ เขารู้เรื่องนี้และในปัจจุบันทุกคนก็รู้เรื่องนี้”
คอสเตโญ เรียกการฝึกนี้ว่า “กรดแล็คติก” ขณะเดียวกันมันยังมีการฝึก Total Instep หรือการส่งบอลด้วยลูกเต็มข้อ ที่สามารถส่งให้เพื่อนร่วมทีมได้เร็วกว่าและแม่นยำกว่า ที่เขาบอกว่าต้องฝึกเมนูเดียวนี้อยู่เป็นชั่วโมง
หรือ “Handball Perfection” ที่ให้ผู้เล่นส่งบอลด้วยมือ แต่ต้องเคลื่อนที่หาตำแหน่งเหมือนกำลังอยู่ในการแข่งขัน มันคือแบบฝึกที่ต้องใช้สมองอย่างแท้จริงในการหาพื้นที่
Photo : newellscarajo.com
“ผมไม่เคยได้ยินเรื่องการวิ่งโดยไม่มีบอลมาก่อน ที่เขาทำคือให้ผู้เล่นคนหนึ่งมีบอล และให้คนอื่นวิ่งออกไปในทิศทางที่ต่างกันไปเรื่อย ๆ โดยห้ามสัมผัสบอล” คอสเตโญ อธิบาย
“มันร้อนมาก ต้องวิ่งอยู่ราว 15-20 นาที คุณจะเหงื่อท่วมและเหนื่อยมาก ผมเคยถามบิเอลซาว่า ‘มาร์เซโล ทำไมผมต้องทำแบบนี้ ?’ เขาบอกผมว่า เพราะว่าการวิ่งแบบนี้จะทำให้อีกฝ่ายเสียสมาธิ การเคลื่อนที่คือสิ่งสำคัญ และมันจะทำให้เราเล่นได้ดีขึ้น”
“ลองมองดูในปัจจุบัน เราจะเห็นการเคลื่อนที่แบบนี้ในทีมเก่ง ๆ เหมือนกับที่เขาพูด นี่เป็นการสอนแบบสมัยใหม่ เขาทำลายกรอบในหัวของเรา เขาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างและมอบบทเรียนที่เหมือนเป็นการบันทึกอยู่ในหัวของคุณตลอดไป เราวิ่งเหมือนกับสิงโตในสนาม มากกว่าทีมเอหรือทีมบี เขาทำจนแม่นยำ และเราก็คว้าแชมป์”
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ บิเอลซา ได้รับการนับถือ
เว้นช่องว่างระหว่างนักเตะ
นอกจากภาพของความเป็นขบถ สำหรับแข้งเยาวชนเขายังมีบุคลิกที่เข้าถึงยาก ด้วยการเว้นช่องว่างระหว่างนักเตะกับโค้ช เขาไม่สุงสิงกับนักเตะนอกจากเรื่องงาน และเขาไม่เคยร่วมหัวเราะไปกับมุกตลกของแข้งในความดูแล
“หลายครั้งที่เราชวนเขาเล่น ‘ฟุตบอลแบบสนุก ๆ’’ เล่นกันแบบเล่น ๆ แทนที่จะจริงจังไปหมด” คอสเตโญ ในวัย 55 ปีย้อนความหลังกับ The Athletic
“เขาปฏิเสธทุกครั้ง เขาไม่เคยมาร่วมวงกับเราเลย แม้กระทั่งตอนที่เราขอร้อง เรารู้สึกสับสน ทำไมชายคนนี้จึงไม่อยากมาสนุกกับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่โค้ชส่วนใหญ่ทำ”
“เขามีความจริงจังและอยากรักษาระยะห่าง ผมเป็นคนแก่แล้วตอนนี้และผมก็เข้าใจดี เขาต้องทำแบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกนักที่จะลองทำและเป็นเพื่อนกับเรา”
Photo : espndeportes.espn.com
บิเอลซา ยืนยันเรื่องนี้ด้วยตัวเองในปี 2019 เพราะเขาก็ยังเป็นแบบนี้แม้กระทั่งในปัจจุบัน เขาบอกว่าเขารักนักเตะทุกคน แต่เขาไม่อยากสนิทกับใคร และวิธีนี้มันก็จะดีต่อตัวนักเตะเอง นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่จริงจังในระดับความสัมพันธ์
“ถ้านักเตะสนิทกับผม พวกเขาอาจจะนับถือผมน้อยลง เพราะพวกเขารู้ว่าจริง ๆ แล้วผมเป็นอย่างไร” บิเอลซา อธิบาย
“ผมไม่ได้หมายความว่าผมทำในสิ่งที่ผมไม่ได้เป็น แต่มันจะดีสำหรับพวกเขาที่จะเห็นผมจากระยะห่างนั้น แทนที่จะเห็นอย่างใกล้ชิด เพราะว่าเป้าหมายของผมคือรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นทั้ง 20 คนให้เป็นไปในแบบเดียวกัน”
อันที่จริงความจริงจังของ บิเอลซา ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยที่เขาเพิ่งรับงานในทีมเยาวชนของ นีเวลล์ส ในตอนนั้นเขาขับรถซีตรองคันเก่าเป็นระยะทางกว่าหลายพันกิโลเมตรไปในเขตเมืองและชนบททั่วอาร์เจนตินา เพื่อออกตามหาผู้เล่นฝีเท้าดีเข้ามาอยู่ในทีมเยาวชน
หนึ่งในนั้นคือ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน ตอนเด็กเขาใช้ชีวิตอยู่ที่เมือง เมอร์ฟี ซึ่งห่างจากเมืองโรซาริโอไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ราว 150 กิโลเมตร โปเช็ตติโน เล่าว่าบิเอลซาลงทุนขับรถมาหาเขาถึงบ้านตอนตีหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวให้เขาและพ่อของเขาเซ็นสัญญากับ นีเวลล์ส ก่อนที่สุดท้ายเขาจะได้เป็นนักเตะของทีม
หรือครั้งหนึ่ง บิเอลซา เคยถามนักเตะเยาวชนว่า ในหนึ่งเกมจะมีโอกาสทำประตูกี่ครั้ง ผู้เล่นคนหนึ่งตอบว่า 6 ครั้ง แต่โค้ชของเขาบอกว่าไม่ใช่ ก่อนที่บิเอลซาจะเฉลยว่าค่าเฉลี่ยการทำหนึ่งประตูคือ 1 นาที 35 วินาที ดังนั้นเราจะมีโอกาสถึง 57 ครั้ง
“วิธีการคิดของเขาทำให้ผมแทบบ้า มันอาจจะไม่ได้สำคัญสำหรับทุกคนแต่มันสำคัญสำหรับเขา เห็นได้ชัดว่าเขาคิดมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเดาว่าเขาคงคิดว่าถ้าเหลือเวลา 2 นาทีในเกม คุณยังมีโอกาสจะทำประตูตีเสมอ คุณจะต้องไม่พูดว่า ‘มันสายเกินไปแล้ว’”
และสิ่งนี้ก็ทำให้เขาพิเศษกว่าโค้ชคนอื่นในยุคนั้น
ครูแห่งโรซาริโอ
แม้ว่าแนวทางของ บิเอลซา จะทำให้นักเตะหลายคนรู้สึกต่อต้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็รับรู้ได้ว่ามันคือความตั้งใจจริงที่จะทำให้นักเตะที่เขาดูแลเก่งขึ้น พัฒนาขึ้น
เขายังคงปรัชญานี้ไว้ในตอนที่เลื่อนชั้นขึ้นมาคุมทีมชุดใหญ่ของ นีเวลล์ส เมื่อปี 1990 ที่ความเข้มงวดและจริงจังของเขาช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ลีกได้ทันที รวมไปถึงรองแชมป์ โคปา ลิเบร์ตาดอเรส คัพ หรือ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก แห่งอเมริกาใต้ในปีต่อมา
Photo : www.institutofutbol.com
“เขาปฏิบัติต่อเราด้วยความต้องการที่สูงมาก มันทำให้เด็กที่อายุน้อยกว่าเรายุ่งยากนิดหน่อย” ริคาร์โด ลูนารี อดีตนักเตะของ นีเวลล์ส ที่เคยอยู่ใต้บัญชาการของบิเอลซา กล่าวกับ AP
“แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้ได้ว่าทุกสิ่งที่เขาทำมีความหมายว่ามันจะทำให้คุณกลายเป็นนักเตะในดิวิชั่น 1”
บิเอลซา พร้อมจะตำหนินักเตะเสมอหากเล่นไม่ได้ดั่งใจ แต่มันเป็นการติเพื่อก่อไม่ใช่เพื่อทำลาย โดยมีเป้าหมายให้นักเตะของเขาก้าวข้ามขีดจำกัดของ “ความเป็นไปไม่ได้” ที่อยู่ในหัว และกลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้นกว่าเดิม
“ผมชอบมันนะ เขาจะตำหนิคุณ มันไม่ได้ทำให้คุณเจ็บแต่จะทำให้คุณดีขึ้น” คอสเตโญ กล่าวกับ The Athletic
“สำหรับ มาร์เซโล เมื่อคุณเล่นได้ดี แต่มันไม่ได้ดีซะทีเดียว ทว่าเมื่อคุณเล่นแย่ มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น มันเป็นบทเรียนเกี่ยวกับฟุตบอล แต่ที่จริงมันสอนเรื่องชีวิตให้คุณด้วย ผมเห็นเขาเป็นเหมือนศาสตราจารย์กับโค้ชไปพร้อมกัน เขาคือครูคนหนึ่งเลยล่ะ”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนที่เคยร่วมงานกับเขาต่างรักและเคารพในตัวกุนซือคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กาเบรียล บาติสตูตา และ โรแบร์โต เซนซินี อดีตศิษย์เก่าที่นีเวลล์ส ที่อยู่ในกลุ่ม WhatsApp ที่ชื่อว่า “Newell’s Old Boys old fellas” หรือผู้เฒ่าแห่งนีเวลล์ส โอลด์ บอยส์ ที่เอาไว้รำลึกความหลังสมัยบิเอลซาคุมทีม
หรือหลายคนที่เคยเป็นศิษย์ก้นกุฏิของบิเอลซา ก็นำแนวทางของเขามาปรับใช้ในการคุมทีมจนกลายเป็นโค้ชที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น โปเช็ตติโน ที่เป็นกุนซือของปารีส แซงต์ แชร์กแมง, เคร์ราโน มาร์ติโน อดีตเฮดโค้ชบาร์เซโลน่า, เอดูอาร์โด เบอร์ริสโซ กุนซือทีมชาติปารากวัย หรือ กาเบรียล ไฮน์เซ เฮดโค้ชของ แอตแลนตา ยูไนเต็ด ในเมเจอร์ลีก ซอกเกอร์ สหรัฐอเมริกา
Photo : www.tycsports.com
“บิเอลซา เป็นพ่อของของพวกเขาทุกคน” ฮาเวียร์ เวเนอร์ แมวมองของ ราซิง คลับ ในลีกอาร์เจนตินา ที่มีบ้านเกิดอยู่ที่โรซาริโอ กล่าวกับ Bleacher Report
“บิเอลซา คิดถึงฟุตบอลในแง่ของการบุก การบีบสูง และการครองพื้นที่ มรดกของการฝึกซ้อมของเขายิ่งใหญ่มาก เป๊ป กวาดิโอลา บอกว่า บิเอลซา คือครูของเขา ใน โรซาริโอ เขาสร้างแบบฝึกหัดโดยใช้ปากกาและดินสอในบ้านของเขา เขาปฏิวัติการฝึกสอนฟุตบอล”
“คุณสามารถติดตามปรัชญาและการสอนของเขาได้ มันถูกเรียกว่า ‘Bielsismo’ คุณสามารถเจอลูกของบิเอลซาได้ทุกที่ กาเบรียล ไฮน์เซ ที่เคยคุม เบเลซ ซาร์สฟิลด์ ก็เล่นเหมือนบิเอลซาเลย”
“พ่อของผม กาเบรียล เวเนอร์ เคยทำงานกับบิเอลซาในทีมชาติอาร์เจนตินา ช่วงปี 1998-2004 เขารู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลเพราะบิเอลซา พ่อสอนผมและพี่ชาย ที่ตอนนี้เป็นผู้ช่วยโค้ชให้กับ ดีเฟนซา ทีมในลีกสูงสุดของอาร์เจนตินา เราเป็นเหมือนหลานของบิเอลซาในโลกฟุตบอล”
กุนซือที่ชาวเมืองทุกคนรัก
บิเอลซา คุมนีเวลล์ส โอลด์ บอยส์ จนถึงปี 1993 ก่อนจะย้ายไปรับงานที่เม็กซิโก, สเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี และล่าสุดที่ ลีดส์ ยูไนเต็ด แต่สถานะของเขายังคงเป็นตำนานสำหรับชาวเมืองโรซาริโอ และสโมสรนีเวลล์ส มาโดยตลอด
ในปี 2008 นีเวลล์ส ยังได้เปลี่ยนชื่อรังเหย้าของพวกเขาเป็น เอสตาดิโอ มาร์เซโล บิเอลซา เพื่อตอบแทนคุณงามความดีที่เขามอบให้สโมสร แต่บิเอลซาก็ไม่ได้รับฝ่ายเดียว เมื่อในปี 2018 เขาได้บริจาคเงินถึง 2.5 ล้านเหรียญ (ราว 81 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงแรมติดสนามให้นักเตะได้ใช้พักผ่อนในคืนวันก่อนแข่ง
ตัวตนดังกล่าวจึงทำให้ บิเอลซา กลายเป็นที่รักทั้งในหมู่แฟนบอลและนักเตะอยู่เสมอ เห็นได้จากล่าสุดที่มีแฟนบอลไปให้กำลังใจ รวมถึงกล่าวคำอำลาถึงสนามซ้อมทอร์ป อาร์ช ในวันที่เขาถูกปลดออกจากการเป็นกุนซือของลีดส์ ยูไนเต็ด กันอย่างคับคั่ง
ขณะที่ผู้เล่นอย่าง เลียม คูเปอร์ กัปตันลีดส์ ยูไนเต็ด ก็ยกย่องให้เขาเป็นตำนานของสโมสร หรือ คาลวิน ฟิลลิปส์ ที่บิเอลซา ปั้นจนขึ้นไปยึดตัวจริงในทีมชาติอังกฤษ ก็กล่าวว่ากุนซือชาวอาร์เจนไตน์ทำให้เขาเติบโตไม่ใช่แค่ในฐานะนักเตะแต่ในฐานะมนุษย์
“ขอบคุณมาร์เซโล สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ผม” คาลวิน ฟิลลิปส์ กล่าวในทวิตเตอร์
“คุณมองเห็นบางสิ่งในตัวผมที่ผมไม่เห็นด้วยซ้ำ คุณทำให้ผมเติบโตในฐานะนักเตะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือในฐานะมนุษย์”
“ขอให้คุณประสบความสำเร็จในเส้นทางต่อจากนี้ กราเซียส มาร์เซโล (ขอบคุณมาร์เซโล)”
มันคือตัวอย่างของคนประเภท “อยู่ให้คนรัก จากไปให้คนคิดถึง” และ มาร์เซโล บิเอลซา ก็คือคนแบบนั้น ไม่ว่าจะกับ นีเวลล์ส โอลด์ บอยส์ หรือ ลีดส์ ยูไนเต็ด ก็ตาม