“พวกรัฐบาลแม่งกำลังกลัวพวกเราหัวหด … ไม่ต้องห่วง พวกแกได้สมใจแน่ วันนี้พวกเราจะออกมาแสดงพลังยิ่งกว่าที่เคยทำ จัดหนักให้พวกโสโครกรู้ไปว่าเรานี่แหละคือนักปฏิวัติตัวจริง” นี่คือการสัมภาษณ์ของชายที่ใส่หมวกไอ้โม่งปิดหน้าปิดตาไม่ระบุตัวตนที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง CNN
พวกเขาอาจจะไม่ระบุหน้าตาและชื่อจริง แต่พวกเขาระบุหนึ่งสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการปกปิด นั่นคือการบอกว่า “พวกเราคือแฟนบอลของสโมสร อัล อาห์ลี” หนึ่งในสโมสรยักษ์ใหญ่ที่สุดในวงการฟุตบอลอียิปต์และทวีปแอฟริกา
ความแค้นที่ไม่ได้มีศัตรูกับสโมสรตรงข้าม แต่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลของอียิปต์ที่นำโดยประธานาธิบดี ฮุสนีย์ มุบาร็อค ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
พวกเขาเล่าว่าพวกสีกากีเล่นงานพวกเขาก่อน ดังนั้นงานนี้ได้เวลาที่พวกเขาในฐานะแฟน อัล อาห์ลี และประชาชนชาวอียิปต์ จะตอบแทนแบบทบต้นทบดอกให้สาสมใจ
ติดตามเรื่องราวสุดระห่ำระดับตำนานของวงการฟุตบอลอียิปต์ได้ที่ Main Stand
ชาตินิยม การเมือง และความจงรักภักดี
ณ กรุงไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์ ที่มีประชากรกว่า 70 ล้านคน เมืองแห่งนี้คือเมืองสำคัญของตะวันออกกลางที่ชาวคริสต์และมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมาหลายชั่วอายุคน ท่ามกลางเรื่องราวการกระทบกระทั่งเหมือนลิ้นกับฟัน
ต่างฝ่ายต่างมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในแต่ละด้าน และด้านฟุตบอลก็มีหนึ่งสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่าง อัล อาห์ลี ที่เป็นตัวแทนของชาวมุสลิมในกรุงไคโร และสโมสรแห่งนี้เองที่เป็นผู้เริ่มเรื่องราวครั้งประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจดจำ
อัล อาห์ลี (Al Ahly) ก่อตั้งขึ้นในปี 1909 ชื่อสโมสรของพวกเขามีความหมายว่า “ชาติ” นี่คือสโมสรที่ก่อตั้งโดยขบวนการชาตินิยมและนักเรียนชั้นแนวหน้า กลุ่มผู้ก่อตั้งมีปรัชญาเดียวกันนั่นคือการทำให้สโมสรแห่งนี้เป็นตัวแทนอุดมการณ์ของพวกเขา นั่นคือการแสดงความยิ่งใหญ่ผ่านเกมกีฬา และเป็นการสื่อว่าพวกเราแข็งแกร่งพอที่จะทำให้ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนสาธารณรัฐอียิปต์ให้เป็นอิสระเป็นไปได้จริง
ว่ากันว่าฟุตบอลก็สะท้อนอุดมการณ์และการเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละประเทศ แน่นอนว่าผู้คนในกรุงไคโรบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของแฟนบอล อัล อาห์ลี พวกเขาอาจจะชอบฟุตบอล แต่พวกเขาไม่ได้มีความคิดที่ตรงกัน ดังนั้นการจะให้เลือกเชียร์ อัล อาห์ลี ด้วยเหตุผลด้านฟุตบอลอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้
สิ่งที่ตามมาคือการกำเนิดขึ้นของอีกหนึ่งสโมสรที่กลายเป็นคู่ปรับตลอดกาลของ อัล อาห์ลี นั่นคือสโมสร ซามาเล็ก (Zamalek) ในปี 1911 … ซามาเล็ก ก่อตั้งโดยกลุ่มทนายความชาวเบลเยียม นำโดย จอร์จ เมิร์ซบัช (George Merzbach) ซึ่งไม่นานนัก ซามาเล็ก ก็กลายเป็นทีมที่เป็นตัวแทนของอีกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับแฟนบอล อัล อาห์ลี ไปโดยปริยาย
ทั้งสองฝั่งเดินหน้าไปบนความเป็นคู่รักคู่แค้น ท่ามกลางความแตกต่างโดยสิ้นเชิงทั้งด้านพื้นฐานครอบครัว การเมือง และ ศาสนา เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือฝั่งแฟนบอล อัล อาห์ลี ที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “อาห์ลาวี” (Ahlawy) ที่เป็นเหมือนกับกลุ่มชนพื้นถิ่นเดิมที่มีความเชื่อทางการเมืองแบบชาตินิยม ขณะที่ฝ่าย ซามาเล็ก ที่เรียกตัวเองว่า “ซามัลกาวี” (Zamalkawy) ก็เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าที่เชื่อว่าอียิปต์ควรเป็นสังคมที่มีเสรีภาพและเป็นตัวแทนความศิวิไลซ์ของตะวันออกกลาง
การช่วงชิงความยิ่งใหญ่ด้านฟุตบอลก็เป็นไปตามเหตุบ้านการณ์เมือง วันใดที่รัฐบาลที่มีอุดมการณ์ความเชื่อตรงกับฝ่ายไหนขึ้นมามีอำนาจ ทีมฝั่งนั้นก็จะเป็นทีมที่ได้รับผลประโยชน์และประสบความสำเร็จมากกว่า ดังนั้นการต่อสู้ของ อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก จึงมีประวัติศาสตร์ยาวนานและเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง นั่นคือสิ่งที่แฟนบอลทั้งสองฝ่ายเชื่อแบบนั้น
ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่น่าจะเป็นหนึ่งเดียวกันได้จากเรื่องราวในอดีตที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมีเหตุการณ์สำคัญระดับชาติของอียิปต์ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2011 … เหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อแฟนบอลทั้งสองทีมอยู่เคียงข้างกัน
เป้าหมายไม่ใช่เรื่องของฟุตบอลอีกต่อไป แต่มันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่านั้น นั่นคือการปฏิวัติและล้มล้างรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีผู้ฉ้อฉลอย่าง ฮุสนีย์ มุบาร็อค นั่นเอง
2011 … เหตุการณ์ล้ม ฮุสนีย์ มุบาร็อค
ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน ไม่มีทางที่คุณจะอมพะนำและเพิกเฉยได้หากคุณภาพชีวิตของคุณย่ำแย่และถูกกดขี่โดยผู้มีอำนาจ … คนรวยรวยขึ้นทุกวัน นักการเมืองสืบทอดอำนาจทำสิ่งฉาวโฉ่กันแบบไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม ขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระดับชนชั้นอีลิตเป็นผู้ต้องรับกรรมด้วยคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ จนอยู่แล้วก็จนเข้าไปอีก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของอียิปต์ผ่านเหตุการณ์ที่เรียกว่า “อาหรับสปริง” ซึ่งมี อียิปต์ เป็นตัวละครเอกของเรื่อง
อาหรับสปริง เป็นกระแสคลื่นการปฏิวัติที่ลุกลามเป็นโดมิโนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ มีประชาชนลุกฮือในแอลจีเรีย, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, โมร็อกโก และ ซูดาน ขณะที่ประเทศที่สั่นคลอนจนถึงขั้นล้มล้างรัฐบาลได้คือ ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และ เยเมน
ฮุสนีย์ มุบาร็อค คือคนที่ครองอำนาจในประเทศอียิปต์มากว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1981 ทว่ายิ่งนับวันชาวอียิปต์ก็ยิ่งเอือมระอากับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงได้รวมตัวกันถือโอกาสออกมาประท้วงเรียกร้องให้โค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี ฮุสนีย์ มุบาร็อค
นี่คือช่วงเวลาที่ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีกแล้ว แฟนบอลของ อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก กลายมาเป็นหนึ่งเดียวกัน นำโดยกลุ่มอัลตร้าที่รวมตัวกันแสดงการคัดค้านและกดดัน มุบาร็อค ให้ลาออก ไม่ว่าจะเป็นการทำป้ายขับไล่และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในสนาม รวมไปถึงการรวมตัวกันเป็นหมื่น ๆ คนที่ จัตุรัสทาห์รีร์ ใจกลางกรุงไคโร เพื่อแสดงจุดยืนของพวกเขา
“การอยู่ใต้อำนาจของมุบาร็อคก็เหมือนกับการอยู่ภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก … ไม่มีใครสามารถพูดคุย ถกเถียง และกล่าวถึงพวกเขาได้ เนื่องจากพวกเขามีศักยภาพที่จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้สบาย ๆ” อัสซาด (นามสมมุติ) ตัวแทนแฟนบอลอัลตร้าของ อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก อธิบาย
การรวมตัวของแฟนบอลกลุ่มนี้ในช่วงแรกเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรัฐบาลจัดการส่งกองกำลังปราบจราจลลงมาจัดการตลอด มีแฟนบอลจำนวนมากที่ต้องหัวร้างข้างแตก และแน่นอนว่ามีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ารัฐบาลของ มุบาร็อค ต้องการจะทำให้ทุกคนที่ต่อต้านเกรงกลัวกับสิ่งที่เขาจะลงมือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันกลับตรงกันข้าม … “1 คนตาย 1,000 คนเกิด” คือสิ่งที่อธิบายได้จากเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนบอลทีมไหน ตอนนี้มันไม่สำคัญอีกแล้ว กระแสการรวมตัวขยายกว้างยิ่งกว่าเดิม จากคนที่ดูฟุตบอลกระจายไปสู่ตาสีตาสา ไปสู่เด็กเยาวชนมากมายที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงและรู้ทันรัฐบาลที่ส่งต่ออำนาจกันมาอย่างยาวนาน
ฝั่งแฟนบอลของ อัล อาห์ลี คือหัวเรือใหญ่ของเรื่องนี้ เพราะพวกเขาเป็นทีมที่มีแฟนบอลส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงานและชนชั้นรากหญ้า พวกเขารู้ดีว่าชีวิตของพวกเขาไม่ดีขึ้นสักทีแม้จะพยายามเท่าไหร่เพราะใคร ? และที่แน่นอนที่สุดคือพวกเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอดจากตำรวจและกองกำลังสลายจลาจล มันถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องเอาคืนบ้าง
“พวกรัฐบาลแม่งกำลังกลัวพวกเราหัวหด … ไม่ต้องห่วงพวกแกได้สมใจแน่ วันนี้พวกเราจะออกมาแสดงพลังยิ่งกว่าที่เคยทำ จัดหนักให้พวกโสโครกรู้ไปว่า เรานี่แหละคือนักปฏิวัติตัวจริง” นี่คือการให้สัมภาษณ์ของ อัสซาด (นามสมมุติ) ชายที่ใส่หมวกไอ้โม่งปิดหน้าปิดตาไม่ระบุตัวตนที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง CNN
“ยิ่งพวกเขาพยายามกดดันเรามากเท่าไร เราก็ยิ่งเติบโตขึ้นในสถานะลัทธิที่ทุกกระทรวงต้องหวั่นเกรง และสื่อทุกเจ้าต้องทำข่าว พวกเขาจะเรียกเราว่าแก๊ง ว่าเป็นพวกที่ใช้ความรุนแรง แต่เชื่อเถอะว่านี่ไม่ใช่แค่การสนับสนุนทีม คุณกำลังต่อสู้กับระบบและประเทศทั้งหมด เรากำลังต่อสู้กับตำรวจ ต่อสู้กับรัฐบาล ต่อสู้เพื่อสิทธิของเรา … นี่เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น มันจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในเวลาไม่เกิน 4 ปีข้างหน้า” อัสซาด ว่าต่อ
ไม่ใช่แค่ฝั่ง อัล อาห์ลี เท่านั้นที่พร้อมบู๊ พวกเขาได้ทำในสิ่งที่เรียกว่า “สัญญาปีศาจ” กับแฟนบอลคู่ปรับตลอดกาลอย่าง ซามาเล็ก พวกเขาจะรวมตัวกันในฐานะพันธมิตรเป็นครั้งแรก พวกเขาได้รวมกลุ่มวางแผนกันอย่างจริงจังในการรวมตัวประท้วงรัฐบาล และในทางเดียวกันเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเข้ามาอยู่ข้างเดียวกับพวกเขา
ขอแค่ทุกคนออกมา ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เพศอะไร แข็งแรงหรืออ่อนแอ ยากจนหรือร่ำรวย … ไม่สำคัญ และไม่ต้องกลัวพวกตำรวจหรือทหารอีกต่อไป เพราะถ้าในเรื่องการของการก่อจลาจลเพื่อกดดันรัฐบาล กลุ่มอัลตร้าของทั้งสองทีมพร้อมวางแผนและลงมือด้วยจำนวนคนราว 15,000 คน … นี่คือ 15,000 คนที่พร้อมบู๊และได้รับการวางแผนและซักซ้อมเรื่องวิธีการมาเป็นอย่างดี คนจำนวนนี้คือกลุ่มที่ทำให้ชุดปราบจราจลปวดหัวจนถึงขีดสุด เพราะหากปล่อยให้แฟนบอลอัลตร้าของทั้งสองทีมโจมตีรัฐบาลก็จะเสียเปรียบ ครั้นจะปราบด้วยความรุนแรงประชาชนที่เหลือก็จะเห็นภาพความโหดร้ายและพวกเขาก็จะยิ่งลุกฮือมากขึ้นกว่าเดิม
สุดท้ายเมื่อปล่อยไว้ไม่ได้ก็ต้องวัดดวงกัน รัฐบาลอียิปต์โดยนาย ฮุสนีย์ มุบาร็อค ตัดสินใจลงดาบกลุ่มจลาจลที่นำโดยแฟนบอลอัลตร้าของ อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก จนมีการนองเลือดเกิดขึ้น … นี่คือสิ่งที่ฝั่งแฟนบอลต้องการ พวกเขาต้องการปะทะ และไม่กลัวตาย
“ในวันแห่งความโกรธเกรี้ยว (28 มกราคม 2011) พวกเราได้วางแผนไว้” โมฮัมเหม็ด (นามสมมุติ) ตัวแทนของอัลตร้าซามาเล็กกล่าวต่อ “ทุกกลุ่มจะแบ่งคนเป็นทีมทีมละ 20 คน เดินทางแยกกันเพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกต พวกเรากลุ่มเล็ก ๆ อาจจะทำอะไรไม่ได้หรอก แต่เมื่อมีการรวมกันเป็นกลุ่มในจัตุรัส พวกเราจะเป็นมหาอำนาจ … 10,000-15,000 คนต่อสู้โดยไม่มีความกลัว พวกเราคือผู้นำศึกครั้งนี้”
การต่อสู้และชุมนุมลากยาวไปจนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 ที่สุดแล้วรัฐบาลอียิปต์ก็ไม่สามารถหยุดกระแสมวลชนได้อีกต่อไป ชาวอียิปต์มากกว่า 2 ล้านคนออกมาชุมนุมตามที่ต่าง ๆ ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศ และสุดท้าย ฮุสนีย์ มุบาร็อค ก็ประกาศยอมลงจากตำแหน่ง พร้อมส่งมอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการทหาร ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุมจำนวนหลักล้าน
เป็นชัยชนะที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือของคนอียิปต์แทบทั้งประเทศ และการจับมือกันของคู่ปรับที่เกลียดกันที่สุดกลายเป็นสิ่งที่กรุยทางสู่ความหวังใหม่ของประเทศ แฟนบอลของทั้งสองฝั่งอาจจะถูกมองในแง่ลบก่อนหน้านี้ว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและสร้างปัญหาให้สังคม ทว่าเมื่อถึงเวลาที่ประเทศต้องการพวกหัวแข็งที่กล้าพอจะแลกชีวิตเพื่ออุดมการณ์ … อัลตร้าเหล่านี้คือคำตอบ และเป็นแนวหน้าที่ชาวอียิปต์ทุกคนยังคงยกย่องมาจนถึงเวลานี้
นอกจากจะเป็นกำลังหลักในการประกาศชัยชนะของประชาชน แฟนบอลอัลตร้าที่เกลียดกันแทบตายก็ยังมีทิศทางความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น พวกเขามีการตกลงทำสนธิสัญญาด้านสันติภาพกันด้วย นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับแฟนบอลสองกลุ่มนี้
“ระหว่างการเดินขบวนเราเฉลิมฉลองกัน เรากำลังต่อสู้ร่วมกับพวก อัล อาห์ลาวี ในแนวหน้า เรากำลังพยายามทำสนธิสัญญาสันติภาพกับพวกเขา เพราะเรากำลังต่อสู้ไปในทิศทางเดียวกัน” อาเหม็ด ตัวแทนของฝั่ง ซามาเล็ก กล่าว
ชัยชนะ … ที่ไม่เด็ดขาด
ภายใต้ชัยชนะ กลุ่มอัลตร้าของทั้ง อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก ก็สูญเสียคนของพวกเขาไปไม่น้อย ไม่ว่าจะที่บาดเจ็บหรือที่ตายจากไปในหลาย ๆ พื้นที่การชุมนุม ทั้งที่ สุเอซ, อเล็กซานเดรีย และ ไคโร
ไม่ใช่แค่ในเหตุการณ์ล้มล้างรัฐบาลเท่านั้น 1 ปีต่อมายังมีเหตุการณ์ที่แฟน อัล อาห์ลี จำได้ไม่ลืมอีกหนึ่งเหตุการณ์ นั่นคือเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2012
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่จตุรัสเหมือนครั้งที่แล้ว แต่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล มันเป็นเกมที่ อัล อาห์ลี เดินทางไปเยือนทีม อัล มาสรี
อัล มาสรี คือสโมสรที่อยู่ในเมืองพอร์ตซาอิด เมืองท่าทางตอนเหนือของกรุงไคโร สโมสรนี้ก่อตั้งโดยกลุ่มขั้วอำนาจเก่าที่เป็นฝั่งที่สนับสนุน ฮุสนีย์ มุบาร็อค นั่นเอง ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเกมนี้มีจุดเดือดสูงมาก เนื่องจากทั้งสองฝั่งแค้นกันโดยตรง และความแค้นที่เกิดขึ้นก็เพิ่งผ่านไปไม่ถึง 1 ปี
แผลสดแบบนี้ง่ายต่อการราดทิงเจอร์เป็นอย่างยิ่ง … หลังจบเกมดังกล่าว อัล มาสรี เป็นฝ่ายเอาชนะ อัล อาห์ลี ไปได้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
มันไม่ใช่การชนะ ฉลองชัย ดีใจ แล้วกลับบ้านเหมือนกับที่แฟนบอลทั่วไปทำ แฟนบอลของ อัล มาสรี กรูกันลงมาในสนาม ตอนแรกหลายฝ่ายคิดว่าจะเป็นแค่การฉลองชัยชนะเหนือทีมยักษ์ใหญ่ของทีมที่เล็กกว่า แต่มันไม่ใช่แบบนั้น แฟนบอลของ อัล มาสรี หลายพันคนวิ่งข้ามอัฒจันทร์ไปฝั่งแฟนบอลของทีมเยือน และจัดการตะลุมบอนทำร้ายจนฝั่งแฟนบอลของ อัล อาห์ลี ต้องวิ่งหนีตายกันแบบไม่คิดชีวิต
เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บเป็นหลักพัน และมีแฟนบอลเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวคาสนามถึง 3 คน … แฟนของ อัล อาห์ลี โกรธมาก พวกเขารู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันคือการตั้งใจทำของอีกฝ่ายที่จะปล่อยให้เหตุการณ์บานปลาย หรือว่าง่าย ๆ ก็คือการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนฟาดฟันกับประชาชนกันเอง โดยที่เจ้าหน้าที่คอยจัดฉากและสร้างสถานการณ์ให้เขาตำราลงล็อกแบบที่วางแผนไว้
สตาฟโค้ชของ อัล อาห์ลี เล่าว่าในเกมนั้นเป็นภาพที่เขาจำได้ไม่ลืม แฟนบอลของทีมตายไปต่อหน้าของพวกเขาโดยที่เขาไม่สามารถช่วยได้ เจ้าหน้าที่หละหลวม ไม่มีการควบคุมฝูงชน มีแต่การสนับสนุนให้แฟนบอลของ อัล มาสรี เดินหน้าฟาดไม่ยั้งยิ่งกว่าเดิม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการแฉโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (กลุ่มอิควาน) หรือ “The Muslim Brotherhood” ว่าเหตุดังกล่าวคือความตั้งใจของขั้วอำนาจที่เคยอยู่ฝั่ง มุบาร็อค พวกเขาตั้งใจจะสั่งสอนแฟนบอลของ อัล อาห์ลี จากเหตุการณ์ที่ อัลตร้า ของ อัล อาห์ลี จับมือกับ ซามาเล็ก โค่นอำนาจของ มุบาร็อค ลงไปเมื่อปีก่อน
“เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พอร์ตซาอิดถูกวางแผนไว้แล้ว และเป็นสาส์นจากกลุ่มคนบางกลุ่มของขั้วอำนาจเดิม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจงใจทำสิ่งนี้หรือปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น คนเหล่านี้ยังคงอยู่ภายใต้อาณัติของมุบาร็อค” อัลบัดรี ฟัรกาห์ลี โฆษกของฝั่งภราดรภาพมุสลิม กล่าวกับสื่อในประเทศ
เหตุการณ์ไม่จบแค่ในสนาม แฟนบอลของ อัล อาห์ลี ที่ไม่พอใจกับความหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รวมตัวกันที่จัตุรัสเดิมที่พวกเขาเคยชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ปะทุขึ้นและเกิดความสูญเสียมากกว่าเดิม มีแฟนบอลทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตมากกว่า 70 คนและบาดเจ็บมากกว่า 1 พันคน … น่าเศร้าที่เหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ถูกสะสาง ไม่มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ตามที่ฝั่งแฟนบอล อัล อาห์ลี เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องนี้
เหตุและผลนั้นง่ายนิดเดียว เพราะอำนาจของฝั่ง มุบาร็อค ยังไม่หมดไป … เนื่องจากหลังการลาออกของ มุบาร็อค มีการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยในประเทศ โดยผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นคือ มุฮัมมัด มุรซีย์ ผู้นำขบวนการภราดรภาพมุสลิม
ขณะที่ประชาชนหวังว่า มุรซีย์ จะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ข่าวร้ายคือหลังจาก มุรซีย์ คุมอำนาจเพียง 1 ปีก็ถูกคณะทหารนำโดย พลเอก อับดุลฟัตตะห์ อัล ซีซีย์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ และ อัล ซีซีย์ ยังเป็นประธานาธิบดีมาจนถึงปัจจุบัน
เท่ากับว่าตอนนี้แม้จะเปลี่ยนหัวหน้าแต่ภายในยังเหมือนเดิม ขั้วอำนาจเผด็จการยังคงอยู่ต่อไป … แม้จะผ่านพ้นยุคของ มุบาร็อค แต่ชาวอียิปต์ก็ยังคงต้องออกมาประท้วงที่จัตุรัสทาห์รีร์อีกหลายรอบ เพื่อเรียกร้องให้ทหารส่งมอบอำนาจคืนให้แก่ประชาชน
การเสียสละของชาวอียิปต์ รวมถึงแฟนบอลของ อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก ดูจะเป็นอะไรที่สูญเปล่าไปเลยจากสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือความจริงที่แสนเจ็บปวด เพราะประเทศที่ปล่อยให้เผด็จการครอบครองมานานเกินไปจนสามารถสร้างเครือข่ายกัดกินประเทศจนพรุน ทำให้อำนาจทุกอย่างตกไปอยู่ในมือของคนพวกนี้ได้โดยง่าย แม้จะล้มลงแล้วแต่ก็ยังสร้างขึ้นใหม่ได้จากสิ่งที่เคยวางรากฐานเอาไว้เป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี
ประชาธิปไตยที่อียิปต์ช่างมีราคาแพงเหลือเกิน ไม่มีใครรู้ว่าแฟนบอล อัล อาห์ลี และ ซามาเล็ก หรือประชาชนในประเทศจะต้องเสียสละกันอีกกี่ครั้ง พวกเขาจึงจะได้ชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริง ๆ เสียที