sportpooltoday

ออสการ์ อิน ไชน่า : การยอมรับแมน ๆ ว่าย้ายมาจีนเพราะ “เงิน” คำเดียว


ออสการ์ อิน ไชน่า : การยอมรับแมน ๆ ว่าย้ายมาจีนเพราะ "เงิน" คำเดียว

ออสการ์ คือนักเตะที่มีดีกรีทีมชาติบราซิล แถมยังเคยอยู่กับทีมแถวหน้าของพรีเมียร์ลีกอย่าง เชลซี มาตั้งแต่อายุน้อย

เขาคว้าแชมป์ลีกมา 2 ครั้ง เป็นกำลังสำคัญของสโมสรและทีมชาติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่เขาอายุ 26 ปี อันเป็นวัยที่เข้าใกล้กับคำว่า “จุดพีค” ของนักฟุตบอลที่สุด เขากลับเลือกทำในสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นการถอยหลังลงคลองด้วยการย้ายไปเล่นกับ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ในลีกจีน 

ในความถดถอยทางอาชีพที่หลายคนบอกว่าย้ายเพราะเงินครั้งนี้ ออสการ์ ก้มหน้ารับมัน และยอมรับแมน ๆ ว่า “แน่นอนสิครับ ผมมาเพราะเงิน”

นี่คือเรื่องราวของเขาในเมืองจีน ติดตามได้ที่ Main Stand

ระเบิดสมดุลโลกฟุตบอล

หากย้อนไปคุยเรื่องลีกจีน การจะดึงตัวนักเตะระดับโลกมาอยู่ในทีมเมื่อ 10 ปีก่อน คงเป็นเรื่องขำก๊ากที่ใครก็ไม่อยากจะเชื่อ เพราะลีกจีนนั้นไม่ใช่ลีกที่แข็งแกร่งเลย ไม่ว่าจะมองจากผลงานของสโมสรในรายการระดับเอเชีย รวมถึงทีมชาติจีนที่ก็ไม่ได้เป็นขาประจำฟุตบอลโลก ครั้งแรกและครั้งเดียวที่พวกเขาได้ไปเตะเวิลด์คัพ ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2002 แล้วครั้งนั้นก็เป็นผลมาจากการที่ทีมอย่าง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมไม่ต้องลงแข่งขันรอบคัดเลือกด้วย ทีมจากเอเชียจึงได้โควตาเพิ่มขึ้น 

นั่นคือความห่างชั้นของลีกฟุตบอลจีนหากเทียบกับทีมแถวหน้าของเอเชีย และก็เป็นความห่างชั้นนี่แหละที่ทำให้จีนซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจไม่อาจยอมรับกับสถานะการเป็นทีมรองบ่อนในกีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลกอย่างฟุตบอลได้ … งานนี้ต้องบอกว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่ “หัว” ของมังกรเลยทีเดียว

 

รัฐบาลจีนในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คือตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนให้ทีมในลีกนี้กลายเป็นพี่บิ๊กระดับทวีป ซึ่งถ้าหากทำได้มันจะเป็นเหมือนกับโดมิโนเอฟเฟ็กต์ ที่ทำให้คุณภาพของทีมชาติจีนดีขึ้นตามไปด้วย เพราะเมื่อลีกแกร่งนักเตะท้องถิ่นก็จะเก่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

ปี 2014 ท่านประธานาธิบดี สี เริ่มวางวิสัยทัศน์โดยการผลักดันนโยบายที่มีชื่อว่า The 50-point reform plan เพื่อทำให้ประเทศจีนกลายเป็นพี่บิ๊กด้านฟุตบอลของทวีปเอเชีย 

“ฟุตบอลคือเกมที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายของผู้คน สร้างแรงบันดาลใจได้มากอย่างน่าเหลือเชื่อ และที่สำคัญคือ สามารถสร้างจิตวิญญาณนักสู้ให้ลุกโชน ดังนั้นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผมสำหรับวงการฟุตบอลจีน คือการได้เห็นเราเป็นทีมที่ดีที่สุดในโลก” ท่านประธานาธิบดีว่าไว้ก่อนที่นโยบายของเขาจะถูกริเริ่ม

เรื่องการพัฒนาลีกในประเทศถือเป็นโปรเจ็กต์อลังการงานสร้าง นโยบายสร้างบอลลีกของจีนถือเป็นการลงทุนในแบบที่ใส่ปุ๋ยดูแลตั้งแต่ราก นั่นคือการสร้างเยาวชนในระบบให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย Know How แบบฟุตบอลยุโรป นอกจากนี้ยังใส่ปุ๋ยเร่งดอกเร่งผลด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และผลักดันให้แต่ละสโมสรสามารถใช้เงินซื้อนักเตะดัง ๆ เข้ามาร่วมทีมได้ 

ธุรกิจเอกชนต่าง ๆ หันมาสนใจทำทีมฟุตบอลเพื่อคอนเน็กชั่นและเพื่อกลายเป็นที่โปรดปรานของรัฐบาล ซึ่งนั่นก็นำมาสู่เม็ดเงินมหาศาลในแบบที่โลกฟุตบอลไม่เคยจะคาดคิด และสิ่งที่ตามมาคือลีกจีนสามารถดึงนักเตะระดับโลกมาร่วมทีมได้จริง ๆ แบบไม่ต้องฝันอีกแล้ว

 

ออสการ์ คือหนึ่งในนั้น สตาร์ชาวบราซิลของ เชลซี กำลังอยู่ในช่วงฟอร์มที่สุดยอด ด้วยผลงาน 3 ประสานร่วมกับ เอเด็น อาซาร์ และ ดิเอโก้ คอสต้า ช่วงเวลานั้น ออสการ์ มีข่าวกับทีมดัง ๆ อย่าง ยูเวนตุส และ บาร์เซโลน่า ทว่าสุดท้ายเขาก็ช็อกโลกอย่างที่ทุกคนรู้กัน เขาย้ายมาจีนเพื่อเล่นให้กับ เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ด้วยค่าตัวระดับ 50 ล้านปอนด์ ในเดือนมกราคม 2017 

การซื้อออสการ์แสดงให้เห็นว่าลีกจีนพร้อมขนาดไหนสำหรับการใช้เงินแบบที่ต้องทำให้ทีมในยุโรปต้องยอมขาย และตัวนักเตะเองก็ต้องโดนค่าจ้างล่อตาล่อใจแบบที่ปฏิเสธไม่ลง  

แม้จะมีนักเตะอย่าง เวย์น รูนี่ย์, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และ แกเรธ เบล บอกปัด ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่พร้อมจะไปเล่นในลีกจีนและเงินไม่ได้มีอิทธิพลกับพวกเขาเหล่านั้นมากพอ ทว่าสำหรับ ออสการ์ การได้ข้อเสนอจากจีนเมื่อปี 2017 คือการรับฟังที่ทำให้เขาอ่อนระทวย ลืมการพิชิตยุโรปและการประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์กับต้นสังกัด และพร้อมเก็บกระเป๋าเดินทางข้ามทวีปในทันที

เลือกในแบบที่เป็นตัวเอง 

วันที่ ออสการ์ ย้ายมาเล่นในลีกจีนด้วยสถิติค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 69 ล้านยูโร พร้อมค่าเหนื่อยอีกสัปดาห์ละ 500,000 ปอนด์ มีหลายคนกระแนะกระแหนเขากับการตัดสินใจที่เห็นแก่เงินและมองข้ามความก้าวหน้าในอาชีพ 

ขณะที่คนอีกส่วนก็ขำกับการลงทุนของฟุตบอลจีนที่เป็นเหมือนการทุ่มจนหน้ามืดตามัว ใช้เงินเกินกว่าเหตุแต่ไม่เคยเก็บเกี่ยวผลผลิตดี ๆ ได้ แทบทุกคนคาดคะเนว่าการจ้างนักเตะละตินด้วยค่าตัวแพงกระฉูดด้วยการใช้เงินดึงดูดใจอย่างเดียว จะทำให้ทีมจากจีนได้แต่ตัวแต่ไม่ได้หัวใจพวกเขา เหมือนกับที่ คาร์ลอส เตเวซ ดาวเตะชาวอาร์เจนไตน์ ที่เคยถูกทีมจากจีนซื้อตัวมาแต่เจ้าตัวก็มาแบบขำ ๆ มาอยู่แบบไม่เป็นมืออาชีพ คิดจะเที่ยวก็เที่ยว คิดจะไม่ซ้อมก็ลาซะดื้อ ๆ โดย เตเวซ ให้คำจำกัดความถึงลีกจีนของเขาว่า “เหมือนมาพักร้อน” 

ความสนใจที่มีต่อ ออสการ์ และ เอสไอพีจี จึงออกมาในรูปแบบการลุ้นว่ามันจะแป๊กขนาดไหนกับดีลที่เกิดขึ้นได้เพราะเงินล้วน ๆ แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะ ออสการ์ บอกว่าถึงเขาจะมาที่นี่เพราะเงิน แต่เขาไม่เคยแสดงความไม่เป็นมืออาชีพเลยสักครั้ง เขาคิดว่าเขาเป็นลูกจ้าง สโมสรคือนายจ้าง เมื่อตกลงเซ็นสัญญากัน หน้าที่ของเขาก็คือการทำงานหนักให้สมกับค่าแรงที่ได้รับเท่านั้น 

“ผมก็เหมือนนักฟุตบอลอีกหลาย ๆ คนนี่แหละที่ต้องหารายได้เอามาใช้จ่ายในครอบครัว พวกเราชาวบราซิเลี่ยนเป็นนักสู้ชีวิต ส่วนใหญ่เรามีพื้นเพมาจากความยากจน เราเริ่มจากที่เราไม่มีอะไรเลยสักอย่าง เมื่อผมเดินมาถึงจุดที่ผมอยู่ผมก็บอกได้ว่า นี่แหละคือผลงานที่ผมลงมือทำมาด้วยตัวเองทั้งหมด”

“ผู้เล่นต่างชาติที่จะมาที่จีนไม่ใช่จะเป็นใครก็ได้ พวกเขาต้องเป็นนักเตะที่แข็งแกร่งมากในระดับหนึ่ง มันเป็นเหมือนงาน ถ้าคุณเก่งคุณก็จะได้รับข้อเสนอดี ๆ เข้ามา และฟุตบอลจีนมีอำนาจทางการเงินอย่างน่าเหลือเชื่อ บางครั้งพวกเขายื่นข้อเสนอมาในแบบที่นักเตะไม่สามารถปฏิเสธได้ … นี่คือการตัดสินใจของผม แล้วผมก็ไม่สนหรอกนะว่าใครจะพูดแบบไหน นี่แหละชีวิตคนเรา ไม่ว่าคุณจะเลือกทำสิ่งใดก็หนีไม่พ้นคนนินทาและตัดสินคุณอยู่ดี” 

หลังจากย้ายมาอยู่กับทีมได้สักพัก ออสการ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาไม่ใช่นักเตะที่เป็นตัวปัญหา เขาไม่เคยสร้างเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ จนเป็นที่เหนื่อยหน่ายใจของเพื่อน ๆ และแฟนบอลแบบที่ เตเวซ ทำ 

เหตุผลก็เพราะที่เขามาที่นี่หลังจากที่เขาพิจารณาทุกอย่างอย่างถี่ถ้วนแล้ว แม้ไม่ปฏิเสธว่าเงินเป็นส่วนสำคัญ แต่เงินไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของเรื่องนี้ 

ออสการ์ ได้รับความเคารพจากสโมสรเป็นอย่างมาก ทีมงานดูแลเขาเป็นอย่างดี และเหนือสิ่งอื่นใดคือดูแลทั้งครอบครัวของเขา เซอร์วิสทุกอย่างแบบไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อครอบครัวสุขสบาย หัวหน้าครอบครัวอย่าง ออสการ์ ก็สบายใจ สามารถโฟกัสกับงานที่ทำได้อย่างเต็มที่ พร้อมกับทำมันอย่างมีความสุขไปด้วย

 

“การมาเซี่ยงไฮ้ไม่ใช่ข้อเสนอแรกจากสโมสรจีนที่เคยมอบให้ผม ก่อนหน้านี้ผมเคยคุย ๆ กับทีมจากจีนอยู่บ้าง แต่ผมก็มานั่งพิจารณาดูแล้วว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่สมควร จนกระทั่งสโมสรแห่งนี้เข้ามา ผมรับฟังและรับรู้ได้ว่าข้อเสนอที่ได้รับมันสมบูรณ์แบบมาก”

“ในทุกการสนทนาระหว่างเรา พวกเขามีสิ่งดึงดูดผมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ครั้ง และที่สุดแล้วผมก็ตัดสินใจได้ว่านี่แหละคือเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว มันดีมากสำหรับ เชลซี และตัวผมเองจากข้อเสนอนี้”

“ผมไม่ปฏิเสธหรอกว่ามันเป็นเงินจำนวนมาก และเรื่องเงินก็สำคัญ แต่ความจริงคือมันไม่ได้เกี่ยวกับเงินทั้ง 100% หรอกนะ เมืองที่ผมไปอยู่ก็มีความสำคัญมาก เพราะผมไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่นั่นคนเดียว ผมไปทั้งครอบครัว ทั้งภรรยาและลูก ๆ ดังนั้นสภาพความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมก็ต้องดี และที่เซี่ยงไฮ้เราก็ได้ทุกอย่างที่เราต้องการ มันเพอร์เฟ็กต์ที่สุดแล้ว”

“อีกอย่างเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองนานาชาติซึ่งมีประโยชน์เพราะทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ ไปที่ไหนก็พูดภาษาอังกฤษได้หมด มันทำให้สิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น เนื่องจากการเรียนรู้ภาษาของพวกเขาเป็นเรื่องยากมาก แต่ผมก็พยายามอยู่เรื่อย ๆ นะ” ออสการ์ กล่าวกับ FourFourTwo  

การมาจีนคือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่ ออสการ์ คิดแล้วคิดอีก ปรึกษาทุก ๆ คนรอบตัวอย่างละเอียด จนกระทั่งการย้ายทีมเกิดขึ้น ดังนั้นจะมองว่าเขาเห็นเงินจากจีนแล้วเขาก็ตาลุกพุ่งเข้าหาสโมสรใหม่ทันทีไม่ได้เด็ดขาด นี่คือความคิดที่ตกผลึกที่เขาคิดว่าถูกต้องที่สุดแล้ว ณ นาทีนั้น 

“ภรรยาผมคือคนแรกที่ผมคุยทุกเรื่องด้วย เธอเป็นคนแรกที่รู้ว่าเราจะไปเล่นที่ต่างประเทศ เราจะเดินทางไปเมืองจีน เราคุยกันเยอะมาก เราช่วยกันค้นคว้าข้อมูลเรื่องการใช้ชีวิตในเมืองจีน ในเซี่ยงไฮ้ และแน่นอนว่าเราโอเคจากข้อมูลที่ได้รับ ผมติดต่อกับเพื่อน ๆ ชาวบราซิลทุกคนที่อยู่ที่จีน และทุกคนฟันธงว่าที่นี่ดีจริง ๆ ย้ายมาได้เลยเพื่อน” ออสการ์ เล่าย้อนความหลัง

5 ปีแห่งความภาคภูมิใจ 

อย่างที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จนถึงตอนนี้ ออสการ์ เล่นในลีกจีนมาแล้วกว่า 5 ปี เขาคือนักเตะแถวหน้าที่อยู่กับทีมในลีกจีนได้นานที่สุด เหตุผลคงหนีไม่พ้นความเป็นมืออาชีพ เขาไม่เคยมีปัญหา เคารพสโมสร จนเขาได้สิ่งเหล่านั้นตอบแทนกลับมา 

ออสการ์ พาทีมคว้าแชมป์ลีกได้ 1 สมัยในปี 2018 จากนั้นสโมสรก็เริ่มถดถอยลงจากปัญหาเรื่องของการเงิน จนกระทั่งมาปะทุเป็นข่าวใหญ่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่บอกว่าฟุตบอลจีนฟองสบู่แตก

ในปี 2019 ฟุตบอลจีน พยายามสร้างแนวทางใหม่ พวกเขาจะทำให้ทุกทีมใช้จ่ายกับนักเตะต่างชาติน้อยลง โดยเรียกนโยบายนี้ว่า “การเริ่มต้นเส้นทางที่ยั่งยืน” นั่นคือคำในแง่บวกที่พวกเขาพูดถึงการปรับโครงสร้างของลีก 

นี่คือนโยบายยาขมที่บังคับให้ทุกสโมสรต้องกินมันเข้าไป โดยบอกว่ามันจะดีต่อสุขภาพในระยะยาว … เพราะนโยบายนี้หมายถึงการตัดทุกสิ่งที่เกี่ยวกับนายทุนออกไปโดยสิ้นเชิง

รัฐบาลจีนออกกฎห้ามสโมสรใช้ชื่อสปอนเซอร์ต่อท้ายชื่อทีม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทันได้สังเกต แต่ตอนนี้ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์, เซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี และ ซานตง ลู่เหนิง ชื่อที่คุ้นหูเหล่านี้กลายเป็นอดีตไปแล้ว พวกเขากลายมาเป็น กว่างโจว เอฟซี, เซี่ยงไฮ้ พอร์ต และ ซานตง ไท่ซาน ไปเป็นที่เรียบร้อย 

ขณะที่สตาร์คนอื่น ๆ อย่าง ฮัลค์, เปาลินโญ่, อเล็กซ์ เตเซร่า และ อันแดร์สัน ทาลิสก้า เจอผลกระทบจากการขอลดค่าเหนื่อยลงจากวิกฤตฟองสบู่แตกที่เกิดจากการไร้นายทุน รวมถึงปัญหาโควิด-19 จนทำให้พวกเขาต้องย้ายออกไปค้าแข้งในยุโรปอีกครั้ง บางคนก็กลับบ้านเกิด ส่วนบางรายก็ย้ายไปทำงานในลีกตะวันออกกลาง  

เหลือเพียง ออสการ์ เท่านั้นที่ยอมลดเงินเดือนจาก 500,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เหลือ 400,000 ปอนด์ เมื่อปี 2020 แม้จะยังเป็นจำนวนเงินที่มากอยู่ดี แต่มันก็แสดงให้เห็นว่า ออสการ์ ยังคงมีความสุขดี และยังมั่นคงกับแนวคิดของตัวเองเสมอว่า เขาจะอยู่กับทีม ๆ นี้ต่อไป ตราบใดที่เขายังได้ค่าจ้างที่เหมาะสม ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างดี และมีคุณภาพชีวิตที่ยอดเยี่ยมและปลอดภัย   

ตอนนี้เขาอายุ 30 ปีแล้ว และมีสัญญาอยู่กับทีมถึงปี 2024 แต่คำวิจารณ์ว่าเขาเป็นนักเตะที่ทำเพื่อเงินยังคงไม่หายไป ข้อนี้ตัวของ ออสการ์ เองก็บอกว่าเขาก็คงไปบังคับใจใครไม่ได้ ถ้าใครจะบอกอย่างนั้นเขาก็จะรับคำวิจารณ์ทั้งหมดเอาไว้เอง เพราะเขารู้ดีว่า เซี่ยงไฮ้ คือเมืองที่มอบโอกาสให้กับเขาและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเงินก้อนใหญ่สำหรับอนาคตในวันที่เขาเลิกเป็นนักฟุตบอลเมื่ออายุเยอะกว่านี้ 

“ใครจะพูดอะไรก็คงต้องปล่อยให้เป็นแบบนั้น ผมเข้าใจพวกเขาดี แล้วผมก็ไม่เถียงพวกเขาด้วย ฟุตบอลที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นฟุตบอลในลีกยุโรปอยู่แล้ว แต่นี่คือการตัดสินใจของผมเอง และแน่นอนสิ่งเดียวที่ผมต้องการคืออยากให้ผู้คนเคารพการตัดสินใจส่วนตัวครั้งนี้ของผมด้วย … ด้วยความสัตย์จริง ตอนนี้ผมไม่คิดที่จะออกจากจีน ที่นี่ยังมีเรื่องตื่นเต้นรอผมอยู่อีกมากมาย” ออสการ์ กล่าวทิ้งท้าย

นักฟุตบอลก็คืออาชีพอาชีพหนึ่งที่ต้องการรายได้ที่เหมาะสม ยิ่งสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะร่างการของพวกเขามีอายุการใช้งานที่ไม่นานนัก พอถึงวันที่พวกเขาอายุ 35-40 ปี พวกเขาจะไม่ปราดเปรียวเหมือนเก่า ไม่เก่งเหมือนเดิม และมีร่ายกายที่อ่อนแอลงตามวัย … มีคำกล่าวว่าเมื่อเหล่านักเตะชื่อดังหมดประโยชน์กับทีม พวกเขาก็เหลือแค่ตัวเองให้พึ่งพา 

รายได้ที่มีจะหดหาย ความนิยมจะลดลง พื้นที่บนหน้าสื่อก็บางเบา ถึงตอนนั้นพวกเขาหลายคนก็จะต้องมาตอบคำถามของตัวเองที่ว่า “ฉันจะทำอะไรเพื่อเลี้ยงชีพต่อไป ?” 

สำหรับ ออสการ์ นับตั้งแต่วันที่เขาย้ายมาที่จีนในปี 2017 เขาทำเงินตกปีละ 28 ล้านปอนด์ หรือราว ๆ 1.25 พันล้านบาท … หากเขาอยู่จนครบสัญญาถึงปี 2024 จะเท่ากับว่า ออสการ์ โกยเงินเข้ากระเป๋าไปทั้งสิ้น 8.8 พันล้านบาท

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงยอมรับว่าเขาเป็นนักเตะที่ทำเพื่อเงินจริง ๆ และเชื่อว่าเขาคงมีอาชีพที่ใครหลายคนต้องอิจฉา และมีเงินในกระเป๋าในแบบที่ใครหลายคนได้แต่ฝันถึงอย่างแน่นอน