ครั้งหนึ่ง โดเนตสก์ ถูกมองว่าเป็นเมืองแห่งความหวัง เมื่อเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้คือหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทางภาคตะวันออกของประเทศยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดพรมแดนของประเทศรัสเซีย
ดินแดนแห่งนี้ยังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่เหมาะแก่การทำธุรกิจมากที่สุดในประเทศจากนิตยสาร Forbes ขณะที่ ดอนบาส อารีนา สนามอันโอ่อ่าของเมือง ก็เคยเป็นสังเวียนจัดการแข่งขันยูโร 2012 รอบรองชนะเลิศ ระหว่าง สเปน กับ โปรตุเกส
แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและลุกลามเป็นสงคราม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 14,000 คน และอีก 1.5 ล้านคนต้องละทิ้งถิ่นฐานเพื่อหนีตาย
ไม่เว้นแม้แต่ ชัคตาร์ โดเนตสก์ ทีมยักษ์ใหญ่แห่งลีกยูเครน ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของเมือง ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุนและไม่ได้ลงเล่นในสนามเหย้าของพวกเขามากว่า 8 ปีแล้ว
ติดตามเรื่องราวอันชอกช้ำของสโมสรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งไปพร้อมกับ Main Stand
ผู้ท้าชิงลีกยูเครน
หลังจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในกลางตาราง ทั้งสมัยที่เล่นอยู่ในลีกของสหภาพโซเวียตและยูเครน ชัคตาร์ โดเนตสก์ ก็ได้เริ่มลืมตาอ้าปาก หลังการเข้ามาของ รินาต อัคเมตอฟ นักธุรกิจท้องถิ่น ที่มาแทนที่ประธานคนเก่า ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกลอบวางระเบิด ในปี 1995
อัคเมตอฟ อัดฉีดเงินมหาศาลให้แก่ทีมเจ้าของฉายา “คนงานเหมือง” ซึ่งมาจากเมืองโดเนตสก์ที่โด่งดังจากการทำเหมือง จนทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของฟุตบอลยูเครน พร้อมทั้งเบียดเอาชนะ ดินาโม เคียฟ มหาอำนาจเก่าลงจากบัลลังก์ ด้วยการคว้าแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จในปี 2002
ปีต่อมา อัคเมตอฟ ได้แต่งตั้ง มีร์เซีย ลูเซสคู กุนซือชาวโรมาเนีย ขึ้นมาเป็นกุนซือคนใหม่ และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสโมสร
“ลูเซสคู เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มนำนักเตะดาวรุ่งบราซิลเข้ามา แล้วพัฒนาฝีเท้าพวกเขาเพื่อขาย” อิกอร์ เปตรอฟ อดีตกัปตันชัคตาร์ และทีมชาติยูเครนกล่าวกับ BBC Sport
ขณะที่เพื่อนร่วมลีกยูเครนมุ่งเน้นการปลุกปั้นดาวรุ่งท้องถิ่น แต่ ชัคตาร์ คิดใหม่ทำใหม่ด้วยการวางระบบเครือข่ายแมวมองในทวีปอเมริกาใต้ และทำให้พวกเขาได้นักเตะลาตินอเมริกาฝีเท้าดีเข้ามาสู่ทีมทุกปี
ไล่ตั้งแต่ แฟร์นันดินโญ่ ที่ตอนนี้ค้าแข้งอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, วิลเลียน อดีตปีกจอมพลิ้วของ เชลซี และ อาร์เซน่อล รวมไปถึง ดักลาส คอสตา ที่ต่อมาย้ายไปเล่นให้กับยอดทีมในยุโรปอย่าง บาเยิร์น มิวนิค ของเยอรมัน และ ยูเวนตุส ของอิตาลี
“นักเตะท้องถิ่นที่มีความสามารถมักจะออกไปเล่นในต่างประเทศ” เปตรอฟ พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
“จนถึงปี 2005 ก็ไม่มีนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมาได้เลย ทั้งในรัสเซียหรือยูเครน เราจึงต้องมองไปที่บราซิล เมื่อเรามองย้อนไปมันไม่มีตัวเลือกอื่นเลย”
และนักเตะสัญชาติลาตินเหล่านี้ก็กลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ ชัคตาร์ ครองความยิ่งใหญ่ในลีกยูเครน ด้วยการคว้าแชมป์ยูเครนพรีเมียร์ลีกอีก 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2002 และกลายเป็นขาประจำในสโมสรยุโรป โดยเฉพาะใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก
นอกจากนี้ ในปี 2009 พวกเขายังก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ หรือ ยูโรปา ลีก ปัจจุบัน หลังเอาชนะ แวร์เดอร์ เบรเมน จากเยอรมัน ในนัดชิงชนะเลิศที่นครอิสตันบูล 1-0 จากประตูชัยของ แจดสัน แนวรุกเลือดบราซิล
ทุกอย่างเหมือนกำลังจะไปได้สวย แต่ในปี 2014 มหันตภัยก็มาเยือนพวกเขาโดยไม่ทันตั้งตัว
สโมสรผู้ลี้ภัย
แม้ว่า ชัคตาร์ โดเนตสก์ จะเต็มไปด้วยนักเตะต่างชาติ แต่เมืองโดเนตสก์กลับเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างคนยูเครนที่พูดภาษารัสเซีย ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเมือง กับคนยูเครนที่พูดภาษายูเครน
มูลเหตุของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ ยูเครน ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ที่ทำให้ดินแดนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากผู้ปกครองไม่น้อย จึงทำให้แม้ว่าโซเวียตจะล่มสลายไป แต่ผู้คนบางส่วนของยูเครนโดยเฉพาะภาคตะวันออกที่เรียกว่าดอนบาส ยังมีความผูกพันกับรัสเซียอยู่
ทำให้หลังจากได้รับเอกราชเมื่อปี 1991 การเมืองของยูเครนถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายมาตลอด โดยส่วนหนึ่งมองว่า ยูเครน ควรยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง สร้างประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป และอีกส่วนอีกหนึ่งมองว่า รัสเซีย และ ยูเครน มีวัฒนธรรมร่วมกันมานาน จึงควรพึ่งพาและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัสเซียต่อไป
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2004 รอยร้าวก็เริ่มปริมากขึ้น เมื่อ วิคตอร์ ยานูโควิช อดีตผู้ว่าการแคว้นโดเนตสก์ ซึ่งฝักใฝ่รัสเซียได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของยูเครน แต่เขากลับถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง และทำให้มีผู้คนออกมาประท้วงในเหตุการณ์ “ปฏิวัติสีส้ม” จนเกิดการเลือกตั้งใหม่
ในปี 2010 มีการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ยานูโควิช ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เขาจึงดำเนินนโยบายสานสัมพันธ์กับรัสเซียทันที โดยการล้มข้อเสนอการเข้าร่วมกลุ่ม EU (สหภาพยุโรป) จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้คนบางส่วน และเกิดการประท้วงขับไล่ในปี 2014 ในชื่อ “การปฏิวัติยูโรไมดาน”
ในตอนนั้นรัฐบาลของยานูโควิชได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมจนเหตุการณ์เริ่มบานปลายและมีคนเสียชีวิต ทำให้เขาถูกสภาถอดถอนและต้องลี้ภัยไปรัสเซีย ก่อนขอให้รัสเซียแทรกแซง รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการยึดแหลมไครเมียมาเป็นของรัสเซีย
หลังจากนั้นกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครนก็เคลื่อนไหวหนักขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นที่ตั้งของโดเนตสก์ และลูฮานสก์ สองเมืองสำคัญทางตะวันออกของประเทศ จนเกิดเป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในชื่อ “สงครามดอนบาส”
สงครามนี้ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จากรายงานของทางการตั้งแต่ปี 2014 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากถึง 14,000 คน ขณะที่ 1.5 ล้านคนต้องละทิ้งที่อยู่อาศัย ไม่เว้นแม้แต่ ชัคตาร์ โดเนตสก์ ทีมดังของเมือง หลังจากกลุ่มกบฏที่รัสเซียสนับสนุนเข้ามายึดครองเมืองได้สำเร็จ
แต่นั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งใหม่ … ในสนามฟุตบอล
ใจกลางความขัดแย้ง
ในปี 2014 สงครามบีบให้ ชัคตาร์ ย้ายนักเตะ สตาฟโค้ช และเจ้าหน้าที่จากโดเนตสก์ มาอยู่ที่กรุงเคียฟเป็นการชั่วคราว แต่เกมในบ้านของพวกเขาก็ต้องไปเตะกันที่เมืองเลียฟ ที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงไปทางตะวันตกถึง 540 กิโลเมตร
แม้จะย้ายถิ่นฐาน แต่ ชัคตาร์ ก็ไม่สามารถหลบหนีจากความขัดแย้งได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการต้องไปใช้สนามที่เมืองเลียฟ ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องความชาตินิยม
“สำหรับผม มันคือการตัดสินใจที่สิ้นคิด” ดิมิตรี อเลเชนโก แฟนของชัคตาร์ กล่าวกับ Emerging Europe
“ไม่ใช่แค่จะไม่มีแฟนของชัคตาร์ไปที่นั่น แต่ในช่วงเวลานั้นมันมีความเกลียดชังมากมายในประเทศ และเลียฟ (เมืองที่ชัคตาร์ต้องไปเล่นเกมเหย้า) ก็เป็นศูนย์กลางของคนรักชาติและเหล่าชาตินิยมยูเครน ตอนนั้นคนต่างก็ใช้อารมณ์ หลายคนจากดอนบาสก็ถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศ และเป็นหนอนบ่อนไส้ของฝั่งรัสเซีย”
ฤดูกาล 2016-2017 ชัคตาร์ ก็ต้องโยกย้ายอีกครั้ง หลังเปลี่ยนสนามเหย้าไปเป็น เมทาลิสต์ สเตเดียม ในเมืองคาร์คีฟ ที่แม้จะห่างจากกรุงเคียฟถึง 480 กิโลเมตร แต่ก็อยู่ใกล้กับโดเนตสก์มากกว่า ทว่ามันก็ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหายไป
ในปี 2017 องค์กรชาตินิยมยูเครน ได้ออกแบบเสื้อยืดพร้อมคำขวัญสนับสนุนเหล่าทหารผ่านศึกให้แก่ทุกทีมในยูเครน พรีเมียร์ลีกสวมใส่ก่อนเริ่มการแข่งขัน 17 ทีมจาก 18 ทีมยินยอมโดยดี ยกเว้นเพียงแค่ชัคตาร์
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้องค์การทหารผ่านศึกออกแถลงการณ์ตำหนิสมาคมฟุตบอลยูเครน จากการแสดงออกของชัคตาร์ ว่าไม่ต่างอะไรกับ “การดื่มเลือดของประชาชนชาวยูเครนผู้รักชาติ”
อันที่จริงในปี 2014 ก็เคยมีเรื่องลักษณะนี้ เมื่อ ชัคตาร์ ถูกขอให้ใส่เสื้อที่มีข้อความ “สดุดีกองทัพยูเครน” ก่อนเกมพบกับ คาร์ปาตี เลียฟ แต่สโมสรจากเมืองโดเนตสก์ก็ปฏิเสธ
นอกจากนี้พวกเขายังมีข้อพิพาทจากกรณีของ ยาโรสลาฟ ราคิตสกี อดีตกองหลังของชัคตาร์ ซึ่งเป็นชาวภูมิภาคดอนบาส ที่ปฏิเสธการร้องเพลงชาติของยูเครนยามรับใช้ทีมชาติ เขาถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อ ก่อนจะตัดสินใจย้ายไปเล่นให้กับ เซนิต เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ของรัสเซีย ในเดือนมกราคม 2019
แน่นอนว่าการย้ายทีมครั้งนี้ยิ่งทำให้เขาถูกเล่นงานอย่างหนักและถูกมองว่าเป็นผู้ทรยศ โดยเฉพาะการที่ เซนิต มีเจ้าของเป็น ก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ซึ่งตัดท่อส่งก๊าซจากรัสเซียมายูเครน นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นการย้ายไปเล่นให้กับทีมในรัสเซีย ยังทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ราคิตสกี จากผลสำรวจของ Tribune ในปี 2019 ระบุว่าชาวยูเครนมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์บอกว่า เขาไม่ควรได้กลับมารับใช้ชาติอีก และเขาก็ไม่มีชื่อในทีมของยูเครนอีกเลยนับตั้งแต่ตอนนั้น
แต่ปัญหาของพวกเขาไม่ได้มีแค่นั้น
โดดเดี่ยวกลางกรุงเคียฟ
“ความเป็นคู่ขัดแย้งกับดินาโม เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2004 เมื่อชัคตาร์เริ่มเอาชนะพวกเขา” แหล่งข่าวที่ชื่อว่า ชาราฟุดินอฟ กล่าวกับ BBC Sport
“ลองคิดดู คุณมีแฟนบอลกว่า 30,000 คน เดินทางจากโดเนตสก์มาเคียฟ เวลาทีมแข่งเมืองหลวงถูกยึดครองไปด้วยสีส้มดำของชัคตาร์ ทันใดนั้นทัศนคติของสื่อก็เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นตอนที่การเมืองเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง”
ชัคตาร์ ใช้สนามของ เมทาลิสต์ คาร์คีฟ อยู่แค่เพียงราว 3 ฤดูกาล พวกเขาก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่กรุงเคียฟ มันอาจจะไม่ได้มีปัญหาอะไร หากสนามที่พวกเขาใช้ไม่ใช่ โอลิมปิสกี สเตเดียม รังเหย้าของ ดินาโม เคียฟ คู่รักคู่แค้นในลีกยูเครน
ชัคตาร์ ต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอีกครั้ง โดยเฉพาะในปี 2021 ที่สโมสรเข้ามาเปิดร้านขายของที่ระลึกที่ โอลิมปิสกี สเตเดียม ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลร้านของดินาโม จนมีป้ายคำว่า “ออกไปจากเคียฟซะ ไอพวกสารเลวขึ้นสนิม”
แต่ อเล็กซานเดร มามาลิกา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของชัคตาร์ ก็แย้งว่าสนามนี้ที่เป็นรังเหย้าของ ดินาโม เคียฟ มาตั้งแต่ปี 1953 มีเจ้าของเป็นรัฐ (กระทรวงเยาวชนและกีฬาของยูเครน) และ ดินาโม เองก็เป็นผู้เช่า ดังนั้นไม่ว่าจะสโมสรใด ก็สามารถใช้สนามแห่งนี้ได้
อย่างไรก็ดี มามาลิกา ก็ยอมรับว่าการสร้างฐานแฟนบอลขึ้นมาใหม่ในเมืองหลวงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแฟนบอลในเคียฟก็ล้วนเชียร์ ดินาโม กันทั้งนั้น อีกทั้งผู้พลัดถิ่นจากภูมิภาคดอนบาสแม้จะมีมากถึง 1.5 ล้านคน แต่ก็อาศัยอยู่ในเคียฟและพื้นที่โดยรอบเพียงแค่ 250,000 คนเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขดังกล่าวยังเป็นการนับรวมผู้คนจากท้ั้งเมืองโดเนตสก์และลูฮานสก์ ซึ่งเมืองหลังมีจำนวนน้อยมากที่เชียร์ ชัคตาร์ (ลูฮานสก์ มี ซอร์ยา ลูฮานสก์ เป็นทีมประจำเมืองอยู่แล้ว) แถมผู้อพยพจากโดเนตสก์ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนที่ไม่ได้ไปชมฟุตบอลเป็นประจำอีกด้วย
“มันยากมาก ถ้ามองถึงเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับแฟนบอล เพราะว่าเราต้องสร้างความจงรักภักดีตั้งแต่ต้น” มามาลิกา อธิบายกับ Jam News
“แม้แต่คนที่เคยอยู่ในโดเนตสก์แล้วย้ายมาอยู่เคียฟจากเหตุการณ์ในปี 2014 หรือหลังจากนั้นก็ไม่ได้มาดูเกม เพราะว่าสโมสรเล่นกันที่เมืองเลียฟและคาร์คิฟ ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มสร้างความจงรักภัคดีตั้งแต่พื้นฐาน”
เหนือสิ่งอื่นใด ผู้พลัดถิ่นส่วนนี้ยังประสบปัญหาทางการเงินจากการต้องละทิ้งถิ่นฐาน ทำให้พวกเขาไม่มีทั้งเงินและเวลามาสนับสนุนสโมสร จึงทำให้เกมในบ้านของชัคตาร์มีผู้ชมค่อนข้างบางตา
“จนฤดูกาลสุดท้าย (ก่อนสงคราม) ผมก็ไม่ได้สนใจ (ฟุตบอล) เป็นพิเศษมาหลายปีแล้วเพราะว่าไม่มีเวลา มันยังมีปัญหาอื่นอีกมากมาย” โวโลดิเมียร์ ฟอมิเชฟ แฟนบอลพลัดถิ่นที่แทบไม่เคยพลาดเกมของชัคตาร์ก่อนสงครามปะทุ กล่าวกับ Jam News
สันติภาพและความหวัง
แม้จะดูริบหรี่ แต่ ชัคตาร์ ก็ไม่ได้หมดหวัง เพราะนับตั้งแต่ปี 2014 ที่ต้องย้ายออกจาก ดอนบาส สเตเดียม ผลงานของชัคตาร์ก็ไม่ได้ตกลงมากนัก พวกเขาคว้าแชมป์ลีกยูเครนได้อีก 4 สมัย และยูเครนคัพ อีก 4 ครั้ง และทะลุเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูโรปา ลีก ได้ในฤดูกาล 2015-16 กับ 2019-20
ทำให้สโมสรยังเชื่อมั่นว่าพวกเขายังสามารถไปต่อและหวังที่จะเพิ่มจำนวนผู้สนับสนุนในฐานที่มั่นใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตราบใดที่ความขัดแย้งยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลาย
“บางทีเราก็จำเป็นต้องหาแฟนใหม่ ๆ มันเป็นเรื่องยากที่จะยึดแกนหลักของโดเนตสก์ไว้ตลอดเวลา เพราะเราเองก็ไม่ได้มีผู้ชมในสนามมากนัก” ฟอมิเชฟ ที่ตามเชียร์ทีมมากว่า 20 ปีกล่าวกับ Jam News
“สิ่งนี้ (การชมเกม) ไม่ได้เป็นความบันเทิงที่ถูกที่สุดอีกแล้ว และไม่ใช่ผู้อพยพทุกคนที่ชอบฟุตบอล”
“สำหรับตัวผมแล้ว ดูเหมือนว่าจะต้องพยายามชวนให้ผู้พลัดถิ่นไปดูฟุตบอลมากขึ้น”
ทั้งนี้ ฟอมิเชฟ ก็มองว่าสโมสรก็ควรจะช่วยเหลือแฟนบอลบ้าง ไม่ใช่ให้พวกเขามาช่วยอยู่เพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้สโมสรที่เป็นเหมือนสายสัมพันธ์ของพวกเขาสามารถเดินหน้าต่อไปได้
“มันควรมีส่วนลดจากสโมสรบ้าง ในโรงเรียนสอนฟุตบอลก็ควรมีส่วนลดสำหรับผู้พลัดถิ่น เพราะว่ามันสำคัญมากกับการมีผู้เล่นจากโดเนตสก์มาอยู่ในทีม” ฟอมิเชฟ กล่าว
แต่ความฝันสูงสุดของพวกเขาก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือการได้กลับไปเล่นที่โดเนตสก์บ้านเกิดที่พวกเขาจากมา ที่แม้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากล่าสุด รัสเซีย ได้ประกาศทำสงครามกับยูเครนเต็มตัวในตอนนี้ (24 ก.พ. 2022) แต่พวกเขาก็ยังมีหวัง
เพราะตราบใดที่สันติภาพยังไม่บังเกิด พวกเขาก็ยังต้องสู้ต่อไป
“เราจะไม่มีวันเป็นชัคตาร์ทีมเดิมอย่างแท้จริง ตราบใดที่เรายังเล่นอยู่ที่นี่” ดิมิตทรี เจ้าของกิจการรับจ้างขนย้ายที่ต้องเปลี่ยนอาชีพมาขับแท็กซี่หลังสงครามดอนบาส กล่าวกับ Emerging Europe
“แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสถานการณ์เหล่านี้ แน่นอนว่านี่อาจจะเป็นผลกระทบที่น้อยที่สุดจากสงครามต่อชีวิตเรา”
“ผมอยากจะกลับไปที่นั่น ไม่ใช่เพราะจะได้ดูทีมรักของผมเล่นในบ้าน สิ่งนี้ไม่ได้สำคัญเลย สิ่งที่สำคัญคือการได้เห็นสันติภาพของประเทศและเมืองของผมอย่างแท้จริงต่างหาก”