sportpooltoday

5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์คุ้มแค่ไหน ? : ทำไม แมนฯ ซิตี้ พร้อมสู้ทุกราคาเพื่อคว้า เออร์ลิ่ง ฮาลันด์


5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์คุ้มแค่ไหน ? : ทำไม แมนฯ ซิตี้ พร้อมสู้ทุกราคาเพื่อคว้า เออร์ลิ่ง ฮาลันด์

ข่าวการย้ายทีมของ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ จาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มายัง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นจริง และสื่อหลายเจ้าก็ออกตัวว่าการย้ายทีมครั้งนี้จะทำให้ ฮาลันด์ ในวัย 22 ปีได้รับค่าเหนือย 5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

นี่คือค่าเหนื่อยที่มากกว่า คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เควิน เดอ บรอยน์ และ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ซึ่งหากปิดดีลได้จริงจะทำให้เขาเป็นนักเตะที่ได้รับค่าจ้างมากที่สุดในพรีเมียร์ลีกทันที … นี่ยังไม่รวมค่าตัวที่คาดกันว่าจะรวม ๆ แล้วเกิน 100 ล้านปอนด์แน่นอน

แพงทั้งค่าตัวและค่าเหนื่อยแบบนี้ ทำไม แมนฯ ซิตี้ จึงสู้ไม่ถอย ? ติดตามได้ที่ Main Stand

ซื้อสตาร์ได้อะไร ? 

เมื่อมีข่าวหลายสำนักบอกว่า เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ กำลังจะกลายเป็นนักเตะของ แมนฯ ซิตี้ และอาจจะมีการเซ็นสัญญาด้วยการได้รับค่าเหนื่อยมากถึง 500,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ คำถามคือจำนวนเงินขนาดนี้เหมาะสมและจะกระทบกับการเงินของ แมนฯ ซิตี้ หรือไม่ ?  

จากการนำเสนอของสื่อระดับโลกอย่าง GOAL มีการยืนยันว่า แมนฯ ซิตี้ คือสโมสรที่มีรายรับมากที่สุดในช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2021-22 โดยรายรับของพวกเขาต่อปีอยู่ 644.9 ล้านปอนด์ แบ่งเป็นรายรับจากการถ่ายทอดสด 297.4 ล้านปอนด์ อีก 271.7 ล้านปอนด์จากรายได้เชิงพาณิชย์ ส่วนที่เหลือมาจากสปอนเซอร์ รวมถึงรายได้ทางอื่น ๆ 

หากมองที่ตัวเลข 644.9 ล้านปอนด์ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากโข แต่อันที่จริงเงินในส่วนนี้จะถูกนำไปแบ่งเป็นส่วน ๆ เพื่อพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ของทีม ทั้งเรื่องในสนาม งบประมาณการทำทีมประจำปี การกุศลเพื่อสังคม หรืออะไรก็ตามที่เป็นรายจ่ายหลัก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในรายจ่ายหลัก ๆ ของทุกสโมสรคือ “ค่าเหนื่อยของนักเตะ” ที่ต้องจ่ายกันทุกสัปดาห์ โดยรวมแล้วต่อ 1 ปี แมนฯ ซิตี้ จะต้องจ่ายเงินค่าเหนื่อยนักเตะรวมทั้งสิ้น 355 ล้านปอนด์ มากเป็นอันดับที่ 1 ของศึกพรีเมียร์ลีกเลยทีเดียว

 

และในกรณีที่พวกเขาได้ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ มาร่วมทัพด้วยค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 5 แสนปอนด์ จริง ๆ แมนฯ ซิตี้ จะต้องเพิ่มจำนวนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเหนื่อยของนักเตะเพิ่มปีละ 26 ล้านปอนด์ รวมเป็นเงินทั้งหมด 381 ล้านปอนด์ สำหรับนักเตะทั้งทีม คิดเป็น 59.1% ของรายรับทั้งหมดต่อ 1 ปีของสโมสร 

นี่คือตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร เนื่องจากเดิมที แมนฯ ซิตี้ ก็เป็นทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยหนักที่สุดในลีกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามบอร์ดบริหารของแมนฯ ซิตี้ เองก็เชี่ยวชาญและขึ้นชื่อในเรื่องการปั้นแบรนด์สโมสรให้มีมูลค่าติดตลาดอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงไม่น่าเป็นห่วงอะไรนัก จากค่าเหนื่อยที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกสัปดาห์ละ 500,000 ปอนด์ ของ ฮาลันด์ เพราะในอดีตมีการยืนยันว่าอย่างไรเสียการทุ่มซื้อนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ก็มีแต่ความคุ้มค่ารออยู่ เงินที่เสียไปจะเปลี่ยนเป็นรายรับและความนิยมที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเช่นในปี 2009 ที่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ย้ายจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไป เรอัล มาดริด ด้วยราคาแพงที่สุดในโลก (ณ เวลานั้น) ที่ 80 ล้านปอนด์ สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือยอดคนดูในสนาม ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ก็เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่มีคนดูเฉลี่ยอยู่ที่ 70,816 คนต่อนัด กลายเป็น 74,316 คนต่อนัด 

ใกล้เข้ามาหน่อยก็เห็นจะเป็นรายของ เนย์มาร์ ที่ครองสถิตินักเตะแพงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งเมื่อ เนย์มาร์ ย้ายไป เปแอสเช ด้วยค่าตัว 198 ล้านปอนด์ ก็ช่วยให้มีแฟนบอลเข้ามาชมเกมใน ปาร์ก เดส์ แปรงซ์ รังเหย้าของเปแอสเชเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เฉลี่ย 45,159 คนต่อนัดในฤดูกาล 2016-17 ขึ้นมาเป็น 46,930 คนต่อนัด

 

ไม่เพียงแต่การย้ายทีมของผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์จะส่งผลให้ยอดคนดูในสนามเพิ่มขึ้นเท่านั้น รายได้จากส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะมาจากการถ่ายทอดสดการแข่งขัน การขายสินค้าที่ระลึก หรือแม้จากผู้สนับสนุนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ แบบเห็นภาพที่สุดคือวันที่ เดวิด เบ็คแฮม ย้ายจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ไป เรอัล มาดริด ในฤดูกาล 2003-04 ทีมราชันชุดขาวมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 192.6 ล้านยูโร เป็น 275.7 ล้านยูโร ทั้ง ๆ ที่ในซีซั่นนั้นมาดริดไม่มีแชมป์ใดติดมือเลยแม้แต่รายการเดียว … เรียกได้ว่าดีล เบ็คแฮม เปลี่ยนให้ เรอัล มาดริด กลายเป็นสโมสรที่ทำรายได้มากที่สุดของโลกในเวลานั้น แซงหน้าแชมป์เก่าที่เป็นทีมของ เบ็คแฮม อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ไปเลยก็คงไม่ผิดนัก 

แม้ ณ เวลานี้ ฮาลันด์ อาจจะยังไม่ได้ถือว่าเป็นนักเตะในระดับโกลบอล ที่แม้แต่คนที่ไม่ได้ดูฟุตบอลก็ยังรู้จักเหมือนที่ เบ็คแฮม เป็น แต่ะนักเตะวัย 22 ปีคนนี้ก็ถือว่าเป็นนักฟุตบอลระดับตัวท็อปของยุคนี้ ชื่อของเขาโด่งดังและถูกพูดถึงในวงการมาตลอด 2-3 ปีหลังสุด 

ดังนั้นการทุ่มเงินซื้อนักเตะที่มีศักยภาพดีพอจะกลายเป็นเบอร์ 1 ของโลกในอนาคต กับค่าเหนื่อย 500,000 ปอนด์ ถือว่าไม่ได้เป็นตัวเลขที่น่าเกลียดอะไรนัก และมันยังทำให้แบรนด์ของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นด้วยนักเตะระดับโลกเช่นนี้อีกด้วย

เจ็บแค่ไหนกับ 5 แสนปอนด์ต่อสัปดาห์

หากดีลนี้เป็นจริง ฮาลันด์ จะเป็นนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยมากที่สุดในทีม แมนฯ ซิตี้ แซงหน้า เควิน เดอ บรอยน์ ที่ได้สัปดาห์ละ 400,000 ปอนด์ นอกจากนี้ ฮาลันด์ ยังจะกลายเป็นนักเตะที่รับค่าเหนื่อยมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก แซงหน้า คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ได้รับกับ แมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ที่สัปดาห์ละ 450,000 ปอนด์ ณ เวลานี้ 

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าแม้ยอดรายจ่ายในส่วนของค่าเหนื่อยจะเพิ่มขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่ง แมนฯ ซิตี้ ก็มีงบประมาณในส่วนนี้เหลืออยู่พอสมควร เนื่องจากในฤดูกาล 2021-22 นี้ที่พวกเขาเป็นทีมที่จ่ายค่าเหนื่อยมากที่สุดในลีก แต่อีกทางหนึ่ง พวกเขาก็ลดภาระในส่วนนี้มาได้พอสมควร เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีหลังทีมได้ปล่อยนักเตะที่มีค่าเหนื่อยสัปดาห์ละมากกว่า 1 แสนปอนด์ออกจากทีมไปถึง 5 คน ได้แก่ นิโคลัส โอตาเมนดี้ (120,000 ปอนด์ ต่อสัปดาห์), เคลาดิโอ บราโว (100,000 ปอนด์), ดาบิด ซิลบา (180,000 ปอนด์), แบ็งฌาแม็ง เมนดี้ ที่ถูกระงับสัญญาเนื่องจากมีปัญหาเรื่องคดีความ (140,000 ปอนด์) และ เซร์คิโอ อเกวโร่ ที่ได้รับอยู่ที่สัปดาห์ละ 290,000 ปอนด์ 

ในส่วนนี้จะทำให้ แมนฯ ซิตี้ ลดค่าเหนื่อนรวมทั้งทีมไปได้บ้าง แม้จะได้ตัว แจ็ค กรีลิช มาจาก แอสตัน วิลล่า ในปีที่แล้วพร้อมกับต้องจ่ายค่าเหนื่อยอีก 300,000 ปอนด์ แต่หากอ้างอิงจากตัวเลขของนักเตะค่าเหนื่อยแพงที่ย้ายออกไปจะเห็นได้ว่าค่าเหนื่อยที่ว่างจะเหลืออยู่อีกราว ๆ 500,000 ปอนด์ ซึ่งสัมพันธ์กับค่าเหนื่อยของ ฮาลันด์ ตามที่เป็นข่าวพอดี

 

ขณะที่ในฤดูกาลหน้า (2022-23) ก็จะยังมีนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยเกิน 1 แสนปอนด์ อีก 1 คนอย่าง แฟร์นันดินโญ่ ที่ยืนยันแล้วว่าจะย้ายทีม ก็ยิ่งทำให้ แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้เจ็บปวดหรือได้รับผลกระทบอะไรมากนักหากพวกเขาจ้าง ฮาลันด์ ด้วยค่าเหนื่อยดังกล่าวจริง นอกจากนี้จากรายงานที่เปิดเผยมาก็ระบุว่า ฮาลันด์ มีค่าฉีกสัญญาอยู่แค่ 63 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมากสำหรับว่าที่นักเตะระดับท็อปของโลกอย่างเขาในเวลานี้ 

จากทั้งหมดที่กล่าวมาเห็นจะมีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นสำหรับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ ซิตี้ จะต้องห่วง นั่นคือเรื่องค่าคอมมิชชั่นของเอเยนต์ของฮาลันด์ที่ชื่อว่า มิโน ไรโอลา ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความเขี้ยวและการกินคอมมิชชั่นมาแต่ไหนแต่ไร โดยตามข่าวหลายสำนักบอกว่า ไรโอลา เรียกค่านายหน้าจากดีลนี้ถึง 47 ล้านปอนด์ นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า อัลฟ์ อิงเก้ ฮาลันด์ พ่อของดาวเตะดอร์ทมุนด์ที่เป็นอดีตนักเตะของแมนฯ ซิตี้ ก็มีการเรียกร้องเงินค่าเซ็นสัญญากินเปล่าด้วยเช่นกัน

ดังนั้นก็ไม่รู้ว่าดีลนี้จะจบลงด้วยการจ่ายเงินรวมเท่าไหร่ เพราะในส่วนค่านายหน้านี้เองที่ทำให้ เชลซี เคยถอนสมอล้มเลิกดีลกับ ฮาลันด์ ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมามาแล้ว

กับนักเตะส่งผลไหม ? 

นักเตะที่ค่าเหนื่อยและค่าตัวแพงหลายคนประสบปัญหาย้ายทีมไปแล้วเล่นไม่ดีอย่างเดิม ไม่ว่าจะด้วยปัญหาจากความกดดัน หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้กับทุกคน เนื่องจากนักฟุตบอลก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ย่อมมีเป้าหมายในชีวิต การที่พวกเขาไต่ระดับจนมาถึงระดับสูงสุดจนได้รับเงินจำนวนมากเป็นค่าตอบแทนก็อาจจะทำให้หลายคนสูญเสียโฟกัสไป

ยกตัวอย่างชัด ๆ ในรายของ เนย์มาร์ ที่นอกจากจะเป็นนักเตะค่าตัวแพงที่สุดในโลกแล้วยังเป็นนักเตะที่ค่าเหนื่อยแพงที่สุดในโลก ณ เวลานี้อีกด้วย โดยหลังจาก เนย์มาร์ ย้ายจาก บาร์เซโลน่า มาอยู่กับ เปแอสเช เชื่อว่าหลายคนก็คงได้เห็นกันด้วยตาตัวเองแล้วว่าเจ้าตัวสูญเสียโฟกัสกับการเล่นฟุตบอลไปพอสมควร มีข่าวไม่ดีกับตัวเขาออกมามากมายโดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมนอกสนาม การวางตัวที่ใหญ่กว่าสโมสร หรือแม้กระทั่งจำนวนนัดที่ลงสนามที่น้อยมาก จากอาการบาดเจ็บบ้าง ลากลับบ้านเกิดที่บราซิลบ้าง โดยแทบไม่มีปีไหนที่เขาได้ลงเล่นแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย 

นอกจาก เนย์มาร์ แล้วยังมีนักเตะค่าตัวหรือค่าเหนื่อยแพงอีกหลายคนที่ประสบปัญหาฟอร์มตกจากการย้ายทีม อาทิ เกปา อาร์ริซาบาลาก้า, แฮร์รี่ แม็คไกวร์, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ อาจรวมถึง แจ็ค กรีลิช ที่เพิ่งย้ายมา แมนฯ ซิตี้ แต่ก็ยังไม่สามารถยึดตำแหน่งตัวจริงของทีมได้จนถึงตอนนี้ 

อย่างไรก็ตามเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ไม่อาจฟันธงได้ว่านักเตะค่าตัวหรือค่าเหนื่อยแพงจะต้องล้มเหลวเสมอไป แต่ละคนก็มีวิธีรับมือกับความกดดัน ชื่อเสียง และรายรับที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกันออกไป และถ้าหาก ฮาลันด์ ย้ายทีมจริง สิ่งที่เราจะวัดได้ง่ายที่สุดว่าเขาจะปฏิบัติตัวได้คุ้มราคาหรือไม่สิ่งนั้นคือการวัดจากทัศนคติและมุมมองส่วนตัวของเขา 

ฮาลันด์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องความกดดันที่เขาต้องแบกรับมาตั้งแต่ตอนอายุน้อย ๆ ว่า เขาสามารถรับมือกับเรื่องนี้ได้ด้วยการพักผ่อนและให้พื้นที่ว่างกับสิ่งอื่น ๆ เพื่อสร้างสมดุลให้กับชีวิต เนื่องจากตัวเขาเองไม่ใช่นักเตะที่ชอบปาร์ตี้หรือออกงานที่มีคนเยอะ ๆ ความฝันของ ฮาลันด์ จึงดูเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือการ “เลี้ยงวัว” 

“ตอนนี้ผมยังไม่มีวัวเป็นของตัวเอง แต่แน่นอนว่าในอนาคตผมจะซื้อวัวแน่นอน ผมฝันอยากจะมีฟาร์มเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง ถ้าผมแขวนสตั๊ดขึ้นมาผมมองตัวเองว่าผมจะอยู่ท่ามกลางวงล้อมของสัตว์หลาย ๆ ชนิด … ผมเป็นของผมแบบนี้แหละ ชอบอยู่คนเดียวแล้วก็ค่อนข้างจะเป็นคนที่ไม่ค่อยเปิดกว้างกับใครสักเท่าไหร่” 

“ผมแค่อยากจะตื่นเช้า ๆ โดยไม่ต้องมีนาฬิกาปลุก กินอาหารเช้าดี ๆ แล้วก็ผ่อนคลายกับมัน … สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นมากเลยนะสำหรับนักฟุตบอล คุณจะจมอยู่กับฟุตบอลอย่างเดียวตลอดทุกลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ถ้าคุณปล่อยให้มันกัดกินคุณคุณจะหมดไฟ”

“คุณรู้ไหม นักฟุตบอลเป็นอาชีพที่ไม่ง่ายเลย พวกเราใช้ชีวิตอยู่กับความกดดันเป็นอย่างมาก ดังนั้นผมจึงต้องหาอะไรทำหลาย ๆ อย่างนอกเวลาของฟุตบอลเพื่อให้จิตใจผมยังสงบได้” ฮาลันด์ กล่าว

สิ่งที่ ฮาลันด์ บอกคล้าย ๆ กับหนทางสู่ความห่างไกลของสภาวะที่เรียกว่า เบิร์นเอาต์ ที่หลายคนกำลังประสบปัญหาอยู่ในเวลานี้ นั่นคือภาวะของการอ่อนล้าทางอารมณ์ที่เป็นผลมาจากความเครียดจากงานมากเกินไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ผู้มีภาวะหมดไฟมีความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลงมาก และไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการในการทำงานหรือทำงานได้ไม่ดี … ทุกอาชีพต้องเจอไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล ซึ่งนี่ก็เป็นสัญญาดีที่บ่งบอกว่า ฮาลันด์ สามารถจัดการกับปัญหาส่วนตัวเรื่องฟุตบอลได้ดีในระดับหนึ่ง  

นอกจากเขาจะพูดถึงตัวเองแล้ว คนที่เคยร่วมงานกับ ฮาลันด์ หลาย ๆ คนก็บอกตรงกันว่าเขาเป็นเด็กที่โฟกัสกับฟุตบอลเป็นหลัก และไม่ค่อยสนใจเรื่องของแฟชั่น รถยนต์ หรือเรื่องนอกสนาม แม้กระทั่งการปรากฏตัวบนหน้าสื่อ 

“ฮาลันด์ อาจจะดูเหมือนคนที่ไม่ค่อยทันใคร แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้โง่เลยนะ เขาคือเด็กหนุ่มที่เผชิญหน้ากับความกดดันมาตั้งแต่ยังเล่นในระดับเยาวชน เขาถูกจดจำในฐานะดาวรุ่งผู้โอหัง กระตือรือร้นกับการเพิ่มความสามารถของตัวเอง เขาเคยชินกับความกดดันอย่างที่คุณไม่อยากเชื่อแน่นอน ฮาลันด์ ไม่สนุกกับการคุยกับสื่อหรือออกหน้ากล้อง เขาต้องการแค่โฟกัสกับฟุตบอลเท่านั้น” ลาร์ส ไซเวอร์ทเซ่น กูรูฟุตบอลนอร์เวย์ กล่าวถึง ฮาลันด์ ที่เขาติดตามมาตั้งแต่ตอนเป็นนักเตะเยาวชน 


Photo : Instagram/ERLING HAALAND

ขณะที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ที่เคยร่วมงานกับ ฮาลันด์ สมัยอยู่ที่ โมลด์ ก็ยืนยันว่าทัศนคติของ ฮาลันด์ คือสิ่งที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้ ฮาลันด์ เป็นคนที่ตั้งใจเล่นฟุตบอลเพียงอย่างเดียว ไม่มีความกลัวการปะทะกับนักเตะรุ่นพี่ เขามองที่ผลลัพธ์โดยไม่สนวิธีการ และผลลัพธ์ที่เขามองหาคือ “ชัยชนะ” 

 “ผมยังจำตอนที่ ฮาลันด์ จัดการกับเซ็นเตอร์แบ็กและมิดฟิลด์ตัวกลาง ซึ่งทั้ง 2 คนตัวใหญ่มาก เขาทำให้ทั้งสองคนร่วงลงไปอยู่กับพื้นและบอกให้พวกเขาลุกขึ้น เขาเกิดมาเป็นผู้ชนะ เขามีทัศนคติที่ยอดเยี่ยมมาก ๆ เขาพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่าเขาเป็นนักเตะที่เก่งมากขนาดไหน” โซลชา กล่าวถึง ฮาลันด์ ในวัยทีนเอจ 

ทุกวันนี้หากคุณได้เห็นภาษากายของ ฮาลันด์ ในแต่ละเกม คุณก็น่าจะเข้าใจถึงสิ่งที่หลายคนพยายามจะอธิบายเกี่ยวกับเขา เขาเป็นคนที่มุ่งมั่น ทุ่มเท และมีความเป็นทีมสูงมาก เหนือสิ่งอื่นใดคือการรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีที่สุดนั่นคือการยิงประตู ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ แมนฯ ซิตี้ ต้องการจากเขา จึงเป็นที่มาของราคาและค่าแรงที่แพงจนเป็นข่าวใหญ่ในช่วงนี้ 

“17 ประตูจาก 9 นัด ความลับของผมคืออะไรน่ะเหรอ ? … ไม่มีหรอก ทำงานหนักอย่างเดียวเท่านั้นแหละ” เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ตอบนักข่าวในวันที่เขาย้ายมาอยู่กับ ดอร์ทมุนด์ ใหม่ ๆ 

เท่านี้ก็น่าจะพอทำให้หายห่วงได้พอสมควร และเดาได้กลาย ๆ ว่า ฮาลันด์ อยู่ในสถานะนักเตะที่ต่อให้ราคาเท่าไหร่ ค่าเหนื่อยแพงแค่ไหน ก็ควรต้องคว้าตัวนักเตะแบบนี้มาร่วมทีมให้ได้