sportpooltoday

48 ชั่วโมงอีกครั้ง : อธิบายข้อสงสัยทำไมดีล “เดอ ยอง” กับยูไนเต็ดไม่จบเสียที?


48 ชั่วโมงอีกครั้ง : อธิบายข้อสงสัยทำไมดีล "เดอ ยอง" กับยูไนเต็ดไม่จบเสียที?

ในตลาดซื้อขายซัมเมอร์นี้ ไม่มีดีลไหนที่จะอลวนวุ่นวายมากไปกว่ารัก 3 เส้า ระหว่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, บาร์เซโลน่า และ แฟรงกี้ เดอ ยอง อีกเเล้ว

นับตั้งแต่ เอริค เทน ฮาก เข้ามาเริ่มงานกุนซือ แมนฯ ยูไนเต็ด อย่างเต็มตัวปฏิบัติการล่า เดอ ยอง ก็เริ่มขึ้น และหากนับตั้งแต่วันแรกที่มีข่าวจนถึงวันนี้นี่ก็ผ่านมาร่วม ๆ 3 เดือนแล้ว 

ทำไมการซื้อนักเตะคนเดียวมันยากเย็นนัก เกิดอะไรขึ้นกับดีลนี้ มันช้าที่ตรงไหน ติดตามได้ที่นี่

3 ปีที่เปลี่ยนแปลง 

ย้อนกลับไปในปี 2019 ในวันที่ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว เป็นประธานสโมสรบาร์เซโลน่า ทีม ๆ นี้กำลังต้องการกองกลางคนใหม่เป็นอย่างมากเนื่องจากทีมมีการผลัดใบ นักเตะชุดที่เคยยิ่งใหญ่เริ่มแก่ตัวลง และบางคนก็ย้ายออก ทำให้ที่สุดเเล้วพวกเขาก็มาจบที่กองกลางที่ว่ากันว่าจะก้าวมาเป็นแข้งแนวหน้าของยุคใหม่ นั่นคือ แฟรงกี้ เดอ ยอง จาก อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม

1การซื้อขายในตอนนั้นมีทีมที่สนใจในตัวนักเตะรายนี้ทั้งหมด 3 ทีมจากการเปิดเผยของ ดิ แอธเลติก นอกจาก บาร์ซ่า แล้วยังมี เปแอสเช และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ อยู่ด้วย 

แน่นอนว่า บาร์เซโลน่า แสดงความต้องการชัดที่สุด บาร์โตเมว ขึ้นเครื่องบินจาก บาร์เซโลน่า ไปยัง อัมสเตอร์ดัม อย่างเร่งด่วน ก่อนที่เขาจะเข้าหารือกับบอร์ดบริหารของอาหยักซ์และตัวนักเตะในทันที

การเจรจาแบบสายฟ้าแลบครั้งนั้นทำให้ เดอ ยอง ต้องหยุดกำหนดการเดิมที่จะบินไปยังฝรั่งเศสเพื่อพูดคุยกับฝั่งเปแอสเชอยู่แล้ว และหลังจากบาร์โตเมวตั้งโต๊ะเจรจาได้ไม่นาน พวกเขาก็ได้ข้อตกลงที่ทุกฝ่ายต่างพึงพอใจ ราคาของ เดอ ยอง ในตอนนั้นอยู่ที่ 75 ล้านยูโร และมีแอดออนส์เพิ่มให้อีก 11 ล้านยูโร 

แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เรื่องนั้น ข้อตกลงต่อจากเรื่องของค่าตัวคือเรื่องของค่าเหนื่อย บาร์โตเมวมอบค่าเหนื่อยต่อปีให้กับ เดอ ยอง อยู่ที่ปีละ 14 ล้านยูโร ทั้ง ๆ ที่ความจริง บาร์เซโลน่า คือทีมที่มี “ซาลารี แคป (Salary Cap)” หรือ “ขีดจำกัดด้านค่าจ้าง” เกินกว่าที่กำหนดไปแล้ว 

เราจะอธิบายเรื่อง ซาลารี แคป กันอีกสักหน่อย ว่าง่าย ๆ คือตามกฎของฟุตบอลลีกสูงสุดในประเทศสเปน แต่ละสโมสรจะถูกจำกัดเงินเพื่อใช้ซื้อนักเตะและจ่ายค่าเหนื่อยตามแต่รายได้และรายจ่ายของสโมสรในปีนั้น ๆ เพื่อป้องกันการล้มละลายจากการใช้เงินเกินตัว 

สำหรับตัวเลขของแต่ละสโมสรจะถูกคำนวณโดยทีมวิเคราะห์ของลา ลีกา ที่จะประเมินทุกอย่าง ทั้งรายรับ รายจ่าย มูลค่าของนักฟุตบอล ฯลฯ จนออกมาเป็นจำนวนเงินที่สโมสรจะใช้จ่ายเกี่ยวกับนักฟุตบอลได้ หรือ Squad Cost Limit ซึ่งจะประกาศให้ทุกสโมสรได้รู้ในวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่ง บาร์ซ่า ในยุค บาร์โตเมว กลายเป็นทีมที่ขาดทุนยับเยินในเรื่องนี้ จากข้อมูลของ Goal แจ้งว่า บาร์ซ่า ขาดทุนถึง 416 ล้านปอนด์ (สโมสรประกาศเมื่อ 2021)  

โอเค เรื่องนี้มันอาจจะไม่เกี่ยวกับ เดอ ยอง นักหากย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่เเล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ส่งผลหลังจากที่เขากลายเป็นสมาชิกบาร์เซโลน่าเต็มตัว นักเตะแต่ละคนเริ่มทยอยย้ายออกเพราะสโมสรต้องการประคองเรื่องสมดุลรายรับรายจ่ายโดยเฉพาะเรื่องค่าเหนื่อยที่จ่ายเกินกำหนด นักเตะอย่าง หลุยส์ ซัวเรซ, อองตวน กรีซมันน์ หรือแม้กระทั่งไอคอนของสโมสรอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ ก็ไม่มีข้อยกเว้น พวกเขาต้องย้ายออกเพื่อความอยู่รอดของทีม  

2ขณะที่คนที่ยังอยู่และเป็นผลผลิตของทีมอย่าง เซร์คิโอ บุสเก็ตส์, เคราร์ด ปีเก้, เซร์กี้ โรแบร์โต้ และ จอร์ดี้ อัลบา ก็ต้องโดนขอให้ลดค่าเหนื่อยลงอย่างน้อย 60% เนื่องจากบอร์ดบริหารมองว่าค่าเหนื่อยของซีเนียร์เหล่านี้มากเกินจำเป็น 

และหลังจากไล่เช็คบิลไปทีละคนทีละคน ก็ได้เวลาที่ แฟรงกี้ เดอ ยอง จะต้องกลายเป็นคนต่อไปที่จะต้องมาเคลียร์กันเรื่องค่าเหนื่อยเพื่อช่วยให้ทีมสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งนั่นก็เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับวันที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ยุค เทน ฮาก เข้ามามีชื่อพัวพันกับ เดอ ยอง พอดิบพอดี

บาร์ซ่าซ่อมเพื่ออนาคต vs แมนฯ ยูไนเต็ดไม่อยากเสียเหลี่ยม 

ฤดูกาลที่เเล้ว บาร์เซโลน่า จ่ายค่าเหนื่อยให้นักเตะของพวกเขาปีละ 560 ล้านยูโร โดยในฤดูกาล 2022-23 นี้พวกเขาต้องการลดตัวเลขดังกล่าวลงอีก จึงเริ่มทำการปล่อย ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ให้ แอสตัน วิลล่า, ปล่อย เคลมองต์ ล็องเลต์ ให้ สเปอร์ส ยืมและรับผิดชอบค่าเหนื่อยทั้งหมด เช่นเดียวกันกับการลดค่าเหนื่อยของ เซร์กี้ โรเเบร์โต้ ลงอีก 60% แต่นั่นก็ยังไม่มากพอจนต้องมาเจอกับสมบัติชิ้นสุดท้ายที่พวกเขาสามารถขายได้ในราคางามในทีมชุดนี้ นั่นคือ แฟรงกี้ เดอ ยอง 

3การตกลงสัญญากับ เดอ ยอง ที่ปี 14 ล้านยูโรนั้นหนักหน่วงเอาเรื่อง เพราะมันยังไม่จบแค่นั้น … มีการเปิดเผยรายละเอียดจากสื่ออย่างมาร์ก้า ว่า เดอ ยอง มีสัญญากับบาร์ซ่าถึงปี 2026 ถ้าเขาอยู่กับบาร์ซ่าจนครบสัญญาเขาจะได้โบนัสความภักดีรวมกับค่าจ้างทั้งหมดเป็นเงิน 88.7 ล้านยูโร และทุก ๆ ปีเขาจะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกราว ๆ 5-10% เช่นหากเขาเล่นให้กับบาร์ซ่าในซีซั่น 2022-23 ที่จะถึงนี้ ค่าเหนื่อยของเขาจะอยู่ที่ 18 ล้านยูโรต่อปี อีกทั้งยังจะได้ค่าภักดี (Loyalty Bonus) อีก 2.88 ล้านยูโร และถ้าเขาอยู่กับทีมต่อไปในซีซั่น 2023-24 ค่าจ้างและค่าภักดีของเขาจะเพิ่มขึ้นเป็นรวมทั้งหมด 28 ล้านยูโรต่อปี  

ทั้งหมดนี้มันสวนทางกับสิ่งที่บาร์เซโลน่าต้องการ พวกเขาต้องการลดค่าเหนื่อย แต่ออปชั่นที่ตกลงสัญญากับ เดอ ยอง เมื่อ 3 ปีก่อนทำให้ค่าเหนื่อยของกองกลางชาวดัตช์มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการปล่อย เดอ ยอง ออกไปถือเป็นหนึ่งในภารกิจที่บาร์เซโลน่าต้องทำ เพราะนอกจากเรื่องของเงินที่จะได้จากการขาย เดอ ยอง และการลดภาระค่าเหนื่อยแล้ว ยังมีการประเมินว่าทีมตอนนี้ไม่ได้มีจุดอ่อนที่กองกลางอีกเเล้ว พวกเขามีนักเตะรุ่นใหม่ที่ทำหน้าที่ได้ดีแถมยังเป็นลูกหม้อของทีมอย่าง กาบี, นิโค กอนซาเลซ รวมถึง เปดรี้ ขณะที่ผู้มาใหม่ก็ยังมีเพิ่มมาอีกคือ ฟรองค์ เคสซิเยร์ ที่ดึงตัวมาฟรี ๆ 

โจน ลาปอร์ต้า บอร์ดบริหารของทีมคนปัจจุบันตั้งใจอย่างมากที่จะชุบชีวิตบาร์เซโลน่าให้กลับมาเป็นทีมที่เเข็งแกร่งทั้งในสนามและด้านตัวเลขทางการเงินอีกครั้ง แหล่งข่าวทุกแหล่งทั้งในอังกฤษและสเปนต่างรายงานตรงกันหมดว่า บาร์เซโลน่า กับ แมนฯ ยูไนเต็ด นั้นพูดคุยดีล เดอ ยอง กันมาตั้งแต่ก่อนจะเข้าเดือนมิถุนายนด้วยซ้ำ แต่ก็ยังตกลงกันเรื่องราคาไม่ได้จริง ๆ เสียที 

เนื่องจากฝั่ง แมนฯ ยูไนเต็ด ก็รู้ดีว่า บาร์ซ่า ต้องการขาย เดอ ยอง แน่ชัด พวกเขาไม่ต้องการเสียเหลี่ยมในตลาดซื้อขายอีกเเล้ว เพราะในอดีตยุคที่มี เอ็ด วูดเวิร์ด ดูแลเรื่องตลาดซื้อขาย มีนักเตะหลายคนที่ แมนฯ ยูไนเต็ด จ่ายแพงเกินความเป็นจริง ดังนั้นด้วยสถานการณ์ที่เป็นต่อเล็ก ๆ พวกเขาจึงพยายามต่อราคา รวมถึงตัวเลขตามหน้าสื่อก็ผันผวน ตั้งแต่หลัก 50-70 ล้านปอนด์ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าตัวเลขที่ชัดเจนคือตรงไหนกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ คือบาร์เซโลน่าก็ไม่ยอมที่จะปล่อย เดอ ยอง ออกไปถูก ๆ เช่นกันเเม้พวกเขาจะมีปัญหาทางการเงิน สุดท้ายแล้วก็ยื้อกันไปรั้งกันมา ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมเสียเหลี่ยมในการซื้อขายนี้กันทั้งคู่ 

4จนกระทั่งวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันที่ บาร์เซโลน่า พลิกกลับมาเป็นฝั่งถือไพ่เหนือกว่าแล้ว มันเป็นวันที่ ลาปอร์ต้า ประกาศว่าสโมสรได้ประกาศขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของสโมสรในอีก 25 ปีข้างหน้าให้กับกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาชื่อว่า Sixth Street  ทำให้สโมสรได้เงินเข้ามามากถึง 178 ล้านปอนด์ 

เงินก้อนนี้สำคัญมาก เพราะแทนที่ตัวเลขสิ้นสุดปีงบประมาณ (ปี 2021-22) จะต้องติดลบที่ 161 ล้านยูโรและทำให้พวกเขาต้องโดนบีบเรื่องค่าเหนื่อย กลับกลายเป็นว่าเงินก้อนโตที่ได้จาก Sixth Street จะเข้ามาโปะตัวเลขตรงนี้พอดิบพอดี และเมื่อบาร์เซโลน่าส่งบัญชีรายรับจายจ่ายของพวกเขาให้กับทางลา ลีกา คดีก็พลิก 

ลา ลีกา ประเมินว่าสถานะทางการเงินของสโมสรบาร์เซโลน่ากลับมาเป็นเชิงบวกอีกครั้ง และสื่ออย่าง ดิ แอธเลติก ก็เผยอีกว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า บาร์ซ่า จะขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มเติมให้กับ Sixth Street ได้อีก 15% โดยคาดว่าจะเป็นเงินกว่า 400 ล้านยูโร ซึ่งจากส่วนนี้ก็เป็นที่มาของคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมบาร์ซ่าจึงทยอยคว้านักเตะมากมายหลายคนในซีซั่นนี้ได้ทั้ง อันเดรียส คริสเตียนเซ่น, เคสซิเยร์, ราฟินญ่า และล่าสุดอย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี รวมถึงพวกนักเตะที่กำลังเป็นข่าวทั้ง มาร์กอส อลอนโซ่, เซซาร์ อัซปิลิกวยต้า และ ฌูลส์ คุนเด้ เป็นต้น 

5เมื่อ บาร์เซโลน่า รอดจากการถูกลงโทษจากกฎทางการเงินของลา ลีก้า และ ฤดูกาลใหม่ก็ใกล้จะเริ่มขึ้นในเร็ววัน แมนฯ ยูไนเต็ด จึงต้องขยับความเข้มข้นของดีลนี้ขึ้นอีกเพราะ เดอ ยอง คือเป้าหมายอันดับ 1 ของ เทน ฮาก ดังนั้นพวกเขาก็พร้อมจะยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อจบดีลนี้ให้ได้เสียที จากที่มีข่าวลือว่าค่าตัวที่ แมนฯ ยูไนเต็ด พร้อมจ่ายในตอนแรกที่ราว ๆ 50-55 ล้านปอนด์ถูกเติมให้มากขึ้นตามที่บาร์ซ่าร้องขอขึ้นมาเป็น 63 ล้านปอนด์ บวกกับออปชั่นเพิ่มเติมในอนาคตอีก 8 ล้านปอนด์ … 

แม้ปัญหาของทั้ง 2 ทีมจะจบลงได้เสียทีหลังลากยาวมานานกว่า 2 เดือน แต่ปัญหาที่ใหญ่จริง ๆ กับกลายเป็นว่าส่วนที่ยากที่สุดคือการตัดสินใจของ แฟรงกี้ เดอ ยอง ที่ส่งผลกับความยืดเยื้อของดีลนี้มาโดยตลอด เขารับรู้ดีว่าสโมสรตั้งใจจะขายเขา และโดนบีบให้เหลือทางเลือกไม่มากนัก ทั้งการลดค่าเหนื่อย และการไม่ใส่ชื่อทัวร์พรีซีซั่นสำหรับฤดูกาลใหม่ แต่ที่สุดแล้วคำตอบของ เดอ ยอง ยังคงเดิม “เขาไม่อยากย้ายจากบาร์เซโลน่า” และนี่คือเรื่องที่ทั้งสองทีมต้องอุทานว่า “หัวจะปวด” อย่างแท้จริง

เหตุผลที่ไม่อยากย้าย 

เรื่องต่อไปนี้ที่คุณจะได้อ่านคือเรื่องที่ออกมาจากสื่อทั้งวงในและวงนอก ตัวของ แฟรงกี้ เองก็ไม่เคยบอกตรง ๆ ว่าทำไมดีลนี้ถึงไม่จบสักที และทำไมเขาถึงไม่อยากย้ายออกจากบาร์เซโลน่า สโมสรที่เขาอยู่มา 3 ปีแต่ไม่สามารถคว้าเเชมป์ลีกหรือแชมป์ยุโรปได้เลย … และนี่คือเรื่องทั้งหมดที่ “คาดว่า” เกิดขึ้นกับดีลนี้ 

6เอริค เทน ฮาก กุนซือของแมนฯ ยูไนเต็ด ติดต่อโดยตรงกับ เดอ ยอง และพยายามโน้มน้าวมาโดยตลอดว่าเขาจะกลายเป็นพระเอกที่แมนฯ ยูไนเต็ด ตำแหน่งของเขาจะเป็นเหมือน “ผู้คุมวงออร์เคสตรา” 

แม้จะเป็นข้อเสนอที่หวานหอมพร้อมค่าเหนื่อยที่ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าตอนที่เขารับกับบาร์ซ่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับ เดอ ยอง บาร์ซ่าคือสโมสรในฝันของเขา โดยมีการให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง ESPN ว่า “ผมอยากจะอยู่บาร์เซโลน่า ทีม ๆ นี้คือสโมสรในฝันของผมตั้งแต่ยังเด็ก และผมพูดเช่นนั้นเสมอมา ผมไม่เคยเสียใจกับการตัดสินใจ (ที่ย้ายมาบาร์ซ่า) ของผมเลยสักครั้ง ผมหวังว่าผมจะคว้าเเชมป์ร่วมกับทีมมากกว่านี้”

ขณะที่สื่อสเปนอย่าง Diario Sport ก็สรุปเรื่องนี้ว่า เดอ ยอง ไม่ได้สนใจย้ายทีมไปยัง แมนฯ ยูไนเต็ด และเจ้าตัวกำลังสับสนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว เพราะบางครั้งทั้ง ลาปอร์ต้า และ ชาบี ก็บอกว่าเขาเป็นคนที่อยู่ในแผนการทำทีม แต่อีกไม่กี่วันก็มีคำพูดประมาณว่าทีมจำเป็นจะต้องลดภาระค่าใช้จ่ายโดยมีชื่อของ เดอ ยอง มาพัวพันเสียทุกที 

เดอ ยอง ตัดสินใจซื้อบ้านที่บาร์เซโลน่า และเตรียมลงหลักปักฐานกับ มิกกี้ คีเมอนีย์ ภรรยาของเขา ทั้งคู่มีความสุขกับชีวิตที่นี่และไม่ต้องการย้ายไปไหน พร้อมมีการขยายความเรื่องที่ว่า เดอ ยอง และครอบครัวไม่ต้องการใช้ชีวิตภายใต้สภาพอากาศที่เลวร้ายของเมืองแมนเชสเตอร์ และข้อที่สำคัญที่สุดเขาเชื่อมั่นว่า บาร์เซโลน่า ในยุคของ ชาบี กำลังเดินมาบนเส้นทางที่ถูกต้อง และเขาก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ชาบี มาโดยตลอด … เขาเห็นอนาคตของตัวเองที่ บาร์ซ่า มากกว่า แมนฯ ยูไนเต็ด และที่สำคัญที่สุดคือเขายังอยากเล่นในฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ซึ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในซีซั่นที่จะถึงนี้ 

7จริง ๆ แล้วมีการระบุเหตุผลที่ เดอ ยอง ไม่อยากย้ายทีมมากถึง 10 ข้อ แต่ใจความหลัก ๆ นั้นเป็นไปดังที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า เดอ ยอง ไม่ได้พูดเอง มีแต่การนำเสนอจากสื่อผ่านการสัมภาษณ์คนใกล้ตัวของนักเตะทั้งสิ้น 

เรื่องทั้งหมดก็กลายเป็นว่า แมนฯ ยูไนเต็ด อยากได้ บาร์ซ่า พร้อมขาย และผลักดันดีลนี้เต็มกำลังจนถึงขั้นบีบนักเตะให้ย้ายออก แต่นักเตะยังคงยืนกรานความคิดของตัวเองอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง … โดยล่าสุดบาร์เซโลน่าได้ประกาศรายชื่อนักเตะชุดที่จะเดินทางไปพรีซีซั่นที่สหรัฐอเมริกา และปรากฎชื่อของ เดอ ยอง เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เรื่องนี้คาดเดาได้ยากจริง ๆ ว่าท้ายที่สุดจะจบลงอย่างไร ใครจะยอมใครมากกว่ากันแน่ ซึ่งในฐานะผู้ติดตามข่าวสารเชื่อว่าดีลนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อหาทางออกที่ทุกฝ่ายสามารถตกลงกันได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีคนที่ต้องผิดหวังสำหรับงานนี้