ไม่นานมานี้ สมาคมฟุตบอลเวียดนาม ได้ประกาศว่าจะมีการพักการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศเป็นเวลานานถึง 4 เดือน เพื่อหลีกทางให้กับการเตรียมทีมชาติในรายการสำคัญ ไล่เรียงตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย ต่อด้วยการเตรียมทีมชาติชุด ยู-23 ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2021 และ ฟุตบอล ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย 2022
ประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับทีมชาติ.. แน่นอนว่านักเตะราว 40-50 คนที่มีส่วนร่วมกับทีมทั้งสองชุดจะได้โฟกัสกับโปรแกรมทีมชาติและได้ซ้อมแทคติกที่จะใช้จนซึมซับได้ดีแน่ ทว่าสำหรับนักเตะอีกเป็นพันๆคนที่เหลือในประเทศ ถ้าพวกเขาต้องหยุดการแข่งขันที่เข้มข้นไปเป็นเวลาราว 4 เดือน พวกเขาจะประสบพบเจอกับอาการใดบ้าง?
4 เดือนที่หยุดการแข่งขันทำร้ายพวกเขาแค่ไหน? ติดตามได้ที่ Main Stand
เพราะการพักเป็นเหมือนการทำงาน
คนเราไม่ใช่เครื่องจักรและร่างกายก็ไม่ใช่เครื่องยนต์ที่จะสามารถทำสิ่งเดิมได้ซ้ำๆโดยไม่มีพัก ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม การพักคือสิ่งสำคัญที่สามารถกำหนดและชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานได้เป็นอย่างมาก
เพราะการพักผ่อนคือการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะสำหรับนักกีฬาอาชีพที่ต้องกรำศึกหนักมาตลอดทั้งฤดูกาล พวกเขาต้องออกกำลังกายทุกวัน และใช้เวลากับการซ้อมราววันละ 6-8 ชั่วโมง และเมื่อลงแข่งพวกเขาก็ต้องรับกับความกดดัน ความคาดหวัง ในแบบที่ผิดพลาดไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆมาเกี่ยวข้องมากมายเพื่อทำให้ร่างกายแข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการแข่งขัน ทั้งการกินอาหารที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกซ้อมตามโปรแกรมของโค้ช มีวินัยในสนามซ้อม รวมไปถึงการสร้างคุณลักษณะนิสัยและจิตใจให้แข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เวลาส่วนตัวและความสุขนอกสนามของพวกเขาหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น เมื่อถึงวันหยุดมันจึงเป็นเหมือนวันที่นักกีฬาอาชีพแทบทุกประเภทเฝ้ารอ
“ผมเคยติดอยู่กับความกลัวและความกดดันกับการแข่งขัน ถึงขั้นท้อจนไม่อยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพอีกเล้ว ชีวิตของนักกีฬานั้นเร่งรีบเป็นอย่างมาก พวกเราติดอยู่ในวัฏจักรของฤดูกาลอันยาวนานกว่า 7 เดือน” เอริค วินสตัน นักอเมริกันฟุตบอลของทีม ซินซิเนติ เบงกอลส์ เล่าถึงประสบการณ์ตรงของเขาที่ทำงานหนักจนเกิดภาวะผิดปกติด้านสภาพจิตใจ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมของการพักผ่อนที่ช่วยให้ร่างกายได้พักเต็มที่เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจโดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการกิน การนอน และการออกกำลังกายเลยจะมีอยู่แค่ 2-3 สัปดาห์เท่านั้นสำหรับนักกีฬาอาชีพ เรื่องดังกล่าวถูกพูดถึงโดย เบรตต์ บาร์โธโลมิว ผู้ทำหน้าที่ Performance Specialist (ผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพในการแข่งขัน)
“การพักผ่อนเป็นเหมือนกับงานอย่างหนึ่ง เมื่อถึงเวลาพักคุณก็ต้องพัก ปรับตัวเข้าสู่โหมดของการผ่อนคลายให้ได้ ไม่อย่างนั้นสมองของคุณจะไม่ปลอดโปร่งและมีความวิตกกังวลตลอดเวลา” บาร์โธโลมิว กล่าว
“ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรอกว่าพวกเขาต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่เหนื่อยหน่าย ดังนั้น เมื่อถึงเวลาพัก จงปรับตัวกับมันเสีย แม้จะมีเวลาเพียงน้อยนิดเพื่อลดความหงุดหงิด ไม่ต้องไปคิดว่าร่างกายจะหมดสภาพจนถึงขั้นต้องโหมออกกำลังกายหนัก เพราะมันจะส่งผลแง่ลบในระยะยาวแน่นอน ผมสนับสนุนให้ผู้เล่นทุกคนหลีกหนีจากความจำเจและเคร่งเครียดให้ได้มากที่สุดเมื่อฤดูกาลจบลง”
เป็นเรื่องแน่ถ้าพักนานไป
2-3 สัปดาห์ คือเวลาที่เหมาะกับการปล่อยตัว ปล่อยใจ ปล่อยอารมณ์ของเหล่านักกีฬาอาชีพเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มเปี่ยมและพร้อมสำหรับงานในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ทว่าทุกอย่างควรมีลิมิตที่เหมาะสม ถ้าหากเกินจาก 2-3 สัปดาห์อะไรจะเกิดขึ้นถ้าคุณยังกินตามใจปาก หลุดจากโปรแกรมที่โค้ชฟิตเนสได้วางแผนไว้ แถมยังห่างไกลจากสิ่งทีเรียกว่า “แมตช์ฟิตเนส” (Match Fitness) เพื่อให้ร่างกายเข้าที่และพร้อมสำหรับการแข่งขันอยู่ตลอด
ในกรณีนี้เราจะลองเปรียบเทียบกับการหยุดฟุตบอลลีกของประเทศเวียดนามที่มีการประกาศหยุดถึง 4 เดือน หรือหากย้อนไปในอดีตไม่นานเท่าไหร่ เมื่อปี 2020 ฟุตบอลลีกต่างๆของยุโรป อย่าง พรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, บุนเดสลีกา ก็ต้องหยุดพักไป 3 เดือน แม้แต่ ไทยลีก ของบ้านเราก็ยังหยุดแข่งไปนานถึง 6 เดือน จากผลพวงการระบาดระลอกแรกของ COVID-19 นี่คือเวลาที่โหดขนาดไหนสำหรับนักกีฬาอาชีพ?
นายแพทย์ ไมเคิล โอลสัน ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายของมหาวิทยาลัย Auburn Montgomery บอกว่า โดยปกติแล้ว เซลล์กล้ามเนื้อจะรักษาความแข็งแรงจากการออกกำลังกายเอาไว้ได้ราว 7-14 วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการพักผ่อนบอกว่านักกีฬาอาชีพควรหยุดได้เต็มที่ 2-3 สัปดาห์ ก็เป็นอะไรที่สัมพันธ์กันโดยตรง
การพักนานเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้จะทำให้กล้ามเนื้อสูญเสียความแข็งแรง ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหายจากการออกกำลังกายไปนานมากกว่า 1 เดือน ประสิทธิภาพก็จะถดถอยจากที่เคยเป็น แม้กระทั่งการยกเวตด้วยน้ำหนักเดิมก็จะต้องออกแรงมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าหนักขึ้น หากว่าพักนานเกินไป
แม้จะบอกว่าการพักเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพนักฟุตบอล แต่กับระยะเวลา 4 เดือน นี่คือตัวเลขที่เกินกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำไปมาก จริงอยู่ที่ช่วงเวลา 4 เดือนอาจจะไม่ได้หมายถึงการหยุดอยู่กับบ้านสบายๆ แต่อย่าลืมว่าพวกเขาคือนักกีฬาอาชีพ และการซ้อมเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ช่วยให้ความเฉียบคม เฉียบขาด มีประสิทธิภาพ หรือทักษะที่มีอยู่เพิ่มพูนขึ้นเลย หนำซ้ำยังลดน้อยลงยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย
“กว่าจะทำให้มีทักษะและประสิทธิภาพในการออกกำลังกายที่ดี คุณจะต้องใช้การทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยๆก็เป็นระยะเวลากว่า 30 วัน กว่าจะได้รับรู้ถึงความแตกต่าง เช่น คุณวิ่ง 5 กิโลเมตรทุกวัน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณจะรู้สึกว่าคุณเริ่มเหนื่อยน้อยลงและรู้สึกสบายๆเมื่อทำซ้ำจนชิน”
“กลับกัน ถ้าคุณหยุดไป 1 เดือน สิ่งที่เคยทำได้สบายๆก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เมื่อเราหยุดการฝึก ความฟิตเราจะสูญเสียไป สมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือดจะลดลงประมาณ 10% ในช่วง 4 สัปดาห์แรก”
“และจะหนักกว่านั้นหากห่างจากการออกกำลังกายไปนานมากกว่า 1-2 เดือนเป็นต้นไป กล้ามเนื้อจะเริ่มหายไป ไขมันจะเข้ามาแทนที่ น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น รอบเอวก็เพิ่มขึ้นตาม ความแข็งแรงของ VO2 Max หรือการผลิตออกซิเจนให้ร่างกายลดลงถึง 26% และกว่าที่มันจะกลับมาเท่าเดิมได้ คุณอาจจะต้องใช้เวลาสร้างใหม่นานกว่าเดิมถึง 2 เท่าเลยทีเดียว” มาร์ค ชไนเดอร์ ผู้ฝึกสอนส่วนบุคคลของ Movement Minneapolis กล่าว
ที่สุดแล้วการพักที่นานเกินไปจะทำให้สมรรถภาพทางร่างกายตกลงอย่างเห็นได้ชัด หัวใจจะสูบฉีดเลือดได้น้อยลง สร้างออกซิเจนในเลือดได้น้อยลง ร่างกายก็ตอบสนองได้ไม่ดีเหมือนเก่า จังหวะเดิมๆที่เคยทำได้ก็จะหายไป สำหรับนักฟุตบอล สามารถเรียกง่ายๆว่า “สนิมเกาะ” เหมือนกับนักเตะที่เจ็บยาวแล้วหายจากเกมการแข่งขันและการฝึกซ้อมที่เข้มข้นไปนานๆนั่นเอง
ยิ่งกว่าร่างกายคือจิตใจ
ความกดดัน ก็เหมือนกับทุกสิ่งบนโลกนี้ที่เป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่มีทั้งด้านดีและไม่ดี ความกดดันที่มากเกินไปจะทำให้สภาพจิตใจแกว่งและเกิดความท้อแท้หดหู่จนมีสุขภาพจิตที่แย่ลงได้ กลับกัน หากชีวิตนี้ไร้ซึ่งความกดดัน มนุษย์เราก็จะไร้ซึ่งความทะเยอทะยานและความกระหายเช่นกัน
สำหรับการหยุดออกกำลังกายหรือสำหรับนักเตะอาชีพที่ขาดเกมการแข่งขันที่เข้มข้น ยิ่งขาดไปนานขนาดไหน แรงบันดาลใจก็จะยิ่งหดหายลงไปเท่านั้น
จากประสบการณ์ของ มาร์ค ชไนเดอร์ คนเดิมที่มีประสบการณ์ฝึกสอนและเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวให้กับนักกีฬาอาชีพและคนธรรมดา เขาพบว่ายิ่งห่างจากการออกกำลังกายและการถูกปลุกเร้าด้วยความกดดันมากแค่ไหน ก็ยิ่งมีแรงบันดาลใจในการกลับมาออกกำลังกายอีกครั้งน้อยลงเท่านั้น หรือเรียกง่ายๆว่าติดสบายเกินไป
นอกจากนี้ ยิ่งหายจากการออกกำลังกายและการซ้อมไปนานๆ เมื่อกลับมาอีกครั้ง พวกเขาเหล่านั้นจะพบว่าตัวเองมีประสิทธิภาพที่ขาดหายไปจากเดิมที่เคยเป็น ซึ่งจุดนี้จะเป็นเปลี่ยนเป็นความท้อแท้ และสำหรับบางคนที่สภาพจิตใจไม่แข็งแกร่ง พวกเขาก็อาจจะถอดใจไปเลย ส่วนบางรายก็จะทำไปแค่ตามหน้าที่ ไร้ซึ่งแรงปลุกเร้าเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง
เพราะทุกอย่างบนโลกนี้ย่อมควรถูกตั้งอยู่บนความพอดี การพักคือส่วนสำคัญของการพัฒนาตัวเองสำหรับนักกีฬาอาชีพหรือแม้กระทั่งใครก็ตามที่ชอบออกกำลังกาย แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่าหากได้พักบ่อยๆนานๆเข้า ความติดสบายจะเข้ามาแทนที่
หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไปนานๆโดยไม่สามารถควบคุมการรักษาความฟิตและเติมไฟให้กับอาชีพของตัวเองได้ ก็จะมีแต่การถดถอย และสุดท้าย คนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ก็คือตัวของพวกเขาเหล่านั้นเอง