“เขาบอกว่าเขาจะเล่นฟุตบอลจนตาย เขาบอกว่าเขาอยากตายในสนามฟุตบอล” คัลวิน จอง อาปิน อดีตเพื่อนร่วมทีมพูดถึง “คิงคาซู” คาซูโยชิ มิอูระ
เขาคือนักเตะระดับตำนานของญี่ปุ่นที่ลงเล่นมาตั้งแต่ฤดูกาลแรกของเจลีก เป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ค้าแข้งในอิตาลี และที่สำคัญ ในปัจจุบันเขาก็ยังเล่นอยู่ จนเป็นเจ้าของสถิตินักเตะอาชีพที่อายุมากที่สุดในโลกด้วยวัย 55 ปี
ที่ผ่านมา การรักษาความฟิต มักจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในฐานะเคล็ดลับที่ทำให้เสือเฒ่ารายนี้สามารถค้าแข้งได้อย่างยาวนาน ทว่ามันอาจจะไม่ใช่แค่นั้น เมื่อปัจจัยภายนอกอย่าง “สังคมและวัฒนธรรม” ของญี่ปุ่นก็มีส่วนไม่น้อย
ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand
เสือเฒ่าแห่งฟุตบอลญี่ปุ่น
“แมวเก้าชีวิต” อาจจะเป็นฉายาที่น้อยเกินไปสำหรับ “คิงคาซู” คาซูโยชิ มิอูระ เมื่อชีวิตของเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่านั้น
มิอูระ เดินทางไปเล่นฟุตบอลที่บราซิลตั้งแต่ยังไม่จบมัธยมปลาย และกลับมาค้าแข้งในเจลีกในช่วงเริ่มต้น แถมยังทำผลงานได้อย่างโดดเด่นพา เวอร์ดี คาวาซากิ (โตเกียว เวอร์ดี ปัจจุบัน) คว้าแชมป์ได้อย่างมากมาย
คิงคาซู ยังเป็นเจ้าของสถิตินักเตะชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เล่นในลีกอิตาลี หลังได้ไปโชว์ฝีเท้ากับเจนัว ทีมระดับเซเรียอา ในฤดูกาล 1994-1995 และเป็นดาวยิงตัวเก่งของทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1990s
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือ ปัจจุบัน คิงคาซู ยังคงสวมสตั๊ดลงเตะฟุตบอลกับนักเตะรุ่นหลานในลีกอาชีพ ภายใต้ต้นสังกัด โยโกฮามา เอฟซี (และถูก ซูซูกะ พอยต์ เก็ตเตอร์ส ยืมตัวไปใช้งานในฤดูกาล 2022) ที่ทำให้เขากลายเป็นนักเตะอาชีพที่มีอายุมากที่สุดในโลกด้วยวัย 55 ปี
นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของสถิตินักเตะอายุมากที่สุดในโลกที่ยิงประตูได้ในเกมลีก จากการรับรองของกินเนสส์บุ๊ก หลังยิงประตูชัยให้ โยโกฮามา เอฟซี เฉือนชนะ ซาซูปะ คุซัตสึ กุมมะ ในเกมเจ 2 ลีก ด้วยวัย 50 ปีกับ 14 วัน เมื่อปี 2017
หลายคนพยายามถาม มิอูระ ว่า เพราะเหตุใดเขาจึงสามารถยืนระยะในลีกอาชีพได้อย่างยาวนานขนาดนี้? และเคล็ดลับของเขานั้นง่ายมาก ง่ายจนหลายคนอาจคิดไม่ถึง
“มันไม่ได้เป็นความลับอะไร แค่กินดีอาหารดีๆ พักผ่อนให้เพียงพอ มีแพชชั่น ทุ่มเท และสิ่งนี้.. หัวใจ” คาซู กล่าวกับ The Athletic
คาซู ใช้หัวใจขับเคลื่อนชีวิตของเขามาโดยตลอด ตั้งแต่การไปเล่นที่บราซิลตอนวัยรุ่นด้วยตัวคนเดียว หรือการต้องเอาชนะอคติเรื่องเชื้อชาติสมัยที่ไปเล่นในอิตาลี และสิ่งนี้ก็ทำให้เขายังคงเล่นฟุตบอลอยู่ในตอนนี้ ต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นที่หลายคนกลายเป็นโค้ชหรือไปทำอาชีพอื่นกันหมดแล้ว
“เพราะว่าเขารักฟุตบอล” อิบบา ลายาบ อดีตกองหน้าของ โยโกฮามา เอฟซี กล่าวกับ The Athletic เมื่อปี 2019
“ผมเคยถามเขานะว่า -คุณไม่อยากไปทะเลบ้างเหรอ? คุณอายุ 52 แล้ว ไม่อยากพักผ่อนสบายๆที่ฮาวายบ้างเหรอ?- แต่เขาแค่รักในฟุตบอล เขาบอกผมว่า -ผมไม่อยากไปที่ไหนแล้วล่ะ- เขาคงจะคิดถึงมันมากเกินไป”
ขณะเดียวกัน คิงคาซู ยังขึ้นชื่อเรื่องความเป็นมืออาชีพ เขามีวินัยกับตัวเองอย่างเข้มงวด ตื่นนอนตอนตี 5 เพื่อกินอาหารที่ดูแลโดยนักโภชนาการ แช่ตัวในอ่างน้ำแข็งหลังซ้อมเสร็จ ตรวจน้ำหนักและไขมันทุกวัน และไปซ้อมเพื่อรักษาความฟิตที่เกาะกวมกับเทรนเนอร์ส่วนตัวทุกครั้งในช่วงปิดฤดูกาล
“เขาเป็นคนที่มาถึงก่อนเวลาซ้อม 2 ชั่วโมง เขามาก่อนทุกคน และเกือบทุกครั้งที่เป็นคนสุดท้ายที่กลับบ้าน แน่นอนว่าร่างกายของเขาช้าลงไปกว่าเดิม แต่เทคนิค การสัมผัสบอล ทั้งหมดยังคงดีอยู่” ลายาบ กล่าวต่อ
“เขายังคงฟิตจริงๆ เขามีความกระหาย เขาเป็นคนที่เจ๋ง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความรักที่มีต่อเกมที่ทำให้เขาทำมันได้ ผมหมายความว่าเขารักในเกมการแข่งขันจริงๆ เวลาคนอื่นไปพักร้อน ผมรู้ว่าเขาจะอยู่สักที่ในญี่ปุ่นเพื่อซ้อมรักษาความฟิต”
อย่างไรก็ดี มันอาจจะไม่ได้มีแค่นั้น..
สังคมแบบลำดับชั้น
แม้ว่าระบบชนชั้นของญี่ปุ่นจะสลายไปตั้งแต่สิ้นสมัยเอโดะ (1603-1868) แต่การแบ่งลำดับชั้นทางสังคม ยังคงฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของพวกเขา และสิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ออกมาได้อย่างชัดเจนก็คือ ภาษา
ในภาษาญี่ปุ่นจะมีการแบ่งอย่างชัดเจนว่า คำแบบนี้สามารถใช้กับใครและห้ามใช้กับใคร มันจึงทำให้รูปแบบของภาษาแตกต่างกันไปตามคู่สนทนา
“ในภาษาศาสตร์สังคม เราสามารถสังเกตได้ว่า ภาษาสะท้อนและมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมได้อย่างไร?” บ็อบ เมบลีย์ ผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอลที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมานานกว่า 16 ปีกล่าวกับ Optus Sport
“ตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าภาษาญี่ปุ่นส่งผลต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างไร คือระดับของภาษาที่มีวิธีการพูดหลายแบบ มันไม่ใช่แค่การพูด ‘would you like’ แทน ‘do you want’ หรือใส่คำว่า ‘please’ และ ‘thank you’ เข้าไป แต่เป็นรูปแบบของคำกริยา”
“คำกริยาทุกคำสามารถเปลี่ยนหรือถูกเปลี่ยนให้แสดงออกมาในรูปแบบที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับคนที่พูดอยู่และคนที่พูดด้วย แต่ไม่ว่าจะแบบไหน มันจะมีความอาวุโสเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ากับผู้ให้บริการ หัวหน้ากับลูกน้อง ผู้ใหญ่กับเด็ก ครูกับนักเรียน เซมไปกับโคไฮ (รุ่นพี่-รุ่นน้อง)”
“มันแสดงให้เห็นทันทีเมื่อเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศนี้ ว่ามันมีการจัดระบบตามลำดับชั้นมากแค่ไหน มันไม่ใช่แค่ความสุภาพหรือการเคารพ แต่เป็นการจัดระบบตามลำดับชั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม”
และ คิงคาซู ก็ได้ประโยชน์อย่างมากจากระบบนี้ เพราะแม้ว่าการรักษาความฟิตจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาค้าแข้งมาได้อย่างยาวนาน แต่วัฒนธรรมการให้ความเคารพผู้อาวุโสของญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เขายังคงรักษาสถานะการเป็นนักเตะอาชีพได้
“เขาได้รับประโยชน์จากความจริงที่ว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบลำดับชั้น สังคมที่ให้ความเคารพผู้อาวุโส เพราะว่ามันมีสิ่งพิเศษบางอย่างในวัฒนธรรรมญี่ปุ่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้ชีวิตนักฟุตบอลอาชีพของเขายืนยาว” เมบลีย์ อธิบายต่อ
มิอูระ เป็นนักเตะที่หลายคนให้ความเคารพ เพราะเขาคือพี่ใหญ่ของวงการที่รุ่นน้องให้ความเกรงใจ สิ่งนี้คือวัฒนธรรมร่วมของชาวเอเชียรวมถึงไทยที่ถูกสอนให้นอบน้อมต่อคนที่มีอายุมากกว่า ต่างจากตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับความสามารถก่อนอายุ
“ที่อังกฤษ นักเตะจะถูกตัดสินจากสิ่งที่เขาทำได้ในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม การให้ความเคารพนักเตะจากความสำเร็จในอดีตของญี่ปุ่นมันเป็นปัจจัยที่ใหญ่มาก แม้ว่านักเตะเหล่านั้นจะผ่านจุดพีคไปนานแล้วก็ตาม” ฌอน แคร์โรล ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นบอกกับ Optus Sport
“สิ่งนี้เกี่ยวพันอย่างมากกับความสัมพันธ์แบบเซมไป/โคไฮ (รุ่นพี่/รุ่นน้อง) ซึ่งอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม และสมมติฐานโดยนัยที่บอกว่า ‘การมีประสบการณ์ที่มากกว่า’ ส่วนใหญ่จะเท่ากับ ‘ดีกว่า'”
แต่อันที่จริง สำหรับ คิงคาซู ประสบการณ์ของเขาก็ควรค่าแก่การเคารพ
พระเจ้าเจลีก
“เขา (มิอูระ) ถูกมองว่าเป็นตำนานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้ว่าหลายคนจะมองว่าการต่อสัญญากับเขาทุกปีจะเป็นเรื่องที่บิดเบี้ยว แต่เขาถูกมองว่ายังคงเป็นดาวเด่นของเจลีกโดยพฤตินัย และได้รับการนับถือจากทุกคนในฐานะแบบอย่างของความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนัก” แคร์โรล กล่าวกับ Optus Sport
การทำงานหนักคือสิ่งที่ผู้คนมักจะพูดถึงเกี่ยวกับ คิงคาซู ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมทีมในอดีตและปัจจุบัน คู่แข่ง รวมไปถึงในสื่อต่างๆ คิงคาซู เป็นผู้เล่นที่มีความเป็นมืออาชีพมาตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งเจลีก ซึ่งถือเป็นแนวคิดใหม่ในยุคนั้น และทำให้เขาเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับฟุตบอลญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคตั้งไข่
“เขาเป็นสตาร์ แน่นอนว่าเป็นสตาร์ของญี่ปุ่นในยุคเริ่มต้นของเจลีก ยุคที่เจลีกได้รับความนิยมมากที่สุด และเข้ามาอยู่ภายใต้วัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่น” บ็อบ เมบลีย์ อธิบาย
“ตอนนี้เจลีกเป็นลีกที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพกว่าที่เป็นมา แต่ในแง่ของความเป็นจริง ผู้คนไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากมายนักเกี่ยวกับฟุตบอลในช่วงที่เจลีกเริ่มตั้งไข่ และเขาคือคนที่ดังที่สุด”
“บทบาทของเขาในการสร้างเจลีกจึงได้รับการนับถือมาก เขาจึงไม่ใช่แค่นักเตะที่เล่นมานาน แต่เป็นนักเตะที่มีผลงานที่ยอดเยี่ยม และบางทีอาจจะเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่สุดในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่น”
คาซู โดดเด่นอย่างมากในสีเสื้อของ เวอร์ดี คาวาซากิ เขายิงไปถึง 82 ประตูใน 4 ฤดูกาลแรก รวมทั้งพาทีมคว้าแชมป์เจลีกได้ 2 สมัยติด และทำให้เขาคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีในปี 1993 อีกทั้งยังติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปีเจลีกทุกครั้งใน 4 ซีซั่นแรก แม้ในตอนนั้นลีกแดนอาทิตย์อุทัยจะอุดมไปด้วยแข้งต่างชาติชื่อดังก็ตาม
“สำหรับผม คาซู อยู่ใน 10 นักเตะที่เก่งที่สุดที่ผมเคยเล่นด้วยหรือเคยเจอ” บิสมาร์ค นักเตะยอดเยี่ยมฟุตบอลเยาวชนโลก 1989 ชาวบราซิลที่เคยเล่นให้ เวอร์ดี กล่าวกับ Optus Sport
“คาซูสามารถเล่นให้กับทีมไหนก็ได้ในบราซิล เขามีความแข็งแกร่ง ความเร็ว และรู้ว่าจะทำประตูแบบไหน รวมถึงมีเทคนิคที่ยอดเยี่ยม เขาเป็นนักเตะที่มีวินัยและความทะเยอทะยาน และชอบการซ้อมอย่างที่เขาทำอยู่ในทุกวันนี้”
สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้จากการที่ มิอูระ ไม่ใช่คนเดียวที่ผลงานในอดีตทำให้ชีวิตการค้าแข้งยืนยาว เพราะนอกจากเขาแล้ว ยังมีสตาร์ญี่ปุ่นอีกหลายคนที่สามารถลงเล่นในเจลีกด้วยอายุที่แตะวัย 40 ปี ยกตัวอย่างเช่น ชุนซูเกะ นาคามูระ (43) ของ โยโกฮามา เอฟซี, ยาซูฮิโตะ เอ็นโด (42) ของ จูบิโล อิวาตะ หรือ ชินจิ โอโนะ (42) ของ คอนซาโดเล ซัปโปโร
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ไม่ว่าร่างกายของ คาซู จะถดถอยแค่ไหนหรือมีส่วนร่วมกับเกมมากน้อยเพียงใด แต่สถานะความเป็น “สตาร์” ของเขาจะไม่มีวันเปลี่ยนไป ตราบใดที่เขายังสวมสตั๊ดลงหวดลูกบอลในฐานะผู้เล่นอาชีพ
“แทบไม่มีโอกาสเลยที่ชื่อเสียงของเขา (คาซู) จะมัวหมองที่ญี่ปุ่น” แคร์โรล นักข่าวผู้เชี่ยวชาญเจลีกอธิบายกับ Optus Sport
“ความสำเร็จของเขาในช่วงเริ่มต้นของเจลีกไม่มีวันลดลงไป และสถิติที่เขาทำได้ในช่วงท้ายของอาชีพมีแต่เพิ่มออร่ารอบตัวเขาเท่านั้น”
“เขาได้รับการสถาปนาเป็นไอคอนที่นี่ แบบเดียวกับมาราโดนาเป็นที่อาร์เจนตินา มรดกของเขามันยากที่จะเปลี่ยนแปลง”
ตำนานที่ยังมีลมหายใจ
“เขาบอกว่าเขาจะเล่นฟุตบอลจนตาย เขาบอกว่าเขาอยากตายในสนามฟุตบอล” คัลวิน จอง อาปิน กล่าวถึงคิงคาซู กับ The Athletic
แม้ว่าในฤดูกาล 2022 แฟนบอลอาจจะไม่ได้เห็น มิอูระ ลงเล่นให้ โยโกฮามา เอฟซี เนื่องจาก ยาซูโตชิ มิอูระ พี่ชายของเขาที่คุมทีม ซูซูกะ พอยต์ เก็ตเตอร์ส ทีมใน JFL หรือลีกระดับ 4 ของญี่ปุ่น ขอยืมตัวเขาไปใช้งาน แต่การปรากฏตัวของดาวเตะรายนี้ก็ยังสร้างความฮือฮาให้แก่วงการฟุตบอลญี่ปุ่นทุกครั้ง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในเกมที่ คิงคาซู ลงประเดิมสนามนัดแรกให้กับ ซูซูกะ ไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา มีแฟนบอลพากันซื้อตั๋วเข้ามาชมฝีเท้าของเขาในสนามเหย้าของทีมมากถึง 4,260 คน จนกลายเป็นเกมเหย้าที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
แม้ในวันนั้นเขาจะเบิกสกอร์ให้ทีมไม่ได้ แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ทุกครั้งที่สัมผัสบอล จวบจนวินาทีสุดท้ายที่ถูกเปลี่ยนตัวออกไปในนาทีที่ 65 ก่อนที่เกมวันนั้นจะจบลงด้วยชัยชนะของเจ้าบ้าน 2-0
สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนให้เห็นสถานะอันยิ่งใหญ่ของเขา สถานะที่สูงส่งในวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ทั้งผู้บุกเบิก ต้นแบบ ผู้ร่วมพัฒนา มาจนถึงเป็นผู้สืบสานในวัยเกือบ 60 ปี และเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลแดนซามูไรเติบโตมาจนถึงระดับนี้
มิอูระ ยืนยันว่า จนถึงวันนี้เขายังไม่เคยมีความคิดที่จะเลิกเล่น และยังคงอยากเล่นฟุตบอลต่อไป ทั้งที่จริงสถานะอันยิ่งใหญ่ของเขาน่าจะทำเงินได้อย่างมากมายหากเขาแขวนสตั๊ด
เพราะสำหรับ “คิงคาซู” อาชีพนักฟุตบอลคือสิ่งที่เขาตั้งใจว่าจะทำมันไปจนลมหายใจสุดท้าย
“ผมอาจจะอยู่ในวัย 50 แต่ร่างกายของผมยังหนุ่ม ตอนวัยรุ่นผมไม่คิดเลยว่าผมจะเล่นได้นานขนาดนี้”
“แต่ถ้าผมยังฟิต ผมจะเล่นต่อไป ผมจะเล่นฟุตบอลไปจนตาย” คิงคาซู ทิ้งท้าย