sportpooltoday

ไขที่มา.. ทำไมฟุตบอลย่านอาเซียนจึงสูสีกันมากขึ้น?


ไขที่มา.. ทำไมฟุตบอลย่านอาเซียนจึงสูสีกันมากขึ้น?

หลายปีมานี้ เชื่อว่าแฟนบอลทีมชาติไทยหลายคนคงรู้สึกไม่ต่างกัน ความรู้สึกดังกล่าวคือความรู้สึกว่า ทุกครั้งที่ไทยลงเเข่งขันในระดับอาเซียน ทำไมเราจึงเริ่มชนะทีมอื่นได้ยากขึ้นกว่าเมื่อในอดีตอย่างเห็นได้ชัด?

ทำไมเกมตึงๆจึงเยอะขึ้น? ทำไมการถล่มเละจึงไม่ค่อยมีให้เห็นเหมือนเมื่อก่อน? และความตึงเครียดในแต่ละเกมจึงเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเวลาเจอกับทีมคู่ปรับอย่างเวียดนาม เป็นต้น

เรากำลังได้เห็นความสูสีมากกว่าที่เคยเป็น และอะไรคือสาเหตุของความสูสีนี้?

ติดตามได้ที่ MainStand

ฟุตบอลอาเซียน สูสีขึ้นจริงหรือ? 

ก่อนที่เราจะตั้งคำถาม เราควรหาข้อเท็จจริงให้ได้ก่อน เพื่อให้คำตอบที่เราพยายามหาอยู่นั้นมีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ 

สำหรับวงการฟุตบอลอาเซียน ในเวลานี้ความสูสีคือสิ่งที่หลายคนสัมผัสได้ ไม่ต้องยกตัวอย่างที่ไหนไกล ก็ประเทศไทยของเรานี่แหละ 

1ในอดีต ฟุตบอลไทยเคยเป็นเต้ยในภูมิภาคอาเซียนในแบบที่เจอใครก็แทบจะเอาชนะแบบไปกลับได้ตลอด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่เข้าสู่ปี 2000s เป็นต้นมา ทีมชาติไทย กวาดเเชมป์ระดับอาเซียนทั้งในรายการซูซูกิ คัพ รวมถึงฟุตบอลชิงแชมป์กีฬาซีเกมส์ประเภททีมชาย 

ในซีเกมส์ ไทยทิ้งห่างชาติอื่นๆขาดลอยด้วยการคว้าเหรียญทองทั้งหมด 16 ครั้งจากการแข่งขันทั้งหมด 30 ครั้ง พูดง่ายๆก็คือได้แชมป์มากกว่า 50% ของรายการแข่งขันตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ในรายการซูซูกิ คัพ นั้น ไทยได้เเชมป์มากที่สุดเช่นกันที่ 6 ครั้ง และคว้ารองแชมป์ไปอีก 3 ครั้งจากการแข่งขั้นทั้งหมด 13 ครั้ง หากตีเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของภาพรวม โดยเฉพาะหลังผ่านยุค 2000s เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การขยับก้าวไปข้างหน้าของแต่ละชาติ ทำให้ระยะห่างของทีมระดับแถวหน้ากับทีมที่ตามหลังเข้ามาใกล้กันมากขึ้น โดยเฉพาะในรายการที่เป็นที่สุดของอาเซียนอย่าง ซูซูกิ คัพ นั้นนับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมาจนถึงปี 2021 ที่เพิ่งจบลงไปมีคู่ชิงชนะเลิศซ้ำกันเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น นั่นคือการแข่งขันปี 2007 และ 2012 ที่ ไทย เข้าชิงกับ สิงคโปร์ ส่วนอีก 7 ครั้งที่เหลือ ไม่มีคู่ชิงไหนที่ซ้ำกันเลย โดยมี 5 ชาติที่สลับกันเข้าชิงได้แก่ ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย 

2และในนัดชิงชนะเลิศซูซูกิ คัพ 5 ครั้งหลังสุด มีผลต่างสกอร์รวมด้วยการเฉือนชนะกันเพียง 1 ประตูถึง 4 ครั้ง มีเพียงครั้งล่าสุดที่ไทยสามารถเอาชนะอินโดนีเซียด้วยสกอร์รวม 6-2 เท่านั้นที่ดูขาดลอยที่สุด

และหากมองไปที่รอบรองชนะเลิศนั้นก็มีถึง 7 ชาติที่เข้ามาถึงรอบนี้ได้ นอกจาก 5 ชาติที่กล่าวไว้ในข้างต้นแล้วยังเพิ่มมาด้วย เมียนมา และ ฟิลิปปินส์ อีก 2 ทีม 

ในอาเซียนมีทั้งหมด 10 ประเทศ และจาก 10 ชาตินั้นมีถึง 7 ชาติที่เคยผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ เท่านั้นก็น่าจะพอยืนยันได้เเล้วว่าฟุตบอลอาเซียนในตอนนี้คาดเดาผลสกอร์ได้ยาก มีการพลิกโผได้ตลอด และสามารถสู้กันได้อย่างสูสีในแง่ของสถิติดังที่กล่าวมา 

นอกจากนี้ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคเก่าๆอย่างเช่น ทีมที่อ่อนชั้นกว่าคู่แข่งทีมอื่นๆอย่างชัดเจน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หมู” ก็แทบไม่มีให้เห็นเลย ชาติที่เคยอยู่ในสถานะนั้นอย่าง กัมพูชา, ติมอร์-เลสเต, บรูไน และ ลาว นั้นก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเช่นกัน

โดยทีมเหล่านี้ได้ผลการแข่งขันแบบ “แพ้ขาดลอย” แบบโดนยิงเกิน 5 ลูกน้อยมาก โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีหลังสุดที่การแข่งขันที่ “แพ้ขาด” ยิงถล่มกันอย่างชัดเจนที่สุดคือการแข่งขันเมื่อปี 2018 ที่ ไทย เอาชนะ ติมอร์-เลสเต ไปได้ 7-0 และในการแข่งขันเมื่อครั้งที่ผ่านมาที่ ฟิลิปปินส์ เอาชนะ ติมอร์-เลสเต ไปได้ด้วยสกอร์ 7-0 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ติมอร์-เลสเต ชุดนี้เองก็เป็นทีมเดียวกับที่ทีมชาติไทยเอาชนะได้แค่ 2-0 เท่านั้นในเกมนัดแรกของรอบแบ่งกลุ่ม ดังนั้น การจะบอกว่า ติมอร์-เลสเต ไม่พัฒนาเลย ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเช่นกัน 

3จากสถิติทั้งหมดที่กล่าวมา น่าจะยืนยันได้ว่า “เราไม่ได้รู้สึกไปเอง” ว่าทำไมช่วงหลังๆทีมชาติไทยจึงต้องเจอกับเกมตึงๆในระดับอาเซียนอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจอกับคู่ปรับที่มาตรฐานไม่หนีกันมากหรือการเจอกับทีมที่เราเคยเอาชนะได้ง่ายๆในอดีต แต่ก็ต้องมาลำบากและออกแรงมากขึ้น

ฟุตบออาเซียน สูสีกันขึ้นจริง ดังนั้น ขั้นต่อไปเราจะมาหาคำตอบกันว่า “สิ่งใดที่ทำให้เกิดการขยับเข้าใกล้กันของแต่ละชาติมากขึ้นในเวลานี้?”

ความหวังเดียวสู่ความสำเร็จ 

แม้จะโหดร้าย แต่ก็ต้องพูดกันด้วยความจริง ชาติในอาเซียนนั้นเป็นที่รู้จักน้อยมากในเรื่องของฟุตบอลสำหรับการรับรู้ของประชากรโลก หรือแม้กระทั่งชาวเอเชีย เพราะถึงแม้ประชากรกว่า 600 ล้านคนในภูมิภาคนี้จะคลั่งไคล้และยกให้ฟุตบอลเป็นกีฬาอันดับ 1 แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการนิยมในฟุตบอลต่างประเทศอย่าง พรีเมียร์ลีก มากกว่าการติดตามฟุตบอลท้องถิ่น ด้วยเหตุผลหลักๆ เช่น ความเป็นมืออาชีพ, คุณภาพเกม, วิธีการเล่น และ คุณภาพนักเตะ ที่เหนือกว่า และดูสนุกกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เรื่องนี้ยืนยันได้กลายๆว่า ฟุตบอลในอาเซียนยังห่างไกลจากฟุตบอลระดับโลกหรือระดับทวีปเอเชียพอสมควร แฟนบอลจึงตั้งความหวังและอินกับฟุตบอลต่างประเทศมากกว่า 

4จอห์น เดอร์เดน คอลัมนิสต์ชาวอังกฤษ ที่เป็นกูรูฟุตบอลอาเซียนของหลายสำนักข่าวทั้ง FourFourTwo, ESPN และ The Guardian ผูกเรื่องนี้เข้ากับความเข้มข้นของการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดย เดอร์เดน บอกว่า เพราะชาติในอาเซียนไม่เคยมีส่วนร่วมในฟุตบอลโลกและได้โอกาสไปเล่นรอบสุดท้ายในระดับชิงเเชมป์เอเชียน้อยมาก ดังนั้น ซูซูกิ คัพ จึงเป็นเหมือนรายการที่ชาวอาเซียนทุกคนตั้งตารอคอย เพราะมันคือรายการเดียวที่พวกเขาจะได้เห็นแชมป์ที่จับต้องได้และอยู่ใกล้มือมากที่สุด ดังนั้น เมื่อการแข่งขันนี้เริ่มขึ้น ทุกชาติจะใส่กันไฟแลบ สู้ตายราวกับเป็นฟุตบอลโลกของชาวอาเซียนเลยก็ว่าได้ 

“แน่นอนว่าฟุตบอลโลกยังคงเป็นความหวังสูงสุดของพวกเขา (ชาวอาเซียน) แต่ภูมิภาคนี้ไม่เคยได้สัมผัสมัน แม้กระทั่งการเข้าไปเล่นในเอเชียน คัพ ที่แม้จะเพิ่มทีมจาก 16 เป็น 24 ทีมในปี 2019 ก็ยังทำได้เเค่เพียงการเข้าไปเป็นทีมไม้ประดับเท่านั้น”

“ดังนั้น เมื่อถึงรายการ เอเอฟเอฟ พวกเขาต้องเลือกใช้นักเตะที่ดีที่สุดมาฟาดฟันกัน พยายามอย่างที่สุดเพื่อการเป็นผู้ชนะ เพราะนี่เป็นโอกาสเดียวที่พวกเขาจะได้ถ้วยรางวัลในระดับนานาชาติ ถ้าคุณมีโอกาสได้ดู คุณจะเห็นได้ว่าการแข่งขันรายการนี้ดุเดือดมาก แต่ละเกมจะมีความรู้สึกที่พิเศษและความหลงใหลของแฟนบอลที่พลุ่งพล่าน”

5“แต่ละชาติมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกันยิ่งกว่าเรื่องของฟุตบอล เช่น สิงคโปร์ กับ มาเลเซีย เป็นต้น ทั้งหมดคือการเติมเชื้อไฟให้ฟุตบอลอาเซียนและทำให้มันมีความเข้นข้นสูงมาก” เดอร์เดน กล่าวในมุมมองของเขา

เรื่องที่ เดอร์เดน กล่าวมา เชื่อว่าหลายคนก็คงรู้สึกได้ เพราะถ้วยเเชมป์อย่าง ซูซูกิ คัพ หรือแม้กระทั่ง ซีเกมส์ ที่คนนอกอาเซียนไม่เคยสนใจและไม่อาจรู้ว่ามีการแข่งขัน กลับเป็นถ้วยที่มีความหมายมากๆสำหรับชาวอาเซียนแต่ละชาติ เราได้เห็นการปิดเมืองฉลอง ยกถ้วยขึ้นรถแห่มาก็ไม่น้อยจากแต่ละชาติที่ได้เป็นแชมป์ มันยืนยันได้ถึงความสำคัญต่อความรู้สึกชาวอาเซียนและนักกีฬาที่แบกความหวังของคนทั้งชาติลงไปในสนาม ดังนั้น จึงต้องสู้แค่ตายเท่านั้น จนกว่าเสียงนกหวีดจบเกมจะดังขึ้น

ใส่ให้สุดทุกสรรพกำลัง 

เมื่อการแข่งขันระดับอาเซียนคือศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ไม่มีใครยอมใคร เราจึงได้เห็นการทำทุกอย่างเพื่อเป็นแชมป์ รวมถึงการพัฒนาผลงานของทีมสำหรับถ้วยนี้ของหลายชาติในอาเซียน เช่น การเข้าเเคมป์เก็บตัวที่ยาวนานกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่น ทีมชาติเวียดนามชุดปัจจุบันที่มีการยอมปิดลีกเป็นเวลาถึง 4 เดือนเพื่อให้นักเตะทีมชาติของพวกเขาพร้อมที่สุดในหลายทัวร์นาเมนต์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้เป็นต้น 

6ไม่ใช่แค่เวียดนามเท่านั้นที่พัฒนาจนกลายเป็นคู่ปรับอันดับ 1 ของไทย และยิ่งทวีคูณความเป็นอริกันมากขึ้น ณ ปัจจุบัน อีกหลายชาติก็มีการพัฒนาฟุตบอลขึ้นมาอย่างจริงจัง อาทิ ฟิลิปปินส์ ที่ถึงขั้นมีการร่างกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อพัฒนาประเทศในแต่ละด้าน (ฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ผลกระทบในแง่บวก) 

ในปี 2013 ฟิลิปปินส์ เริ่มประกาศใช้กฎหมายสองสัญชาติเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กที่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ไม่ว่าจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่สามารถถือสัญชาติและมีสิทธิหลายประการเหมือนคนฟิลิปปินส์โดยกำเนิด กฎหมายฉบับดังกล่าวอาศัยประโยชน์จากจุดนี้เพื่อนำบุคลากรที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศในเรื่องต่างๆ รวมถึงกีฬาฟุตบอลก็ถือเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ทำให้ในปัจจุบันเราจะได้เห็นนักเตะลูกครึ่งของทีมชาติฟิลิปปินส์ที่มีดีกรีสูงๆมากมาย ทั้ง นีล เอเธอริดจ์ นายทวารระดับพรีเมียร์ลีกที่เคยเล่นให้กับฟูแล่ม, ไมเคิล ฟัลเคสการ์ด ที่เล่นในลีกสูงสุดของเดนมาร์ก ละอีกหลายๆคนที่เล่นในลีกอาชีพเยอรมัน 

สิงคโปร์ ที่เปิดโครงการพัฒนาฟุตบอลในประเทศตั้งแต่ระดับเยาวชนอย่าง UNLEASH THE ROAR ที่เริ่มวางระบบกันใหม่ด้วยการจ้าง มิเชล ซาบล็อง อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของทีมชาติเบลเยียม ที่พาทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปเข้าสู่ยุคโกลเดนเจเนอเรชั่นที่นำโดยนักเตะอย่าง โรเมลู ลูกากู, เควิน เดอ บรอยน์ และ เอเด็น อาซาร์ เป็นต้น  

7

8ขณะที่ชาติอื่นๆก็มีเรื่องราวคล้ายๆกัน เช่น ติมอร์-เลสเต ที่ในอดีตเคยหลงทางกับการให้สัญชาตินักเตะต่างชาติจนมีปัญหาโดนจับได้ ที่ในระยะหลังๆ ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา พวกเขาก็เชื่อว่า “แพ้อย่างขาวสะอาดดีกว่าชนะอย่างสกปรก” จึงเปลี่ยนจากการโอนสัญชาตินักเตะบราซิลและชาติอื่นๆ มาสู่การเป็นการสร้างนักเตะเยาวชนของตัวเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ในหลายๆครั้งที่ไทยเจอกับ ติมอร์-เลสเต ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน เราต่างก็เห็นได้ว่าพวกเขาเล่นแบบมีแบบแผนมากขึ้น มีความเชี่ยวชาญด้านแทคติกมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด  

นอกจากนี้ ยังมี กัมพูชา ที่จับมือเป็นพันธมิตรกับ ญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้พวกเขาได้ เคสุเกะ ฮอนดะ ตำนานนักเตะทัพซามูไรบลูส์เข้ามาคุมทีมในเวลานี้ และยังสามารถพาทีมไปได้ถึงรอบเพลย์ออฟของฟุตบอลเอเชียน คัพ 2023 เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว 

9แน่นอนว่าทุกทีมต่างก็มองไปในระดับที่สูงกว่าอาเซียนทั้งนั้น แต่ ณ เวลานี้ การแข่งขันระดับอาเซียนยังเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้แต่ละชาติได้เฉลิมฉลอง หรือแม้ไม่ได้เเชมป์ ก็ได้เอาชนะชาติคู่ปรับ ดังนั้น แต่ละชาติจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ทีมที่ดีที่สุดแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลูกครึ่ง ที่ ณ เวลานี้ แทบทุกชาติล้วนมีนักเตะลูกครึ่งทั้งสิ้น, การเรียกร้องสิทธิพิเศษจากลีกฟุตบอลในประเทศสำหรับการเสียสละเพื่อวาระแห่งชาติ, การลงทุนจ้างโค้ชต่างชาติค่าจ้างแพงๆเพื่อเข้ามาเพิ่มความเข้นข้นในเรื่องของแทคติกและวิธีการเล่น หรือแม้กระทั่ง การเพิ่มงบประมาณสนับสนุนฟุตบอล โดยเฉพาะจากทั้งภาครัฐและเอกชน เรียกได้ว่า ฟุตบอลอาเซียนมีความหมายยิ่งกว่ากีฬาโดยแท้จริง