sportpooltoday

ใหญ่และเยอะ : ทำไม อินโดนีเซีย จึงเป็นประเทศที่มีสนามฟุตบอลความจุมากที่สุดในอาเซียน?


ใหญ่และเยอะ : ทำไม อินโดนีเซีย จึงเป็นประเทศที่มีสนามฟุตบอลความจุมากที่สุดในอาเซียน?

ข่าวการเสนอตัวการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของ อินโดนีเซีย เวียนมาอีกครั้ง และครั้งนี้เราจะไม่พูดถึงเรื่องคุณภาพฟุตบอลหรือความสำเร็จของทีมชาติอินโดนีเซีย แต่เราจะไปพูดถึงเหตุผลที่ประเทศแห่งนี้มีสนามฟุตบอลความจุระดับเรือนหมื่น

นี่คือประเทศที่มีสนามฟุตบอลความจุ 3 หมื่นคนขึ้นไปมากถึง 21 แห่ง มากที่สุดในอาเซียน นั่นทำให้พวกเขาเชื่อว่าตัวเองมีความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ในอนาคต

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามได้ที่นี่

การเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ 

อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดย ณ ปัจจุบันพวกเขามีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน และมีขนาดประเทศที่กว้างใหญ่ถึง 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร หรือเทียบง่าย ๆ คือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 4 เท่า (ไทย มีพื้นที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร) 

1เมื่อเราอธิบายเรื่องความกว้างใหญ่ของประเทศและจำนวนประชากรที่มากขนาดนี้ นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องมีสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้คนในประเทศ นอกจากสิ่งปลูกสร้างและบริการที่จำเป็นอย่าง โรงพยาบาล, โรงเรียน และศูนย์ราชการต่าง ๆ สนามฟุตบอลจึงเป็นสิ่งที่รัฐต่าง ๆ ในอินโดนีเซียขาดไม่ได้ เพราะที่นี่ฟุตบอลคือกีฬายอดนิยมอันดับ 1 มาเสมอ 

อินโดนีเซียมีสนามฟุตบอลที่มีความจุมากกว่า 30,000 คนมากถึง 21 สนาม และมีสนามที่จุคนได้มากกว่า 50,000 คนอีก 4 สนามได้แก่ จาการ์ตา อินเตอร์เนชันแนล สเตเดียม, เกลอรา บังการ์โน, ปาลารัน และ เกลอรา บุงโทโม ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกชาติในอาเซียน หากจะตีมูลค่าการก่อสร้างแต่ละสนามก็แทบไม่ต้องเดาเลยว่าพวกเขาจะต้องใช้งบประมาณไปไม่น้อย แล้วพวกเขาเอางบประมาณมาจากไหนในการสร้างสนามที่ใหญ่โตจำนวนมากขนาดนั้น?

เรื่องสนามฟุตบอลในประเทศอินโดนีเซียเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับเรื่องการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรง 

เนื่องด้วยประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบบสาธารณรัฐ และมีรูปแบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) โดยมีรัฐบาลกลางมีอำนาจสูงสุด ทว่าแต่ละรัฐ (มีทั้งหมด 37 รัฐ) ก็มีรัฐบาลที่มีเอกภาพในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเรื่องงบประมาณในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพความต่างกับประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ชัดมาก เพราะไทยปกครองแบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ที่ท้องถิ่นไม่สามารถจัดการบริหารงบของตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่นหากจังหวัดเชียงใหม่จะของบประมาณสร้างสนามฟุตบอลสักสนามก็ต้องทำเรื่องของงบกลางและต้องรอให้ผ่านมติในสภาก่อนจึงจะสร้างสนามฟุตบอลขึ้นมาได้ 

2
3นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างสนามฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีพื้นที่เยอะ มีประชากรมาก ที่สำคัญค่าแรงของอินโดนีเซียนั้นยังไม่แพงมาก พวกเขาอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียน (จาก 10 อันดับ) โดยมีค่าจ้างต่อวันอยู่ที่ 144-300 บาทเท่านั้น ซึ่งหากวิเคราะห์จากจุดนี้เพิ่มเติมก็น่าจะสัมพันธ์กันกับการก่อสร้าง เพราะงานสร้างสนามต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้นสนามใหญ่ยักษ์ความจุมากกว่าค่าเฉลี่ยของสนามมาตรฐานทั่วอาเซียนทั้งหมด 21 สนามจึงฝังอยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ แน่นอนว่าเป้าหมายในการสร้างสนามฟุตบอลเหล่านี้ให้มีขนาดใหญ่นั้นไม่ได้มีไว้เพื่อเพื่อเป็นหน้าเป็นตาเท่านั้น แต่มันสอดคล้องกับความบ้าคลั่งฟุตบอลของชาวอินโดนีเซียอีกด้วย

อดีตเคยบูม 

แม้จะมีค่าแรงที่ถูก เนื้อที่ในประเทศเยอะ และแต่ละรัฐสามารถตัดสินใจในการสร้างสนามฟุตบอลขึ้นมาเองได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้แต่ละรัฐในประเทศอินโดนีเซียสร้างสนามฟุตบอลที่สามารถจุคนได้เยอะก็ย่อมขึ้นอยู่กับความต้องการของประชากร 

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่คลั่งฟุตบอลไม่แพ้ชาติใดในโลก ลีกฟุตบอลในประเทศของพวกเขาในอดีตช่วงยุค 90s ก็เป็นลีกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับท้องถิ่น มีคนเข้าไปดูกันเต็มความจุและมีบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลเหมือนกับในยุโรปไม่มีผิด


ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีเงินสะพัดถึงขนาดสามารถจ้างนักเตะดัง ๆ ระดับโลกมาเล่นในลีกอินโดนีเซียได้มากมาย อาทิ เคลาดิโอ คานิกเกีย กองหน้าทีมชาติอาร์เจนตินา และ โรเจอร์ มิลลา กองหน้าของทีมชาติแคเมอรูน นอกจากนี้ยังมีนักเตะดัง ๆ ของประเทศไทยในอดีตอีกหลายคนที่ไปค้าแข้งที่อินโดนีเซียในช่วงเวลาไล่ ๆ กัน ทั้ง สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, ไพฑูรย์ เทียบมา และ สุเชาว์ นุชนุ่ม เป็นต้น 

สุเชาว์เคยเปรียบเทียบความคลั่งฟุตบอลของชาวอินโดนีเซียว่ามากกว่าที่ไทย สมัยที่เจ้าตัวไปเล่นให้กับทีมดังอย่าง เปอร์ซิบ บันดุง โดยกว่าวไว้ว่า

“ความคลั่งไคล้ของแฟนบอลอินโดนีเซียถ้าเปรียบให้กับบ้านเราต้องยกตัวอย่างทีมอย่าง เมืองทอง หรือ ท่าเรือ ที่มีความคลั่งไคล้เยอะมาก ๆ แต่ที่อินโดนีเซียจะคลั่งหนักกว่านั้นอีก พวกเขามีทั้งคำชมและคำด่า และถ้าให้เทียบเรื่องความอินในฟุตบอลท้องถิ่น อินโดนีเซียจะมีความอินมากกว่าแฟนบอลบ้านเรา” สุเชาว์ กล่าวกับ Football Tribe  

แม้ว่าทุกวันนี้ลีกอินโดนีเซียต้องมาเริ่มต้นกันใหม่หลังจากถูกฟีฟ่า แบน จนไม่มีการแข่งขันไปร่วม 2 ปี จากกรณีการแทรกแซงของรัฐบาล จนต้องมาสร้างลีกใหม่ภายใต้ชื่อ Indonesia Super League แต่ความนิยมต่อฟุตบอลก็ไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเกมระดับทีมชาติที่ไม่ว่าจะแข่งที่สนามไหนก็มีผู้ชมเต็มความจุทุกครั้งไป 

5ความนิยมดังกล่าวและความพร้อมเรื่องสนามแข่งขันที่มากพอต่อความต้องการ ทำให้อินโดนีเซียมักจะสมัครเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลหรือกีฬาทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยแต่ละครั้งที่ได้เป็นเจ้าภาพไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลเยาวชนหรือแม้กระทั่งเอเชียนเกมส์ ก็มีการใช้งบประมาณปรับปรุงสนามให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยว่ากันว่าในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปี 2018 อินโดนีเซียทุ่มเงินไปกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงทั้งสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถรองรับนักกีฬา คนดู สื่อ และนักท่องเที่ยวจากต่างเเดนได้

หวังใหญ่ยิ่งกว่าที่เคย

จนถึงทุกวันนี้ อินโดนีเซีย เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลทุกรายการในอาเซียน ตั้งแต่ฟุตบอลระดับเยาวชน และระดับทัวร์นาเมนต์ประจำภูมิภาคอย่าง ซีเกมส์ และ ซูซูกิ คัพ อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียยังหวังไปไกลยิ่งกว่านั้น นั่นคือการพยายามได้เป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งพวกเขาเคยเสนอชื่อมาแล้วตอนฟุตบอลโลกปี 2022 และตอนนี้ก็ตั้งเป้าในการจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2030 อีกครั้ง 

6หลักเกณฑ์การขอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคือต้องมีฟุตบอลสเตเดียมอย่างน้อย 10 สนามที่สามารถรองรับการแข่งขันได้ตลอดทัวร์นาเมนต์ และสนามกีฬาทั้งหมดจะต้องถูกปรับปรุงให้ผ่านมาตรฐาน แน่นอนนั่นคือสิ่งที่อินโดนีเซียมี … อย่างไรก็ตามการมีสนามเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกได้ในทันที เพราะการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกได้จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล และที่ผ่านมาชาติที่รับหน้าเสื่อส่วนใหญ่ก็มักจะขาดทุน เพราะนอกจากสนามจะพร้อมแล้วยังต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสนามซ้อม ที่พัก ถนนหนทาง และการคมนาคมต่าง ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ยังคงถูกประชาชนในประเทศกดดันและไม่เห็นด้วยอยู่ในเวลานี้ 

ที่สำคัญพอ ๆ กับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ คือฟุตบอลของพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จพอที่จะดึงดูดใจได้ อินโดนีเซียไม่เคยคว้าแชมป์แม้กระทั่งระดับอาเซียน หากพวกเขาได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกก็มีโอกาสสูงมากที่พวกเขาจะล้มเหลว ตกรอบแบบสู้ไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ในการเป็นเจ้าภาพของพวกเขาอย่างแน่นอน 

7Steven Danis นักข่าวชาวอินโดนีเซีย ที่เขียนบทความไว้ใน Football Tribe พูดถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ฟุตบอลโลกก็คือฟุตบอลโลก มันคือการแข่งขันที่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างมากควบคู่ไปกับมุมมองละความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ประธานาธิบดีจนถึงคนทั่วไป”

“ตอนนี้อินโดนีเซียยังขาดสนามฝึกซ้อมแบบมาตรฐานระดับ FIFA อีกเยอะมาก เราอาจจะเคยจัดเอเชียนเกมส์ และฟุตบอลโลกยู-20 มาเเล้ว แต่ฟุตบอลโลกมันแตกต่างออกไปมากแบบคนละเรื่อง ความจริงที่น่าเศร้าคือทุกวันนี้สโมสรในอินโดนีเซียหลายสโมสรก็ไม่มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตัวเอง บางครั้งพวกเขายังต้องเช่าสนามฟุตซอลหรือสนามฟุตบอลส่วนกลางเพื่อซ้อมอยู่เลย” 

สิ่งที่เดวิสบอกยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การมีสนามเยอะกับการมีสนามที่มีการจัดการที่มีคุณภาพนั้น สำหรับชาติในอาเซียนถือยังเป็นเรื่องใหม่ ณ เวลานี้ทางที่เหมาะที่สุดคือการรับหน้าเสื่อจัดงานที่สเกลรองลงมาไปก่อนเพื่อเก็บประสบการณ์ และค่อย ๆ ต่อเติมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่องานที่ใหญ่กว่าในอนาคต 

8ส่วนตอนนี้ฟุตบอลโลกสำหรับ อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งชาติในอาเซียนยังถือว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกล ไม่ใช่แค่เรื่องสนามและงบประมาณเท่านั้น แต่เรื่องของฟุตบอลโดยตรงเราก็ยังต้องพัฒนากันอีกเยอะเลยทีเดียว … ณ เวลานี้ การจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ยังเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้นสำหรับชาติอาเซียน แต่อย่างน้อย ๆ การตั้งเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เรามีทิศทางในการเดินไปข้างหน้า ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่อนาคตเท่านั้นที่บอกได้